ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Sunday, 25 December 2011

มุกหอม วงษ์เทศ: ความยุติธรรมอยู่ที่อื่น

ที่มา ประชาไท

น่าเสียดายที่รัฐธรรมนูญไทยมิได้ใส่บทบัญญัติตามที่หลวงวิจิตรวาท การเคยเสนอไว้อย่างน่ายกย่องในความสุขุมคัมภีรภาพว่า “สยามจะต้องมีพระมหากษัตริย์ทรงราชย์และปกครองชั่วนิรันดร ถ้ามีข้อความดั่งนี้จะเป็นประโยชน์ในการรักษาจารีตประเพณีของเราอันหนึ่ง ซึ่งอย่างน้อยก็จะเป็นบทบังคับว่าเราจะเป็นรีปับลิกไม่ได้” เพราะหากประกาศอย่างชัดแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรดังนี้แล้วก็จะได้ไม่ต้องเสีย เวลาซักถามแบบเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองตามสนามบินที่เข้มงวดว่า เอาเจ้าหรือไม่เอาเจ้า

โชคดีที่ประเทศ “มุขปาฐะ” อย่างเราไม่ได้อยู่กันด้วย “ลายลักษณ์อักษร” ถึงไม่มีบทบัญญัติ เราก็ได้รับการอบรมบ่มเพาะกันมาอย่างดีโดยไม่จำเป็นต้องอ่านหนังสือออกด้วย ซ้ำว่า ความเชื่องเป็นทั้งคุณธรรมและคู่มือการเอาชีวิตรอด

ในสังคมที่ “รีปับลิก” หรือระบอบใดๆ ก็ตามที่ไม่ใช่ระบอบที่ให้ประมุขของรัฐสืบทอดทางสายโลหิต เป็นรสนิยมหรือจุดยืนทางการเมืองในนรกที่สงวนไว้สำหรับคนที่พร้อมจะตายแบบ ไร้เมรุและไม่ขอเกิดใหม่ในประเทศเดิมแล้วเท่านั้น คำถามและหัวข้อที่ข้าพเจ้าคิดว่าน่าถกเถียงแบบมีอารยะกว่า “Monarchy or Anti-Monarchy?” ได้แก่

“Monarchy : Pride or Shame?”
“Thai ultra-royalists: the discreet charm of backwardness or how did they become the laughing-stock of the world.”
“To be (พสก), or not to be (พสก): that is the question.”
“Is “ขอเป็นข้ารองพระบาททุกชาติไป” a free choice or mass hysteria?”
“How to be Thai and a rational being at the same time.”
“Is religious extremism the underlying logic of Thailand’s ‘lese majeste’ law?”
“How to talk about the Monarchy without วัฒนธรรมราชาศัพท์ and how to live with the Monarchy without วัฒนธรรมหมอบคลาน.”
“Which language convention is more dehumanizing: ‘แม่ง’ or ‘ทรง’?”

คดี “อากง” ทำให้นานาอารยะประเทศต้องหันมาจับจ้องประเทศไทยด้วยดวงตาลุกโพลงมากขึ้นสม กับที่ฝันใฝ่กันมานานที่จะอวด “ความเป็นไทยที่ทำให้โลกตะลึง” แม้จะจุดชนวนความสนใจอย่างกว้างขวาง แต่คดีอากงซึ่งกลายเป็นคดีตัวอย่างสมบูรณ์แบบของความเป็นเหยื่อบริสุทธิ์ ต้องไม่ถูกใช้เพื่อจำกัดขอบเขตของประเด็นแค่ว่า จำต้องเป็นกรณีที่จำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ “ ไม่ได้ทำอะไรเลย” เท่านั้น จึงสมควรแก่เหตุที่จะปฏิรูปกฎหมายหมิ่นฯ มิฉะนั้น “ใครก็ได้” ก็อาจตกเป็นเหยื่อโดยการฟ้องของ “ใครก็ได้” เมื่อใดก็ได้ โดยมีพยานหลักฐานชี้ชัดหรือไม่ก็ได้

โดยมาตรฐานความยุติธรรมสากลแล้ว ต่อให้จำเลยเป็นผู้ส่งข้อความจริง (ซึ่งถูกห้ามไม่ให้เผยแพร่ราวกับเป็นข้อความที่มีเวทมนต์) ก็ต้องไม่ใช่ความผิดโดยอัตโนมัติ และต่อให้มีการกระทำการ “ดูหมิ่น” หรือ “หมิ่นประมาท” จริง ก็ไม่อาจถูกดำเนินคดีและลงโทษตามมาตรฐานไทยอย่างที่เป็นอยู่ได้

สำหรับประเทศที่มีระดับความเจริญทั้งทางวัตถุและจิตใจสูงกว่าไทย (โดยไม่ได้ต้องสมาทานพุทธศาสนา) พวกเขาทั้งหลายต่างตะลึงพรึงเพริดกันว่า ประเทศที่ลงทัณฑ์คนคนหนึ่งที่ถูกกล่าวหาว่าส่งข้อความส่วนตัวไปถึงคนอีกคน หนึ่งด้วยการจำคุกยี่สิบปีนั้นมันเป็นประเทศชนิดใดกัน? ประเทศเยี่ยงนี้ไม่ใช่ประเทศเสรีประชาธิปไตย ประเทศเยี่ยงนี้เป็นประเทศป่าเถื่อนไม่ศิวิไลซ์ ประเทศเยี่ยงนี้ไม่ใช่ ประเทศที่มีขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม (เลิกหน้าด้านอ้าง เลิกหลอกทั้งตัวเองและนานาชาติเสียทีเถอะ)

“ประเทศเหี้ยอะไรวะ!”

ด้วยความเคารพและด้วยความสุจริตใจ ในประเทศแบบคำกึ่งอุทานกึ่ง จำกัดความข้างต้น การวิจารณ์เรื่องบางเรื่องโดยไม่ดูหมิ่นในทางใดทางหนึ่งแท้จริงแล้วเป็นสิ่ง ที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ เหตุอันควรยกเว้นความผิดจึงอาจจะคือ ดูหมิ่นโดยสุภาพและมีหลักวิชา ดูหมิ่นเพราะเหลืออดต่อความอยุติธรรม ดูหมิ่นเพราะสุดทนกับความต่ำช้าสามานย์ ดูหมิ่นเพราะตื่นตระหนกกับความตลบแตลง ดูหมิ่นเพราะรำคาญความงี่เง่าปัญญาอ่อน หรือดูหมิ่นเพราะมันเป็นความจริง

แต่ในเมื่อทุกวันนี้ทุกฝ่ายต่างดูหมิ่นกันและกันเป็นนิจสินอย่างมิ อาจรอมชอมกันได้ แถมยังใช้โวหารอ้างมโนทัศน์เดียวกันอย่างสุดมหัศจรรย์ การใคร่ครวญความชอบธรรมและบริบทของการดูหมิ่นด้วยเหตุด้วยผล หรือพินิจพิจารณาว่าดูหมิ่นจากฐานคิดอะไรและด้วยวิธีการแสดงออกอย่างไรจึง อาจจะดีกว่า และช่วยในการตีความและชั่งน้ำหนักว่า แบบใดสมควรแก่เหตุ แบบใดต่ำทรามถ่อยสถุล หรือแบบใดยากจะชี้ชัดและต้องโต้แย้งไม่มีที่สิ้นสุด

คำดูหมิ่นและหมิ่นประมาทประเทศข้างต้นนั้นความจริงแล้วสบถกันใน ประเทศนี้ได้ทุกวัน ทุกชั่วโมง ทุกนาที หรือถ้าจะทำให้เป็นกิจวัตร ไม่ฟุ่มเฟือยจนเสียสุขภาพจิต จะเจ็ดแปดโมงเช้าที ห้าหกโมงเย็นที ทุ่มสองทุ่มอีกที ก็กำลังดี

