ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Friday, 10 August 2012

เปิดเอกสาร(ลับ)หน่วยเจรจาเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป กับ 5 ประเด็นต้องจับตา

ที่มา ประชาไท

 
การดำเนินการจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีไทย (เอฟทีเอ) ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ที่เคลื่อนตัวอย่างช้าๆ และเงียบงัน กลับมาเป็นประเด็นสาธารณะอีกครั้งเมื่อนางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยว่าภายในเดือนสิงหาคมนี้จะนำกรอบการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู เสนอให้รัฐสภาพิจารณาเห็นชอบตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ
การขยับธงรุกของหน่วยงานดังกล่าวส่งผลให้องค์กรภาคประชาสังคม นักวิชาการที่ติดตามศึกษาผลกระทบต่างของการทำเอฟทีเอ ตลอดจนกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ที่ต้องการให้การทำเอฟทีเอเกิดความโปร่งใส รอบคอบ รัดกุมรวมถึงมีการรับฟังความเห็นอย่างเปิดกว้างจากทุกภาคส่วน ต่างออกมาทักท้วงถึงท่าทีและกระบวนการเจรจาการค้าระหว่างของหน่วยงานรับผิด ชอบหลักอย่างกระทรวงพาณิชย์และรัฐบาลไทยว่าจงใจละเลยการปฏิบัติตามมาตรา 190 ไม่ว่าจะเป็นด้านเปิดเผยข้อมูลกรอบการเจรจา และการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา
ขณะเดียวกันก็จุดประเด็นสาธารณะนำเสนอข้อห่วงกังวลอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเด็นข้อเรียกร้องด้านทรัพย์สินทางปัญญาของสหภาพยุโรปที่จะส่งผล กระทบต่อการเข้าถึงยาจำเป็นของประชาชน หรือผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนและสังคมจากการลดภาษีนำเข้าเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์และบุหรี่ เป็นต้น
ย้อนรอย เอฟทีเอไทย-อียู ชื่อใหม่ใจความเดิม
สำหรับ เส้นทางเดินของเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรปนั้นต้องย้อนรอยกลับไปราวพ.ศ.2550 เวลานั้นประชาคมอาเซียนและสหภาพยุโรปเริ่มมีความพยายามเจรจาความตกลงการค้า เสรีระหว่างกัน แต่กระนั้นด้วยเหตุแห่งความเห็นที่ต่างกันในเรื่องการเปิดตลาดของทั้งสอง ฝ่าย รวมถึงระดับการพัฒนาที่ยังแตกต่างกันมากของทั้งภายในประเทศสมาชิกของอาเซียน ด้วยกัน และระหว่างกลุ่มอาเซียนกับสหภาพยุโรป ต่อมาสหภาพยุโรปจึงพักการเจรจากับอาเซียน แล้วเปลี่ยนแนวทางการเจรจามาเป็นแบบทวิภาคีในปี 2553 โดยหันมาเริ่มการเจรจากับประเทศที่มีความพร้อม ได้แก่ สิงคโปร์ เวียดนาม และไทย (ปัจจุบันสหภาพยุโรปอยู่ระหว่างการเจรจาเอฟทีเอกับประเทศสมาชิกในอาเซียน ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม และไทย รวมถึงอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ที่เป็นฝ่ายพยายามขอเจรจาเอฟทีเอกับสหภาพ ยุโรป)
เอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป ฝ่ายสหภาพยุโรปมีความต้องการให้มีการเปิดเสรีด้านการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน และการแลกเปลี่ยนสิทธิประโยชน์ระหว่างกันในระดับสูง ซึ่งสูงกว่าระดับที่ไทยเปิดเสรีภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asean Economic Community:AEC) และยังสูงกว่ากรอบการค้าเสรีของไทยกับประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะด้านบริการ นอกจากนี้สหภาพยุโรปยังกำหนดให้คู่เจรจาร่วมจัดทำขอบเขตของการเจรจา Scoping exercise กำหนดเป้าหมายการเปิดเสรีระหว่างกันเพื่อลดความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจทำให้การเจรจาล้มเหลว แม้ว่าตัว Scoping exercise จะไม่อยู่ในเงื่อนไขที่ต้องลงนาม หรือมีสถานะทางกฎหมาย แต่ก็ถือเป็นการแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองของรัฐต่อรัฐ
