ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Sunday, 25 December 2011

ส.ศิวรักษ์: กระบวนการยุติธรรมกับนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน

ที่มา ประชาไท

หมายเหตุ: บรรยาย ณ ห้องประชุม ๗๐๙ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ถนนแจ้งวัฒนะ วันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๕๔

แม้ว่า “สิทธิมนุษยชน” จะเป็นคำใหม่ และเราไม่มีเอกสารที่ชัดเจนว่าในอดีต บรรพชนของเราได้ต่อสู้เพื่อสิทธิดังกล่าวมาอย่างไรบ้าง แต่อย่างน้อย ตั้งแต่เกิดความทันสมัยขึ้นในสยาม เราก็รู้ได้ว่าในรัชกาลที่ ๕ มีนักสิทธิมนุษยชนอย่างน้อย ๒ คน ที่ต่อสู้กับอำนาจสมบูรณาญาสิทธิ แต่ก็พ่ายแพ้ไปทั้งคู่ นั่นก็คือ เทียนวรรณ และ ก.ศ.ร.กุหลาบ

โดยที่สยามเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตไปแต่ในรัชกาลที่ ๔ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในรัชกาลหลังๆ จึงใช้จุดอ่อนอันี้ ต่อสู้กับระบอบราชาธิปไตย โดยเฉพาะก็ผู้ซึ่งใช้หนังสือพิมพ์โจมตีรัฐบาล เขาเหล่านี้มักอาศัยร่มธงของประเทศมหาอำนาจ โดยยอมให้คนซึ่งมีสัญชาติอันมิใช่ไทย เป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ผู้โฆษณา ถ้าทางราชการไทยจะฟ้องร้องเขาเหล่านั้นก็ต้องขึ้นศาลกงศุลของต่างประเทศ จึงถือได้ว่านี่เป็นวิธีการต่อสู้กับรัฐเผด็จการก่อนเกิดประชาธิปไตยขึ้นใน ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ส่วนคนไทยที่ต่อสู้กับรัฐบาลอย่างเด่นชัดที่สุดโดยไม่ได้อาศัยร่มเงาของอภิ มหาอำนาจปกป้องล้วนพ่ายแพ้อำนาจรัฐมาแล้วทั้งนั้น ที่เด่นที่สุด เห็นจะได้แก่ นรินทร์ กลึง หรือ นายนริทร์ ภาษิต ซึ่งถูกถอดออกจากบรรดาศักดิ์ แล้วถูกหาว่าวิกลจริตอีกด้วย

เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ แล้ว รัฐบาลสยามโดยการนำของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ได้สามารถแก้สนธิสัญญาต่างๆ กับนานาประเทศ จนหมดสิทธิสภาพนอกอาณาเขตไปจากราชอาณาจักรไทย ซึ่งถือได้ว่าเราได้รับเอกราชอันสมบูรณ์ ดังมีเพลงซึ่งเป็นที่นิยมบรรเลงกันในสมัยนั้นว่า

ยี่สิบสี่มิถุนา-- ยนมหาสวัสดิ์

ปฐมฤกษ์ของรัฐ-- ธรรมนุญของไทย

เริ่มระบอบแบบอา-- รยะประชาธิปไตย

เพื่อราษฎรไทย ได้สิทธิ์เสรี

สำเริงสำราญ ชื่นบานเต็มที่

เพราะชาติเรามี เอกราชสมบูรณ์

จากปี ๒๔๗๕-๒๔๙๐ แม้เราจะมีเผด็จการ ป.พิบูลสงคราม และทหารเป็นรัฐภายในรัฐ ครอบงำอยู่มิใช่น้อย ตลอดจนผลกระทบจากสงครามโลก และการยาตราทัพเข้ามาของทหารญี่ปุ่น ซึ่งยึดครองประเทศไทยไว้กลายๆ แต่กฎหมายไทยและรัฐสภาไทยก็ยังเป็นใหญ่อยู่ เมื่อเผด็จการทหารจะขจัดศัตรูทางการเมืองของตน ก็ต้องตั้งศาลพิเศษขึ้น นอกเหนือจากศาลสถิตยุติธรรม ซึ่งมีความเป็นกลางอย่างน่ายกย่อง ทั้งอัยการก็มีความกล้าหาญทางจริยธรรม และเข้าใจเจตนารมณ์ของตัวบทกฎหมายอย่างน่าชื่นชม แม้ตำรวจในสมัยนายพลตาดุ อดุลย์ อดุลเดชจรัส จะมีชื่อเสียงเสียทางด้านการทารุณโหดร้าย แต่ก็มักไม่ถูกกล่าวหาว่ารับสินบาทคาดสินบน

