ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Wednesday, 1 February 2012

"วรเจตน์" ฝ่าศึกสหบาทา: ร้องว่าผมเนรคุณ แต่คุณยืนให้สูงเพื่อบอกว่าจงรักภักดี โดยเหยียบหัวผมขึ้นไป

ที่มา มติชน



ปฏิกิริยาที่เกิดกับครก.112 และคณะนิติราษฎร์ในช่วงนี้


มีทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย


ไล่ให้ไปอยู่เมืองนอกจนถึงเผาหุ่นไล่กันแล้ว


แน่นอนหลังจากมีปฏิกิริยาดังกล่าว


คนที่จะโต้กระแสนี้ได้ดีที่สุดต้องเป็น "วรเจตน์ ภาคีรัตน์" เท่านั้น


รวมไปถึงกำลังใจของกลุ่มนิติราษฎร์ยังดีอยู่หรือไม่

----------------------


มีคนกล่าวหาว่ากลุ่มอาจารย์เป็นพวกกินยาผิดซอง อาจารย์จะสะท้อนข้อกล่าวหานี้อย่างไร

คณะนิติราษฎร์กับฝ่ายการเมืองไม่ได้เกี่ยวข้องกันอยู่แล้ว นิติราษฎร์ออกแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร การตัดสินคดียุบพรรค จนมาถึงคดียึดทรัพย์ที่ดินรัชดาตั้งแต่ยังเป็นกลุ่ม 5 อาจารย์นิติศาสตร์ มธ. สื่อหลายสำนักเชื่อมโยงการกระทำของเราว่า ทำเพื่ออดีตนายกทักษิณ ชินวัตร หรือเชื่อมโยงกับพรรคไทยรักไทยจนมาถึงเพื่อไทย แต่ผมยืนยันว่า แถลงการณ์ต่าง ๆ ของคณะนิติราษฎร์ทำไปบนหลักของวิชาการ บนพื้นฐานของหลักการ ในทางการเมืองนิติราษฎร์ไม่มีอำนาจไปเปลี่ยนแปลงอะไรได้ เพราะฉะนั้นพรรคเพื่อไทยจะมีจุดยืนอย่างไร อันนั้นเป็นเรื่องของพรรคเพื่อไทย ไม่เกี่ยวข้องกันอยู่แล้ว รัฐมนตรีในโควตาของพรรคเพื่อไทยจะพูดอย่างไร ก็เป็นความเห็นของเขาซึ่งถ้าไม่ได้ให้เหตุผล ก็ไม่จำเป็นต้องโต้แย้ง นิติราษฎร์เพียงแค่แสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะตามสิทธิเสรีภาพที่กฎหมายรัฐ ธรรมนูญให้ไว้


ฝ่ายการเมืองปิดประตูเรื่องการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ไปแล้ว เรื่องนี้ถือว่าหมดความหวังหรือไม่

เป็นเรื่องปกติธรรมดาในระบอบประชาธิปไตย สุดท้ายแล้วกฎหมายก็ต้องไปที่สภาไม่ใช่ว่ารวบรวมรายชื่อแล้วจะสามารถแก้ไข ได้ ก็ต้องไปพูดกันในสภา ถ้าพรรคการเมืองในสภาไม่เห็นด้วย ร่างกฎหมายมันก็ตกไป แต่ว่าการที่นักการเมืองในสภาไม่เอานั้นไม่ได้หมายความว่าจะสามารถขัดขวาง การแสดงความคิดเห็นหรือขัดขวางการเข้าชื่อประชาชนเพื่อเสนอแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรานี้ได้

การแก้กฎหมายต้องแก้ในสภา คุณชวน หลีกภัย พรรคประชาธิปัตย์ก็พูดชัดว่ากฎหมายนี้ไม่ผ่านสภาแน่ แต่คุณชวนท่านก็มีเกียรติเพราะบอกว่าเป็นสิทธิของประชาชนในการเข้าชื่อเพื่อ แก้กฎหมาย ผมเห็นว่าการที่มีคนไม่เห็นด้วยกับการแก้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา112 เป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่ไม่ได้หมายความว่าคนที่มีความเห็นอีกทางหนึ่งจะเสนอความคิดเห็นไม่ได้ การออกกฎหมายไม่ใช่หน้าที่ของประชาชนแต่เป็นหน้าที่ของรัฐสภา เพราะนั้นถ้าเขาไม่แก้มันก็แก้ไม่ได้โดยกลไกของรัฐสภา