ขณะที่ฝ่ายไทยก็ต้องการเจรจาเอฟทีเอกับสหภาพยุโรปเช่นกัน เนื่องจากสภาพยุโรปเป็นคู่ค้าสำคัญ เป็นตลาดส่งออกอันดับสามที่รองรับสินค้าได้แก่ กุ้ง ไก่ อาหารแปรรูป อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ไฟฟ้า อีกทั้งการลงทุนในประเทศไทยมาจากสหภาพยุโรปสูงเป็นอันดับสองรองจากญี่ปุ่น และประเด็นที่ถูกเน้นย้ำให้ความสำคัญที่สุดจากกระทรวงพาณิชย์ คือ การคาดการณ์ว่าไทยอาจถูกสหภาพยุโรปตัดสิทธิพิเศษทางการค้า (GSP) ทุกรายการทั้งหมดภายในปี 2557-2558 ซึ่งจะกระทบโดยตรงกับการส่งออก เครื่องปรับอากาศ รถยนต์ขนส่ง รองเท้า กุ้งสดแช่เย็น ถุงมือยาง ยางรถยนต์ เป็นต้น
ทั้งหมดจึงคือปัจจัยผลักและดันให้เกิดการเจรจาคืบหน้าไปตามลำดับ แต่เมื่อพิจารณาสัจธรรมของการทำเอฟทีเอ นั่นคือการได้อะไรบางอย่างมา และการยอมเสียสละอะไรบางอย่างไป คำถามสำคัญที่ยังลอยคว้างซ้ำซากวนเวียนอยู่ในสังคมนี้คือ การร่วมรับรู้ และใครจะเป็นผู้ตัดสิน?
ท่ามกลางความมืดมัวของภาวะการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร และการมีส่วนร่วมสาธารณะ ยังมีนักวิชาการกลุ่มหนึ่งที่รวมตัวกันจัดทำโครงการการประเมินผลกระทบทาง สุขภาพ : กรณีศึกษาผลกระทบจากข้อตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรปต่อการเข้าถึงยา ภายใต้ความร่วมมือและสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พยายามวิเคราะห์เนื้อหาของร่างความตกลงอาเซียน-สหภาพยุโรป ในหมวดทรัพย์สินทางปัญญา ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิบัตรยา เพื่อเสนอขอบเขตการประเมินผลกระทบจากข้อตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรปต่อการ เข้าถึงยา และเปิดให้ประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นภายในวันที่ 15 ส.ค.นี้ (ผู้สนใจสามารถเข้าไปโหลด(ร่าง)รายงานและแบบฟอร์มร่วมแสดงความคิดเห็นได้ที่ เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยทั้งไทยและเทศนับ 4 ชิ้นที่ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบในทางลบอย่างมหาศาลต่อระบบสาธารณสุขหากมีการยอม รับ TRIPs-plus ตามที่สหภาพยุโรปเรียกร้องมา (ประเด็นนี้จะนำเสนออย่างละเอียดในงานลำดับต่อไป)
เอฟทีเอแบบไทยๆ ใครตัดสิน ได้-เสีย
อย่างไรก็ดีหากย้อนไปพิจารณาข้อห่วงความกังวล และข้อเสนอแนะจากการรับฟังความคิดเห็นของทุกเมื่อครั้งในปี 2553 ที่รัฐบาลอภิสิทธิ์มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์เปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็น เบื้องต้นของประชาชนทุกภาคส่วนเพื่อประกอบการตัดสินใจจะเดินหน้าเปิดการ เจรจากับสหภาพยุโรปหรือไม่นั้น กลับพบว่าข้อเสนอเหล่านี้ไม่เคยถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาจากหน่วยงานผู้รับผิด ชอบเจรจาแต่อย่างใด อาทิ
- ภาคประชาสังคมยืนยันว่าสินค้าที่มีผลกระทบทางสังคมสูง เช่น ยา สุรา และบุหรี่ ต้องไม่นำเข้าสู่การเจรจาเปิดเสรี ในขณะที่ภาคธุรกิจเห็นว่า ต้องเจรจาในเรื่องนี้อย่างรอบคอบเพราะเป็นสินค้าที่มีประเด็นทางสังคม และเนื่องจากผู้ประกอบการของไทยมีทั้งกลุ่มที่ได้รับประโยชน์ และเสียผลประโยชน์จากการเปิดเสรีทางการค้า
- ระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาต้องไม่เกินไปกว่าที่ผูกพันไว้ในความตกลง ขององค์การการค้าโลกว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า คือไม่ยอมรับ TRIPs plus นั่นเอง
