ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Friday, 10 August 2012

ASEAN Weekly: ผุดเมืองใหม่กลางทะเลจีนใต้

ที่มา ประชาไท

 



ASEAN Weekly ตอนผุดเมืองใหม่กลางทะเลจีนใต้ (คลิกที่นี่เพื่อรับชมแบบ HD)
ASEAN Weekly ดำเนินรายการโดยสุลักษณ์ หลำอุบล และดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ช่วงแรก ติดตาม บทสัมภาษณ์อ่อง เถ่ง ลิน ส.ส.พรรครัฐบาลพม่า ออกสื่อจีน "เซาท์เทิร์นไชน่า" วิจารณ์พรรคฝ่ายค้านและ "ออง ซาน ซูจี" แหลกจนถูกผู้สนับสนุนฝ่ายค้านล่ารายชื่อขับ แม้พรรครัฐบาลจะชี้แจงว่าเป็นคำให้สัมภาษณ์ส่วนบุคคลไม่เกี่ยวกับพรรค แต่เรื่องนี้ก็แสดงให้เห็นว่าฝ่ายรัฐบาลพม่าไม่ได้มีแต่ "ขั้วปฏิรูป" ที่นำโดยเต็ง เส่งอย่างเดียว แต่ยังมี "ขั้วอนุรักษ์นิยม" ที่ยังคงสืบต่ออำนาจมาจากคณะรัฐบาลทหารเดิม และนับวันรอยปริแยกระหว่างสองขั้วจะยิ่งเห็นเด่นชัดขึ้น
ขณะที่เวียดนาม มีข่าวเศร้าเมื่อแม่ของบล็อกเกอร์คนหนึ่งเผาตัวตายประท้วง เนื่องจากกังวลที่ลูกกำลังจะถูกรัฐบาลดำเนินคดีฐานต่อต้านอำนาจรัฐ ขณะที่งานศพถูกจัดขึ้นท่ามกลางการสังเกตการณ์เข้มจากเจ้าหน้าที่รัฐบาล มีการเช็คว่ามีนักกิจกรรมคนไหนมาร่วมงานบ้าง อย่างไรก็ตามยังมีข่าวดีอยู่บ้างเมื่อกลุ่มคนรักเพศเดียวกันหรือ LGBT และผู้สนับสนุนสามารถรวมตัวกันปั่นจักรยานจัดรณรงค์ "เกย์ไพรด์" ได้เป็นครั้งแรก ขณะที่กฎหมายให้คนเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนสมรสได้กำลังเข้าสู่การพิจารณาของสภาเวียดนาม
ส่วนที่อินโดนีเซีย หลังการไต่สวนมากว่า 3 ปี คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนอินโดนีเซียเผยแพร่รายงานที่หนากว่า 800 หน้า สรุปเหตุการณ์ล่าสังหารสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย (PKI) ในช่วงที่ซูฮาร์โตปกครองประเทศ จนมีผู้เสียชีวิตหลายแสนคน นับเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง โดยมีการยื่นเรื่องให้อัยการพิจารณาว่าจะดำเนินคดีผู้สั่งการที่ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่
สำหรับช่วงที่สอง พาสำรวจจังหวัดใหม่ "ซานชา" ของจีน ซึ่งตั้งขึ้นช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อเป็นศูนย์กลางบริหารหมู่เกาะ และพื้นที่ในทะเลจีนใต้ทั้งหมดขึ้นต่อมณฑลไหหนานของจีน ในขณะที่ในพื้นที่ทะเลจีนใต้ ยังมีการพิพาทระหว่างจีน และฟิลิปปินส์ เวียดนาม และอีกหลายชาติในอาเซียน
โดยการตั้งจังหวัดใหม่ของจีน ดุลยภาคให้ความเห็นว่าถือเป็นการหยั่งอิทธิพลลงไปในกลางทะเลจีนใต้ เพื่อตอบโต้รัฐที่ตั้งอยู่รายรอบซึ่งมีข้อพิพาทกันเรื่องการครอบครองทะเลจีนใต้ นอกจากนี้ยังเป็นการผนวกเชิงสัญลักษณ์ โดยนอกจากตั้งถิ่นฐาน การตั้งสิ่งอำนวยความสะดวกทางเศรษฐกิจ และการทหารแล้ว การผนวกการปกครองเกาะในทะเลจีนใต้ให้เป็นจังหวัดหนึ่งของจีน ยังเป็นความพยายามทำให้เรื่องพิพาทในทะเลจีนใต้กลายเป็นกิจการภายใน ขณะที่ในบริเวณดังกล่าวกินพื้นที่เกินชายฝั่งทะเลของจีนไปมาก อย่างไรก็ตามการตัดสินใจดังกล่าว เป็นการตัดสินใจทางการทูตและการทหารที่เสี่ยงเพราะเป็นการสะบั้นความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศอาเซียนโดยเฉพาะกับเวียดนามและฟิลิปปินส์ และจีนอาจต้องเผชิญการที่มหาอำนาจโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาเข้ามาหนุนหลังชาติที่พิพาทกับจีนในทะเลจีนใต้
นอกจากนี้ ทิศทางที่จีนกำลังปรับหลักนิยมทางการทหารใหม่ โดยกองทัพบกจีนเปลี่ยนจากการป้องกันประเทศเป็นพื้นที่มาเป็นสามารถป้องกันประเทศได้ครอบคลุมทั้งหมด กองทัพเรือจากกองเรือชายฝั่งเปลี่ยนเป็นกองเรือที่เดินเรือในทะเลลึกได้มากขึ้น และกองทัพอากาศที่สามารถส่งไปรบนอกชายฝั่งได้ไกลมากขึ้นนั้น เป็นการตอบสมการที่สะท้อนว่าจีนต้องการขยายอำนาจออกสู่ทะเลจีนใต้

(หมายเหตุ: ที่มาของภาพประกอบหน้าแรก Xinhua)