ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Wednesday, 25 January 2012

นิติราษฎร์ตอบประเด็น "การสาบานตนของกษัตริย์ว่าจะพิทักษ์รัฐธรรมนูญ"

ที่มา Thai E-News

25 มกราคม 2555

แม้ จะล่าไปนิด แต่บทความชิ้นนี้ของนิติราษฎร์ชิ้นนี้ ท่ีตอบคำถามที่ฝ่ายรอยัลลิสต์ต่อประเด็นว่าทำไมกษัตริย์ต้องสาบานตนต่อ รัฐสภา และรัฐธรรมนูญ ๓ ฉบับแรก ในฐานะรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยตามอุดมการณ์ของคณะราษฎร รวมทั้งปัญหามาตรา 112 และการเข้าใจบริบททางประวัติศาสตร์การเมืองไทย เป็นบทความที่ควรจะได้เผยแพร่ในวงกว้าง

ชื่อบทความเดิม นิติราษฎร์ ฉบับ ๓๓
โดย ปิยบุตร แสงกนกกุล
ทีมา นิติราษฎร์
(เผยแพร่เมื่อ 1 มกราคม 2555)


“Mais voici les rangs qui se confondent; les barrières élevées entre les hommes s'abaissent;
on divise les domaines, le pouvoir se partage, les lumières se répandent, les intelligences s'égalisent; l'état social devient démocratique,
et l'empire de la démocratie s'établit enfin paisiblement dans les institutions et dans les mœurs.
Je conçois alors une société où tous, regardant la loi comme leur ouvrage,
l'aimeraient et s'y soumettraient sans peine;
où l'autorité du gouvernement étant respectée comme nécessaire et non comme divine,
l'amour qu'on porterait au chef de l'État ne serait point une passion,
mais un sentiment raisonné et tranquille …”
“แต่นี่แหละ คือ ตำแหน่งแห่งที่ ลำดับชั้นที่ปะปนกันไป กำแพงขวางกั้นก็ค่อยๆทลายลง
มีการแบ่งทรัพย์สิน อำนาจถูกแบ่งออกไป
ความ สว่างไสวทางปัญญาแพร่หลาย ภูมิปัญญาเท่าเทียมกัน สภาพสังคมก็กลายเป็นประชาธิปไตย และในท้ายที่สุด อาณาจักรแห่งประชาธิปไตยได้สร้างขึ้นอย่างสันติในสถาบันและในประเพณี
ดัง นั้น ข้าพเจ้าจึงพินิจเห็นสังคมหนึ่งที่ทุกคน, ซึ่งมองกฎหมายเสมือนเป็นผลงานรังสรรค์ของตนเอง, รักใคร่ซึ่งกันและกัน และยอมอยู่ภายใต้สังคมนั้น
เป็นสังคมที่อำนาจของผู้ปกครองได้รับการเคารพในฐานะเป็นเรื่องจำเป็น หาใช่เพราะเป็นเทวสิทธิ์ ความรักที่มอบให้ต่อประมุขของรัฐย่อมมิใช่เกิดจากอารมณ์ปรารถนา
แต่เกิดจากความรู้สึกที่มีเหตุมีผลและสงบนิ่ง...”
Alexis de Toqueville, De la démocratie en Amérique, Tome I, 1835, p.14.



- ๑ -
การสาบานตนของกษัตริย์ว่าจะพิทักษ์รัฐธรรมนูญ


ใน ประเทศที่เป็นราชอาณาจักรและเป็นประชาธิปไตย หรือประเทศที่ใช้ระบอบประชาธิปไตยอันอนุญาตให้กษัตริย์เป็นประมุข รัฐธรรมนูญกำหนดให้กษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐต้องสาบานตนก่อนเข้ารับ ตำแหน่งว่าจะพิทักษ์รัฐธรรมนูญ และมักมีบทบัญญัติเกี่ยวกับหน้าที่ของกษัตริย์ในการเคารพรัฐธรรมนูญ เช่น

สเปน ในมาตรา ๖๑ “กษัตริย์ต้องปรากฏตนต่อหน้ารัฐสภาเพื่อสาบานตนว่าจะปฏิบัติหน้าที่ของตน อย่างซื่อสัตย์ ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เคารพสิทธิของพลเมืองและประชาคมปกครองตนเอง”