แต่สิ่งที่ ครก.112 (คณะรณรงค์แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112) ทำนั้นอยู่บนพื้นฐานของกฎหมายเพราะรัฐธรรมนูญให้สิทธิประชาชนในการเข้าชื่อ แก้ไขกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพได้ กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ฯลฯเป็นกฎเกณฑ์ที่มีโทษทางอาญาซึ่งกระทบกับเสรีภาพในร่างกาย อีกทั้งลักษณะของการพรรณนาองค์ประกอบความผิดก็เป็นกฎเกณฑ์ที่กระทบกับ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น จึงต้องถือว่ากฎหมายเรื่องดังกล่าวเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพ ของประชาชนตามหมวด 3 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งประชาชนมีสิทธิริเริ่มเสนอขอแก้ไขได้ ส่วนอำนาจในการที่จะแก้ไขหรือไม่แก้ไข ถ้าจะแก้ไข จะแก้อย่างไร มากน้อยเพียงใดอยู่ที่รัฐสภา

หลายกระแสบอกว่านิติราษฎร์เน้นจะปฏิรูปสถาบันทางการเมือง จะเน้นสถาบันทางการเมืองไหนเป็นพิเศษ

ในแง่ของเนื้อหารัฐธรรมนูญก็เสนอไปหลายประเด็น มีคนถามว่าทำไมนิติราษฎร์เสนอเรื่องปฏิรูปศาล ปฏิรูปกองทัพ แต่ไม่เสนอเรื่องปฏิรูปสถาบันการเมืองบ้างซึ่งไม่จริงเลย นิติราษฎร์เสนอเรื่องปฏิรูปสถาบันการเมือง แต่ประเด็นดังกล่าวดำรงอยู่ในรูปของการปฏิรูปกฎหมายรัฐสภา ให้มีการทำข้อบังคับการประชุมครม. ทำพระราชบัญญัติรัฐมนตรี เสนอให้มีสถาบันขจัดทุจริตคอร์รัปชั่นในฐานะที่เป็นองค์กรอิสระในทางปกครอง ซึ่งที่เสนอนั้นครอบคลุมหลักการใหญ่ๆอันเป็นโครงสร้างของรัฐธรรมนูญทั้งหมด และทุกองค์กรนั้นต้องมีอำนาจที่ได้ดุลภาพกันและตรวจสอบกันได้ ถ่วงดุลกันทุกองค์กร

แม้แต่ศาลพอขึ้นถึงศาลสูงสุดก็ต้องมีความเชื่อมโยงกับประชาชนผ่านคณะ รัฐมนตรี ผ่านรัฐสภา แต่วันนั้นเราเสนอแค่หลัก ยังไม่ได้เสนอรายละเอียด รายละเอียดเกี่ยวกับการได้มาซึ่งผู้พิพากษาศาลสูงสุด จะต้องมีการทำบัญชีในการแต่งตั้งบุคคลที่เป็นผู้พิพากษาศาลล่างขึ้นสู่ศาล สูงสุด คนที่จะได้รับการแต่งตั้งย่อมจะมาจากคนในศาลนั้น ซึ่งมีคณะกรรมการตุลาการของศาลแต่ละระบบศาลซึ่งมีที่มาที่ชอบธรรมตามหลัก ประชาธิปไตยเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์การแต่งตั้ง และเสนอบัญชีรายชื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ ไม่ได้หมายถึงให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเลือกตัวบุคคลว่าจะเอาใครขึ้นหรือไม่ แต่คณะรัฐมนตรีก็มีสิทธิที่จะปฏิเสธหากคนนั้นขาดคุณสมบัติ หรือมีเหตุที่มีสภาพร้ายแรงที่ทำให้ไม่สามารถให้ความเห็นชอบได้

ทั้งนี้เพื่อถ่วงดุลอำนาจกัน ไม่ใช่ปล่อยให้องค์กรศาลโดดเดี่ยวออกไปแล้วไม่มีการปฏิรูปในเชิงโครงสร้าง เลยตั้งแต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง คือหลังการอภิวัฒน์สยาม 2475 ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าเลือกใครก็ได้ขึ้นศาลสูงสุดตามอำเภอใจ หรือต่อไปผู้พิพากษาต้องไปวิ่งเต้นกับนักการเมือง ไม่ใช่อย่างนั้น อันนี้เป็นรายละเอียดที่ต้องทำต่อไปในอนาคต

