ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Thursday 9 February 2012

พวงทอง ภวัครพันธุ์ ตอบ ชำนาญ จันทร์เรือง กรณีบทความ “ความผิดพลาดของนิติราษฎร์”

ที่มา ประชาไท

หมายเหตุชื่อบทความเดิม: ตอบ อ.ชำนาญ จันทร์เรือง กรณีบทความ “ความผิดพลาดของนิติราษฎร์”


แฟ้มภาพ 15 ม.ค.55

ดิฉันขออธิบายเฉพาะในส่วนที่ตัวเองเกี่ยวข้องด้วยโดยตรงก่อน คือการขอชื่อ 118 คนแรก (ไม่ใช่ 112 คน) อ.ชำนาญ บอกว่า “ผู้ที่ร่วมลงชื่อในตอนแรกหลายคนออกมาปฏิเสธว่าเห็นด้วยแต่ไม่ได้หมายความ ว่าจะต้องไปเซ็นชื่อเพื่อเสนอกฎหมายพร้อมกับหลักฐาน เป็นต้น...กอปรกับในการติดต่อขอรายชื่อนั้นยังมีความไม่ชัดเจน เพราะโดยปกติในกระบวนการขอรายชื่อเพื่อเคลื่อนไหวอะไรสักอย่างหรือเพื่อออก แถลงการณ์นั้นจะต้องมีความชัดเจนว่าจะเอารายชื่อไปทำอะไร ที่ไหน อย่างไร หากเอาไปทำแถลงการณ์ก็ต้องมีการเวียนเนื้อหาให้ดูก่อน หากจะให้ดีก็ต้องเปิดโอกาสให้แก้ไขก่อนเผยแพร่ด้วยก็จะยิ่งสมบูรณ์”

ดิฉันขอชี้แจงว่า จดหมายที่ส่งถึงผู้ร่วมลงชื่อทุกคนได้ระบุอย่างชัดเจนว่า ครก. 112 จะรวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอร่างแก้ไข ม.112 ของคณะนิติราษฎร์เข้าสู่การพิจารณาของสภา และได้ขอให้ผู้รวมลงนามกรุณาส่งสำเนาทะเบียนบ้าน บัตรประชาชน และกรอกแบบ ขก.1 ไปยังที่อยู่ที่เราระบุไว้ค่ะ

สำหรับแผ่นพับที่เราทำแจกในวันเปิดตัว ครก.112 และมีรายชื่อ 118 คนต่อท้าย เป็นข้อความเดียวกับจดหมายที่ได้เวียนให้ทุกคนได้อ่าน พร้อมๆ ไปกับการขอให้ลงชื่อเพื่อสนับสนุนการรณรงค์ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในสาระที่สำคัญใดๆ ดิฉันยืนยันว่าทุกท่านได้เห็นข้อความที่เรานำมาทำแผ่นพับค่ะ

ข้อนี้ อ.เกษียร คงจะช่วยยืนยันได้ หาก อ.ชำนาญ ต้องการหลักฐาน ดิฉันยินดี forward mail ไปให้ดูค่ะ หรือจะถามอาจารย์แถวเชียงใหม่ให้หลากหลายขึ้นก็ได้ค่ะ

กรณีของ อ.เสกสรรค์นั้น คนที่ออกมาประณาม ไม่ใช่คนใน ครก.112 สำหรับดิฉันเอง เห็นว่าการที่ อ.เสกสรรค์กล่าวว่า “เนื่องจากถูกขอร้องโดยผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ” ก็เป็นการพูดอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งบางคนให้ความสำคัญกับประโยคดังกล่าวมาก จนมองข้ามประโยคที่ อ.เสกสรรค์ ต่อท้ายว่า “และผมเองก็ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นข้อเสนอที่อยู่ในกรอบของการปฏิรูป กฎหมาย มีเนื้อหากลางๆ ออกไปในแนวมนุษยธรรม และที่สำคัญคือยังคงไว้ซึ่งจุดหมายในการพิทักษ์รักษาสถาบันสำคัญของชาติ” สำหรับคนทำงาน ดิฉันให้ความสำคัญกับประโยคหลังมากกว่าประโยคแรกค่ะ เพราะดิฉันเชื่อว่า ไม่ว่า อ.เสกสรรค์จะเคารพผู้ใหญ่ที่ไปขอสักเท่าไร แต่ถ้าอาจารย์ไม่เห็นด้วยกับร่างข้อเสนอของนิติราษฎร์เลย อาจารย์ก็คงไม่ร่วมลงชื่อด้วยแน่ ประการสำคัญ อ.เสกสรรค์ไม่ได้ประกาศถอนตัวอย่างที่สื่อบางฉบับเอาไปบิดเบือน

ดิฉันมองว่าคนที่มาร่วมลงชื่อต่างก็มีเงื่อนไขสำหรับการตัดสินใจที่แตก ต่างกัน บางคนอาจมีเรื่องให้ต้องคิดต้องกังวลมากกว่าอีกหลายๆ คน แต่เมื่อเขามาร่วมลงนาม เราก็ต้องขอบคุณเขา หรือต่อให้บางคนปฏิเสธ เราก็ไม่สามารถก่นด่าเขาได้

