“แด่การปฏิวัติสยาม 2475, คณะราษฎร และผู้ถางทางประชาธิปไตยไทยอันไร้นามสกุล”
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ [1]
0 0 0
ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า ประเทศเรานี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง บรรพบุรุษของราษฎรเป็นผู้ช่วยกันกู้ให้ประเทศมีอิสรภาพพ้นมือจากข้าศึก พวกเจ้ามีแต่ชุบมือเปิบ และกวาดรวบทรัพย์สมบัติเข้าไว้ตั้งหลายร้อยล้าน เงินเหล่านี้เอามาจากไหน? ก็เอามาจากราษฎร เพราะวิธีทำนาบนหลังคนนั้นเอง
ประกาศคณะราษฎร 24 มิถุนายน 2475 [2]
ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้า อยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใดโดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาดและโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร
พระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติ 2 มีนาคม 2478 [3]
พล็อตประวัติศาสตร์กระแสหลักของชาติไทย ถูกวางรากฐานให้เป็นเครื่องมือสร้างความทรงจำร่วมเพื่อเอกภาพของรัฐ อดีตอันยิ่งใหญ่เท่านั้นที่จะสร้างปมเด่นให้กับประเทศชาติ เราจึงมีประวัติศาสตร์ที่อาศัยจินตนาการสูง แต่สมรรถภาพในการตั้งคำถามต่ำ ตั้งแต่พล็อต “คนไทยมาจากเทือกเขาอัลไต” กับการอธิบายประวัติศาสตร์ราชธานีสี่กรุง กรุงสุโขทัย-กรุงศรีอยุธยา-กรุงธนบุรี-กรุงรัตนโกสินทร์ ในที่สุดประวัติศาสตร์ไทยจึงจอดเทียบท่าอยู่กับความส่องสว่างของยุค รุ่งเรืองถึงขีดสุดในรัชกาลที่ 5 ขณะที่ความเรืองรองของประวัติศาสตร์ปฏิวัติสยาม 2475 และความพลิกผันของสถานการณ์เมืองที่มีปัจจัยอันสลับซับซ้อน ได้ถูกทำให้ลืมๆกันไป ด้วยการยกความดี ความจริง ความงามของบางสิ่งบางอย่างเข้าแทนที่ พร้อมโครงเรื่องง่ายๆ ที่แบ่งข้างด้วยความดี ความชั่ว ขาว ดำ พระเอก ผู้ร้าย ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากในการสร้างความจดจำ แม้มันจะไม่บันเทิงใจเท่าละครหลังข่าวเท่าใดนักก็ตาม
ประวัติศาสตร์ระยะใกล้ โดยเฉพาะการปฏิวัติสยาม 2475 ได้ถูกทำให้มีสถานะคลุมเครือ การพลิกอำนาจจากกษัตริย์มาสู่ประชาชนอันเป็นความสำเร็จที่ท้าทายและมีราก เหง้าของความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย ก็ถูกอธิบายง่ายๆว่า ครั้งนั้นเป็นเพียงการแค่อำนาจที่เปลี่ยนมือจากผู้มีอำนาจเดิม คือ กษัตริย์ไปสู่มือของชนชั้นนำที่ไม่ได้มีเชื้อเจ้าเท่านั้น การโต้แย้งถกเถียงถึงความสำเร็จหรือความล้มเหลวของคณะราษฎรจึงมีข้อจำกัด และส่วนใหญ่จะเห็นพ้องกันด้วยซ้ำว่า คณะราษฎรเป็นต้นตอของสภาพสังคมไทยอันวุ่นวาย สังคมที่อยู่ในวังวนของการแก่งแย่งชิงดีของอำนาจของนักการเมือง เป็นจุดเริ่มต้นของวงจรอุบาทว์แห่งความเลวร้าย ซึ่งอยู่ในขั้วตรงกันข้ามกับความบริสุทธิ์ของสิ่งดีงามที่บริสุทธิ์ “ไร้การเมือง” อย่างสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
หลังจากการรื้อฟื้นอำนาจของสถาบันกษัตริย์ตั้งแต่ทศวรรษ 2490 และปรากฏผลอย่างจริงจังในทศวรรษ 2500 ได้ส่งผลให้รัชกาลที่ 7 ทรงกลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้กับเผด็จการทหารไปในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ในอีกด้านหนึ่งก็เบียดบังความสำคัญและความทรงจำต่อคณะราษฎรออกไปจากความทรง จำร่วมของสังคมไทยได้อย่างเหลือเชื่อ 80 ปีของการเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองการปกครองของไทยมาสู่ระบอบประชาธิปไตย นอกจากจะเป็นวาระที่สมควรเฉลิมฉลอง ผลิตซ้ำความหมาย ความคิด ความรู้และประวัติศาสตร์ของการปฏิวัติสยามและคณะราษฎรแล้ว เราควรจะมองปัจจัยที่ทำให้คณะราษฎรและการปฏิวัติสยามถูกลดทอนคุณค่าลงไป
ผู้เขียนเห็นว่า การประเมินความเคลื่อนไหวทางการเมืองในอีกฝั่งฟากเป็นเรื่องสำคัญ ในที่นี้ผู้เขียนสนใจเขียนถึงและครุ่นคิดกับองค์กรประชาธิปไตยองค์กรหนึ่ง ที่อยู่ใต้การควบคุมของรัฐนั่นคือ สถาบันพระปกเกล้า อาจกล่าวได้ว่า สถาบันดังกล่าวเป็นผลผลิตของพลังของตำนานกษัตริย์นักประชาธิปไตยที่ขยาย ตัวอย่างชัดเจนในกลางทศวรรษ 2510 เป็นต้นมา
บทความชุดนี้ได้แบ่งย่อยเป็น 3 ตอน จะขอเปิดประเดิมด้วยจุดเริ่มต้นการสถาปนาสถาบันพระปกเกล้า
1. จากผู้แพ้ สู่ ผู้ชนะ รัชกาลที่ 7 กับฐานะอันสูงเด่นหลัง 14 ตุลา 16
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 นับเป็นกษัตริย์พระองค์เดียวในราชวงศ์จักรีที่ไม่มีการสร้างพระเมรุมาศและ การออกพระเมรุ ณ ท้องสนามหลวง เนื่องจากพระองค์เสด็จสวรรคตต่างแดน ในปี 2484 ช่วงเวลาดังกล่าวตรงกับยุคทองของคณะราษฎรที่เป็นคู่ขัดแย้งกันอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการลงเอยด้วยการประกาศสละราชสมบัติในปี 2478 ต้องรอให้คณะราษฎรเสื่อม จนตกลงจากบัลลังก์อำนาจด้วยการรัฐประหารปี 2490 การฟื้นฟูพระเกียรติยศจึงได้รับการตอบสนองจากรัฐบาล ในขณะเดียวกันการฟื้นคืนอำนาจของกลุ่มนิยมเจ้าในทศวรรษ 2490 ทำให้เจ้านายกลับมามีบทบาทในพื้นที่สาธารณะมากขึ้น เรื่องเล่าเกี่ยวกับกษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ถูกหยิบฉวยมาใช้ในการอธิบายในฐานะคุณูปการต่างๆ ต่อสังคมไทย หนึ่งในนั้นก็มีเรื่องของรัชกาลที่ 7 อยู่ด้วยปี 2492 พบว่ารัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม กราบทูลสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ขอให้ทรงอัญเชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกลับสู่ประเทศ ไทย [4] อีกไม่กี่ปีต่อมาก็พบว่ามีการประชุมคณะรัฐมนตรี ปี 2496 [5] และมีข้อเสนอให้จัดสร้างอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 7 ขึ้น ให้รื้อป้อมกลางของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และให้นำอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 7 ที่กล่าวกันว่ามีขนาดใหญ่ถึง 3 เท่าตัวคนไปแทนที่ เหตุผลก็คือ พานรัฐธรรมนูญเป็นเพียง “สิ่งของ” ขณะที่ “พระบรมรูป” เป็นเพียงความเหมาะสมในการระลึกถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ดีกว่า ดังนั้นในมุมนี้รูปเคารพที่เป็นมนุษย์จับต้องได้ จึงมีความสำคัญกว่าสัญลักษณ์ในเชิงหลักการ
