ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Wednesday, 25 January 2012

ยังไม่หยุด "วิวาทะ "สุวินัย-เกษียร" (อีกครั้ง) "นิติราษฎร์" มีอุดมการณ์ "ปฏิวัติถาวร" และเป็น "ทรอตสกีอิสต์"? "

ที่มา Thai E-News

24 มกราคม พ.ศ. 2555
ที่มา มติชนออนไลน์


หลังจากเคลื่อนไหวประเด็นการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 และรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มา 2 อาทิตย์ติดต่อกัน

"ก้อนอิฐ" ก็เริ่มถูกปาเข้าใส่นักวิชาการคณะนิติราษฎร์หนักและถี่ขึ้นเรื่อยๆ ไล่ตั้งแต่นักวิชาการกฎหมายรุ่นพี่อย่าง "บวรศักดิ์ อุวรรณโณ" ที่ตั้งคำถามไปที่เรื่องส่วนตัวเกี่ยวกับสถานะนักเรียนทุนอานันทมหิดลของ "วรเจตน์ ภาคีรัตน์"

ขณะที่นักการเมืองรุ่นเก๋าอย่าง "พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์" ก็บอกว่านิติราษฎร์เป็น "เด็กๆ" และไล่ให้ไปศึกษา "ประวัติศาสตร์" เสียก่อน

ด้าน "ศาสตรา โตอ่อน" อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะสมาชิกกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ กล่าวถึงข้อเสนอการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ของนิติราษฎร์ว่า ในทางกฎหมาย ถือว่าการกระทำที่เป็นการลดสถานะของพระมหากษัตริย์นั้น เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ 2550 หลายมาตรา เบื้องต้นมีช่องทางตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรค 2 โดยให้ประชาชนเข้าชื่อเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุด ตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้ยกเลิก การกระทำดังกล่าวและยังเปิดให้ประชาชนสามารถดำเนินคดีอาญาในหมวดความมั่นคง ของรัฐ

แต่ที่มีน้ำหนักน่ารับฟังและชวนถกเถียงทางความคิดมากที่สุดใน ช่วง 2 วันที่ผ่านมา กลับเป็นบททดลองเสนอเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ทางความคิดของกลุ่มนิติราษฎร์โดย "สุวินัย ภรณวลัย" อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหนึ่งในนักวิชาการกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ ซึ่งได้เขียนบันทึก "(กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ในสถานการณ์สู้รบ 19)" ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว มีเนื้อหาดังนี้

ผมมีมุมมองหนึ่งที่อยากทดลองนำเสนอเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ทางความคิดของกลุ่มนิติราษฏร์เพื่อแลกเปลี่ยนกับพวกเรา หัวข้อ "การปฏิวัติถาวร 2475 ของพวกนิติราษฎร์" จากการได้ติดตามอ่านบทสัมภาษณ์ของเหล่าแกนนำกลุ่มนิติราษฎร์อย่างต่อเนื่อง ตัวผมเริ่มมีความชัดมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าในทางความคิดหรืออุดมการณ์พวกแกนนำกลุ่มนิติราษฏร์ต้องการอะไร

พูด แบบสรุปรวบรัดก็คือ ผมคิดว่าในทางความคิดพวกเขาต้องการสืบทอดการปฏิวัติ 2475 ที่พวกเขามองว่าเป็นการปฏิวัติที่ไม่สมบูรณ์ unfinished revolutionโดยพวกเขามุ่งผลักดันการปฏิวัติ 2475 นี้ทางความคิดต่อไปอีกแบบการ ปฏิวัติถาวร permanent revolution ตามแนวคิดของทรอตสกี้ อดีตนักมาร์กซิสต์ชื่อดังแห่งสากลที่ 4 ที่เคยนำการปฏิวัติร่วมกับเลนินจนโค่นระบอบจักรพรรดิซาร์ของรัสเซียสำเร็จมา แล้วในปี ค.ศ.1917 จนกระทั่งการปฎิวัติ 2475 สำเร็จบริบูรณ์ในที่สุดในวันใดวันหนึ่งข้างหน้า

