ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Thursday, 9 February 2012

นักปรัชญาชายขอบ: วาทกรรม “ความขัดแย้ง”

ที่มา ประชาไท

นักปรัชญาชายขอบ

จริงๆ แล้ว ปัญหาสังคมไทยเวลานี้ไม่ได้อยู่ที่ว่า ความขัดแย้งตามที่เป็นจริงเป็นปัญหาที่ยากเกินกว่าจะแก้ไขได้ แต่อยู่ที่มีการใช้ วาทกรรมความขัดแย้งเพื่อสกัดกั้น และ/หรือปิดทางการแก้ปัญหา

ตัวอย่างเช่น การอ้างเรื่องความขัดแย้งและความรุนแรงที่ “คาดว่า” จะเกิดขึ้น เพื่อ “ปิดพื้นที่” ในธรรมศาสตร์ไม่ให้มีการเคลื่อนไหวแก้ ม.112 มหาวิทยาลัยมหาสารคามห้ามใช้พื้นที่อภิปรายปัญหา ม.112 การที่ ผบ.ทบ.และคุณเฉลิม อยู่บำรุง พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา ออกมาประสานเสียงให้นิติราษฎร์หยุดเคลื่อนไหวรณรงค์แก้ ม.112 (ที่จริงเป็นบทบาทของ ครก.112) โดยอ้างว่า จะเกิดความขัดแย้งทางสังคม หรือทหารอาจจะหมดความอดทน

แล้วยังมีกรณีอื่นๆ อีก เช่น ประชาธิปัตย์คัดค้านการเยียวยาผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ พิการจากการสลายการชุมนุมทางการเมือง คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยข้ออ้างที่ว่า จะก่อให้เกิด “ความขัดแย้งรอบใหม่” เป็นต้น

น่าสังเกตว่า “ความขัดแย้ง” ที่อ้างถึง คือความขัดแย้งที่ “คาดว่า” จะเกิดขึ้น ฉะนั้น ความขัดแย้งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นดังกล่าวมันจึงเป็น “วาทกรรม” (discourse) ที่ถูกนำมาใช้เพื่อเป้าหมายทางการเมือง นั่นคือเพื่อยุติข้อเสนอแก้ ม.112 และข้อเสนอลบล้างผลพวกรัฐประหารของนิติราษฎร์ และยุติการเยียวยา การแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือการดำเนินการใดๆ ของฝ่ายตรงข้ามที่ขัดแย้งกับความคิดเห็น จุดยืนทางการเมือง และ/หรือที่จะกระทบต่อสถานะ อำนาจ ผลประโยชน์ และโอกาสทางการเมืองของฝ่ายตน

เช่น ข้อเสนอเรื่องหลักการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อลบล้างผลพวงรัฐประหาร เป็นข้อเสนอที่แหลมคมทางทางปัญญา ที่ทำให้หวั่นไหวกันแทบทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นอำมาตย์ ผู้นำกองทัพ พันธมิตร ประชาธิปัตย์ กลุ่มที่ก่อรัฐประหาร 19 กันยา เนติบริกรคณะรัฐประหารทั้งในธรรมศาสตร์เองและนอกธรรมศาสตร์ นักวิชาการ สื่อที่สนับสนุนรัฐประหาร คนเหล่านี้ต่างมีส่วนทั้งโดยตรงและโดยอ้อมในการทำให้เกิดรัฐประหาร 19 กันยา และมีส่วนในการรับรองความชอบธรรมของมัน

แน่นอนว่า หากข้อเสนอเรื่องหลักการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อลบล้างผลพวงของรัฐประหารของนิติ ราษฎร์เป็นไปได้จริง หลายคนในฝ่ายที่ออกมาคัดค้านอาจต้องขึ้นศาล เสียเครดิตทางวิชาการ ทางสังคม พ่ายแพ้ทางการเมืองอย่างราบคาบและยาวนาน

แต่จะทำอย่างไรดี จะสู้ด้วยเหตุผลพวกเขาก็ไม่มีปัญญาจะสู้ ไล่ให้ออกนอกประเทศ ไล่ให้เปลี่ยนสัญชาติ กล่าวหาว่าไม่รู้ประวัติศาสตร์ชาติไทย ด่าว่าในหลวงไปทำอะไรให้พวกมึง ด่าว่าเนรคุณ ด่าว่าพ่อแม่ไม่สั่งสอน และด่าหรือขู่ยังไงๆ ก็ไม่ได้ผลแล้ว เมื่อ “หมดมุข” ก็เลยต้องใช้อำนาจบีบทุกทางเพื่อให้นิติราษฎร์หยุด และใช้ “วาทกรรมความขัดแย้ง” สนับสนุนการใช้อำนาจนั้น

