ประมาณเกือบครึ่งหนึ่งของผู้จะไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ไปด้วยอุดมการณ์ ส่วนอีกเกือบครึ่งหนึ่งซึ่งยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเลือกพรรคใด ไปด้วยเหตุผลอื่นๆ ที่ไม่ใช่อุดมการณ์ นับตั้งแต่ยังมองหาคนถูกใจหรือพรรคที่ถูกใจที่สุดอยู่ ไม่แน่ว่าวันที่ 3 ก.ค.จะว่างหรือไม่ แล้วแต่อารมณ์ ไปเรื่อยจนถึงราคาของการขายเสียง
เป็นครั้งแรกในเมืองไทยที่มีผู้ตัดสินใจเลือกตั้งโดยอุดมการณ์สูงถึงเพียงนี้
ทั้งนี้เพราะในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การเมืองเชิงอุดมการณ์เข้ามาครอบงำการเมืองไทยอย่างกว้างขวางกว่าที่เคยเกิด มาแล้วในช่วง 2516-2519 เพราะความก้าวหน้าของการสื่อสาร และเทคโนโลยีการสื่อสาร ซึ่งไม่เคยเกิดในเมืองไทยมาก่อน
อุดมการณ์คืออะไร
อุดมการณ์คือคำอธิบายถึงหลักการอันเป็นเงื่อนไขสำคัญสุด ในความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ อันก่อให้เกิดปรากฏการณ์นานาชนิด โดยเฉพาะปรากฏการณ์ทางสังคม ลึกลงไปถึงชีวิตและความคิดของคนในสังคม ว่าล้วนสะท้อนเงื่อนไขความสัมพันธ์ที่อุดมการณ์ได้อธิบายไว้ ในแง่นี้อุดมการณ์จึงแทบไม่ต่างอะไรจาก "ทฤษฎี" ที่นักปราชญ์หรือนักวิชาการคิดขึ้นมา สำหรับอธิบายความสัมพันธ์อันสลับซับซ้อนต่างๆ ในปรากฏการณ์ทั้งทางสังคมและทางธรรมชาติ
ความแตกต่างระหว่างอุดมการณ์และทฤษฎีอยู่ตรงที่ว่า ทฤษฎีอธิบายได้เฉพาะในบริบทเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง จะนำไปใช้อธิบายเรื่องที่ต่างบริบทไม่ได้ทั่วไป และด้วยเหตุดังนั้น ทฤษฎีจึงไม่อาจอ้างความเป็นสากล และไม่เป็นอกาลิโก ในขณะที่อุดมการณ์อ้างว่าสามารถใช้อธิบายความสัมพันธ์อันสลับซับซ้อนและซ่อน เงื่อนได้ทุกเงื่อนไข นับตั้งแต่ความรู้สึกในใจของตนเอง ไปจนถึงความรักระหว่างเพศ, การศึกษา, แฟชั่น และระบบเศรษฐกิจและการเมืองที่ครอบงำสังคมทั้งสังคม อุดมการณ์จึงอ้างความเป็นสากลและอกาลิโก
เพราะอุดมการณ์มีลักษณะที่ผนวกได้รอบทิศทางเช่นนี้ อุดมการณ์จึงแบ่งแยก "พวกเรา" กับ "พวกเขา" ได้ชัด ผมจำได้ถนัดว่าในช่วงปี 2518-19 นั้น แม้แต่ทรงของกางเกงที่ผู้ชายนุ่ง ก็สามารถแยก "พวกเรา" ออกจาก "พวกเขา" ได้แล้ว
ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงทรรศนะที่มีต่อประชาธิปไตย, สถาบันพระมหากษัตริย์, กองทัพ, ตุลาการ, อภิสิทธิ์ (ทั้งเวชชาชีวะและอภิสิทธิ์เฉยๆ), ฯลฯ ความต่างของเสื้อจึงไม่ได้อยู่ที่สี แต่อยู่ในทรวงอกที่เสื้อสีคลุมเอาไว้ต่างหาก
ที่ร้ายไปกว่านั้นก็คือลักษณะผนวกรวมเอาไว้รอบด้านของอุดมการณ์ทำให้ "พวกเขา" กลายเป็นศัตรู เป็น "อมนุษย์" เป็น "สิ่ง" ที่ต้องล้างผลาญทำลายให้สิ้นซาก การเมืองเชิงอุดมการณ์จึงนำไปสู่ความรุนแรงอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก และความรุนแรงก็มักนำไปสู่ระบอบเผด็จการอย่างหลีกเลี่ยงได้ยากเช่นกัน ดังที่เห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นนับตั้งแต่การล้อมปราบประชาชนอย่างป่าเถื่อนที่ สี่แยกราชประสงค์เป็นต้นมา
การเมืองเชิงอุดมการณ์เป็นการเมืองที่ไม่มีการประนีประนอม มีได้แต่ความสมานฉันท์หรือความปรองดอง (ซึ่งให้ความหมายถึงอะไรที่เหมือนกันไปหมด) แต่การประนีประนอมเป็นเงื่อนไขหลักของการอยู่ร่วมกัน ทุกฝ่ายได้แต่ไม่หมด เพราะต้องยอมให้ฝ่ายอื่นได้บ้าง การเมืองที่ก้าวหน้าและสงบเรียบร้อย คือการเมืองที่กอปรด้วยการประนีประนอมเสมอ ในขณะที่การเมืองแบบปรองดองสมานฉันท์มักมีการกำกับด้วยอำนาจอยู่เบื้องหลัง เสมอ
การเมืองเชิงอุดมการณ์ไม่เกิดขึ้นบ่อยนักในทุกสังคม แม้แต่ในสังคมที่ผู้ปกครองอ้างอุดมการณ์เพื่อรักษาอำนาจของตนไว้เสมอ ประชาชนก็ได้แต่จำนนต่ออำนาจ หาได้สมาทานอุดมการณ์นั้นมาจัดการโลกและชีวิตของตนตามไปด้วย ดังเช่นกัมพูชาสมัยเขมรแดง "ประชาชนมูลฐาน" (คือเป็นชาวนามาก่อนการปลดปล่อย) ย่อมพอใจกับอภิสิทธิ์ที่ผู้ปกครองมอบให้ (เช่น ได้ข้าวกินประจำวันมากกระป๋องนมกว่า) แต่ก็พร้อมจะซื้อขายแลกเปลี่ยนกับประชาชนใหม่ที่ถูกกวาดต้อนมาจากเขตเมือง (แน่นอนอย่างเอาเปรียบ) และในหลายกรณีก็ปฏิบัติต่อประชาชนใหม่เหล่านี้อย่างเพื่อนมนุษย์
แต่ในเมืองไทยเวลานี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรากำลังอยู่ในการเมืองเชิงอุดมการณ์-อย่างน้อยในหมู่ผู้จะ ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเกือบครึ่ง-แต่เป็นการเมืองเชิงอุดมการณ์ที่กลับ ตาลปัตรกับเขมรแดง เพราะการเมืองเชิงอุดมการณ์ครอบงำประชาชน ไม่ได้ครอบงำนักการเมืองเอาเลย
ผมย้อนกลับมาคิดว่า เหตุใดอุดมการณ์จึงไม่เคยมีอิทธิพลในเชิงแบ่งแยกสังคมไทยมากเท่านี้ในอดีต จะว่าคนไทยไม่เคยมีอุดมการณ์เลย ก็ออกจะเกินไปหน่อย อย่างน้อยก็ว่ากันว่าคนไทยมองโลกและชีวิตจากจุดยืนของพุทธศาสนาแบบไทย เช่น อธิบายทุกเรื่องได้ด้วยกรรมเรื่องเวร เป็นต้น มองเข้าไปในวรรณกรรมโบราณ ก็พบลักษณะที่ค่อนข้างจะสม่ำเสมอในเรื่องนี้จริงเสียด้วย
แต่แม้คนไทยโบราณเคยมีพุทธศาสนาแบบไทยเป็นอุดมการณ์ "ร่วมกัน" แต่เอาเข้าจริงแล้ว มีความแตกต่างในพุทธศาสนาแบบไทยสูงมาก จนแทบจะหาอะไร "ร่วมกัน" จริงได้ยาก นอกจากชื่อ แม้เมื่อรัฐเข้ามาปฏิรูปศาสนาเพื่อให้เกิดมาตรฐานร่วมกันบางอย่าง การปฏิบัติพุทธศาสนาแบบไทยก็ยังมีความหลากหลายอยู่นั่นเอง และทุกฝ่ายก็รู้ว่าคนอื่นปฏิบัติไม่เหมือนตน แต่ก็มีขันติธรรมพอจะปล่อยให้เขาปฏิบัติไปตามความเชื่อของเขา
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ แม้มีอุดมการณ์ แต่เป็นอุดมการณ์ที่ไม่เรียกร้องความเป็นสากล
วิธีเลือกผู้แทนของคนไทยนั้นใช้ฐานการวินิจฉัยที่ต่างกันมานมนานแล้ว และต่างฝ่ายต่างก็รู้ว่าคนอื่นเลือกใครเพราะเหตุใดไม่เหมือนกับตน ผมโตมาในประเทศที่คนไทยแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่เหมือน กัน และไม่เท่ากัน แต่ไม่มีใครรู้สึกว่าเป็นปัญหาแต่อย่างไร
คนบ้านนอกทรงเจ้าเข้าผี ผู้ดีกรุงเทพฯ ก็อาจบอกว่านั่นไม่ใช่พุทธ แต่ก็ไม่เป็นไร เป็นเรื่องของเขา ไม่มีใครคิดว่าต้องรวมกลุ่มกันไปเผาหรือยิงทิ้งคนทรงเจ้าเข้าผี
ผมไม่ทราบหรอกว่าจะเรียกความไม่ยี่หระต่อกันเช่นนี้ว่า "ขันติธรรม" ได้หรือไม่ แต่ผมเชื่อว่าที่มันดำรงอยู่ได้ก็เพราะเราอยู่ในสังคมแห่งสถานภาพที่ลดหลั่น กันอย่างชัดเจน พวกทรงเจ้าเข้าผีคือคน "บ้านนอก" ที่ไร้การศึกษา ค่อนข้างยากจน และยังไม่ได้ "พัฒนา" ผู้ดีกรุงเทพฯ อดทนอดกลั้นต่อความแตกต่างได้ ก็เพราะเขาคือ "เด็ก" จึงเป็นธรรมดาย่อมเลือกตั้งแบบเด็กๆ แต่งกายแบบเด็กๆ พูดแบบเด็กๆ วิ่งขอขนมแบบเด็กๆ ฯลฯ
ถ้าจะเป็นขันติธรรม ก็เป็นขันติธรรมที่ตั้งอยู่บนความไม่เสมอภาค และตราบเท่าที่ทุกฝ่ายยอมรับความไม่เสมอภาคนี้ จะแตกต่างกันอย่างไรก็ไม่เป็นไร
การเคลื่อนไหวของเสื้อแดง โดยเฉพาะใน พ.ศ.2553 ทำให้ "ขันติธรรม" ประเภทนี้หมดไปในสังคมไทย เพราะการเคลื่อนไหวในครั้งนี้ เรียกร้องความเสมอภาคอย่างชัดเจนและกึกก้องที่สุด (ไพร่-อำมาตย์) พวกเขาเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งไม่อาจเลื่อนไหลไปตามแต่สถานการณ์หรือสถานภาพของบุคคลอีกต่อไป เป็นประชาธิปไตยที่มีความหมายอย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็นใครก็ต้องยึดถือความหมายขั้นพื้นฐานนี้เหมือนกัน
อุดมการณ์ไทยกลายเป็นสากล และการเมืองเชิงอุดมการณ์จึงถูกปลุกปั่นจนกลายเป็นการนองเลือด ต่างฝ่ายต่างระดมสรรพกำลังที่มีออกมาเผชิญหน้ากัน แม้การเผชิญหน้าบนท้องถนนจะสุดสิ้นลง แต่การเผชิญหน้ากันในคดีความ, ในสื่อ, ในห้องสัมมนาและอบรม, ในพิธีกรรมชนิดต่างๆ ฯลฯ ยังดำเนินต่อไป
และบัดนี้ก็ได้โอกาสที่จะขยายลงมาถึงการเลือกตั้ง และเป็นการเลือกตั้งเชิงอุดมการณ์เป็นครั้งแรกของไทย อย่างน้อยเกือบครึ่งของผู้ลงคะแนนเสียงเข้าคูหาด้วยอุดมการณ์ และดังที่กล่าวแล้วว่าการเมืองเชิงอุดมการณ์ เป็นการเมืองที่ไม่มีการประนีประนอม โอกาสที่จะเกิดความสงบเรียบร้อยขึ้นจากการเลือกตั้งจึงเกิดขึ้นได้ยาก
หากสังคมไทยจะกลับมาสู่ความสงบที่ขัดแย้งกันได้ภายใต้กติการ่วมกัน เราต้องกลับมาคิดถึงอุดมการณ์ที่ไม่เป็นสากล แต่กติกาที่ยอมรับร่วมกันนั้น หลีกเลี่ยงไม่ได้เสียแล้วว่าต้องประกอบด้วยหลักความเสมอภาค ทั้งในทางทฤษฎีและปฏิบัติ ทุกฝ่ายต้องพร้อมจะประนีประนอมภายใต้กติกานี้ ใครจะยึดถืออุดมการณ์ชาติ, ศาสน์, กษัตริย์อย่างเหนียวแน่นอย่างไรก็ได้ แต่สถาบันทั้งสามนี้ต้องดำรงอยู่ภายใต้สำนึกถึงความเสมอภาคที่แพร่ขยายไป อย่างกว้างขวางให้ได้ เช่น เราจะรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้อย่างไร จึงจะไม่ทำให้เกิดความรู้สึกขัดแย้งกับคติความเสมอภาค
เราจะรักษาชาติไว้อย่างไร โดยไม่ปล่อยให้กองทัพมีอภิสิทธิ์แทรกแซงการเมืองได้เหนือกว่าพลเมืองอื่นๆ