ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Monday, 6 February 2012

แม้เกลียด, แต่ก็ต้องคุยกัน

ที่มา ประชาไท

ภายหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมา เราอยู่ในบ้านเมืองที่วุ่นวาย แตกแยก อยู่กับความขัดแย้งของผู้คนจนเริ่มสิ้นหวังแล้วว่า ความผิดพลาดของสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศนี้จะยังสามารถเยียวยาและแก้ไขได้ อยู่ ด้วยเราเชื่อเสียแล้วว่า ผู้คนซึ่งเป็นฝักฝ่ายในสังคมได้เกลียดชังกันแล้วโดยสิ้นเชิง และไม่มีวันจะรับฟังกันและกันอีกต่อไป คนที่เกลียดกันเสียแล้วจะอยู่ร่วมกันยากขึ้นทุกที เพราะทนฟังกันไม่ได้ ทนรับความคิดของอีกฝ่ายไม่ได้ สังคมอันสุดโต่งไม่ได้วางตัวเองไว้ในฐานะที่จะรับความคิดต่างได้อีก ความคิดถูกบล็อกไว้แล้วตรงจุดจุดหนึ่ง ที่เหลือคือการต่อสู้ช่วงชิงกฎเกณฑ์ของบ้านเมืองเพื่อมารับใช้ความคิดของตน

ตลอดเวลาห้าปีนับแต่สังคมเริ่มแบ่งฝักฝ่ายชัดเจน ความพยายามที่จะกุมอำนาจทางการเมือง กุมอำนาจสื่อ และยกชูความคิดของตนไว้เหนือความคิดอีกฝ่ายเพื่อกุมอำนาจทางสังคม การช่วงชิงเพื่อจะเป็นผู้กุมสภาพและทิศทางของบ้านเมืองได้ทดลองทำไปแล้วมาก มายหลายวิธี ล้วนแล้วแต่เป็นวิธีเดียวกันกับการรัฐประหาร คือปล้นเอาดื้อๆ ห้ามเอาดื้อๆ ปิดกั้นเอาดื้อๆ แต่เราทราบกันดี และท่านที่ก่อการและร่วมก่อการรัฐประหารก็ทราบกันดี ว่าสิ่งที่ท่านทำโดยหวังจะให้เป็นคำตอบสุดท้ายของบ้านเมืองนั้นไม่มีวันจะ เป็นไปได้ ความคิดต่างไม่มีวันจะยอมให้ท่านปล้น ห้าม หรือปิดกั้นเอาดื้อๆอย่างไร้เหตุผลไร้กฎเกณฑ์ ด้วยอำนาจอันน้อยนิดของประชาชน บ้านเมืองจะต้องขยับเข้าสู่วิถีทางแห่งประชาธิปไตยอยู่ร่ำไป แต่ความเป็นประชาธิปไตยก็จอมปลอมมากขึ้นทุกที เพราะสังคมยังคงแข็งแกร่งอยู่ด้วยอุดมการณ์ที่ไม่นิยมในประชาธิปไตย การปล้นเอาดื้อๆ ห้ามเอาดื้อๆ ปิดกั้นเอาดื้อๆ จึงยิ่งเข้มข้นเป็นทวีคูณ เรื่องราวจึงไม่มีวันจะจบลงตามความต้องการของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดได้อย่างเบ็ด เสร็จเด็ดขาด

ห้าปีอันยุ่งยาก เจ็บช้ำ โกรธเคือง เสียใจและฝังจำ จากความรุนแรงที่เกิดขึ้นตั้งแต่หนักไปหาเบา และดูเหมือนไร้หนทางแห่งการแก้ปัญหา เพราะข้อเสนอของฝ่ายหนึ่งจะไม่ถูกยอมรับจากอีกฝ่ายอย่างแน่นอนอยู่เสมอ

เมื่อข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์เปิดตัวสู่สาธารณะ กลุ่มนักวิชาการเล็กๆ นี้ถูกกล่าวหาอย่างทันทีทันใดว่าทำงานรับใช้คุณทักษิณ เป็นนักวิชาการแดง

