“ครั้งนั้นแล พวกสัตว์ (-คำว่า “สัตว์” ภาษาบาลีโดยทั่วไปหมายถึง “คน” เช่น เรียกพระพุทธเจ้าก่อนตรัสรู้ว่า โพธิสัตว์ มหาสัตว์) ที่เป็นผู้ใหญ่จึงประชุมกัน ครั้นแล้วต่างปรับทุกข์กันว่า ท่านเอ๋ย ธรรมชั่วร้ายทั้งหลายทั้งปวงปรากฏขึ้นในหมู่สัตว์ทั้งหลายเสียแล้วหนอ อันเป็นเหตุให้การลักทรัพย์ก็ปรากฏมี การติเตียนกันก็ปรากฏมี การพูดเท็จก็ปรากฏมี การถือไม้พลองก็ปรากฏมี อย่ากระนั้นเลย พวกเราจักเลือกตั้ง (สมมติ) สัตว์ผู้หนึ่งขึ้น ให้เป็นผู้ว่ากล่าวผู้ที่ควรกล่าวได้โดยชอบ ให้เป็นผู้ตำหนิผู้ที่ควรตำหนิได้โดยชอบ ให้เป็นผู้ขับไล่ผู้ที่ควรขับไล่ได้โดยชอบ พวกเราจักแบ่งส่วนข้าวสาลีให้แก่ผู้นั้น ดังนี้ ครั้นแล้ว สัตว์เหล่านั้น จึงพากันเข้าไปหาสัตว์ผู้สง่างาม น่าดูชม น่าเลื่อมใส และน่าเกรงขาม ยิ่งกว่าสัตว์ทั้งหมดนั้นแล้ว แจ้งความดังนี้ว่า มาเถิด ท่านสัตว์ผู้เจริญ ท่านจงว่ากล่าวผู้ที่ควรว่ากล่าวได้โดยชอบ จงตำหนิผู้ที่ควรตำหนิได้โดยชอบ จงขับไล่ผู้ที่ควรขับไล่ได้โดยชอบเถิด พวกข้าพเจ้าจักแบ่งส่วนข้าวสาลีให้แก่ท่าน สัตว์ผู้นั้น ได้รับคำของสัตว์เหล่านั้นแล้ว...เพราะเหตุที่เป็นผู้ซึ่งมหาชนเลือกตั้งดัง นี้แล จึงเกิดถ้อยคำว่า มหาสมมตขึ้นเป็นประถม...”
พุทธพจน์ในอัคคัญญสูตร
ตามหลักพระพุทธศาสนา พระมหากษัตริย์คือมนุษย์ หาใช่เทวดาดั่งคำสอนของศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูไม่ กำเนิดของผู้ปกครองนั้น มาจากการตกลงยอมรับของประชาชนทั้งหลายซึ่งขอให้ผู้ที่มีคุณสมบัติที่ดีเหนือ กว่านั้นมาเป็นผู้ปกครอง ด้วยเหตุนี้ ผู้ปกครองที่ดีจึงต้องประพฤติตั้งอยู่ในธรรม เรียกว่า ธรรมราชา อันได้แก่ การยึดมั่นในทศพิธราชธรรม จักรวรรดิวัตร เป็นต้น หากพิจารณาจากเกณฑ์ของพุทธธรรม อาจแบ่งท่าทีของผู้คนในสังคมไทยต่อกรณีเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ ซึ่งกลุ่มนิติราษฎร์เสนอให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ได้อย่างกว้างๆ เป็น 2 แบบ
แบบหนึ่ง เป็นการมองพระมหากษัตริย์แบบเทวราชาตามแบบฮินดู ซึ่งเป็นศาสนาแนวศรัทธา อีกแนวคือ มองแบบพุทธซึ่งเป็นศาสนาแห่งปัญญาที่ถือว่าศรัทธาต้องมีปัญญาเป็นตัวกำกับ ผู้เขียนเห็นว่า ท่าทีตามแนวทางแรกไม่น่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ได้รับการปก ป้องให้มั่นคงยั่งยืนได้อย่างที่ผู้ยึดแนวทางศรัทธาปรารถนา แต่เห็นว่า การใช้สติและการสนทนาแลกเปลี่ยนด้วยเหตุผลในการเข้าถึงปัญหาประมวลกฎหมาย อาญา มาตรา 112 ต่างหากจึงจะเป็นการปกป้องสถาบันกษัตริย์ในสังคมไทยได้อย่างแท้จริง มีประสิทธิผล และทำให้สังคมไทยสามารถก้าวข้ามวิกฤตความขัดแย้งแตกแยกภายในชาติครั้งใหญ่ ซึ่งดำรงอยู่ยืดเยื้อมานานเกือบ 6 ปีแล้ว (และได้มีคดีหมิ่นฯ เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เฉพาะในปี 2553 มีถึง 478 คดี) ได้สำเร็จ
ผู้เขียนเข้าใจว่า กลุ่มผู้เห็นว่าควรแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เห็นว่า ปัญหาสำคัญของประเทศที่มีผลต่อเสถียรภาพ ความเชื่อมั่นในการลงทุนและการพัฒนาเศรษฐกิจ คือปัญหาทางการเมือง ซึ่งมีข้อที่สำคัญมากอันหนึ่งคือ สังคมไทยจะทำความตกลงที่ชัดเจนในการจัดวางความสัมพันธ์ระหว่างสถาบัน กษัตริย์กับระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่อย่างไร โดยเฉพาะจากการที่สังคมไทยเผชิญกับผลของการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม ในระยะราวสองทศวรรษมานี้ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในช่วงทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรี สภาพการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองดังกล่าว ได้ทำให้ความคิดของ “กลุ่มชนชั้นกลางใหม่” เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ประชาชนเหล่านี้ได้หันมามองตนเองแบบปัจเจกชนที่มีความเท่าเทียมกันมากขึ้น ชนชั้นกลางใหม่ที่ตื่นตัวทางการเมืองมีแนวโน้มที่จะสนับสนุนให้แก้ไขประมวล กฎหมายอาญา มาตรา 112
ในขณะที่ “ชนชั้นกลางเก่า” ซึ่งปกติมีความได้เปรียบโดยได้รับประโยชน์จากนโยบายของรัฐโดยไม่จำเป็นต้อง เรียกร้องอะไร ด้วยอิทธิพลของสื่อสารมวลชน มีแนวโน้มที่จะมีจินตภาพเกี่ยว กับพระมหากษัตริย์อย่างศรัทธาในแบบเทวราชา และมีความรู้สึกว่าตนอยู่เหนือกว่าชนชั้นกลางใหม่ คนกลุ่มนี้มักดูถูกคนกลุ่มชนชั้นกลางใหม่ว่าโง่ เป็นพวกชอบขายเสียงขายสิทธิ ไม่รู้ทัน ถูกหลอกจากนักการเมือง ส่วนกลุ่มตนเท่านั้นเป็นคนฉลาด รู้เท่าทันทักษิณ และเห็นว่านักการเมืองส่วนใหญ่เป็นคนเลว เป็นแค่นักเลือกตั้งสกปรก
ผู้เขียนเห็นว่า แนวโน้มทัศนคติอย่างกลุ่มชนชั้นกลางเก่าไม่น่าจะสอดคล้องกับหลักพุทธธรรมและ หลักประชาธิปไตยเท่าใดนัก เพราะมีลักษณะดูถูกผู้อื่น การยอมให้มีการถกปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับประชาธิปไตย จะเป็นเงื่อนไขโอกาสอันดีที่จะทำให้สังคมได้เรียนรู้จากกันได้ เมื่อผู้คนเห็นต่างกันเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับระบอบ ประชาธิปไตย (และอาจรวมถึงความเป็นชาติ) ณ ตรงนี้ หลักพุทธธรรมในฐานะแกนกลางของสถาบันศาสนาพุทธที่คนไทยส่วนใหญ่นับถือ สามารถเป็นหลักในการประสานผู้คนส่วนมากในสังคมไทย เป็นหลักในการผสานระหว่างจารีตนิยมกับสมัยใหม่ และเป็นหลักในการเชื่อมโยงระหว่างสถาบันกษัตริย์กับประชาชนในระบอบ ประชาธิปไตยได้
พุทธธรรมซึ่งมีกำเนิดจากการปฏิเสธระบบวรรณะของพราหมณ์ มองความจริงตามธรรมชาติว่าเป็นไปตามหลักไตรลักษณ์ ดังพุทธพจน์ที่ว่า
“สังขารทั้งหลายทั้งปวง ไม่เที่ยง
สังขารทั้งหลายทั้งปวง เป็นทุกข์
ธรรมทั้งหลายทั้งปวง เป็นอนัตตา”
พุทธธรรมมองธรรมชาติเป็นการประชุมปัจจัยของสิ่งต่างๆ หรือ ภาวะที่มีอันนี้ๆ เป็นปัจจัย (ตามหลักปฏิจจสมุปบาท) ด้วยเหตุนี้ เราอาจพิจารณาได้ว่า ตามธรรมชาติ การดำรงอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงได้ย่อมต้องมีการปรับตัวที่เหมาะสม หากเราดูจากข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์การปกครอง แม้ในระบบกษัตริย์แบบโบราณเอง เช่น ประเทศจีน ก็มีระบบขุนนางทักท้วง ซึ่งสามารถวิจารณ์ โต้แย้งกษัตริย์ได้ ดังสมัยจักรพรรดิถังไทจง ได้รับการยกย่องเป็นมหาราชสำคัญคนหนึ่งของจีน ก็ด้วยความยอมรับการทักท้วงของเว่ยเจิ่ง ซึ่งมีตำแหน่งเป็นขุนนางทักท้วง ที่มีความกล้าหาญทางจริยธรรม จนขนาดจักรพรรดิถังไทจงทรงชมเชยเว่ยเจิ่งว่า ในแง่นี้ เหนือกว่าขงเบ้ง ขุนนางผู้ใกล้ชิดพระเจ้าเล่าปี่เสียอีก
ในอดีต กฎหมายตราสามดวง ในส่วนของกฎมณเฑียรบาลบางบทยังบัญญัติให้มีการยับยั้งทัดทานการใช้พระราช อำนาจที่ผิดหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ประเพณี ความยุติธรรม หรือหลักทศพิธราชธรรม อาทิ หากพระมหากษัตริย์กำลังทรงโกรธ และตรัสเรียกพระแสง เจ้าพนักงานห้ามยื่น หากยื่น ต้องมีโทษถึงตาย
