ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Sunday, 19 September 2010

4ปี19กันยาฯ ยังไม่พ้นวิกฤต

ที่มา ข่าวสด


ครบรอบ 4 ปีรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549

เนื่องจากปีนี้ตรงกับวันครบรอบ 4 เดือนเหตุการณ์ 19 พ.ค. 2553

ความเข้มข้นเลยยกระดับเป็นสองแรงบวก

ทุกครั้งที่เหตุการณ์รัฐประหาร 19 ก.ย. เวียนมาบรรจบครบรอบปี

มักจะมีการตั้งวงสรุปบทเรียนกันตลอดเวลาภายใต้หัวข้อคำถามเดิมๆ คือการปฏิวัติของคณะทหารภายใต้ชื่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือคมช. เมื่อ 4 ปีก่อน

นำพาผลลัพธ์อะไรมาสู่บ้านเมืองในปัจจุบัน ดีขึ้นหรือเลวร้ายหนักกว่าเก่า

การจะตอบคำถามนี้ส่วนหนึ่งต้องนำเอาเหตุผล 4 ข้อที่ คมช.ใช้ในการก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มาเป็นตัวตั้ง

1.รัฐบาลมีการคอร์รัปชั่น 2.รัฐบาลสร้างความแตกแยกให้กับคนในประเทศ 3.รัฐบาลแทรกแซงองค์กรอิสระ และ 4.มีพฤติกรรมเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

ภายหลังการรัฐหาร 19 ก.ย. 2549 ประเทศไทยมีรัฐบาลแล้ว 4 ชุด

ชุดแรกคือรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่เข้ามารักษาการอำนาจชั่วคราวระหว่างการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งครั้งใหม่

เนื่องจากรัฐบาลสุรยุทธ์ ได้อำนาจมาจากรถถังและกระบอกปืน ทำให้ไม่ได้รับการยอมรับจากโลกประชาธิปไตย ผลคือทำให้ประเทศชาติหยุดนิ่งเป็นระยะเวลาปีเศษ

การตั้งข้อหาไล่ล่ายึดทรัพย์ทักษิณ มูลค่ากว่า 6 หมื่นล้าน โดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หรือ คตส. ดูเหมือนเป็นอย่างเดียวที่คืบหน้าอย่างรวดเร็ว

พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธาน คมช.ประกาศแผนบันได 4 ขั้น

1.การยุบพรรคจะต้องเกิดขึ้น 2.ความผิดทางอาญาเรื่องโกงกินคอร์รัปชั่นจะปรากฏ 3.พรรคจะเริ่มแตกและเริ่มวิ่งกระจัดกระจาย และในที่สุดก็สิ้นสุด จากนั้นจะนำมาสู่การลงประชามติรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง

"การเลือกตั้งครั้งหน้าต้องเป็นพรรคที่ทุกคนในฝ่ายบริหารจะต้องรักชาติ ศาสนา กษัตริย์ ทุกอย่างในขณะนี้เดินไปตามขั้นตอนที่วางไว้ ผลผลิตของคตส.กำลังบรรลุเป็นขั้นๆ"

////

ผลเลือกตั้งเดือนธ.ค.2550 สร้างความผิดหวังให้กับฝ่ายโค่นล้มทักษิณอย่างมาก

เนื่องจากพรรคพลังประชาชนหรือไทยรักไทยเดิม ได้รับเลือกกลับมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

โดยมีนายสมัคร สุนทรเวช ที่ประกาศตัวชัดเจนว่าคือ"นอมินี"ของพ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี

แต่แล้วนายสมัคร ต้องกระเด็นตกเก้าอี้ไปด้วยคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญว่าขาดคุณสมบัติ จากการเป็นพิธีกรรายการทำอาหารทางทีวี

เดือนก.ย.2551 สภาโหวตเลือกนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกฯ

ด้วยความที่นายสมชาย เป็น"น้องเขย"ของพ.ต.ท.ทักษิณ ยิ่งทำให้กลุ่มพันธมิตรฯ ที่รวมตัวกันต่อต้านรัฐบาลมาตั้งแต่สมัยนายสมัคร ไม่พอใจ

ยกระดับการชุมนุมเข้ายึดทำเนียบรัฐบาล และสนามบินในเวลาต่อมา

เดือนธ.ค.2551 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคพลังประชาชนอีกรอบ ทำให้นายสมชาย ต้องพ้นจากเก้าอี้นายกฯ ตามหลังนายสมัครไปติดๆ

