กระแสเรื่องการปรองดองที่กระฉูดขึ้นมา
หลังจากนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ออกมาแถลงยื่นข้อเสนอแนวทางปรองดอง 5 ข้อต่อทางรัฐบาล
สำทับด้วย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ออกมาประกาศหนุนแนวทางปรองดองอย่างเต็มที่
พร้อมทั้งส่งสัญญาณผ่านทวิตเตอร์กระจายข่าวไปถึงบรรดาเครือข่าย ให้หันมาสนับสนุนแนวทางปรองดองในบ้านเมืองอย่างเต็มที่
ตามด้วยการสั่งการให้ปรับโครงสร้างพรรคเพื่อไทย เพื่อให้สอดรับกับแนวทางปรองดองที่จุดพลุขึ้นมา
ถือว่าเป็นประเด็นความเคลื่อนไหวที่สร้างความสนใจให้กับสังคมเป็นอย่างยิ่ง
เพราะทำให้ผู้คนเริ่มมีความหวังว่า ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อมานาน มีหนทางที่จะยุติลงได้
ฝันไกลไปถึงขั้นที่ว่า ความสงบสุขในบ้านเมืองกำลังจะหวนกลับคืนมา
แต่ขณะเดียวกัน ก็ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า เหตุใดพ.ต.ท.ทักษิณ และพรรคเพื่อไทย จึงเปลี่ยนท่าทีหันมาเดินแนวทางปรองดองอย่างฉับพลัน
ทั้ง ที่ก่อนหน้านั้น เป็นฝ่ายเดินเกมสนับสนุนให้แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ แห่งชาติ (นปช.) ปลุกระดมคนเสื้อแดงออกมาชุมนุมขับไล่รัฐบาล
จนเป็นชนวนเหตุให้เกิดความรุนแรงและความสูญเสียครั้งใหญ่
และเมื่อเหตุการณ์คลี่คลายลง แม้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ออกมาประกาศแผนปรองดองแห่งชาติ
เรียกร้องให้ทุกฝ่ายเข้าร่วมแนวทางปรองดองสมานฉันท์ เพื่อยุติปัญหาความขัดแย้ง นำพาบ้านเมืองกลับสู่ความสงบสุข
แต่ก็ไม่มีการขานรับออกมาจาก "ทักษิณ" และพรรคเพื่อไทย
แถม ยังนำเหตุการณ์ความรุนแรงจากการปะทะกันของฝ่ายทหารกับกองกำลังติดอาวุธที่ แฝงอยู่ในม็อบเสื้อแดงไปขยายแผลขยายผลทั้งในและต่างประเทศ
เพิ่มดีกรีความเกลียดชังระหว่างประชาชนกับฝ่ายถืออำนาจรัฐให้ขยายตัวมากยิ่งขึ้น
แต่จู่ๆก็มีรายการหักมุมจุดพลุแนวทางปรองดองออกมา จน ส.ส.ในพรรคเพื่อไทยและแกนนำ นปช.ตั้งตัวกันไม่ทัน
"ทีมข่าวการเมืองไทยรัฐ" ได้ติดตามสถานการณ์การเมืองว่าด้วยเรื่องการเสนอแนวทางปรองดองมาอย่างใกล้ชิด
เราขอชี้ว่า การที่ พ.ต.ท.ทักษิณต้องตัดสินใจกลับลำหันมาสนับสนุนแนวทางปรองดองในครั้งนี้ มีปัจจัยเกี่ยวข้องอย่างน้อย 4 ประการ
ประการแรก คือ นักการเมือง
ทั้งนี้หลังจากเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง อันเนื่องมาจากการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง
เป็นชนวนให้เกิดความรุนแรง มีผู้คนบาดเจ็บล้มตาย เกิดจลาจลเผาบ้านเผาเมือง
ผู้ คนจำนวนมากทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ ได้รับความเดือดร้อนกันถ้วนหน้า ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และภาพพจน์ของประเทศ
ทำให้สังคมเกิดความเอือมระอาและเบื่อหน่ายพวกนักการเมืองที่เป็นต้นเหตุของความขัดแย้ง
โดย เฉพาะ ส.ส.ของพรรคเพื่อไทยที่แสดงตัวแสดงตนชัดเจนในการปลุกระดมนำคนเสื้อแดงเข้ามา ชุมนุมยึดย่านธุรกิจใจกลางเมืองหลวง จนเหตุการณ์ลุกลามบานปลาย เกิดเหตุรุนแรงและความสูญเสียครั้งใหญ่
กระแสสังคมกดดัน ทำให้นักการเมืองในพรรคเพื่อไทยบางส่วนเริ่มรู้สึกว่า เมื่อเข้ามาเป็น ส.ส.มีหน้าที่หลักในการดูแลพี่น้องประชาชนในพื้นที่
ทำไมต้องไปต่อสู้กับฝ่ายความมั่นคง หรือฝ่ายที่ถืออำนาจรัฐ
ทำให้ ส.ส.บางคนเริ่มถอดใจ ถึงขั้นประกาศตัวย้ายพรรคกันเลย
ประการที่สอง คือ แนวร่วมนอกสภาฯ
ต้อง ยอมรับว่า ในการต่อสู้ที่ผ่านมาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้เน้นไปที่การใช้ฐานมวลชนคนเสื้อแดงในการกดดันรัฐบาลทุกรูปแบบ โดยมีการขับเคลื่อนแนวทางเคลื่อนไหวผ่านเครือข่ายแกนนำ นปช.