ด้วยเหตุนี้เองพวกเขาจึงเน้นที่การปลูกฝังอุดมการของนิติราษฏร์ที่เป็น "การปฏิวัติถาวร 2475" ให้แก่มวลชนเพื่อข้ามพ้นตัวบุคคลไม่ว่าจะเป็นแกนนำกลุ่มนิติราษฎร์อย่างอาจารย์วรเจตน์ หรือ "พ่อค้าการปฏิวัติถาวร 2475" อย่างทักษิณ ชินวัตร

หากมองจากมุมมองข้างต้นนี้ ผมถือว่าพวกนิติราษฏร์ได้ประสบความสำเร็จไปแล้วตามแนวทางทางความคิดที่พวกเขาได้วางไว้ การด่าทอก่นด่าตัวบุคคลจากฝ่ายต่อต้านจึงไม่ทำให้พวกเขาหวั่นไหวเลยแม้แต่น้อย ทักษิณ เองอาจยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองก็ตกเป็นเครื่องมือให้พวกนิติราษฎร์ใช้ เพื่อบรรลุอุดมการณ์การปฏิวัติถาวร 2475 ของพวกเขาด้วยเช่นกัน

ด้วยจิตคารวะและสมานฉันท์ยิ่งครับ


สุวินัย ภรณวลัย


ต่อมา นายเกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ได้แสดงความเห็นต่อบททดลองเสนอของนายสุวินัยว่า


คำว่า "การปฏิวัติถาวร" (permanent revolution) หรือถ้าพูดให้เต็มตามทฤษฎีของฝ่ายทรอตสกีอิสต์ (หนึ่ง ในสองผู้นำสำคัญของการปฏิวัติรัสเซีย อดีตผบ.กองทัพแดงคนแรก และต่อมาหลังเลนินตาย ถูกสตาลินเนรเทศและส่งนักฆ่าตามไปสังหารทิ้งที่เม็กซิโก) คือ "การปฏิวัติที่ยังไม่สิ้นสุดและมีลักษณะเชิงซ้อน" (unfinished & combined revolution) เป็นแนวคิดที่มีบุคลิกเฉพาะคือ - ต่างจากพวกสตาลิน หรือพวกที่เชื่อในการปฏิวัติเป็นขั้นตอน stagist revolution/stagism อย่างเหมาเจ๋อตุงที่เสนอว่าต้องปฏิวัติประชาธิปไตยกระฎุมพีก่อน แล้วต่อยปฏิวัติสังคมนิยมต่อภายหลัง ตามขั้นตอนพัฒนาการสังคมและพลังการผลิต ห้ามข้ามขั้น - ฝ่ายทรอตสกีอิสต์เชื่อว่าใน สังคม ทุนนิยมด้อยพัฒนาอย่างรัสเซียสมัยพระเจ้าซาร์และโลกที่สาม ภารกิจการปฏิวัติประชาธิปไตยกระฏุมพีกับภารกิจปฏิวัติสังคมนิยมนั้นทับซ้อน เหลื่อมซ้อนกัน ไม่อาจแยกขั้นตอนจากกันได้ ดังนั้นฝ่ายชนชั้นกรรมกรและพรรคปฏิวัติของชนชั้นนี้ต้องทำการปฏิวัติทั้ง 2 ภารกิจแนบเนื่องกันไปเลยเป็นกระบวนการเดียว คือทั้งทำปฏิวัติประชาธิปไตย (แทนพวกกระฎุมพีซึ่งอ่อนแอ) และทำปฏิวัติสังคมนิยม (โค่นนายทุนและทุนนิยม) พร้อมกันไปในทีเดียว

