ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Sunday, 19 September 2010

19 ก.ย. 2549 – 19 ก.ย. 2553 : 4 ปีแห่งความไร้เสถียรภาพ!

ที่มา มติชน


สุรชาติ บำรุงสุข


เหตุการณ์รัฐประหาร เมื่อ 19 ก.ย.

โดย...สุรชาติ บำรุงสุข

“ขณะที่เมฆทะมึนปรากฏอยู่บนท้องฟ้า

เราก็ชี้ให้เห็นว่า นั่นเป็นเพียงปรากฏการณ์ชั่วคราว

เท่านั้นเอง ความมืดมนกำลังจะผ่านพ้นไป

แสงอรุณส่องรำไรอยู่ข้างหน้าแล้ว”

ประธานเหมาเจ๋อตุง

สรรนิพนธ์เล่ม 4

ย้อนกลับไปเมื่อ 4 ปีที่แล้ว แทบจะไม่น่าเชื่อว่า ในที่สุดแล้ว รัฐประหารก็หวนกลับมาเกิดขึ้นในสังคมไทย แม้นก่อนหน้านั้น นับตั้งแต่หลังจากเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 แล้ว เราไม่เคยเชื่อกันเลยว่าสังคมไทยจะต้องพานพบกับการรัฐประหารอีก จนเราเชื่ออย่างมั่นใจว่า สังคมไทยไม่ต้องกังวลกับเรื่องของทหารกับการเมือง เพราะโอกาสหวนคืนของทหารในการเมืองไทยนั้น น่าจะเป็นเรื่องที่สิ้นสุดลงแล้ว หรือหากกล่าวในทางทฤษฎีก็คือ สังคมไทยในยุคหลังเหตุการณ์ปี 2535 แล้ว ไม่จำเป็นต้องคิดคำนึงถึงการจัดความสัมพันธ์พลเรือน – ทหารอีกต่อไป หรือในอีกด้านหนึ่งก็คือ ไม่จำเป็นต้องคิดในเรื่องของยุทธศาสตร์ประชาธิปไตยต่อกลุ่มทหารในการเมือง ไทย


จะด้วยวิธีคิดเช่นนี้หรือไม่ก็ตาม แต่อย่างน้อยวิธีคิดดังกล่าวก็สะท้อนให้เห็นถึง “ความประมาท” ที่สังคมการเมืองไทยหลังจากเหตุการณ์ปี 2535 ไม่ได้เตรียมการใดๆ ที่จะทำให้ทหารเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่จะนำพาการเมือง ไทยไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย


ในอีกด้านหนึ่ง บทเรียนจากความขัดแย้งในปี 2535 ที่ไม่ได้ถูกนำมาสานต่อทางความคิดอย่างจริงจังก็คือ กลไกของการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทยควรจะเป็นเช่นไร เพราะถ้าสังคมสามารถสร้างกลไกดังกล่าวให้เกิดขึ้นได้จริง ก็เป็นความคาดหวังว่า เมื่อเกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้น กลไกเช่นนี้จะมีส่วนโดยตรงในการลดทอนความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ หรืออย่างน้อยกลไกเช่นนี้ก็ถูกสร้างขึ้นเพื่อช่วยให้แรงกดดันของการเผชิญ หน้าทางการเมืองมีช่องทางระบายออกไปได้บ้าง มิใช่ปล่อยให้การเผชิญหน้าขยายตัวออกไปในวงกว้าง และระเบิดออกเป็นความรุนแรงทางการเมืองจนไม่อาจควบคุมได้ และจบลงด้วยการรัฐประหาร