อ.ชำนาญบอกว่า “การแถลงข่าวของ ครก.ครั้งล่าสุดที่อนุสรณ์สถาน ๑๔ ตุลานั้น ๑๑๒ คนในรายชื่อนั้นถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของ ครก.หรือไม่ ที่สำคัญก็คือหากถือว่าเป็นแล้ว ๑๑๒ รายชื่อนั้นเห็นด้วยแล้วหรือไม่ อย่างไร หากไม่ถือว่าเป็น ครก.แล้ว ๑๑๒ คนนั้นอยู่ในฐานะอะไร เพราะหลายคนไม่ได้ลงชื่อพร้อมหลักฐานเพื่อยื่นขอแก้ไขกฎหมายแต่อย่างใด”

ทางทีม ครก.112 ได้อธิบายในต่างกรรมต่างวาระว่า 118 ชื่อที่ร่วมลงชื่อกับเรา ไม่ใช่ แกนนำ ครก.112 ในวันเปิดตัว 15 ม.ค. อ.กฤตยา อาชวนิจกุล ได้ประกาศบนเวที รายชื่อองค์กรต่างๆ ที่รวมตัวกันเป็น ครก.112 ไปแล้ว การแถลงข่าวที่อนุสรณ์สถาน ก็ได้มีการย้ำเรื่องนี้เช่นกัน เมื่อวานบางกอกโพสต์โทรมาสัมภาษณ์ดิฉันๆ ก็ได้อธิบายเรื่องนี้ไปแล้วเช่นกัน (ข้อผิดพลาดของเราคือ ในแผ่นพับที่แจกในงาน ไม่ได้ใส่ชื่อองค์กรเหล่านี้ลงไป)

โดยปกติเวลาที่มีการขอรายชื่อเพื่อสนับสนุนแถลงการณ์อะไรสักอย่าง ดิฉันก็สรุปเอาเองว่าท่านทั้งหลายคงเข้าใจตรงกันว่า คนที่เขียนขอรายชื่อ คือ แกนนำการเคลื่อนไหวในเรื่องนั้นๆ ไม่ใช่ว่าทุกคนที่ลงชื่อมีสถานะเป็นแกนนำ หรือต้องกลายเป็นสมาชิกของกลุ่มนั้นๆ ไปในทันที เช่น การรณรงค์ของกลุ่มสันติประชาธรรม บางครั้งมีคนร่วมลงชื่อ 50 คนบ้าง 100+ คนบ้าง 200+ คนบ้าง ดิฉันจึงคิดเอาเองว่าทั้งคนลงชื่อ และคนอ่านก็คงเข้าใจดีว่า ไม่ใช่ทุกคนเป็นสมาชิกของสันติประชาธรรม แต่เขาแค่เห็นด้วยกับประเด็นที่กลุ่มเสนอเท่านั้น ส่วนแกนนำของสันติประชาธรรม ก็มักเป็นผู้ที่โผล่หน้าออกมาในวันแถลงข่าวนั่น เอง

อย่างไรก็ตาม คำวิจารณ์ของ อ.ชำนาญในกรณี ครก.112 ทำให้ดิฉันต้องคิดหนักขึ้น เพื่อป้องกันความเข้าใจผิดที่อาจเกิดขึ้นได้อีก หลังจากนี้ หากดิฉันขอให้ใครร่วมลงชื่อในเรื่องอะไรก็ตาม อาจต้องย้ำว่า “การลงชื่อของท่าน ไม่ได้หมายความว่าท่านเป็นสมาชิกของกลุ่ม...แต่ประการใด”

ประการสุดท้าย ดิฉันตระหนักดีว่า หลายท่านที่ร่วมลงชื่อกับเรา ไม่ได้เห็นด้วยกับร่างข้อเสนอของนิติราษฎร์ ทั้งหมด แต่ก็ยินดีลงนามด้วย โดยหลักๆ ก็คือ “เห็นด้วยในหลักการโดยรวมว่าควรที่จะต้องมีการแก้ไขปรับปรุงประมวลกฎหมาย อาญามาตรานี้” เช่นเดียวกับอาจารย์ และเป็นก้าวแรกของการแก้ไขปัญหานี้ในวิถีทางที่ควรจะเป็น ซึ่งก็คงไม่สำเร็จในคราวเดียว และขอบคุณอาจารย์ที่ได้ส่งเอกสารมาสนับสนุนร่างแก้ไขนี้ด้วยค่ะ

สำหรับข้อวิจารณ์ที่ว่านิติราษฎร์มองแต่ประเด็นทางกฎหมาย ไม่มองประเด็นทางการเมืองนั้น ก็นับว่ามีความจริงอยู่ แต่ดิฉันมองเช่นนี้