กระบวนการยุติธรรมของเราเริ่มหันเข้าไปสู่ความเสื่อมทราม เมื่อเราหมดความเป็นประชาธิปไตยไปแล้ว จากการรัฐประหารในปี ๒๔๙๐ เป็นต้นมา เริ่มจากกรณีสวรรคตเอาเลยก็ว่าได้ ทั้งนี้เพื่อสังหารเนื้อหาสาระของประชาธิปไตย คณะรัฐประหารและผู้นำพรรคประชาธิปัตย์ต้องการทำลายล้างนายปรีดี พนมยงค์ ผู้นำของขบวนการสันติประชาธรรม ให้กลายสภาพจากดอกบัวมาเป็นกงจักร แม้จะฆ่าเขาไม่ได้โดยขบวนการยุติธรรม ก็สังหารบริษัทบริวารในวงการสันติประชาธรรมของเขาแทบทั้งหมด นอกเหนือขบวนการยุติธรรม หรือเพียงใช้ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ให้เป็นผู้สังหารนักสิทธิมนุษยชนอย่างป่า เถื่อน โดยให้คนในเครื่องแบบเหล่านั้นขจัดศัตรูทางการเมืองแทบทุกคน

ว่าเฉพาะคดีสวรรคตนั้น พรรคประชาธิปัตย์ร่วมมือกับคณะรัฐประหารโดยตรงคือเมื่อ ทำรัฐประหารโค่นล้างรัฐบาลประชาธิปไตยของ พล.ร.ต. ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ สำเร็จ (โดยที่นายปรีดี พนมยงค์ รอดชีวิตไปได้) รัฐบาลควง อภัยวงศ์ แห่งพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาล ก็ได้ตั้งพระพินิจชนคดี (พี่เขยของ ม.ร.ว. เสนีย์ และ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช คู่ปรับของนายปรีดี พนมยงค์) ซึ่งออกจากราชการไปแล้ว ให้กลับมารับราชการใหม่ ในฐานะประธานกรรมการสืบสวนสอบสวนคดีสวรรคต พระพินิจได้ใช้วิธีปั้นพยานเท็จและข่มขู่บุคคลต่างๆ ให้มาเป็นพยานในคดีนี้อย่างเลวร้ายที่สุด

เมื่อพลตำรวจตรีหลวงชาติตระการโกศล เป็นอธิบดีกรมตำรวจได้มีคำสั่งตั้งนายตำรวจสิบนายเป็นพนักงานสอบสวนคดีนี้ มี พ.ต.อ. เนื่อง อาขุบุตร เป็นหัวหน้า แต่แล้วรัฐบาลภายใต้ฉายาของคณะรัฐประหาร ก็ตั้งให้ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ มาเป็นอธิบดีแทนหลวงชาติฯ เผ่าเป็นลูกเขยของผิน ชุณหะวัณ หัวหน้าคณะรัฐประหาร และเป็นเผด็จการตัวฉกาจ โดยเผ่าได้ปลด พ.ต.อ. เนื่อง ออกจากหน้าที่หัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีนี้ หากให้ พ.ต.ท. หลวงแผ้ว พาลชน มาเป็นหัวหน้าแทน ทั้งๆ ที่ ตอนนั้นหลวงแผ้ว ขอลาไปอุปสมบทอยู่ ก็ต้องลาสิกขามารับหน้าที่นี้

ครั้นสำนวนการสอบสวนมาถึงอัยการ พระสารการประสิทธิ์ อธิบดีกรมอัยการ เมื่อตรวจสำนวนแล้วก็ขอลาออกจากตำแหน่ง ครั้นเมื่อหลวงอรรถไกวัลวาที รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอัยการ เมื่อตรวจสำนวนแล้วก็ขอลาออกจากราชการ ส่วนหลวงอรรถวาทประวิทย์ หัวหน้ากองคดีกรมอัยการก็ได้ลาออกจากราชการอีกด้วย รัฐบาลของฝ่ายรัฐประหารจึงแต่งตั้งนายเล็ก จุณณานนท์ (น้องชาย พระยาอรรถการีย์นิพนธ์ ซึ่งเคยตั้งสำนักงานทนายความ เสนีย์-อรรถการี ร่วมกับ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช อยู่ที่ถนนราชดำเนิน) เป็นอัยการโจทก์ในคดีสวรรคต