หากกลไกเช่นนี้เกิดขึ้นก็อาจจะเป็นความหวังอีกส่วนหนึ่งที่ปัญหาจะไม่กลายเป็น “หน้าต่างแห่งโอกาส” ที่เปิดให้ผู้นำทหารและชนชั้นนำบางส่วนฉวยเอาสถานการณ์เช่นนี้เป็นช่องทาง ให้แก่กลุ่มของตนเองในการก่อรัฐประหาร และขณะเดียวกันก็จะไม่อนุญาตให้พวกเขาใช้เหตุการณ์ของการเผชิญหน้าทางการ เมืองดังได้กล่าวแล้วนั้น เป็นหนทางของการสร้างความชอบธรรมให้แก่การยึดอำนาจที่เกิดขึ้นด้วย เพราะจนบัดนี้ก็ไม่มีความชัดเจนว่า ถ้าไม่มีรัฐประหาร 2549 แล้ว จะเกิดการปะทะของฝูงชน ระหว่างผู้ชุมนุมสนับสนุนรัฐบาลกับผู้ต่อต้านรัฐบาลหรือไม่ หรือในอีกด้านหนึ่งของปัญหาก็คือ สังคมไทยก็อาจจะต้องเรียนรู้การจัดการกับการเรียกร้องทางการเมืองที่นำไปสู่ ความรุนแรง มิใช่ว่าการจัดการกับปัญหาเช่นนี้จะต้องใช้การยึดอำนาจของทหารเป็นการแก้ ปัญหาเสมอไป เพราะหากเราไม่สร้างกระบวนการเรียนรู้ในการจัดการกับปัญหาเช่นนี้แล้ว กองทัพก็จะถูกชนชั้นกลางในเมืองเรียกร้องให้ออกมาทำหน้าที่ “สลายฝูงชน” ในระดับย่อย หรือทำการ “ล้อมปราบ” ในระดับใหญ่อยู่เรื่อยไป และเมื่อออกมาแล้วก็ย่อมนำไปสู่การยึดอำนาจได้


ดังนั้นคงไม่ผิดอะไรนักที่จะสรุปว่า สังคมไทยหลังพฤษภาคม 2535 ขาดทั้งกระบวนการจัดความสัมพันธ์พลเรือน – ทหาร และขาดยุทธศาสตร์ประชาธิปไตยต่อกองทัพ ขณะเดียวกันก็ขาดองค์กรในการจัดการกับความขัดแย้งที่อาจจะนำไปสู่การเผชิญ หน้าและ/ หรือความรุนแรงในสังคมไทย


ผลของความขาดแคลนเช่นนี้ทำให้ในที่ สุดแล้วความสำเร็จของรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 อาจจะไม่ใช่เรื่องที่น่าฉงนแต่อย่างใด...ความน่าฉงนในอีกด้านหนึ่งอยู่ตรง ที่ว่า กลุ่มคนที่เคยมีบทบาทในการคัดค้านรัฐประหารในปี 2534 และมีส่วนร่วมในการต่อสู้กับความพยายามในการฟื้นอำนาจของกลุ่มทหารในปี 2535 กลับเป็นผู้ที่มีบทบาทอย่างแข็งขันในการสนับสนุนการรัฐประหารในปี 2549 จนบางคนต่อสู้อย่างสุดจิตสุดใจในการเป็น “ทนายแก้ต่าง” ให้กับรัฐประหารที่เกิดขึ้น ปัญหาการเปลี่ยน “จุดยืน” ทางการเมืองของพลังประชาธิปไตย 2535 บางส่วนนั้น ทำให้เกิดคำถามอย่างมากกับกลุ่มพลังที่จะเป็นฐานและขับเคลื่อนของการต่อสู้ เพื่อประชาธิปไตยไทยในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของสื่อ ปัญญาชน และชนชั้นกลาง

เหตุการณ์รัฐประหาร 19 ก.ย.49


ลักษณะของปรากฏการณ์เช่นนี้อาจจะทำ ให้บางคนคิดง่ายๆ ด้วยการกล่าวโทษทุกอย่างไปที่อดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร โดยโยนว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นล้วนมาจากกลุ่มอำนาจเก่า หรือกลุ่มที่ใกล้ชิดกับ พ.ต.ท. ทักษิณ ทั้งสิ้น เรื่องราวเช่นนี้ก็ไม่แปลกอะไร เพราะหลังการรัฐประหารแล้ว “การไล่ล่า” กลุ่มทักษิณ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกรูปแบบ ซึ่งก็คงเปรียบเทียบได้กับคำพูดที่อธิบายสิ่งที่ชนชั้นนำและกลุ่มอำนาจหลัง กันยายน 2549 ดำเนินการว่าเสมือน “การเผาบ้านเพียงเพื่อจับหนูตัวเดียว” และปัญหาที่แย่ก็คือ บ้านก็ไหม้จนหมด หนูก็จับไม่ได้...แล้วเราก็ก้าวข้ามไม่พ้นทักษิณสักที !