นอกจากนั้น ความสำคัญของรัชกาลที่ 7 ยังถูกผลิตซ้ำด้วยพระบรมราชินีของพระองค์ นั่นคือ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ปรากฏเรื่องเล่าว่า พระองค์เสด็จมาที่จันทบุรีเพื่อสร้างพระตำหนักส่วนพระองค์ ทรงทำมีดบาดพระดัชนี (มีดบาดนิ้ว) จึงเข้าโรงพยาบาลจันทบุรี [6] โรงพยาบาลขณะนั้นมีขนาดเล็ก จึงทรงเห็นว่าควรจะช่วยเหลือ ในปี 2497 ทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างตึกศัลยกรรม ปรากฏว่ามีพระญาติวงศ์ ข้าราชการประชาชน เข้าร่วมบริจาคสมทบด้วย อาคารหลังดังกล่าวแล้วเสร็จในปี 2499 ได้ชื่อว่า “ตึกประชาธิปก” และยังได้ใช้ “ตราศักดิเดชน์” ประจำรัชกาลที่ 7 เป็นตราประจำตึกอีกด้วย มีการบันทึกว่า มุขหน้าตึกได้มีการสร้างพระบรมรูป พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวประดิษฐานไว้ด้วย เข้าใจว่าน่าจะเป็นครั้งแรกๆ ที่มีการสร้างพระบรมรูปฯ รัชกาลที่ 7 ในที่สาธารณะ สอดคล้องกับการที่รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม อนุมัติคณะรัฐมนตรีให้เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงพยาบาลพระปกเกล้า” เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระบรมราชานุสรณ์
อย่างไรก็ตามในบริบททางประวัติศาสตร์ ปลายทศวรรษ 2490 เป็นช่วงที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบสาธารณสุข เป็นอย่างมาก พบหลักฐานว่ารัฐบาลให้งบประมาณในการปรับปรุงและสร้างสถานพยาบาล จนขยายตัวขึ้นอย่างเห็นได้ชัด [7]
พระบรมราชานุสาว
รีย์ รัชกาลที่ 7 โรงพยาบาลพระปกเกล้า จ.จันทบุรี ที่มา : วังสวนบ้านแก้ว
http://www.rbru.ac.th/bankeaw/kittikun/index.php?option=com_content&view=article&id=21:-qq&catid=3:2010-12-08-17-36-51&Itemid=3
สมเด็จพระ
นางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีทรงอัญเชิญพระบรมอัฐิ
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกลับสู่ประเทศไทย ในปี 2492
หลังจากสวรรคต 8 ปี ที่มา :
http://th.wikipedia.org/wiki/พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ภายใต้สังคมเผด็จการ ทศวรรษ 2500 มีผู้เสนอให้สร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 7 .อีกครั้ง ในฐานะที่พระองค์ทรงวางรากฐานเกี่ยวกับประชาธิปไตย จนประเทศไทยได้เจริญรุ่งเรืองมาได้ วิชัย ประสังสิต เป็นผู้เสนอในปี 2505 [8] ที่ตลกร้ายก็คือ นี่ถือเป็นการระลึกถึงคุณงามความดีของประชาธิปไตยภายใต้การปกครองเผด็จการ ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์! ความบิดเบี้ยวดังกล่าว ยังสอดคล้องกับการลบความทรงจำเกี่ยวกับประชาธิปไตยที่สัมพันธ์กับคณะราษฎร ออกไป ถึงขนาดว่ากันว่าชาวธรรมศาสตร์จำนวนมากในยุคก่อน ไม่รู้จักปรีดี พนมยงค์ ว่ามีบทบาทสำคัญอย่างไรทั้งในนามผู้ประศาสน์การ ธรรมศาสตร์และมันสมองของคณะราษฎรเสียด้วยซ้ำ [9] ดังนั้นจึงไม่แปลกที่กระแสภูมิปัญญาของปัญญาชนและนักศึกษา ตั้งแต่ทศวรรษ 2510 เป็นต้นมา จึงผนวกรวมรัชกาลที่ 7 เป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอย่างไม่ตะขิดตะขวงใจใดๆ
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และประจักษ์ ก้องกีรติ [10] แสดงให้เราเห็นถึงพลังของ พระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติ ที่มีต่อการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาช่วง 14 ตุลา 16 ตัวบทที่ถูกคัดลอกออกมาจากบริบทเพียง 3 บรรทัด โดยละเลยข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ของเอกสาร ที่มีการต่อรองและต่อสู้ทางการเมืองระหว่างคณะราษฎรกับรัชกาลที่ 7 อย่างถึงพริกถึงขิงที่เกิดขึ้นตลอดเอกสาร ยิ่งเสริมให้ภาพลักษณ์ของรัชกาลที่ 7 มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น นั่นคือ ทำให้รูปเคารพอันศักดิ์สิทธิ์มีบทพูดที่เฉียบแหลม ขณะที่ทรงยืนอยู่กับประโยชน์สาธารณชนเป็นใหญ่
พลังของการอ้างอิงข้อความดังกล่าวในด้านหนึ่งแล้ว มันเสริมความแข็งแกร่งให้กับความเคลื่อนไหวของประชาชน แต่ในอีกด้านหนึ่งมันก็กล่าวได้ว่า เป็นการปักหมุดความวิเศษและภาพลักษณ์ใหม่ของรัชกาลที่ 7 ในนามของกษัตริย์นักประชาธิปไตย ในที่สุดพลังถ้อยคำของเอกสารนี้ ได้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมืองเพื่อโค่นล้มเผด็จการ ข้อความดังกล่าวไปปรากฏในหนังสือของกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญที่ว่ากันว่า เป็นเอกสารชิ้นสำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งของขบวนการนักศึกษายุคนั้น การแจกจ่ายเอกสารนี้นำไปสู่การจับกุมนักศึกษา อันลุกลามไปสู่เหตุการณ์อันไม่คาดฝันนั่นคือ 14 ตุลา 16
ส่วนหนึงของ พระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติ รัชกาลที่ 7
ส่วนหนึงของ พระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติ รัชกาลที่ 7 ที่ถูกคัดลอกมาเพียงส่วนหนึ่ง ปรากฏอยู่ใน “กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ”