- ไม่สนับสนุนเปิดเสรีการลงทุนที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ (ที่ดิน น้ำ ป่าไม้ เหมืองแร่ และพันธุ์พืช) รวมทั้งที่เกี่ยวกับภาคการเกษตร (การทำนา ธุรกิจพืช และเมล็ดพันธุ์) และที่เกี่ยวกับบริการสาธารณสุข และไม่สมควรให้มีการใช้กระบวนการอนุญาโตตุลาการในการระงับข้อพิพาทระหว่าง รัฐกับเอกชนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับนโยบายสาธารณะด้านสิ่งแวดล้อม และสังคม
- การเปิดเสรีบริการ และการลงทุนที่สามารถส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศ อาทิ บริการสาขาโทรคมนาคม และ การสื่อสาร การเจรจาสินค้าเกษตรต้องคำนึงถึงความหลากหลายทางการผลิต และบริโภคภายในประเทศ และสวัสดิการของเกษตรกรรายย่อยเป็นสำคัญ โดยต้องไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารในประเทศไทย
- มาตรการกีดกัน และอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษีทั้งที่เป็นกฎเกณฑ์กลาง และที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศสมาชิกที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออก และการเปิดตลาด เช่น มาตรฐานสินค้า มาตรฐานสุขอนามัย และกฏระเบียบด้านการบริการ และการลงทุน
- กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าควรสอดคล้องกับโครงสร้างการผลิตสินค้าของไทยให้มากที่สุด
- ขอให้มีความร่วมมือ และช่วยเหลือในด้านต่างๆ เช่น วิชาการ เศรษฐกิจ แรงงาน และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการเสริมสร้างขีดความสามารถของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม และเกษตรกร
ข้อกังวลของประชาชน ประชาสังคม ทั้งหมดเหล่านี้ยังยากที่จะหาจุดพบกันกับความพยายามผลักดันขับเคลื่อนใน หน่วยงานเจรจา เช่นเดียวกับการจัดทำเอฟทีเอทุกฉบับที่ผ่านมาของไทย!
จากเอกสารร่างระเบียบวาระการประชุมระดับสูงเพื่อพิจารณาเตรียมการเปิดการ เจรจา ความตกลงการค้าเสรีของไทย ณ ทำเนียบรัฐบาล ลงวันที่ 9 ส.ค. 2555 ซึ่งแหล่งข่าวในกระทรวงพาณิชย์รายหนึ่งได้นำมาเปิดเผยนั้นฉายภาพ สะท้อนวิธีคิด และท่าทีของหน่วยงานเจรจา หรือผู้มีอำนาจตัดสินใจได้อย่างชัดเจน
เนื้อหาในวาระที่ 3 ของร่างระเบียบวาระการประชุมระดับสูงชิ้นนี้ ระบุถึงวาระพิจารณาซึ่งได้กำหนดให้หยิบยกประเด็นที่มีความอ่อนไหวในการเจรจา การค้าเสรีระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป โดยแบ่งเป็น 5 ประเด็นได้แก่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ ทรัพย์สินทางปัญญา การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ นโยบายการแข่งขันทางการค้า และการเปิดตลาดสินค้าบริการ โดยนำเสนอภูมิหลัง ท่าทีของทั้งฝ่ายสหภาพยุโรป ฝ่ายไทย แล้วตามด้วย ความคิดเห็นของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (ฝ่ายเลขานุการ) แม้เอกสารชิ้นนี้จะไม่มีมติของที่ประชุมกำกับ แต่ลำพังความเห็นของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ก็เพียงพอจะสะท้อนเรื่องราวภายในผู้มีส่วนในการวางกรอบการเจรจาพอสมควร ซึ่งสาระสำคัญของทั้ง 5 ประเด็นมีรายละเอียดดังนี้
ล้วงไส้ ส่องเครื่องในกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