ส่วนการตัดสินคดีของศาล ตั้งแต่ศาลอาญา และศาลอุทรณ์ จนศาลฎีกา ล้วนเป็นไปโดยขาดความยุติธรรมขั้นพื้นฐานอย่างน่าสังเกตเช่น

ศาลทราบอยู่แล้วว่า การตีความบทกฎหมายนั้นต้องพิจารณาตามความมุ่งหมายของบทบัญญัตินั้นๆ

มาตรา ๒๐๘ ทวิ ได้บัญญัติขึ้นโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ อาญา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๘๗ มาตรา ๓ นั้นดดยความเรียกร้องของฝ่ายตุลาการที่ปรารถนาให้โจทก์และจำเลยได้รับความ เป็นธรรมในคดีสำคัญๆ มิใช่ฝ่ายรัฐบาลที่เป็นฝ่ายริเริ่มขึ้นมาก่อน ดังนั้นมาตรา ๒๐๘ ทวินั้น จึงมีความมุ่งหมายให้คดีสำคัญเป็นกรณีพิเศษนั้นได้รับการพิจารณาจากที่ ประชุมใหญ่ของศาลอุทธรณ์ และให้ศาลฎีกาใช้บทกฎหมายนั้นโดยอนุโลมด้วย

แม้คำตอบท้ายวรรคต้นแห่งมาตรา ๒๐๘ ทวิ ใช้คำว่า “ก็ได้” ซึ่งให้อธิบดีศาลใช้ดุลพินิจก็ดี แต่อธิบดีศาลศาลฎีกาก็ได้เคยใช้ดุลพินิจถูกต้องตามความมุ่งหมายแห่งบทกฎหมาย นั้นมาก่อนคดีสวรรคตในหลวงรัชกาลที่ ๘ แล้ว คือได้นำคดีสำคัญ ๆ ให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาวินิจฉัย แต่คดีสวรรคตในหลวงรัชกาลที่ ๘ ซึ่งเป็นคดีสำคัญใหญ่ยิ่งกว่าคดีใดๆ ที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์แห่งศาลสถิตยุติธรรมนั้น ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามิได้เป็นผู้วินิจฉัย หากเป็นคณะผู้พิพากษาเพียง ๕ ท่าน คือ (๑) พระยาเลขวณิชธรรมวิทักษ์ (๒) พระยาธรรมบัณฑิต (๓) พระดุลยพากย์สุวมัณฑ์ (๔) พระศิลปสิทธิ์วินิจฉัย (๕) พระนาถปริญญา ซึ่งรวมแล้วมีจำนวนไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนผู้พิพากษาศาลฎีกาที่มีอยู่ในขณะ นั้น

ฉะนั้น คำพิพากษาศาลฎีกาโดยท่านผู้พิพากา ๕ นายเป็นผู้วินิจฉัยคดีสวรรคตนั้นจึงเป็นโมฆะ(๑)

อนึ่งการลอบปลงประชนม์พระมหากษัตริย์นั้นมีอัตราโทษถึงประหารชีวิต ฉะนั้นศาลไม่มีอำนาจพิจารณาคดีสวรรคตโดยจำเลยมิได้มาฟังการสืบพยาน

ข้อเท็จจริงปรากฎชัดแจ้งว่า ในการที่ ศาลอาญาเดินเผชิญสืบในหลวงองค์ปัจจุบันและสมเด็จพระราชชนนี (พระอิสริยยศขณะนั้น) ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เมื่อวันที่ ๑๒ และ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ นั้น ศาลอาญาไม่อนุญาตให้จำเลยในคดีสวรรคตได้ไปเฝ้าขอพระราชทานกราบทูลถาม ๒ พระองค์นั้นซึ่งทรงเป็นพยานสำคัญของอัยการโจทก์ในคดีสวรรคต ศาลอาญาได้ส่งเพียงผู้พิพากษาและอัยการโจทก์เท่านั้นขอพระราชทานพระราชกระแส ดังปรากฏในสำนวนคดีสวรรคตแล้ว จำเลยจึงไม่มีโอกาสกราบทูลซึ่งตามภาษากฎหมายเรียกว่า “ซักค้าน” ตามที่อัยการโจทก์ได้กราบทูลขอพระราชทานพระราชกระแสไว้ ดังนั้นการพิจารณาคดีสรรคตในหลวงรัชกาลที่ ๘ จึงเป็นโมฆะเพราะเหตุฝ่าฝืนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา(๒)