เป็นความจริงว่ามีกระแสตอบรับจากประชาชนฝั่งเสื้อแดงมาเป็นลำดับแรก แต่มีกระแสตอบรับจากกลุ่มและบุคคลที่ไม่มีสีอยู่ด้วยเช่นกัน ทว่าขณะนี้ มีความชัดเจนยิ่งขึ้นทุกขณะว่า ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์โดยเฉพาะในข้อที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 กลายเป็นข้อเสนอที่ถูกปฏิเสธจากทุกฝักฝ่ายมากที่สุด ผู้กุมอำนาจแทบทุกภาคส่วนของสังคมได้แสดงน้ำเสียงอย่างถ้วนทั่วแล้วว่าไม่ เห็นด้วยต่อข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ แม้แต่อดีตนายกฯทักษิณซึ่งถูกพาดพิงอยู่เสมอว่าเป็นผู้มีส่วนได้ประโยชน์ จากบางข้อเสนอ ก็ปฏิเสธไม่ยอมรับข้อเสนอของนิติราษฎร์อย่างแข็งขันเช่นกัน ความชัดเจนที่ปรากฏขึ้นนี้ทำให้ได้คำตอบที่แจ่มชัดอยู่ในตัวเองข้อหนึ่งว่า กลุ่มนักวิชาการคณะนิติราษฎร์ ไม่ใช่กลุ่มหรือบุคคลที่มีสังกัด หรือถูกส่งมาจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในประเทศนี้ เป็นเพียงนักวิชาการกลุ่มเล็กๆ ที่ทำงานอย่างอิสระเท่านั้น

เรารู้กันว่าความแตกแยกโดยความคิดสุดโต่งได้แบ่งสังคมออกเป็นสองฝักฝ่าย และผู้มีอำนาจบารมีเหนือฝักฝ่ายทั้งสองนี้ได้แสดงน้ำเสียงชัดเจนแล้วในการ ปฏิเสธข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ ด้วยเหตุนี้ ประชาชนผู้ยอมรับและสนับสนุนในข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม พวกเขากำลังกลายเป็นประชาชนผู้ไร้ฝักฝ่าย จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ประชาชนผู้ฝักใฝ่ในข้อเสนอของนิติราษฎร์กำลังถูกปฏิเสธจากความเป็นฝักฝ่าย เป็นเพียงประชาชนตัวเล็กๆ ที่คิดและตัดสินใจเองอย่างอิสระ ที่จะยอมรับในข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์

นักวิชาการกลุ่มเล็กๆในชื่อ คณะนิติราษฎร์ ผู้ยื่นข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาของบ้านเมืองออกไปสู่สังคม กับ ครก.112 และผู้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในสังคมอีกหนึ่งร้อยกว่าคนที่ร่วมลงชื่อ เพื่อเสนอแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 กับประชาชนจำนวนหนึ่งที่พยายามส่งเสียงสนับสนุนข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ มีเพียงเท่านี้ เวลานี้กลุ่มก้อนทั้งหมดที่เห็นด้วยกับข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์และกำลังร่วม กันผลักดันข้อเสนอมีเพียงเท่านี้ ยังคงเป็นเพียงกลุ่มคนเล็กๆ ที่แทบไม่มีอำนาจต่อรองในสังคม ไม่มีอำนาจเงิน ไม่มีเบื้องหน้าเบื้องหลัง และไม่มีเส้นสายลึกลับแต่ประการใด หนำซ้ำกำลังถูกรุมกินโต๊ะอย่างเมามันจากผู้มีอำนาจเหนือกว่าทุกด้านใน สังคมอยู่ในขณะนี้

ด้วยเหตุนี้ เราจึงไม่ต้องกลัวและไม่ต้องหวั่นวิตกต่อกลุ่มนักวิชาการคณะนิติราษฎร์ ไม่ต้องกังวลว่าเขาจะคิดก่อขบวนการลึกลับ หรือแอบแฝงเรื่องใดไว้เบื้องหลัง เพราะเขาไม่มีปัจจัยสนับสนุนใดๆที่จะทำเช่นนั้นได้

ดังนี้แล้วจึงน่าสนใจว่า ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ถูกปฏิเสธอย่างรวดเร็วและรุนแรงด้วยเหตุผลใดบ้าง การปฏิเสธข้อเสนอโดยส่วนใหญ่มีองค์ประกอบจากท่าทีที่บอกเป็นนัยว่า ผู้ปฏิเสธได้เชื่อไปแล้วว่า คณะนิติราษฎร์มีเจตนาแอบแฝงคิดล้มล้างหรือลดทอนพระราชอำนาจของสถาบัน กษัตริย์ มีคนจำนวนมากด่าทอนิติราษฎร์พร้อมถ้อยคำตอบโต้ว่าประชาชนยังต้องการสถาบัน กษัตริย์