เบลเยียม ในมาตรา ๙๑ วรรคสอง “กษัตริย์ จะขึ้นครองราชย์ได้ภายหลังสาบานตนอย่างสง่าผ่าเผยต่อหน้ารัฐสภา คำสาบานมีดังนี้ “ข้าพเจ้าขอสาบานว่าจะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายของราษฎรชาวเบลเยียม รักษาเอกราชของชาติ และบูรณภาพแห่งดินแดน”

เดนมาร์ก ในมาตรา ๘ “ก่อน เข้าสู่อำนาจ กษัตริย์ต้องทำคำประกาศเป็นลายลักษณ์อักษรต่อคณะรัฐมนตรีว่าจะไม่ละเมิด รัฐธรรมนูญ กษัตริย์ต้องทำคำประกาศนั้น ๒ ฉบับ ฉบับหนึ่ง ส่งมอบให้กับรัฐสภาเพื่อเก็บไว้ในหอจดหมายเหตุของรัฐสภา อีกฉบับ เก็บไว้ในหอจดหมายเหตุของราชอาณาจักร...”

นอร์เวย์ มาตรา ๙ “... กษัตริย์ต้องสาบานต่อสภาผู้แทนราษฎรว่า ข้าพเจ้าขอสัญญาและสาบานว่าจะปกครองราชอาณาจักรนอร์เวย์ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย..."

เนเธอร์แลนด์ ในมาตรา ๓๒ “โดย เร็วที่สุด ภายหลังเริ่มใช้อำนาจ กษัตริย์ต้องสาบานตนอย่างสง่าผ่าเผยต่อที่ประชุมรัฐสภาอันเปิดเผยซึ่งจัด ขึ้นในสถานที่ประชุมเดียวเท่านั้น คือ อัมสเตอร์ดัม พระองค์ต้องสาบานและสัญญาว่าจะจงรักภักดีต่อรัฐธรรมนูญและซื่อสัตย์ต่อการ ปฏิบัติหน้าที่”

กรณีของ “ราชอาณาจักร” ไทยนั้น ไม่ปรากฏชัดเจนว่า กษัตริย์ ผู้เป็นประมุขของรัฐ ต้องมีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ความคิดดังกล่าวก็ได้รับการถกเถียงในช่วง ๒๔๗๕ ดังปรากฏให้เห็นจากนายปรีดี พนมยงค์ เคยเล่าไว้ว่า "ในระหว่างร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ๑๐ ธ.ค. มีปัญหาว่าจะควรเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ว่า พระมหากษัตริย์มีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระยาพหลฯและข้าพเจ้า เข้าเฝ้าที่พระตำหนักจิตรลดา มีพระราชกระแสรับสั่งว่า รัฐธรรมนูญของหลายประเทศที่มีประมุขรัฐเป็นประธานาธิบดีนั้นเขียนไว้ว่า ประมุขแห่งรัฐมีหน้าที่พิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญ และต้องปฏิญาณตนก่อนเข้ารับหน้าที่ว่า จะพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญไว้ ส่วนสยามนั้น รับสั่งว่าไม่จำเป็นต้องเขียน เพราะเมื่อพระองค์พระราชทานแล้วก็เท่ากับให้สัตยาธิษฐาน และยิ่งกว่านั้นตามพระราชประเพณีได้ทรงสัตยาธิษฐานในพิธีราชาภิเษก ข้าพเจ้ากราบทูลว่า เมื่อได้เปลี่ยนการปกครองมาเป็นราชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญแล้ว จะโปรดเกล้าฯสำหรับพระมหากษัตริย์องค์ต่อไปให้มีความใดเติมไว้ในพระราช สัตยาธิษฐานในพิธีราชาภิเษกบ้าง รับสั่งว่า มีความในพระราชปรารภที่ขอให้พระบรมวงศานุวงศ์สมัครสมานกับประชาราษฎร์ ในอันที่จะรักษาปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว เจ้านายที่จะทรงเป็นพระมหากษัตริย์องค์ต่อๆไป ก็เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ จึงมีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ"