แต่ในขณะเดียวกัน กลุ่มเสื้อแดงก็แบ่งออกเป็นหลายกลุ่มย่อย มีแกนนำหลากหลาย บางกลุ่มก็เน้นแนวทางสันติ
แต่บางกลุ่มก็เน้นใช้วิธีการรุนแรง หรือที่เรียกว่า "สายฮาร์ดคอร์" รวมทั้งยังมีกลุ่มฝ่ายซ้ายที่มีพฤติการณ์โจมตีสถาบัน
เมื่อมีหลายกลุ่มหลายก๊วนเข้ามาอยู่ในขบวนการจึงทำให้ควบคุมกันได้ยาก
ที่ สำคัญ บางส่วนยังกระพือแนวทางใช้ความรุนแรง ทำให้ ภาพรวมของกลุ่มเสื้อแดงติดลบ ถูกมองว่าเป็นพวกป่วนเมือง สร้างความสูญเสียและความเดือดร้อนให้สังคม
อีกทั้งยังต้องเปลืองน้ำเลี้ยง และค่าใช้จ่ายในการเคลื่อนไหวมวลชนเป็นจำนวนมหาศาล
ประการที่สาม คือ กลุ่มทุน
ใน การต่อสู้ของ พ.ต.ท.ทักษิณในห้วงที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นการขับเคลื่อนฐานมวลชนนอกสภาฯ หรือการดูแลเครือข่ายพรรคเพื่อไทย จำเป็นต้องมีเงินทุนสนับสนุน
แม้ พ.ต.ท.ทักษิณจะถูกศาลสั่งยึดทรัพย์ แต่ก็เป็นที่รู้กันว่าเขายังมีเงินทุนอยู่ในต่างประเทศอีกมหาศาล
แต่อย่างไรก็ตาม ในการส่งผ่านเงินทุนสนับสนุนการเคลื่อนไหวของแกนนำกลุ่มเสื้อแดงและเครือข่ายพรรคเพื่อไทย ไม่ได้ทำกันง่ายๆ
เพราะถูกจับตาจากฝ่ายที่กุมอำนาจรัฐอย่างเข้มงวด
ในช่วงที่ผ่านมาจึงต้องใช้วิธีการต่อท่อน้ำเลี้ยงจากกลุ่มทุนต่างๆที่เคยสนับสนุนเอื้อประโยชน์กันมา ในลักษณะสำรองจ่ายล่วงหน้า
เพื่อให้เครือข่ายใช้ในการเดินงานต่างๆ ตามยุทธศาสตร์ การต่อสู้ทั้งบนดินและใต้ดิน
ใน ขณะที่กลุ่มทุนที่ยอมเป็นท่อน้ำเลี้ยงให้ในช่วงแรกๆ ก็เพราะยังมีความหวังว่า "ทักษิณ" และพรรคเพื่อไทยจะกลับมากุมอำนาจรัฐได้อีกครั้ง
แต่ผ่านมา 4 ปีแล้ว ยังไม่มีวี่แววว่าจะได้กลับมา
เหนืออื่นใด หลังเกิดเหตุการณ์วิกฤติม็อบเสื้อแดง ฝ่ายที่กุมอำนาจรัฐได้แจ้งข้อหาดำเนินคดีก่อการร้ายกับบรรดาแกนนำม็อบ
ใน ขณะที่ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ได้สั่งการให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตรวจสอบกลุ่มบริษัทเอกชนและบุคคลที่ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ให้การสนับสนุนด้าน การเงินแก่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ
พร้อมทั้งสั่งจับตาเส้นทางการเงินของกลุ่มบุคคลเหล่านี้ อย่างเข้มข้น
บล็อกหัวจ่ายท่อน้ำเลี้ยง จนถอดใจกันเป็นแถว
ประการที่สี่ คือ เวทีนานาชาติ
ในการต่อสู้ที่ผ่านมาของ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นที่ชัดเจนมาตลอดว่า มีความพยายามที่จะใช้เวทีนานาชาติ หรือเวทีโลกล้อมประเทศไทย
มีการแถลงโจมตีว่าไม่เป็นประชาธิปไตย กระบวนการยุติธรรมสองมาตรฐาน
