ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Sunday, 30 January 2011

ปิดฉากคดีสุดพิลึก ขายแตะ"หน้ามาร์ค" กระทบความมั่นคง อัยการ"สั่งไม่ฟ้อง"

ที่มา ข่าวสด

คอลัมน์ แฟ้มคดี




เงียบ และเงียบอย่างยิ่ง สำหรับตำรวจจ.พระนครศรีอยุธยา หลังพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดสั่งไม่ฟ้องน.ส.อมรวัลย์ เจริญกิจ แม่ค้าเสื้อแดงที่ขายรองเท้าแตะพิมพ์ลายคล้ายหน้านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ

น.ส.อมรวัลย์ ถูกตำรวจเมืองกรุงเก่าจับกุมระหว่างนำรองเท้าแตะไปวางขายในที่ชุมนุมของม็อบเสื้อแดง ที่จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2553 พร้อมแจ้งข้อหายาวเหยียด

"ร่วมกันจำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือพิมพ์หรือสิ่งพิมพ์หรือสิ่งอื่นใด ที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน จนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนในทั่วราชอาณาจักร"

ตำรวจสรุปคดีอย่างรวดเร็วก่อนส่งให้อัยการพิจารณา ท่ามกลางเสียงคัดค้านของทั้งเสื้อแดง และนักกฎหมาย

เนื่องเพราะคดีนี้ไม่ว่าจะมองจากมุมไหน ข้อหาที่ตำรวจจับดำเนินคดีถือว่าแปลกพิสดารอย่างยิ่ง

ประการหนึ่งนักกฎหมายระบุว่าน่าจะเข้าข่ายคดีหมิ่นประมาทระหว่างแม่ค้ารองเท้าแตะ กับนายอภิสิทธิ์ หรือนายสุเทพ ไม่ใช่คดีอาญาแผ่นดินที่ตำรวจจะดำเนินการได้เอง

ประการหนึ่งพื้นที่จ.พระนครศรีอยุธยา ก็ไม่ใช่พื้นที่ประกาศเขตภาวะฉุกเฉิน

รวมไปถึงคำถามว่าการขายรองเท้าแตะของผู้หญิงคนหนึ่งกระทบต่อความมั่นคงตรงไหน

ยิ่งเมื่อมีคำถามกลับไปสมัยม็อบพันธมิตรฯ นำภาพพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และบุคคลในครอบครัวมาล้อเลียนคล้ายๆ กัน กลับไม่ดำเนินการใดๆ

อย่างไรก็ตามท้ายที่สุดคดีนี้เมื่อส่งถึงมืออัยการ ก็พิจารณาและตัดสินอย่างรวดเร็วสั่งไม่ฟ้อง ให้คดีจบสิ้นไปตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2553

หรือเพียงไม่นานหลังตำรวจสั่งฟ้อง

จึงมีคำถามเซ็งแซ่ทันทีว่า ตำรวจที่จับผู้หญิงคนหนึ่งดำเนินคดีให้วุ่นวาย และมีประวัติติดตัว จะรับผิดชอบอย่างไร!??

พลิกคดีรองเท้าแตะสุดพิลึก

น.ส.อมรวัลย์ อายุ 41 ปี ชาวอ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี แม่ค้าขายผัก ซึ่งในระยะหลังการขายของซบเซาลงไปมาก ประกอบกับชื่นชอบคนเสื้อแดง จึงตัดสินใจหันมาค้าขายกับผู้ชุมนุม

เธอรับสินค้ารองเท้าแตะสกรีนภาพนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ที่มีคนเสื้อแดงทำออกมาจำหน่าย มาขายต่อโดยตระเวนไปตามจุดที่มีการชุมนุม



กระทั่งวันที่ 3 ตุลาคม 2553 กลุ่มเสื้อแดงของนายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือบ.ก.ลายจุด แกนนำวันอาทิตย์สีแดง นัดชุมนุมกันที่เมืองกรุงเก่า และจะเคลื่อนขบวนแสดงพลัง

น.ส.อมรวัลย์ พร้อมพ่อค่าแม่ค้าขายของที่ระลึกให้กับผู้ชุมนุมตั้งแผงขายของบริเวณหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าอู่ทอง ต.ประตูชัย อ.พระนครศรีอยุธยา

สิ่งที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นเมื่อมีตำรวจมาเชิญตัวเธอไปที่เต็นท์อำนวยการพร้อมยึดรองเท้าแตะที่มีรูปนายกฯและรองนายกฯ พร้อมข้อความว่า

"มีคนตายที่ราชประสงค์"

ก่อนที่เธอจะถูกคุมตัวไปโรงพักก่อนแจ้งข้อหายาวเหยียดและได้ประกันตัวในช่วงดึกของวันเดียวกัน