อย่างไรก็ตาม วาทกรรมความขัดแย้งดังกล่าว แม้ว่าจะเลยเถิดไปถึงการขู่ว่าในที่สุดอาจจะไปถึงจุดที่ต้องยุติความขัดแย้ง ด้วยรัฐประหาร มันก็เป็นเพียง “มายาคติ” (myth) ที่สะท้อนความต้องการของฝ่ายทำรัฐประหาร และสนับสนุนการทำรัฐประหารทั้งโดยตรงและโดยอ้อมกลุ่มเดิมๆ เท่านั้น

เพราะ นิยามของ “ความขัดแย้ง” สำหรับคนเหล่านี้ หมายถึง “การกระทำใดๆ ที่ขัดแย้งกับความต้องการของพวกเขา” เช่น การแก้ ม.112 ลบล้างผลพวงรัฐประหาร การเยียวยา การแก้รัฐธรรมนูญ เป็นสิ่งที่พวกเขาไม่ต้องการ

ทำไมพวกเขาถึงไม่ต้องการให้สิ่งดังกล่าวเกิดขึ้น ก็เพราะ

1) มันเป็นการทำลายข้ออ้างและเจตนารมณ์ทั้งปวงของรัฐประหาร 19 กันยา
2) มันทำลายความชอบธรรมของการสังหารประชาชาชนอย่างป่าเถื่อนในช่วงเมษา-พฤษภา 53 และ
3) พวกเขาบางส่วนอาจเดือดร้อนถึงขั้นต้องขึ้นโรงขึ้นศาล จะต้องพ่ายแพ้ทางการเมืองอย่างยาวนาน หมดโอกาสที่จะทำรัฐประหาร เพราะตามข้อเสนอนิติราษฎร์จะไม่มีการทำรัฐประหารที่ “หลุดพ้น” จากการต้องรับผิดชอบทางกฎหมายอีกต่อไป คุณอาจทำรัฐประหารสำเร็จ แต่เมื่อสังคมกลับคืนสู่ความเป็นประชาธิปไตย คุณต้องขึ้นศาลในความผิดฐานล้มล้างรัฐธรรมนูญและการปกครองระบอบประชาธิปไตย ที่มีโทษประหารชีวิต

ส่วนพวกเนติบริกร รัฐศาสตร์บริกร ต่อให้หน้าหนาขนาดไหนก็คงกลัวเสียหน้า เสียเครดิตทางสังคม เสียโอกาสในการทำมาหากินกับฝ่ายอำนาจเก่า จึงพากันดาหน้าออกมาคัดค้านด้วยตรรกะที่มีคุณภาพไม่ต่างอะไรจาก “ตรรกะแบบทหาร” (หมายถึงข้ออ้างให้แก้ปัญหาความขัดแย้งทางความคิด ด้วยการบอกให้ "เงียบ" ซึ่งเป็นตรรกะใน "วัฒนธรรมอำนาจนิยม" เช่น ถ้าลูกหรือลูกศิษย์ถาม หรือเถียงมากๆ พ่อ แม่ ครู อาจารย์ก็บอกให้เงียบซะ นักศึกษา อาจารย์ตั้งคำถามมาก วิจารณ์มาก ผู้บริหารมหาวิทยาลัยก็บอกให้เงียบซะ พลเมืองตั้งคำถามมาก วิจารณ์มาก ผู้มีอำนาจรัฐตัวจริงก็บอกให้เงียบ บอกให้หยุด ถ้าไม่ยอมทำตามก็ใช้อำนาจบังคับหรือลงโทษ)

คนเหล่านี้ยังหลงอยู่ในจินตนาการว่า “รัฐไทยเป็นรัฐประชาธิปไตยภายใต้สมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่มีทหารเป็นใหญ่”

พูดอย่างถึงที่สุด วาทกรรมความขัดแย้งมันคือการสะท้อนความขัดแย้งที่เป็นมาตั้งแต่ 19 กันยา (หรือยาวนานเท่ากับความพยายามฟื้นฟู โปรโมท "ลัทธิกษัตริย์นิยม") ได้แก่ ความขัดแย้งระหว่างฝ่ายที่พยายามฟื้นความเข้มแข็งของรัฐประชาธิปไตยภายใต้ สมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่มีทหารเป็นใหญ่ กับฝ่ายที่ต้องการสร้างรัฐประชาธิปไตยตามเจตนารมณ์ของการเปลี่ยนแปลงการ ปกครอง 2475 ให้เป็นจริง นั่นคือรัฐประชาธิปไตยสมบูรณ์ที่ประชาชนเป็นใหญ่ หรือเป็นเจ้าของอำนาจอย่างแท้จริง