เดือนมกราคม 2517 สมาชิกสภานิติบัญญัติที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติที่เกิดขึ้นจาก 14 ตุลาคม 16 จำนวนหนึ่งได้เสนอให้สร้างพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 7 อีกครั้ง หลังจากที่เคยมีการนำเสนอไปในคณะรัฐมนตรีรัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจร ในปี 2512 แต่คณะรัฐมนตรีสมัยนั้นไม่เคยนำเรื่องเข้าพิจารณา จนรัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ ลงมติเห็นชอบและให้สำนักเลขาธิการรัฐสภาเป็นเจ้าของเรื่องดำเนินการ [11] นั่นได้ตอกย้ำให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ภาพลักษณ์กษัตริย์ประชาธิปไตยของรัชกาลที่ 7 คือ พลังสำคัญอย่างหนึ่งในการโค่นล้มเผด็จการทหารจนประเทศได้รับประชาธิปไตย การผลักดันสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์จึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้
2. จาก 14 ตุลา 16 สู่ 6 ตุลา 19 ชัยชนะยังเป็นของฝ่ายเจ้า
ความหมายของประชาธิปไตยกับรัชกาลที่ 7 ถูกผลิตซ้ำเข้าด้วยกันอย่างแน่นแฟ้น เมื่อเดือนมกราคม 2518 กรมไปรษณีย์โทรเลข พิมพ์ตราไปรษณียากรชุด “14 ตุลาคมรำลึก” ออกจำหน่าย มีอยู่ 4 รูปแบบ คือ ตราไปรษณียากร มูลค่า 75 สตางค์ที่เป็นรูปอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 2 บาท และ ภาพปั้นนูนที่เป็นส่วนล่างของปีกอนุสาวรีย์ มูลค่า 2.75 บาท และสุดท้าย ภาพพานรัฐธรรมนูญและมีข้อความ “ข้าพเจ้ามีความเต็มใจ…โดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร” พิมพ์ซ้อนทับลงไป มีมูลค่าสูงที่สุดนั่นคือ 5 บาท [12]ภาพประชาชนที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยเรือนหมื่นเรือนแสนแน่นขนัดถนน ราชดำเนิน กลับไม่ถูกเลือกให้เป็นภาพตัวแทนของพลังประชาธิปไตย ดังนั้นตราไปรษณียากรนี้จึงสะท้อนให้เห็นถึงการจับคู่ประชาธิปไตยที่ละเลย ความสำคัญของประชาชน และพลังของประชาชนที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย
ตราไปรษณียากรชุด 14 ตุลาคมรำลึก
หลัง 14 ตุลาคม 2516 จนถึง 6 ตุลาคม 2519 การเคลื่อนไหวของนักศึกษาและขบวนการประชาชน เกษตรกร ชาวนาชาวไร่ และกรรมกร เพื่อเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ ของสามัญชนไม่ว่าจะเป็นการเดินขบวน การหยุดงานประท้วง มีมากขึ้นทุกที ความเคลื่อนไหวดังกล่าวได้ก่อความหวาดระแวงให้กับชนชั้นนำมากขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับอาการตื่นตระหนกเสียขวัญของชนชั้นนำ หลังจากที่พรรคคอมมิวนิสต์ลาวสามารถยึดครองประเทศได้ในปี 2518 ก็ได้ทำให้ความเคลื่อนไหวดังกล่าวถูกประเมินว่า มีฝ่ายซ้ายชักใยอยู่เบื้องหลังนั่นคือ ภัยคุกคามขั้นอุกฤต ดังนั้นภาพลักษณ์ของการเรียกร้องประชาธิปไตยของประชาชน หลัง 14 ตุลา 16 จึงกลายเป็นภาพลบ ฝ่ายนักศึกษาและประชาชนที่ก้าวหน้า ก็ดูเหมือนจะก้าวล้ำเส้นมากไปจนน่าหวาดหวั่น จึงไม่แปลกที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมจะมีการจัดตั้งมวลชนอย่างเป็นระบบ กลุ่มนวพล กระทิงแดง ลูกเสือชาวบ้าน คือ มวลชนขวาจัดอันเกรี้ยวกราด พวกเขาต่อต้านเหล่านักศึกษาและประชาชนอย่างอุกอาจและเปิดเผยหลายครั้ง ท่ามกลางบรรยากาศการปลุกระดมสร้างความเกลียดชังด้วยสื่อวิทยุจากฝ่ายรัฐบาล และหนังสือพิมพ์ ซึ่งในเวลาต่อมาได้นำไปสู่โศกนาฏกรรมทางการเมืองที่โหดเหี้ยมอย่างยิ่งที่ เราทราบกันดี นั่นคือเหตุการณ์ 6 ตุลา 19
ความวุ่นวายอันเนื่องมาจากประชาธิปไตย หรือการสูญเสียในเหตุการณ์โศกนาฏกรรม กลับไม่มีผลกระทบต่อตำนานกษัตริย์ประชาธิปไตยใดๆ สถานะตัวแทนประชาธิปไตยจึงยังคงอยู่ร่วมกับความศักดิ์สิทธิ์ของสถานะ กษัตริย์ได้ ภาพลักษณ์ของกษัตริย์นักประชาธิปไตยของรัชกาลที่ 7 ที่ปราศจากรอยมลทินใดๆ กลับยิ่งทวีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ
3. รูปเคารพกับอุดมการณ์อนุรักษ์นิยม และพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 7 ณ รัฐสภา
หลังจากการอนุมัติก่อสร้าง พระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 7 แล้วเสร็จ ได้มีกำหนดการพิธีเปิด ก็คือวันที่ 10 ธันวาคม 2523 อันถือพระราชพิธีควบกัน 2 งาน นั่นคือ “พระราชพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” และ “พระราชพิธีฉลองวันพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ธันวาคม พุทธศักราช 2523”ความสำคัญของอนุสาวรีย์นี้แสดงอย่างชัดเจนว่าอะไรคืออะไร
รัฐสภา ที่เป็นสัญลักษณ์ของศูนย์กลางอำนาจอธิปไตยของประชาชน กลับถูกพื้นที่ทางการเมืองอีกแบบหนึ่งวางซ้อนทับ ที่น่าสนใจก็คือ พระบรมราชานุสาวรีย์นั้น ได้โฟกัสความสำคัญไปที่รัชกาลที่ 7 และพระราชหัตถเลขาอันลือลั่นเท่านั้น แต่ไม่ยักปรากฏชัยชนะของประชาชนที่มีส่วนร่วมในการโค่นเผด็จการในช่วง 14 ตุลา 16 เลยแม้แต่น้อย
ที่น่าสังเกตก็คือ พระบรมรูปนี้ประทับนั่งในพระอิริยาบถเดียวกับตอน “พระราชทานรัฐธรรมนูญ” ต่างกับพระบรมรูปทรงประทับยืนที่โรงพยาบาลพระปกเกล้า นอกจากนั้นบริเวณฐานไม่มีพระราชประวัติจารึกไว้ เช่นเดียวกับอนุสาวรีย์อื่นๆ [13] พื้นที่ทางการเมืองนี้ได้แยกพระบรมรูปออกมาเป็นเอกเทศมากขึ้นเมื่อมีการจัด ตั้ง มูลนิธิพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในเวลาใกล้เคียงกัน [14] หรืออาจกล่าวได้ว่า การผลิตซ้ำพิธีกรรมทุกปี ได้ทำให้พระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 7 เปรียบเสมือนเป็นศาลเจ้าประชาธิปไตยที่กลายเป็นรูปเคารพอันศักดิ์สิทธิ์ ประจำรัฐสภาไปในที่สุด นอกจากนั้นพบว่า ยังมีส่วนที่เกี่ยวเนื่องกันนั่นก็คือ พิพิธภัณฑ์รัฐสภาที่อยู่ในตำแหน่งใต้พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ได้พระราชทานสิ่งของส่วนพระองค์นำมาจัดแสดงพร้อมกันด้วย พิพิธภัณฑ์นี้อยู่ในการกำกับดูแลของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เปิดให้ประชาชนเข้าชมในปี พ.ศ. 2523 พิพิธภัณฑ์นี้ในเวลาต่อมาได้ย้ายไปสร้างใหม่ ณ อาคารกรมโยธาธิการเดิม บริเวณถนนราชดำเนิน
