Fri, 2012-07-13 15:49
วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ให้สัมภาษณ์วอยซ์ทีวี ชี้ตรรกะในคำวินิจฉัยขัดกันเอง ระบุเรื่องนี้ไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลแต่ต้น เพราะเป็นการใช้อำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภา
(แฟ้มภาพ: ประชาไท)
13 ก.ค. 55 หลังจากการอ่านคำตัดสินของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
วอยซ์ทีวีได้ทำการสัมภาษณ์อาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หนึ่งในคณะนิติราษฎร์
ต่อประเด็นการตัดสินของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญโดย อ.วรเจตน์ ชี้ว่าตรรกะในคำวินิจฉันขัดกันเอง โดยระบุว่ามีความเห็นแต่แรกแล้วว่าเรื่องนี้ไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลแต่ต้น เพราะนี่เป็นการใช้อำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภา
“ไม่ต้องพูดเรื่องต้องผ่านอัยการหรือไม่ เพราะเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการใช้สิทธิเสรีภาพ แต่เป็นการใช้อำนาจการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญจะทำได้”
“เพราะไม่เช่นนั้น ต่อจากนี้ไป หากองค์กรของรัฐทำอะไรก็ตาม ก็จะมีคนไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ตลอดเวลา เป็นเรื่องที่น่าจะขัดรัฐธรรมนูญ เองและไม่มีผลผูกพันองค์กรใดๆ ของรัฐ แต่ที่ผ่านมาฝ่ายรัฐสภาไม่ได้ยืนยันอำนาจของตัวเองในการลงประชามติผ่านวาระ สาม”
อ.วรเจตน์ ให้ความเห็นต่อไปว่า ในการวินิจฉัยว่าถ้าแก้ทั้งฉบับต้องลงประชามติก่อนนั้น ศาลพูดแต่เพียงว่า "ควรจะประชามติ" ก่อน เพราะศาลก็รู้ว่าไม่มีบทบัญญัติที่ไหนเลยที่บอกว่าถ้าจะร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ทังฉบับนั้นต้องลงประชามติ และแม้จะมีการยกร่างฯ ใหม่ ก็ต้องลงประชามติอยู่ดี และประชาชนก็จะมีโอกาสเปรียบเทียบรัฐธรรมนูญเก่า กับร่างฯ ใหม่แต่ถ้าประชามติไปถามเฉยๆ ว่าจะแก้หรือไม่นั้นไม่เกิดประโยชน์เสียงบประมาณเปล่าๆ นี่เป็นการยกขึ้นมาโดยศาลเองโดยไม่มีอำนาจ
ส่วนประเด็นสุดท้าย เรื่องการไม่ล้มล้างการปกครองฯ นั้น อ.วรเจตน์ ระบุว่าเหมือนกับศาลรัฐธรรมนูญ จะบอกว่าถ้าแก้ทั้งฉบับทำไม่ได้ ถ้าทำต้องแก้รายมาตรา ถ้าบอกว่าแก้ทั้งฉบับทำไม่ได้ แต่ศาลก็ไม่ได้บอกว่า แก้ทั้งฉบับเป็นการล้มล้างการปกครองหรือเปล่า ตรรกะของศาลเป็นปัญหาในตัวเอง