เรื่องราวเช่นนี้บอกแก่เราอย่างเดียวว่า อิทธิฤทธิ์ของรัฐประหารนั้นเอาเข้าจริงๆ แล้ว อาจจะใช้อะไรไม่ได้ผลมากนักเหมือนอย่างเช่นในอดีต เพราะในยุคก่อน เมื่อเกิดการยึดอำนาจแล้ว ดูเหมือนว่าปัญหาความขัดแย้งต่างๆ อาจจะยุติลงโดยปริยาย ไม่ว่าจะเป็นการที่นักการเมืองฝ่ายตรงข้ามยอมยุติบทบาทของตนเอง แล้วรอให้ระบบการเมืองเปิดใหม่อีกครั้ง พวกเขาจึงหวนกลับสู่เวทีการต่อสู้ใหม่ รัฐ ประหารในวันเก่าจึงเป็นเสมือน “ยาแรง” ที่ใช้แก้ปัญหาอาการ “ไม่ลงตัว” ในทางการเมือง โดยการ “ล้างไพ่” หรือ “ล้มกระดาน” เพื่อหวังว่า การเริ่มต้นใหม่ภายใต้การควบคุมของทหารจะนำมาซึ่งเสถียรภาพทางการเมืองอีก ครั้ง


หากแต่หลังจากรัฐประหาร 2549 นักการเมืองฝ่ายตรงข้ามกลับไม่ถอยหนีกลับไปนั่งรอการเลือกตั้งที่จังหวัดของ ตนเอง และในขณะเดียวกัน กลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร ก็ไม่ได้เก็บตัวอยู่เฉยๆ เพื่อรอให้การเมืองเปิดได้หวนคืน หากแต่เพียงระยะสั้นๆ หลังจากรัฐประหารสิ้นสุดลงนั้น กลุ่มต่อต้านรัฐประหารก็เปิดเวทีการเคลื่อนไหวทันที และที่น่าสนใจก็คือ กลุ่มต่อต้านรัฐประหารขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งนานวัน แนวร่วมของพวกเขาก็ยิ่งมีมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การขยายฐานแนวร่วมในชนบท จนอาจกล่าวได้ว่า พื้นที่ชนบทวันนี้กลายเป็นฐานที่มั่นของการต่อต้านการยึดอำนาจของทหาร และขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่ที่มีการเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างเด่นชัดมาก ขึ้น จนเกิดภาพลักษณ์เชิงเปรียบเทียบในปัจจุบันว่า คนในเมืองพร้อมที่จะยอมรับ “ระบอบอำนาจนิยม” แต่คนในชนบทกลับร้องหา “ระบอบเสรีนิยม” ที่ต้องการเห็นการเลือกตั้ง และการสร้างความเป็นธรรมในรูปแบบต่างๆ ตลอดรวมถึงการกระจายการใช้และการตอบแทนทรัพยากร


แต่สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่สถานการณ์ในยุคสงครามคอมมิวนิสต์ ที่ชนบทเป็นฐานที่มั่นของ พคท. หากแต่ผลของกระบวนการเมืองก่อนและหลังรัฐประหาร 2549 ได้สร้าง “จิตสำนึกใหม่” ให้แก่ผู้คนจำนวนมากในชนบท ที่พวกเขาตระหนักมากขึ้นถึงพลังทางการเมืองของตนเอง


แน่นอนว่าสำหรับคนในเมืองแล้ว บทบาทของคนชนบทถูกตีความว่าเป็นการ “ถูกซื้อ” จากนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม การเคลื่อนไหวของพวกเขาจึงเป็นเพียงการต่อ “ท่อน้ำเลี้ยง” ของฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น เพราะฉะนั้นหากท่อดังกล่าวถูกตัดแล้ว การเคลื่อนไหวเหล่านี้ก็น่าจะหยุดลงไปโดยปริยาย ในมุมมองของคนในเมืองแล้ว เป็นไปไม่ได้เลยที่คนชนบทจะเกิด “จิตสำนึกทางการเมือง” ขึ้น ถ้าไม่ใช่เพราะการได้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ ซึ่งก็ไม่ต่างกับยุคสงครามคอมมิวนิสต์ ที่การต่อสู้ของคนชนบทถูกมองว่าเป็นเพียงผลของการปลุกระดมจาก พคท. โดยละเลยที่จะมองถึงปัญหาโครงสร้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความไม่เป็นธรรมในชนบท เรื่องราวเหล่านี้ทำให้เกิดช่องว่างอย่างมากระหว่างคนในเมืองและคนในชนบท