เอา เข้าจริง สุวินัยนั่นแหละที่เป็นหนึ่งในผู้นำความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับทฤษฎีปฏิวัติ ถาวรของทรอตสกี้จากญี่ปุ่นมาเผยแพร่ในเมืองไทยเมื่อสามสิบปีก่อนหลังพคท.แตก และคำว่า "เชิงซ้อน" ที่แปลจาก (combined) ในภาษาอังกฤษ แต่ไม่รู้ว่าแปลจากคำว่าอะไรในภาษาญี่ปุ่นก็เป็นคำที่สุวินัยหยิบมาใช้เป็น คนแรก จะเรียกว่าสุวินัยเป็นประกาศกทฤษฎีปฏิวัติถาวรและเชิงซ้อนตัวจริงก่อนนิติ ราษฎร์ก็ได้

แต่คณาจารย์กลุ่มนิติราษฎร์เป็นพวกเชื่อใน "การปฏิวัติถาวร" แบบที่สุวินัยเคยเชื่อหรือ? ผม เห็นต่างไป ข้อคิดข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์แค่ต้องการให้ประชาธิปไตยสมบูรณ์ ให้ภารกิจการสร้างประชาธิปไตยในเมืองไทยที่คั่งค้างมาตั้งแต่การอภิวัฒน์ 2475 บรรลุผลสมตามเจตนารมณ์ของคณะราษฎรโดยเฉพาะสายอาจารย์ปรีดี-มธก.เท่านั้น ในทางข้อเสนอเชิงนโยบายและภาษาวาทกรรมที่คณะนิติราษฎร์ใช้ เอาเข้าจริงไม่มีอะไรสังคมนิยมเลย แม้ว่าสมาชิกบางท่านอาจเคยปาฐกถาแสดงความเห็นอกเห็นใจในแนวคิดภราดรภาพนิยม ของอ.ปรีดี ซึ่งเป็น "สังคมนิยมอ่อน ๆ" ก็ตาม แต่จะบอกว่าคณาจารย์ทั้งกลุ่มเอาสังคมนิยมและมีข้อเรียกร้องเชิงหลักนโยบาย ที่ต่อต้านทุนนิยมชัดเจนนั้นไม่ได้ ไม่มีหลักฐาน เป็นการคาดเดาทั้งเพ - เพราะถ้าจริง หลักนโยบายนั้นก็จะต่อต้านทักษิณและระบบทุนนิยมแบบเสรีนียมใหม่ของทักษิณ อย่างแน่นอนในตัว

ข้อวิเคราะห์ของอ.สุวินัยเรื่องนี้จึงไม่มีหลักฐาน เชิงประจักษ์ รองรับ เป็นการคาดเดาซึ่งจะนำไปสู่การสวมหมวกกันง่าย ๆ ว่าใครต่อใครเป็นทรอตสกี้อิสต์ เอาเข้าจริงในหมู่นักเคลื่อนไหวทางการเมืองปัจจุบัน คนที่ประกาศตัวเป็นทรอตสกี้อิสต์ชัดเจนมีอยู่ ก็คืออาจารย์ใจ อึ๊งภากรณ์ รายนั้นเขาเปิดเผยโต้ง ๆ เลย ข้อ กล่าวหาของอ.สุวินัย - อดีตผู้สมาทานทรอตสกี้ - กรัมชี่ - โรซ่า ลุกเซมบูร์ก - สหภาพแรงงานเสรีโซลิดาริตี้ ฯลฯ ในยุคเอียงซ้ายของแก ว่าคณาจารย์นิติราษฎร์เป็นทรอตสกีอิสต์ หลอกใช้ทักษิณจึงเหลวไหลผิดฝาผิดตัว เห็นคนอื่นในเงาของตัวในอดีตไปเสีย

ด้วยตรรกะ เพี้ยน (ขออนุญาตยืมคำอ.สุวินัยมาใช้นะครับ) แบบนี้ ก็อาจพูดได้เหมือนกันว่า อ.สุวินัยและพธม.เอาเข้าจริงเป็นนักปฏิวัติถาวรแบบทรอตสกีอิสต์ (สังเกตดูว่าพวกเขาเรียกร้องประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขพร้อม ทั้งต่อต้านทุนนิยมทักษิณสุด ๆ และมีชาวสังคมนิยม-คอมมิวนิสต์ในอดีตในหมู่ปัญญาชนของกลุ่มหลายคน เช่น อ.สุวินัย, คุณสุรพงษ์ ชัยนาม เป็นต้น) และอ.สุวินัยกับพธม.หลอกใช้อำมาตย์-ป๋าเปรมเพื่อบรรลุเป้าหมายสังคมนิยม -คอมมิวนิสต์ของตัวได้เหมือนกัน - แต่แน่นอน คิดแบบนั้นมันเพี้ยนนะครับ และผมไม่ได้คิดแบบนั้น (แต่ใครจะลองคิดดูเล่น ๆ ก็ได้ว่ามันเพี้ยนแค่ไหน....)

