บทความชื่อ “สังคมกำหนดวาระแห่งการปรองดอง” ของ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ในมติชนออนไลน์ (28 มิ.ย.54) เสนอแนวทางปรองดองหลังเลือกตั้ง สรุปประเด็นสำคัญได้ว่า
- ปรองดองเพื่อรวมตัวกันทำสิ่งใหม่ที่ดี การแก้ปัญหาเก่าทำได้ยาก และจะทะเลาะกันมากขึ้น
- ต้องเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งในหัวใจของแต่ละคน โดยคิดว่าทุกคนเป็นเพื่อนมนุษย์ อาจมีผิดมีถูกได้ทุกคน
- กำหนดเรื่องดีๆ มีประโยชน์ต่อประเทศชาติ ที่จะทำร่วมกัน เช่น
- สร้างความเป็นธรรม – ลดความเหลื่อมล้ำ
- สร้างความมั่นคงในชีวิตให้แก่เกษตรกร และผู้ใช้แรงงาน
- ชุมชนท้องถิ่นจัดการตัวเอง
- สร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่
- ปฏิรูประบบความยุติธรรม
- ปฏิรูประบบการศึกษา
- ยุติความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้
- ยุติคอร์รัปชั่น และสร้างธรรมาภิบาลในระบบการเมือง
- เป็นต้น
- แนวทางการร่วมมือกันทำเรื่องดีๆ เรื่องดีๆ ทำได้ยากประดุจเขยื้อนภูเขา ต้องอาศัย “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา”
- ความร่วมมือระหว่างพรรคการเมืองที่จะทำเรื่องดีๆ เพื่อชาติบ้านเมือง สังคมควรจะเข้ามากำกับวาระการปรองดอง โดยทำความตกลงที่จะร่วมมือกัน ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาอย่างไร
ผมเห็นต่างจาก ศ.นพ.ประเวศ ดังนี้
1. โจทย์ “การปรองดอง” ที่พรรคการเมืองต่างๆ ใช้หาเสียงอยู่ก็ดี และที่ ศ.นพ.ประเวศ เสนอว่าสังคมควรกำหนดวาระการปรองดองก็ดี ผมคิดว่ามันเป็น “ปัญหาปลอม” เพราะถึงที่สุดแล้วเราแทบไม่มีนิยามชัดเจนว่าปรองดองหมายถึงอะไร หมายถึงฝ่ายที่ขัดแย้งกัน เช่น พรรคการเมือง นักการเมือง เสื้อสีที่ขัดแย้งกันต้องหันมาจับมือกันเช่นนั้นหรือ จับมือกันแล้วจะมีประโยชน์อะไรหากปัญหาเก่าๆ ไม่ได้ถูกแก้ไข เช่น อำนาจนอกระบบยังมีอภิสิทธิ์ทางการเมืองเหนือประชาชน ทหารยังมีช่องทางจะอ้างสถาบันทำรัฐประหารได้ตลอดเวลา คนที่บาดเจ็บล้มตายยังไม่ได้รับความยุติธรรม ฯลฯ
2. ที่ว่า “ปรองดองเพื่อรวมตัวกันทำสิ่งใหม่ที่ดี การแก้ปัญหาเก่าทำได้ยาก และจะทะเลาะกันมากขึ้น” ผมคิดว่าหากละเลยการแก้ปัญหาเก่าๆ ที่เป็นเงื่อนไขของความแตกแยก ไม่มีทางที่จะปรองดองกันได้ การขจัดเงื่อนไขของความแตกแยกต้องกำหนด “วาระสร้างสังคมประชาธิปไตย” ที่พ้นไปจากการครอบงำกำกับของอำนาจนอกระบบ ที่ประชาชนทุกคนสามารถมีส่วนร่วมกำหนดวาระดังกล่าวได้ตั้งแต่การไปลงคะแนน เสียงเลือกตั้งครั้งนี้เลย
เพราะเงื่อนไขของความแตกแยก คือระบบการเมืองที่อยู่ภายใต้การกำกับครอบงำของ “อำนาจนอกระบบ” หากไม่แก้ระบบนี้ให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยที่มีเสรีภาพและความเสมอภาคเหมือน อารยประเทศ ความแตกแยกจะยังคงมีอยู่ และยังจะมีการอ้างสถาบันในการต่อสู้ทางการเมือง และอ้างสถาบันทำรัฐประหารอยู่ต่อไป
ที่คุณหมอบอกว่า “อุปสรรคที่สำคัญ ที่สุดที่ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถเจริญก้าวหน้า คือความเป็นสังคมทางดิ่ง (Vertical society) ที่มีความสัมพันธ์ระหว่างคนข้างบนที่มีอำนาจกับคนข้างล่างที่ไม่มีอำนาจ” นั้นถูกแล้ว แต่คุณหมอก็ไม่ได้บอกต่อว่า โครงสร้างอำนาจทางดิ่งมันถูกออกแบบตามโครงสร้างอำนาจนอกระบบที่ครอบงำกำกับ ระบบการเมืองของประเทศอีกที
หากจะแก้ไขระบบอำนาจทางดิ่งก็จำเป็นต้องแก้กฎหมาย เช่น แก้รัฐธรรมนูญมาตรา 8 กฎหมายหมิ่นฯ มาตรา 112 เป็นต้น เพื่อให้สามารถใช้หลักการประชาธิปไตย เช่น หลักความเสมอภาค หลักเสรีภาพ หลักความยุติธรรม หลักการมีส่วนร่วม เป็นต้น เป็นพื้นฐานในการออกแบบรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆ เพื่อกำหนดความสัมพันธ์ทางสังคมให้เป็นไปในทางราบ หรือมีความเสมอภาคในความเป็นคนและเสมอภาคด้านอื่นๆ มากขึ้น
ผมคิดว่าไม่ว่าเราจะใช้ “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” อย่างไร แต่ถ้าเขยื้อน “ภูเขาผิดลูก” คือไม่เขยื้อนภูเขาอำนาจนอกระบบและกองทัพให้ไปอยู่ในที่ทางที่จะไม่มี อภิสิทธิ์ทางการเมืองเหนือประชาชนได้ หรือไม่สามมารถเขยื้อนภูเขาอำนาจประชาชนชนให้มีช่องทางตามกฎหมายในการ วิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ “ทุกอำนาจสาธารณะ” ได้ สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขามันก็จะกลายเป็น “สามเหลี่ยมบังภูเขา” ในทันที!