อนุสาวรีย์แห่งนี้เปิดขึ้นปีเดียวกับ การออกคำสั่ง 66/2523 ที่นำไปสู่ชัยชนะเหนือพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) อนุสาวรีย์แห่งนี้เกิดขึ้นพร้อมๆกับอนุสาวรีย์ที่ระลึกถึงผู้เสียสละในการ ต่อสู้กับ พคท. เช่น อนุสาวรีย์เราสู้ จ.บุรีรัมย์ (2523) อนุสาวรีย์วีรชนอาสาสมัครทหารพราน (2524) อนุสาวรีย์ผู้เสียสละเขาค้อ (2527) [15]
พระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 7 ณ อาคารรัฐสภา เปิดเมื่อ 10 ธันวาคม 2523
ในช่วงนี้ กระแสอนุรักษ์นิยมเฟื่องฟูขึ้นจากนโยบายของรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ พระราชพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาพร้อมๆกับ การเบ่งบานของประวัติศาสตร์แห่งชาติกระแสหลักที่มีสถาบันกษัตริย์เป็น แกนกลาง งานรัฐพิธีที่แสดงความยิ่งใหญ่ของชุดความคิดดังกล่าว ก็คือ งานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปีในปี 2525 งานสมโภชประกอบด้วยแผนงานหลักๆ ก็คือ ชาติ, ศาสนา, พระมหากษัตริย์ และการประมวลเอกสารทางประวัติศาสตร์ของชาติไทย ยังพบว่ามีความพยายามอ้างอิงถึงปี 2475 ที่รัชกาลที่ 7 สมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ครบ 150 ปีอีกด้วย [16]
ไม่เพียงเท่านั้น ทศวรรษ 2520 ยังเป็นช่วงที่อนุสาวรีย์วีรบุรุษในประวัติศาสตร์แห่งชาติ ผุดขึ้นทั่วประเทศอย่างคึกคัก [17] ได้แก่ พระบรมรูปสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก อุทัยธานี (2522) พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ระนอง (2522) พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ระยอง (2522) พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จันทบุรี (2524) พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (2525) ฯลฯ
ขณะที่ การสวรรคตของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ในปี 2527 ได้ทำให้รัฐบาล รื้อฟื้นงานประเพณีออกพระเมรุมาศกลางท้องสนามหลวงในปี 2528 หลังจากที่งานออกพระเมรุครั้งสุดท้ายคือ งานออกพระเมรุมาศของ สมเด็จพระพันวสาอัยยิกาเจ้า ในปี 2498 ที่ขาดช่วงไปกว่า 3 ทศวรรษ โอกาสนี้จึงถือเป็นงานออกพระเมรุที่แสดงถึงพระราชอำนาจและความยิ่งใหญ่ของ ราชวงศ์ผ่านพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สามัญชนเป็นเพียงผู้ชมและเสพรับความหมาย อันศักดิ์สิทธิ์นั้นให้ฝังแน่นในมโนสำนึก
พระเมรุมาศสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี (2528)
ธนบัตรฉบับละ 50 บาท ด้านหลังเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ (2528)
ในปีเดียวกันนี้ยังพบว่า มีการพิมพ์ธนบัตรฉบับใบละ 50 บาท โดย ธนาคารแห่งประเทศไทย ด้านหลังมีภาพประธานคือ “พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ อาคารรัฐสภา และพระที่นั่งอนันตสมาคม” โดยจุดมุ่งหมายของการจัดพิมพ์ธนบัตรแบบนี้ ระบุว่าเพื่อร่วมเฉลิมฉลองงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี [18]
4. การก่อรูปกลุ่มการเมือง หลังวิกฤตการณ์ พฤษภาคม 2535
หลังวิกฤตการณ์การเมืองหลังพฤษภาคม 2535 ที่มีฉากหน้าคือ การต่อสู้ระหว่างฝ่ายธรรมะและอธรรมอีกรอบ ทหารที่นำโดยพลเอกสุจินดา คราประยูร ปะทะและสังหารประชาชน บาดเจ็บ เสียชีวิตจำนวนมาก ตามโครงเรื่องหลักแห่งชาติ จบลงด้วยพระบารมีหลังจากที่เชิญให้สุจินดา คราประยูรและจำลอง ศรีเมือง เข้าเฝ้า และได้นำบรรยากาศการเข้าเฝ้าถ่ายทอดเทปบันทึกเหตุการณ์ผ่านทางโทรทัศน์รวม การเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยนอกจากนั้นปี 2535 ยังถือว่าเป็นวาระครบรอบ 60 ปีการปฏิวัติสยาม 24 มิถุนายน 2475 อีกด้วย แต่ไม่วายที่วาทกรรมกษัตริย์นักประชาธิปไตย ยังสำแดงฤทธิ์ได้อยู่ ดังเห็นได้จากการพิมพ์หนังสือ อนุสสติ 60 ปีประชาธิปไตย ข้อความที่ปรากฏหน้าแรกคือข้อความ “ข้าพเจ้ามีความเต็มใจ…” จากพระราชหัตถเลขาสละราชย์ของ ร.7 [19]
ความเปลี่ยนแปลงสำคัญของวิกฤตการณ์การเมืองครั้งนี้ มีการตีความว่า ได้ทำให้ดุลอำนาจการเมืองระดับชาติเปลี่ยนไป จากเดิมที่กองทัพและระบบราชการ เป็นอุปสรรคต่อประชาธิปไตย แต่หลังปี 2535 เป็นต้นมาได้ทำให้นักการเมืองที่เคยเป็นพลังที่เป็นคุณต่อประชาธิปไตยกลาย เป็นอุปสรรคไปแทน [20] พลังการเมืองที่มาจากตัวแทนประชาชนกลับถูกชี้นำว่าเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา ประชาธิปไตย ตรงกันข้ามกับพลังจากกองทัพและระบบราชการก็ดูไม่มีพิษสงเท่าเดิม หลังจากถูกบีบให้กลับไปตั้งหลักอยู่ในกรมกอง ขณะที่ก็ไม่ได้มีการปฏิรูปกองทัพในเชิงโครงสร้างอย่างจริงจังมากพอ ขณะที่กลุ่มการเมือง “ภาคประชาชน” “เอ็นจีโอ” ที่สมาทานความคิดชุมชนนิยมก็ขยายตัวขึ้น เช่นเดียวกับสถานะของสถาบันกษัตริย์ที่สูงอย่างยิ่งในฐานะผู้มีบทบาทต่อ ภูมิปัญญาสาธารณะ รวมไปจนถึงประชาธิปไตย [21]
เหตุการณ์
ความขัดแย้งช่วงพฤษภา 2535 หรือที่รู้จักกันว่า “พฤษภาทมิฬ” ที่มา Mthai.
