ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Sunday, 24 June 2012

ประกาศหลัก 6 ประการของคณะราษฎรที่ 2

ที่มา ประชาไท


กองทัพ ต้องยุติบทบาททางการเมือง,ต้องดำเนินคดีแก่คนที่สั่งฆ่าประชาชน,ผลักดันรวม ตัวและการเจรจาต่อรองของคนงาน ความยุติธรรมต้องเสมอกัน,หยุดใช้ ม. 112 ปล่อยนักโทษการเมืองและให้เสรีภาพในทางวิชาการและให้การศึกษาอย่างเต็มที่ แก่ราษฎร 
5.00 น. วันนี้(24 มิ.ย.2555) ณ หมุดคณะราษฎร ลานพระบรมรูปทรงม้า กลุ่มนักกิจกรรมหลายกลุ่มที่ได้ร่วมรำลึก 80 ปี 24 มิ.ย. 2475 การอภิวัฒน์ประชาธิปไตยของคณะราษฎร โดยหนึ่งในกลุ่มกิจกรรมที่ร่วมรำลึกคือคณะราษฎรที่ 2 ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของนักศึกษากลุ่มสะพานสูงและกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อ ประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกลุ่มประชาคมจุฬาเพื่อประชาชน จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แต่งตัวเป็นคณะราษฎร เช่น พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน), พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน),  หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ), หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ (ถวัลย์ ธารีสวัสดิ์),  หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) และประยูร ภมรมนตรี เป็นต้น โดยในเวลา 6.40 น. คณะดังกล่าได้มีการอ่านประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 

และหลังจากนั้น ได้มีการอ่านหลัก 6 ประการใหม่ของคณาราษฎรที่ 2 ที่มีการปรับเข้ากับยุคสมัยในปัจจุบัน ดังนี้
หลักประการที่ ๑ ในการปกครองประเทศของคณะราษฎร : หลักเอกราช
เอกราช หมายถึง ความเป็นอิสระแก่ตน ไม่ขึ้นต่อผู้อื่น
ในการอภิวัฒน์เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ คณะราษฎรได้ประกาศหลักประการแรกในการปกครองประเทศด้วยระบอบประชาธิปไตยว่า “จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง”
 เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนั้น ความเป็นเอกราชที่คณะราษฎรมุ่งหวังจะรักษาคงจะหมายถึงการที่ประเทศสยามต้อง ไม่เป็นเมืองขึ้นต่อประเทศอื่นใด เช่น ไม่สูญเสียดินแดนของประเทศ ไม่เป็นเมืองขึ้นทางเศรษฐกิจของประเทศอื่น ไม่เสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต เป็นต้น เนื่องจากสยามนั้นตั้งอยู่ท่ามกลางดินแดนของจักรวรรดิต่างๆ ประกอบกับในเวลานั้นได้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ไปทั่วโลก และรัฐบาลกษัตริย์ที่เคยใช้จ่ายเงินอย่างฟุ่มเฟือยก็ไม่สามารถแก้ปัญหา เศรษฐกิจได้ ทำให้ประเทศสุ่มเสี่ยงที่ล้มละลายและอาจตกเป็นเมืองขึ้นของต่างชาติได้ ซึ่งหากสยามตกเป็นเมืองขึ้นของชาติอื่น การบริหารประเทศก็ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของชาตินั้น ไม่อาจทำเพื่อประโยชน์ของราษฎรสยามได้เลย
               
มาถึงวันนี้ ๘๐ ปีผ่านไป สถานการณ์โลกดำเนินไปสู่การแก้ไขความขัดแย้งด้วยสันติวิธี มีกฎกติกาสากลที่จะคอยป้องกันมิให้ประเทศใดรุกรานประเทศอื่น อีกทั้งประเทศไทยยังมีเศรษฐกิจที่มั่นคง ยังมีทุนสำรองอยู่เป็นจำนวนมาก มิได้ประสบปัญหาถึงขนาดที่จะเอาตัวไม่รอด สิ่งเหล่านี้จึงเป็นหลักประกันในความเป็นเอกราชของประเทศไทย แต่ในขณะที่ประเทศเป็นเอกราชนั้น ยังมีสิ่งซึ่งเป็นเสาหลักของระบอบประชาธิปไตยที่ตลอด ๘๐ ปีที่ผ่านมาถูกแทรกแซงอยู่เสมอ ไม่ได้มีเอกราชไปด้วย นั่นคือองค์กรที่มีหน้าที่ใช้อำนาจอธิปไตยแห่งระบอบประชาธิปไตย และองค์กรตามรัฐธรรมนูญอื่นๆ เปรียบเสมือนผลไม้ที่เปลือกนอกสวยงามแต่มีเนื้อในที่เน่าเฟะ
               