นายปรีดีฯ ยังเล่าต่อไปอีกว่า "พระยา พหลฯกราบบังคมทูลว่า การทรงพิทักษ์รัฐธรรมนูญนั้นจะทรงกระทำอย่างไร พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯรับสั่งว่า ถ้ารัฐบาลเสนอเรื่องใดที่ขัดรัฐธรรมนูญ พระองค์ก็ส่งกลับคืนไปโดยไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยให้ พระยาพหลฯกราบทูลต่อไปว่าคณะราษฎรเป็นห่วงว่านายทหารที่ถูกปลดกองหนุนไปจะ คิดล้มล้างรัฐบาลขึ้นมาแล้วจะทูลเกล้าฯถวายรัฐธรรมนูญใหม่ของเขาให้ทรงลงพระ ปรมาภิไธย จะโปรดเกล้าฯอย่างไร รับสั่งว่าพระองค์จะถือว่า พวกนั้นเป็นกบฏ และในฐานะจอมทัพ พระองค์จะถือว่าพวกนั้นเป็นราชศัตรูที่ขัดพระบรมราชโองการ ถ้าพวกนั้นจะบังคับให้พระองค์ทรงลงพระปรมาภิไธย พระองค์ก็จะทรงสละราชสมบัติให้พวกเขาหาเจ้านายพระองค์อื่นลงพระปรมาภิไธย ให้"[๑]

เมื่อพิจารณาประวัติศาสตร์การเมืองไทย และระบบรัฐธรรมนูญของต่างประเทศแล้ว จะเห็นได้ว่า หน้าที่ของกษัตริย์ในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ และการสาบานตนของกษัตริย์ก่อนเข้ารับตำแหน่งว่าจะเคารพและพิทักษ์รัฐธรรมนูญ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด และไม่ใช่เรื่องน่ากลัวจนไม่อาจพูดถึงได้

หาก บุคคลใดกล่าวหาว่าความคิดเช่นนี้เป็นความคิดสุดโต่ง เป็นความคิดอันตราย เป็นการจาบจ้วง ลิดรอนพระราชอำนาจ หรือไปถึงขนาดว่า “ล้มเจ้า” ข้าพเจ้าเห็นว่า ความคิดของบุคคลเหล่านั้น คงเป็นความคิดที่กลั่นกรองออกจาก “สมอง” ที่ “หลงยุค” อยู่ในสมบูรณาญาสิทธิราชย์


- ๒ -
รัฐธรรมนูญ ๓ ฉบับแรก

ในฐานะรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยตามอุดมการณ์ของคณะราษฎร

ใน ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ที่เผยแพร่ต่อสาธารณะเมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๕๔ ในประเด็นที่ ๔ เรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในส่วนของเนื้อหาของรัฐธรรมนูญใหม่นั้น คณะนิติราษฎร์เห็นว่ารัฐธรรมนูญที่จะนำมาใช้เป็นต้นแบบในการจัดทำรัฐธรรมนูญ ใหม่ สมควรเป็นพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๕, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๘๙ และอาจนำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ในส่วนของการประกันสิทธิและเสรีภาพ ตลอดจนโครงสร้างสถาบันการเมืองและองค์กรทางรัฐธรรมนูญเท่าที่สอดคล้องกับ พัฒนาการในยุคร่วมสมัยมาเป็นแนวทางในการยกร่าง

เหตุที่คณะนิติราษฎร์ จำเพาะเจาะจงมุ่งเน้นไปที่รัฐธรรมนูญ ๓ ฉบับแรก ก็เนื่องจากพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๕ ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกนั้นเป็นรัฐธรรมนูญที่จัดวางระบอบประชาธิปไตยและ หลักความเป็นราชอาณาจักรซึ่งกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ส่วนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๘๙ เป็นรัฐธรรมนูญที่สืบเนื่องต่อมาตามกระบวนการปกติ โดยที่ไม่มีการล้มล้างรัฐธรรมนูญนอกวิถีทางประชาธิปไตย

การรัฐประหาร ล้มล้างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับเกิดขึ้นครั้งแรกในวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ ต่อมา คณะรัฐประหารได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ๙ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ การรัฐประหารครั้งนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของ “วงจรอุบาทว์” ในระบอบการเมืองไทย นับแต่นั้น รัฐธรรมนูญฉบับที่สืบเนื่องต่อมา ก็เป็นรัฐธรรมนูญที่ถูกตัดตอนจากอุดมการณ์ประชาธิปไตยของคณะราษฎร ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ให้นำรัฐธรรมนูญ ๓ ฉบับแรกมาเป็นต้นแบบในการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ จึงเป็นความพยายามนำระบอบการเมืองการปกครองในปัจจุบันกลับไปเชื่อมโยง อุดมการณ์ประชาธิปไตยของคณะราษฎร