“เหี้ย-ระยำ-บัดซบ” คำทำนองนี้อาจเป็นคำหยาบคาย เป็นคำระบายความโกรธแค้นและอัดอั้นตันใจ หรือเป็นเพียงอาวุธอันอ่อนปวกเปียกของผู้อ่อนแอที่กำลังถูกเหยียบขยี้ด้วย จารีต ด้วยกฎหมาย และด้วยความบ้าคลั่งที่ยังตกต่ำไม่ถึงขีดสุด

112

ผลสะเทือนของความเคลื่อนไหวเรื่องมาตรา 112 ทำให้เหล่ารอยัลลิสต์ชั้นนำที่ไม่ใช่กลุ่มล่าแม่มดกระหายเลือดหรือสื่อ อัปรีย์ออกอาการได้สติบ้าง ไม่ได้สติต่อไปบ้าง กรณีที่จนถึงขนาดนี้แล้วยังไม่ได้สติก็เป็นเรื่องน่าสลดใจ ส่วนกรณีที่ได้สติ สติที่ได้ก็อยู่ภายใต้เพดานของความเป็นรอยัลลิสต์ไทย คือเป็นสติที่ไม่สมประกอบ ไม่ว่าจะเป็นเช่นนั้นจริง เสแสร้งตบตา หรือหลอกตัวเอง สติที่ไม่สมประกอบนั้นก็คือการยอมรับเฉพาะประเด็นว่าสถาบันกษัตริย์ถูกใช้ เป็นเครื่องมือทางการเมือง แม้ประเด็นที่ถูกอ้างซ้ำๆ จนฟกช้ำนี้จะจริงอย่างไม่ต้องสงสัย แต่การยก “เฉพาะ” ประเด็นนี้ประเด็นเดียวกลับคือการใช้ประเด็น “สถาบันฯ ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง” เป็น “เครื่องมือทางการเมือง” ในการแสดงทัศนะของตนเองเพื่อสร้างความไขว้เขวแก่สาธารณชนว่านี่เป็นจุด “เดียว” ของประเด็นปัญหาสถาบันกษัตริย์ รวมทั้งเป็นการดึงปัญหาออกนอกพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์

แน่นอนว่าการรณรงค์การปฏิรูปหรือยกเลิก 112 ก็เป็นการเมืองเช่นกัน แต่เป็นการเมืองของการเรียกร้องให้เปิดพื้นที่เพื่อการถกเถียงปัญหาที่แท้ จริงกันอย่างเปิดเผยและเป็นธรรม ไม่ใช่การเมืองของการเบี่ยงเบนประเด็นปัญหาเพื่อที่จะโฟกัสไปที่จุดเดียว และปกปิดจุดอื่นๆ ที่เป็นปัญหาใหญ่กว่าต่อไป ปัญหาใหญ่ที่ถูกกลบเกลื่อนคือความจริงที่ว่าสถาบันกษัตริย์ไม่ได้ถูกใช้ทาง การเมืองฝ่ายเดียว และการดำรงอยู่ของสถาบันกษัตริย์และอุตสาหกรรมวัฒนธรรมโฆษณาชวนเชื่อดังที่ เป็นอยู่มีความไม่ถูกต้องตามหลักการแห่งระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญและ หลักเสรีประชาธิปไตยอยู่อย่างมากล้น

ไม่น่าแปลกใจที่ฝ่ายนิยมเจ้าระดับอีลีตจะยอมรับว่า 112 มีปัญหา แม้จะสร้างความหวังถึงการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นและดูน่าเลื่อมใสกว่าพวก นักเทศน์ไม่ลืมหูลืมตาและพวกอันธพาลที่เชื่อว่าการไล่คนออกนอกประเทศเป็น วีรกรรมอันยิ่งใหญ่ แต่การยอมรับนี้ก็เป็นยุทธศาสตร์ช่วงชิงการกำหนดเนื้อหาและทิศทางเพื่อการ แก้ไขปรับเปลี่ยนให้น้อยที่สุดและรักษาอุดมการณ์ สถานะ อำนาจ บารมีเดิมไว้ให้ได้มากที่สุด แล้วจึงยกเป็นข้ออ้างว่าได้ “ปรับปรุง” ให้เหมาะสมดีงามทุกประการแล้ว พวกเรียกร้องเสรีภาพจงหุบปากแล้วกลับบ้านไปสำนึกในบุญคุณที่ได้รับเสรีภาพ ปริมาณเท่าเดิมแต่ติดคุกน้อยลง

แต่ถ้าฝ่ายรอยัลลิสต์จะมีความซื่อสัตย์ต่อความเชื่อตนเอง ก็ควรยอมรับอย่างตรงไปตรงมาและไม่กะล่อนว่า พวกเขาต้องการให้สถาบันกษัตริย์มีอำนาจ “ล้นเกิน” แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไม่ถูกตรวจสอบ ไม่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ต้องรับผิด และไม่ถูกจำกัดอำนาจด้วยกฎเกณฑ์ข้อบังคับของระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ตามครรลองประชาธิปไตย การยอมรับง่ายๆ เช่นนี้เป็นสิ่งที่กระทำได้โดยสะดวกและปลอดภัย เพราะจะไม่ถูกกระบวนการยุติธรรมมาตอแยเพื่อจัดสรรปันส่วนความอยุติธรรมให้

ในบรรดาข้อโต้แย้งต่างๆ ของฝ่ายนิยมเจ้าที่ต้องการจะบอกเพียงแค่ว่าทุกอย่างที่เป็นอยู่นั้น “ดีแล้ว ประเสริฐแล้ว” พวกไม่เข้าใจประเพณีวัฒนธรรมไทยอย่างลึกซึ้งอย่ามาสะเออะ ไม่มีอะไรจะน่าทึ่งไปกว่าการอ้างหลักนิติรัฐ หลักนิติธรรม หลักความยุติธรรม สิทธิมนุษยชน ศีลธรรม คุณธรรม มนุษยธรรม ผสมปนเปกับความเป็นไทยอันมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร ประวัติศาสตร์ไทยอันเก่าแก่โบราณ ขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมไทยอันล้ำเลิศประเสริฐศรี เมื่อฟังหรืออ่านจนหายเคลิ้มแล้ว อรรถาธิบายอันไพเราะเพราะพริ้งเหล่านี้กลับทำให้อีกฝ่ายหมดกำลังใจจะโต้ เถียง อับจนถ้อยคำจะชี้แจง และได้แต่แจ้งให้ทราบเพื่อพิจารณาว่า ความวิกลจริตเชิงตรรกะหรือการงดเว้น (โดยรู้หรือไม่รู้ตัว) การใช้หลักเหตุผลในเรื่องที่เกี่ยวกับกษัตริย์ในฐานะบุคคลและสถาบันเป็น ลักษณะเด่นของวัฒนธรรมการเมืองของฝ่ายกษัตริย์นิยมไทยในปัจจุบันโดยแท้

กฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่ได้มีสถานะเป็นเพียงกฎหมายอาญามาตราหนึ่ง แต่กำลังยึดครองสถานะเป็นป้อมปราการแห่งชาติและศาสตราวุธแห่งจารีตประเพณี ที่ต้องปกปักรักษายิ่งชีพ เมื่อโต้แย้งหักล้างกันด้วยเหตุผลไม่ได้ ฝ่ายนิยมเจ้าจะยกข้ออ้าง “จารีตประเพณี” (หรือ “อารมณ์ความรู้สึกส่วนตัว”) มาเป็นไม้ตายเพื่อยุติการถกเถียง แต่หากจะมองกันในแง่นี้จริงๆ การเลิกกฎหมายหมิ่นฯ ที่มีบทลงโทษรุนแรงที่สุดในโลกก็กลับจะคล้ายการเลิกทาส เลิกประเพณีหมอบคลาน เลิกการทรมานนักโทษ เลิกวิธีการลงโทษแบบโหดร้ายทารุณ และเลิกจารีตประเพณีที่ “ไม่ดีงาม” ต่างๆ