"ร่วมกันจำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือพิมพ์หรือสิ่งพิมพ์หรือสิ่งอื่นใด ที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือทำให้เกิดความเข้าใจผิด ในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนในทั่วราชอาณาจักร"

คือข้อหาที่น.ส.อมรวัลย์ ถูกดำเนินคดี

โวยตร.เส้นตื้น-กระทบมั่นคง

"รองเท้าทั้งหมดนี้ซื้อมาจากพ่อค้าที่เจอกันในม็อบ ปกติก็มาร่วมชุมนุมเป็นประจำอยู่แล้ว จึงนำของมาวางขายด้วยไม่คิดว่าจะมีความผิด เพราะคนอื่นเขาก็ขายกันทั่วประเทศ"

น.ส.อมรวัลย์ เล่าว่าช่วงที่ขายก็มีตำรวจเข้ามาซื้อไปหลายคู่จนเกือบหมดแผง จนกระทั่ง 4 โมงเย็น ก็มีนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ทราบว่าเป็นผกก.สภ.พระนครศรีอยุธยา เข้ามาที่แผง และทำทีสอบถามราคารองเท้า ก่อนจะเดินหายไป

ต่อมามีนายตำรวจอีกคนมาเชิญไปที่เต็นท์ พร้อมกับสั่งให้ลูกน้องเก็บร้องเท้าแตะสกรีนรูปหน้านายอภิสิทธิ์และนายสุเทพมาด้วยทั้งหมด พอมาถึงเต็นท์ก็สอบปากคำนานหลายชั่วโมง และแจ้งข้อกล่าวหา

น.ส.อมรวัลย์ เล่าอีกว่า ช่วงที่กำลังสอบปากคำอยู่นั้น มีนายตำรวจคนหนึ่งมาบอกว่า เราเป็นคนไทย ทำอย่างนี้ไม่ถูก ไปเอาใบหน้าคนมาใส่ในรองเท้า ก็เลยอธิบายไปด้วยว่า อย่างสหรัฐยังเอาใบหน้าประธานาธิบดีบารัก โอบามา มาใส่ในรองเท้าเหมือนกัน ไม่เห็นเป็นอะไร ยิ่งทำให้นายตำรวจคนดังกล่าวโมโห และสั่งสอบสอบสวนตั้งแต่เย็นวันนั้น กว่าจะปล่อยตัวตอนดึก

โดยแม่ค้าขายรองเท้าแตะกระทบความมั่นคงให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา เพราะนึกไม่ออกเหมือนกันว่ารองเท้าแตะราคาไม่กี่บาท จะกระทบความมั่นคงได้อย่างไร!??

เธอให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาก่อนที่นายสุรเชษฐ์ ชัยโกศล ส.ส.พระนครศรีอยุธยา พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นผู้ประสานงานคนเสื้อแดง จ.พระนครศรีอยุธยา เดินทางมาใช้ตำแหน่งส.ส. ประกันตัวน.ส.อมรวัลย์ ออกไป

ต่อมาตำรวจแจ้งข้อหาเพิ่มเติมอีกว่า

"ข้อความและภาพที่ปรากฏนั้นไปในทางบิดเบือนข้อมูลให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ มีส่วนทำให้คนตายที่ราชประสงค์ โดยจำหน่ายให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมและบุคคลทั่วไป อันเป็นการเผยแพร่ อีกทั้งการนำหน้าบุคคลไปปรากฏที่รองเท้านั้นเป็นการไม่เหมาะสมตามขนบธรรมเนียมประเพณีและศีลธรรมอันดีของชาวไทย อันเป็นความผิดตามพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548"

กระทั่งวันที่ 11 ตุลาคม 2553 ตำรวจเชิญตัวน.ส.อมรวัลย์ มาพบอีกครั้งก่อนสรุปสำนวนส่งอัยการพิจารณาสั่งฟ้อง

เกินกว่าเหตุ-ไม่ผิดฉุกเฉิน

หลังเรื่องนี้กลายเป็นข่าวใหญ่จึงมีผู้เกี่ยวข้องและนักกฎหมายออกมาแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง

นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือบ.ก.ลายจุด ระบุว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.พระนครศรีอยุธยา จับกุมในข้อหาละเมิดพ.ร.ก.ฉุกเฉิน และข้อหานำรองเท้าสกรีนใบหน้านายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพเข้ามาจำหน่าย ทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองและด้านความมั่นคง ก็ตกใจที่แม่ค้าคนดังกล่าวถูกตั้งข้อหาแบบนี้ ทั้งที่พื้นที่อยุธยาปลอดจากพ.ร.ก.ฉุกเฉินไปแล้ว

