บาง ทีคนทำสื่อหลายคน และเจ้าของสื่ออาจจะรู้ดีอยู่แล้ว แต่ไม่ยอมรับว่าได้ใช้สื่อเป็นเครื่องมือเพื่อประโยชน์ของกลุ่มตน หากกล่าวว่า เพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ แม้จะไม่แน่ชัดว่า หมายถึงใคร
โดย นิธินันท์ ยอแสงรัตน์
ที่มา เว็บไซต์ mediainsideout
ภาพประกอบ ไทยอีนิวส์ บทความดั้งเดิมชื่อ "โลกด้านใน"
การเกิดขึ้นของกลุ่ม Media Inside Out หรือ MIO
ไม่ใช่เรื่องใหม่และไม่ใช่เรื่องสั่นสะเทือนวงการสื่อ
เพราะเอ็มไอโอที่มีผู้เรียกให้ฟังดูรื่นเริงว่า "เมี้ยว" หรือ "เหมียว"
เหมือนเสียงร้องของแมวนั้น เป็นเพียงกลุ่มคนเล็กๆ ที่ประกอบด้วย
คนทำงานสื่อ ทั้งนักข่าว นักแปล นักเขียน
รวมถึงนักวิชาการด้านสื่อที่ไม่ได้มีอิทธิพลอันใด
นอกจากอาจจะคิดต่างไปบ้างกับคนทำงานในวงการสื่อปัจจุบัน
ที่ควรจะเป็นเรื่องปกติ
แม้แต่เสียง "เมี้ยว" นี้ หากแว่วไปถึงหูผู้ใดให้รู้สึกว่า อยากจะหยุดฟังบ้าง ก็ควรเป็นเรื่องปกติเช่นกัน
ประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งที่คนในวงการสื่อกลุ่มหนึ่งรวมถึงผู้เขียนเห็นว่า
คนในวงการสื่อกลุ่มใหญ่มองข้าม หมายความว่า
อาจจะเห็นแต่มองข้ามเพราะถือว่าไม่สำคัญก็คือ
ความเท่าทันสื่อหรือความเท่าทันตัวเองของคนทำสื่อเอง
ในความเป็นจริง
คนทำสื่อส่วนมากไม่ค่อยมีโอกาสย้อนกลับมาพิจารณาตัวเองมากนัก
เพราะเหตุจากงานประจำรายวัน เป็นงานที่เกี่ยวข้องกับความเร่งรีบ
ต้องแข่งกับเวลาอย่างแท้จริง เมื่อทำงานด้วยความเร่งรีบจนหมดชั่วโมงทำงาน
ถึงบ้านก็หมดแรง แทบไม่มีเวลาค้นคว้าหาความรู้ใดๆ เพิ่มเติม
ข้อมูลความรู้ต่างๆ
ที่ได้มาจึงมักไม่พ้นข้อมูลความรู้ที่ได้มาจากแหล่งข่าวหลัก
ในการสัมภาษณ์รายวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แหล่งข่าวที่เรียกกันว่า
แหล่งข่าวระดับสูง หรือผู้มีตำแหน่งแห่งที่ระดับสูงในวงการต่างๆ
สัมภาษณ์กันมากๆ บ่อยๆ คนทำสื่อก็อาจกลายเป็นคนสนิทของแหล่งข่าวนั้น
เป็นพีอาร์ประจำตัวของแหล่งข่าวนั้น
หรือเป็นผู้ปล่อยข่าวให้กับแหล่งข่าวนั้นๆ
ซึ่งถ้ามองด้วยทัศนะของคนทำสื่อหลายๆ คนในยุคปัจจุบันว่า
สื่อไม่จำเป็นต้องวางตัวเป็นกลาง นี่ก็มิใช่เรื่องผิดจริยธรรมในระดับคอขาด
แต่มันหมายความว่า คนทำสื่อนั้นๆ ควรต้องตระหนักว่า
ตนกำลังนำเสนอเรื่องใดในกรอบคิดหรือฐานคิดใดอยู่ และควรต้องตระหนักด้วยว่า
ฐานคิดของตน เป็นเพียงฐานคิดหนึ่งในหลายๆ ฐานคิดที่มีอยู่มากมายหลากหลาย
คนทำสื่อควรต้องตระหนักอย่างจริงจังว่า
มิได้มีความคิดที่ถูกต้องเพียงชุดเดียวในโลก
เรื่องของความคิดไม่ใช่เรื่องทางวิทยาศาสตร์เหมือนน้ำเดือดที่อุณหภูมิ ๑๐๐
องศาเซลเชียส แต่เป็นความคิดที่สัมพันธ์กับบริบทแวดล้อมต่างๆ ของผู้คิด
เช่น กระสอบข้าวสารหนักหนึ่งกิโลสำหรับชายฉกรรจ์ร่างกำยำหนักหกสิบกิโล
ย่อมไม่หนักในความคิดของเขา
แต่มันจะหนักมากสำหรับหญิงชราผู้มีน้ำหนักเพียงยี่สิบหกกิโลกรัม
และกำลังป่วยด้วยโรคปอดอักเสบ
ในทำนองเดียวกัน
นักการเมืองคนหนึ่งที่เลวมากเพราะคอรัปชั่นมากเหลือเกินในทัศนะของเรา
จึงอาจเป็นนักการเมืองหรือผู้แทนที่ดีของคนอีกกลุ่มได้
เพราะเขาทำให้คนอีกกลุ่มมีชีวิตที่ดีขึ้นในทัศนะของคนกลุ่มนั้น
ซึ่งไม่ได้แปลว่า คนกลุ่มนั้น ถูกซื้อตัว หรือยอมรับคอรัปชั่น
โดยเฉพาะเมื่อคนกลุ่มนั้นตั้งคำถามกลับไปเหมือนกันว่า
แล้วสิ่งที่พวกท่านทำไม่ต่างกันเลย จะ เรียกว่า คอรัปชั่น
หรือผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่