แม้จะเข้าใจได้ว่ายุทธศาสตร์ในการสื่อสารกับสังคมกระแสหลักต้อง มุ่งไปที่เรื่องความมั่นคงของสถาบันกษัตริย์ว่าการกระทำแบบไหนเป็น “คุณ” หรือเป็น “โทษ” ต่อสถาบันฯ แต่โดยหลักการและจิตสำนึกที่ควรบ่มเพาะขึ้นใหม่นั้น ลำดับความสำคัญของเหตุผลในการรณรงค์ปฏิรูปหรือยกเลิกมาตรา 112 ไม่ควรเริ่มต้นด้วยขนบภาษาเดียวกันกับลูกเสือชาวบ้านหรือขนบภาษาเฉลิมพระ เกียรติที่เชิดชูปกป้องสถาบัน (เอาเจ้าซึ่งในวัฒนธรรมไทยคือ “อภิมนุษย์” เป็นตัวตั้ง) เท่ากับการเชิดชูปกป้องสิทธิมนุษยชน (เอาประชาชนซึ่งในวัฒนธรรมสากลคือ “มนุษย์” เป็นตัวตั้ง ซึ่งย่อมรวมถึงเจ้าซึ่งเป็นมนุษย์เช่นเดียวกันด้วย)

การอภิปรายและรณรงค์เรื่องใดๆ ก็ตามที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ควรจะต้องแยกจากเรื่องความ “จงรักภักดี” กล่าวอีกอย่างว่าการถกเถียงอย่าง free และ fair (ซึ่งไม่เคยมี ยังไม่มี และอาจจะไม่มีวันมีในวัฒนธรรมไทย) และไม่ข่มขู่กรรโชกกันแบบด้อยพัฒนา ต้องไม่ยกประเด็นความจงรักภักดีมาสนับสนุน คัดง้าง ประจบประแจง หรือใส่ร้ายป้ายสี นั่นหมายถึงการต้องลดความชอบธรรมหรือถอดถอนมโนทัศน์และโวหาร “จงรักภักดี” ออกจาก public discourse ที่ยึดโยงกับความมั่นคงของชาติ, ความมั่นคงของสถาบันกษัตริย์, ความเป็นไทย, ประชาธิปไตย, กฎหมาย ฯลฯ และนั่นแปลว่าเมืองไทยต้องอนุญาตให้มีทั้งคนที่ผลิตออกมาตรงตามสเป็คในโรง งาน และคนที่ผลิตออกมาไม่ตรงตามสเป็คในโรงงาน

หากระบอบการปกครองในปัจจุบันมิใช่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ความไม่จงรักภักดีย่อมไม่ใช่อาชญากรรม และไม่ได้นำไปสู่การก่ออาชญากรรม ตรงกันข้าม คนที่จงรักภักดีอย่างท่วมท้นต่างหากที่มีแนวโน้มจะก่ออาชญากรรมและกระทำใน สิ่งที่ผิดศีลธรรมสูงกว่าหลายร้อยเท่า “ในนามของความจงรักภักดี” ตั้งแต่ยิงให้ตาย, ใช้เก้าอี้ฟาด, หัวเราะดีใจที่เห็นคนเยอะแยะถูกฆ่าหมู่, ส่งเสียงเชียร์หรือเข้าร่วมกลุ่มรณรงค์ให้กวาดล้างกำจัดคนเห็นต่างจากพวกตน, ตะเพิดคนออกจากประเทศ, แสดงความเกลียดชังและอาฆาตมาดร้ายตลอดเวลา, แต่งเรื่องโกหกให้ร้ายคนอื่น, พาดหัวข่าวด้วยข้อมูลเท็จ ด้วยความประสงค์ร้าย และด้วยสันดานสถุลเพื่อทำลายกันทางการเมือง, สอดส่องเป็นหูเป็นตาให้รัฐช่วยจับคนเข้าคุก, อยากให้ประหารชีวิตคนที่กระด้างกระเดื่องให้หมดแผ่นดิน ฯลฯ

ภายในห้องค่ายกลอำมหิตที่รอจังหวะคนก้าวพลาดเพื่อที่อาวุธนานาชนิด ที่ซ่อนอยู่จะได้พุ่งเข้าเสียบเป้าหมายอย่างพร้อมเพรียง (คง)ไม่เคยมีใครประกาศว่าไม่จงรักภักดี ทั้งๆ ที่ความหมายของการไม่จงรักภักดีในทางการเมืองคือการมีจักรวาลทัศน์และ จินตนาการเกี่ยวกับชาติคนละแบบกับผู้จงรักภักดีเท่านั้น ดังนั้นการไม่จงรักภักดีจึงไม่ควรถูกใส่ไคล้ให้เห็นเป็นภัยอันน่าสะพรึงกลัว ที่จะทำร้ายประเทศชาติ ด้วยมาตรฐานเดียวกัน คนไม่จงรักภักดีก็ไม่มีสิทธิสร้างเรื่องโกหกหลอกลวงเพื่อทำลายคนอื่นทางการ เมืองเช่นกัน

วัฒนธรรมการเมืองที่มีวุฒิภาวะต้องเลิกอ้าง เลิกกล่าวหา เลิกพาดพิง เลิกตอแหล เลิกเล่นลิ้นเรื่องความจงรักภักดีราวกับเป็นสังคมที่อยู่กันแบบ “ชนเผ่า”(แต่ล้าหลังและดัดจริตกว่าสังคมชนเผ่าจริงๆ) และถกเถียงอภิปราย “เนื้อหา” ของสิ่งที่เป็นประเด็นปัญหา ความจงรักภักดีต้องถูกจำกัดให้เป็นความรู้สึกส่วนตัวของปัจเจกบุคคลที่ไม่ ใช่ข้อบังคับในกฎหมายหรือข้อผูกมัดทางจารีตสังคม

เมื่อการฟ้องร้องกล่าวโทษและคำพิพากษาคืออาชญากรรม และเมื่อกฎหมายไม่ใช่กฎหมาย

ข้อสำคัญประเทศแต่ละประเทศย่อมมีความระแวด ระวังในเรื่องที่ต่างกัน ถ้ามองในแง่มุมของอีกประเทศหนึ่งอาจเห็นว่าเป็นเรื่องไม่สมควร แต่คนที่เจริญแล้วเขาก็ต้องยอมรับนับถือประเพณีวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ ไม่ไปตัดสินจากความคุ้นเคยหรือความเคยชินของตนเอง...ที่สำคัญต้องไม่นำเอา ความรู้สึกของประเทศอื่นมาเป็นมาตรฐาน เพราะแต่ละประเทศย่อมมีประเพณี วัฒนธรรม หรือความอ่อนไหวแตกต่างกันไป” (1)
มีชัย ฤชุพันธุ์, อดีตประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ, 2011

กฎหมายคือกฎหมาย ถ้าเราไม่ทำผิด เขาก็อยู่ในกระดาษเท่านั้นเอง ก็อย่าทำผิดก็เท่านั้น” (2)
สุเมธ ตันติเวชกุล, เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา, 2011