"ส่วนรองเท้าที่ขายก็ดูแล้ว ไม่เห็นจะไปสร้างความวุ่นวายอะไร ที่ผ่านมากลุ่มพันธมิตรฯ ก็ยังเอาใบหน้าพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กับภรรยา มาสกรีนลงแบบนี้ ไม่เห็นถูกจับ"

นายวันชัย สอนศิริ เลขาธิการสภาทนายความ กล่าวว่าการขายรองเท้าแตะคงไม่มีความผิดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะความผิดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้นได้ระบุความผิดไว้อย่างชัดเจน เช่น ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน ห้ามก่อความไม่สงบ ซึ่งคงไม่ครอบคลุมไปถึงเรื่องการขายรองเท้าแตะของพ่อค้าแม่ค้า อีกทั้งการขายรองเท้าแตะ คงไม่กระทบต่อความมั่นคงแต่อย่างใด

"กรณีดังกล่าวหากจะผิดคงเป็นความผิด เรื่องของการดูหมิ่น เรื่องของการละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งจะเป็นความผิดลหุโทษเท่านั้น มีโทษปรับไม่เกิน 500-1,000 บาท แต่ทั้งนี้เจ้าตัวต้องไปแจ้งความเองด้วย"

ส่วนนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย มองว่าการจำหน่ายรองเท้าแตะมีรูปใบหน้าของนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เป็นสิทธิ เสรีภาพ ไม่เห็นว่าจะไปสร้างความแตกแยกได้อย่างไร

อัยการสั่งไม่ฟ้อง-ยุติคดี

เมื่อโดนหลายฝ่ายรุมกระหน่ำโดยเฉพาะประเด็นที่ว่าตำรวจทำเพื่อเอาใจผู้นำรัฐบาล ทำให้พล.ต.ต.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผบก.ภ.พระนครศรีอยุธยา ชี้แจงว่า การจับกุมครั้งนี้เป็นความผิดซึ่งหน้า ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้กลั่นแกล้ง

"ส่วนใครจะว่าตำรวจทำเกินกว่าเหตุหรือไม่อย่างไรนั้น ตำรวจไม่ขอโต้ตอบ"

ต่อมาคดีนี้ก็เงียบหายไป แต่ในการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงมีพ่อค้าแม่ค้าหลายรายนำรองเท้าดังกล่าวมาวางขายคู่กับของที่ระลึกอื่นๆ ในทุกๆ สถานที่ที่เสื้อแดงไปชุมนุม แถมยังมีเวอร์ชั่นอื่นๆ ตามมาอีกเพียบ

พร้อมข้อความที่ขึ้นป้ายบริเวณแผงขายรองเท้าเป็นการเหน็บแนมอีกว่า

"ที่นี่จำหน่ายวัตถุอันตรายต่อความมั่นคง"

กระทั่งต่อมาน.ส.อมรวัลย์ แจ้งความคืบหน้าให้นายอานนท์ นำภา ทนายความทราบว่าได้รับหนังสือจากอัยการ ลงวันที่ 22 ธ.ค.2553 มีใจความสำคัญว่า คดีนี้อัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องผู้ต้องหา เพราะพยานหลักฐานไม่พอฟ้อง

"โดยส่วนตัวแล้วเห็นว่าคำสั่งของอัยการในครั้งนี้เป็นคำสั่งแก้เก้อ เพราะการกระทำของ น.ส.อมรวัลย์ ไม่น่าจะเข้าข่ายเป็นความผิด แต่อัยการกลับมีคำสั่งไม่ฟ้อง โดยอ้างว่าหลักฐานไม่พอฟ้อง แทนที่จะสั่งว่าไม่มีความผิด หลังจากนี้จะคุยกับ น.ส.อมรวัลย์ อีกครั้งว่าจะฟ้องเจ้าหน้าที่กลับ ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่"

คงต้องตามดูกันยาวๆ ว่าจะลงเอยเช่นใด เพราะหลังเกิดกรณีน.ส.อมรวัลย์ ตำรวจก็ไม่ได้จับกุมพ่อค้า-แม่ค้ารายใดอีกเลย

จึงมีคำถามว่าตำรวจที่ไม่จับจะเข้าข่ายการละเว้นฯ หรือไม่

หากไม่ใช่การละเว้นฯ กรณีน.ส.อมรวัลย์ ตำรวจใช้กฎหมายอะไรมาพิจารณาจับกุม

เพราะกฎหมายน่าจะเป็นอันหนึ่งอันเดียว ไม่ใช่อยากจับก็จับ หรือไม่อยากจับก็เฉยเสีย