นัยยะเพียงประการเดียวของปรากฏการณ์เหล่านี้คือ ตอบโต้และปฏิเสธโดยไม่ต้องแคร์ว่ารายละเอียดในข้อเสนอจริงๆเป็นอย่างไร เราไม่ฟังกันแล้ว เราไม่คุยกันแล้ว ไม่ต้องอ่านว่าข้อเสนอของเขาคืออะไร ไม่ต้องฟังว่าเขาพูดอะไร หากพูดเรื่อง ม.112 ตัดสินได้เลยว่าเขาต้องการล้มเจ้า เราเกลียดคนเหล่านี้เพราะเราเชื่อมานานแล้วว่าคนเหล่านี้ไม่เอาเจ้า

มันไม่ยากถ้าความคิดสุดโต่งทั้งสองฝ่ายจะสาดใส่กันอีกครั้ง ตั้งหน้าโจมตีกันไปจนเหนื่อยก็พัก หายเหนื่อยก็ลุกขึ้นมาโรมรันกันใหม่ เพราะไม่มีใครยอมใครอยู่แล้ว แต่เราต้องการแก้ไขปัญหาของบ้านเมืองกันหรือไม่ ข้อเสนอแบบไหนที่เราจะยอมรับฟังกันได้ทั้งสองฝ่าย ผู้เสนอแบบไหนที่เราจะยอมรับฟังคำพูดของเขา วิกฤติของบ้านเมืองนับแต่รัฐประหาร 49 เป็นต้นมาเราเชื่อว่ามันจบแล้ว ผ่านไปแล้ว ไม่จำเป็นต้องแก้ไขอะไรเลย แค่ปล่อยให้ผ่านไปก็พอ เราเชื่อเช่นนั้นจริงๆหรือ ทั้งๆไม่มีหลักประกันว่ารัฐประหารจะไม่เกิดขึ้นอีก ทั้งๆรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ยังคงเป็นรัฐธรรมนูญจากคณะรัฐประหาร ทั้งๆองค์กรอิสระผู้มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศล้วนงอกเงยมาจากผู้ก่อ การรัฐประหาร หากเราเชื่อเหมือนกันว่าปัญหายังคงอยู่ ความแตกแยกอันเนื่องมาจากปัญหาเดียวกันยังคงอยู่ ก็ต้องถามตัวเองกันอีกครั้งว่า แล้วข้อเสนอในการแก้ปัญหาแบบไหนที่เราจะรับฟังร่วมกันได้ ผู้เสนอแบบไหนที่เราจะยอมรับฟังคำพูดของเขา

บางทีท่านต้องการแบบที่ต้องมีปืนจ่อหัว และไม่อนุญาตให้ท่านปฏิเสธหรือโต้เถียงใดๆ

บางทีท่านต้องการแบบที่หลอกล่อให้ประชาชนมาลงประชามติยอมรับรัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหาร แลกกับการได้รับอนุญาตให้กลับไปเลือกตั้ง

บางทีท่านจะยอมรับฟังแต่ผู้มีอำนาจเหนือกว่าท่าน ในแบบที่จำเป็นต้องรับฟังอย่างเสียมิได้

บางทีท่านจะยอมพูดคุยกับประชาชนคนเล็กๆ ก็ต่อเมื่อเขามากันเป็นจำนวนมากและได้ยึดเอาถนนหรือสถานที่สำคัญไว้เป็นเครื่องต่อรองแล้ว

บางทีท่านจะยอมพูดคุยเจรจากันดีๆ ก็ต่อเมื่อเราเตรียมตัวจะฆ่ากันแล้วนั่นเอง

แต่ท่านไม่เห็นหรือ ข้อเสนอทั้ง 4 ข้อ ของคณะนิติราษฎร์ ถูกนำเสนอในรูปแบบใด

คณะนิติราษฎร์ยื่นข้อเสนอด้วยท่าทีของวิญญูชน อย่างสุภาพและให้เกียรติต่อสังคมสูงสุด ในอันจะขอให้พิจารณาข้อเสนอนี้ คำว่าขอให้พิจารณาข้อเสนอนี้คงไม่ต้องอธิบายว่าแตกต่างจากการเอาปืนไปจ่อหัว ให้ยอมรับการรัฐประหารอย่างไร

คณะนิติราษฎร์ยื่นข้อเสนอด้วยสถานะของนักวิชาการ อย่างตรงไปตรงมาและเปิดเผย ไม่มีการหลอกล่อให้เข้าใจผิดหรือไขว้เขวในเป้าหมายที่ต้องการนำเสนอ

คณะนิติราษฎร์ยื่นข้อเสนอโดยไม่มีเครื่องมือต่อรองใดๆ การจะรับหรือไม่รับข้อเสนอจึงสามารถตัดสินใจได้ด้วยความคิดที่เป็นอิสระไร้ เงื่อนไข