นายสุพนจ์ ด่านตระกูล ผู้เขียนเรื่อง ๕๐ ปี พระทูลกระหม่อมแก้ว จากพสกนิกรไปแล้ว ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙ และเรื่อง ในหลวงอานันท์ฯ นายปรีดี พนมยงค์ กับ... และกรณีสวรรคต ยืนยันว่าถ้าทนายจำเลย มีโอกาสซักค้าน พระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน จะจับข้อเท็จจริง อันได้จากคำให้การของพระองค์ว่าคลาดเคลื่อนอย่างไร

แต่แล้วจำเลยทั้งสามในคดีสวรรคต คือนายเฉลียว ปทุมรส นายชิต สิงหเสนี และนายบุศย์ ปทัมศริน ก็ถูกศาลฎีกาตัดสินประหารชีวิต จอมพลป.พิบูลสงคาม นายกรัฐมนตรีในเวลานั้น อ้างว่าได้ทำหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษให้จำเลยถึง ๓ ครั้ง แต่ไม่ได้รับคำตอบจากเบื้องบน ซึ่งก็อ้างว่าไม่ได้รับฎีกาดังกล่าว และก้มีพระราชดำรัสว่าบุคคลทั้ง ๓ บริสุทธิ์ โดยนายปรีดี พนมยงค์ก็เป็นผู้บริสุทธิ์ด้วย แต่แล้วก็ไม่อาจคืนชีวิตให้กับบุคคลทั้งสามนั้นได้ ดังชื่อเสียงเกียรติคุณของนายปรีดี ก็ถูกบดขยี้ มหาชนคนส่วนใหญ่ ที่ถูกสื่อสารมวลชนกระแสหลักมอมเมาไปในทางที่ให้ผู้คนคลั่งชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ก็ยังคงถูกมอมเมา จนชื่อเสียงเกียรติคุณของนายปรีดีก็ยังไม่ฟื้นคืนชีพขึ้นมาเลย โดยยังไม่เคยมีการขอขมาลาโทษจากชนชั้นบนที่เนรคุณมากับท่านและขบวนการสันติ ประชาธรรมทั้งหลายอีกด้วย

II

ที่กล่าวถึงอดีตมานั้น ก็เพื่อยืนยันว่าจะเข้าใจสภาพในปัจจุบันได้ เราจำต้องรู้ถึงพื้นภูมิ หลังของเราด้วย เสมอไป การที่คดีของนางจินตนา แก้วขาว ถูกศาลฎีกาตัดสินจำคุกนั้น เมื่อเปรียบกับคดีสวรรคต ซึ่งขึ้นถึงศาลฎีกาด้วยเหมือนกัน ก็ต้องถือว่าคดีของจินตนาเบากว่าหากเป็นการฉ้อฉลของขบวนการยุติธรรมเช่นกัน อย่างน้อยศาลชั้นต้นได้ตัดสินให้ปล่อยตัวจำเลยไปแล้ว แต่อัยการขาดการุณยธรรม เฉกเช่นบริษัท ยูเนียนเพาเวอร์ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด ก็เช่นกัน มิใยต้องเอ่ยถึงศาล โดยที่ไม่มีใครในขบวนการนี้เข้าใจถึงสิทธิมนุษยชน และบุคลลผู้เสียสละชีวิตและทุกๆ อย่างเพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้สังคมมีสันติประชาธรรม ยิ่งนายเจริญ วัดอักษรด้วยแล้ว ถึงกับโดนขบวนการนอกกฎหมายสังหารชีวิตเอาเลย ดังที่สี่อดีตรัฐมนตรีและนักต่อสู้ทางการเมืองในทางประชาธิปไตยที่ถูกปลิด ชีพไปในสมัย เผ่า ศรียานนท์ และคนอื่นๆ อีกไม่น้อยที่โดนฆ่าโดยคำสั่งของเผด็จการสฤษดิ์ ธนะรัชต์