นิติราษฎร์เสนอให้มีผู้พิพากษาสมทบในศาลระดับล่าง ในคดีบางประเภท เพื่อเปิดให้เห็นความโปร่งใสในการทำงาน เสนอให้มีการปฏิรูปกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการได้มาซึ่งผู้พิพากษาตุลาการ เสนอเรื่องผู้ตรวจการกองทัพที่จัดตั้งโดยสภาผู้แทนราษฎร เสนอเรื่องการพิจารณาเรื่องทางวินัยกับส.ส. เช่น ส.ส. ที่ไม่ค่อยมาประชุมสภาโดยไม่มีเหตุอันสมควร หรือประพฤติปฏิบัติฝ่าฝืนมาตรฐานทางวินัย จะได้รับผลร้ายตามลดหลั่นกันไปตามแต่ลักษณะการกระทำ เช่น การถอนคืนตำแหน่งกรรมาธิการ การประกาศตำหนิพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้น

เหล่านี้จะออกมาเป็นการปฏิรูปรัฐสภาและกฎหมายรัฐสภา นี่รวมถึงการปฏิรูประบบเลือกตั้งตลอดจนพรรคการเมืองด้วย แต่นิติราษฎร์ไม่เห็นด้วยที่จะไปเน้นแต่สถาบันทางการเมืองเพราะคุมแค่นักการ เมืองอย่างเดียวไม่สามารถแก้ไขปัญหาระบบการเมืองได้ทั้งหมด มันต้องทำทั้งระบบและต้องไม่มีเรื่องในรัฐธรรมนูญที่ห้ามแตะต้อง ดังนั้นเวลาจะร่างรัฐธรรมนูญใหม่ต้องพูดได้หมดทุกหมวด โดยเฉพาะหมวดที่ว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะหลายครั้งที่แก้หมวดนี้มักจะแก้กันหลังจากมีการทำรัฐประหาร แล้วก็ไม่มีปฏิกิริยาใด ๆ ออกมาเลย แต่พอนิติราษฎร์เสนอให้มีการอภิปรายพูดคุยกันบนพื้นที่สาธารณะ และเสนอประเด็นตัวอย่างบางประเด็นโดยมีวัตถุประสงค์จะให้ระบอบประชาธิปไตย เดินไปโดยไม่สะดุด เพื่อป้องกันการรัฐประหารให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อธำรงรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้มั่นคงในกรอบของรัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตย กลับมีกระแสปฏิกิริยาต่อต้าน

สังคมหลายส่วนยังเข้าใจว่าหมวดพระมหากษัตริย์นั้นไม่เคยถูกแตะต้องเลย ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ซึ่งไม่จริง รัฐประหารหลายครั้งมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขหมวดนี้มาโดยตลอด แล้วนิติราษฎร์ชัดเจนว่า ต้องการรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยในรัฐที่เป็นราชอาณาจักร


กระแสบางส่วนในสังคมบอกว่า สิ่งที่นิติราษฎร์ทำเกี่ยวกับลบล้างผลพวงของรัฐประหารนั้นดีอยู่แล้ว แต่การไปจุดประเด็น เรื่องการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ทำให้น้ำหนักเรื่องการลบล้างผลพวงขอรัฐประหารมีน้ำหนักน้อยลงไป ทำไมอาจารย์ต้องจุดประเด็นเรื่องการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรานี้ด้วย แล้วอาจารย์ได้ประโยชน์จากเรื่องนี้หรือไม่

