เมื่อช่วงต้นวันอาทิตย์ที่ 26 มิถุนายน ตามเวลาประเทศไทย สื่อมวลชนได้รายงานข่าวโดยอาศัยข้อความจาก Twitter ของคุณสุวิทย์ คุณกิตติ ทำนองว่าไทยได้ประกาศถอนตัวจากภาคีอนุสัญญามรดกโลกฯ เรียบร้อยแล้ว รัฐบาลปกป้องผลประโยชน์ประเทศชาติอย่างดีที่สุด กัมพูชานำเรื่องมรดกโลกไปอ้างไม่ได้
ในวันเดียวกันนั้นผมได้เผยแพร่บทความ “คำเตือน: ไทยถอนตัวจากภาคีมรดกโลกแล้วจริงหรือ?” และตั้งข้อสังเกตว่ายังมีข้อกฎหมายที่ไม่ควรด่วนสรุป เช่น เรื่องระยะเวลา 12 เดือน ก่อนที่การถอนตัวจะมีผล และเรียกร้องให้รัฐบาลชี้แจงประชาชนให้ชัดเจน (อ่านบทความได้ที่ http://on.fb.me/is0avZ)
มาวันนี้วันที่ 28 มิถุนายน ดูเหมือนว่าคำถามที่คาใจผมและหลายคน ก็ยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนจากทางรัฐบาล
ล่าสุด เว็บไซต์ 15thmove (http://bit.ly/lPUPkz) ได้เผยแพร่สำเนาหนังสือที่นายสุวิทย์ คุณกิตติ ยื่นต่อ ยูเนสโก เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ให้ประชาชนได้อ่าน
หนังสือนี้มีข้อความสำคัญตอนหนึ่งซึ่ง 15thmove ถอดความว่า
"...ผู้แทนไทยซึ่งเข้าร่วมการประชุมครั้งที่ 35 ไม่มีทางเลือก นอกจากต้องบอกเลิก (denounce) อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติของโลก ค.ศ.1972 ตามข้อ 35 เอกสารการบอกเลิกจะถูกส่งถึงท่านในกำหนดเวลา..." (เน้นคำโดยผู้เขียน)
หากเอกสารเป็นของจริง ก็แปลว่าหนังสือที่คุณสุวิทย์ยื่นไปที่ ยูเนสโก เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน เป็นเพียงการแสดงเจตนาเบื้องต้น "ว่าจะ" ถอนตัว กล่าวคือเป็นการยื่นหนังสือแจ้งการตัดสินใจของไทยว่าจะถอน แต่ ยังไม่ใช่หนังสือประกาศไม่ยอมรับ หรือเอกสารการบอกเลิก (instrument of denunciation) อย่างเป็นทางการตามอนุสัญญามรดกโลกฯ ข้อ 35 แต่อย่างใด. หนังสือที่คุณสุวิทย์ยื่นไปก็บอกเองว่า หนังสือประกาศถอนตัวอย่างเป็นทางการ จะส่งตามไปทีหลัง
ผู้เขียนขอกล่าวให้ชัดว่า ในทางกฎหมาย ระยะเวลา 12 เดือนก่อนที่การถอนตัว (withdrawal) ของไทยจะมีผลหรือไม่ จึงยังไม่เริ่มนับจนกว่าหนังสือประกาศไม่ยอมรับอนุสัญญาฯ อย่างเป็นทางการ (instrument of denunciation) จะถูกส่งไปยัง ยูเนสโก
ความน่าพิศวงของรัฐบาลไทยก็คือ ยังไม่มีการชี้แจงให้ประชาชนทราบโดยชัดเจนว่า สรุปแล้วรัฐบาลไทยได้ส่งหนังสืออย่างเป็นทางการ (instrument of denunciation) ไปที่ ยูเนสโก แล้วหรือยัง!? และจะส่งเมื่อใด!? ระยะเวลา 12 เดือนเริ่มนับแล้วหรือไม่!? หากสุดท้ายไทยไม่ส่ง และทุกคนตื่นเต้นกับการเลือกตั้งและรัฐบาลใหม่จนเรื่องเงียบไป ก็อาจไม่มีการถอนตัวเกิดขึ้น (ผู้เขียนไม่ได้บอกว่าการถอนตัวดีหรือไม่ แต่บอกว่ารัฐบาลจะทำอะไร ประชาชนย่อมมีสิทธิรู้ โดยเฉพาะก่อนเลือกตั้ง)
ล่าสุด มีรายงานข่าวเพียงว่าคณะรัฐมนตรีสนับสนุนการตัดสินใจของคุณสุวิทย์ และกล่าวทำนองว่าจะให้รัฐบาลชุดต่อไปหลังการเลือกตั้งเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะ ดำเนินการต่อไปอย่างไร
เช่น หนังสือพิมพ์ Bangkok Post (http://bit.ly/mJGEIO) รายงานว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะกล่าวหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ว่ารัฐบาลชุดหน้าจะเป็นผู้ ตัดสินใจว่าไทย “ควรจะกลับ” เข้าเป็นภาคีอนุสัญญามรดกโลกฯ หรือไม่ (ซึ่งผู้เขียนยังสงสัยว่าหากผลทางกฎหมายนั้นเรายังไม่ได้ถอน แล้วเราจะกลับเข้าไปเป็นภาคีได้อย่างไร?)