หนึ่ง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ ระบุว่าภาคประชาสังคมเรียกร้องไม่ให้รวมสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และ บุหรี่ในการเจรจาการค้าเสรี อีกทั้งครม.ยังมีมติเมื่อเดือนก.ค.2553 เห็นชอบต่อยุทธศาสตร์ของสมัชชาสุขภาพเพื่อสนับสนุนการถอนสินค้าเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ออกจากทุกความตกลง ขณะที่สหภาพยุโรปจัดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถือเป็นเป้าหมายสำคัญของการเจรจา และเน้นย้ำว่านโยบายการยกเว้นสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่จากการ เจรจาเป็นไปเพื่อการปกป้องผู้ผลิตภายในประเทศ
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ให้ความเห็นว่า ไทยนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากสหภาพยุโรปถึงร้อยละ83.4 ของการนำเข้าจากทั่วโลก ฉะนั้นสหภาพยุโรปซึ่งเรียกร้องให้มีการลดภาษีเป็นศูนย์อย่างน้อยร้อยละ90 ของจำนวนสินค้าทั้งหมด จึงอาจไม่ยอมถอนสินค้าดังกล่าวจากการเจรจา ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องทบทวนมติครม.เมื่อเดือนก.ค.53 
สอง ภาคประชาสังคมและกระทรวงสาธารณสุขมีความกังวลการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และ การเข้าถึงยา โดยเฉพาะการขยายระยะเวลาคุ้มครองสิทธิบัตรยาที่อาจส่งผลต่อการเข้าถึงยาที่ จำเป็น เช่น ยารักษาโรคเอดส์ โรคหัวใจ และโรคติดต่ออื่นๆ ที่สำคัญยังไม่ต้องการให้ไทยทำข้อผูกพันในการค้าเสรีที่เกินความตกลงว่าด้วย ทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับการค้า(TRIPs)ขององค์การการค้าโลก หรือไม่ต้องการ TRIPs Plus ขณะที่สหภาพยุโรปต้องการคุ้มครองข้อมูลยา (Data exclusivity) อย่างน้อย 5 ปีนับจากวันที่ได้รับการอนุมัติการวางตลาด และเรียกร้องให้คู่เจรจาคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Gis) ที่ได้รับการคุ้มครองในสหภาพยุโรป
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ให้ความเห็นว่า ควรกำหนดให้ไทยมีท่าทีการเจรจาที่ยืดหยุ่น โดยอาจยอมรับข้อผูกพันที่มากกว่า TRIPs หรือยอมรับ TRIPs Plus ใน การจัดทำการค้าเสรีเนื่องจาก การคุ้มครองข้อมูลทดสอบยาเพิ่มเติม 5 ปีจะไม่มีผลกระทบต่อราคายาในปัจจุบัน และการคุ้มครองข้อมูลทดสอบยา อาจมีผลทำให้ยาสามัญ (Generic drugs) วางตลาดได้ช้าลงแต่ไม่เกิน 5 ปี จึงทำให้ผลกระทบต่อยามีจำกัด
สาม การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ กล่าวคือ หลักการสำคัญของความตกลงว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ (GPA) คือ การไม่เลือกปฏิบัติระหว่างสินค้าบริการ และผู้ให้บริการของประเทศภาคี กับสินค้า บริการ และผู้ให้บริการในต่างประเทศ ประกอบด้วย ความโปร่งใสในกระบวนการประมูล และขอบเขตของโครงการจัดซื้อจัดจ้างที่ต้องปฏิบัติตามพันธกรณี ต่อ ประเด็นนี้สหภาพยุโรปเรียกร้องให้มีพันธกรณีที่สอดคล้องกับความตกลง GPA โดยไม่เลือกปฏิบัติ และเรียกร้องให้พันธกรณีครอบคลุมการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐทั้งในส่วน กลาง ส่วนท้องถิ่นและรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะในสาขาสาธารณูปโภค อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาไทยยังไม่เคยเปิดตลาดการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐในการค้า เสรีที่ผ่านมาแต่สนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายและข้อ บังคับ นโยบาย และแนวทางปฏิบัติ และกรมบัญชีกลางยังอยู่ระหว่างการพิจารณาเข้าร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์ในคณะกรรมการ GPA ของ WTO