"พฤษภาทมิฬ 2535". http://scoop.mthai.com/hot/143.html (17 พฤษภาคม 2552)
ในอีกด้านหนึ่ง พบว่ามีการรื้อฟื้นเกียรติภูมิของการปฏิวัติสยามขึ้น โดยเฉพาะงานเขียนที่ศึกษาภูมิปัญญาของการปฏิวัติสยาม 2475 เริ่มมีการพิมพ์หนังสือสู่ตลาดสาธารณะมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ความคิด ความรู้และอำนาจการเมืองในการปฏิวัติสยาม 2475 (2533) และ การปฏิวัติสยาม 2475 (2535) โดย นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ และ 2475 : การปฏิวัติของสยาม (2535) โดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ซึ่งชาญวิทย์เองจะมีบทบาทเชิดชูปรีดี พนมยงค์ คณะราษฎรและการปฏิวัติสยามอย่างจริงจังในเวลาต่อมา อย่างไรก็ตามสิ่งเหล่านี้เป็นภูมิปัญญากระแสรองที่ยังไม่เป็นที่รับรู้กัน มากนักในระดับสาธารณะ
5. จังหวะ 100 ปี รัชกาลที่ 7 ทำคลอด “สถาบันพระปกเกล้า”
วาระครบรอบ “100 ปี วันพระราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” ในปี 2536 ได้ถูกกำหนดเป็นวาระสำคัญของทางการ ขนาดว่ามีการจัดทำเหรียญที่ระลึก ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับการจัดทำเหรียญที่ระลึกใน พระราชพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ เมื่อปี 2523 รวมไปถึงการจัดทำดวงตราไปรษณียากร มูลค่า 2 บาท จำนวน 1 ล้านดวง [22]
แสตมป์ที่ระลึก 100 ปี วันพระราชสมภพ รัชกาลที่ 7
เหรียญที่ระลึก 100 ปี วันพระราชสมภพ รัชกาลที่ 7 (ด้านหน้า)
เหรียญที่ระลึก 100 ปี วันพระราชสมภพ รัชกาลที่ 7 (ด้านหลัง)
ในเวลาใกล้เคียงกัน ได้มีข้อเสนอให้ตั้ง “สถาบันพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” [23] โดย มารุต บุนนาค ประธานรัฐสภาขณะนั้น รายละเอียดก็คือ ได้มีคำสั่งรัฐสภาที่ 12/2536 วันที่ 7 ธันวาคม 2536 แต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งสถาบันพระปกเกล้าเจ้าอยู่ หัว โดยมี วันมูหะมัดนอร์ มะทา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานกรรมการพิจารณากำหนดรูปแบบและพิจารณาความเป็นไปได้ในการให้สถาบัน นี้สามารถดำเนินกิจการได้ในปี 2537 โดยมีหลักการและเหตุผลว่า เพื่อให้สถาบันดังกล่าวเป็นหน่วยงานทางวิชาการใต้การควบคุมของ “รัฐสภา” เมื่อเราพินิจการออกแบบองค์กรนี้แต่แรกเริ่ม จะเห็นว่าสถาบันนี้มีรากฐานมาจากอำนาจอธิปไตยของประชาชนนั่นคือ จากรัฐสภา ต่างจากองคมนตรี ต่างจากฝ่ายตุลาการที่ไม่ได้มีอำนาจยึดโยงจากประชาชน และเป็นเรื่องยากที่ประชาชนจะทำการตรวจสอบได้ ในโครงสร้างและกฎหมายที่ไม่เอื้อต่อการวิพากษ์วิจารณ์
ที่น่าสนใจก็คือ ตัวบทที่เน้นไปที่การเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตย ในหมู่สมาชิกพรรคการเมือง เจ้าหน้าที่พรรคการเมือง เจ้าหน้าที่องค์กรเอกชน ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ บริษัทเอกชน นักเรียนและนักศึกษาทั่วไป ซึ่งแตกต่างไปจากเดิมที่เห็นว่า ผู้ที่ควรได้รับการสั่งสอนคือ ชาวบ้านและประชาชนทั่วไปที่ยังโง่และไม่เข้าใจประชาธิปไตย แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า ในสำนึกทางการเมืองแล้ว พวกเขาจะเห็นว่าชาวบ้านและประชาชนไม่ใช่ตัวปัญหา ในทางกลับกันพวกเขาละเลยที่จะแก้ไขปัญหานั้น และหันหลังกลับเข้าสู่ชนชั้นกลางต่างหาก
หากเราพิจารณาโครงสร้างเดิมของรัฐสภาที่ทำหน้าที่นี้ พบว่ามี 2 หน่วยงานซึ่งฐานะเทียบเท่าระดับกรม ได้แก่ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา พูดง่ายๆก็คือว่า ทั้งสองเป็นตัวแทนของอำนาจอธิปไตยที่มาจากปวงชนชาวไทย ซึ่งหมายความว่า ในทางทฤษฎีและอุดมคติแล้ว รัฐสภาจะต้องรับใช้ประชาชนโดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง หรือการตีกรอบจำกัดแต่ “อุดมการณ์ทางการเมืองที่ถูกต้อง” อุดมการณ์ใด อุดมการณ์หนึ่ง องค์กรที่จะสนับสนุนประชาธิปไตยจะต้องใจกว้าง หนักแน่นในหลักการ และเปิดรับอุดมการณ์และความคิดเห็นทางการเมืองที่หลากหลาย กระทั่งการยืนยันสิทธิที่จะคิดเห็นต่าง หรือมีข้อเสนอทางการเมืองที่อย่างน้อยเทียบได้กับมาตรฐานประชาธิปไตยในสากล โลก
