ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Sunday 25 December 2011

การกำหนดผู้มีสิทธิฟ้องคดีมาตรา 112 ต้องเป็นสำนักราชเลขาธิการเท่านั้น - อธิบายโดยลำดับเหตุผลอย่างไร?

ที่มา ประชาไท

ตามที่ "นิติราษฎร์" จัดทำร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา คราว แถลงการณ์ข้อเสนอแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เมื่อวันอาทิตย์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ.2554 ข้อวิพากษ์วิจารณ์ได้แพร่หลายในสังคม กระทั่งขณะนี้คือปลายปี มีประเด็นโต้แย้งข้อเสนอฯ ของนิติราษฎร์ ในเรื่อง "ผู้มีอำนาจร้องทุกข์กล่าวโทษ" ความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้าย ต่อบุคคลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่า เหตุใด อำนาจร้องทุกข์กล่าวโทษ ควรจำกัดให้ สำนักราชเลขาธิการ ? (ซึ่ง "นิติราษฎร์" นำเสนอไว้ใน ข้อเสนอฯ ประเด็นที่ 7) [1]

ท่านทั้งหลายอาจพิจารณาได้จากการมอบหมายอำนาจหน้าที่หรือภารกิจตามกฎหมายของ สำนักราชเลขาธิการ ในฐานะเป็น "ส่วนราชการ" ซึ่งมีสถานะเป็น "กรม" เพื่อสำรวจอำนาจหน้าที่ภายในสำนักราชเลขาธิการ หรือ "หน่วยงานภายในบังคับบัญชา" ของสำนักราชเลขาธิการ ซึ่งปรากฎในระบบกฎหมายไทยอยู่แต่เดิมแล้ว ต่อไป

ดังกล่าวแล้วว่า ตามระบบกฎหมายไทยถือว่า "สำนักราชเลขาธิการ" มีสถานะเป็น "กรม" ตามมาตรา 8 ฉ พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2543 [2] การแบ่งส่วนราชการภายในสำนักราชเลขาธิการ ต้องตราเป็นกฎกระทรวง พร้อมทั้งกำหนดอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการนั้นๆ (กฎกระทรวง เป็นผลิตผลจากการใช้อำนาจของรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าฝ่ายปกครองระดับสูงสุด ตามพระราชบัญญัติที่มอบหมายอำนาจ)

มาตรา 8 ฉ พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2543

เช่นนี้ อำนาจหน้าที่ของ "หน่วยงาน" ใน สำนักราชเลขาธิการ ต้องพิจารณาตาม กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักราชเลขาธิการ พ.ศ.2553 [3]

คำปรารภระบุฐานก่อตั้งอำนาจของ "กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักราชเลขาธิการ พ.ศ.2553" ฉบับนี้

ข้อ 2 กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักราชเลขาธิการ พ.ศ.2553

จะพบว่า ข้อ 2 (7) กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักราชเลขาธิการ พ.ศ.2553 ก่อตั้งหน่วยงาน "กองนิติการ" ไว้ด้วย ซึ่ง "กองนิติการ" จะมีอำนาจหน้าที่อะไรบ้างนั้น ต้องพิจารณาตาม ข้อ 11 กฎกระทรวงฉบับเดียวกัน

ข้อ 11 กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักราชเลขาธิการ พ.ศ.2553

เห็นได้ว่า ข้อ 11 (1) กำหนดหน้าที่ของ "กองนิติการ" ไว้ว่า กองนิติการ มีอำนาจหน้าที่ "ดำเนินการเกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์และงานส่วน พระองค์และดำเนินการเกี่ยวกับกฎหมายและระเบียบในความรับผิดชอบของสำนัก ราชเลขาธิการ" และข้อ 11 (4) "ดำเนินการเกี่ยวกับงานนิติกรรมและสัญญา ความรับผิดในทางแพ่งและอาญา งานคดีปกครอง และงานคดีอื่นที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของสำนักราชเลขาธิการ"

ในชั้นนี้ เราทราบแล้วว่า ในโครงสร้างหน่วยงานของสำนักราชเลขาธิการ (ซึ่งมีสถานะเทียบเท่า "กรม" ในส่วนราชการ ที่เรียก สำนักราชเลขาธิการ) มีหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหา กษัตริย์และริเริ่มดำเนินคดีอาญา อยู่แต่เดิมแล้ว และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ก็เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งอยู่ในอำนาจของ "กองนิติการ" ในสำนักราชเลขาธิการ เช่นนี้ โดยหลักแล้ว เมื่อปรากฎในระบบกฎหมายกำหนดผู้มีอำนาจฟ้องคดีไว้โดยชัดแจ้ง (กฎกระทรวง เป็นผลิตผลทางกฎหมายประเภทหนึ่งซึ่งก่อตั้งชีวิต บันดาลผล ตลอดจนสิ้นผลลงได้ ในระบบกฎหมาย) แม้แต่ในระบบกฎหมายปัจจุบัน สมควรถือว่า "สำนักราชเลขาธิการ" เป็นผู้มีอำนาจเหนือวัตถุแห่งคดี ในอันที่จะกำหนดว่า จะให้มีการเริ่มกระบวนพิจารณาหรือไม่ และจุดมุ่งหมายหรือฟ้องคดีอะไร เป็นอำนาจเฉพาะ มิใช่ว่า การดำเนินกระบวนพิจารณาในมาตรา 112 เปิดโอกาสให้ บุคคลใดๆ ร้องทุกข์ได้โดยทั่วไป โดยองค์กรเจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจโดยตรง ไม่ต้องทำงาน ตามภารกิจในข้อ 11 (1), (4) กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักราชเลขาธิการ พ.ศ.2553 หรือ แม้กระทั่ง "หน่วยงาน" (กองนิติการ) ดำเนินการตามหน้าที่โดยใช้ดุลยพินิจฟ้องหรือไม่ฟ้องคดี ในฐานะที่ตนมีอำนาจเหนือวัตถุแห่งคดี (ในการริเริ่มกระบวนการพิจารณาหรือไม่)

ภายใต้สภาพการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน "อำนาจผู้ฟ้องคดี" เปิดเป็นการทั่วไป (ใครจะร้องทุกข์กล่าวโทษ ก็ได้) - ไม่อยู่ในโครงสร้างบรรทัดฐานของระบบกฎหมาย จึงปรากฏเสมอๆ ว่า ผู้ถูกกล่าวหาในคดีเกี่ยวกับการกระทำความผิดต่อพระมหากษัตริย์ฯ ถูกดำเนินคดีโดยไร้ความสมเหตุสมผล เพราะหน่วยงานซึ่งมีหน้าที่ตามกฎหมาย ปราศจากความรับผิดชอบ ในการตัดสินใจฟ้องคดี (อย่างเป็นเหตุเป็นผล) ทั้งองค์กรผู้ชี้ขาดผลของคดี ก็ปราศจากความรับผิดชอบในผลของการใช้อำนาจพิพากษาของตน (เช่น การบิดผันการใช้อำนาจตุลาการ ซึ่งในระบบกฎหมายไทยไม่ปรากฏอย่างชัดแจ้งให้เอาผิดผู้พิพากษาได้ รวมถึงการแกล้งให้จำเลยรับโทษ หรือรับโทษหนักขึ้น)

ในแง่ทรัพยากรที่สูญเสียให้แก่องค์กรเหล่านี้ในแต่ละปี จะพบว่า ตามงบประมาณประจำปี 2554 [4] จากเงินภาษีของราษฎรทั้งหลายปรากฏงบประมาณแผ่นดินประจำปีของ สำนักราชเลขาธิการ เป็นจำนวนเงิน 474,124,500 บาท [อ่านว่า สี่ร้อยเจ็ดสิบสี่ล้านหนึ่งแสนสองหมื่นสี่พันห้าร้อยบาท] หรือ สำนักพระราชวัง เป็นจำนวนเงิน 2,606,293,900 บาท [อ่านว่า สองพันหกร้อยหกล้านสองแสนเก้าหมื่นสามพันเก้าร้อยบาท] บรรดาหน่วยงานใดๆ ใน "ส่วนราชการ" ก็ควรทำงานในภารกิจโดยรับผิดชอบ (กองนิติการ อาศัยฐานตามกฎกระทรวงมีหน้าที่เป็นผู้ริเริ่มคดี)