“ผู้พิพากษาไม่สามารถจะอำนวยการให้บังเกิดความยุติธรรมโดยการอ้างอิงบทบัญญัติทางกฎหมายที่ไม่เพียงอยุติธรรม แต่ยังมีความเป็น อาชญากรรม เราขอเรียกร้อง สิทธิมนุษยชน ซึ่งอยู่เหนือกว่ากฎหมายลายลักษณ์อักษรทั้งปวง และเราขอเรียกร้องกฎเก่าแก่อันไม่อาจพรากจากมนุษย์ที่ปฏิเสธมิให้คำสั่งที่ เป็นอาชญากรรมของทรราชย์โหด มีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย

ด้วยข้อควรพิจารณาเหล่านี้ ข้าพเจ้าเห็นว่าบรรดาผู้พิพากษาที่ได้ให้คำวินิจฉัยที่ขัดแย้งกับหลัก ปฏิบัติต่อมนุษยชาติ...จักต้องถูกดำเนินคดี” (3)
J.U. Schroeder, Chief Public Prosecutor of Saxony, 1946

ข้อความแรกอยู่ในข้อเขียน “ปัญหาการแก้ไขมาตรา 112 ของกฎหมายอาญา” และหนึ่งในข้ออ้างใหญ่ที่ยกมา “คัดค้าน” การแตะต้องกฎหมายหมิ่นฯ คือ “ขนบธรรมเนียมประเพณี” เมื่อเหล่านักกฎหมายรอยัลลิสต์พากันไม่ถกเหตุผลประเด็นความชอบธรรมของกฎหมาย และระบอบการปกครองตามหลัก “สากล” แต่หันไปยกเอาประเพณี วัฒนธรรม ความรู้สึก ความอ่อนไหว “ท้องถิ่น” มาเป็นตัวตัดสิน ก็ถึงจุดที่คนทั่วไปในสังคมที่ไม่จำเป็นต้องร่ำเรียนกฎหมาย (เพราะเรียนแล้วก็เอาแต่อ้างจารีตประเพณี) ต้องอภิปรายกันว่าหลักใดจะสำคัญ ชอบธรรม เป็นธรรม และปลดปล่อยมนุษย์จากการกดขี่ขืนใจมากกว่ากัน และ “คนที่เจริญแล้ว” (ที่ไม่ใช่ในฐานะนักท่องเที่ยวที่เมื่อไปเที่ยวบ้านเมืองไหนก็ต้องเคารพให้ เกียรติประเพณีวัฒนธรรมบ้านเมืองนั้น อันเป็นจรรยาบรรณพื้นฐานปกติของทัวริสต์ที่ศิวิไลซ์ รวมทั้งไม่อยากมีปัญหาระหว่างเที่ยว ต่อให้ไปเจอะกับประเพณีวัฒนธรรมที่พวกเขา “รับไม่ได้”) ยอมรับนับถือสิ่งใดมากกว่ากันแน่

คำให้สัมภาษณ์ของผู้ที่ไม่ใช่นักกฎหมายแบบคนแรกอันถัดมาต่อคำถาม เรื่องความเหมาะสมของการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 แสดงการยึดมั่นในกฎหมายของบ้านเมืองอย่างหนักแน่นดุจภูผาว่า “A law is a law.” เสมือนฝ่ายกุมอำนาจที่กอดหลัก Legalism ที่เน้นบทลงโทษรุนแรงเฉียบขาดโดยไม่ต้องแยแสเรื่องสิทธิเสรีภาพเพื่อให้ผู้ อยู่ใต้การปกครองเชื่อฟัง ยำเกรงและเข็ดหลาบของ Han Fei นักนิติปรัชญาจีน หรือกอดคำขวัญของสำนัก Legal Positivism เวอร์ชั่นโบราณล้าสมัย ที่ไม่ต้องขยายความซับซ้อนต่อให้ยุ่งยากต่อการรีบเร่งรวบรัดใช้กฎหมายลงโทษ คนทำผิด

คำประกาศลำดับสุดท้ายมีขึ้นเมื่อเกือบเจ็ดสิบปีมาแล้วที่ประเทศ เยอรมนี แต่มันอาจเป็นคำกล่าวที่หาญกล้าและสง่างามเกินกว่าแม้แต่จะกระซิบกระซาบกัน ในแวดวงเนติตุลาการมหาดเล็กในบางประเทศ

ถึงแม้ว่าวงการกฎหมายไม่ว่าที่ไหนคงไม่ได้มีพัฒนาการบนการยั่วล้อ ท้าทายแบบประชดประชันอย่างประวัติศาสตร์และทฤษฎีศิลปะที่ทำให้เกิดคำถาม “But is it art?” แต่เราก็ควรยืมวิธีตั้งคำถามแบบเดียวกันนี้เพื่อแสดงความกังขาว่า “But is it law?” พร้อมทั้งพิจารณากรณีศึกษาในประเทศอื่นที่คำถามนี้กลายเป็นคำถามที่ยิ่งใหญ่ ต่อมโนธรรมสำนึกว่าด้วยความยุติธรรมในสังคม

หลังสงครามโลกครั้งที่สองและการล่มสลายของระบอบนาซี Gustav Radbruch นักนิติปรัชญาชาวเยอรมันอภิปรายถึงคดีหนึ่งซึ่งโยงกับคดีที่มีชื่อเสียงอีก คดีหนึ่งในสมัย Third Reich หรือยุคฮิตเลอร์-นาซีเรืองอำนาจในบทความเรื่อง “Statutory Lawlessness and Supra-Statutory Law”

เริ่มต้นเรื่องว่า นาย Puttfarken เจ้าหน้าที่ประจำ justice department ถูกดำเนินคดีและพิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิตโดยศาลอาญา Thuringian เนื่องจากในสมัยรัฐบาลนาซี Puttfarken ได้กล่าวฟ้องนาย Gottig ว่าเป็นผู้เขียนข้อความบนกำแพงห้องน้ำว่า “ฮิตเลอร์เป็นฆาตกรสังหารหมู่และต้องถูกประณามที่ทำให้เกิดสงคราม” อันมีผลทำให้ Gottig ถูกศาลนาซีพิพากษาลงโทษ ความผิดของ Gottig ไม่เพียงจาก “ข้อความ” ที่เขาเขียนบนกำแพง แต่ยังรวมทั้งการที่เขามักจะชอบแอบฟังวิทยุกระจายเสียงของต่างชาติด้วย (แทนที่จะฟังแต่วิทยุโฆษณาชวนเชื่อของนาซี) ประเด็นสำคัญที่หัวหน้าอัยการตั้งขึ้นมาก็คือ การกระทำของ Puttfarken (แจ้งความดำเนินคดีกับคนเขียนข้อความวิพากษ์วิจารณ์ฮิตเลอร์) เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายหรือไม่?

หัวหน้าอัยการอภิปรายเหตุผลว่า การที่จำเลยให้การอ้างว่าความเชื่อใน National Socialism (ซึ่งมิใช่เพียงความนิยมในพรรคการเมืองของฮิตเลอร์ แต่กินความถึงความศรัทธาในอุดมการณ์-โลกทัศน์-จุดหมายทางการเมืองแบบนาซี) ทำให้เขาแจ้งความดำเนินคดีนาย Gottig (ซึ่งเขียนข้อความต่อต้านและประณามท่านผู้นำ) นั้น เป็นสิ่งที่ฟังไม่ขึ้น เพราะไม่ว่าใครจะมีความคิดความเชื่อทางการเมืองอย่างไร ก็ไม่มีหลักเกณฑ์ทางกฎหมายใดที่บังคับให้ใครคนนั้นไปแจ้งความดำเนินคดีผู้ อื่น แม้แต่ในสมัยฮิตเลอร์เอง ก็ไม่มีพันธะผูกมัดทางกฎหมายเช่นนั้นดำรงอยู่ เช่นนั้นแล้ว บนสมมติฐานว่าระบบตุลาการพึงตั้งมั่นอยู่ที่การธำรงความยุติธรรม Puttfarken ได้กระทำการที่เป็นไปเพื่อความยุติธรรมหรือไม่?