คณะนิติราษฎร์ยื่นข้อเสนอด้วยเจตนาให้สังคมทุกภาคส่วนพิจารณา หมายถึงคณะนิติราษฎร์ย่อมรับฟังทุกน้ำเสียงของสังคม ย่อมไม่ใช่ข้อเสนอที่จะเอาใจกลุ่มไหนหรือฝ่ายใด แต่เป็นข้อเสนอที่ตั้งมั่นอยู่บนหลักการอันจะนำประเทศไปสู่ความเป็น ประชาธิปไตยมากที่สุด

ในประเด็นสุดท้ายนี้มีข้อสังเกตเล็กน้อยเป็นองค์ประกอบอยู่ว่า ข้อเสนอเกี่ยวกับการขอแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 นั้น กลุ่มบุคคลและประชาชนที่มีความคิดต่อต้านกฎหมายมาตรานี้มานาน มีการรณรงค์และเรียกร้องมาหลายปีให้ยกเลิกบังคับใช้กฎหมายมาตรา 112 เสีย แต่ตามข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ยืนยันอยู่ในระดับของการแก้ไข ประเด็นนี้ทำให้เกิดวิวาทะอยู่มากพอสมควร ระหว่างผู้ต้องการให้ยกเลิก กับผู้ต้องการเพียงแก้ไข หากจะสามารถส่งผ่านประเด็นนี้ไปถึงความคิดอันสุดโต่งอีกฟากฝั่งหนึ่งซึ่งไม่ ต้องการให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายมาตรา 112 โดยสิ้นเชิงได้ อยากจะขอให้ท่านหยุดพิจารณาเรื่องนี้สักนิดเถิดว่า เรารู้ว่าข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ไม่ตอบสนองความคิดของท่านแน่นอน แต่ก็ไม่ได้ตอบสนองกลุ่มคนที่ต้องการให้ยกเลิกกฎหมายมาตรา 112 เช่นกัน และในความเป็นจริงมีบุคคลที่ต้องการให้ยกเลิกกฎหมายจำนวนไม่น้อยได้ยินยอมลด ระดับการเรียกร้องของตนเอง ยินยอมให้อยู่ในระดับของการแก้ไขตามข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ ด้วยเหตุที่รู้ๆกันอยู่ว่า ในประเทศนี้ไม่ได้มีแต่เรา แต่ในประเทศนี้มีท่านอยู่ด้วย ด้วยเหตุที่รู้ๆกันอยู่ว่า ข้อเสนอของนิติราษฎร์มิได้ต้องการการยอมรับจากคนเพียงกลุ่มเดียว แต่ต้องการการยอมรับจากคนส่วนใหญ่ในประเทศนี้ ดังนี้ ถ้าท่านจะลองคิดลดระดับการเรียกร้องของตนเองดูบ้าง ยินยอมให้แก้ไขได้บ้างตามข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ จุดดุลยภาพระหว่างเราก็อาจจะเกิดขึ้นได้ เราและท่านจะอยู่ร่วมกันได้ด้วยจุดดุลยภาพนี้ เว้นแต่ท่านตั้งมั่นไว้แล้วว่า จะไม่อยู่ร่วมประเทศกับคนคิดต่างอย่างแน่นอน

สังคมทราบดีอยู่แล้วว่าคนคิดต่างทั้งสองฝ่ายเกลียดกัน แต่แม้เกลียดกันเพียงใด เรายังคงต้องคุยกัน เพื่อว่าเราจะไม่ฆ่ากันในวันข้างหน้า

ถ้าหากว่าท่านยังไม่ได้อ่านข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ ก็สละเวลาหาอ่านสักนิดเถิด เพื่อว่าเวลาที่ท่านจะปฏิเสธข้อเสนอ จะได้คุยกันด้วยเหตุด้วยผลบนความเข้าใจเดียวกัน

ถ้าหากว่าท่านยังมีความระแวงแคลงใจ กลัวว่าคณะนิติราษฎร์และผู้สนับสนุนจะคิดล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ ท่านต้องหาโอกาสคุยกับเขา ถามเขาให้แน่ใจว่าข้อเสนอนี้จะทำให้สถาบันฯต้องล่มสลาย หรือจะทำให้สถาบันฯยิ่งมั่นคงและสง่างามกันแน่

แม้เราเกลียดกันเพียงใด แต่ก็ต้องคุยกัน เพื่อว่าเราจะไม่ฆ่ากันในวันข้างหน้า เว้นแต่ท่านตั้งมั่นไว้แล้วว่า จะต้องฆ่าเราในวันข้างหน้าอย่างแน่นอน.