ตัวอย่างก็คือ กรณีที่เคยมีความเคลื่อนไหวในการรื้อฟื้นพรรคสังคมนิยมขึ้นมาใหม่ในปี 2552 แต่ก็มีคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ออกมาขวางคลองไม่อนุญาตรับจดทะเบียน [24] สิ่งนี้ควรจะเป็นหน้าที่ของสถาบันที่อ้างตัวว่าสนับสนุนประชาธิปไตยแบบ รัฐสภาหรือไม่ ที่จะออกมายืนยันในความเป็นไปได้ตามหลักการสากล โดยการสนับสนุนความคิดนี้อย่างเป็นทางการ ตามหลักวิชา ไม่ใช่ปล่อยให้ประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่ไม่มีหลักการชัดเจน ลากคุณค่าสากลอันเป็นสมบัติของมนุษยชาติให้เข้ารกเข้าพงไปอย่างน่าเสียดาย
ดังนั้นการแยกงานออกมาจากทั้งสองหน่วยงานมาตั้งเป็นสถาบันใหม่โดยใช้ชื่อ ว่า สถาบันพระปกเกล้า จึงเป็นที่น่าตั้งคำถามว่า การเกิดขึ้นของนาม “พระปกเกล้า” และกลไกของสถาบันนี้ มีเหตุผลใดอื่นอีก นอกจากวาระครบ 100 ปี วันพระราชสมภพรัชกาลที่ 7
ถ้าหากสถาบันดังกล่าวมีจุดเริ่มต้นที่ “เลือกข้าง” แล้วอย่างชัดเจน ดังนั้นการยอมรับความคิดต่างอย่างใจกว้างและหลากหลายจึงเป็นไปได้ยาก ไม่ต้องฝันไปไกลถึงพรรคคอมมิวนิสต์ หรือพรรคสังคมนิยมหรอก เพียงแค่การมีพื้นที่ให้กับ ปรีดี พนมยงค์ และคณะราษฎร ผู้เขียนเองยังไม่แน่ใจว่า “สถาบันพระปกเกล้า” จะวางตำแหน่งแห่งที่และจัดความสัมพันธ์อย่างไรให้มีที่ทางที่ไม่ขัดแย้งและ ทำลายความเป็นรูปเคารพ และสัญลักษณ์พิธีกรรมประชาธิปไตยที่พวกเขาพยายามสร้างกันมา
6. รัฐธรรมนูญ 2540 กับสมดุลการเมืองที่เปลี่ยนไปหลังโค่นกองทัพ
การร่างรัฐธรรมนูญที่เรียกกันภายหลังว่า รัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชน ปี 2540 มีกรอบคิดที่ “รังเกียจนักการเมือง” อุ้มชูแนวคิด “ชุมชนนิยม” เป็นรัฐธรรมนูญ เอื้อให้กับชนชั้นกลางในเขตเมืองที่ไม่พอใจ การเมืองแบบการเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญ 2540 กำหนดให้มีองค์กรอิสระเพื่อคอยตรวจสอบ ส.ส. นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี กำหนดให้ส.ส.ต้องจบปริญญาตรี ซึ่งเป็นการกีดกันชาวบ้านส่วนใหญ่ที่ไม่มีวุฒินี้ และพลังเหล่านี้เองจึงเป็นอุปสรรคที่แท้จริงต่อประชาธิปไตย [25]นอกจากนั้นวิกฤตเศรษฐกิจหลังจากการประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ทำให้เกิดการสั่นสะเทือนและการตั้งคำถามถึงระบบเศรษฐกิจทุนนิยมแบบที่เป็น อยู่อย่างมากมาย สำนักคิดชุมชนนิยมท้องถิ่นนิยมถึงเวลาตีปีก พร้อมๆกับการเกิดขึ้นของแนวคิด “ทฤษฎีใหม่” “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” พลังภูมิปัญญาเช่นนี้ได้ค่อยรวมตัวกันอย่างแข็งแกร่งอย่างมิได้นัดหมาย พระธรรมปิฎก (ประยุทธ ปยุตฺโต) ก็มีงานเขียน พุทธเศรษฐศาสตร์ เสนอเศรษฐศาสตร์บนฐานจริยธรรม จุดหมายความสุขสูงสุดมาจากการบริโภคแบบพอดี แนวคิดนี้ อภิชัย พันธเสน นักเศรษฐศาสตร์กระแสก็ยังสนับสนุน แต่นั่นไม่เท่ากับผู้ที่เรียกตนว่า “ราษฎรอาวุโส” อย่าง ประเวศ วะสี ได้ขยายความทฤษฎีใหม่และสนับสนุนแนวทางเศรษฐศาสตร์แบบพุทธ ประเวศโจมตีการพึ่งทุนภายนอกและเห็นว่าระบบเศรษฐกิจที่นึกถึงแต่เงินจะทำลาย ทุกสิ่งทุกอย่าง และเรียกร้องให้กลับมาสนใจครอบครัว ชุมชน และสิ่งแวดล้อม และเสนอให้สร้างสังคมและเศรษฐกิจขึ้นมาใหม่ โดยมีฐานจากชุมชนท้องถิ่น [26] เหล่านี้คือบริบทในช่วงต้นกำเนิดของสถาบันพระปกเกล้า
7. ตัวตนเป็นทางการ ใน พระราชบัญญัติ สถาบันพระปกเกล้า 2541
อาจกล่าวได้ว่า ในทศวรรษ 2530-2540 ราว 20 ปี รัฐได้ออกแบบและสร้างองค์กรสาธารณะในกำกับของรัฐขึ้นจำนวนมากด้วยทุนมหาศาล สิ่งที่เหลือเชื่ออีกประการก็คือ สถาบันที่เป็นผู้สนับสนุนและผลิตความรู้อย่าง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช. 2534), สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว. 2535) และ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส. 2535) ถูกจัดตั้งขึ้นผ่านสภาในช่วงรัฐบาลรัฐประหาร 2534 ทั้งสิ้น ดังนั้นที่มาของสำนักงานต่างๆ จึงมิได้มาจากอำนาจอธิปไตยของประชาชน แต่มาจากปากกระบอกปืนและผู้หวังดีแต่ชอบเดินทางลัดในอีกสายหนึ่งที่เกิดขึ้นหลังพฤษภาคม 2535 ได้แก่ สถาบันเอกชนอย่างสถาบันปรีดี พนมยงค์ (2538) และสื่อมวลชนอย่าง สถานีโทรทัศน์ไอทีวี (2539)