ระบอบประชาธิปไตยได้กำหนดอำนาจอธิปไตยไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยแบ่งการใช้อำนาจเป็นสามส่วน ได้แก่ อำนาจนิติบัญญัติมีรัฐสภาเป็นผู้ใช้อำนาจ อำนาจบริหารมีรัฐบาลเป็นผู้ใช้อำนาจ และอำนาจตุลาการมีศาลเป็นผู้ใช้อำนาจ อำนาจทั้งสามนี้จะทำหน้าที่ของตัวเองและคอยถ่วงดุลมิให้อำนาจอื่นมีมากเกิน ไปตามที่กฎหมายกำหนด และเนื่องจากระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบที่อำนาจเป็นของราษฎร อำนาจอธิปไตยแห่งระบอบประชาธิปไตยจึงต้องใช้เพื่อประโยชน์ของราษฏร แต่ในความเป็นจริงกลับมีการแทรกแซงและขัดขวางมิให้เป็นไปตามนั้น
               
การแทรกแซงนี้เกิดโดยการที่กลุ่มคนที่คิดว่าตนเหนือกว่าผู้อื่น และต้องการมีอำนาจในสังคม เช่น ทหาร นายทุนนักธุรกิจ หรือผู้มีสถานะทางสังคมสูงส่ง เป็นต้น ได้บงการบุคลากรขององค์กรผู้ใช้อำนาจอธิปไตย และองค์กรตามรัฐธรรมนูญอื่นๆ ให้ใช้อำนาจสนองความต้องการของพวกตน และบุคลากรผู้ไม่มีใจเป็นประชาธิปไตยก็ได้ศิโรราบยอมเป็นเครื่องมือของอำนาจ นอกระบบเหล่านั้น มีทั้งการดำเนินนโยบายที่เป็นประโยชน์แก่อำนาจนอกระบบ การไม่เข้าร่วมประชุมสภา หรือการถ่วงดุลการใช้อำนาจอื่นอย่างเกินขอบเขตที่จะกระทำได้ มีการอาศัยช่องโหว่ของกฎหมายและการตีความกฎหมายเข้าข้างตนเองเพื่อสร้างความ ชอบธรรมแก่การกระทำเหล่านั้น นอกจากนี้อำนาจนอกระบบยังใช้วิธีการที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาขัดขวางการ ใช้อำนาจอธิปไตย เช่น การรัฐประหาร การชุมนุมประท้วงโดยผิดกฎหมายเพื่อขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรผู้ใช้ อำนาจอธิปไตย เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ทำให้อำนาจอธิปไตยขาดเอกราช ต้องไปรับใช้อำนาจนอกระบบ ไม่อาจสร้างประโยชน์สุขแก่ราษฏรได้
             
ด้วยเหตุนี้ คณะราษฎรที่สอง ต่อต้านอำนาจนอกระบบ จึงมีข้อเรียกร้องเพื่อให้เกิดเอกราชดังนี้
๑.       บุคลากรขององค์กรผู้ใช้อำนาจอธิปไตยและองค์กรตามรัฐธรรมนูญอื่นๆ จักต้องหยุดทำตัวเป็นขี้ข้ารับใช้อำนาจนอกระบบ และใช้อำนาจของท่านโดยยึดหลักประชาธิปไตย ท่านเป็นผู้ใช้อำนาจสูงสุดของประเทศ ไม่มีอำนาจใดที่เหนือไปกว่านี้
๒.      กต้องปลูกฝังค่านิยมในการใช้อำนาจอธิปไตยแห่งระบอบประชาธิปไตยเป็นวิธีการ ปกครองและแก้ไขปัญหาต่างๆ ของประเทศ และกำจัดค่านิยมในการใช้วิธีการอื่นหรือการขัดขวางการใช้อำนาจอธิปไตยทุกรูป แบบ
๓.      กองทัพจักต้องยุติบทบาททางการเมือง เนื่องจากตลอด ๘๐ ปีที่ผ่านมา กองทัพเป็นเครื่องมือที่สำคัญของอำนาจนอกระบบในการทำลายความเป็นเอกราชของ อำนาจอธิปไตยแห่งระบอบประชาธิปไตย
๔.      การถ่วงดุลกันระหว่างอำนาจอธิปไตยจักต้องไม่มากเกินส่วนที่กฎหมายกำหนด โดยการตีความกฎหมายต้องเป็นไปตามหลักการที่ถูกต้อง
๕.      สื่อจักต้องนำเสนอข่าวการกระทำที่เป็นการทำให้เอกราชของอำนาจอธิปไตยและ องค์กรตามรัฐธรรมนูญต้องเสื่อมเสียไป โดยให้ข้อมูลละเอียดครบถ้วน และแสดงเจตนารมณ์ต่อต้านการกระทำเหล่านั้น
ราษฎรทั้งหลายจงร่วมกันรักษาเอกราชของอำนาจอธิปไตยแห่งระบอบ ประชาธิปไตย เพื่อให้เป็นอำนาจที่บริสุทธิ์ที่มุ่งใช้เพื่อประโยชน์สุขแก่ราษฎรเอง ให้ประเทศไทยได้มีเอกราชอย่างแท้จริง
หลักประการที่ ๒ ในการปกครองประเทศของคณะราษฎร : หลักความปลอดภัย
“จงพึงระลึกไว้ว่าประเทศนี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของพวกเจ้าอย่างที่หลอกลวงกัน”
เสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความยุติธรรมและประชาธิปไตย
คือหลักความมั่นคงและความปลอดภัยของพลเมืองชาวสยาม
ราษฎรทั้งหลาย คนเรานั้นเกิดมาใยแตกต่างกัน? ทำไมคนเราถึงได้รับความคุ้มครองความปลอดภัยที่ไม่เท่ากัน? ทั้งๆที่คนเรานั้นเป็นมนุษย์เหมือนกัน ทั้งๆที่เป็นชาติเดียวกัน อาจแตกต่างกันบ้างในด้านความร่ำรวย หรือชื่อเสียงเกียรติยศ แต่นั่นทำให้เขาได้รับความปลอดภัยแตกต่างกันหรือ?