ระบบตุลาการจำเป็นจะต้องมีความซื่อตรงต่อหลักการ มุ่งผดุงความเป็นธรรม และสร้างบรรทัดฐานของกฎหมาย แต่คุณลักษณะอันขาดไม่ได้ทั้งสามประการนี้ล้วนแล้วแต่ไม่ปรากฎมีในระบบศาล ที่ถูกการเมืองบงการแทรกแซงในสมัยของระบอบนาซี ใครก็ตามที่แจ้งความดำเนินคดีคนอื่นในสมัยฮิตเลอร์จำต้องรู้-และจริงๆ แล้วก็รู้อยู่แก่ใจ-ว่าเขากำลังส่งตัวผู้ถูกกล่าวหาให้กับองค์กรตุลาการที่ ใช้อำนาจตามอำเภอใจ ไร้ขื่อแป หาใช่กระบวนการยุติธรรมที่ถูกทำนองคลองธรรมอันจะนำไปสู่คำพิพากษาอัน ยุติธรรมไม่

เป็นที่ตระหนักกันดีว่าสถานการณ์ในเยอรมนีสมัยนาซีนั้น เราสามารถเชื่อมั่นได้เลยว่า ใครก็ตามที่ถูกแจ้งข้อหาว่าเป็นผู้เขียนข้อความ “ฮิตเลอร์เป็นฆาตรกรสังหารหมู่และต้องถูกประณามที่ทำให้เกิดสงคราม” ย่อมไม่มีทางรอดชีวิตแน่ๆ คนอย่าง Puttfarken คงไม่อาจล่วงรู้ได้ว่าระบบตุลาการนั้นสร้างความวิปริตให้กฎหมายได้ “อย่างไร” แต่อย่างน้อยเขาจะต้องกระจ่างแจ้งแก่ใจพอที่จะรู้ว่ามันย่อมเป็นเช่นนั้นได้

คดีนี้จึงสรุปได้ว่า สาวกนาซีแจ้งความดำเนินดคีกับผู้เป็นปฏิปักษ์กับระบอบนาซี โดยที่แม้แต่ในสมัยนาซีเองก็มิได้มีกฎหมายบังคับให้ใครต้องร้องทุกข์กล่าว โทษใคร และโดยที่สาวกนาซีนั้นก็รู้อยู่แก่ใจว่าระบบยุติธรรมภายใต้ระบอบฮิตเลอร์ นั้นโหดร้ายป่าเถื่อนและผิดทำนองคลองธรรม

ถึงที่สุดแล้วคำประกาศอันหาญกล้าของ Gottig ที่ว่า “ฮิตเลอร์เป็นฆาตรกรสังหารหมู่และต้องถูกประณามที่ทำให้เกิดสงครามโลก” คือความจริงอันชัดแจ้ง ใครก็ตามที่ประกาศและเผยแพร่ความจริงข้อนี้มิได้คุกคามความมั่นคงของประเทศ เยอรมนี แต่เป็นความพยายามช่วยขจัดผู้คิดทำลายประเทศเยอรมนีต่างหาก และดังนั้นจึงเป็นการช่วยปกป้องชาติ

Puttfarken ยอมรับว่าเขามีเจตนาอยากให้ Gottig ขึ้นตะแลงแกงประหารชีวิต ซึ่งตามบทบัญญัติทางกฎหมายอาญาแล้วเท่ากับว่าการแจ้งความของเขาเป็นการวาง แผนฆาตกรรมโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ต่อความจริงที่ว่าศาลนาซีเป็นผู้ตัดสินประหารชีวิต Gottig ก็ไม่ได้ทำให้ Puttfarken รอดพ้นจากอาชญากรรมที่เขาก่อ

Radbruch ประณามศาลอย่างไม่อ้อมค้อมว่า ไม่เคยมีใครคาดฝันมาก่อนว่าศาลเยอรมันจะกลายเป็นเครื่องมือเพื่อการฆาตกรรมของอาชญากร

การแจ้งความของ Puttfarken จึงเข้าข่ายการฆาตกรรมทางอ้อม หรือเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดกับการฆาตกรรม อีกทั้งยังใช้ศาลเป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุความประสงค์ร้ายของตนต่อผู้อื่น และเราก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเหล่าผู้พิพากษาภายใต้การปกครองของรัฐบาลนาซีที่ ตัดสินลงโทษประหารชีวิต Gottig จะต้องถูกถือว่าเป็นฆาตกรด้วยเช่นกัน

แต่จะทำอย่างไรหากสังคมหนึ่งมีคนอย่าง Puttfarken (รวมทั้งคนสนับสนุน-แอบสะใจ) เต็มไปหมด? จะทำอย่างไรเมื่อการเปลี่ยนระบอบจากระบอบที่บิดเบือนความยุติธรรมให้วิปริต (เช่น เผด็จการนาซี) ไปสู่ระบอบที่มีหลักความยุติธรรมสากลเป็นพันธกิจ (เช่น ประชาธิปไตย) ซึ่งแปลว่าระบอบแรกจะต้องหมดอำนาจและถูกแทนที่ด้วยระบอบหลัง อันจะนำไปสู่การไต่สวนแสวงหาความยุติธรรมและสถาปนาบรรทัดฐานทางสังคมที่ถูก ต้องเป็นธรรมได้อย่างเต็มที่ ก็ยังไม่เกิดขึ้นและยังมืดมนมองไม่เห็นอนาคต? จะทำอย่างไรกับสังคมที่ไม่ได้ให้คุณค่ากับความยุติธรรมและความจริง/ข้อเท็จ จริง เท่ากับความสามัคคีและสถานภาพลำดับชั้นเหลื่อมล้ำทางวัฒนธรรมที่ความจริงไม่ อาจสร้างความระคายเคืองได้? จะทำอย่างไรกับสังคมที่ง่อยเปลี้ยกับความสามารถจะยึดมั่นในหลักการนามธรรม แต่แข็งขันกับการติดยึดงมงายกับตัวบุคคลโดยเฉพาะบรรดาผู้ทรงอำนาจบารมีทาง วัฒนธรรมตลอดเวลา? การง่อยเปลี้ยกับหลักการนามธรรม การบังคับกล่อมเกลาและเผยแผ่แต่คำเทศนาโดยปราศจากวัฒนธรรมแห่งการวิจารณ์ อย่างกว้างขวางทะลุทลวงมาเป็นเวลายาวนานมิใช่หรือ ที่เป็นเหตุที่ทำให้บุคคลที่อยู่ในเครือข่ายชนชั้นนำสามารถออกมาพูดอะไรก็ ได้ที่น่าตกใจและน่าหัวร่อในความดัดจริต หน้าด้าน ไร้ยางอาย มือถือสากปากถือศีล