มาตรา 25 พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554

บางท่านอาจกังขาว่า เหตุใด "นิติราษฎร์" จึงไม่ให้ "สำนักพระราชวัง" ทำหน้าที่นี้ด้วยเล่า , (ผมเข้าใจว่า เหตุผลที่นิติราษฎร์เสนอเช่นนี้ส่วนหนึ่ง ก็คือ) สำนักพระราชวัง ไม่มีหน่วยงานเฉพาะที่ดำเนินงานทางกฎหมายในส่วนราชการ เป็น "หน่วยงานโดยตรง" (อย่างเช่น กองนิติการ) ท่านจะเห็นภาพพจน์ชัดเจนขึ้นเมื่อพิจารณาบทบัญญัติตาม ข้อ 3 (1) กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักพระราชวัง พ.ศ. 2547 [5] ดังนี้

ข้อ 3 (1) (ก) ถึง (ข) กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักพระราชวัง พ.ศ. 2547

ข้อ 3 (1) (ค) ถึง (ช) กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักพระราชวัง พ.ศ. 2547

จะเห็นได้ว่า อำนาจหน้าที่ของสำนักพระราชวัง มอบให้ สำนักงานเลขานุการกรม ทำงานทางธุรการ เป็นหลัก หาได้มี "หน่วยงานเฉพาะด้าน" มีอำนาจหน้าที่ ใช้หรือดำเนินการทางกฎหมายโดยตรงดั่งกองนิติการในสำนักราชเลขาธิการ ไม่

เมื่อในระบบกฎหมาย ได้มี "หน่วยงานเฉพาะ" ของ สำนักราชเลขาธิการ มีอำนาจหน้าที่บังคับใช้กฎหมายเกี่ยวสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่แล้ว หากจะดำรงมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา ไว้ต่อไป , ณ ปัจจุบัน ข้อเสนอ "ให้สำนักราชเลขาธิการ (หรือ กองนิติการ ในสังกัดฯ) ทำหน้าที่คัดกรองและฟ้องคดี หรือริเริ่มกระบวนบวนพิจารณา" จึงเป็นข้อเสนอที่ไม่อาจปฏิเสธได้ เช่น จะตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นคัดกรองคดีโดยอ้างเรื่อง "ความไม่เหมาะสม/บังอาจ" ที่จะให้สำนักราชเลขาฯ ฟ้องเอง จึงฟังไม่ขึ้น ทั้งเป็นหน้าที่ของสำนักราชเลขาธิการ มีเงินเดือน ตามงบประมาณแผ่นดิน(ภาษีของราษฎรทั้งหลาย) ก่อตั้งอยู่มาแต่เดิมแล้ว.

[ตัวอย่างภาคปฏิบัติ] สยามรัฐ [หนังสือพิมพ์รายวัน]. ปีที่ 58 ฉบับที่ 19958, ประจำวันอังคารที่ 18 ธันวาคม 2550. หน้า 1.

เชิงอรรถ

  1. "ข้อเสนอแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 (ภาษาไทย-อังกฤษ-ฝรั่งเศส)" ใน เว็บไซต์นิติราษฎร์ โดยดู http://www.enlightened-jurists.com/directory/167/Proposed-Amendments-to-the-Law-on-Defamation-of-the-King.html
  2. "พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2543" โดยดู ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 117 ตอนที่ 37 ก, ประกาศวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2543 : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/00018999.PDF
  3. "กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักราชเลขาธิการ พ.ศ.2553" โดยดู ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 127 ตอนที่ 59 ก, ประกาศวันที่ 28 กันยายน พ.ศ.2553 : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2553/A/059/5.PDF
  4. พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 โดยดู ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 127 ตอนที่ 60 ก, ประกาศวันที่ 28 กันยายน พ.ศ.2553 : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2553/A/060/1.PDF
  5. "กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักพระราชวัง พ.ศ. 2547" โดยดู ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 121 ตอนที่ 23 ก, ประกาศวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2547 : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/00139339.PDF