           
ราษฎรทั้งหลาย เราต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ อุดมการณ์ที่เราหวังว่าสักวันหนึ่งชีวิตของเราจะดีขึ้น ผิดหรือที่เราต้องการประชาธิปไตย ผิดหรือที่เราเกิดมาเป็นคนไทย และเราเป็นกบฎหรือที่เราเรียกร้องในสิ่งที่เราควรได้
           
เราทำสิ่งต่างๆเพื่อขับเคลื่อนประเทศให้เจริญงอกงาม แต่คนบางกลุ่มซึ่งได้รับผลต่างๆจากสิ่งที่เราทำ ทั้งๆที่เราทำประโยชน์ต่อพวกเขา แต่พวกเขาเหล่านั้นกลับฆ่าพวกเรา ฆ่าพวกเราดั่งผักปลา พวกเขาคือทรราชย์ของแผ่นดิน ทั้งๆที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้รัฐต้องให้ความคุ้มครองต่อราษฎร แต่เขาเหล่านั้นกลับมองมาและฆ่าพวกเราดั่งไม่ใช่คนชาติเดียวกัน
       
  ราษฎรทั้งหลาย พี่น้องเรานั้นต่อสู้เพื่ออนาคตของประเทศที่จะเบ่งบานในวันข้างหน้า เราเรียกร้องสิทธิของเราที่ควรจะได้รับความความคุ้มครองมาตั้งแต่กำเนิด สิทธิที่ว่านั้นคือ สิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองความปลอดภัย ความปลอดภัยที่ไม่ใช่ลูกปืน
  
ไม่มีประเทศใดที่ผู้มีอำนาจจะสั่งฆ่าประชาชนแล้วยังดำรงอยู่ในอำนาจต่อไปได้ เป็นเวลานานเช่นนี้ แม้กระทั่งพระเจ้าซาร์รัสเซียเองที่สั่งฆ่าประชาชนก็มิอาจจะดำรงอยู่ในอำนาจ ได้ แต่เพราะเหตุใดเล่า บุคคลที่สั่งฆ่าประชาชนทั้งในเหตุการณ์ 14 ตุลา 6ตุลา หรือเมษาเลือด ถึงยังดำรงอยู่ในอำนาจได้
  คณะราษฎรที่ 2 ไม่ได้มาที่นี่เพื่อแย่งอำนาจจากผู้ใด คณะราษฎรที่ 2 มาที่นี้เพื่อเรียกร้อง เรียกร้องความปลอดภัย ความปลอดภัยที่ราษฎรจักต้องได้ ไม่ใช่คำหลอกลวงและการโฆษณาว่าราษฎรจักได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย จักได้รับการดูแลให้ชีวิตดีขึ้น แต่ชีวิตของราษฎรจะได้รับความปลอดภัยไม่ได้หากยังมีอำนาจนอกระบบที่คอยสั่ง ฆ่าประชาชน
   คณะราษฎรที่ 2 จึงขอเรียกร้องต่อรัฐบาล ดังนี้
1.                        ปกป้องประเทศโดยการปกป้องชีวิต อิสรภาพและรัฐธรรมนูญของพลเมืองทุกท่าน ให้ปลอดภัย
2.                        ต้องมีหลักประกันที่ทำให้พลเมืองทุกคนมีความเป็นอยู่ที่ดีและเป็นธรรมทุก ด้าน ไม่มีอภิสิทธิ์ให้กับคนหนึ่งคนใดหรือกลุ่มคนใดโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะมียศถาบรรดาศักดิ์ มีฐานะชนชั้นทางเศรษฐกิจและสังคมมากมายเพียงใด ไม่เว้นแม้แต่พวกเจ้าและโครงข่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
3.                        ต้องเคารพหลักการสากลที่ส่งเสริมนิติรัฐ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนและสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมือง ซึ่งนานาอารยประเทศยึดถือปฏิบัติทุกข้อ
4.                        จะต้องสร้างความเป็นธรรมแก่ราษฎรที่สูญเสียต่อการกระทำของผู้มีอำนาจนอกระบบ ที่สั่งฆ่าประชาชน เพราะรัฐบาลไม่ได้ให้ความคุ้มครองความปลอดภัยแก่ประชาชนเท่าที่ควร
5.                        จักต้องมีการดำเนินคดีแก่คนที่สั่งฆ่าประชาชนตลอดจนทำลายอำนาจนอกระบบที่ เป็นสาเหตุของการที่ประชาชนไม่ได้รับความปลอดภัย
ขอให้รัฐบาลรู้เถิดว่า ท่านจงอย่ากลัว อย่ากลัวที่จะอยู่เคียงข้างประชาชน อย่ากลัวที่จะทำลายอำนาจนอกระบบ เพราะประชาชนอยู่เคียงข้างท่านแล้ว แต่หากท่านหาได้ดำเนินการเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่ประชาชนผู้ที่ได้รับ ความอยุติธรรมแล้วไซร้ รัฐบาลก็หามีความชอบธรรมที่จะดำรงอยู่ต่อไปไม่
หลักประการที่ ๓ ในการปกครองประเทศของคณะราษฎร : หลักเศรษฐกิจ
ราษฏรทั้งหลาย
  
