ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Saturday, 23 June 2012

"เจษฎ์-จาตุรนต์-พิชิต" กับมุมมองอดีตและอนาคต จาก "80 ปีประชาธิปไตย"

ที่มา ประชาไท

 
 
22 มิ.ย.55 วงเสวนา “อดีตและอนาคต จาก 80 ปีประชาธิปไตย” ในงานสัมมนาเรื่อง “จาก 100 ปี ร.ศ.130 ถึง 80 ปี ประชาธิปไตย” จัดโดย ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันนโยบายศึกษา โดยการสนับสนุนของมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ และนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ณ อาคารมหาจักรีสิรินธร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินรายการโดยเวียงรัตน์ เนติโพธิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
 
เจษฎ์ โทณะวณิก อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวว่า การมีประชาธิปไตยกับการมีรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องเดียวกัน เพราะไม่ว่าจะมีหรือไม่มีประชาธิปไตย ก็มีรัฐธรรมนูญได้ทั้งนั้น และรัฐธรรมนูญไม่ได้แสดงออกถึงความเป็นประชาธิปไตย โดยยกตัวอย่างว่ารัฐธรรมนูญของพม่านั้นดีกว่าของไทยเสียอีก และในจีน หรือรัสเซีย ต่างก็มีรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือในการปกครองรัฐ ดังนั้น ไม่ว่าประเทศระบอบใดก็มีรัฐธรรมนูญได้ และมักเขียนเรื่องต่างๆ ที่ใช้ปกครองบ้านเมืองในรัฐธรรมนูญ จึงมีความเชื่อมโยงระหว่างการปกครองและรัฐธรรมนูญขึ้น
 
เมื่อมองย้อนกลับไป เจษฎ์มองว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ของคนกลุ่มหนึ่งซึ่งเรียกตัวเองว่าคณะราษฎร์ถือเป็นการกบฏ แต่เมื่อรัฐประหารสำเร็จจึงเป็นการปฏิรูปและมีการเขียนรัฐธรรมนูญขึ้น เขาตั้งคำถามต่อประกาศของคณะราษฎรที่เขียนถึงความอดอยากยากแค้นของราษฎรเกิด จากรัชกาลที่ 7 ว่า ไม่รู้ว่าประกาศนั้นจริงเท็จประการใด รวมถึงส่วนที่กล่าวถึงบรรพบุรุษของกษัตริย์ว่าไม่ได้ทำอะไรเลยนั้นว่าจริง หรือไม่ โดยชี้ว่าการรบในอดีตนั้น ยากที่บรรพบุรุษของฝ่ายใดจะไม่ได้ทำอะไรเลย เพราะผู้นำและทหารจะต้องร่วมมือกัน 
 
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ กล่าวต่อว่า ดังนั้นจึงไม่สามารถตอบได้ทีเดียวว่าสิ่งที่ถูกกล่าวอ้างว่าเป็นที่มาของการ สถาปนาหรือเรียกร้องประชาธิปไตยเป็นเรื่องที่ถูกต้องนัก และเมื่อคณะราษฎรเริ่มต้นก่อการ ไม่ดี จึงยังกระพร่องกระแพร่งอยู่ทุกวันนี้ อย่างไรก็ตาม มองว่าแทบไม่มีประเทศไหนที่เริ่มต้นดี เพราะการล้มล้างกันไม่ว่าจะเริ่มด้วยคิดดีหรือไม่ ย่อมเป็นการเริ่มต้นที่ไม่ดี เพราะไม่ใช่สันติวิธี 
 
อย่างไรก็ตาม เขาเสนอทางออกต่อสถานการณ์ปัจจุบันว่า ต้องมีการพูดคุยกันว่า ปัญหาที่ผ่านมาคืออะไร รัฐธรรมนูญเป็นปัญหาอย่างไร และมีเนื้อหาที่ไม่สอดคล้องกับหลักนิติวิทยาศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สังคม อย่างไร รวมถึงปัญหาเชิงความเป็นประชาธิปไตย โดยพูดคุยในรูปแบบสานเสวนา ทั้งนี้ แนะว่าอย่าคิดว่าคนที่คิดต่างเป็นคนละพวก ต้องแยกจากเรื่องการทุจริต วงศ์ตระกูล สีเสื้อ หรือชาติพันธุ์ หากเอามารวมกันหมดจะไปไม่ถึงไหน โดยสิ่งที่ต้องตระหนักตลอดคือประชาธิปไตยต้องอดทน
 
