ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Saturday, 17 December 2011

Fearlessness Talk: เสวนาเพื่อก้าวข้ามความกลัว

ที่มา ประชาไท

เสวนาในงานเปิดตัวหนังสือรณรงค์ปล่อยตัว ‘อากง’ โดยปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการส่งสารไปยังคนในกระบวนการยุติธรรม นักการเมือง และชนชั้นนำ ชี้ ยิ่งใช้กฎหมายมาบีบคั้นมากเท่าไร ประชาชนยิ่งจนตรอกและลุกขึ้นสู้มากเท่านั้น

เมื่อเวลา 18.00 น. วันที่ 15 ธันวาคม 54 ณ ลานปรีดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในงานเปิดตัวหนังสือ “ก้าวข้ามความกลัว” โดยปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ มีวงเสวนาพูดคุยเรื่องกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและการตัดสินคดีของ “อากง” หรือนายอำพล (ขอสงวนนามสกุล) ผู้ถูกตัดสินลงโทษจำคุก 20 ปีด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเมื่อเดือนที่ผ่านมา โดยมีผู้ร่วมเสวนา คือ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิจัยจากสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ประเทศสิงคโปร์ และผู้ริเริ่มแคมเปญ “Free Akong” สาวตรี สุขศรี จากคณะนิติราษฎร์ และวรพจน์ พันธุ์พงศ์ นักเขียนอิสระ ดำเนินรายการโดยวันรัก สุวรรณวัฒนา อาจารย์จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ปวิน กล่าวถึงที่มาของหนังสือเล่มนี้ว่า ได้รับแรงบันดาลใจมาจากแคมเปญ “อภยาคติ” ที่ริเริ่มโดยออง ซาน ซูจีเพื่อให้กำลังใจนักโทษการเมืองในพม่า และเมื่อเดือนที่ผ่านมา การรณรงค์ดังกล่าวที่เริ่มต้นขึ้นในเฟซบุ๊กของปวินได้รับการตอบรับจากผู้ที่ สนับสนุนกว่าพันคน จึงอยากจะรวบรวมภาพถ่ายดังกล่าวมาตีพิมพ์เป็นหนังสือ โดยท้ายปกหนังสือ มีจุดประสงค์บอกเล่าว่าเพื่อ “เรียกร้องให้ปล่อยตัวอากง แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือการปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมด และผลักดันให้มีการปฏิรูปหรือยกเลิกมาตรา 112 เพื่อให้ไทยได้เป็นอารยประเทศอย่างสมบูรณ์แบบ”

การตัดสินคดีอากงเป็นการกลับหลักกฎหมาย

สาวตรี สุขศรี อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เนื่องจากการตัดสินคดีดังกล่าวยังมีสิ่งไม่ชัดเจนอยู่หลายประการ เช่น โทษที่สูงเกินไป การปฏิเสธการให้จำเลยประกันตัวในชั้นศาล และหลักฐานในการเอาผิดที่ไม่ชัดเจน ทำให้ประชาชนจำนวนมากเกิดข้อสงสัยและทำให้คดีนี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ อย่างกว้างขวาง

สาวตรี กล่าวถึงการปฏิเสธการให้ประกันของนายอำพลในชั้นศาล ว่าทำให้สิทธิของผู้ต้องหาในการสู้คดีถูกตัดตอนออกไป ซึ่งส่งผลให้เขาถูกจำคุกก่อนการตัดสินคดีไปแล้วตั้งแต่เดือนมกราคม ทั้งๆที่เขาก็ได้รับการประกันตัวแล้วในชั้นตำรวจ และมาเข้ารับการพิจารณาคดีตามกำหนดทุกประการ และชี้ว่า แม้แต่คดีร้ายแรง เช่น การฆาตกรรม หรือคดีของผู้ที่มีอิทธิพล ก็ยังได้รับการประกันตัว