เมื่อรัฐบาลชุดนี้ได้รับเลือกตั้งให้เข้ามาจัดตั้งรัฐบาลในสภา ราษฎรบางคนได้มีความหวังว่านโยบายด้านเศรษฐกิจต่างๆ ที่ได้ให้คำมั่นเอาไว้ก่อนเลือกตั้งจะช่วยให้ราษฎรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่ก็หาได้เป็นไปตามที่คิดหวังไม่  ราคาสินค้าเกษตรยังคงตกต่ำ  ข้าวของราคาแพง  ค่าแรงยังคงน้อย  ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจยังคงไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบ รัฐบาลอันมาจากการเลือกตั้งของราษฎรยังคงไม่ฟังเสียงของราษฎร แต่กลับยกพวกพ่อค้าวานิช นายทุนผู้มีอันจะกินให้มีสิทธิ์พิเศษมากกว่าราษฎร ปล่อยให้เกษตรกร และแรงงานถูกกดขี่ข่มเหงตามยถากรรม
การที่แก้ไขไม่ได้ ก็เพราะนโยบายเศรษฐกิจทั้งปวงนั้นมิได้เป็นไปเพื่อราษฎรแต่เป็นไปเพื่ออุ้ม ชูเหล่าคหบดีนายจ้าง และเพื่อประโยชน์แห่งชนชั้นนำผู้ถือหุ้น  เหตุฉะนั้น แทนที่จะช่วยราษฎร กลับปล่อยให้นายทุนทำนาบนหลังราษฎร จะเห็นได้ว่าน้ำมันซึ่งสมควรจะเป็นสมบัติสาธารณะอันราษฎรพึงมีสิทธิ์ที่จะ ได้ใช้ในราคาถูกอีกทั้งยังเป็นต้นทุนของสินค้าทั้งปวงกลับถูกผูกขาดจนน้ำมัน มีราคาแพงเกินจริง ทั้งบรรษัทที่กุมท่อส่งและโรงกลั่นก็ยังไปเข้ากับเชฟรอนอันเป็นบรรษัทต่าง ชาติเสีย ไม่มีชนชาติใดที่ผลิตน้ำมันเองได้กว่ากึ่งหนึ่งจะต้องทนใช้น้ำมันราคาแพง ฉะนี้ นอกจากอาร์เจนตินา ซึ่งชนชาตินั้นก็ได้ผ่านร่างกฎหมายยึดคืนบรรษัทน้ำมันจากบรรษัทต่างชาติเสีย แล้ว
รัฐบาลให้คำมั่นอย่างหลอกลวงไม่ซื่อตรงต่อราษฎร มีเป็นต้นว่า หลอกว่าจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทอย่างโน้นอย่างนี้ แต่ครั้นคอย ๆ ก็เหลวไป หาได้เป็นจริงดังคำสัญญาไม่  เมื่อปรับขึ้นค่าแรงนำร่องใน 7 จังหวัดก็ปรากฎให้เป็นที่ประจักษ์ว่าสินค้าต่างพากันขึ้นราคาแพง เพราะต้นทุนสูงขึ้น แต่ผลิตได้เท่าเดิม ทั้งนี้มิใช่เพราะราษฎรนั้นโง่ หรือเกียจคร้าน หากขาดโอกาส และรัฐบาลทุกสมัยก็หาได้มีเจตนาพัฒนาฝีมือแรงงานอย่างจริงใจไม่  เมื่อแรงงานด้อยทักษะฉะนี้แล้ว ค่าแรง 300 บาททั่วประเทศจึงเป็นเรื่องอันฟุ้งฝัน
ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า ประเทศเรานี้เป็นของคหบดีนายทุน ไม่ใช่ของราษฎรตามที่เขาหลอกลวง  คณะราษฎรที่หนึ่งอันเป็นคณะราษฎรของแท้นั่นแหละ ได้ตั้งมั่นว่า “จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก”  สุดท้ายมีแต่พวกเจ้าที่ชุบมือเปิบ คอยอุปถัมภ์ค้ำจุนนายทุน ถือหุ้นบรรษัทใหญ่กวาดเอาทรัพย์สินเอาไว้หลายแสนล้านบาท  หุ้นเหล่านี้ได้มาจากไหน ก็ล้วนมาจากผลพวงของการอภิวัฒน์สยาม พุทธศักราช 2475 ทั้งสิ้น   คณะราษฎรมุ่งหวังจะไม่ให้ราษฎรต้องอดอยาก ผ่านไปแล้ว 80 ปีแรงงานสยามยังคงตกอยู่ใต้เงื้อมมือของนายทุนใต้เงาเจ้า  รัฐบาลรีรอไม่ลงนามรับรองอนุสัญญา ILO 87/98 ขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศที่จะคุ้มครองส่งเสริมการรวมตัวกันเป็นสหภาพ และสร้างอำนาจต่อรองให้กับราษฎร ก็เพราะเกรงจะขัดแข้งขาคหบดีนายทุน  แทนที่จะยึดเอาประโยชน์แห่งราษฎรเป็นที่ตั้ง รัฐบาลกลับฟังแต่เสียงของคหบดีนายทุนเรื่อยมา
เหตุฉะนั้น ราษฎร นิสิตและนักศึกษาที่รู้เท่าถึงการกระทำอันชั่วร้ายดังกล่าวแล้ว จึ่งรวมกำลังตั้งเป็นคณะราษฎรที่สองขึ้น คณะราษฎรที่สองเห็นว่า การที่จะแก้ความชั่วร้ายนี้ได้ ก็โดยที่จะต้องยุติการผูกขาดธุรกิจพลังงาน คืนสมบัติธรรมชาติแก่ราษฎร  เร่งฝึกอาชีพพัฒนาฝีมือแรงงานอย่างจริงจังเพื่อให้นโยบายค่าแรง 300 ทั่วประเทศสัมฤทธิ์ผลในเร็ววัน โดยจะต้องมิใช่เพื่อประโยชน์แก่นายจ้าง แต่ต้องมุ่งเอาประโยชน์ของราษฎรเป็นสำคัญ  ลงนามในอนุสัญญา ILO87/98 เพื่อผลักดันให้แรงงานมีสหภาพที่เข้มแข็งและสามารถต่อร่องกับคหบดีนายทุนได้ อย่างทัดเทียม ขยายความคุ้มครองของประกันสังคมมิให้จำกัดแต่ในเพียงแรงงานในระบบแต่จะต้อง คุ้มครองราษฎรที่ประกอบกิจการร้านค้า ขับขี่ยวดยานรับจ้าง แลกรรมกรทั้งหลายให้มีหลักประกันอันมั่นคงไม่ต่างกัน  อีกทั้งจะต้องเข้มงวดกวดขันมาตรการรับจำนำข้าวให้โปร่งใสไร้การคอรัปชั่น เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่เกษตรกรอย่างเต็มกำลัง