ในอีกด้านหนึ่ง รัฐประหารให้ผลตอบแทนอย่างมากกับบรรดาผู้นำทหาร เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การยึดอำนาจมีผลโดยตรงต่อการขยายบทบาทของทหารในการเมืองไทยทั้งในเชิงสถาบัน และเชิงตัวบุคคล (เห็นได้ชัดเจนว่าหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 บทบาทของทหารลดลงอย่างมากในทางการเมือง) ซึ่งการขยายบทบาทเช่นนี้ ยังขยายไปถึงเรื่องการจัดทำงบประมาณทหารและการจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์ เพราะก่อนรัฐประหารจะเกิดขึ้นนั้น การจัดซื้ออาวุธของทหารมีความจำกัดอย่างมาก กระบวนการจัดซื้อจัดหาไม่มีความ “สะดวกและคล่องตัว” เช่นในปัจจุบัน


แม้อาวุธที่จัดซื้อหลายอย่างจะมีปัญหาในระยะต่อมา ไม่ว่าจะเป็นเครื่องตรวจวัตถุระเบิดแบบจีที – 200 เรือเหาะ หรือรถเกราะล้อยาง ซึ่งการจัดซื้อทั้ง 3 รายการล้วนแต่เป็นปัญหาในปัจจุบันทั้งสิ้น หรือแม้แต่กรณีการจัดซื้อเครื่องบินรบแบบกริพเพนจากสวีเดน ก็มีข้อวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากเช่นกัน


แต่ก็จะเห็นได้ว่าผลจากการขยายบทบาทของทหารเช่นนี้ ทำให้การตรวจสอบในเรื่องของการจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์ไม่อาจเกิดขึ้นได้ใน ระบอบการเมืองปัจจุบัน หรือกล่าวในบริบทของการบริหารประเทศก็คือ ระบบตรวจสอบทั้งในระดับสังคมหรือในส่วนของรัฐสภากลายเป็นกลไกที่ไม่มี ประสิทธิภาพ การตัดสินใจซื้ออาวุธของกองทัพจึงกลายเป็นสิ่งที่ได้รับการค้ำประกันด้วยตัว เองโดยผู้นำทหารและไม่จำเป็นต้องมีการตรวจสอบ ซึ่งเครื่องจีที – 200 เป็นตัวอย่างที่ดีในกรณีนี้ เพราะจนบัดนี้ก็ยังไม่มีใครเป็นผู้รับผิดชอบ (ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย) ประเด็นเช่นนี้ให้คำตอบอย่างสำคัญในอนาคตว่า การปฏิรูปกองทัพไทยจะต้องปฏิรูประบบจัดซื้อจัดหาของทหาร และจะต้องไม่ปล่อยให้การจัดซื้อจัดหากลายเป็นการแสวงหาประโยชน์ของผู้นำกอง ทัพและผู้นำการเมือง


การสูญเสียระบบตรวจสอบในบริบททางสังคมและการเมืองที่เกิดขึ้นยังส่ง ผลให้องค์กรอิสระต่างๆ กลายเป็น “องค์กรไร้อิสระ” ที่ทำหน้าที่เป็นเพียงกลไกการเมืองอีกส่วนหนึ่งของกลุ่มชนชั้นนำที่ใช้ในการ แทรกแซงทางการเมือง แต่ผลประการสำคัญที่กลายเป็นความผิดหวังของนักออกแบบโครงสร้างในรัฐธรรมนูญ 2540 ก็คือ องค์กรเหล่านี้ถูกทำให้หมดสภาพและหมดความน่าเชื่อถือไปด้วยตัวเอง จนกลายเป็นความกังวลว่า องค์กรเหล่านี้จะอยู่อย่างไรกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เว้นเสียแต่พวกเขาเชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่จะไม่เกิดขึ้นในอนาคต ไม่ว่าในระยะใกล้หรือระยะไกลก็ตาม