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นของการพิสูจน์หลักฐานจนสิ้นข้อสงสัยและภาระหน้าที่ของการ พิสูจน์ โดยสาวตรีชี้ว่า การพิจารณาคดีในกฎหมายอาญา จำเป็นจะต้องพิสูจน์หลักฐานอย่างแน่นหนา ถ้าหากว่าไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ จะต้องยกประโยชน์ข้อสงสัยให้กับจำเลย หากแต่ในคดีนี้ จะพบว่ามีข้อสงสัยในหลายจุด อาทิ ตัวเลขประจำเครื่องโทรศัพท์ หรือหมายเลข IMEI ที่ยังมีความคลาดเคลื่อน แต่นายอำพลก็ยังถูกตัดสินจำคุกถึง 20 ปี โดยศาลให้เหตุผลว่า จำเลยไม่สามารถพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองได้ ทั้งๆที่ตามหลักกฎหมายแล้ว ภาระของการพิสูจน์ความผิดจะต้องเป็นหน้าที่ของผู้กล่าวหา หรือโจทก์นั่นเอง

“คำถามของในวงการกฎหมายก็คือว่า นี่คือการกลับหลัก มันไม่เป็นตามที่มันควรจะเป็น” อาจารย์จากคณะนิติราษฎร์กล่าว

ทั้งนี้ เธอชี้ว่า บทความที่เขียนโดยโฆษกศาลยุติธรรมซึ่ง เผยแพร่เมื่อวันที่ 14 ธันวาคมที่ผ่านมา ถึงแม้จะมีการชี้แจงในเรื่องต่างๆ เช่น อากงจะถูกสันนิษฐานว่าบริสุทธิ์จนกว่าจะถูกตัดสินถึงที่สุด เนื่องจากในขณะนี้คดียังอยู่ในศาลชั้นต้นและสามารถอุทธรณ์ได้ อย่างไรก็ตาม จากท่าทีของบทความ กลับสะท้อนว่า ผู้เขียนบทความเองก็ได้ปักใจเชื่อไปแล้วว่า อากงเป็นผู้กระทำความผิดจริง นอกจากนี้ ยังไม่มีการพูดถึงหลักการของภาระการพิสูจน์ความผิด ทั้งๆ ที่เป็นประเด็นที่สำคัญในการตัดสินคดีนี้

สาวตรี กล่าวว่า การตัดสินคดีอากงซึ่งนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางนั้น ทำให้ในวงการกฎหมายเริ่มตั้งคำถามว่า ‘ดุลยพินิจ’ ของตุลาการ ควรถูกตรวจสอบและถ่วงดุลหรือไม่ เธอยกตัวอย่างการพิจารณาคดีของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งในคดีอาญาที่มีโทษร้ายแรง จะมีการใช้ระบบลูกขุนผสมระหว่างนักกฎหมายและประชาชน เพื่อให้เกิดการถ่วงดุลดับดุลยพินิจของศาล

ลด-ละความคลั่งเจ้า เพื่อให้สังคมอยู่ร่วมกันได้

ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ผู้จัดทำหนังสือ “ก้าวข้ามความกลัว” กล่าวว่า ในขณะนี้ ไม่เพียงแต่กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจะส่งผลกระทบแต่ภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยกับประเทศอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะในระยะหลังๆ ที่มีคนบางกลุ่มโจมตีสหรัฐอเมริกา สหประชาชาติ และหน่วยงานระหว่างประเทศอื่นๆ ทั้งนี้ ปวินชี้ว่า ฝ่ายคลั่งเจ้าหรือ Hyper-royalistจำเป็นต้อง “เจ้านิยม” อย่างพอเพียง เพื่อทำให้คนในสังคมสามารถอยู่ร่วมกัน และเป็นการทำให้สถาบันกษัตริย์อยู่รอดได้