มิใยต้องเอ่ยถึงทักษิณ ชินวัตร กับกรณีกรือแซะ และกรณีการสังการผู้คนที่ถูกกล่าวหาว่าค้ายาเสพติดต่างๆ อย่างปราศจากกระบวนการยุติธรรมใดๆ ทั้งกรณีที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ใช้อำนาจอย่างเผด็จการสังหาร ผู้ที่มาชุมนุมประท้วงรัฐบาลเมื่อเร็วๆ นี้ ก็ควรแก่การตราไว้เช่นกัน

ผู้ที่ประท้วงนั้นๆ ก็ดี จินตนา แก้วขาว ก็ดี ล้วนมีเจตนาที่ยืนหยัดเพื่อสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชนและสิทธิในการอนุรักษ์ธรรมชาติ ดังข้าพเจ้าเองก็ถูกจับมาแล้ว กับการขัดขวางการสร้างท่อแกสที่เมืองกาญจน์ โดยใช้เวลากว่า ๕ ปี จึงจะชนะคดี หากหนังสือของข้าพเจ้า เรื่องค่อนศตวรรษประชาธิปไตยไทย ที่เต็มไปด้วยขวากหนาม ที่ยืนหยัดอยู่ข้างสิทธมนุษยชน ก็ถูกตำรวจยึดไปอย่างไม่เข้าใจในเนื้อหาสาระของสันติประชาธรรมด้วยประการใดๆ ดังข้าพเจ้าได้ฟ้องศาลปกครอง แต่ก็ได้รับความล้มเหลวมาแล้ว และข้าพเจ้าก็ไม่เชื่อว่าศาลปกครองสูงสุดจะเข้าใจเนื้อหาสาระในทางสิทธิ มนุษยชนอีกเช่นกัน

เทียบกับกรณีสวรรคต ที่อธิบดีกรมอัยการกี่คนกล้าลาออกไป เพราะไม่ต้องการทำคดีที่ตำรวจเสนอขึ้นมาอย่างปราศจากเนื้อหาสาระในทางความ ยุติธรรม โดยที่อธิบดีกรมตำรวจในเวลานั้นมีอำนาจในทางเผด็จการอย่างล้นเหลือ

สมัยนี้เรามีอัยการสูงสุดคนไหนที่กล้าหาญในทางจริยธรรมบ้างไหม อัยการส่วนใหญ่รับซองขาวจากตำรวจแทบทั้งนั้นมิใช่หรือ และตำรวจซึ่งเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์มีกี่คนที่เป็นสุจริตชน

ไม่ใช่เราไม่มีคนดี แต่ขบวนการยุติธรรมของเรารวนเร และขบวนการศึกษาของเราก็ล้มเหลว ตลอดจนระบบราชการของเราก็คลอนแคลน ข้าราชการส่วนใหญ่สมาทานลัทธิทุน นิยมบริโภคนิยม ซึ่งแนบสนิทไปกับระบอบเสนาอำมาตยาธิปไตย ที่นับถือความสำเร็จ ที่ชื่อเสียงเกียรติยศ อันจอมปลอม โดยเชื่อมั่นว่าเงินกับอำนาจสามารถบันดาลอะไรๆ ได้ทั้งนั้น แม้นั่นจะขัดกับความเป็นมนุษย์ และสิทธิมนุษยชนยิ่งนัก ในขณะที่พุทธศาสนา ไม่เน้นเพียงแค่สิทธิของมนุษย์ หากให้มนุษย์เข้าใจถึงสิทธิของสัตว์และธรรมชาติทั้งหมดอีกด้วย

ความยุติธรรมต้องประกอบไปด้วย ความดี ความงาม และความจริง โดยผู้ที่อยู่ในขบวนการนี้ ต้องฝึกใจไว้ให้ปราศจากอคติทั้ง ๔ ประการ คือ ภยาคติ (ความกลัว) ฉันทาคติ (ความรัก) โทษาคติ (ความชัง) และโมหาคติ (ความเขลา) พร้อมๆ กันนั้น การให้ความยุติธรรม ต้องประกอบไปด้วย เมตตาและกรุณาด้วยเสมอไป ยิ่งเป็นผู้รับผิดชอบที่สำคัญมากเท่าไร ต้องเข้าใจในเรื่องความอ่อนน้อมถ่อมตนให้มากเท่านั้น