 
นักการเมืองติดสินบน-รัฐบาลไร้เสถียรภาพ วิวาทะเก่า 100 ปี ใช้โต้ประชาธิปไตย 
 
จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย หนึ่งในสมาชิกบ้านเลขที่ 111 กล่าวว่า ก่อนที่จะมีเหตุการณ์ 2475 มีคนในสังคมไทยพยายามเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไป เป็นระบอบ limited monarchy ในเหตุการณ์ คณะ ร.ศ.130 (พ.ศ.2455) 
 
จากวิวาทะของคณะ ร.ศ.130 เสนอหลักการเสรีนิยม ความมีเหตุและผล ความเสมอภาค ส่วนวิวาทะของฝ่ายตรงข้ามคือเรื่องความริษยา มีการตอบโต้ว่าหากมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแล้วจะเกิดพวกนักการเมือง หรือในสมัยนั้นเรียกว่าโพลิทิเชียน (politician) เป็นผู้ที่ทำมาหากินทางการเมือง มีการเลือกตั้ง เกิดการล่อใจประชาชน ด้วยถ้อยคำ การเลี้ยงดู และติดสินบน นำมาสู่ความแตกแยก เกิดเป็นระบบพรรคการเมือง และเป็นรัฐบาลที่ไม่มีเสถียรภาพต้องเปลี่ยนบ่อยๆ ทั้งนี้วิวาทะเหล่านี้มีมาเมื่อ 100 ปีก่อน และถึงวันนี้ เมื่อมีคนบอกว่าต้องการเป็นประชาธิปไตย สิ่งที่โต้กลับก็ยังคงเป็นความเห็นแบบเดิมนี้อยู่
 
จาตุรนต์ กล่าวด้วยว่า การเปลี่ยนแปลงในปี 2475 เป็นการยืนยันว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่เหมาะกับสังคมไทย และต้องการสถาปนา “ระบอบรัฐธรรมนูญ” ที่มีเรื่องการปกครองหลักนิติธรรม มีแนวความคิดเรื่องนิติรัฐที่ว่าทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายที่ดีอย่างเท่า เทียมกัน ใช้อำนาจได้เท่าที่กฎหมายบัญญัติไว้ และกฎหมายต้องมีที่มา คณะราษฎรต้องการสร้าง“ระบอบรัฐธรรมนูญ” ขึ้นมาโดยให้ “อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎร” ซึ่งต่อมามีการใช้คำว่า “อำนาจอธิปไตยมาจากประชาชน” และ “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย”
 
“เวลาประเมินคณะราษฎร เส้นแบ่งสำคัญอยู่ตรงเรื่องระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กับอีกระบอบที่ไม่ใช่สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งในแง่นี้ถ้าเราดูจากทั่วโลกและดูจากประเทศไทยเอง เข้าใจว่ามันเป็นความก้าวหน้าอย่างมาก และผมคิดว่าสังคมไทยแม้จะมีคนเสนอว่าทำไมไม่เพิ่มพระราชอำนาจ อยากให้เพิ่มอยากให้คือพระราชอำนาจในหลายสิบปีมานี้ แต่ก็ยังไม่มีใครกล้าเสนอว่าให้กลับไปเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก็เท่ากับเป็นความยอมรับอยู่ แต่ในความเห็นผม ผมคิดว่าเป็นความก้าวหน้าเป็นคุณูปการในเรื่องนี้” อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทยให้ความเห็น
 
 
ประสบการณ์สังคมไทยชี้การปกครองโดยไม่มี “รัฐธรรมนูญ” คือระบอบเผด็จการ
 
จากประเด็นที่ว่าการเป็นประชาธิปไตยจำเป็นหรือไม่แค่ไหนที่ต้องมีรัฐ ธรรมนูญ จาตุรนต์ แสดงความเห็นว่า เมื่อ 80 ปีที่แล้ว หากไม่มีรัฐธรรมนูญก็ไม่รู้ว่าอะไรคือการเปลี่ยนระบอบการปกครอง หรือจะเปลี่ยนจากอะไรไปสู่อะไร เพราะสิ่งที่ต้องการคือการมีกฎหมายสูงสุดขึ้นมาหนึ่งฉบับ และด้วยแนวคิดแบบนิติรัฐที่ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายจึงมีรัฐธรรมนูญขึ้น และในสภาพการณ์แบบในประเทศไทยหากไม่เขียนอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรก็จะเกิดคำ ถามว่าจะเริ่มกันอย่างไร
 