หาก “ปรับใช้” (โดยมิได้หมายความว่าเป็นกรณีที่จะเทียบให้เหมือนหรือแม้แต่คล้ายกันได้ เพราะไม่มีอะไรในโลกเทียบกับฮิตเลอร์-นาซีได้ แต่หลักการนี้ตั้งเป็นทฤษฎีให้ใช้กับกรณีอื่นๆ ที่มีลักษณะไม่เป็นธรรมรุนแรงถึงขั้น “มิอาจทนได้” ได้เช่นกัน) หลักการลบล้างและเอาผิดคำพิพากษาของศาลนาซีกับกระบวนการยุติธรรมในประเทศที่ อุดมการณ์คลั่งเจ้าแผ่ซ่านแทรกซึมไปทั่วทุกองคาพยพในสังคม ต่อให้ถูกต้องตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ แต่หากคำพิพากษาตามบทบัญญัตินั้นดำเนินไปภายใต้ระบอบกฎหมาย-ตุลาการ-ความ ยุติธรรมที่ฉ้อฉลและละเมิดหลักนิติธรรม ก็ควรที่จะต้องมีการดำเนินคดีอาญากับคำพิพากษาที่ไร้ทั้งความยุติธรรมและ มนุษยธรรม หรือกล่าวอีกอย่างได้ว่า ด้วยความรู้สึกผิดบาปและด้วยสปิริตของการคิดแก้ไขในสิ่งที่ผิดแบบประเทศ เยอรมนีหลังยุคนาซี เราไม่สามารถปล่อยให้คำพิพากษา (หรือ “ผังล้มเจ้า” ฯลฯ) ที่เป็นเครื่องมือของระบอบเผด็จการซ่อนรูปลอยนวล แต่ต้องเอาผิดกับอาชญากรรมและความเท็จที่กระทำในสถานะของคำพิพากษานั้น ประกาศลบล้างหรือความเป็นโมฆะของคำพิพาษา และชดเชยเยียวยาเหยื่อทั้งหมด (แม้ในความเป็นจริงแล้ว ดูจะทำไม่ได้สักอย่างเดียว)

คำพิพากษาซึ่งวางอยู่บนฐานของความไร้มนุษยธรรมย่อมไม่มีสถานะและ ศักดิ์ศรีที่จะเป็นกฎหมายตั้งแต่แรก ความอยุติธรรมอย่างรุนแรงไม่ใช่และไม่มีสถานะเป็นกฎหมาย สังคมที่เห็นดีเห็นงามกับการดำเนินคดีและการลงโทษอย่างป่าเถื่อน อันถือเป็น state legitimized injustice คือสังคมที่ล้มละลายทางศีลธรรม

นับตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2549 จวบจนบัดนี้ อันเป็นช่วงของปรากฏการณ์ “อำนาจเหนือรัฐ-อำนาจนอกระบอบประชาธิปไตย”, “ตุลาการภิวัตน์”, “ตาสว่าง-ปากสว่าง”, “ความเป็นไทย/รอยัลลิสต์บ้าคลั่ง”, “สองมาตรฐาน”, “มหันตภัยมาตรา 112” อาจถือได้ว่าคือช่วงเวลาที่เทียบเคียง “อย่างห่างๆ” ได้กับที่ Radbruch ตั้งทฤษฎีว่าคือช่วงเวลา “exceptional/extraordinary” (โดยมีเยอรมนียุคนาซีเป็นตัวแบบ) ช่วงเวลา “พิเศษ/ไม่ปกติ” เช่นนี้คือช่วงเวลาที่บทบัญญัติทางกฎหมาย (ในกรณีของไทยต้องครอบคลุมถึง “อุดมการณ์วัฒนธรรมการเมือง” ที่กำกับการใช้กฎหมาย) มีลักษณะที่ขัดกับหลักความยุติธรรมอย่างใหญ่หลวงในระดับที่ “สุดจะทนทาน” จนถือได้ว่าเป็นวัฒนธรรมการบังคับใช้กฎหมายที่ผิดพลาด-เลวร้ายอย่างรุนแรง ด้วยเหตุแห่งความผิดพลาด-เลวร้ายดังกล่าวจึงถือได้ว่ากฎหมายนั้นปราศจาก สถานภาพความเป็นกฎหมาย และเราต้องใช้ดุลยพินิจที่อิงกับหลักความยุติธรรม “แทน” ตัวบทกฎหมาย (รวมทั้งประเพณีและการเมืองของการใช้กฎหมาย) ที่อยุติธรรมและสามานย์

ฉะนั้นเฉพาะในกรณีที่ “extreme” หรือ “unique” เท่านั้น ที่เราพึงใช้มโนธรรมสำนึกทางศีลธรรมแทนการเชื่อฟังกฎหมาย และร่วมตระหนักโดยทั่วกันว่า กฎหมายไม่ใช่กฎหมายอีกต่อไป โดย “กฎหมาย” ในที่นี้จำต้องตีความให้กว้างขวางครอบคลุมถึงกระบวนการยุติธรรม(ระยำๆ)ทั้ง ระบบ ตั้งแต่การฟ้องร้องไปจนถึงคำพิพากษา

แต่ในความเป็นจริง กระบวนการลบล้างหรือประกาศให้ผลพวงของบทบัญญัติที่ผิดหลักนิติธรรมเสียเปล่า ถือว่าไม่เคยเกิดขึ้น และไม่เคยมีผลทางกฎหมาย, การไต่สวนเอาผิดการกระทำที่เคยถูกต้องตามกฎหมายป่าเถื่อน และการสถาปนาหลักการแห่งความเป็นธรรมขึ้นใหม่ ย่อมกระทำได้ก็ต่อเมื่อระบอบนาซีล่มสลายไปแล้ว เพราะในห้วงเวลาที่ท่านผู้นำแห่งอาณาจักรไรค์ที่สามครองอำนาจ ข้อความที่ว่า “ฮิตเลอร์เป็นฆาตกรสังหารหมู่” (หรือข้อความใดก็ตามที่แสดงการวิพากษ์วิจารณ์และเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบนาซี) แม้จะเป็นความจริงแท้ที่สุด ก็เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายนาซี ถูกสาวกนาซีนำไปฟ้องร้อง และถูกศาลนาซีตัดสินประหารชีวิต

ถ้าไม่หน้ามืดตามัวเกินไป มันเป็นเรื่องที่เข้าใจง่ายมาก กฎหมายที่ดีจะต้องตราขึ้นเพื่อผดุงหลักความยุติธรรมพื้นฐานอย่างเสมอภาค มิใช่ผดุงอุดมการณ์ผู้นำเผด็จการหรือผู้นำศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อ เสรีภาพและสิทธิมนุษยชน

ความยุติธรรมแบบสากล (ซึ่งยึดหลักการสูงสุดว่า มนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมาย) ที่ไม่มีอุดมการณ์วัฒนธรรมแบบไทยๆ (ซึ่งยึดหลักการสูงสุดว่า คนไม่มีวันจะเท่ากัน ไม่ว่าต่อหน้ากฎหมาย หรือหน้าไหนๆ) ปนเปื้อนเท่านั้น ที่จะเป็นหลักประกันความปลอดภัยของการพูดความจริง ส่วนความยุติธรรมแบบครึ่งๆ กลางๆ แบบประนีประนอมหรือแบบปลอมๆ อาจเป็นการผ่อนหนักมากเป็นหนักน้อย แต่มิใช่ความยุติธรรมตามมาตรฐานสากลที่ปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการแสดง ความคิดเห็นอย่างแท้จริง

แม้จะดีกว่าไม่ได้อะไรเลย แต่ความจริงแล้วความยุติธรรมแบบสากลมิอาจได้มาอย่างมั่นคงด้วยการต่อรองหรือ การกดดันตามสถานการณ์ทางการเมือง เพราะความยุติธรรมเช่นนั้นจะลงหลักปักฐานอย่างมั่นคงก็ด้วยการเปลี่ยน อุดมการณ์ความคิดจิตใจ คุณค่า และค่านิยมของทั้งสังคมเท่านั้น