ถ้าตำรวจก็ดี อัยการก็ดี รวมถึงทนายความและผู้พิพากษาในศาลต่างๆ ได้มีเวลาเข้าไปเยื่ยมคนในคุก ได้มีเวลาไปคุยกับคนเล็กคนน้อย คนปลายอ้อ ปลายแขม และคนที่ต่อสู้เพื่อพิทักษ์ธรรมชาติ และต่อสู้เพื่อสังคมอันยุติธรรม เขาเหล่านี้อาจเข้าใจอะไรๆ ได้กว้างขวางยิ่งขึ้น นอกเหนือไปจาก ติดอยู่แต่กับตัวบทกฎหมาย และถ้าเขามีสติปัญญามากพอ เขาน่าจะตระหนักไว้ด้วยถึงโครงสร้างทางสังคมอันอยุติธรรมและรุนแรง ถ้าผู้ที่อยู่ในขบวนการยุติธรรมไม่เข้าใจความข้อนี้ เขาจะเป็นมนุษย์ได้เหนือไปจากความเป็นคนที่มุ่งเพียงแค่ กิน กาม เกียรติได้อย่างไร

คุณสมบัติขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ นั้นสำคัญเหนือการเป็นตำรวจ เป็นทนายความ เป็นอัยการ และเป็นตุลาการเป็นไหนๆ ยิ่งผู้พิพากษาด้วยแล้วต้องใช้สติและวิจารณญาณอย่างรอบคอบ อย่าเคารพนับถือบุคคลที่มีชื่อเสียง และมีเกียรติ อันสังคมยัดเยียดให้ อย่างหลับหูหลับตา แม้ว่าผู้นั้นจะเป็นบุคคลที่ถูกเสกสรรปั้นแต่งให้เป็นดังคนในอุดมคติเพียงใด ก็สุดแท้

ในขบวนการยุติธรรมนั้น มีใครเคยสงสัยในจุดอ่อนหรือข้อบกพร่องของบิดาทางกฎหมายของไทยบ้างไหม มิใยต้องเอ่ยถึงพ่อแห่งชาติ จึงขออ้างพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ ๕ ที่ทรงกล่าวถึงกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ซึ่งเป็นพระราชโอรสว่า

ขอให้พิจารณาดูเถิด. ความรักกันฉันพ่อกับลูก มีอยู่ที่ตรงไหน, ความเห็นแก่ราชการมีอยู่ที่ตรงไหน, ความจงรักภักดีฉันเจ้ากับข้ามีอยู่ที่ตรงไหน?

ควรที่จะไว้ใจได้หรือแก่คนที่โทโษวู่วามถึงเพียงนี้ หรือจะให้วางใจความคิดคนที่เอาแต่ความปราถนาของตัว, ไม่นึกถึงพ่อ, ไม่นึกถึงเจ้า, ไม่นึกถึงน่าที่ที่ตัวทำราชการอยู่, ไม่นึกถึงแผ่นดินที่ตัวเกิดและอาศัยเลี้ยงชีวิตอยู่, เพราะเห็นแก่ตัว, หรือจะว่าให้ดีอีกนิดว่าใจเด็ดเดี่ยวรักเพื่อนไม่ทิ้งกัน, สิ่งที่เสียสละแลกเพื่อนคือพ่อ, เจ้า, และแผ่นดิน, เปนของควรแลกกันหรือ? ถ้ายอมรับ “ปรินซิเปอล” (หลักธรรม) อันนี้แล้วพ่อเป็นเจ้าแผ่นดินไม่ได้, ยิ่งเปนเจ้าแผ่นดินที่จำจะต้องใช้เสนาบดีเช่นนี้ จะถอยหลังเข้าคลองไปเกินรัชกาลที่ ๔ เสียแล้ว*.

ถ้าที่พูดมาทั้งหมดนี้ มีคุณค่าอันควรแก่การรับฟัง ข้าพเจ้าก็พอใจ ฟังแล้วอย่าเชื่อ ขอให้ใช้สติพิจารณา นั่นแลปัญญาจึงจะเกิด

...............................

(๑) คำตัดสินใหม่ กรณีสวรรคต ร๘ สันติสุข โสภณสิริ บรรณาธิการ ๒๕๔๓ หน้า ๑๐๙-๑๑๐

(๒) เล่มเดียวกันหน้า ๑๐๘

* ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖ โดย ราม วชิราวุธ สำนักพิมพ์ศิลปวัฒนธรรม ๒๕๕๒ หน้า ๓๖๔-๓๖๕