ความขัดแย้ง ดังกล่าวนี้คือความขัดแย้งที่เป็นจริง และมีนัยสำคัญเชิงอุดมการณ์ ข้อเสนอของนิติราษฎร์มันมีความแหลมคมยิ่งในเชิงอุดมการณ์ ที่ฝ่ายคัดค้านเอาแต่ด่าเป็นส่วนใหญ่ เพราะพวกเขากลัวที่จะพูดถึงข้อเสนอและเหตุผลของนิติราษฎร์ตรงๆ เพราะยิ่งพูดมันก็ยิ่งจะทำให้สังคมรับรู้ในวงกว้าง แล้วสังคมก็ยิ่งเห็นความจริงว่า พวกเขาไม่สามารถโต้แย้งข้อเสนอและเหตุผลของนิติราษฎร์ได้เลย

เราจึงเห็นข้อเสนอแปลกๆ ของฝ่าคัดค้านิติราษฎร์ที่ว่า “สื่อควรใช้วิจารณญาณในนำเสนอข่าวเกี่ยวกับข้อเสนอ และเหตุผลของนิติราษฎร์...”

สิ่งที่ฝ่ายสร้างหรือ “ผลิตซ้ำ” วาทกรรมความขัดแย้ง พยายามทำอยู่ตลอดเวลา คือ การสร้างมายาคติว่า นิติราษฎร์ไม่เอาเจ้า อยู่ตรงข้ามกับ “ในหลวง” เหมือนกับที่สร้างมายาคติที่ทำให้พวกเขาบรรลุผลในการทำรัฐประหาร 19 กันยามาแล้วคือ ทักษิณล้มล้างสถาบัน ทักษิณอยู่ตรงข้ามกับในหลวง เอาทักษิณเท่ากับไม่เอาในหลวง แล้วก็ยังสร้างมายาคติต่อไปว่า แก้รัฐธรรมนูญคือแก้เพื่อทักษิณ สังคมไทยจะตกอยู่ภายใต้ “เผด็จการทุนนิยมผูกขาด” (โดยทักษิณ)

พวก เขาพยายามเบี่ยงเบนเรื่องแก้ ม.112 ให้เป็นเรื่องของตัวบุคคล คือเป็นเรื่องของความไม่จงรักภักดีต่อ “ในหลวง” องค์ปัจจุบัน และเบี่ยงเบนเรื่องแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นเรื่องของตัวบุคคล คือแก้เพื่อ “ทักษิณ” แล้วก็พยายามปั่นกระแสความขัดแย้งในสังคม โดยใช้ “สื่อกระแสหลัก” และ “สื่อสลิ่ม” เป็นเครื่องมือ

แน่นอนว่า พวกเขาละเว้นที่จะอภิปรายถกเถียงอย่างตรงไปตรงมาว่า ข้อเสนอแก้ ม.112 และข้อเสนอหลักการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อลบล้างผลพวงรัฐประหารของนิติราษฎร์ มาตรการเยียวยา และการแก้รัฐธรรมนูญของรัฐบาลเพื่อไทย จะก่อให้เกิดความก้าวหน้าของประชาธิปไตยอย่างไร จะทำให้สถาบันกษัตริย์มั่นคงอยู่ภายใต้ประชาธิปไตยแบบอารยประเทศอย่างไร จะปิดประตูรัฐประหารอย่างไร จะก่อให้เกิดความยุติธรรมในสังคมอย่างไร เป็นต้น

ที่ละเว้นจะอภิปรายถกเถียง เพราะว่าพวกเขาไม่มีปัญญาจะหักล้างเหตุผลลงได้ พวกเขาจึงใช้อำนาจ “ปิดพื้นที่” ของเสรีภาพและเหตุผลในมหาวิทยาลัย และพวกเขาก็ขู่ให้ “หยุดเคลื่อนไหว”

นี่คือวิธีคิดของพวกผลิตซ้ำวาทกรรมความขัดแย้ง บนนิยาม “ความขัดแย้ง” ที่ว่า “ความขัดแย้ง ย่อมหมายถึง การกระทำใดๆ ที่ขัดแย้งกับความต้องการของพวกข้า”