ผลของรัฐประหารที่ไม่สามารถควบคุมและ จัดการกับความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้นั้น ทำให้เกิดความจำเป็นในการต้องพึ่งพากระบวนการตุลาการในการต่อสู้ที่เกิดขึ้น คงปฏิเสธไม่ได้ว่า 4 ปีที่ผ่านมามีการวิพากษ์วิจารณ์คำตัดสินต่างๆ อย่างมาก จนทำให้เกิดความรู้สึกโดยทั่วไปว่า กระบวนการตุลาการภิวัตน์ก็คือการทำให้เป็น “สองมาตรฐาน” สิ่งที่ผลสืบเนื่องก็คือ คำตัดสินในทางกฎหมายถูกลดทอนความน่าเชื่อถือลง จนก่อให้เกิดความกังวลกับอนาคตของกระบวนการยุติธรรมไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ ได้






นอกจากนี้ ในระยะ 4 ปีหลังรัฐประหาร เห็นได้ชัดเจนถึงท่าทีของกลุ่มชนชั้นกลางในเมืองและกลุ่มชนชั้นนำ ที่พวกเขาพร้อมที่จะยอมรับทุกอย่างเพื่อป้องกันการขยายบทบาทของชนชั้นล่าง ที่ในวันนี้ถูกทดแทนด้วยภาพของการต่อสู้ทางการเมืองของ “คนเสื้อแดง” ด้วยฐานคติที่มองว่าคนในชนบทหรือคนชั้นล่างเหล่านี้ไม่ได้เคลื่อนไหวได้ด้วย ตัวเอง แต่เป็นการ “จัดตั้ง” ของฝ่ายต่อต้านทหาร – ต่อต้านรัฐบาล – ต่อต้านชนชั้นนำ จึงทำให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกว่าการปราบปรามชนชั้นล่างเป็นความชอบธรรมในตัว เอง และขณะเดียวกันพวกเขาก็พร้อมที่จะอยู่ในระบอบการเมืองที่มีกองทัพเป็นเสา หลัก


สภาพเช่นนี้ทำให้ 4 ปีที่ผ่านมาเป็นความแนบแน่นของความเป็นพันธมิตรระหว่างชนชั้นกลาง ชนชั้นนำ และผู้นำทหาร อันก่อให้เกิดปรากฏการณ์ที่หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า ชนชั้นกลางในเมืองของไทยได้ออก “ใบอนุญาตฆ่า” ให้แก่ทหารเพื่อสลายการชุมนุมของชนชั้นล่าง ภายใต้ทัศนคติว่า คนเหล่านั้นกำลังก่อความวุ่นวายในเมืองหลวง และกำลังทำลาย “ชีวิตอันน่ารื่นรมย์” ของคนเมืองหลวง !


ผลที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าก็คือ ผู้นำทหารอาจจะรู้สึกว่ามีความชอบธรรมในการล้อมปราบที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นช่วงเมษายน 2552 เมษายน – พฤษภาคม 2553 ก็ตาม จนทำให้ปัญหาการต่อสู้กับระบอบอำนาจนิยมในปี 2516- 2519 และ 2535 กลายเป็นเรื่องราวที่ถูกลบเลือนไปจากความทรงจำทางการเมืองของสังคมไทย จนการเฉลิมฉลองวาระดังกล่าวกลายเป็น “งานพิธีกรรม” ที่สาระสำคัญของการต่อสู้ที่เคยเกิดขึ้นไม่ได้สร้างผลสะเทือนกับสถานการณ์ ปัจจุบันแต่ย่างใด

แน่นอนว่าผลต่างๆ ที่เกิดขึ้นทำให้เห็นได้ว่าการบริหารจัดการอนาคตสังคมการเมืองไทยคงไม่ใช่ เรื่องง่ายๆ อีกต่อไป ทฤษฎีของชนชั้นนำและผู้นำทหารที่เชื่อว่ากองทัพคือกลไกหลักของการควบคุมการ เมือง และหากควบคุมไม่ได้ก็ใช้การยึดอำนาจเป็นทางออกนั้น อาจจะเป็นประเด็นที่จะต้องขบคิดด้วยความมีสติเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากรัฐประหารกลายเป็น “ยาเก่า” ที่ออกฤทธิ์ได้ไม่เต็มที่แล้ว ผู้นำทหารและชนชั้นนำยังจะใช้ยาขนานนี้อีกหรือไม่