3. ผมเห็นด้วยกับที่ว่า “ต้องเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งในหัวใจของแต่ละคน โดยคิดว่าทุกคนเป็นเพื่อนมนุษย์ อาจมีผิดมีถูกได้ทุกคน” แต่สิ่งที่บ่งบอก “การเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งในหัวใจของแต่ละคน” คือการยืนยันที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายต่างๆ ให้ทุกคนในประเทศมีเสรีภาพและความเสมอภาคใช่ไหมครับ
คือถ้าโดยรูปแบบทางกฎหมายมันยังไม่รับรองความเสมอภาคและเสรีภาพ มันยังให้อภิสิทธิ์เหนือประชาชนแก่อำนาจนอกระบบ การที่เราคิดว่า “ทุกคนเป็นเพื่อนมนุษย์ อาจมีผิดมีถูกได้ทุกคน” มันจะมีความหมายอะไรเล่าครับ!
รูปธรรมที่รองรับความคิดที่ว่า “ทุกคนเป็นเพื่อนมนุษย์ อาจมีผิดมีถูกได้ทุกคน” คือรัฐธรรมนูญหรือกติกาที่รับรอง “ความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียม” ของทุกคนในประเทศนี้ไงครับ ทำไมคุณหมอไม่เรียกร้องประเด็นนี้ เพื่อให้ “ความคิด” กลายเป็น “ความจริง” บ้างเล่าครับ?
4. เรื่องสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ กระจายอำนาจสู่ชุมชนอะไรต่างๆ นั้น ผมเห็นด้วยทั้งนั้นครับ แต่ถ้าไม่แก้โครงสร้างใหญ่ คือการออกแบบรัฐธรรมนูญหรือกติกาที่เป็นประชาธิปไตย และจัดวางสถานะและบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์และกองทัพให้อยู่ภายใต้หลัก ความเสมอภาค หลักความโปร่งใส และการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบให้ได้ก่อน เงื่อนไขของความขัดแย้งแตกแยกทางสังคมการเมืองที่ลึกซึ้งกว้าขวางก็ยังคง อยู่
ซึ่งหมายถึงความไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำทางอำนาจต่อรองทางการเมืองก็ยังคงอยู่ สิ่งดีๆ ต่างๆ ที่คุณหมอเสนอมานั้นก็อาจกลายเป็น “วาทกรรมบังภูเขา” ได้อีกเช่นกัน
ผมเคารพในเจตนาดี ความปรารถนาดีต่อสังคมของคุณหมอครับ แต่ผมก็ไม่คิดว่าความปรารถนาดี เจตนาดีมันควรจะมี “ความชอบธรรม” รองรับการละเลยที่จะปฏิเสธรัฐประหาร การละเลยที่จะประท้วงหรือยืนยันว่ารัฐบาลหมดความชอบธรรมแล้วที่ใช้ “กระสุนจริง” สลายการชุมนุมจนทำให้ประชาชนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก
แล้วจู่ๆ ก็เสนอว่าไม่ควรแก้ปัญหาเก่าๆ ถ้าคุณหมอให้คิดว่า “ทุกคนเป็นเพื่อนมนุษย์” แล้วคนที่บาดเจ็บล้มตายเขาไม่ใช่เพื่อนมนุษย์ที่ควรได้รับความยุติธรรมหรือครับ
หากสังคมนี้ไม่มีคำตอบเรื่อง “ความยุติธรรม” แก่ประชาชนที่บาดเจ็บล้มตาย ไม่มีคำตอบว่าจะแก้ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจนอกระบบกับการเมืองได้ อย่างไรจึงจะทำให้รัฐประหารไม่มีโอกาสเกิดได้อีก สิ่งดีๆ ที่คุณหมอเสนอให้สร้างขึ้นจะเป็นไปได้อย่างไร
หรือพูดอีกอย่าง การกำหนดวาระสร้างสังคมประชาธิปไตยที่พ้นไปจากการครอบงำกำกับของอำนาจนอก ระบบ เพื่อยุติรัฐประหารอย่างถาวรไม่ใช่ “สิ่งดีที่สุด” ที่ควรทำหรือครับ เพื่อขจัดเงื่อนไขของความแตกแยกอย่างถาวร
และไม่ใช่สิ่งที่ประชาชนทุกคนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งสามารถมีส่วน ร่วม “เริ่มทำ” ได้เลย ด้วยการ “ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง” ใน 3 ก.ค.นี้หรือครับ!