ใน 80 ปี มานี้ ช่วงเวลาที่ประเทศไทยไม่มีรัฐธรรมนูญ หรือไม่มีสิ่งที่พอจะเรียกว่ารัฐธรรมนูญได้ ก็คือช่วงที่เกิดการรัฐประหารหรือการปกครองโดยคณะรัฐประหาร โดยจะเรียกสิ่งที่ใช้อยู่ว่าเป็นธรรมนูญการปกครอง หรือรัฐธรรมนูญชั่วคราว แต่ความจริงทั้งธรรมนูญการปกครองและรัฐธรรมนูญชั่วคราวนั้น คือกฎหมายสูงสุดที่คณะรัฐประหารเขียนกันเองหลังจากออกคำสั่งคณะรัฐประหาร แล้ว
 
จาตุรนต์ กล่าวต่อมาว่า จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นสัญลักษณ์ที่ดีอย่างหนึ่งคือทำให้เห็นว่าความเป็นเผด็จการที่สมบูรณ์แบบ นั้นเป็นอย่างไร คือคนๆ เดียวอยู่เหนือกฎหมาย ทำลายหลักการแบ่งแยกอำนาจ 3 อำนาจออกจากกันอย่างสิ้นเชิงโดยคนๆ เดียวที่คุมกำลังกองทัพ มาจนสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร แต่ในที่สุดก็จำเป็นต้องมีรัฐธรรมนูญ หลังจากที่ทำการร่างมายาวนานตั้งแต่ปี 2500 จนมีรัฐธรรมนูญ 2511 และจัดการเลือกตั้งในปี 2512 ต่อมาในปี 2514 ก็เกิดการรัฐประหารยึดอำนาจตัวเองของจอมพลถนอม 
 
ในส่วนสังคมไทยก็ได้เรียนรู้เช่นกันว่า การปกครองโดยไม่มีรัฐธรรมนูญนี้ก็คือปกครองโดยระบอบเผด็จการ หากไม่มีรัฐธรรมนูญที่บัญญัติอะไรไว้ให้ดี ก็จะกลายเป็นเผด็จการเด็ดขาด จึงเป็นที่มาของการเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อเดือนตุลาปี 2516 โดยข้อเรียกร้องสำคัญในครั้งนั้นคือให้มีรัฐธรรมนูญ แต่ต่อมาก็มีการรัฐประหารยึดอำนาจอีกครั้งในปี 2519 จะเห็นได้ว่า 80 ปีมานี้ สังคมไทยผ่านช่วงที่พยายามสถาปนาสร้างระบอบรัฐธรรมนูญ สร้างระบบรัฐสภาให้มีพรรคการเมือง มีการเลือกตั้ง สลับไปมากับการสู้กับความพยายามที่จะกลับคืนสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มีการรัฐประหารยึดอำนาจ จนมาถึงสถานการณ์ในปัจจุบัน
 
อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทยกล่าวแสดงความเห็นต่อมาว่า ในแง่ความสำเร็จในการสถาปนาระบอบรัฐธรรมนูญส่วนตัวคิดว่าไม่สำเร็จ และถึงแม้ในปัจจุบันมีรัฐธรรมนูญก็คิดว่าไม่สำเร็จ เนื่องจากใน 80 ปีที่ผ่านมา มีการปกครองโดยที่ไม่มีรัฐธรรมนูญใช้นานมาก หลายช่วงไม่มีรัฐธรรมนูญ ตอนที่มีรัฐธรรมนูญ เรามีรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาเป็นประชาธิปไตยมากในช่วงแรกๆ แต่ต่อจากการไม่มีรัฐธรรมนูญ ก็มามีรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยหลายครั้ง 
 
