ที่มา Thai E-News
บทรายงานในวอชิงตันโพสต์ โดยเดนิส เกรย์ ตั้งข้อสังเกตเรื่องการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่คนต่างจังหวัดเข้าล้อมกรุงตั้ง "หมู่บ้าน" ใช้ชีวิตกันในที่ชุมนุม สะท้อนว่าประเทศไทยกำลังมีการตื่นตัวทางการเมืองครั้งสำคัญ ที่อาจทำให้ไทยไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
"ชาวนาตั้ง 'หมู่บ้าน' แห่งการประท้วงในกรุงเทพฯ"
มักจะมีผู้กล่าวว่าชะตากรรมทางการเมืองของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการรัฐประหารหรือเรื่องรัฐธรรมนูญ จะถูกตัดสินโดยชนชั้นนำในกรุงเทพฯ ขณะที่มวลชนในต่างจังหวัดได้แต่คอยยืนอยู่ข้างทาง ส่งเสียงเชียร์ โห่ไล่ หรือหาวหวอด ๆ
มาจนกระทั่งถึงขณะนี้ที่ชนบทได้รุกคืบเข้ามาสู่เมือง ทั้งในความหมายโดยนัยและความหมายโดยตรง จากการที่มีผู้ชุมนุมหลายพันกล้ารุกเข้ามาถึงเมืองใหญ่ ประเทศไทยก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
ชาวชนบทผู้ยากจนในไทย แบกความโกรธเข้ามาถึงเมืองกรุง เพื่อมาทำให้ชนชั้นนำในกรุงเทพฯ ต้องรู้สึกยุ่งเหยิง โดยมาพร้อมกับความหยาบกร้านและความเป็นบ้านนอกล้อมเมือง
4 สัปดาห์มาแล้ว ที่กลุ่มเสื้อแดงจำนวนมากรวมกลุ่มกันคล้ายประชาคม (commune) 'หมู่บ้านทางการเมือง' ที่พวกเขาสร้างขึ้นภายใต้เงาของตึกระฟ้าและอาคารหรูของกรุงเทพฯ พวกเขาหุงหาอาหารให้กันและกัน มีการบรรเลงดนตรี แสดงน้ำจิตน้ำใจและแบ่งปันความทุกข์ยาก
การประท้วงใหญ่นี้จะจบลงอย่างไร ผู้ชุมนุมจะสลายตัวหรือรัฐบาลจะยุบสภา ยังคงเป็นเรื่องต้องคาดเดาอยู่ แต่ก็เป็นที่เข้าใจกันในวงกว้างว่า ชาวชนบทซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจชาติ จะไม่ยอมรับสถานะพลเมืองชั้นสองอีกต่อไป พวกเขาจะไม่ก้มหัวให้กับผู้ที่อ้างตนว่าเหนือกว่าในระบอบชนชั้นแบบอนุรักษ์นิยมอีกต่อไป
"แม้ว่าการเคลื่อนไหวจะถูกสลาย แต่ประเทศไทยก็จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ความตื่นตัวทางการเมืองและความหวงแหนสิทธิมีมากขึ้นเรื่อย ๆ จนยากจะวัด มันไม่ง่ายเลยที่จะยับยั้งความต้องการเสรีภาพและความเป็นธรรม" ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร อาจารย์รัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าว
ในเบื้องต้นตอนนี้ กลุ่ม นปช. หรือเสื้อแดง ต้องการขับไล่พรรคประชาธิปัตย์ที่เข้าสู่อำนาจโดยการรัฐประหารที่ทำให้อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ต้องออกจากตำแหน่ง
ทักษิณผู้ซึ่งมีข้อหาคอร์รัปชั่นและการใช้อำนาจอย่างมิชอบ ยังคงเป็นที่นิยมในหมู่ผู้ชุมนุม จากการที่ทักษิณมีนโยบายช่วยเหลือคนจนในช่วงที่เป็นนายกฯ อยู่ 6 ปี นโยบาย 30 บาทรักษาทักโรคและนโยบายบรรเทาหนี้ รวมถึงการเยี่ยมชาวนาอยู่เนืองๆ ทำให้เกิดความคาดหวังและการขับเคลื่อนในหมู่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในต่างจังหวัด
ในตอนนี้ทักษิณอยู่ต่างประเทศ ก็มีคนบอกว่าเขาเป็นผู้ต่อท่อน้ำเลี้ยงที่ทำให้เสื้อแดงเคลื่อนไหว โดยจำนวนผู้ชุมนุมถือว่ามากกว่าหลักแสนแล้ว
แต่พวกเขาก็ดูจะไปไกลกว่าการเคลื่อนไหวเพื่อทักษิณ มีบางคนในเสื้อแดงที่มองว่าทักษิณจะส่งผลร้ายในระยะยาวด้วยซ้ำ จากการที่เขาใช้วิธีการทุจริตและพยายามล้มองค์กรอิสระ