“ความไม่เสมอภาค” เป็นโครงสร้าง ระเบียบแบบแผน และหลักการสูงสุดและสำคัญที่สุดในสังคมไทย การเชื่อในระเบียบสังคมแนวดิ่งอันเป็นหัวใจของวัฒนธรรมไทยนี่เองที่เป็น อุปสรรคใหญ่ที่สุดของความคิดสากลเรื่องสิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย และความยุติธรรม เพราะเมื่อ “คนไม่เท่ากัน” สิทธิก็ต้องไม่เท่ากัน เสรีภาพไม่เท่ากัน อำนาจไม่เท่ากัน ได้รับการปฏิบัติไม่เท่ากัน ถูกขังฟรี-ตายฟรีไม่เท่ากัน ความยุติธรรมในสังคมไทยคือความยุติธรรมที่อยู่บนฐานของความไม่เท่ากันของ มนุษย์ ตัวอย่างเช่น คนที่มีช่วงชั้นสถานะทางวัฒนธรรมสูง ทำอะไรผิดก็ไม่ผิด ส่วนคนที่มีช่วงชั้นสถานะทางวัฒนธรรมต่ำ ไม่ต้องทำอะไรเลยก็ผิด ทั้งหมดนี้เราจะเห็นแบบโจ่งแจ้งบ้าง ปิดบังอำพรางบ้าง และแนบเนียนจนเกือบไม่เห็น(เพราะเคยชิน)บ้าง

เช่นนี้แล้ว วัฒนธรรมของกระบวนการยุติธรรมของไทยจึงอยู่ในภาวะที่ “ไม่ค่อยปกติ” มาแต่แรกอยู่แล้ว มันจึงไม่ได้เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ (ordinary/extraordinary) แบบกรณีเยอรมันก่อนนาซีกับช่วงนาซี แต่เป็นการ “เพิ่มขึ้น” ของดีกรี “extraordinary” ที่ดำรงอยู่แล้วนั่นเอง หากช่วง “อปกติ” ในยุคนาซีคือช่วง “สะดุดชั่วคราว” ของสังคมเยอรมัน ความ “อปกติ” ของไทยคือสภาวะอันไม่สะดุดของการไปไม่ถึงมาตรฐานสากลและเต็มใจที่จะอยู่กับ ความ “พิการ” ซึ่งไม่ถูกตระหนักว่าเป็นความพิการ ทว่ากลับถือกันเป็น “ลักษณะพิเศษอย่างไทย” ที่ควรทนุถนอมสืบไป ภาวะ “ไม่ปกติ” นี้จะขึ้นลงแปรผันตามระดับการอ้างความเป็นไทย ยิ่งเป็นไทยมากเท่าไหร่ กล่าวคือไม่ฟังเสียงท้วงติงและกระเหี้ยนกระหือจะต่อสู้กับโลกสากลเพื่อโชว์ ว่าไทยเจ๋งสุดในจักรวาลทางช้างเผือกมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งสำแดงอาการไม่ปกติหรือวิปริตวิตถารมากเท่านั้น

เท่าที่เพดานของความเป็นไปได้จะเอื้ออำนวย แถลงการณ์และข้อเสนอทั้งหลายของกลุ่มนิติราษฎร์จึงคือการพยายามขจัดความ วิปริตและสถาปนาความอารยะให้กับวงการตุลาการและระบบกฎหมายไทยที่วางอยู่บน อุดมการณ์และปฏิบัติการแบบยุคก่อน Enlightenment

อันที่จริงแล้ว อิทธิฤทธิ์ของอุดมการณ์และโครงสร้างวัฒนธรรมอนุรักษนิยมในสังคมไทยแผ่ แสนยานุภาพเหนือหลักการสากลทั้งปวงที่ไทยรับจากตะวันตก ฤทธิ์เดชของความเป็นไทยๆ ที่แทรกซึมอยู่ในหลักการสากลต่างๆ จึงทำให้หลักการสากลล้วนแล้วแต่ทุพพลภาพเมื่อถูกใช้ในเมืองไทย แทบทุกหลักการและกฎเกณฑ์สากลเมื่อถึงคราวจะต้องปะทะขัดแย้งก็จะพ่ายแพ้และ ต้องหลีกทางให้กับวัฒนธรรมหลายมาตรฐาน วัฒนธรรมเจ้าขุนมูลนาย วัฒนธรรมคลั่งเจ้า วัฒนธรรมอุปถัมภ์ วัฒนธรรมผู้ใหญ่-ผู้น้อย วัฒนธรรมเอาหน้า-หน้าใหญ่-ไม่ยอมเสียหน้า วัฒนธรรมประจบและให้อภิสิทธิ์คนใหญ่คนโต วัฒนธรรมนักเลงโต วัฒนธรรมใต้โต๊ะ วัฒนธรรมตอแหล-มือถือสากปากถือศีล ฯลฯ วัฒนธรรมอันดีงามเหล่านี้ทำให้เราต้องย้ำซ้ำอีกครั้งว่า กระบวนการยุติธรรมแบบสากลที่ไทยเอาอย่างฝรั่ง แม้ในยามปกติ (ซึ่งในความหมายของ Radbruch คือสภาวะปกติที่เราต้องเคารพตัวบทกฎหมายที่ผ่านกระบวนการโดยถูกต้องชอบธรรม) ก็ไม่ถูกต้องตามหลักการและหลักปฏิบัติที่พึงเป็นอยู่แล้ว ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าความยุติธรรมโดยเสมอหน้า ไม่มีความชัดเจนแน่นอนที่เป็นมาตรฐาน ไม่มีคนที่เท่ากันเบื้องหน้ากฎหมาย ไม่ปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์

การยืนยันว่าระบบกฎหมายไทยเคารพสิทธิเสรีภาพและยึดมั่นในกระบวนการ ยุติธรรมตามหลักสากลที่เสมอภาคและเป็นธรรม ทั้งที่ในความเป็นจริงกลับตรงกันข้ามทุกประการ จึงเป็นการแก้ตัวที่โป้ปดเหลวไหล และเผยให้เห็นวัฒนธรรมไร้ยางอายแบบไทยๆ ที่พบเจออยู่เป็นปกติวิสัยเท่านั้นเอง เราจึงตั้งสมมติฐานได้ว่าวงการยุติธรรมส่วนใหญ่มีแนวโน้มจะไม่ได้ปกป้อง “justice” แต่ปกป้อง “authority” ของตนเอง ซึ่งเป็นนโยบายเดียวกันกับสถาบันทุกชนิดในสังคมไทยโดยเฉพาะสถาบันทาง วัฒนธรรมต่างๆ ที่ให้ความสำคัญสูงสุดกับการปกป้อง “authority” ไม่ให้คำวิจารณ์หรือข้อเท็จจริงในทางลบใดๆ มาสั่นคลอนสถานะอำนาจของตนเองได้

แน่นอนว่าในหลายๆ กรณี อะไรคือความ “ยุติธรรม” ย่อมถกเถียงโต้แย้งกันได้ แต่กรณีสุดโต่งคือกรณีที่ปรากฏชัดถึงความ “อยุติธรรม” อย่างสิ้นสงสัย (“beyond reasonable doubt”) ความพยายามจะสงสัยหรือสาดโคลนในสิ่งที่พ้นไปจากความน่าสงสัย เป็นเพียงละครสัตว์เพื่อกลบเกลื่อนการไร้ซึ่งมโนธรรมสำนึกของสิ่งมีชีวิตใน คณะละคร

ควรหรือไม่ที่ความอยุติธรรมและความป่าเถื่อนจะเป็นสิ่งที่ประนี ประนอมได้? ในการวางหลักเกณฑ์บรรทัดฐานที่ถูกต้อง ก็ย่อมไม่ควร การกระทำที่ไม่ควรต้องติดคุก ย่อมไม่ควรถูกประนีประนอมด้วยการลดจำนวนปีที่ติดคุกหรือรอรับการอภัยโทษ เพราะการลดโทษหรือลดการฟ้องร้องพร่ำเพรื่อก็ไม่ได้ทำให้เรามีเสรีภาพในการ แสดงความคิดเห็นมากขึ้น เรื่องที่ไม่อาจถกเถียง อภิปราย เปิดเผย หรือไต่สวนได้ ก็ยังคงเป็นเช่นนั้นต่อไป

