ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Sunday, 30 January 2011

บทเรียนเรื่อง “กรุงแตก พระเจ้าตาก และประวัติศาสตร์ไทย”

ที่มา thaifreenews

โดย Bugbunny

ผมนั่งอ่านหนังสือ “กรุงแตก พระเจ้าตาก และประวัติศาสตร์ไทย” ของ ดร.นิธิ เอี่ยวศรีวงศ์ และหนังสืออีกหลายเล่มด้วยความรู้สึกว่า สถานการณ์เมืองไทยวันนี้ มันใกล้สภาพก่อนเสียกรุงครั้งที่สองเข้าไปทุกทีแล้ว

เรื่องที่อาจารย์เขียนไว้นั้นมีหลักฐานอ้างอิงมาจากสารพัดแหล่ง จดหมายเหตุ ฯลฯ ทั้งของไทยและต่างชาติที่มาปฏิสัมพันธ์กับสังคมไทยในช่วงนั้น มันมีสภาพที่ตรงกันว่า อำนาจรัฐของกรุงศรีอยุธยาในช่วงสองปีสุดท้ายก่อนเสียกรุงนั้น เป็นสภาพที่แทบจะสูญสิ้นความเป็นอำนาจรัฐลงไปหมดแล้ว สาเหตุนั้นเป็นเพราะทุกคนมองว่า กษัตริย์และระบอบสังคมของที่นั่นในช่วงก่อนหน้านั้นทั้งอ่อนแอ ไร้เกียรติ จนเป็นสิ่งที่ไม่พึงสนับสนุนอีกต่อไป กษัตริย์องค์สุดท้ายคือพระเจ้าเอกทัศน์นั้นไม่เป็นที่นิยมทั้งของขุนนางและประชาชน ทรงบีบพระเจ้าอุทุมพรน้องชายผู้มีความสามารถให้สละราชสมบัติแก่ตน แล้วใ้ห้ออกไปบวช แต่พอพม่ายกทัพมาสมัยพระเจ้าอลองพญา ก็ไปขอให้กลับมารบพม่า พอไล่ข้าศึกไปได้ ก็กลับมาบีบเอาอำนาจคืน

เรื่องไม่เป็นธรรมต่าง ๆ ก่อนเสียกรุงนั้นยังมีอีกมากมาย ความประจบสอพลอของขุนนางใกล้ชิด เรื่องน่ารังเกียจของผู้หญิงในวัง ฯลฯ ทำให้ความภักดีต่อกรุงศรีอยุธยาในวันนั้นล่มสลายอย่างสิ้นเชิง เจ้าเมืองในหัวเมืองพอพม่ายกมาใกล้ ขู่เข้าหน่อย ก็อ่อนน้อมให้ แบบไม่ต้องรบกันเลย ขุนนางหัวเมืองผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ต่างก็ไม่สนใจอำนาจของกษัตริย์ มีถึงขนาดทิ้งทัพกลับไปทำงานศพมารดา และส่วนกลางก็ทำอะไรไม่ได้ แบ๊ะ ๆ ไป

และปรากฏหลักฐานชัดเจนอีกด้วยว่า ทัพที่ยกเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยานั้นจำนวนมากมายไม่ใช่พม่า แต่เป็นกำลังของหัวเมืองซึ่งเป็นคนพูดภาษาไทยนั่นเองที่สวามิภักดิ์กับพม่า มีคนบอกว่าคนพวกนี้ทรยศ แต่ผมกลับอยากให้มองอีกมุมหนึ่งว่า สมัยนั้นเขาถือว่าอำนาจรัฐอยุธยานั้นก็คืออีกนครรัฐหนึ่งเท่านั้น ความเป็นชาติที่นักประวัติศาสตร์ศักดินาพยายามกรอกหูเรามาตลอดนั้นมันไม่มี มีแต่เมืองขึ้น เมืองออก เมืองพระยามหานคร ประเทศราช ฯลฯ บางเมืองส่งบรรณาการให้เมืองที่มีอำนาจกว่าไปพร้อมกันหลาย ๆ นครเสียด้วยซ้ำ ในยุคนั้นเขาไม่ได้ถือว่าตนเองเป็นชาวอโยธยา แต่เป็นชาวพิษณุโลกบ้าง กำแพงเพชรบ้าง ฯลฯ กันเท่านั้น ไม่ใช่ชาวสยามอย่างที่สร้างกันขึ้นทีหลังแต่ประการใด