ในสมัยพระนเรศวร เมื่อทรงพิโรธ ก็มีพระผู้ใหญ่ทัดทานท่านได้ ในสมัยรัชกาลที่ 4 ครั้งหนึ่งสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ยังเคยจุดไต้ในเวลากลางวันเข้าเฝ้า อันเป็นสัญลักษณ์เตือนสติในหลวง
ในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 ทรงประกาศให้ยกเลิกการหมอบคลานเข้าเฝ้า เปลี่ยนเป็นการยืนแบบตะวันตก ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ทรงมีพระราชนโยบายไปในทางอนุรักษนิยม สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมหลวงจักรพงษ์ภูวนาถ กราบบังคมทูลแก่รัชกาลที่ 6 เป็นการเตือนสติ ดังตอนหนึ่งว่า
“กล่าวโดยย่อ สถานการณ์ที่นำมาสู่การสละราชบัลลังก์ของพระเจ้าซาร์เกิดขึ้นโดยตัวพระองค์ เอง พระองค์ทรงไม่ยอมปรับตัวต่อพวกก้าวหน้า ซึ่งได้มีเสียงเรียกร้องดังมากขึ้น และไม่ทรงยอมผ่อนปรนต่อพวกนี้ ไม่มีใครสามารถสู้กับพวกก้าวหน้าได้ อาจถามว่าทำไมไม่ควรฟังพวกอนุรักษนิยมบ้างล่ะเพราะพวกนี้ก็มีอยู่เช่นกัน คำตอบคือพวกอนุรักษนิยมจะไม่มีทางทำร้ายกษัตริย์ เพราะนั่นเป็นการขัดกับความเชื่อของพวกเขาเอง พวกก้าวหน้าสามารถทำอะไรก็ได้ และดังนั้น ใครก็ตามควรต้องพิจารณาพวกเขามากกว่าพวกอนุรักษนิยม ความขัดแย้งระหว่างสองพวกเป็นเรื่องปกติ แต่พวกอนุรักษนิยมไม่เคยชนะและการสกัดกั้นเป็นเพียงชั่วคราว สุดท้ายก็จะเป็นอย่างที่พวกก้าวหน้าต้องการ” [1]
สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ก็ทรงมีพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2548 ว่า พระองค์มิได้อยู่เหนือการวิจารณ์
การปกป้องสถาบันกษัตริย์ด้วยหลักพุทธธรรมจึงเป็นการปกป้องด้วยปัญญา ด้วยการยึดในหลักความจริง มีสติ ไม่ใช่งมงาย ใช้อคติ หรือความรู้สึกส่วนตัวอยู่เหนือเหตุผล หรือใช้การก่อกระแสความรุนแรง การยุให้ทำสงครามประชาชน หรือรัฐประหาร อนึ่ง ดูมีความเข้าใจผิดกันว่า พระพุทธเจ้าไม่สนับสนุนการวิจารณ์ แต่ตามประวัติพระพุทธเจ้า จะพบว่า ทรงรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นเสมอ โดยให้สังคมสงฆ์ถือการวิจารณ์เป็นสิ่งสำคัญยิ่ง อุปมาเหมือนการชี้ขุมทรัพย์.
............................................
[1] แปล จากข้อความภาษาอังกฤษซึ่งอ้างใน ส. ศิวรักษ์, เรื่องนายปรีดี พนมยงค์ ตามทัศนะ ส. ศิวรักษ์. (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโกมลคีมทอง, ๒๕๓๔), หน้า (๑๓) - (๑๔) ว่า “To summarize, the situation which has led to the Tsar of Russia having to relinquish the throne was brought about by himself. He refused to adapt himself to progressive groups, which had become very vociferous, and to make firmly concessions to them. One cannot fight progressive. It might be asked why one should not listen to conservatives also, since they are there, the answer is that conservatives can never harm the King, because it would be against their beliefs. Progressive are capable of anything, and therefore one has to consider them, more than conservatives. Conflict between the two is normal, but conservatives have never prevailed and containment is only temporary: in the end it will be as desired by the progressives.”