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ให้ความเห็นสนับสนุนให้ไทยปฏิบัติตามพันธกรณีความตกลง GPA เนื่องจากจะเป็นการขยายตลาดการค้าการลงทุนให้ผู้ประกอบการไทย ซึ่ง ส่วนใหญ่มีสัดส่วนการจัดซื้อจัดจ้างสูงถึงร้อยละ 15-20 ของGDP โดยเฉพาะสหภาพยุโรปที่มีการจัดซื้อจัดจ้างเป็นมูลค่าสูงถึง 2.08 พันล้านยูโรต่อปี หรือประมาณร้อยละ 17 ของGDP นอก จากนี้กฎระเบียบเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐที่ชดเจนและโปร่งใส ถือเป็นการส่งเสริมหลักธรรมาภิบาลในการบริหารภาครัฐ และลดปัญหาคอรัปชั่น
สี่ นโยบายการแข่งขันทางการค้า สหภาพยุโรปเรียกร้องการบังคับใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้าที่มีความโปร่งใส มีกระบวนการชัดเจน เป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้ครอบคลุมถึงรัฐวิสาหกิจที่อาจมีอำนาจครอบครองตลาด สำหรับข้อบทเรื่องนโยบายทางการค้ามีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการผูกขาดหรือ การบิดเบือนอำนาจตลาด ครอบคลุมผู้ประกอบการทั้งภาคเอกชน และรัฐวิสาหกิจ ในขณะที่พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้าของไทยอยู่ระหว่างการปรับแก้กฎหมายให้ครอบ คลุมรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทมหาชน หรือมีการแข่งขันกับเอกชนเท่านั้น
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ให้ความเห็นสนับสนุนให้ปรับปรุงกฎหมายและ/หรือ กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับนโยบายแข่งขันทางการค้าเพื่อให้ทันสมัย ส่งเสริมให้ไทยสามารถเข้าร่วมการเจรจาเอฟทีเอในยุคใหม่ต่อไปได้
ห้า การเปิดตลาดสินค้าบริการ ประเด็นนี้คือการลดข้อจำกัดในการถือหุ้นของคนต่างด้าว โดยที่ผ่านมาสาขาบริการสำคัญของไทยจะมีกฎหมายเฉพาะที่กำหนดเกณฑ์การถือหุ้น ของคนต่างด้าว เช่น ธนาคาร ร้อยละ 25 โทรคมนาคม ร้อยละ 49 โดยสำหรับสาขาบริการอื่นๆ ที่มีสัดส่วนการถือหุ้นเกินกึ่งหนึ่งต้องขออนุญาตก่อนการประกอบกิจการใน ประเทศไทย ต่อเรื่องนี้สหภาพยุโรปเรียกร้องให้มีการเปิดตลาดการค้า บริการให้ครอบคลุมสาขาบริการจำนวนมาก  ยกเลิกข้อจำกัดในการถือหุ้นของสหภาพยุโรป และเรียกร้องให้ยกเลิกอุปสรรคเชิงกฎระเบียบ ใบอนุญาตที่กีดกันการเข้าสู่ตลาดของสหภาพยุโรป
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ให้ความเห็นสนับสนุนให้ไทยสามารถเปิดเสรีภาคการค้าบริการได้เกินไปกว่ากรอบกฎหมายปัจจุบัน แต่ให้ดำเนินการไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป อย่างไรก็ดีควรผลักดันให้คู่เจรจายอมรับบทบัญญัติเพื่อให้ความยืดหยุ่นในการ รักษาสิทธิในการใช้มาตรการที่จำเป็นสำหรับรักษาเสถียรภาพทางการเงิน
ทั้งหมดคือสิ่งที่พบเห็นและเคลื่อนไหวอย่างเป็นลายลักษณ์ของหน่วยงานผู้ วางกรอบ การเจรจาเอฟทีเอของไทย ซึ่งทำให้สาระสำคัญของมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญไทย ที่ระบุว่า
"หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขต ซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมาย ระหว่างประเทศ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ในการนี้ รัฐสภาจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องดัง กล่าว
ก่อนการดำเนินการเพื่อทำหนังสือสัญญากับนานาประเทศหรือองค์การระหว่าง ประเทศตาม วรรคสองคณะรัฐมนตรีต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และต้องชี้แจงต่อรัฐสภาเกี่ยวกับหนังสือสัญญานั้น ในการนี้ ให้คณะรัฐมนตรีเสนอกรอบการเจรจาต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบด้วย"
เป็นข้อความที่เลือนลางลงไปทุกที.