อันที่จริง ความเข้าใจว่า เรื่องแต่ละเรื่องมีคำอธิบายได้หลายชุด
เป็นความรู้ระดับพื้นฐานมากใน โลกสากล
แต่ดูเหมือนจะยังเป็นเรื่องชวนงงในสังคมไทย
โดยเฉพาะสังคมสื่อไทยที่มุ่งมั่นในการทำหน้าที่หมาเฝ้าบ้าน
และส่องตะเกียงเพื่อ "หาคนผิดคนเดียวนั้นให้พบ"
ซึ่งอาจเป็นความเคยชินที่ได้รับการปลูกฝังมาจากประวัติศาสตร์การต่อสู้ของ
สื่อไทยในยุคเผด็จการทหารเต็มรูปแบบ ก็ได้
ผู้เขียนไม่คิดว่า คนทำสื่อไทยเป็นคนเลวหรือ โง่
แต่อยากจะตั้งข้อสงสัยว่า บางที
อาจเป็นความไม่รู้เท่าทันตัวเองและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
เนื่องจากไม่มีเวลาศึกษา และบ้างก็ไม่ให้คุณค่าการศึกษาเท่าการปฏิบัติ
เพราะติดกับดักความเชื่อว่า การศึกษาทำให้คนอยู่บนหอคอยงาช้าง
ทำงานไม่เป็น
คนทำสื่อจำนวนหนึ่งจึงไม่เห็นโครงสร้างสังคมที่ซับซ้อนกว่าวันวานจริงๆ
เพราะ มีเพียงความรู้ชุดเดิมเกี่ยวกับสภาพสังคมและการต่อสู้เพื่อเสรีภาพ
ซึ่งส่งผ่านกันมาตั้งแต่ยุคเผด็จการเมื่อหลายทศวรรษก่อน
ประจักษ์พยานเกี่ยวกับเรื่องนี้ เช่น กรณีที่สื่อมักอ้างว่า
ทำเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่
โดยขาดความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับความหมายของประชาชน เช่น มิได้ตระหนักว่า
ประชาชนมีหลายกลุ่มหลายเหล่า และเอาเข้าจริงๆ
แล้วสื่อก็อาจมิได้กำลังรับใช้ประชาชนส่วนใหญ่เท่ากับรับใช้ผลประโยชน์
ประชาชนกลุ่มของตัวเอง ซึ่งมิใช่เรื่องผิดปกติ หรือสมควรประณามหยามเหยียด
เพราะประชาชนทุกกลุ่มต่างก็ต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของตน
และเพราะการเมืองก็คือเรื่องของการต่อรองผลประโยชน์ มิใช่การปฏิบัติธรรม
แต่มันหมายความว่า สื่อควรรู้เท่าทันตัวเองตรงนี้ด้วย
หรือบางทีคนทำสื่อหลายคน และเจ้าของสื่ออาจจะรู้ดีอยู่แล้ว
แต่ไม่ยอมรับว่าได้ใช้สื่อเป็นเครื่องมือเพื่อประโยชน์ของกลุ่มตน
หากกล่าวว่า เพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ แม้จะไม่แน่ชัดว่า หมายถึงใคร
หลายคนกล่าวว่า
สังคมไทยแตกแยกหาทางลงไม่ได้อย่างทุกวันนี้เป็นเพราะการยั่วยุของสื่อ
ผู้เขียนไม่เห็นด้วยและไม่ขอประณามสื่อว่า เป็นต้นเหตุ
เพราะเป็นการสรุปที่ง่ายเกินไป แต่ก็มีความเห็นว่า
สื่อเป็นตัวละครสำคัญในเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้น
ซึ่งเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้กลุ่ม MIO ถือกำเนิด
น่าสนใจที่จะพิจารณาว่า
สื่อมีบทบาทอย่างไรกับความขัดแย้งในสังคมไทยปัจจุบัน
ซึ่งความจริงเป็นเรื่องปกติของสังคมโลก แต่เป็นเรื่องใหม่สำหรับสังคมไทย
น่าสนใจว่า สื่อกำลังจัดวางวาระใดให้กับสังคม ทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนา
เพื่อโน้มนำสังคมไปสู่สังคมประชาธิปไตยอย่างราบรื่น
หรือเพื่อโน้มนำสังคมให้ยึดติดในขนบเดิม หรือสื่อไม่ได้ทำอะไรเลย
นอกจากทำธุรกิจของสื่อเพื่อประโยชน์ของสื่อเท่านั้น ?
สื่อสนับสนุนให้ผู้บริโภคมีหลักคิดใดที่มากกว่าความเชื่อและอารมณ์หรือไม่
สื่อใช้เครื่องมือใด อย่างไรในการโน้มน้าวสังคม
การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีสื่อมีผลต่อการทำงานของสื่ออย่างไร
สื่อยังคงสามารถชี้นำสังคมได้ไหม จะชี้นำไปสู่ทิศทางใด
และสัมพันธ์กับสื่อต่างๆ ในโลกอย่างไร
ประเด็นเหล่านี้น่าสนใจ แต่บางทีคนทำสื่อหลายคนอาจไม่ทันได้คิด เพราะงานอันเร่งรีบประจำวันไม่เปิดโอกาสให้ได้คิดมากนัก