การเกิดขึ้นของสถาบันพระปกเกล้า ก็อยู่บนกระแสธารความเปลี่ยนแปลงหลังรัฐประหารนั้น โดยเฉพาะภายใต้การริเริ่มของ “รัฐสภา” อันเป็นโครงสร้างทางการเมืองที่ยึดโยงกับอำนาจของประชาชน ช่วงแรก สถาบันพระปกเกล้าได้รับการจัดตั้งขึ้นเป็นส่วนราชการระดับกอง สังกัดสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เมื่อ 19 มกราคม 2538 [27] ภารกิจแรกก็คือการเตรียมความพร้อมเพื่อยกระดับไปสู่สถาบันอย่างสมบูรณ์ ใช้เวลาประมาณ 3 ปี นำไปสู่ความเห็นชอบของสภานำไปสู่การตรา พระราชบัญญัติสถาบันพระปกเกล้า พ.ศ.2541 [28] สถาบันพระปกเกล้ากลายเป็น สถาบันนิติบุคคลที่อยู่ในกำกับดูแลของประธานรัฐสภา เป็นหน่วยงานของรัฐ ที่ "ไม่เป็น" ส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบปฏิบัติราชการฝ่ายรัฐสภา และไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ
โครงสร้างของสถาบัน จะเป็นการทำงานร่วมกันของ 2 ส่วนใหญ่ๆ นั่นก็คือ ส่วนกำกับดูแลและตรวจสอบ ประกอบด้วยสภาสถาบันพระปกเกล้าที่เน้นกำกับนโยบาย, คณะกรรมการติดตามผล และผู้ตรวจสอบภายใน ขณะที่อีกส่วนหนึ่งเป็นส่วนบริหารที่นำโดย เลขาธิการสถาบันที่ทำหน้าที่ร่วมกับ คณะกรรมการบริหารสถาบัน
สภาสถาบัน มีประธานรัฐสภาเป็นประธานสภาสถาบันพระปกเกล้า โดยตำแหน่ง วันมูหะมัดนอร์ มะทา คือ ประธานคนแรก ขณะที่ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าคนแรก (2542-2546) คนที่สองคือ นรนิติ เศรษฐบุตร (2546-2549) และบวรศักดิ์กลับมาเป็นเลขาธิการครั้ง มาตั้งแต่ ธันวาคม 2549 มาจนถึงปัจจุบัน [29] ที่น่าสังเกตก็คือ การเข้ารับตำแหน่งของบวรศักดิ์ หลังรัฐประหาร 2549 หลังจากที่เคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ให้กับรัฐบาลไทยรักไทย ข้างล่างนี้คือ บทสัมภาษณ์บวรศักดิ์ วันที่ 24 ตุลาคม 2549 หลังรัฐประหารเป็นเวลาเดือนเศษ
“ไม่มีใครอยากเห็นการรัฐประหารหรอกครับ ผมก็เชื่อว่า คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขก็ ไม่อยากทำ เพราะว่าเสี่ยงต่อการที่ถ้าทำไม่สำเร็จก็เป็นกบฏ ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต แล้วคนที่สอนกฎหมายมหาชนอย่างอาจารย์ อย่างผมก็ไปผลักดันให้มีการปฏิวัติไม่ได้หรอก แต่เมื่อทำไปแล้ว แล้วก็เป็นทางออกอย่างหนึ่งที่ทำให้สังคมที่เกิดความเขม็งเกลียว เครียดกันอยู่ในเวลานั้นผ่อนคลายลงข้อหนึ่ง ...เมื่อไม่มีทางออก การยึดอำนาจที่เกิดขึ้นก็เหมือนยาถ่าย ที่ใครท้องดี ๆ อยู่ก็ไม่อยากกิน ข้อที่สอง เลี่ยงการเผชิญหน้าของคนที่ต่อต้านรัฐบาลและคัดค้านรัฐบาล กับพวกที่สนับสนุนรัฐบาลไม่ให้ต้องตีรันฟันแทงจนเลือกตกยางออกได้ เมื่อเหตุการณ์เกิดไปแล้ว หมุนนาฬิกาย้อนกลับไม่ได้ คำถามก็คือทำอย่างไรต่อให้ดีที่สุด” [30]สถาบันพระปกเกล้า ถูกสถาปนาขึ้นมาพร้อมๆกับเงื่อนไขสังคมการเมืองไทยที่เห็นแสงสว่างที่เรือง รองนั้นประทับอยู่ร่วมกับพระนามและพระเกียรติยศของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า เจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เป็นสำคัญ ภายใต้การนิยามถึงประชาธิปไตยที่พิเศษไม่เหมือนใครในโลก ดังนั้น แม้ว่า เลขาธิการสถาบันคนล่าสุด จะมีประวัติกระโดดออกจากรัฐนาวาประชาธิปไตย มาช่วยขับรถถังเก็บกวาดเศษซากรัฐธรรมนูญ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรอยู่แล้ว
บทความหน้า ในตอนที่ 2 จะเป็นเรื่องของ พลวัตของข้อถกเถียงและการโต้แย้งวาทกรรมกษัตริย์นักประชาธิปไตยของรัชกาลที่ 7 ที่ทรงพลังมากขึ้น อันเป็นแรงกระทำต่อเนื่องจากการรัฐประหารครั้งแรกของไทยในศตวรรษที่ 21.
ตรา
สัญลักษณ์ของ สถาบันพระปกเกล้า ที่ผนวกเอาสัญลักษณ์ ปปร.ของรัชกาลที่ 7
และพานแว่นฟ้าอันเป็นสัญลักษณ์ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งหมายถึงประชาธิปไตย
มาอยู่ด้วยกัน
โครงสร้าง
สถาบันพระปกเกล้า ที่มา สถาบันพระปกเกล้า. "โครงสร้างสถาบัน".