ผลกับกองทัพอย่างมีนัยสำคัญจาก 4 ปีที่ผ่านมาก็คือ โอกาสของการสร้างความเป็น “ทหารอาชีพ” ของกองทัพไทย ก็เป็นความยุ่งยากอีกประการหนึ่ง เพราะในสถานการณ์ที่กองทัพขยายบทบาททางการเมืองอย่างมากเช่นนี้ กระบวนการสร้างความเป็นทหารอาชีพไทยจะเกิดขึ้นได้อย่างไร หรืออย่างน้อยคำถามที่เป็นรูปธรรมจากกรณีนี้ก็คือ การลดบทบาททางการเมืองของทหารไทยจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ แล้วถ้าทหารไม่ยอมลดบทบาททางการเมืองแล้ว กองทัพจะคงบทบาทเช่นนี้ไปได้อีกนานเท่าใด และจะกระทบต่อความเป็นทหารอาชีพอย่างไรในอนาคต

นอกจากนี้เรื่องสำคัญที่คงจะต้องยอมรับก็คือ หลัง จากการรัฐประหารแล้ว กองทัพมีความแตกแยกภายในอย่างมาก ความเชื่อของผู้นำทหารในยุคนั้นมองว่า เอกภาพของทหารสร้างได้ด้วยการพึ่งพาคนในกลุ่มที่ตนเชื่อใจเท่านั้น ผลที่เห็นชัดเจนก็คือ การกำเนิดของ “บูรพาพยัคฆ์” ในการเมืองไทย ตลอดรวมถึงการฟื้นแนวคิดเรื่อง “รุ่น” ที่อาศัยรุ่นของผู้นำกองทัพเป็นฐาน เช่น กรณี จปร. 23 หรือเตรียมทหาร รุ่น 12 สภาพเช่นนี้ส่งผลให้การขึ้นสู่ตำแหน่งหลักที่สำคัญภายในกองทัพถูกพิจารณาจาก มิติทางการเมืองและความเป็นรุ่น มากกว่าจะขยายฐานในแนวกว้าง ความแตกแยกซึ่งโยงกับการผูกพันทางการเมืองเช่นนี้ ทำให้โอกาสของการปฏิรูปกองทัพในระยะสั้นเป็นไปได้ด้วยความลำบาก เช่นเดียวกับการสร้างทหารอาชีพในกองทัพไทย

แต่สิ่งสำคัญที่สุดหลังจากรัฐประหาร 2549 ก็คือ ความแตกแยกขนาดใหญ่ของสังคมไทย และเป็นความแตกแยกที่ช่องว่างถูกขยายมากขึ้น จนหลายๆ ฝ่ายเกิดความกังวลว่า ปัญหาเช่นนี้ในที่สุดอาจจะต้องลงเอยด้วยความรุนแรงทางการเมืองขนาดใหญ่ใน อนาคตหรือไม่

เรื่องราวเช่นนี้ให้คำตอบแต่เพียงประการเดียวก็ คือ สังคมการเมืองไทยหลังรัฐประหาร 2549 ต้องเผชิญกับความไร้เสถียรภาพทางการเมืองอย่างยาวนาน จนแม้ในปัจจุบันก็ไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่า การสร้างเสถียรภาพในการเมืองไทยจะเกิดขึ้นได้อย่างไรในอนาคต และใครจะเข้ามาทำหน้าที่เช่นนี้ ซึ่งอาจจะต้องยอมรับว่าไม่ใช่ต้องทำให้การเมือง “นิ่ง” เพราะการเมืองไม่เคยนิ่ง หากแต่ต้องทำให้กระบวนการทางการเมืองสามารถแก้ปัญหาได้ภายในระบอบรัฐสภา และสร้างเสถียรภาพของความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองให้ได้

อย่างไรก็ตามในด้านบวกอาจจะต้องยอมรับว่า รัฐประหาร 2549 ได้ทำให้การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยขยายตัวสู่กลุ่มชนต่างๆ ในสังคมไทยอย่างไม่เคยมีมาก่อน ประเด็นนี้จึงเป็นสิ่งที่ต้อง “ขอบคุณ” ผู้นำทหาร คมช. อย่างยิ่ง !