ราษฎรทั้งหลายจงพร้อมใจกันช่วยคณะราษฎรที่สองให้ทำกิจอันจะคงอยู่อย่าง สถิตสมบูรณ์สถาพร เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม เพื่อความบริบูรณ์ของปากท้องของพี่น้องเกษตรกร แรงงาน ให้ราษฎรผู้กรำงานหนักตลอดชีวิตได้รับผลตอบแทนที่พึงได้เอง มิใช่เป็นข้าทาสผู้ทำงานรับใช้คหบดีนายทุนผู้อาศัยร่มบารมีเจ้าทำนาบนหลัง ราษฎร อันจะสืบสานเจตนารมณ์แห่งคณะราษฎรที่ได้เคยประกาศไว้ ณ ที่แห่งนี้ให้วิวัฒน์พัฒนา เพื่อความสุขประเสริฐจะได้บังเกิดแก่ราษฎรโดยถ้วนหน้า
หลักประการที่ ๔ ในการปกครองประเทศของคณะราษฎร : หลักเสมอภาค
เพราะเป็นที่ประจักษ์แจ้งและเป็นความจริงแท้ว่ามนุษย์เกิดมาเท่าเทียมกัน  ไม่มีใครเกิดมาเพื่อเป็นนาย และไม่มีมนุษย์ที่เกิดมาเพื่อเป็นทาส  ในแผ่นดินนี้มีเพียงมนุษย์ที่ยืนอยู่บนผืนธรณีเดียวกัน ไม่มีอำนาจจากสรวงสรรค์ที่จะรังสรรค์ชอบความธรรมแห่งการกดขี่ด้วยชั้นชน  มีเพียงคุณค่าแห่งความเป็นคนและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์คือที่สุดแห่ง อำนาจและความชอบธรรมทั้งปวง 
และเพราะความสำเร็จแห่งการอภิวัฒน์โดยคณะราษฎรชุดก่อนนั้นเอง   ที่ได้ทำลายการปกครองอันกดขี่ ไม่ชอบธรรมและได้สถาปนารัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยเพื่อมอบสิทธิและความ เสมอภาคให้ทั่วถึงกันแก่ราษฎรทั้งหลาย
อันเป็นที่มาแห่งหลักประการที่ ๔ ของเราคณะราษฎรที่ ๒ ว่าจะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอกัน
สิทธินั้นคืออะไร  เรื่องนี้เราอาจตอบได้ว่า สิทธิ คือ อำนาจหรือประโยชน์ที่กฎหมายรับรองและบังคับบัญชาให้ราษฎรทั้งหลายพึงมีสิทธิ และใช้สิทธิได้โดยชอบ
แต่สำหรับความเสมอภาคนั้นคืออะไร ?  ต่อคำถามนี้  จะมีอะไรดีกว่าการถามราษฎรทั้งหลายก่อนว่าพวกเขามาอยู่รวมกันเป็นรัฐเพื่อ อะไร ถ้ามิใช่เพื่อแสวงหาชีวิตที่ดี  และต้องเป็นที่แน่นอนว่าชีวิตที่ดีและอุดมสมบูรณ์พูนสุขนั้นจะต้องไม่ตกเป็น ของบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือหมู่คณะใดหมู่คณะหนึ่งโดยอาศัยความทุกข์ยากตรากตรำ ของราษฎรส่วนใหญ่เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในความอุดมสมบูรณ์พูนสุขของบุคคลเหล่า นั้น    เช่น  ผู้ที่ปลูกข้าวทำนาพวกเขาก็ย่อมมีสิทธิในข้าวนานั้นยิ่งกว่าผู้ที่มิได้ออก แรงไถหว่าน  หลักการนี้ก็เป็นหลักการของความยุติธรรมนี่เอง  เพราะผู้ที่มิได้ออกแรงหว่านไถ ไฉนเลยเล่าจะมีสิทธิในนาข้าวที่ผู้อื่นปลูกได้   โดยนัยนี้เองความเสมอภาคจึงเป็นฐานรากและเสาหลักแห่งความยุติธรรมทั้งปวงใน หมู่ราษฎร  หรืออาจกล่าวได้ว่าความเสมอภาคมิได้หมายถึงการที่ราษฎรทุกคนมีสิทธิเท่ากัน  แต่หมายถึงราษฎรทุกคนมีโอกาสที่จะได้รับสิทธิเท่าเทียมกัน ความเสมอภาคนี้ ยังเป็นองค์ประกอบแห่งความสมบูรณ์ของหลักประการอื่นๆทั้งก่อนนี้และที่จะ กล่าวถึงหลังจากนี้ 
เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะความปลอดภัยที่มีเพียงคนบางกลุ่มเท่านั้นที่ ได้รับ ในขณะที่ราษฎรส่วนใหญ่อยู่ท่ามกลางความเสี่ยงและอาชญากรรม  ย่อมไม่อาจเรียกได้ว่าความปลอดภัย