http://kpi.ac.th/kpith/index.php?option=com_content&task=view&id=20&Itemid=9
(3 มิถุนายน 2555)
อ้างอิง:
- อาจารย์ประจำ สาขาสังคมศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง
- “ประกาศคณะราษฎร” ใบแทรกใน จุลสาร หอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์, 16 (มิถุนายน 2555 - พฤษภาคม 2556)
- สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. “พระราชหัตถเลขาสละราชย์ ร.7 ชีวประวัติของเอกสารฉบับหนึ่ง” ใน ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ 6 ตุลารำลึก), น.20
- "กำหนดการ ที่ 6/2492 รับพระบรมอัฎฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและการพระราชกุศลทักษิณานุ ปทาน 2492" ใน ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 66, ตอน 29 ง, 24 พฤษภาคม 2492, น.2262 และ "กำหนดการ ที่ 9/2492 บรรจุพระบรมราชสริรางคารพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว 2492" ใน ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 66, ตอน 34 ง, 28 มิถุนายน 2492, น.2931
- หจช., (1) มท. 1.1.3.3/1 เรื่อง อนุสสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2496, หน้า 1. อ้างถึงใน ชาตรี ประกิตนนทการ. "ความทรงจำ และ อำนาจ บนถนนราชดำเนิน" ใน เมืองโบราณ ฉบับที่ 33.4 (2550)
- "โรงพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี". โรงพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี. http://ppkhosp.go.th/general/history/history.htm (27 พฤษภาคม 2555)
- ทวีศักดิ์ เผือกสม. เชื้อโรค ร่างกาย และรัฐเวชกรรม : ประวัติศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่ในสังคมไทย (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย), 2550
- ประจักษ์ ก้องกีรติ. และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ การเมืองและวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน 14 ตุลาฯ (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์), 2548, น.494-495
- ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวไว้ว่า “ความทรงจำของธรรมศาสตร์ในยุค “สายลม แสงแดด และยูงทอง” ของ ผมนั้น ถูกตัดขาดไปจากอดีตอย่างสิ้นเชิง ทั้ง ๆ ที่ก่อตั้งมาเพียง 27 ปี ผมเกือบไม่เคยได้ยินชื่อ ของผู้ประศาสน์การ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง-ปรีดี พนมยงค์ พวกเราเคยคิดเพ้อเจ้อกันว่าผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยแห่งนี้ คือกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เสียด้วยซ้ำไป” ใน "สุนทรกถา ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ในงานเปิดตัวห้อง สมุดอิเล็กทรอนิกส์ และ เว็บไซต์ปรีดี-พูนศุข พนมยงค์ ณ ห้องประชุม 101 คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.ท่าพระจันทร์ วันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 เวลา 13.00 – 16.30 น. http://www.pridi-phoonsuk.org/chanvit-open/ (27 พฤษภาคม 2555)
- แต่แรกทั้งสองเคยเขียนบทความร่วมกันใน สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. “พระราชหัตถเลขาสละราชย์ ร.7 ชีวประวัติของเอกสารฉบับหนึ่ง” ใน ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ 6 ตุลารำลึก), น.20-30 ต่อมาบางส่วนได้เป็นส่วนหนึ่งในวิทยานิพนธ์ที่ถูกตีพิมพ์ใน ประจักษ์ ก้องกีรติ. เรื่องเดียวกัน, น.497-519
- สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. “พระราชหัตถเลขาสละราชย์ ร.7 ชีวประวัติของเอกสารฉบับหนึ่ง”, น.28-29
- สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. “พระราชหัตถเลขาสละราชย์ ร.7 ชีวประวัติของเอกสารฉบับหนึ่ง”, น.28
- สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. “พระราชหัตถเลขาสละราชย์ ร.7 ชีวประวัติของเอกสารฉบับหนึ่ง”, น.28-29
- "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการและตราสาร "มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว" " ใน ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 101, ตอนที่ 170, 20 พฤศจิกายน 2527, น.4557
- มาลินี คุ้มสุภา. อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกับความหมายที่มองไม่เห็น (กรุงเทพฯ : วิภาษา), 2548, น.311-313
- "ประกาศ งานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี" ใน ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 98, ตอนที่ 219, 31 ธันวาคม 2524, ฉบับพิเศษ น.1-8
- มาลินี คุ้มสุภา. เรื่องเดียวกัน, น.310-311
- ธนาคารแห่งประเทศไทย. "ธนบัตรแบบ13". http://www.bot.or.th/Thai/Banknotes/HistoryANdSeriesOfBanknotes/Pages/Banknote_Series13.aspx (29 พฤษภาคม 2555)
- สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. “พระราชหัตถเลขาสละราชย์ ร.7 ชีวประวัติของเอกสารฉบับหนึ่ง”, น.29
- โยชิฟูมิ ทามาดะ. “ประชาธิปไตย การทำให้เป็นประชาธิปไตยและการออกจากประชาธิปไตยของประเทศไทย” ใน ฟ้าเดียวกัน 6 : 4 (ตุลาคม-ธันวาคม 2551) : 104-106
- สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เคยตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับ Mass Monarchy ไว้ว่า ก่อนทศวรรษ 2530 สถาบันกษัตริย์มีจุดมุ่งหมายสื่อสารในวงแคบเพียงในหมู่ชนชั้นนำ (elite) ด้วยกัน แต่หลังทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา ได้มีลักษณะการสื่อสารผ่าน “สื่อมวลชน” และสื่อสารต่อประชาชนมากเท่าๆกับชนชั้นนำ "เมื่อในหลวงประชวร ปี 2525 และข้อเสนอว่าด้วย สถาบันกษัตริย์แบบมวลชน (Mass Monarchy)". http://somsakwork.blogspot.com/2007/11/2525-mass-monarchy.html (15 พฤศจิกายน 2550)
- "ประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง สร้างและจำหน่ายตราไปรษณียากรที่ระลึกฉลองพระบรมราชสมภพ 100 ปี พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว " ใน ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 110, ตอนที่ 195, 25 พฤศจิกายน 2536, น.4
- สถาบันพระปกเกล้า. "ประวัติความเป็นมา". http://kpi.ac.th/kpith/index.php?option=com_content&task=view&id=19&Itemid=9 (27 พฤษภาคม 2555)
- เจ้าพระยานิวส์. "ก.ก.ต. ไม่รับจดพรรคสังคมนิยมฯ". เจ้าพระยานิวส์ (3 พฤษภาคม 2552)
- โยชิฟูมิ ทามาดะ. “ประชาธิปไตย การทำให้เป็นประชาธิปไตยและการออกจากประชาธิปไตยของประเทศไทย” ใน ฟ้าเดียวกัน 6 : 4 (ตุลาคม-ธันวาคม 2551) : 118-119
- ผาสุก พงษ์ไพจิตร และคริส เบเกอร์. เศรษฐกิจการเมืองไทยสมัยกรุงเทพ (กรุงเทพฯ : ซิลค์เวอร์ม, พิมพ์ครั้งที่ 3), 2546, น.521-522
- สถาบันพระปกเกล้า. "ประวัติความเป็นมา". http://kpi.ac.th/kpith/index.php?option=com_content&task=view&id=19&Itemid=9 (27 พฤษภาคม 2555)
- "พระราชบัญญัติ สถาบันพระปกเกล้า พ.ศ.2541" ใน ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 115, ตอนที่ 57 ก, 4 กันยายน 2541, น.20-29
- สถาบันพระปกเกล้า. "ประวัติความเป็นมา". http://kpi.ac.th/kpith/index.php?option=com_content&task=view&id=19&Itemid=9 (27 พฤษภาคม 2555)
- นันทวัฒน์ บรมานันท์. "บทสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ วันอังคารที่ 24 ตุลาคม พ.ศ.2549" . http://www.pub-law.net/publaw/view.aspx?id=999 (28 ตุลาคม 2549)