ท่ามกลางการปฏิวัติล้มเผด็จการในอียิปต์หรือตูนีเซีย มีการคลั่งเห่อ ทวิตเตอร์ และเครื่องสื่อสารอื่นๆ ทางอินเตอร์เน็ต และพูดกันในแวดวงสื่อว่าเครื่องมือเหล่านี้ใช้เพื่อล้มเผด็จการได้ จนมีการเสนอว่าการปฏิวัติในตะวันออกกลางเป็น “การปฏิวัติทวิตเตอร์” ประเด็นนี้เป็นเรื่องสำคัญสำหรับคนเสื้อแดงที่ประเทศไทยด้วย
แนวคิดหนึ่งในหมู่คนที่พูดเกินเหตุและเห่อ เฟสบุ๊ค หรือ ทวิตเตอร์ คือการเสนอว่า “การต่อสู้แบบเก่า” ที่อาศัยการจัดตั้งคนในองค์กรทางการเมืองจริงๆ และอาศัยการฝึกฝนการต่อสู้ และการนัดหยุดงาน “ล้าสมัยไปแล้ว” เพราะการใช้ เฟสบุ๊ค หรือ ทวิตเตอร์ ทำให้คนลุกฮือเองในรูปแบบอนาธิปไตยได้ โดยไม่มีองค์กร และการนำ แต่พวกนี้จะลืมไปว่าแม้แต่คนที่เสนอให้ทำอะไรในเวลาใดเวลาหนึ่ง ก็เป็นผู้นำ
แน่นอนในบรรยากาศของการเซ็นเซอร์สื่อทางเลือกเกือบทุกชนิดและปิดสถานี วิทยุชุมชน เครื่องมืออินเตอร์เน็ต เช่นเฟสบุ๊ค ทวิตเตอร์ สไกพ์ หรือการตั้งเวปไซท์ กลายเป็นพื้นที่สำคัญของคนเสื้อแดงที่จะสื่อสารกัน นี่คือสาเหตุที่ฝ่ายกระทรวง ICT (กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร)ของรัฐบาลอำมาตย์พยายามไล่ปิดหรือ ปิดกั้นเวปต่างๆ และไล่จับคนที่วิจารณ์อำมาตย์ โดยใช้กฏหมาย 112 กฏหมายคอมพิวเตอร์ และกฏหมายความมั่นคงเป็นเครื่องมือ และนี่คือสาเหตุที่คนเสื้อแดงจำนวนมากพยายามทะลวงและหลบการปิดกั้นต่างๆ จนประชาชนจำนวนมากเริ่มมีทักษะพิเศษทางด้านคอมพิวเตอร์มากขึ้น
แต่เราต้องมาวิเคราะห์พิจารณาว่าเครื่องมือทางอินเตอร์เน็ตใช้ได้ผลมาก น้อยแค่ไหน และใช้อย่างไรถึงจะมีประสิทธิภาพมากที่สุดในการเปลี่ยนสังคม
ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี ๒๕๕๑ เปิดเผยว่าจากจำนวนประชากรอายุ 6 ปีขึ้นไปประมาณ 59.97 ล้านคน พบว่า มีผู้ใช้คอมพิวเตอร์ 16.99 ล้านคน คิดเป็น ร้อยละ 28.2 และมีผู้ใช้อินเตอร์เน็ต 10.96 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 18.2 ตรงนี้เป็นเครื่องเตือนใจว่าสถานภาพที่จะเข้าถึงอินเตอร์เน็ตไม่ได้ครอบคลุม ประชาชนส่วนใหญ่ แต่ก็ยังมีคนจำนวนมากที่เข้าถึงได้ และคนเหล่านั้นอาจส่งต่อข้อมูลให้คนอื่นได้
สำหรับการปฏิวัติในตะวันออกกลาง เช่นในอียิปต์ เราต้องพิจารณาว่าในช่วงที่มีการลุกฮือที่นำไปสู่การล้มมูบารัก เผด็จการอียิปต์สั่งปิดอินเตอร์เน็ตทั้งหมดและเครือข่ายโทรศัพท์มือถือด้วย แต่ประชาชนก็สามารถรวมตัวกันและสื่อสารได้ ทั้งนี้เพราะมีการจัดตั้งกลุ่มและเครือข่ายต่างๆ มาก่อนหน้านั้นหลายปี และมีการลุกฮือนัดหยุดงานของสหภาพแรงงานในปีก่อนๆ อีกด้วย ซึ่งถือว่าเป็นการ “ซ้อมรบ” และประเด็นสำคัญที่สุดคือ ทหารอียิปต์ตัดสินใจเขี่ยมูบารักออกจากตำแหน่ง เมื่อมีการนัดหยุดงานลามไปทั่วประเทศ เพราะเขากลัวพลังเศรษฐกิจของการนัดหยุดงาน และกลัวว่าทหารเกณฑ์ระดับล่างจะเริ่มกบฏต่อผู้บังคับบัญชา