ถ้าจะสู้กันทางความคิด อย่ามั่ว ต้องละเอียดและระมัดระวัง ใส่ใจวิเคราะห์ความคิดของฝ่ายที่คุณเห็นต่างพอ ๆ กับที่คุณใส่ใจรายละเอียดของความคิดตัวเอง ใน ข้อนี้ ยังไม่เห็นอ.สุวินัยทำอย่างจริงจังกับคณะนิติราษฎร์เลย ขณะที่สมัยทักษิณ อ.สุวินัยลงแรงวิเคราะห์วิจารณ์ความคิดทักษิณละเอียดกว่ามาก ผมขอท้าทายให้ทำ อย่างน้อยก็ให้จริงจังเท่า ๆ กับที่ผมวิเคราะห์วิจารณ์ความคิดประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (เลือกตั้ง 30 แต่งตั้ง 70) ของสนธิ ลิ้มทองกุล

ทรอตสกี้

ซึ่งนายสุวินัยได้ตอบข้อวิจารณ์ของนายเกษียรผ่านบันทึก "(กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ในสถานการณ์สู้รบ 21)" ว่า

หลังจากออกจากการทำสมาธิในตอนเช้าและมาเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ ผมก็เห็นข้อความที่อาจารย์เกษียรเขียนวิจารณ์ผมเรื่องบททดลองเสนอ "การปฏิวัติถาวร 2475" ของพวกนิติราษฎร์ ผมยิ้มให้กับอาจารย์เกษียรเพื่อนของผมด้วยความยินดีและเปี่ยมไมตรี ผม คิดว่าความเข้าใจของผมกับของอาจารย์เกษียรเกี่ยวกับนิติราษฎร์น่าจะตรงกันนะ ครับ กล่าวคือนิติราษฎร์มีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าทางความคิด ที่จะผลักดันการปฏิวัติประชาธิปไตยของประเทศไทยที่เริ่มมาตั้งแต่ 2475 ให้สำเร็จสมบูรณ์

เพียง แต่ผมใช้คำอธิบายสิ่ง นี้มาจากเงาอดีตที่เคยเป็นมาร์กซิสต์ของผมโดยใช้แนวคิดของทรอตสกี้เรื่องการ ปฏิวัติถาวรมามองเรื่องนี้เท่านั้นเอง ผมไม่ได้มั่วหรอกนะครับ (อิ อิ คำว่าตรรกะเพี้ยนที่สื่อเขียนถึงนั้นสื่อเขาเขียนเองผมใช้คำว่าลดทอนต่างหาก ตอนที่คอมเมนท์อาจารย์เกษียรนะครับ) เพราะผมไม่ได้คิดในเรื่องการปฏิวัติสังคมนิยมในแก่นความคิดของนิติราษฏร์เลย สิ่งที่อาจารย์เกษียรวิจารณ์ผมมา ในเรื่องนี้ผมขอน้อมรับว่าเป็นความบกพร่องในการสื่อสารของผมเองเพราะดันไป หยิบยืมแนวคิดของทรอตสกี้มาใช้อธิบายกลุ่มนิติราษฏร์นั่นเอง