ในจังหวะนั้นได้เกิดการแปรพักตร์ของ"กลุ่มเพื่อนเนวิน" ที่สลัดทิ้ง"นายใหญ่"หันไปสวามิภักดิ์ฝ่ายตรงข้าม ทำให้การเมืองเกิดการ"พลิกขั้ว"อย่างรุนแรง

กลุ่มเพื่อนเนวิน ผลักดันตัวเองจนกลายเป็นหุ้นส่วนสำคัญในการสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์จัดตั้งรัฐบาล

เป็นบันไดให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ปีนขึ้นสู่จุดสูงสุดทางการเมือง

ทุกอย่างเริ่มกลับสู่เส้นทางบันได 4 ขั้นที่พล.อ.สนธิ เคยวางไว้อีกครั้ง

หลังจากแผนสะดุดไปเมื่อตอนเลือกตั้งธ.ค.2550

อย่างไรก็ตาม การเข้าสู่อำนาจของพรรคประชาธิปัตย์ถึงจะได้รับการสนับสนุนจากกองทัพ พรรคการเมือง กลุ่มพันธมิตรฯ และมือที่มองไม่เห็น

แต่หุ้นส่วนอำนาจ 3-4 กลุ่มเหล่านี้เป็นการรวมตัวกันบนความเชื่อที่ว่าหากพ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้กลับมามีอำนาจอย่างถาวร ทุกคนก็จะอยู่รอดปลอดภัย

ส่วนเรื่องผลประโยชน์อื่นๆ ทางใครทางมัน นานวันไปจึงทำให้เกิดปัญหาแตกคอกันเอง

การชิงดีชิงเด่น แย่งผลงาน เตะตัดขา วางยากันเองจึงเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นบ่อยๆ

ระหว่างพรรคแกนนำรัฐบาลกับพรรคร่วมรัฐบาล

////

กฎเหล็ก 9 ข้อที่นายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เคยประกาศไว้อย่างหรูหราในการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่นในหมู่พรรคร่วม รัฐบาล ก็ไม่เคยเป็นจริงในทางปฏิบัติ

บางคนถึงกับระบุปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ ไม่ได้ด้อยไปกว่ายุครัฐบาลทักษิณ

การแต่งตั้งโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรมในหลายกระทรวง จัดวางคนของตนเองลงไปในตำแหน่งตั้งแต่ระดับบนลงไปถึงระดับท้องถิ่น กระทั่งถูกยื่นถวายฎีการ้องเรียน

บรรยากาศไม่แตกต่างไปจากการสรรหาแต่งตั้งกรรมการองค์กรอิสระในสมัยรัฐบาลทักษิณ

ส่วนจากที่รัฐบาลสั่งการใช้กำลังทหารติดอาวุธ เข้าปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อเดือนเม.ย.-พ.ค.ที่ผ่านมา ทำให้มีคนตาย 91 ศพ บาดเจ็บอีก 2,000 คน

การติดตามไล่ล่าคนเสื้อแดงแบบเอาเป็นเอาตาย การจับกุมดำเนินคดีแบบสองมาตรฐาน การดึงสถาบันเบื้องสูงมาเป็นเครื่องมือทำลายล้างฝ่ายตรงข้าม

ส่งผลให้คนในประเทศแตกแยกอย่างลึกซึ้งและรุนแรงจนไม่อาจเยียวยาสมานฉันท์กัน ได้อีกต่อไป สะท้อนจากการที่แผนปรองดองถูกฉีกทิ้งครั้งแล้วครั้งเล่า พร้อมกับเสียงระเบิดที่ดังสนั่นไปทั่วทุกมุมเมือง

สิ่งเหล่านี้ผสมผสานเป็นแรงกดดันต้องการให้รัฐบาลประกาศยุบสภาเลือกตั้งใหม่ เพื่อใช้เสียงของประชาชนเป็นเครื่องนำพาการเมืองไทยกลับสู่เส้นทางตามระบอบ ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

หลังจากออกนอกลู่นอกทางมานานตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหาร 19 ก.ย. 2549

ซึ่งเป็นตัวฉุดประเทศถอยหลังในทุกๆ ด้าน