“พูดได้ว่าเวลาที่เรามีรัฐธรรมนูญ เรามีรัฐธรรมนูญที่เป็นเครื่องมือที่จะทำไว้ให้โลกเขาดูว่า อ้อ ประเทศนี้ก็มีรัฐธรรมนูญ แต่รัฐธรรมนูญของประเทศนี้ไม่ใช่เป็นรัฐธรรมนูญที่ประกันว่าประชาชนจะเป็น ผู้กำหนดความเป็นไปของประเทศ หรือพูดอีกแบบก็คือว่า จริงๆ แล้วอำนาจอธิปไตยไม่ใช่เป็นของปวงชน หรือไม่ต้องพูดถึงว่าอำนาจสูงสุดเป็นของราษฎร” จาตุรนต์กล่าว
 
จาตุรนต์ ยกตัวอย่างว่า ในรัฐธรรมนูญฉบับหนึ่งมีการระบุห้าม ส.ส.เป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี ซึ่งเป็นการเขียนไว้เพื่อให้ผู้ที่ยึดอำนาจได้ขึ้นเป็นรัฐบาล ต่อมาก็มีการเขียนให้ ส.ว.มาจากการแต่ตั้งและมีอำนาจขึ้นมา ที่แย่ไปกว่านั้นคือไทยผ่านการรัฐประหารมาหลายครั้ง ในแต่ละครั้งเมื่อยึดอำนาจได้แล้วมีคนมาคัดค้านร้องเรียน บ้างก็จะถูกจับติดคุก บ้างถูกปฏิเสธ ด้วยเหตุผลจากฝ่ายตุลาการว่าผู้ที่ยึดอำนาจได้แล้วเป็นรัฏฐาธิปัตย์ 
 
“80 ปีมานี้จึงพูดได้ว่า เราปกครองโดยระบอบที่รัฐธรรมนูญไม่ใช่กฎหมายสูงสุดจริง ในความหมายนี้คือ ถ้ามีการรัฐประหารเมื่อไหร่ คำสั่งรัฐประหารสูงกว่ารัฐธรรมนูญ ในระหว่างที่ไม่มีรัฐประหาร คณะรัฐประหารเลิกไปแล้วและยอมให้มีรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญนั้นเป็นกฎหมายสูงสุด แต่ก็เป็นกฎหมายสูงสุดที่ไม่ได้มุ่งให้อำนาจประชาชน ซึ่งตรงนี้เป็นความจริงมาจนถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน” อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย กล่าว
 
 
จวก “รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน” ออกแบบไว้ เพื่อประกันไม่ให้อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน
 
จาตุรนต์ วิพากษ์รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันว่า มาจากคณะยึดอำนาจเมื่อปี 2549 และถูกออกแบบไว้เพื่อที่จะประกันไม่ให้อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน โดยเขียนไว้ในเรื่อง อำนาจขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ ที่มาขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ อำนาจของ ส.ว.ในการถอดถอน ที่มาของ ส.ว.จากการสรรหาที่มีอยู่ถึงครึ่งหนึ่ง ตรงนี้เป็นระบบที่เมื่อประชาชนเลือกตั้งมา แต่อาศัยกลไกและเนื้อหาตามรัฐธรรมนูญนี้สามารถล้มรัฐบาลได้โดยง่าย โดยไม่ต้องเป็นไปตามหลักประชาธิปไตยหรือหลักความยุติธรรม และที่ผ่านมาก็เกิดมาแล้วกับ 2 รัฐบาล 
 
การเขียนรัฐธรรมนูญเช่นนี้นำมาสู่วิกฤติมากมายในช่วงเวลาที่ผ่านมา เพราะคนส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วยเพราะพรรคที่เขาเลือกตั้งมาถูกยุบ และออกมาเรียกร้องให้ยุบสภาแล้วจัดการเลือกตั้งใหม่เพื่อพิสูจน์กันอีกครั้ง แต่กลับนำมาสู่เหตุการณ์นองเลือด และเมื่อมีการเลือกตั้งใหม่ประชาชนได้ตัดสินแล้ว แต่จะถูกหักล้างอีกจากกลไกรัฐธรรมนูญหรือไม่ นี่เป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อไป 
 
 
ล้ม “ร่างรัฐธรรมนูญ” ความถดถอยครั้งใหญ่จาก น้ำมือ “ศาลรัฐธรรมนูญ”
 