ความสุขสมบูรณ์ในทางเศรษฐกิจที่มีเพียงคนบางกลุ่มได้ประโยชน์  ในขณะที่ราษฎรส่วนใหญ่ล้วนอดอยากโดยเฉพาะเมื่อมันเกิดจากการทำนาบนหลังคน ย่อมไม่อาจเรียกได้ว่าความสุขสมบูรณ์
และเป็นที่แน่นอนว่าเสรีภาพที่มีเพียงคนบางกลุ่มเท่านั้นที่มีสิทธิใช้ได้  ย่อมไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นเสรีภาพ
ดังนั้นเราคณะราษฎรที่ ๒ จักขอเรียกร้องให้รัฐไทยส่งเสริมให้เกิดความเสมอภาคให้สมดังเจตนารมณ์ของคณะ ราษฎรผู้ทำการอภิวัฒน์ในกาลก่อน  โดยมีข้อเรียกร้องที่สำคัญ คือ
๑. ราษฎรทุกคนต้องได้รับความยุติธรรมเสมอกันต่อหน้ากฎหมาย  การบังคับใช้กฎหมายในข้อเท็จจริงที่มีสาระสำคัญเหมือนกัน  ต้องได้รับคำสั่งและคำพิพากษาเป็นอย่างเดียวกัน  
๒. รัฐต้องส่งเสริมและพัฒนากระบวนการที่ประชาชนจะได้รับประโยชน์จากการใช้อำนาจ ต่างๆของรัฐเพื่อจักการบริการสาธารณะอย่างเท่าเทียมกัน เป็นต้นว่า ประชาชนจักต้องได้รับสิทธิในกระบวนการยุติธรรมที่เท่าเทียมกัน อาทิ สิทธิประกัน ประชาชนไม่ว่ายากดี มีจนจักต้องได้รับการส่งเสริมที่เท่าเทียมกัน มิใช่ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และรัฐจักต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้เข้าถึงง่าย ราคาถูก และรวดเร็ว และนอกจากนี้ในบริการอื่นๆของรัฐที่สำคัญ รัฐต้องคำนึงถึงการเข้าถึงอย่างเสมอภาคของประชาชน ด้วย นอกเหนือจากคุณภาพ
๓. รัฐต้องส่งเสริมให้ประชากรชายขอบของรัฐได้เข้าถึงอำนาจรัฐได้อย่างเท่าเทียม เพื่อให้เขามีความเสมอภาคที่แท้จริงทางการเมือง เป็นต้นว่า รัฐจักต้องให้สิทธิพลเมืองกล่าวคือ สัญชาติไทยแก่คนชายขอบของรัฐอย่างเสมอภาค เช่น ชาวกระเหรี่ยง โรฮิงยา เป็นต้น หรือ รัฐจักต้องบรรจุภาษามลายูเป็นภาษาราชการที่สอง ในจังหวัดที่มีประชากรมุสลิมที่ใช้ภาษามลายู จำนวนมาก
หลักประการที่ ๕ ในการปกครองประเทศของคณะราษฎร : หลักเสรีภาพ
จะต้องให้ราษฎรมีความเป็นอิสระ  เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก ๔ ประการดังกล่าวข้างต้น
มนุษย์เกิดมาเสรี  มีเพียงเจตจำนงของเขาเท่านั้นที่จะกักขังเขาไว้ในพันธนาการแห่งความเป็นทาส  แต่นั่นย่อมหมายความว่าเมื่อเขาได้พยายามกอบกู้เจตจำนงแห่งอิสระกลับคืนมา  เขาย่อมมีสิทธิที่จะไม่เชื่อฟังใคร นอกจากตัวเขาเองเท่านั้น   สิทธิที่จะมีเสรีภาพนี้เป็นสิทธิอันศักดิ์สิทธิ์และเป็นคุณค่าอันสูงสุด อันมิอาจจะล่วงละเมิด การใช้กำลังบังคับและคำหลอกลวงโป้ปดของผู้ปกครองให้เชื่อฟังต่อให้มีมากสัก เพียงใด  ก็ไม่เคยเพียงพอที่จะพรากเสรีภาพไปจากเขาได้
หนึ่งในสิ่งที่คณะราษฎรผู้ก่อการอภิวัฒน์เมื่อ ๒๔๗๕ ได้มอบไว้แก่ราษฎรชาวไทย คืออำนาจอันยิ่งใหญ่ที่จะทำให้ราษฎรทั้งหลาย ตื่นขึ้นมาจากความฝันเฟี่องแลโป้ปดในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่ผู้ปกครองล้วนบังอาจสถาปนาตนเป็นเจ้าชีวิตของราษฎรทั้งหลาย สามารถชี้เป็นตายได้เพียงอาศัยความพึงพอใจของตน  ให้ราษฎรทั้งหลายกลายเป็นผู้ทรงสิทธิอำนาจที่จะลุกขึ้นมากำหนดชะตาชีวิตของ ตนเองได้  โดยมิตกอยู่ภายใต้อาณัติครอบงำอย่างเก่าก่อน  อำนาจนี้เรียกว่า เสรีภาพ   
เสรีภาพ เป็นอำนาจที่เกิดจากจิตวิญญาณแห่งความเป็นมนุษย์  เสรีภาพจึงมีคุณค่าอันสูงสุด มิอาจถูกจำกัดได้โดยอำนาจใด  มีเพียงกฎหมายที่มาจากผู้แทนปวงชนเท่านั้นที่จะจำกัดอำนาจแห่งเสรีภาพนี้ได้  ในปัจจุบันเสรีภาพของราษฎรชาวไทยถูกบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นจำนวนมาก  ทว่าสิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ เสรีภาพในการสื่อสารและแสดงความคิดเห็นซึ่งควรจะเป็นเหมือนลมหายใจของระบอบ ประชาธิปไตยกำลังถูกลิดรอนและทำให้ตกอยู่ภายใต้อาณัติครอบงำแห่งความหวาด กลัวโดยการใช้อำนาจรัฐ  ดังนั้นเพื่อกอบกู้เจตนารมณ์แห่งการอภิวัฒน์เมื่อ ๒๔๗๕ กลับคืนมา คณะราษฎรที่ ๒ จึงมีข้อเรียกร้องตามหลักเสรีภาพและอิสรภาพ ดังนี้