ในขณะที่ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ (http://bit.ly/m3R0AH) และแนวหน้า (http://bit.ly/loApM5) รายงานว่า นายปณิธาน วัฒนายากร ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรีว่า การถอนตัวจะเป็นไปตามขั้นตอนของกฏหมาย ที่นำไปสู่การพิจารณาข้อมูลของหลายฝ่าย โดยเป็นเรื่องที่รัฐบาลชุดหน้าจะรับหน้าที่พิจารณาเดินหน้าต่อ เนื่องจากขณะนี้คณะรัฐมนตรีไม่สามารถมีมติที่จะส่งผลผูกพันต่อรัฐบาลชุดหน้า ได้
ส่วนไทยรัฐ (http://bit.ly/mAtIHz) รายงานว่ารองปลัดกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า "การถอนตัวจะทำได้หลังจากการเลือกตั้ง"
ข้อมูลนี้สอดคล้องกับถ้อยคำล่าสุดจากกระทรวงการต่างประเทศ (http://bit.ly/m25wiu) ที่กล่าวอย่างระมัดระวังว่า "...ไทยได้ตัดสินใจประกาศเจตนารมณ์ที่จะเพิกถอนจากการเป็นภาคีอนุสัญญามรดกโลก..." (http://www.mfa.go.th/web/200.php?id=27660 เน้นคำโดยผู้เขียน) กล่าวคือใช้ถ้อยคำแบ่งเป็นสามขั้น (1) ตัดสินใจ (2) เพื่อประกาศเจตนารมณ์ (3) ว่าจะเพิกถอน
จากข้อมูลที่ไม่ชัดเจน ผู้เขียนก็เพียงได้แต่เดาว่าไทยยังคงเป็นภาคีอนุสัญญามรดกโลกฯ อยู่ต่อไป และยิ่งไปกว่านั้น ณ วันนี้ ยังไม่ชัดเจนว่าไทยได้ยื่นหนังสือถอนตัวอย่างเป็นทางการแล้วหรือไม่ หรือจะไปตัดสินใจดำเนินการในรัฐบาลสมัยหน้า และยังไม่รู้ว่าระยะเวลา 12 เดือน ก่อนการถอนตัวจะมีผลนั้นเริ่มนับไปแล้วหรือไม่ และจะเริ่มนับเมื่อใด!?
(ผู้เขียนอดสงสัยในใจไม่ได้ว่า “คุณอภิสิทธิ์ครับ สรุปที่คุณอภิสิทธิ์บอกว่าโทรคุยกับคุณสุวิทย์จน Twitter มาหาพวกเราตอนเที่ยงคืนจากปารีส เป็นแค่การทำให้ประชาชนตื่นเต้นก่อนเลือกตั้ง จนหนังสือพิมพ์พาดหัวหน้าหนึ่งทุกฉบับ แต่สุดท้ายประชาชนต้องไปลุ้นเอากับรัฐบาลชุดหน้าเท่านั้นหรือครับ?”)
ในสถานการณ์เช่นนี้ ประชาชนก็จำต้องทวงถามนักการเมืองเวลามาสวัสดีหาเสียงต่อไป ใครที่ไม่อยากให้ไทยถอนตัวจากมรดกโลก ก็อย่าเพิ่งร้อนรนต่อว่ารัฐบาล ส่วนใครที่อยากให้ไทยถอน ก็อย่าเพิ่งนิ่งนอนใจชื่นชมรัฐบาล ส่วนใครที่หลงนึกว่าการถอนตัวมีผลเรียบร้อยไปแล้ว ก็โปรดอย่าหงุดหงิดไปต่อว่ากัลยาณมิตรผู้ได้เตือนสติตน
ที่ผู้เขียนกล่าวมา ไม่ใช่ว่าไม่เห็นความดีของรัฐบาล ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ ผู้เขียนสนับสนุนเต็มที่หากรัฐบาลจะดำเนินการทุกอย่างตามขั้นตอนของกฎหมาย อย่างรอบคอบระมัดระวัง
แต่ขณะเดียวกัน ก็โปรดเห็นใจพวกเรา ประชาชนผู้เป็นเจ้าของบ้านเมืองที่กำลังจะไปเลือกตั้ง ว่าปล่อยให้เรารอคำตอบเรื่อง 91 ศพ มาปีกว่า ยังกล้าปล่อยให้เรารอได้ มาวันนี้กะแค่เรื่องว่ายื่นหนังสือมรดกโลกสรุปมีผลทางกฎหมายหรือไม่ โปรดอย่าทำใบ้หรือซ่อนอะไรจากพวกเราอีกเลยครับท่าน.
................................
บทวิเคราะห์เรื่อง “คำเตือน: ไทยถอนตัวจากภาคีมรดกโลกแล้วจริงหรือ?” และกรณีปราสาทพระวิหาร อ่านได้ที่ http://www.facebook.com/verapat.pariyawong