เราทำทุกอย่างด้วยความบริสุทธิ์ใจ เรื่องไหนที่ขัดแย้งกับระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย มีผลกระทบต่อสิทธิ เสรีภาพของประชาชนเราจำเป็นต้องทำ ต้องรณรงค์เพื่อให้กฎหมายสอดคล้องกับความเป็นมนุษย์ แม้จะรู้ว่าถ้านำเสนอ ออกไปแล้วย่อมมีปฏิกิริยาตอบกลับที่รุนแรงแต่ก็จะทำเพราะต้องการเห็นสังคม ไทยเป็นสังคมที่ยืนอยู่บนหลักการที่ถูกต้อง สง่างามในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ และได้รับการยอมรับในระดับสากล อีกอย่างหนึ่งประเด็นเหล่านี้ไม่ค่อยมีคนเสนอบนพื้นที่สาธารณะ เราจึงนำเสนอ เห็นด้วยไม่เห็นด้วย ก็โต้แย้งกันด้วยเหตุด้วยผล เราไม่ได้คิดถึงความนิยมในหมู่ประชาชนเป็นหลัก แต่คิดถึงปัญหาที่เป็นอยู่เป็นหลัก เราลืมคดีอากง sms กันแล้วหรือ แน่นอน แม้การเสนอแก้ไขกฎหมายเรื่องนี้จะไม่ได้มีผลต่อคดีอากงโดยตรง แต่ก็ทำให้สังคมและรัฐสภาได้อภิปรายพูดคุยกันเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ ซึ่งเมืองนอก องค์การระหว่างประเทศพูดถึงอย่างหนาหูมากแล้ว เราจะอยู่กันในความเงียบที่หนวกหูอย่างนั้นหรือ


ปฏิกิริยาจากข้อเสนอของ ครก.112 คือสิ่งสะท้อนความไร้ตรรกะของสังคมไทยหรือไม่

ในบางเรื่องนั้นสังคมไม่ได้ใช้เหตุผลมาคุยกันถ้าดูจากในรายการตอบโจทย์ ที่ผมเคยไปออกกับคุณคำนูญ คุณไชยันต์หรืออาจารย์สุลักษณ์ มันก็แสดงให้สังคมเห็นว่า แม้แต่ละคนจะคิดไม่เหมือนกัน บางประเด็นคิดขัดแย้งกันแต่ทุกคนก็สามารถคุยกันได้ด้วยเหตุผล แล้วก็นำเหตุผลนั้นมาสู้กันตามวิถีทางของประชาธิปไตยแต่ตอนนี้กระแสที่โหม กระหน่ำใส่กลุ่มนิติราษฎร์ โดยเฉพาะตัวผมเองนั้นมันเป็นกระแสฟาดฟันด้านเดียว กระแสมีธงจะทำลาย พอมันมีธงทำลายแล้ว เขาจะพูดด้วยเหตุผลก็เป็นไปไม่ได้


ในบรรดาปฏิกิริยาจากคนที่ค้านการแก้กฎหมายอาญามาตรา 112 ใครดูมีท่าทีที่เป็นเหตุผลสำหรับอาจารย์มากที่สุด

จนถึงวันนี้ ผมยังไม่เห็นเลยว่าจะมีใครโต้แย้งกับนิติราษฎร์หรือกับตัวผมเองด้วยเหตุผล หลายคนผมเชื่อว่ายังไม่ได้อ่านข้อเสนอของนิติราษฎร์และยังไม่รับรู้วัตถุ ประสงค์ในการณรงค์ของ ครก.112 เลย หลายคำถามที่บรรดาคอลัมนิสต์หรือนักวิชาการบางส่วนมาโต้แย้งผมนั้น ผมก็ได้พูดชัดเจนไปตั้งแต่วันที่ 15 มค. ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้วแล้ว ทุกปฏิกิริยาผมตอบไว้ก่อนอย่างชัดเจนแล้ว เพียงแต่ฝ่ายปฏิกิริยาไม่ได้อ่านสิ่งที่ผมได้พูดไว้แล้ว แล้วก็จับอยู่แต่ประเด็นเดียวคือเรื่อง ล้มเจ้า การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 คือการล้มเจ้า ตอนนี้ผมจึงไม่เห็นว่าจะมีใครมาถกเถียงกันเรื่องการแก้กฎหมายอาญามาตรานี้ ด้วยเหตุผลเลย


ทำไมกลุ่มคนที่เห็นด้วยกับหลักการของคณะนิติราษฎร์จึงต้องถูกกล่าวหาว่ากำลังล้มเจ้าด้วย