จาตุรนต์ กล่าว่า จากวิกฤติที่เกิดขึ้น คนกลุ่มหนึ่งจึงเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ถูกต้องและเป็นธรรม และเกิดคำถามว่าใครจะแก้ ทำให้มีการกำหนดแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ให้มีการเลือกตั้ง สสร.เพื่อลงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ถูกยับยังโดย “ศาลรัฐธรรมนูญ” เนื่องจากมีคนไปร้องว่ามีผู้จะล้มล้างระบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมี พระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งผู้ถูกร้องคือประธานรัฐสภา ครม.พรรคการเมืองบางพรรค และส.ส.บางคน ข้อหาดังกล่าวเป็นข้อหาเดียวกันกลุ่ม ร.ศ.130 ทั้งที่เป็นการแก้รัฐธรรมนูญในรัฐสภา และจะมีการนำไปลงมติโดยประชาชนทั้งประเทศ 
 
นอกจากนี้ การที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องโดยตรงนั้นขัดกับรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน ขัดกับบรรทัดฐานเดิม ขัดกับการตีความของนักกฎหมาย โดยมีวินิจฉัยไปแล้วว่าสามารถรับคำร้องเองได้ และจะมีผลต่อไป ตรงนี้เท่ากับเป็นการแก้รัฐธรรมนูญโดยการวินิจฉัยที่แตกต่างจากรัฐธรรมนูญ เป็นการแก้รัฐธรรมนูญโดยทำผิดรัฐธรรมนูญเสียเอง อีกทั้งมีการตีความรัฐสภา และครม.เป็นบุคคลโดยศาลรัฐธรรมนูญตีความเข้าตามมาตรา 68 และศาลรัฐธรรมนูญกำลังทำผิดต่อไปอีก จากการตรวจสอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งที่มีอำนาจเฉพาะการพิจารณาร่างกฎหมายว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ 
 
แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่าร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้นำไปสู่การล้มการ ปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยไม่นำไปสู่การยุบพรรคการเมืองหรือมีผลบานปลายตามมา แต่เพียงการวินิจฉัยล้มการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ก็ถือเป็นความเสียหายครั้ง ใหญ่หลวงต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย เป็นความล้าหลังที่ไม่เหมือนกับครั้งไหนๆ เพราะกระทำโดยศาลรัฐธรรมนูญ ไม่เหมือนการยึดอำนาจแต่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังขยายขอบเขตอำนาจของตนเอง ให้กลายเป็นสามารถตรวจสอบและวินิจฉัยร่างรัฐธรรมนูญเหนือกว่ารัฐสภา ถือเป็นการทำลายหลักการแบ่งแยกอำนาจ ปิดทางการแก้รัฐธรรมนูญ เท่ากับนำสังคมไทยสู่ทางตัน
 
“ภายในประมาณต้นเดือนหน้า อย่างเร็วคือต้นเดือนหน้า ถ้าศาลรัฐธรรมนูญตัดสินเร็ว ก็จะเกิดระบบที่ฝ่ายตุลาการในที่นี้คือศาลรัฐธรรมนูญในประเทศนี้มีอำนาจ เหนือกว่าฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร หมายความว่ากำหนดความเป็นไปของคณะรัฐมนตรีได้ กำหนดว่าจะให้แก้กฎหมาย หรือไม่ให้แก้กฎหมาย หรือปฏิเสธการแก้กฎหมายที่รวมถึงรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มากก็คือเรากำลังบอกว่าเราจะก้าวไปสู่ระบบที่ผู้มีอำนาจ ทางตุลาการที่ไม่มีการยึดโยงกับประชาชนแต่อย่างใดทั้งสิ้น และตรวจสอบโดยประชาชนไม่ได้ กำลังจะมีอำนาจเหนือกว่าอำนาจอื่นๆ ที่ยึดโยงกับประชาชน” อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย กล่าว
 