ความเป็นสยามนั้นเพิ่งจะมาเป็นจริงเป็นจังกันในสมัย ร.๕ และนโยบายนี้ ก็ยังทำให้รัฐบริวารต่าง ๆ ยุคนั้นไม่พอใจกันอยู่พอสมควร เรื่องการต่อต้านของเจ้าเมืองเหนือ กบฏผีบุญ และกบฏไพร่อื่น ๆ อันเป็นเรื่องราวในท้องถิ่นถูกปิดกั้นไว้จากประวัติศาสตร์ฉบับคำหลวงที่บังคับให้นักเรียนเรียนกันอยู่ทุกวันนี้ คนท้องถิ่นเขาไม่ได้ถือว่าผู้นำเหล่านั้นเป็นฝ่ายอธรรมแต่ประการใด ง่าย ๆ กรณีเจ้าอนุของลาวนั้นเป็นตัวอย่าง ในประวัติศาสตร์ชาติลาว ท่านคือวีรบุรุษของชาติลาวที่ต่อสู้เพื่อให้เป็นเอกราชจากกรุงเทพ ฯ แต่ประวัติศาสตร์ไทยบอกว่าท่านเป็นกบฏ

สภาพไร้ความภักดีที่ปรากฏในขณะก่อนเสียกรุง ฯ นั้น ทำให้กรุงศรีอยุธยาที่ยึดยุทธศาสตร์การป้องกันตัวนคร แล้วให้ทัพหัวเมืองกระหนาบข้าศึกเมื่อฤดูฝนน้ำหลากนั้นไม่ได้เกิดขึ้น เพราะหัวเมืองต่างเข้ากับพม่า แล้วร่วมทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาเองเสียด้วยซ้ำ

เมื่อตีกรุงศรีอยุธยาได้ การปล้นสะดมจึงเกิดขึ้น เพราะกรุงศรีอยุธยานั้นร่ำรวยกว่าหัวเมือง ทองคำหุ้มองค์พระอย่างเดียวก็มากมายนับเป็นพันชั่งแล้ว เพราะมันเหมือนกับเมื่ออำนาจที่จะปกป้องทรัพย์สินสิ้นลง ในยามที่ตนเองร่ำรวยมหาศาลกว่าคนอื่น คนอิจฉาก็ต้องมีมากเป็นธรรมดา และเขาต้องเอาทรัพย์สินไปเป็นประโยชน์ของเขา

กำลังมองว่า วันนี้ที่คนต่างจังหวัดและแม้แต่คนกรุงเทพ ฯ จำนวนมาก รู้สึกว่าถูกอำนาจรัฐกดขี่ข่มเหงด้วยการใช้ความอยุติธรรมทุกรูปแบบอย่างนี้ คนใหญ่คนโตในประเทศนี้จะเป็นอย่างไรเมื่อเกิดเหตุที่ตนเองไม่มีปัญญาปกป้องผลประโยชน์ของชนชั้นสูงเผด็จการศักดินาอำมาตย์ได้ขึ้น ในยามไร้ทั้งอำนาจและบารมี เมื่อวันนั้นมาถึง ผลประโยชน์ของพวกคนเหล่านั้นก็คงจะพินาศไปอย่างเมื่อตอนเสียกรุงเช่นกัน เพราะพวกเขาได้สูญเสียสิ่งสำคัญที่สุดที่เกาะยึดอำนาจให้พวกเขาไปสิ้นนั่นคือความรู้สึกภักดี ซึ่งว่าใครไม่ได้นอกจากตัวเองที่ปล่อยให้สภาพนี้เกิดขึ้นจากการกระทำของตนและคนใกล้ชิดสอพลอ ขนาดสมัยก่อนนั้นข่าวสารเรื่องราวต่าง ๆ ของความอยุติธรรมในนครหลวงยังกระจายไปทั่วจนสลายความภักดีของประชาชนหัวเมืองลงได้ สมัยนี้ก็ไม่ต้องพูดอะไรกันอีกแล้ว