๑.       ทุกฝ่ายไม่ว่ารัฐหรือราษฎรจักต้องหยุดการใช้บังคับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุ ภาพหรือกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ เพื่อจุดประสงค์ทางการเมือง
๒.      การตีความกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒  ไม่ว่าจะโดยพนักงานอัยการหรือศาลต้องวางอยู่บนพื้นฐานของหลักเสรีภาพในการ แสดงความคิดเห็นตามที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองไว้  และต้องสอดคล้องกับอุดมการณ์ประชาธิปไตยมิใช่อุดมการณ์ราชาธิปไตย
๓.      รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการปล่อยนักโทษการเมืองทั้งหลายให้ได้รับอิสรภาพ
หลักประการที่ ๖ ในการปกครองประเทศของคณะราษฎร : หลักการศึกษา
ราษฎรทั้งหลาย
เมื่อรัฐมนตรีคนนี้ได้ดำรงตำแหน่งต่อจากรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการคน ก่อนนั้น ในชั้นต้น ราษฎรบางคนได้หวังกันว่า การศึกษาไทยจะดีขึ้น แต่การก็หาได้เป็นไปตามที่คิดหวังไม่ รัฐมนตรีคนใหม่กลับสนับสนุนการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการ ปล่อยให้มีการเก็บค่าเทอมเหมาจ่าย ข้าราชการและสภามหาวิทยาลัยใช้อำนาจหน้าที่ในทางทุจริต เกิดเผด็จการในมหาวิทยาลัย ยกพวกราษฎรร่ำรวยขึ้นให้สิทธิพิเศษมากกว่าราษฎรอื่น กดขี่ข่มเหงราษฎรที่ยากจน เปิดโครงการพิเศษที่มีค่าเทอมแสนแพงขึ้นมากกมาย ปล่อยให้การศึกษาเป็นไปตามยถากรรม ดั่งที่จะเห็นได้จากความตกต่ำในทางวิชาการและความฝืดเคืองในการหางานทำ ซึ่งพวกราษฎรได้รู้กันอยู่ทั่วไปแล้ว การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบมิสามารถแก้ไขให้ฟื้นขึ้นได้
การที่แก้ไขไม่ได้ ก็เพราะม.นอกระบบและค่าเทอมเหมาจ่ายมิได้เพื่อราษฎร มหาวิทยาลัยได้ถือเอาราษฎรเป็นทาส (ซึ่งเรียกว่า ไพร่ บ้าง ข้า บ้าง) เป็นสัตว์เดียรัจฉาน ไม่นึกว่าเป็นมนุษย์ เหตุฉะนั้น แทนที่จะช่วยราษฎร กลับพากันทำนาบนหลังราษฎร จะเห็นได้ว่า ค่าเทอมที่บีบคั้นเอามาจากราษฎรนั้น ผู้บริหารมหาวิทยาลัยได้หักเอาไว้ใช้ส่วนตัวปีหนึ่งเป็นจำนวนหลายล้าน ส่วนราษฎรสิ กว่าจะหาได้แม้แต่เล็กน้อย เลือดตาแทบกระเด็น ถึงคราวเสียเงินราชการหรือค่าเทอม ถ้าไม่มีเงิน มหาวิทยาลัยก็ไม่ให้ลงทะเบียนเรียนหรือไม่ให้จบการศึกษา
ผู้บริหารมหาวิทยาลัยได้ปกครองอย่างหลอกลวงไม่ซื่อตรงต่อราษฎร มีเป็นต้นว่า หลอกว่าจะบำรุงการศึกษาอย่างโน้นอย่างนี้ หอพักใหม่จะเสร็จตอนนั้นตอนนี้ แต่ครั้นคอย ๆ ก็เหลวไป หาได้ทำจริงจังไม่ มิหนำซ้ำ กล่าวหมิ่นประมาทราษฎรผู้มีบุญคุณเสียค่าเทอมให้มหาวิทยาลัยว่า ราษฎรยังไม่มีค่าเทอมก็ให้ไปกู้ยืมมาจ่าย คำพูดของมหาวิทยาลัยเช่นนี้ใช้ไม่ได้ ที่ราษฎรรู้ไม่ถึงนั้น ไม่ใช่เพราะโง่ เป็นเพราะขาดการศึกษาที่มีค่าเทอมราคาแพง ไม่ได้เรียนเต็มที่ เพราะเกรงว่าเมื่อราษฎรได้มีการศึกษา ก็จะรู้ความชั่วร้ายที่ทำไว้ และคงจะไม่ยอมให้ใครทำนาบนหลังคน
ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า มหาวิทยาลัยนี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของอธิการบดีหรือสภามหาวิทยาลัยตามที่เขาหลอกลวง บรรพบุรุษของราษฎรเป็นผู้ช่วยกันกู้ให้มหาวิทยาลัยมีอิสรภาพพ้นมือจากเผด็จ การทหาร พวกผู้บริหารและสภามหาวิทยาลัยมีแต่ชุบมือเปิบ และกวาดรวบทรัพย์สมบัติเข้าไว้ตั้งหลายร้อยล้าน เงินเหล่านี้เอามาจากไหน? ก็เอามาจากค่าเทอมของราษฎร เพราะวิธีทำนาบนหลังคนนั้นเอง บ้านเมืองกำลังอัตคัดฝืดเคือง ชาวนาและพ่อแม่ทหารต้องทิ้งนา เพราะทำไม่ได้ผล รัฐบาลไม่บำรุง รัฐบาลไล่คนงานออกอย่างเกลื่อนกลาด นักเรียนเรียนเสร็จแล้วและทหารปลดกองหนุนแล้วไม่มีงานทำ จะต้องอดอยากไปตามยถากรรม การเหล่านี้ย่อมชั่วร้าย