จากการได้พูดคุยกับทางนิติราษฎร์หลายครั้ง ดิฉันเห็นว่าการที่ อ.วรเจตน์ ย้ำบ่อยครั้งว่าสิ่งที่ทำเป็นเรื่องวิชาการ ไม่ใช่การเคลื่อนไหวทางการเมือง เป็นความเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจ ไม่ใช่เพื่อทำให้ตัวเอง “ลอยตัว” หรือ “เกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง”

ดิฉันเองก็เคยบอกกับทางนิติราษฎร์ว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่นี้ เป็นการเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่ฝ่ายนิติราษฎร์ยังยืนยันว่าเป็นการเคลื่อนไหวทางวิชาการ ซึ่งทำให้ดิฉันเข้าใจได้ทันทีว่า เพราะเราต่างมีความเข้าใจความหมายของ “การเคลื่อนไหวทางการเมือง” ที่แตกต่างกัน ซึ่งก็จะเห็นได้ชัดเจนจากคำอธิบายในสเตตัสใน fb ของ อ.สาวตรี สุขศรี (แต่การกล่าวเช่นนี้ ก็หวังว่าท่านอธิการบดี สมคิด จะไม่นำคำพูดของดิฉันไปชี้หน้าว่า นี่ไงๆ แม้แต่ คนใน ครก. 112 ยังบอกว่านิติราษฎร์เคลื่อนไหวทางการเมือง จึงห้ามใช้ มธ.อีก ดิฉันขอบอกว่า สำหรับดิฉัน ซึ่งเป็นศิษย์เก่า มธ. และเป็นนักกิจกรรม ดิฉันใช้ มธ.เคลื่อนไหวทางการเมืองมาตั้งแต่เป็นนักศึกษา ก็ไม่เคยเห็นมีปัญหาอะไร กรุณาอย่าแยก มธ.ออกจากการเมืองเลย เพราะมันจะทำลายชีวิตของ มธ.ในที่สุด)

การไม่มองมิติทางการเมืองนั้น จึงเป็นทั้งจุดอ่อนและจุดแข็งของนิติราษฎร์ จุดอ่อนคือ ไม่ได้สนใจเรื่องจังหวะก้าวทางการเมืองอะไรสักเท่าไร จุดแข็งคือ มันทำให้นิติราษฎร์มุ่งผลักดันข้อเสนอต่างๆ ของตัวเอง โดยไม่สนใจแรงปะทะทางการเมืองที่จะกลับมาสู่ตนเท่าไรนัก แต่ผลักดันด้วยความเชื่อมั่นในหลักการ เหตุผล ความซื่อตรง และความบริสุทธิ์ใจของตนเองเป็นสำคัญ เราจะเห็นลักษณะเช่นนี้เด่นชัดมาก โดยเฉพาะในตัว อ.วรเจตน์ การไม่สนใจมิติการเมือง หรือไม่เป็นการเมือง จึงทำให้เราได้คนที่กล้าหาญ มั่นคงในหลักการของตัวเอง แม้ว่าจะโดนกระหน่ำอย่างรุนแรงจากรอบทิศ ก็ไม่ท้อ ไม่เคยโอดครวญเรียกร้องความเห็นใจจากสังคม ใน ทางตรงกันข้าม คนที่คำนึงถึงการเมืองมากๆ ก็มักเป็นคนประเภท “รู้หลบเป็นปีก รู้หลีกเป็นหาง” หรือคนประเภทจะทำอะไรแต่ละครั้ง ไม่เพียงต้องประเมินว่าผลการเมืองจะเป็นอย่างไร แต่ต้องประเมินว่าตัวเองจะได้หรือเสียอะไรด้วย แต่ดิฉันคิดว่านิติราษฎร์ไม่ได้สนใจเรื่องสิ่งนี้เลย

แม้ว่าจะเห็นข้ออ่อนบางประการของนิติราษฎร์ แต่ดิฉันเคารพในคุณลักษณะดังกล่าวของพวกเขา ที่นับวันก็หายากขึ้นทุกที

สุดท้าย กรณีเรื่องควรผลักดันเรื่องไหนก่อนหลัง เป็นการง่ายที่คนเราจะฉลาดหลังเหตุการณ์ แต่ก็อย่างที่ อ.สาวตรีบอก กรณีอากง ทำให้สังคมเห็นปัญหาของ ม.112 มากขึ้น มีการเคลื่อนไหวเรื่องนี้โดยกลุ่มต่างๆ ก็นับว่าเป็นจังหวะที่ดีที่เราจะผลักดันเรื่อง ม.112 ให้ได้มากที่สุด

ในสภาวะที่นิติราษฎร์ถูกกระหน่ำอย่างหนักนี้ คนบางส่วนอาจหวั่นไหว และต้องการถอยห่างออกไป แต่เราก็ได้เห็นผู้ใหญ่หลายท่าน เช่น อ.ชาญวิทย์ อ.นิธิ อ.เกษียร ที่ยังยืนหยัด ปกป้องสิทธิและเสรีภาพของคนในสังคม รวมถึงของนิติราษฎร์และ ครก. 112 ด้วย จึงขอขอบพระคุณมา ณ ที่นี้ด้วย