ทางด้านตัว นปช. เองก็ไม่ได้วางแนวทางทางการเมืองไว้ล่วงหน้า แต่เสียงจากสมาชิกก็ชัดเจนพอแล้ว พวกเขาต้องการลดช่องว่างรายได้ระหว่างในเมืองและในชนบท ต้องการให้เมืองหลวงหยุดสูบทรัพยากรไปเพื่อบำเรอเพียงชาวกรุง และเพื่อต้องการได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม ซึ่งกฏหมายของเมืองไทยมักจะเล่นงานแต่คนจน ขณะที่ลูกของผู้มีอำนาจหลุดรอดจากคดีฆาตกรรมไปได้
ชาวเมืองกรุง มักจะแสดงความรู้สึกไม่ดีหรือมีอคติต่อชาวนาตัวคล้ำ โดยเฉพาะที่มาจากภาคอีสาน ภาคที่ยากแค้นที่สุดในเมืองไทย บ้างก็เรียกพวกเขาเป็นวัวเป็นควาย บอกว่าพวกเขาเข้ามาชุมนุมในกรุงเทพฯ เพราะถูกจ้างมาเท่านั้น
"มันน่าตลกที่มีคนเห็นว่าเราโง่ ถ้าหากพวกคุณมาจากภาคอีสาน คนจะคิดว่าพวกคุณมาที่นี่เพราะเงินเท่านั้น" ธนานันท์ พรหมมา คนขายกาแฟในที่ชุมนุมประท้วงกล่าว
"ผมต้องการให้ลูก ๆ สองคนมีอนาคตที่ดีกว่านี้" คนขายกาแฟที่เข้าร่วมประท้วงด้วยกล่าวต่อ มีผู้ลูกค้าและคนรอบข้างพยักหน้าพร้อมเพรียงกัน บางคนบอกอีกว่าพวกเขาต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบากที่นี่ เป็นสิ่งที่พิสูจนือย่างดีว่าพวกเขามีใจให้กับการเรียกร้องอย่างจริงจัง
"พวกเรากินนอนและอาศัยอยู่ตามทางเท้า พื้นคอนกรีตทำให้ปวดหลัง แต่ผมก็เชื่อในประชาธิปไตย ทำให้ผมมาที่นี่" เฉลิมพร ธนาทัก กล่าว เขาเป็นคนขายผลไม้อายุ 58 ปี
ผู้ประท้วงบางรายก็นอนอยู่บนเสื้อไม้ไผ่หรือในเต็นท์ ท่ามกลางแสดงแดดแรงจ้า ใช้น้ำจากท่อดับเพลิงอาบน้ำให้ลูกและล้างผัก มีห้องน้ำทำขึ้นอย่างง่าย ๆ จากพลาสติก
ในช่วงเย็น มีบรรยากาศแบบงานรื่นเริงตามหมู่บ้าน มีเพลงพื้นบ้านและอาหารอีสาน อย่างส้มตำ ไก่ย่าง และข้าวเหนียว
พวกเขานำพจนานุกรมมาปัดฝุ่นใหม่ โดยเอาคำที่ใช้ตั้งแต่ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาใช้ แกนนำเรียกการต่อสู้ในครั้งนี้ว่าเป็นการต่อสู้ระหว่าง "ไพร่" กับ "อำมาตย์" หรือก็คือคนธรรมดาสู้กับชนชั้นนำผู้มีอำนาจ "สงครามชนชั้น" เป็นคำขวัญในการชุมนุมและเดินขบวนซึ่งมาจนถึงตอนนี้ยังดำเนินไปอย่างสงบ
วิลเลี่ยม คลอสเนอร์ นักวิชาการสหรัฐฯ ผู้ศึกษาเรื่องชีวิตชนบทไทยมากว่าครึ่งศตวรรษ บอกว่าประเทศไทยไม่ได้มีการต่อสู้ทางชนชั้นอย่างจริงจังมาก่อน จากการที่ในอดีตการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงจะมาจากเบื้องบน
การต่อสู้ก่อนหน้านี้ของชาวรากหญ้า คือการต่อสู้ระหว่างเจ้าหน้าที่ทุจริตและไม่เป็นธรรม
"แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปอย่างมากในตอนนี้ คือการที่ชาวบ้านไม่ได้ไร้การศึกษาอีกต่อไป พวกเขาไม่ได้แยกส่วนกันต่อสู้และที่สำคัญคือไม่ได้ถูกยุยงให้เผชิญหน้าโดยตรงเพื่อแก้ปัญหาความเจ็บปวดของพวกเขา" คลอสเนอร์กล่าว
เขาบอกอีกว่า โทรทัศน์, วิทยุชุมชน, โทรศัพท์มือถือ, อินเตอร์เน็ต, การเดินทาง และการประสานงานของนักกิจกรรมในต่างจังหวัด ทำให้ชาวนาผู้เป็นเบี้ยล่างไม่มีอีกต่อไป
มีหลายคนที่มีทัศนะกว้างไกลขึ้นเมื่อได้ไปทำงานต่างประเทศ เช่น "ธนานันท์" บอกว่าเขาประทับใจการรวมตัวกันของชาวนาเกาหลีใต้ ที่ต่อสู้กับรัฐบาลให้ยกเลิกการนำเข้าเนื้อวัวของสหรัฐฯ
"รัฐบาลไม่สามารถเพิกเฉย หรือใช้แค่ลมปากในการลดดวามไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ, สังคม การเมือง และทำให้เกิดความเป็นธรรมอีกต่อไป" คลอสเนอร์กล่าว "ไม่ว่ารัฐบาลใดก็ตามจะอยู่ในอำนาจ พวกเขาก็ต้องจัดการกับสังคมที่มีรากฐานของการแบ่งแยกและความไม่เท่าเทียม"