เหตุฉะนั้น ราษฎร ข้าราชการทหารและพลเรือน ที่รู้เท่าถึงการกระทำอันชั่วร้ายของมหาวิทยาลัยดังกล่าวแล้ว จึ่งรวมกำลังตั้งเป็นคณะราษฎรที่ ๒ ขึ้น และได้ยึดอำนาจของสภามหาวิทยาลัยไว้ได้แล้ว คณะราษฎรที่๒เห็นว่า การที่จะแก้ความชั่วร้ายนี้ได้ ก็โดยที่จะต้องจัดการปกครองโดยมีพรบ.มหาวิทยาลัยที่มาจากประชาชน จะได้ช่วยกันปรึกษาหารือหลาย ๆ ความคิด ดีกว่าความคิดเดียว ส่วนผู้เป็นรัฐมนตรีของกระทรวงศึกษาธิการนั้น คณะราษฎรที่๒ไม่ประสงค์ทำการแย่งชิงตำแหน่ง ฉะนั้น จึ่งได้ขอให้รัฐมนตรีคนนี้ดำรงตำแหน่งต่อไป แต่จะต้องอยู่ใต้กฎหมายมหาวิทยาลัยฉบับประชาชน จะทำอะไรโดยลำพังไม่ได้ นอกจากด้วยการมีส่วนร่วมของนักศึกษาและประชาชน
คณะราษฎรที่๒ได้แจ้งความประสงค์นี้ให้รัฐมนตรีทราบแล้ว เวลานี้ยังอยู่ในความรับตอบ ถ้ารัฐมนตรีตอบปฏิเสธ หรือไม่ตอบภายในกำหนด โดยเห็นแก่ส่วนตนว่าจะถูกลดอำนาจลงมา ก็จะชื่อว่าทรยศต่อชาติ และก็เป็นการจำเป็นที่มหาวิทยาลัยจะต้องมีการปกครองแบบอย่างประชาธิปไตย กล่าวคือ พรบ.มหาวิทยาลัยต้องมาจากประชาชน ตามวิธีนี้ ราษฎรพึงหวังเถิดว่า ราษฎรจะได้รับความบำรุงอย่างดีที่สุด ทุก ๆ คนจะมีที่เรียน เพราะประเทศของเราเป็นประเทศที่อุดมอยู่แล้ว-ตามสภาพ เมื่อเราได้ยึดเงินเดือนที่พวกผู้บริหารและสภามหาวิทยาลัยรวบรวมไว้จากการทำ นาบนหลังคนตั้งหลายร้อยล้านมาบำรุงมหาวิทยาลัยขึ้นแล้ว การศึกษาจะต้องเฟื่องฟูขึ้นเป็นแม่นมั่น การพัฒนาการศึกษาซึ่งคณะราษฎรที่๒จะพึงกระทำก็คือ จำต้องวางโครงการ อาศัยหลักวิชา ไม่ทำไปเหมือนคนตาบอด เป็นหลักใหญ่ ๆ ที่คณะราษฎรวางไว้ มีอยู่ว่า
๑.   จะต้องรักษาเสรีภาพทั้งหลาย เช่น เสรีภาพในทางวิชาการ ของมหาวิทยาลัยไว้ให้มั่นคง
๒.   จะต้องรักษาความปลอดภัยในมหาวิทยาลัย ให้การประทุษร้ายต่อราษฎรต่างมหาวิทยาลัยกันลดน้อยลงให้มาก
๓.   จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางสวัสดิการ โดยมหาวิทยาลัยจะจัดหาหอพัก ห้องสมุด รถรับส่ง และโรงอาหารให้เพียงพอ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
๔.   จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่ราษฎรร่ำรวยมีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรยากจนเช่นที่เป็นอยู่)
๕.   จะต้องให้อาจารย์ได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก ๔ ประการดังกล่าวข้างต้น
๖.   จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร
ราษฎรทั้งหลายจงพร้อมใจกันช่วยคณะราษฎรที่๒ ให้ทำกิจอันจะคงอยู่ชั่วดินฟ้านี้ให้สำเร็จ คณะราษฎรที่๒ ขอให้ทุกคนที่มิได้ร่วมมือเข้ายึดอำนาจจากผู้บริหารและสภามหาวิทยาลัยพึง ตั้งตนอยู่ในความสงบ และตั้งหน้าเรียนหนังสือ อย่าทำการใด ๆ อันเป็นการขัดขวางต่อคณะราษฎรที่๒ การที่ราษฎรช่วยคณะราษฎรที่๒นี้ เท่ากับราษฎรช่วยการศึกษาชาติ และช่วยตัวราษฎร บุตรหลานเหลนของตนเอง ประเทศจะมีความเป็นเอกราชอย่างพร้อมบริบูรณ์ ราษฎรจะได้การศึกษาที่ดี ทุกคนจะต้องมีที่เรียน ไม่ต้องอดตาย ทุกคนจะมีสิทธิเสมอกัน หมดสมัยที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยจะทำนาบนหลังราษฎร สิ่งที่ทุกคนพึงปรารถนาคือความสุขความเจริญอย่างประเสริฐ ซึ่งเรียกเป็นศัพท์ว่า “ศรีอาริยะ” นั้น ก็จะพึงบังเกิดขึ้นแก่ราษฎรถ้วนหน้า

ภาพบรรยากาศกิจกรรม: