ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Sunday, 24 June 2012

รายงาน:"100 ปี กบฏประชาธิปไตย ร.ศ.130 - 80 ปี ปฏิวัติประชาธิปไตย พ.ศ.2475"[1]

ที่มา ประชาไท


เสวนาว่าด้วยประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองไทยเมื่อ100ปีที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นหลากปัจจัยที่ส่อให้เห็นถึงความผุกร่อนของระบอบการเมืองการปกครอง ไทยในสมัยนั้น ซึ่งแม้ว่าจะล้มเหลวแต่ก่อให้เกิดหน่ออ่อนแห่งการ เปลี่ยนแปลง 24มิถุนายน 2475 ในอีก20ปีต่อมา
 
อภิปราย “100 ปี กบฏประชาธิปไตย ร.ศ. 130” ดำเนินรายการโดย ฉลอง สุนทราวาณิชย์ ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มธ.เพ็ญพิสุทธิ์ ทองมี นักวิชาการอิสระ และ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ  อักษรศาสตร์ จุฬาฯ 
 
%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%
 
 
เพ็ญพิสุทธิ์ ทองมี: นักวิชาการอิสระ
การเคลื่อนไหวของสามัญชนในปี 2455 หรือ ร.ศ.130 เป็นการเคลื่อนไหวของสามัญชนเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่เนื่องจากไม่สำเร็จจึงกลายเป็นกบฏ โดยการเคลื่อนไหวนี้มีสาเหตุจากปัญหาเศรษฐกิจและความล้าหลังของบ้านเมือง โดยสมาชิกของคณะ ร.ศ.130 ส่วนใหญ่เป็นนายทหารหนุ่มชั้นสัญญบัตร เป็นผลผลิตของระบบราชการใหม่ที่เปิดให้สามัญชนมีส่วนร่วม จึงเห็นว่าบ้านเมืองเกิดปัญหามากมาย แต่รัฐบาลสมัย ร.6 ไม่ได้เข้าไปแก้ปัญหาความเดือดร้อนและเศรษฐกิจ ส่งผลให้กองทัพไม่ได้รับงบประมาณนานถึง 5 ปี ขณะที่งบพระคลังข้างที่เพิ่มขึ้นทุกปี
 
นอกจากนี้ ยังมีความไม่พอใจ กรณีเฆี่ยนหลังทหาร จากความขัดแย้งระหว่างมหาดเล็กของ ร.6 ซึ่งขณะนั้นยังเป็นมกุฎราชกุมารกับทหารบก โดย ร.6 ยืนยันให้ ร.5 ลงโทษด้วยการเฆี่ยนซึ่งทหารบกมองว่า เป็นการทำโทษที่ล้าหลัง แม้ว่า ยังมีโทษนี้ตามกฎหมายอยู่ สอง การตั้งกรมทหารรักษาวัง ซึ่งขึ้นกับกระทรวงวัง ไม่ขึ้นกับกองทัพบก 
 
สาม ทหารและประชาชนบางส่วนมองว่า รัชกาลที่ 6 มีจริยวัตรที่คนไทยยังไม่คุ้นเคย เช่น โขน ละคร เอาแต่เล่นสนุกสนานในพระราชวัง ไม่คบหาสมาคมกับเสนาบดี โปรดข้าราชสำนักเป็นพิเศษ เลื่อนยศให้ตามพระราชอัธยาศัย ต่างกับทหารที่เมื่อขอเลื่อนยศบ้าง พระองค์บอกว่าไม่ว่าง ทำไม่ได้ จึงมองว่า พระองค์ลำเอียง สี่ การตั้งกองเสือป่า เหมือนเป็นการตั้งหน่วยงานแข่งกับทหาร แม้ ร.6 จะบอกว่าตั้งขึ้นฝึกอาวุธให้คนธรรมดาเผื่อในยามสงคราม แต่พระองค์ให้ความสำคัญกับกองเสือป่ามากกว่า เสด็จกองเสือป่าทุกวัน มีการนำเสบียง-อุปกรณ์ของทหารไปใช้ โดยทหารมองว่ากองเสือป่าไม่ได้รบจริง เหมือนหน่วยงานกองกำลังส่วนพระองค์มากกว่าเพื่อช่วยราชการ และไม่ได้ช่วยปัญหาบ้านเมืองจริง 
 
เมื่อพวกเขาได้รับการศึกษารูปแบบใหม่ เห็นรูปแบบการปกครองอื่นๆ ที่ไม่ใช่แค่กษัตริย์เป็นประมุขสูงสุดเท่านั้น ทำให้มองว่าหากทหารได้มีส่วนร่วมจะช่วยพัฒนาชาติได้ และถ้าทหารที่มีอาวุธและความรู้ในมือไม่ทำแล้วใครจะทำ โดยมีการศึกษารูปแบบการปกครองในระบอบใหม่ 2 แบบคือ limited monarchy ซึ่งกษัตริย์เป็นประมุขที่มีอำนาจจำกัดกับสาธารณรัฐ โดยต้นแบบคือ จีน ที่ดำเนินการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วสำเร็จเมื่อ 10 ต.ค. 2454 
 
อย่างไรก็ตาม หลังการประชุมของกลุ่ม ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าร่วมด้วย และนำไปรายงานว่ามีการกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทำให้แกนนำถูกจับกุมในเวลาต่อมา โดยจากการค้นบ้านสมาชิก พบการรวบรวมรายงานข่าวจาก นสพ.เกี่ยวกับความเคลื่อนไหวและความสำเร็จของการปฏิวัติในจีน เอกสารกฎข้อบังคับของสมาคมและบันทึกว่าด้วยความเจริญและความเสื่อมทรามของ ประเทศ ที่อภิปรายถึงข้อเสียของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช และข้อดีของการปกครองแบบ limited monarchy และสาธารณรัฐ 
 
หลังถูกจับกุม มีการพิจารณาตัดสินลงโทษให้ประหารชีวิต 3 ผู้ก่อการและจำคุก ต่อมามีการพระราชทานอภัยโทษ ละเว้นโทษประหารชีวิตและลดโทษจำคุก โดยหลังเปลี่ยนการปกครอง 2475 พวกเขาทั้งหมดพ้นโทษ หลังมีการนิรโทษกรรมในปี 2476 
 
สามัญชนได้รับการศึกษาแบบใหม่ เห็นภัยปัญหาของบ้านเมือง จึงวางแผนแต่รั่วไหลเสียก่อน ทำให้ถูกจับกุม แต่ไม่ได้ทำให้ความคิดทางการเมืองหยุดชะงัก โดยแม้จะมีการควบคุมสื่อ แต่ยิ่งคุมมาก ความคิดของคนคิดต่างก็มีมากขึ้น และเกิดการวิจารณ์อย่างต่อเนื่อง การเคลื่อนไหวนี้จึงจุดชนวนความคิดให้คนคิดถึงการเมืองรูปแบบใหม่ ที่คนมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น ผนวกกับการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป ได้จุดประกายให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 ขึ้น
 
 
 
อ.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ : ข้อสังเกตกรณี ร.ศ. 130
 
บริบท
 
เรามักจะไม่ค่อยรู้สึกกัน เหมือนกับว่ารัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นบริหารประเทศไม่ค่อยมีปัญหา ราบรื่น แต่จริงๆ การบริหารประเทศในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็เหมือนรัฐบาลปัจจุบัน มีปัญหามากมาย เราอาจจะไม่ค่อยทราบว่าในปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 5 มีปัญหาใหญ่คือปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำต่อเนื่องกันมาเป็นเวลาหลายปี เนื่องจากภัยธรรมชาติ โรคพืช ชาวนาเดือดร้อนอย่างหนักแต่รัฐบาลขาดแคลนเงิน แก้ปัญหาโดยการขึ้นภาษี อากรค่าน่าเพิ่มถึง 4 เท่า เพราะฉะนั้นชาวนาก็เดือดร้อนยิ่งกว่าเดิม
 
เมื่อชาวนาเกิดปัญหา วิกฤต รายได้ตกต่ำ ปัญหาอดอยากยากจนภัยแล้ง สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นยังไม่มีสิ่งที่เรียกว่านโยบายการเกษตร เรื่องนโยบายเป็นเรื่องเกิดหลัง 2475
 
เมื่อเกิดปัญหาก็แก้ด้วยการแจกข้าว ทำทำนบกั้นน้ำ หรือพิธีกรรม การแก้ปัญหาแบบนี้ส่วนหนึ่เงป็นไปตามแนวคิดแบบเดิม ว่ารัฐบาลพระมหากษัตริย์นั้นพระองค์ต้องประกอบพิธีบุญ เมื่อประชาชนมีภัยแล้ว พระมหากษัตริย์ก็ทำบุญหวังว่าจะช่วยปัดเป่าปัญหาบ้านเมือง ต้องเข้าใจว่าวิธีคิดในการแก้ปัญหานั้นมีความแตกต่างกัน
 
นอกจากนี้ บริบทอื่นๆ คือ พ.ศ. 2450 รัชกาลที่ 5 ประชวรหนักเสด็จไปรักษาตัวยังยุโรป พ.ศ. 2451 มีพิธีรัชมังคลาภิเษก และเรี่ยไรเงินสร้างพระบรมรูปทรงม้า เป็นประเด็นทีน่าสนใจว่า เป็นพระพุทธเจ้าหลวงโดยไม่ได้บวช ไม่ได้นิพพาน หรือตรัสรู้
 
เดือนมีนาคม 2541 เสียดินแดน 4 รัฐมลายูให้กับอังกฤษ ซึ่งจริงๆ เป็นการยกดินแดนสี่รัฐให้กับอังกฤษ โดยรัชกาลที่ 5 ทรงอธิบายว่าถ้าขืนเอาไว้ก็รักษาไว้ไม่ได้ ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ได้กู้เงินอังกฤษมาสี่ล้านบาท แต่ได้ตัดงบกระทรวงกลาโหม เพิ่มงบกระทรวงวัง และในปีสุดท้ายในรัชกาลของพระองค์ปี 2453 เกิดการประท้วงใหญ่ของชาวจีน เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์เพราะเรื่องเลิกเงินผูกปี้ และส่งผลโดยตรงต่อนโยบายต่อต้านคนจีนจากรัชกาลที่ 6
 
เกิดเรื่องใหญ่คดีพระยาระกา คือเจ้านายสองพระองค์เกิดมีปัญหาขัดแย้งกันเรื่องนางรำ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์น้อยพระทัยลาออกจากกระทรวงยุติธรรม เสนาบยดีลาออกตามอีก 28 คน
 
เหตุการณ์เหล่านี้แสดงให้เห็นว่าการคิดว่าสมบูรณาญาสิทธิราชย์บริหารงานราบรื่นนั้นไม่จริง
 
จากนั้นเมื่อสวรรคตแล้ว ขึ้นรัชกาลใหม่ ก็ขึ้นมาด้วยความคาดหวังว่าอย่างน้อยที่สุดรัฐบาลใหม่น่าจะแก้ปัญหาอะไรได้ บ้าง แต่ปรากฏว่าไม่เป็นเช่นนั้น แม้ทรงมีการศึกษาสูงมากจบจากอังกฤษ คนทั่วไปก็คาดหวังว่าจะเป็นคนหัวใหม่ เข้าใจการเปลี่ยนแปลงของโลกที่มีการปฏิวัติในประเทศต่างๆ แต่ไม่เป็นเช่นนั้น ทรงมีปัญหาในด้านพระจริยวัตร แม้ทรงครองราชย์เมื่อพระชนมายุสามสิบกว่าพรรษาแล้ว แต่ก็ทรงเป็นมหาราชย์โดยที่ไม่สนพระทัยความงามของสตรี เมื่อไม่สนพระทัยความงามของสตรีก็เป็นเรื่องใหญ่ สังคมก็นินทาไปทั่ว
 
การที่ไม่โปรดนั้นเกี่ยวข้องกับการที่มีพระราชบริพารเป็นมหาดเล็กจำนวนมาก และคนสำคัญคือนาย จ่ายง หรือเฟื้อ พึ่งบุญ อายุ 21 ปี เมื่อทรงเริ่มครองราชย์ ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนยศอย่างรวดเร็วภายใน 10 ปี จากนายจ่ายง เป็นจมื่น และจากนั้นเป็นพระยาประสิทธิศุภการ และดำรงตำแหน่งเจ้าพระยารามราฆพ ได้เป็นพลเอกเมื่ออายุ 31 ปี ความสนิทสนมที่ทรงมอบแก่นายจ่ายงนั้นเป็นที่นินทา เมื่อเล่นโขนเล่นละครมักให้นายจ่ายงเป็นพระเอก
 
และบริบทสำคัญอีกประการคือกรณีการสั่งเฆี่ยนหลังทหาร ในพ.ศ. 2452 เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างทหารและมหาดเล็ก
 
โดยสรุป เมื่อรัชกาลที่หกขึ้นครองราชย์ความคาดหวังถึงความเป็นคนสมัยใหม่นั้นหมดไป เพราะมีปัญหาพระจริยวัตรหลายประการ แต่ต้องเข้าใจว่าถ้าเป็นสมัยปัจจุบัน เวลารัฐบาลบริหารไม่ถูกก็คาดหวังได้ว่า อีกสี่ปีข้างหน้าจะเลือกได้ไหม แต่ในระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เช่นนั้นไม่มี ฉะนั้นจึงทำให้คนหนุ่มรุ่นใหม่เห็นว่าจำเป็นต้องเปลี่ยนระบบ เปลี่ยนระบอบการปกครอง
 
ร.ศ. 130 นั้นจึงเกิดจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และคนที่คิดจะเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่ได้มีคณะเดียว หรือพูดใหม่คือมีคนคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองเยอะ แต่เป็นสมาคมลับ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก สมัยนั้นมีอั้งยี่ หรือสโมสรจีนกรุงเทพฯ ซึ่งป็นสมาคมพันธมิตรของซุนยัดเซ็น และยังมีสมาคมลับอีกอย่างน้อย 1 สมาคม คือสมาคมลับ กศร. กุหลาบ มีสมาชิกราว 40 คน เหล่านี้คือสมาคมลับที่คิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
 
การหาคนเข้าร่วม สมาคมลับ รศ. 130 นั้นง่ายมาก แสดงถึงกระแสความไม่พอใจของรัฐบาลรัชกาลที่ 6 และ ร.ต. เนตร ก็คิดมาตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 5 แล้ว

 
อิทธิพลจากญี่ปุ่น


ญี่ปุ่นมีอิทธิพลมากต่อความรับรู้ของคนรุ่นใหม่มาก คือ ญี่ปุ่นชนะสงครามรัสเซีย และเมื่อเผชิญกับตะวันตกนั้น สยามในรัชกาลที่ 5 เลือกรักษาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ญี่ปุ่นเลือกให้มีรัฐธรรมนูญ ใน ร.ศ. 130 จะเห็นได้ว่าญี่ปุ่นก้าวหน้ากว่าสยามมากด้วยระบบที่มีรัฐธรรมนูญ
 
ทั้งนี้แนวคิดของ ของ ร.ท. จรูญ ณ บางช้าง  อธิบายถึงแรงจูงใจในการเปลี่ยนแปลงการปกครองว่า
“การที่ให้กษัตริย์เป็นผู้กครองโดยมีอำนาจอยู่เหนือกฎหมายนั้น เอื้อให้กษัตริย์ทำการชั่วร้ายอย่างหนึ่งอย่างใดก็ทำได้”  “เรา ชอบพูดว่า ร.ศ. 130 เป็นกบฏทหารซึ่งไม่เชิงว่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะมีนายแพทย์เข้าร่วม มีนายทหารที่จบวิชากฎหมายเป็นนายทหารพระธรรมนูญ มีองค์ประกอบที่หลากหลาย”
 
การถูกจับกุม  
กบฏ ร.ศ. 130 จบลงโดยไม่ประสบความสำเร็จเพราะ ขุนยุทธกาจกำจาย หรือ รต. แต้ม คงอยู่ มาเข้าประชุมและเสนอรายงานต่อกรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ทำให้คณะทั้งหมดถูกกำจัด จากนั้นรต. แต้ม คงอยู่ ได้รางวัลไปเรียนวิชาทหารที่เยอรมัน กลับมารับราชการจนเลื่อนยศเป็นกระยากำแพงรามภักดี แต่ถูกปลดหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากนั้นได้เข้าร่วมกับกบฎบวรเดช ถูกจับกุมแล้วผูกคอตายในส้วมภายในห้องขังโดยเขียนข้อความก่อนตายว่า “You shall live, I shall die but people will recall and cry”
 
คณะผู้ก่อนการ ร.ศ. 130 ถูกจับดำเนินคดี 91 คน ถูกถอดยศและจำคุก 23 คน และจำที่คุกมหันตโทษ
 
ประเด็นสุดท้ายคือ มีลักษณะอะไรบางอย่างที่น่าสนใจว่า เสนาบดีต่างประเทศของสยามได้แถลงถึงกรณี ร.ศ. 130 ว่า สาเหตุที่รัฐบาลจับกุมกลุ่มทหารไม่ใช่เพราะความคิดที่เรียกร้อง คอนสติติวชั่นเพราะรัชกาลที่ 6 มีน้ำพระทัยกว้าง และเข้าพระทัยเรื่องเดโมเครซี แต่ที่จับกุมเพราะทหารจะใช้วิธีรุนแรงและทำร้ายพระมหากษัตริย์
 
“การแถลงแบบนี้ทำให้เห็นว่าการใส่ร้ายป้ายสีมีมาแต่สมยนั้น” ผศ. สุธาชัยกล่าว และตั้งข้อสังเกตต่อไปว่า  คือกรมหลวงพิษณุโลกประชานาถบอกว่ารัชกาลที่ 6 นิยมระบบเดโมเครซี แต่สยามไม่พร้อม สรุปว่าเมื่อร.ศ. 130 ชนชั้นนำ ก็บอกว่าสยามไม่พร้อม ซึ่งก็ใช้เป็นข้ออ้างว่าประชาชนไม่พร้อมมาตลอด แต่แต่ 2475เป็นต้นมาเป็นหนึ่งในคำอธิบายที่ยืนยงคงคู่ประวัติศาสตร์ 80 ปีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง  
 
 
 
ทำไมยังกลับไปพูดเรื่องเดิม

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มธ.
กล่าวว่า หลายประเทศเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองเหตุการณ์นั้นก็จะจบไป มีเส้นแบ่งชัดเจน เช่น อินโดนีเซีย พม่า จีน สหรัฐฯ หลังปฏิวัติและตั้งรัฐบาลใหม่ จะไม่มีการกลับไปถามว่า ทำไมก่อนหน้านั้นจึงทำอย่างนั้น วิจารณ์ว่าไม่ได้เรื่อง หรือจะนำขึ้นศาล เพราะมันจบไปแล้ว มีเพียงประเทศไทยซึ่งอัศจรรย์มากที่โยงความคิดหลักโยงกลับไปต้นรัตนโกสินทร์ ได้
 
ความได้เปรียบของผู้นำสยาม
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่สมัย ร.3 ที่สยามเปิดประเทศแล้ว มีการค้า มีประเด็นเรื่องอาณาเขต แต่สิ่งหนึ่งที่เข้ามาด้วยคือความคิดและเทคโนโลยีแบบใหม่ รวมๆ เรียกว่าภูมิปัญญาแบบใหม่ เข้ามาแล้ว และสังสรรค์กับความคิดเก่า ทั้งนี้ ถ้าเราชอบนิทานที่ว่า สยามไม่เคยเป็นอาณานิคม การไม่เป็นอาณานิคมนั้นก็ทำให้ภูมิปัญญา โลกทัศน์สยามเก่ากับความคิดสมัยใหม่ แลกเปลี่ยนถ่ายทอดกัน เปิดโอกาสให้ชนชั้นนำของสยามเลือกที่จะเชื่อได้ 
 
ธเนศ กล่าวว่า การรับแนวความคิดใหม่ไม่ใช่เรื่องที่ผู้นำสยามปฏิเสธ โดยเมื่อหมอบรัดเลย์เข้ามาขอเผยแพร่ศาสนาในวัดนั้น ร.4 ไม่ได้ขับไล่หรือกีดกัน แต่ได้ขอว่าหลังพูดเรื่องไบเบิลแล้วให้สอนภาษาอังกฤษให้พระด้วย ทั้งนี้ ด้วยอิทธิพลจากโลกภายนอกนี้เอง ทำให้กลุ่มเจ้านาย ในปี ร.ศ.103 เสนอให้เปลี่ยนระบอบการปกครอง โดยหากไม่เปลี่ยนรูปแบบการปกครอง สยามอาจกลายเป็นอาณานิคมได้ 
 
ขณะนั้น ชนชั้นนำก็ได้ปรับตัวและสร้างคำอธิบายใหม่เพื่อรองรับการปกครองของตัวเอง ขณะที่สามัญชนเสียเปรียบ เพราะไม่ได้ศึกษาจากตำรา เช่น เทียนวรรณ ที่เรียนรู้ด้วยตัวเอง และถูกเบรคว่าไม่มีความรู้พอ โดยสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ชนชั้นนำเห็นการเปลี่ยนแปลงที่อำนาจทางโลกกลายเป็นอำนาจนำแทนธรรมะ จึงมีการอธิบายการปกครองเป็นสิทธิขาดของกษัตริย์ ไม่ใช่เรื่องบารมี เป็นเรื่องหน้าที่และความเหมาะสม จนเมื่อรัชกาลที่ 6 มีการเน้นเรื่องชาติสมมติ
 
อย่างไรก็ตาม คำอธิบายของฝ่ายเจ้าที่ทำให้กษัตริย์มีอำนาจมากขึ้น จนนำสู่ทางตัน ทำให้การเปลี่ยนการปกครองโดยสันติเป็นไปได้ยาก ทั้งที่หากอยู่ในสภาพสังคมเปิด แลกเปลี่ยนทางความคิด โอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงจากภายในหรือรองรับการเปลี่ยนแปลงจากภายนอกจะทำได้ จึงเกิดคณะ ร.ศ.130 และคณะราษฎรขึ้น
 
ธเนศ ตั้งข้อสังเกตว่า หลังถูกจับกุม คณะร.ศ.130 ถูกเรียกว่าผู้ก่อการกำเริบ ไม่ใช่กบฏ โดยเหตุผลที่ฝ่ายเจ้าไม่เรียกว่าเป็นกบฏ เพราะไม่ต้องการยกฐานะให้มีบทบาทเทียบกับชนชั้นนำ นั่นคือยังเอาคติเก่ามาใช้ว่าการเปลี่ยนแปลงการเมืองเป็นของกษัตริย์ ราษฎรเป็นเพียงสิ่งที่แสดงถึงฐานะความชอบธรรมของกษัตริย์เท่านั้น และเมื่อเป็นเช่นนี้ จึงยิ่งทำให้ปมเงื่อนไม่คลี่คลายมากขึ้น ทำให้ต่อมาเกิดคณะราษฎรขึ้น 
 
ธเนศ สรุปว่า ปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองสมัยใหม่ หนีไม่พ้นต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงทางอุดมการณ์ความคิด ซึ่งโลกทัศน์ของการเมืองแบบเก่าไม่มีความคิดของราษฎรของประชาชน เมื่อพูดไม่ได้ ก็ต่อรองไม่ได้ และเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ทางออกของคนที่เริ่มตื่นตัวทางการเมืองจึงต้องกบฏทั้งนั้น
 
 
หมายเหตุ
1.รายงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเสวนา 
อภิปราย “100 ปี กบฏประชาธิปไตย ร.ศ. 130” ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ-สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ- ณัฐพล ใจจริง-เพ็ญพิสุทธิ์ อินทรภิรมย์-ฉลอง สุนทราวาณิชย์ จัดโดยหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ร่วมกับ มูลนิธิโครงกาตำราสังคมศาสตร์ฯ และสมาคมจดหมายเหตุสยาม
2.ณัฐพล ใจจริง อาจารย์ประจำ ราชภัฏสวนสุนันทา พูดเรื่องแนวคิดของคณะร.ศ.130 สามารถติดตามเนื้อหาการอภิปรายได้ที่ ณัฐพล ใจจริง: แนวคิดและอุดมการณ์ของขบวนการ ร.ศ.130
3.ภาพโดย เสกสรร โรจนเมธากุล