บ่อยครั้งการสื่อสารระหว่างเครือข่ายต่างๆ ในการปฏิวัติอียิปต์ เกิดขึ้นปากต่อปาก ตาต่อตา ในจตุรัสทาห์เรีย หรือในมัสยิด หรือในสถานที่ทำงาน และในปีก่อนๆ เวลามีการพยายามปลุกระดมให้คนออกมาไล่รัฐบาลทาง เฟสบุ๊ค หรือ ทวิตเตอร์ ก็มีคนมาน้อย เพราะคนยังกลัวอยู่และสถานการณ์ยังไม่สุกงอม
นักวิชาการบางคนเตือนเราให้ระวัง “การสร้างภาพการเคลื่อนไหว” ทางอินเตอร์เน็ต ที่ไม่เกิดในโลกจริง Jodi Dean (ในวารสาร Cultural Politicsปี 2005) เขียนว่าการ “กดคลิก” หรือการกด “ชอบ” หรือการลงชื่อในแถลงการณ์หรือจดหมายเปิดผนึกผ่านอินเตอร์เน็ต ทำให้คนรู้สึกดีที่ “ได้ร่วมเคลื่อนไหว” แต่มันไม่ใช่การเคลื่อนไหวจริงที่มีพลัง ส่วน Slavoj Žižek (สลาโวช ซีเซค) นักมาร์คซิสต์ชาวสโลวีเนีย ที่ชอบท้าทายความคิดคนอื่นๆ เพื่อกระตุ้นความคิด พูดว่าการเคลื่อนไหวผ่านอินเตอร์เน็ตกลายเป็นการ “ร่วมกันงอมืองอเท้า” มันเป็นกระบวนการที่ลดระดับการเมืองและการเคลื่อนไหวในโลกจริง เพราะเปิดทางให้เราหลอกตัวเองว่าเราทำอะไร ในขณะที่เราอาจขี้เกียจออกมาทำอะไรในโลกจริง
Malcolm Gladwell นักเขียนชาวคานาดา ในบทความว่า “ทำไมการปฏิวัติจะไม่ถูกทวิตเตอร์” (New Yorker 2010)เสนอว่า “เพื่อน” หรือเครือข่ายทางอินเตอร์เน็ต ระหว่างคนที่ไม่รู้จักกัน ไม่เคยเจอหน้ากันหรือคุยกันโดยตรง เป็นเครือข่ายที่อ่อนแอมาก แต่ในมุมกลับ ถ้าคนที่รู้จักกันมาก่อน เคยสู้บนท้องถนนหรือในที่ทำงานร่วมกัน และเป็นสมาชิกองค์กรร่วมกันมากก่อน ใช้เครื่องมืออย่าง เฟสบุ๊ค หรือ ทวิตเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือ เขาสามารถประสานการต่อสู้ได้ด้วยประสิทธิภาพจริง เพราะเครือข่ายสายสัมพันธ์ของเขาจะเข้มแข็งและเป็นจริง
ในกรณี “นักรบไซเบอร์” ไทย มีโรคระบาดแห่งการ “ร่วมกันงอมืองอเท้า” โดยเฉพาะในกลุ่มคนเสื้อแดงที่อยู่นอกประเทศไทย หรือในหมู่คนภายในประเทศที่ไม่สามารถหรือไม่ยอมออกมาเคลื่อนไหว คนเหล่านี้จะใช้เวลาหลายชั่วโมงต่อวันในการ “เล่นเน็ต” หรือคุยกันเป็นกลุ่มทางสไกพ์หรือแคมฟร้อค แต่สาระการคุยกันมีน้อยเหลือเกิน เพราะเนื้อหาหลักจะเป็นการผลิตซ้ำข่าวลือ เช่นเรื่องรัฐประหาร หรือเรื่องส่วนตัวของอำมาตย์เป็นต้น และที่แย่กว่านั้นมีการป้ายร้ายผู้เคลื่อนไหวจริงด้วยข่าวเท็จ โดยเฉพาะแกนนำนปช.ในประเทศไทย ตรงนี้ผู้เขียนไม่ได้เสนอว่าเราไม่ควรวิจารณ์เสื้อแดงกันเอง เราต้องวิจารณ์แนวทางเสมอ แต่ต้องวิจารณ์บนพื้นฐานความจริงและในลักษณะที่จะนำไปสู่การเพิ่ม ประสิทธิภาพในการต่อสู้
นักรบไซเบอร์ประเภท “งอมืองอเท้า” มักจะไม่รู้เรื่องว่าในพื้นที่และชุมชนต่างๆ ของไทยมีการจัดตั้งเสื้อแดงและเคลื่อนไหวกันอย่างไร เพราะเขามักจะไม่ไปร่วมงานเคลื่อนไหวในโลกจริง ไม่ว่าจะที่ไทยหรือแม้แต่ในต่างประเทศ เขาจะหดหู่กับความเป็นไปได้ที่จะล้มอำมาตย์ เขามักจะพูดว่า “สหภาพแรงงานไทยนัดหยุดงานไม่ได้” ทั้งๆ ที่ขบวนการแรงงานไทยในโลกจริงมีประวัติการนัดหยุดงานและการต่อสู้มานาน เขาจะเสนอว่า “ไทยเป็นกรณีพิเศษไม่เหมือนอียิปต์หรือประเทศอื่นในตะวันออกกลาง” ทั้งๆ ที่เผด็จการซิเรียยิงประชาชนตายเกือบ 500 คน และเผด็จการอียิปต์ฆ่าและทรมานฝ่ายตรงข้ามมากว่า 30 ปี สรุปแล้วนักรบไซเบอร์ประเภทนี้นั่งฟังแต่รายการวิทยุของ อ.ชูพงษ์กับคนอื่นที่มีมุมมองคล้ายๆ กัน ฟังเพื่อให้ตนรู้สึกดี แต่ไม่นำไปสู่การปฏิบัติการอะไรเลย เหมือนกินยาชา และได้แต่แก้ตัวว่าการพูดทางอินเตอร์เน็ตให้คน “ตาสว่าง” จะ “ล้มระบอบ” ได้ แต่การล้มระบอบต้องอาศัยมวลชนจำนวนมากที่ออกมาต่อสู้บนท้องถนนและนัดหยุดงาน ในสถานที่ทำงาน และต้องอาศัยมวลชนที่มีตัวตนและคุยต่อหน้าต่อตากัน โดยเฉพาะมวลชนที่จะคุยกับทหารระดับล่าง ผ่านการล้อมรถถังและชวนให้ทหารเหล่านั้นกบฏต่อผู้บังคับบัญชา
ในโลกสมัยใหม่แห่งอินเตอร์เน็ต บ่อยครั้งจะมีการตั้งคำถามว่า “ทำไมยังต้องไปขายหนังสือพิมพ์ของฝ่ายซ้ายที่เป็นกระดาษ อย่างเช่นหนังสือพิมพ์ เลี้ยวซ้าย ? ทำไมไม่เอามาขึ้นอินเตอร์เน็ตหรือสร้างเวปไซท์ให้คนอ่านเอง? คำตอบคือ เวลาเรามีหนังสือพิมพ์กระดาษที่นำมาขายในการชุมนุมหรือในสถานที่ทำงาน มันเป็นโอกาสที่เราจะคุยกับคนอื่นต่อหน้าต่อตา เป็นโอกาสที่จะถกเถียงแลกเปลี่ยน และเป็นโอกาสที่จะทำความรู้จักและสร้างความสนิทสนมจริง เพื่อจัดตั้งองค์กรเข้มแข็งที่จัดการประชุมได้ ไม่ใช่องค์กรในโลกไซเบอร์ที่อาจมีสมาชิกจริงหรือไม่จริงก็ได้
ผู้ที่ต่อสู้ในโลกจริง ด้วยการจัดตั้งองค์กรหรือเครือข่ายในโลกจริง สามารถใช้ เฟสบุ๊ค หรือ ทวิตเตอร์ และเครื่องมืออื่นๆ ทางอินเตอร์เน็ตเพื่อพัฒนาการต่อสู้ได้ ถ้าสิ่งเหล่านั้นไม่ถูกปิดกั้น แต่ผู้ที่มองว่าเราสามารถใช้ เฟสบุ๊ค ทวิตเตอร์ หรือสไกพ์ แทนการเคลื่อนไหวในโลกจริงได้จะประสบความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง
[การเขียนบทความนี้อาศัยข้อมูลจากบทความ ของ Jonny Jones (2011) “Social Media and Social Movements” International Socialism Journal 130]
ที่มา: facebook-TurnleftThailand เลี้ยวซ้าย