รวม ไปถึงการจ้างล็อบบี้ยิสต์ และทนายความชาวต่างประเทศ เดินเกมล็อบบี้ให้ประเทศมหาอำนาจประณามรัฐบาลไทยใช้ความรุนแรงในช่วงวิกฤติ ม็อบเสื้อแดง รวมทั้งตั้งแท่นฟ้องศาลอาญาระหว่างประเทศให้ดำเนินคดีกับนายกฯอภิสิทธิ์
แต่ก็จุดไม่ติด แถมสุดท้ายสภาฯสหรัฐอเมริกา มีมติสนับสนุนแผนปรองดองของรัฐบาลไทย
ปัจจัยเหล่านี้ ถือเป็นจุดหักเหสำคัญที่ทำให้ "ทักษิณ" ต้องเปลี่ยนยุทธศาสตร์ หันมาประกาศแนวทางปรองดอง
ทำให้เกิดอาการงงกันไปทั้งประเทศ โดยเฉพาะแกนนำ นปช. แนวร่วมมวลชนเสื้อแดง ไม่เว้นแม้แต่ ส.ส.ในพรรคเพื่อไทยเอง
ปรับตัวปรับบทบาทกันแทบไม่ทัน
อย่างไรก็ตาม การเดินหน้าแนวทางปรองดองของ "ทักษิณ" แค่เริ่มต้นเท่านั้นก็มีอาการสะดุดให้เห็น
โดย เฉพาะในการปรับโครงสร้างพรรคที่ผ่านมาหมาดๆ หลังจากให้นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ลาออกจากหัวหน้าพรรค พร้อมมีการวางตัว พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ อดีตรองนายกฯและ รมว.มหาดไทย เข้ามาเสียบแทน เพราะมีภาพเด่นเรื่องความจงรักภักดี
แต่ มีการต่อต้านจาก ส.ส.บางกลุ่มในพรรค จนสุดท้าย พ.ต.ท.ทักษิณต้องกลับมาใช้บริการนายยงยุทธให้กลับเข้ามารับตำแหน่งหัวหน้า พรรคอีกครั้ง
ทำให้แนวทางการปรองดองที่วางไว้สวยหรู ชะงักไปด้วย
ปรากฏการณ์ตรงนี้ เป็นการสะท้อนว่า กระบวนการต่อสู้ของ "ทักษิณ" ในห้วง 4 ปีที่ผ่านมา มันลงลึกไปมาก
จนเครือข่ายแนวร่วมต่างๆ ยากที่จะปรับตัวได้แบบกะทันหัน
เหนือ อื่นใด ในห้วงจังหวะของการเคลื่อนไหวต่อสู้ของ "ทักษิณ" ที่มีแกนนำ นปช. แกนนำกลุ่มเสื้อแดงก๊กต่างๆ รวมถึง ส.ส.ในพรรคเพื่อไทย เป็นตัวขับเคลื่อนภารกิจต่างๆ ทั้งงานมวลชนนอกสภาฯ และงานในสภาฯ
ต่างก็ได้ผลประโยชน์จากการเคลื่อนไหวดังกล่าวกันไปเต็มไม้เต็มมือ
หากมีการปรองดองเกิดขึ้น ย่อมต้องมีคนเสียผลประโยชน์ ในส่วนนี้ไป
อาการระส่ำระสายและความสลับซับซ้อนในการเดินหน้าแนวทางปรองดองของ "ทักษิณ" และพรรคเพื่อไทย จึงผุดขึ้นมา
พวกแข็งขืนต้องมีแน่นอน
โดยเฉพาะพวกที่ต้องสูญเสียสิ่งที่เคยได้ผลประโยชน์จากการต่อสู้ของ "ทักษิณ" ไม่ยินยอมพร้อมใจแน่
ขณะที่แกนนำกลุ่มก๊วนต่างๆในพรรคที่รอใช้ฐานมวลชนและฐานทุนของ "ทักษิณ" ก้าวขึ้นสู่อำนาจรัฐ ก็ไม่แฮปปี้เช่นกัน
ส่วน แกนนำที่คุมฐานมวลชนก็อย่างที่เห็น ยังเดินหน้าเคลื่อนไหวไม่หยุด พยายามเร้าสถานการณ์ในห้วงครบรอบ 4 ปีรัฐประหาร 19 กันยายน อย่างเข้มข้น ไม่สนเรื่องการปรองดอง
ท่ามกลางบรรยากาศที่หลายฝ่ายมองว่าการเมืองกำลังเข้าสู่โหมดของการเลือกตั้งที่อาจจะมีขึ้นในช่วงต้นปีหรือกลางปีหน้า
แต่เรามองว่า ถ้าขั้วการเมืองยังเผชิญหน้ากันอยู่ ไม่สามารถแตะมือปรองดองกันได้
สถานการณ์หมิ่นเหม่ล่อแหลมเกิดเหตุรุนแรง กระทบต่อ ความมั่นคง
ระวังนักการเมืองอาจถูกดองเสียเอง.
"ทีมการเมือง"