นอกจากนี้ เราอาจพิจารณาความเห็นของนายปรีดี พนมยงค์ ต่อรัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ ได้อีกด้วย นายปรีดีฯ เห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่มเป็นโมฆะ ระบบการเมืองและรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๙๒ และฉบับต่อๆมา ก็เป็นโมฆะ นอกจาก “มิใช่ระบบการเมืองประชาธิปไตยตามวิถีทางรัฐธรรมนูญโดยชอบ” แล้วยัง “มิใช่เป็นระบบปกครองที่สมบูรณ์ในตัวของรัฐธรรมนูญนั้นเอง” ด้วยเหตุผลสามประการ ดังนี้

ประการแรก การลงนามของกรมขุนชัยนาทนเรนทรในรัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่มเป็นโมฆะ เพราะ “หัว เรื่องรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว เขียนตำแหน่งผู้ลงนามแทนพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ “คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” ซึ่งในภาษาไทยคำว่า “คณะ” หมายถึงบุคคลตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป แต่เหตุใดจึงมีผู้ลงนามเพียงคนเดียว คือ “รังสิต กรมขุนชัยนาทนเรนทร” ส่วนหลายคนที่มีจิตใจสังเกตก็แสดงความเห็นว่า เมื่อก่อนหน้าวันที่ ๘ พฤศจิกายนนั้น เคยได้ฟังวิทยุกรมโฆษณาการอ่านประกาศกฎหมายหลายฉบับ คือ เมื่ออ่านคำว่า “คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” แล้ว ก็อ่านต่อไปถึงชื่อคณะนั้นที่ลงนาม ซึ่งผู้ลงนาม ๒ ท่าน คือ “รังสิต กรมขุนชัยนาทนเรนทร” และ “มานวราชเสวี” (พระยามานวราชเสวี) แสดงว่า คณะนั้นประกอบด้วยบุคคล ๒ คน ฉะนั้นผู้ใช้ความสังเกตจึงเห็นได้ทันทีว่า รัฐธรรมนูญ (ฉบับใต้ตุ่ม) ดังกล่าวเริ่มแสดงถึงการเป็นโมฆะตั้งแต่หัวเรื่องของรัฐธรรมนูญฉบับนั้น”[๒]

ปรีดีฯ ยังได้ชี้ชวนให้พิจารณาประกาศตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ลงวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๔๘๙ อีกด้วยว่า เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชยังทรงพระเยาว์ รัฐสภาจึงลงมติตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ประกอบด้วย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร เป็นประธาน และพระยามานวราชเสวี โดยมีข้อตกลงว่าในการลงนามเอกสารราชการนั้น ให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทั้งสองเป็นผู้ลงนาม ดังนั้น รัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่มซึ่งกรมขุนชัยนาทฯองค์เดียวเป็นผู้ลงนามจึงเป็นโมฆะ เพราะฝ่าฝืนข้อกำหนดในประกาศแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ฉบับวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๔๘๙[๓]

ประการที่สอง ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ปฏิญาณตนต่อรัฐสภาว่าจะรักษาและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย นายปรีดีฯ เห็นว่า "... ผู้สำเร็จราชการที่ตั้งโดยรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๘๙ นี้ก็ได้ปฏิญาณตนต่อรัฐสภาว่า "จะรักษาและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย" ดั่งนั้นถ้ากรมขุนชัยนาทฯได้ปฏิบัติตามที่ปฏิญาณและไม่ยอมลงพระนามแทนองค์ พระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม และปฏิบัติหน้าที่จอมทัพแทนองค์พระมหากษัตริย์ขณะทรงพระเยาว์แล้ว ระบอบแห่งรัฐธรรมนูญใต้ตุ่มอันเป็นบ่อเกิดให้ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญต่อมาอีก หลายฉบับ จนมวลราษฎรจำกันไม่ได้ว่ามีกี่ฉบับก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้..."[๔]

ประการที่สาม ผู้ ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการในรัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม เป็นตำแหน่งที่ไม่มีกฎหมายรองรับ นายปรีดีฯ อธิบายว่าผู้ลงนามรับสนองฯในรัฐธรรมนูญ ๒๔๙๐ คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม “ผู้ บัญชาการทหารแห่งประเทศไทย เป็นตำแหน่งที่คณะรัฐประหาร ตั้งให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งผิดต่อกฎหมาย และผู้นั้นไม่มีอำนาจตามที่กฎหมายที่จะลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ”[๕]