แต่จริงๆแล้วความเข้าใจของเราตรงกันครับ และอาจารย์เกษียรก็อธิบายความคิดเรื่องการปฏิวัติประชาธิปไตยของนิติราษฎร์ได้ดีกว่าผมมาก กล่าว คือในทางความคิดแล้วการล้มล้างสถาบันเจ้าเพื่อสืบทอดการปฏิวัติ 2475ให้สมบูรณ์ เป็นสิ่งที่นิติราษฎร์คิดในเชิงหลักการตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เรื่องนี้เราเห็นตรงกันครับ สิ่งที่เราต่างกันก็คือ ผมไม่ยอมรับเรื่องนี้ในบริบททางประวัติศาสตร์ตอนนี้ แต่ตัวอาจารย์เกษียรยอมรับได้ต่างหาก ผมรู้สึกดีใจเสมอที่ได้แลกเปลี่ยนกับอาจารย์เกษียรครับ

ด้วยรักและผูกพันเสมอ

สุวินัย ภรณวลัย

นายเกษียรจึงตอบกลับว่า

ผมไม่เห็นว่าข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์จะ "ล้มล้างสถาบันเจ้า" ตรงไหนเลยครับ? อาจารย์สุวินัยเอาอะไรมาตีความแบบนั้นหรือครับ? ที่ผมเห็นคือเขาต้องการระบอบราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy) ที่มีสถาบันกษัตริย์แน่นอน จุดต่างจากฝั่งพันธมิตรฯน่าจะอยู่ตรงข้อเสนอของนิติราษฎร์ไม่ต้องการให้มี การใช้สถาบันกษัตริย์เป็นเครื่องมือในทางการเมือง โดยเฉพาะจากกลุ่มพลังทางการเมืองที่อ้างอิงล้อมรอบสถาบันกษัตริย์อยู่ เช่น พันธมิตรฯ เป็นต้น ขอทีเถอะครับ อย่ายัดถ้อยคำใส่ปากคนที่เขาไม่ได้พูด ไม่มีใครล้มล้างเจ้าในข้อเสนอของนิติราษฎร์ แต่มีคนล้มล้างประชาธิปไตยแน่นอนและได้ทำการล้มล้างไปแล้วด้วยเมื่อปี 2549 คือ คปค.ของผู้นำเหล่าทัพ โดยมีพธม. ตีฆ้องร้องเชียร์ครับ ลูกผู้ชายก็น่าจะรับกันตรง ๆ ทำคือทำ แล้วอย่าไปเที่ยวกล่าวหาคนอื่นว่าทำในสิ่งที่เขาไม่ได้ทำ เขาไม่ได้คิดจะล้มเจ้า แต่ล้มการเมืองที่ใช้เจ้าเป็นเครื่องมือครับ อ.สุวินัย (กลับไปอ่านตอนต้นอีกที)


ก่อนที่นายสุวินัยจะเขียนบันทึก "(กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ในสถานการณ์สู้รบ 23)" มีเนื้อความว่า

จากการได้แลกเปลี่ยนกับอาจารย์เกษียร การประเมินบทบาทของกลุ่มนิติราษฏร์ถ้าใช้ภาษาของผมจะอยู่ในระหว่างสองขั้วคือขั้วที่เป็นอุดมคติและปลอดการเมืองซึ่งผมมองกลุ่มนี้ในฐานะผู้เสนอ "การปฏิวัติประชาธิปไตยถาวร 2475" ส่วนในอีกขั้วหนึ่งที่เป็นกลุ่มการเมืองที่มีเป้าหมายทางการเมืองแอบแฝงซึ่งผมมองกลุ่มนี้ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของ "บริบททักษิณ"

บทบาท ของกลุ่มนิติราษฎร์ใน ความเป็นจริงน่าจะอยู่ในขอบเขตระหว่างสองขั้วนี้แหละครับ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับอัตวิสัยและตัวตนของปัจเจกแต่ละคนว่าจะประเมินกลุ่มนี้ ว่าโน้มเอียงไปในทางขั้วใด ผมคิดว่านี่เป็นการมองบทบาทของกลุ่มนิติราษฏร์อย่างเที่ยงธรรมที่สุดแล้วนะ ครับ

ด้วยจิตคารวะและสมานฉันท์ยิ่งครับ


สุวินัย ภรณวลัย