อย่างไรก็ตาม นายจาตุรนต์ ได้กล่าวถึงความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นว่า ขณะนี้ประชาชนในสังคมไทยมีความเข้าใจมากขึ้น จาก 80 ปี ที่ผ่านมา และต่างจาก 20 ปีที่แล้วมาก กระแสโลกเปลี่ยนแปลงไป ตรงนี้เป็นประโยชน์ต่อประชาธิปไตย และในประเทศไทยมีความเปลี่ยนแปลงในเรื่องความเข้าใจของประชาชนต่อระบบพรรค การเมืองและการเลือกตั้งอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในช่วงระยะ 10 กว่าปีที่ผ่านมา นอกจากนั้นพลังประชาชนที่ไม่ใช้เฉพาะในสภาก็มีการตื่นตัวมาก ตรงนี้เป็นข้อดีที่จะทำให้การชักคะเย่อกันต่อไปนี้จะไม่ถูกดึงจนชนะไปทางไหน ได้ง่ายๆ 
 
 
วิจารณ์นักประวัติศาสตร์ไม่ตีความ 2475 ปล่อยรัฐศาสตร์กระแสหลักคุมวาทกรรม
 
พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การตีความประวัติศาสตร์นั้นอย่างน้อยขึ้นอยู่กับนักประวัติศาสตร์และนักรัฐ ศาสตร์ แต่ที่ผ่านมา นักประวัติศาสตร์จำกัดตัวเองอยู่ที่การรวบรวมข้อมูลและเล่าเหตุการณ์ แต่ขาดการตีความและทำความเข้าใจเชื่อมโยงอย่างเป็นตรรกะเพื่อเชื่อมโยงสู่ อนาคต ทำให้การตีความและทำความเข้าใจ 24 มิ.ย.2475 ตกเป็นลิขสิทธิ์ของนักรัฐศาสตร์ไทยกระแสหลัก ซึ่งตีความจากกรอบของคณะนิยมเจ้าซึ่งฟื้นหลังปี 2500 จากการทำรัฐประหารของสฤษดิ์ ธนะรัตน์ โดยตีความว่า 24 มิ.ย.2475 เป็นความล้มเหลว เป็นที่มาของปัญหาความวุ่นวายและวงจรอุบาทว์ โดยในมุมของคนกลุ่มนี้ ประวัติศาสตร์มีแค่สองยุคคือ ก่อน 24 มิ.ย.2475 และ หลัง 24 มิ.ย.2475 โดยก่อน 2475 เป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และหลัง 24575 เป็นเผด็จการรัฐสภา ประชาธิปไตยครึ่งใบ ล้มลุกคลุกคลาน ด่างดำด้วยทหารเห็นแก่ตัวและคอร์รัปชั่น สลับกับนักการเมืองซื้อเสียง ซึ่งการมองแบบนี้มีผลต่อทัศนะในการมองเหตุการณ์ต่างๆ ที่ผ่านมา
 
พิชิต กล่าวต่อว่า ที่น่าสนใจ คือ การตีความ 24 มิ.ย.2475 โดยกระแสหลักของฝ่ายซ้ายไทยและพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ตีความคล้ายกับรัฐศาสตร์กระแสหลักไทยมาก โดยไม่ให้ความสำคัญกับ 24 มิ.ย.2475 และวิจารณ์คณะราษฎรในทางลบว่า แม้จะมีท่าทีต่อต้านจักรวรรดินิยม ศักดินานิยม แต่ล้มเหลวในภารกิจ เพราะผูกขาดอำนาจไว้ในกลุ่มเล็กๆ ไม่เอาอำนาจผูกโยงกับประชาชน และเป็นการรัฐประหารเช่นเดียวกัน
 
เขามองว่า การตีความทั้งในแบบของนักรัฐศาสตร์กระแสหลักหรือฝ่ายซ้ายต่างครอบงำวิธีคิด ของนักวิชาการไทยมานานมาก อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วง 4-5 ปีตั้งแต่รัฐประหาร 19 ก.ย. ก่อให้เกิดกระแสที่สาม คือ กลุ่มคนเสื้อแดง ที่หันมามอง 24 มิ.ย.2475 ในแบบที่ต่างออกไป การตีความและมอง 24 มิ.ย.2475 ของพวกเขามีความโดดเด่น เพราะไม่ได้ถูกครอบงำโดยรัฐศาสตร์กระแสหลัก ไม่ยอมรับว่าคณะราษฎรเป็นต้นกำเนิดของอำมาตยาธิปไตยไทย เมื่อเปิดวิทยุในที่ต่างๆ จะเจอดีเจเอา 24 มิ.ย.2475 มาพูดในมุมที่ต่างกับที่นักวิชาการพูด ซึ่งเป็นเรื่องดีในแง่ที่ว่าการประเมินไม่ควรอยู่ในแวดวงมหาวิทยาลัยหรือนัก วิชาการอีกต่อไป เราทำจนเป็นพิธีกรรมไปแล้ว ไม่อาจหลุดจากการวิเคราะห์ได้ เสนอว่านักวิชาการต้องมองภายนอกและฟังมากขึ้น
 