- ๓ -
๑๑๒


หลัง จากคดี “อากง” กระแสเรื่องการปฏิรูปมาตรา ๑๑๒ ก็กลับเข้าสู่สาธารณะอีกครั้ง นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง ท่ามกลางกระแสคดี “อากง” มีทั้งฝ่ายสนับสนุนให้ยกเลิกมาตรา ๑๑๒ ให้แก้ไขมาตรา ๑๑๒ บ้างก็หวงห้ามแก้ราวกับมาตรา ๑๑๒ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันมิอาจล่วงละเมิดได้ บ้างไปไกลกล่าวนั้น เสนอให้เพิ่มโทษเข้าไปอีก ในบรรดาความเห็นต่างๆเหล่านี้ ข้าพเจ้าสนใจในความคิดเห็นของบรรดารอแยลลิสม์ผู้ดูมีทีท่าเป็นผู้มีสติปัญญา และมีเหตุมีผล จึงใคร่ขอตั้งเป็นข้อสังเกต ดังนี้

บรรดารอแยลลิสม์ ผู้ดูมีทีท่าเป็นผู้มีสติปัญญาและมีเหตุมีผลหลายท่านแสดงความเห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ไม่มีปัญหา แต่ปัญหาในปัจจุบันเกิดจากการบังคับใช้ ข้าพเจ้าเห็นว่า ความเห็นในลักษณะนี้ พูดเมื่อไร ก็ถูกเมื่อนั้น ไม่ต่างอะไรกับการวิจารณ์สังคมหรือเสนอแนะทางแก้ปัญหาในทุกเรื่อง ก็จะโยนไปที่ปัญหาการศึกษา

บุคคลที่ไปร้องทุกข์กล่าวโทษเจ้าหน้าที่ ตำรวจ พนักงานอัยการ ตลอดจนศาล ดำเนินการและตัดสินคดีที่เกี่ยวกับมาตรา ๑๑๒ อย่างที่เป็นอยู่ เพราะอะไร? ลองจินตนาการดูว่า ถ้าสถานะของสถาบันกษัตริย์ไม่เป็นดังเช่นปัจจุบัน ถ้าสถานะของสถาบันกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรไทยเหมือนกับสถานะของสถาบัน กษัตริย์แห่งราชอาณาจักรสเปน ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร แล้วการดำเนินการต่างๆที่เกี่ยวกับมาตรา ๑๑๒ จะเป็นเช่นนี้หรือไม่? ถ้าสังคมในราชอาณาจักรไทยไม่ถูกครอบงำโดยอุดมการณ์แบบกษัตริย์นิยมดังเช่น ทุกวันนี้ ความกระตือรือร้นของเหล่าอุลตร้ารอแยลลิสม์ และการใช้การตีความกฎหมายมาตรา ๑๑๒ ของผู้ปฏิบัติการทางกฎหมาย จะเป็นเช่นนี้หรือไม่?

เช่นนี้แล้ว ปัญหาของมาตรา ๑๑๒ จึงอยู่ที่การบังคับใช้ของบรรดาเจ้าหน้าที่ อยู่ที่ปัญหาของพวกอุลตร้ารอแยลลิสม์ เพียงเท่านี้หรือ? ปัญหาอยู่ที่ใดกันแน่? อะไรเป็นเหตุให้อุลตร้ารอแยลลิสม์ ผู้ปฏิบัติการทางกฎหมาย ปฏิบัติเช่นนั้น?

การให้เหตุผลว่ามาตรา ๑๑๒ มีปัญหาที่การบังคับใช้ มาตรา ๑๑๒ ไม่ได้มีปัญหาที่ตัวกฎหมาย จึงเป็นการผลักปัญหาไปโทษที่ “คน” โดยจงใจละเลยโครงสร้าง เบื้องหลัง ตลอดจนอุดมการณ์ที่ยึดครองสังคมนี้
ข้อเสนอของรอแยลลิสม์ที่ให้แก้ไข มาตรา ๑๑๒ เฉพาะกรณีลดโทษให้กลับไปเท่ากับอัตราโทษตอนปี ๒๕๑๙ และหาองค์กรใดองค์กรหนึ่งรับผิดชอบในการร้องทุกข์กล่าวโทษ จึงเป็นการ “แก้ไข” ที่ไม่ใช่ “แก้ไข” แก้ไปก็เหมือนไม่แก้