ในการรณรงค์ ผลักดัน เคลื่อนไหว กดดัน การจำเป็นต้องประนีประนอม หรือการพึงใจในหนทางแห่งการปรองดอง ไม่ได้ทำให้หลักการที่ควรจะเป็น หรือหลักการอันไม่ควรจะประนีประนอม (นั่นคือการ “ยกเลิก” สิ่งที่ “ควรต้อง” ยกเลิกมากมายหลายประการที่ผิดหลัก constitutional monarchy หรือการไต่สวนหาความจริง) ถูกต้องน้อยกว่า และไม่ได้ทำให้การประนีประนอม (โดยเฉพาะที่มิได้ถูกบีบบังคับ แต่เพราะศรัทธาในอุดมการณ์กษัตริย์นิยมอย่างเหนียวแน่น และมีความเป็น “ไทยๆ” สูง) ถูกต้องมากกว่า แต่ถึงจุดหนึ่งแล้ว เราอาจเลือกไม่ได้ด้วยซ้ำว่าจะประนีประนอมหรือไม่

ไม่ว่าในที่สุดแล้วการปฏิรูปหรือยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 จะทำได้หรือไม่เพียงใด จะถูกประนีประนอมหรือฉวยโอกาสบิดเบือนหรือไม่เพียงใด องค์ประกอบของที่มา อุดมการณ์ เจตนารมย์ วัฒนธรรมการตีความและบังคับใช้ (ถูกแก้ไขเพิ่มเติมโดยคณะรัฐประหาร ถือเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ใครฟ้องก็ได้ ไม่ให้เผยแพร่เนื้อหา ไม่ให้ประกันตัว พิจารณาคดีลับ ใช้วิธีพิจารณาคดีผิดหลักนิติธรรม ใช้โซ่ตรวน สัดส่วนโทษต่อความผิด) คำวินิจฉัยพิพากษา บทลงโทษ รวมทั้งเหยื่อที่ตกทุกข์ได้ยาก ล้วนทำให้มาตรา 112 มีลักษณะที่เข้าข่าย “arbitrary, cruel, criminal law” และ “crimes against humanity” ที่ไม่อาจปฏิเสธได้ และความอยุติธรรมอย่างรุนแรงที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีกก็อาจทำให้บทบัญญัตินี้ไม่ สมควรมีสถานะเป็นกฎหมายตั้งแต่แรกและอีกต่อไป

ท้ายที่สุด หากใช้กฎของ Radbruch ที่ว่า “equality” (ความเสมอภาคมาตรฐานเดียวภายใต้กฎหมาย “To judge without regard to the person, to measure everyone by the same standard.”) คือแก่นของความเป็นกฎหมายแล้วไซร้ ไม่เพียงไม่มีความยุติธรรม ประเทศไทยคือประเทศที่ไม่มีกฎหมาย

ความยุติธรรมนอกอาณาเขต

โลกนี้มักเต็มไปด้วยตลกร้ายอันรวดร้าว เมื่อนึกถึงกรณีอย่าง Harry Nicolaides, Oliver Jufer หรือ Joe Gordon ไฉนเลยเราจะไม่คิดอยากรื้อฟื้นสิทธิสภาพนอกอาณาเขตเพื่อมอบให้กับชาวต่าง ชาติทั้งหลายที่ถูกดำเนินคดีข้อหาหมิ่นฯ อย่างไม่เป็นธรรมและไร้มนุษยธรรม

(Extraterritorial Right คือสิทธิพิเศษที่จะไม่ต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจของกฎหมายท้องถิ่น หรือสิทธิพิเศษที่จะใช้กฎหมายของประเทศหนึ่งบังคับแก่บุคคลที่เป็นพลเมือง ของตนที่ไปอยู่ในดินแดนอื่น เช่น คนอังกฤษหรือคนในบังคับอังกฤษที่ทำผิดกฎหมายไทยไม่ต้องขึ้นศาลไทย แต่ให้ไปขึ้นศาลกงสุลของอังกฤษ ฝรั่งอ้างว่าเพราะระบบพิจารณาคดีของสยามล้าหลังป่าเถื่อน -- จริงของเขา!)

อุดมการณ์ชาติ-ศาสน์-กษัตริย์นิยมในประวัติศาสตร์นิพนธ์ขับเน้น ความชอกช้ำของการ “เสียอำนาจอธิปไตยทางการศาล” จากการถูกบีบให้ทำสนธิสัญญาเบาว์ริงในสมัยคิงมงกุฏ ในขณะที่สร้างและโทษภัยคุกคามต่างๆ นานาว่ามาจากภายนอก อุดมการณ์เดียวกันนี้ก็ทั้งอำพรางและค้ำจุนความอยุติธรรมที่เบ่งบานจนกลาย เป็นระเบียบสังคมปกติอยู่ภายในสถาบันทางวัฒนธรรมต่างๆ อันมาจากโลกทัศน์และโครงสร้างอำนาจแบบไทยเองที่ไม่ยอมปล่อยให้ความศิวิไลซ์ อยู่เหนือกว่าความเป็นไทย

ใครเล่าจะนึกฝันไปถึงว่า วันหนึ่งในศตวรรษที่ 21 ชาวพื้นเมืองจะหวาดกลัว สิ้นหวัง เสียใจและอับอายเสียจนอยากจะขอเอามรดกการเอารัดเอาเปรียบของลัทธิล่า อาณานิคมในศตวรรษที่ 19 กลับมาใช้เป็นเครื่องมือปกป้องเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนให้กับลูกหลานญาติมิตร (รวมทั้งผู้ได้สัญชาติ) ของเจ้าอาณานิคมในปัจจุบันที่ตกเป็นเหยื่อของระบบยุติธรรมในประเทศของพวกเขา - ประเทศที่มีวิวัฒนาการความอนารยะทะยานไปไกลบนความลำพองใจที่ไม่เคยตกเป็น เมืองขึ้น

การมีอธิปไตยทางการศาลจะมีค่าอันใดในเมื่ออำนาจอธิปไตยยังไม่ได้เป็นของราษฎรทั้งหลาย

ในยุคสมัยที่ความเป็นคนไทยกำลังกลายเป็นโรคทางจิตเวชแบบรุนแรงชนิด หนึ่ง พร้อมๆ กับที่ความเจ็บปวดคับแค้นกำลังกลายเป็นอาการสามัญในชีวิตประจำวันของผู้คน ที่โดนฝูงคนไข้โรคจิตชี้หน้าว่าไม่ใช่คนไทยบ้าง เป็นคนไทยอกตัญญูเนรคุณบ้าง ชาวพื้นเมืองที่ถูกพิษตกค้างของระบอบเก่ากดขี่ข่มเหงอย่างทารุณอีกมากมายอาจ จะปรารถนาสิทธิสภาพต่างแดนนี้ในแดนตนเช่นกัน

Justice is Elsewhere.
เพราะไม่ใช่ที่นี่ ความยุติธรรมอยู่ที่อื่น

***

อ้างอิง

1. มีชัย ฤชุพันธุ์. “ปัญหาการแก้ไขมาตรา 112 ของกฎหมายอาญา.” http://www.meechaithailand.com/ver1/rhyme112.html

2. มติชนออนไลน์. วันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2554. http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1324559235&grpid=00&catid=&subcatid=

3. Radbruch, Gustav. “Statutory Lawlessness and Supra-Statutory Law (1946).” & “Five Minutes of Legal Philosophy (1945).” Translated by Bonnie Litschewski Paulson and Stanley L. Paulson in Oxford Journal of Legal Studies, Vol. 26, No. 1 (2006), pp. 1-11, 13-15.