ทั้งนี้ พิชิตกล่าวว่า ปัญหาใหญ่ของคณะราษฎรซึ่งแก้ไม่ตกและล้มเหลวเป็นปัญหาจนทุกวันนี้ คือ ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับประชาธิปไตย คณะราษฎรพยายามหาสูตรสำเร็จ จัดวางสถานะของสถาบันกษัตริย์ โดยพิมพ์เขียวที่วางไว้ชัดเจน ในฉบับ 10 ธ.ค.75 ระบุชัดเจนว่าสถาบันกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งมีอำนาจที่จำกัดอย่างยิ่ง เพราะทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติผ่านรัฐสภา และใช้อำนาจบริหารผ่านคณะรัฐมนตรีที่มาจากรัฐสภา มีเพียงอำนาจตุลาการอำนาจเดียวที่รัฐธรรมนูญฉบับวันที่ 10 ธ.ค.75 ไม่ได้แตะต้อง อย่างไรก็ตาม การจัดวางตำแหน่งแห่งที่นี้ล้มเหลว โดยรัฐประหารของสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นำมาซึ่งการฟื้นคืนสถานะและพระราชอำนาจของกษัตริย์ 
 
พิชิต ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า หลายสิบปีมานี้มีคดีการเมืองที่ตัดสินโดยศาลจำนวนมาก อาทิ การลงโทษกบฏบวรเดช เนรเทศนักโทษการเมือง หลังสงครามโลกครั้งที่สอง มีการจับกุมนักเขียนฝ่ายซ้าย หรือคำวินิจิฉัยของศาลฎีกาที่บอกว่าคำสั่งของคณะรัฐประหารเป็นกฎหมาย  แต่การใช้องค์กรตุลาการแทรกแซงอย่างเป็นระบบเพิ่งมีมาไม่กี่ปีมานี้ ดังนั้น เหตุการณ์ใน 4-5 ปีมานี้ หรือเทศกาลยุบพรรคที่อาจจะเกิดขึ้น ก็เป็นบทเรียนที่ดีที่ทำให้เห็นว่าการแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์การเมืองปัจจุบัน การแก้ไขโครงสร้างตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ถ้ายังร่างได้ (ส่วนตัวคิดว่าจบไปแล้ว) การปฏิรูปตุลาการจะเป็นประเด็นหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสธ และคงจะต้องมีการพูดถึงการเชื่อมโยงองค์กรตุลาการเข้ากับอำนาจที่มาจากการ เลือกตั้งไม่ทางตรงก็ทางอ้อม
 
"ปัญหาของการใช้อำนาจทางตุลาการไปแทรกแซงปัญหาทางการเมืองอย่าง โจ่งแจ้ง มันได้กระตุ้นให้คนคิดและเข้าใจปัญหาได้ชัดเจนมากขึ้น และมันก็ทำให้เห็นชัดเจนด้วยว่าอำนาจที่แท้จริงในระบอบการเมืองปัจจุบันมัน อยู่ที่ไหน ความขัดแย้งในปัจจุบันนี้มันก็คือความขัดแย้งระหว่างอำนาจที่มาจากการเลือก ตั้งกับอำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และมันแสดงออกอย่างชัดเจนและแหลมคมที่องค์กรตุลาการ ก็คือศาลรัฐธรรมนูญที่เข้ามาก้าวก่ายและครอบงำอำนาจนิติบัญญัติ" พิชิตกล่าวและว่า ก่อนหน้านี้ ชัดเจนว่า องค์กรตุลาการเข้ามาครอบงำอำนาจบริหารเป็นหลัก เห็นได้จากการยุบพรรค ถอดถอนนักการเมือง แต่เหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นนี้สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าอำนาจตุลาการนั้น อยู่เหนือรัฐธรรมนูญและอยู่เหนืออำนาจนิติบัญญัติด้วย