ในความเห็นส่วนตัว ของข้าพเจ้า การรณรงค์แก้ไขหรือยกเลิกมาตรา ๑๑๒ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเคารพเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การอดทนอดกลั้นต่อความคิดเห็นที่แตกต่าง และระบอบประชาธิปไตย และด้วยการแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา ๑๑๒ ตามพื้นฐานนี้เอง จะส่งผลไปถึงสถาบันกษัตริย์ ทำให้สถาบันกษัตริย์ดำรงอยู่กับประชาธิปไตยได้


- ๔ -

ประกาศนิติราษฎร์ ฉบับที่ ๓๓ นี้ ข้าพเจ้าขออนุญาตแนะนำหนังสือ ๒ เล่ม เล่มแรก ประวัติรัฐธรรมนูญ ของ สุพจน์ ด่านตระกูล หนังสือเล่มนี้ ท่านจะได้ทราบถึงรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยตามความตั้งใจของคณะราษฎร และการต่อสู้ระหว่างคณะราษฎรกับระบอบเก่า โดยผ่านรัฐธรรมนูญ สุพจน์ฯได้คัดเอาเอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ และคำอภิปรายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยนั้น ซึ่งมีความก้าวหน้า และกล้าหาญที่จะอภิปรายประเด็นปัญหาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์อย่างตรงไปตรงมา

เล่มที่สอง แผนชิงชาติไทย ของสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ หนังสือเล่มนี้ คือ วิทยานิพนธ์ของสุธาชัยฯ ในชื่อ “การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ต่อต้านรัฐบาลสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามครั้งที่สอง (พ.ศ.๒๔๙๑-๒๕๐๐)” ท่านจะได้ทราบถึงสาเหตุ ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ตลอดจนผลของรัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ ต่อเนื่องไปถึงการรัฐประหาร ๑๖ กันยายน ๒๕๐๐ ของสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยในประกาศพระบรมราชโองการ ตั้งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เป็นผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร โดยไม่มีผู้ใดลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

หนังสือทั้งสองเล่มเหมาะ สมอย่างยิ่งสำหรับการศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยเฉพาะในช่วง ๒๔๗๕ – ๒๕๐๐ นอกจากท่านจะได้ความรู้เรื่องประวัติศาสตร์การเมืองไทยแล้ว หนังสือทั้งสองเล่มนี้ ยังช่วยให้ท่านได้ตระหนักว่า สถานะของสถาบันกษัตริย์ไทยในปัจจุบัน ไม่ได้มีลักษณะเช่นนี้มาตลอดกาล แต่ถูกทำให้เข้มแข็งอย่างเป็นกระบวนการและเป็นระบบ มีการต่อสู้กัน ผลัดกันแพ้ ผลัดกันชนะ เพียงแต่ว่า ปัจจุบันนี้ อุดมการณ์กษัตริย์นิยมได้ยึดกุมสังคมไทยอยู่

ในวาระที่เข้าสู่ ปี ๒๕๕๕ อันเป็นปีครบรอบ ๑๐๐ ปี คณะ ร.ศ. ๑๓๐ และครบรอบ ๘๐ ปี อภิวัตน์ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ข้าพเจ้าเห็นว่า เป็นโอกาสที่เหมาะสมอย่างยิ่งในการรณรงค์เรื่องประชาธิปไตย เรื่องรัฐธรรมนูญ เรื่องสิทธิและเสรีภาพ ตลอดจนลบล้างสิ่งปฏิกูลที่ตกทอดมาจากระบอบรัฐประหาร

และหากถามว่า สถานการณ์ในปี ๒๕๕๕ และปีถัดๆไปจะเป็นเช่นไร ข้าพเจ้าคงไม่มีความสามารถคาดเดาได้ด้วยตนเอง แต่ข้าพเจ้าขอยกข้อเขียนของนายปรีดี พนมยงค์ ตั้งแต่ ๒๕๐๐ มาเป็นคำตอบ เพื่อให้ท่านได้พิจารณาอย่างแยบคาย ดังนี้

"...ในระยะหัวต่อหัว เลี้ยวระหว่างระบบเก่ากับระบบใหม่นั้น เราอาจเห็นในบางสังคมว่าระบบเก่าที่สลายไปแล้วได้กลับฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีก ทั้งระบบหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของระบบ ดูประหนึ่งว่าระบบเก่าหรือส่วนของระบบเก่า จะวกกลับมาตั้งมั่นอยู่ต่อไป และคล้ายกับเป็นวิถีที่แย้งกฎแห่งอนิจจัง