สาวตรีชี้ว่า คนในสังคมจำเป็นต้องเข้าใจว่า การเรียกร้องให้ปฏิรูปกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่ใช่เป็นเรื่องเดียวกับการ “ล้มเจ้า” เพราะตัวกฎหมายไม่เท่ากับตัวสถาบันฯ หากแต่เป็นเพียงบทบัญญัติหนึ่งในประมวลกฎหมายเท่านั้น ถ้าหากสังคมยังไม่เข้าใจ โดยเฉพาะภาคการเมือง ก็จะไม่มีใครที่กล้าแตะต้องและเปลี่ยนแปลงในเรื่องความไม่สมเหตุสมผลของ กฎหมายอาญามาตรา 112

นโยบายปราบหมิ่นของ รบ. จะยิ่งบีบคั้นประชาชน

ปวินกล่าวว่า การปรองดองระหว่างฝ่ายทักษิณ และฝ่ายเจ้าที่เกิดขึ้นในต้นปีที่ผ่านมา หรือ “ปฏิญญาบรูไน” ทำให้เชื่อได้ว่ารัฐบาลคงต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขบางอย่างที่ถูกกำหนดมา โดยเฉพาะการประกาศนโยบายต่างๆ ที่ยืนยันถึงความจงรักภักดี เพื่อแลกกับความอยู่รอดของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อย่างไรก็ตาม ปวินเชื่อว่า รัฐบาลเพื่อไทย ไม่ควรเล่นตามเกมของฝ่ายตรงข้าม เพราะไม่ว่าอย่างไร ชนชั้นนำก็ไม่มีวันยอมรับได้ ประชาชนจึงจำเป็นต้องลุกขึ้นมาเรียกร้องและรณรงค์ในประเด็นกฎหมายหมิ่นฯ ตามที่ตนเองสามารถทำได้ และไม่ควรไปคาดหวังกับนักการเมืองมากนัก

นักวิชาการจากกลุ่มนิติราษฎร์ ชี้ว่าการบังคับใช้กฎหมายที่กดขี่ประชาชนเช่นมาตรา 112 นี้ กลับมิได้ทำให้ประชาชนกลัวเกรงมากขึ้น กลับแต่ทำให้ผู้คนตระหนักถึงภัยของกฎหมายหมิ่นฯ และลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อสิทธิของตนเอง ดังจะเห็นจากในช่วงปีที่ผ่านมา มีการผลักดันข้อเสนอเกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นฯ ในแบบที่แรงขึ้น กล้าขึ้น และเป็นรูปธรรมมากขึ้น ดังนั้นจึงขอกล่าวไปยังฝ่ายชนชั้นนำด้วยว่า ให้ประเมินประชาชนให้ดี อย่าคิดว่าจะสามารถเชือดไก่ให้ลิงดูแล้วจะจัดการผู้ที่เห็นต่างได้อย่าง ง่ายๆ

“สถาบันกษัตริย์นับเป็นองค์กรหรือหน่วยงานหนึ่งในสังคมที่สามารถวิพากษ์ วิจารณ์ได้ ซึงต้องแยกให้ออกระหว่างการดูหมิ่นเหยียดหยามกับการอาฆาตมาดร้าย ถ้าเรายอมรับในจุดนี้ สังคมจะเดินไปได้ เสรีภาพจะไปด้วยกันได้ ทุกสถาบันจำเป็นต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์เพื่อปรับเปลี่ยนให้มันสอดคล้องกับ ระบอบการปกครองที่เป็นอยู่ ทุกวันนี้เราไม่ได้อยู่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่ไม่สามารถแตะต้องหรือพูดถึงสถาบันไม่ได้เลย เราอยู่ในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้น สถาบันพระมหากษัตริย์จึงเป็นองค์กรที่เราต้องวิพากษ์วิจารณ์ได้” สาวิตรีกล่าว

fearlessness 01

fearlessness 02

fearlessness 03

fearlessness 04

fearlessness 05

fearlessness 06

fearlessness 10

fearlessness 11