"ตุลย์-บวร" ระดมพล "เครือข่ายคนรักสถาบัน" สองสาย บุกยื่นหนังสือสหประชาชาติ หลังออกมาวิจารณ์กฎหมายหมิ่นสถาบัน จี้ขอโทษ - ยื่นวุฒิสภาสอบ “ยิ่งลักษณ์” โพสต์ภาพเฟซบุ๊ครูป ร.8 ชี้เข้าข่ายหมิ่น
ที่มาภาพ: Bus Tewarit
16 ธ.ค. 54 - สำนักข่าวไอเอ็นเอ็นรายงาน ว่าน.พ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ และภาคีเครือข่ายสยามสามัคคี ได้เดินทางมาหน้าองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย เพื่อยื่นหนังสือต่อตัวแทนองค์การสหประชาชาติ เกี่ยวกับกรณีที่สหประชาชาติ ได้แสดงความคิดเห็นว่า กฎหมายหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ มาตรา 112 ของไทย มีโทษหนักเกินไป และผิดกติการะหว่างประเทศว่าด้วยพลเมืองและสิทธิทางการเมือง โดย น.พ.ตุลย์ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นการเข้ามาละเมิดอธิปไตยทางกฎหมายของไทย จึงขอให้ทางสหประชาชาติยุติเรื่องดังกล่าว และหากเป็นไปได้ ก็อยากให้ออกมาขอโทษประเทศไทย
พร้อมทั้งยืนยันว่า ทุกประเทศมีกฎหมายปกป้องประมุขของตนเองทั้งนั้น และกฎหมายมาตรา 112 ไม่ได้ขัดต่อกติการะหว่างประเทศ โดยได้ยกกติการะหว่างประเทศมาตรา 19 มายืนยันต่อสื่อมวลชนที่มารอทำข่าว และหลังจากนั้น ทางภาคีเครือข่ายสยามสามัคคี จะเดินทางไปยื่นหนังสือในเรื่องเดียวกันต่อสถานทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทยต่อไป
เครือข่ายอาสาปกป้องฯ ยื่นวุฒิสภาสอบ “ยิ่งลักษณ์” โพสต์ภาพเฟซบุ๊ครูป ร.8 ชี้เข้าข่ายหมิ่น
ด้านเว็บไซต์เดลินิวส์รายงาน ว่าวันนี้ (16 ธ.ค.) ที่รัฐสภา นายบวร ยสินทร ประธานเครือข่ายราษฎรอาสาปกป้องสถาบัน เดินทางเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อนางพรพันธุ์ บุณยรัตพันธุ์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาติดตามการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการเกี่ยว กับการพิทักษ์สถาบัน พระมหากษัตริย์ วุฒิสภา เพื่อให้ตรวจสอบกรณีที่เฟชบุ๊ค น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เขียนข้อความเพื่อถวายพระพรเนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ในวันที่ 3 ธ.ค. ว่า “ 5 ธันวา รวมพลังคนไทย รวมหัวใจถวายพระพรชัยมงคล” แต่แทนที่จะใช้พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 9 แต่กลับใช้พระบรมฉายาลักษณ์ของล้นเกล้า ร.8 แทนจนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง เพื่อให้นายรัฐมนตรีออกมาชี้แจงกับสังคมต่อไป
ภาคีสยามสามัคคีจี้รัฐแสดงจุดยืนยึดมั่นประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 54 ที่ผ่านมาสำนักข่าวไทยรายงาน ว่าที่โรงแรมสยามซิตี้ภาคีเครือข่ายสยามสามัคคี นำโดย พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม และ นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ออกแถลงการณ์จากกรณีรักษาการโฆษกสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้ตรวจการพิเศษแห่งสหประชาชาติด้านเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพ ในการแสดงออก เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย และผู้แทนระดับสูงสหภาพยุโรปด้านการต่างประเทศและนโยบายด้านความมั่นคง เรียกร้องให้ไทยแก้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่เกี่ยวข้องกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ในฐานะที่ไทยเป็นภาคีกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการ เมือง อันสืบเนื่องจากคดีหมิ่นเบื้องสูงของนายอำพล ตั้งนพกุล หรือ อากง และ นายเลอพงษ์ วิไชยคำมาตย์ หรือ โจ กอร์ดอน
ทั้งนี้ ทางภาคีเครือข่ายฯ เห็นว่ากรณีดังกล่าวเกิดจากการรับฟังข้อมูลเพียงบางส่วน ไม่มีความเข้าใจอย่างแท้จริงเรื่องการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหา กษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมถึงไม่เข้าใจจารีตประเพณี วัฒนธรรม ความผูกพันอันแนบแน่นระหว่างประชาชนไทยและพระมหากษัตริย์ จึงไม่เข้าใจที่มาของกฎหมาย และไม่ตระหนักถึงผลร้ายที่จะตามมา ซึ่งความเห็นขององค์กรระหว่างประเทศดังกล่าวอาจมาจากการแสดงออกของรัฐบาลไทย ที่ปล่อยให้มีขบวนการละเมิดกฎหมายและละเมิดกระบวนการยุติธรรม ทำลายความศรัทธาที่ประชาชนมีต่อองค์พระมหากษัตริย์ โดยมุ่งเพื่อประโยชน์ทางการเมืองเท่านั้น
ทางภาคีเครือข่ายฯ เห็นว่า การเรียกร้องของบุคคลดังกล่าว เป็นกระบวนการเพื่อล้มล้างความเป็นมาตรฐานสากลของกระบวนการยุติธรรมไทย และทำลายความเชื่อมั่นต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมีพระมหากษัตริย์ทรง เป็นประมุข พยายามแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมในไทย ไม่เคารพสิทธิ ความมั่นคงของชาติ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และอาจทำให้เกิดความเกลียดชังในชาติ ยั่วยุให้เกิดการเลือกปฏิบัติ
ทางภาคีเครือข่ายฯ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลแสดงออกถึงการยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยมี พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ชี้แจงให้บุคคลดังกล่าวและนานาประเทศเข้าใจและยอมรับการปกครองของไทย โดยให้มีหนังสือชี้แจงรายละเอียดข้อเท็จจริงแห่งคดีที่เกิดขึ้น ตลอดจนความสำคัญของกฎหมาย และผลร้ายที่จะตามมาหากมีการละเมิด พร้อมขอให้รัฐบาลทำหนังสือประณามการแทรกแซงกิจการภายใน ลบหลู่กระบวนการยุติธรรมของไทย และการแสดงออกที่มีผลให้เกิดความขัดแย้งในสังคมไทย
พล.อ.สมเจตน์ กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้ (16 ธ.ค.) เวลา 13.30 น. ภาคีเครือข่ายฯ จะไปยื่นหนังสือที่องค์การสหประชาชาติ และสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เพื่อให้เข้าใจในเรื่องดังกล่าว และจะจัดเสวนาช่วงเย็นที่สวนลุมพินี เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นในเรื่องนี้ด้วย
นพ.ตุลย์ ยืนยันว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ถูกต้องตามกระบวนการยุติธรรม ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และตรงตามข้อ 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ที่ประเทศไทยเป็นภาคีอยู่