แต่สิ่งที่ลวงตาเช่นนั้น เป็นเรื่องชั่วคราว ตามวิถีแห่งการปะทะในระยะหัวต่อหัวเลี้ยว ทั้งนี้ก็เพราะระบบเก่ายังคงมีพลังที่ตกค้างอยู่ จึงดิ้นรนตามกฎที่ว่า “สิ่งที่กำลังจะตายย่อมดิ้นรนเพื่อคงชีพ” การต่อสู้ทำนองนี้อาจเป็นไปได้หลายยก โดยต่างฝ่ายต่างผลัดกันชนะผลัดกันแพ้ ระบบของสังคมในระยะหัวต่อเช่นนั้นย่อมมีลักษณะปลีกย่อยต่างๆที่ได้รับการ แก้ไขให้เหมาะแก่สถานการณ์ของฝ่ายชนะ แต่ในที่สุดพลังเก่าพร้อมทั้งระบบก็หลีกเลี่ยงไปไม่พ้นจากกฎแห่งอนิจจัง ระบบใหม่ที่ได้รับชัยชนะนั้นก็ดำเนินไปตามกฎอันเดียวกัน โดยมีระบบใหม่ยิ่งกว่ารับช่วงเป็นทอดๆต่อไป

... ความจริงก็ปรากฏว่ามีบุคคลซึ่งดูเหมือนจะเป็นวรรณะใหม่ แต่ก็ไม่เข้าใจกฎอนิจจัง โดยถือว่าสภาวะเก่าเป็นของถาวร และไม่พอใจในความพัฒนาของสภาวะใหม่ที่ต้องเป็นไปตามกฎธรรมชาติ บุคคลจำพวกนี้อาจไม่ใช่หน่อเนื้อเชื้อไขของวรรณะเก่า แต่บำเพ็ญตนเป็นสมุนของพลังเก่ายิ่งกว่าบุคคลแห่งอันดับสูงของวรรณะเก่า ทั้งนี้ก็เพราะพลังเก่าที่สลายไปนั้น ได้สูญสิ้นไปเฉพาะรูปภายนอกของระบบการเมือง แต่บุคคลเก่ายังแฝงอยู่ในกลไกอำนาจรัฐและอำนาจเศรษฐกิจ ซึ่งยังคงมีทรรศนะทางสังคมตามระบบเก่าที่ล้าหลัง สิ่งตกค้างของระบบเก่าชนิดนี้มีทรรศนะที่ผิดจากกฎธรรมชาติยิ่งกว่าบุคคล ก้าวหน้าแห่งวรรณะเก่าเอง ฉะนั้นจึงดำเนินการโต้กฎธรรมชาติและกฎแห่งอนิจจัง ดึงสังคมให้ถอยหลังเข้าคลองยิ่งกว่าพวกถอยหลังเข้าคลองที่จำต้องเป็นไปตาม สภาวะของเขา แต่อย่างไรก็ตาม การดึงให้สังคมถอยหลังก็เป็นไปเพียงชั่วคราว เพราะในที่สุดกฎแห่งอนิจจังต้องประจักษ์ขึ้น"
[๖]

- - - - - - - - - - - - -

เชิงอรรถ

[๑] ปรีดี พนมยงค์, จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน ๑๔ ตุลาคม, พิมพ์ครั้งที่ ๕, ๒๕๔๓, หน้า ๖๘-๖๙

[๒] ปรีดี พนมยงค์, ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์, สำนักพิมพ์แม่คำผาง, พิมพ์ครั้งที่ ๕, ๒๕๕๓, หน้า ๒๒๙.

[๓] เพิ่งอ้าง, หน้า ๒๒๙-๒๓๑.

[๔] ปรีดี พนมยงค์, จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน ๑๔ ตุลาคม, พิมพ์ครั้งที่ ๕, ๒๕๔๓, หน้า ๗๐.

[๕] ปรีดี พนมยงค์, ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์, สำนักพิมพ์แม่คำผาง, พิมพ์ครั้งที่ ๕, ๒๕๕๓, หน้า ๒๓๓

[๖] ปรีดี พนมยงค์, ความเป็นอนิจจังของสังคม, คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง ๑๐๐ ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส, พิมพ์ครั้งที่ ๙, ๒๕๔๒, หน้า ๒-๔. ดาวน์โหลดได้ที่ http://www.openbase.in.th/files/pridibook010.pdf