มันเป็นภาพที่สร้างขึ้นมา พอพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ แล้วพุดถึงการแก้ไขปรับปรุงประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จะถูกหาว่าล้มเจ้าทั้งหมด สังคมกำลังสุดโต่งมากเกินไปในเรื่องของการพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ คือสภาพมันไปไกลถึงขนาดว่าถ้าไม่เป็นไปในทางเฉลิมพระเกียรติ ก็จะถูกหาว่าเป็นการล้มเจ้าไปหมด นี่ขนาดพูดชัดเจนว่าผู้เสนอ เสนอในกรอบของรัฐที่เป็นราชอาณาจักร ก็ยังถูกกล่าวหาว่าล้มเจ้า กลายเป็นว่าสังคมไม่เปิดพื้นที่ให้แก่กลุ่มคนที่ต้องการจะพูดถึงสถาบันฯ ตามหลักการและเหตุผลโดยเพื่อให้สถาบันฯ ยังดำรงอยู่ได้ต่อไปเลย สังคมปิดพื้นที่ตรงนี้แล้วไปผลักคนที่เห็นต่างว่าเป็นพวกล้มเจ้า แต่ลึก ๆ ผมเชื่อว่า สุดท้ายสังคมเราอาจจะต้องใช้เวลาในการใช้เหตุผลในการพูดถึงสถาบันฯ ผมยังพอมีความหวังสำหรับเรื่องนี้นะ


คิดว่าสังคมจะต้องมีจุดแตกหักก่อนไหม จึงจะสามารถคุยประเด็นนี้ได้อย่างเป็นเหตุเป็นผลกัน

ต้องไม่มีคนฉวยโอกาสจากประเด็นนี้ แต่ดูจากสื่อที่สร้างความเกลียดชังให้เกิดขึ้นในสังคม หรือบางคนอาจอาศัยจังหวะที่ผมและนิติราษฎร์กำลังเพลี่ยงพล้ำในกระแสของสื่อ มวลชนโหนกระแสนี้เพื่อให้ตัวเองดูเด่นขึ้นมาในหน้าสื่อสารมวลชน คนที่ต้องการจะบอกว่า ตัวเองมีความจงรักภักดีมากที่สุดนั้นจะต้องยืนอยู่สูงที่สุด บ่อยครั้งที่การยืนบนที่สูงที่สุดเพื่อให้คนเห็นหน้าว่าตนจงรักภักดีกว่าใคร นั้น ก็ยืนขึ้นโดยเหยียบหัวผมขึ้นไป พร้อมกับร้องว่าผมเนรคุณ บางคนแสดงความจงรักภักดีไปพร้อมกับการเหยียดหยามคนอื่น หรือบางกลุ่มก็แสดงความอาฆาตมาดร้าย ก่นด่า ประณามนิติราษฎร์ไปด้วยเพื่อให้ความจงรักภักดีที่คน ๆ นั้นกำลังแสดงอยู่นั้นมีน้ำหนักในหน้าสื่อสารมวลชนมากขึ้น อย่างนี้ก็สุ่มเสี่ยงอยู่เหมือนกันว่าจะมีจุดแตกหัก

สื่อต้องมีข้อมูลของแต่ละคนที่พูดเรื่องนี้ออกมาสู่สังคม เช่น บางคนแสดงความจงรักภักดีโดยมีฐานความเชื่อหรือมีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับ สถาบันฯ อย่างไรบ้าง มีความเชื่อมโยงทางฐานอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจอย่างไร ถ้าสื่อสามารถตีแผ่ตรงจุดนี้ออกมาได้ สังคมจะได้รู้ถึงสาเหตุที่แต่ละฝ่ายต้องออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่พวกผมทั้ง 7 คน ในนิติราษฎร์ไม่ได้มีส่วนได้เสียหรือผลประโยชน์อะไรเลยจากข้อเสนอต่าง ๆ ที่เราเผยแพร่ออกสู่สาธารณะ


การแสดงความเห็นของอาจารย์ทำให้ภาพลักษณ์ของอาจารย์เชื่อมโยงกับแนวคิดของคนเสื้อแดง อาจารย์จะสะท้อนมุมนี้อย่างไร

ถ้าผมกังวลใจในส่วนนี้ ในทางหลักวิชาการแล้วผมจะนำเสนอความเห็นใด ๆ ทางกฎหมายมหาชนที่มีประเด็นเชื่อมโยงกับการเมืองไม่ได้เลย เพราะถ้ากลัวว่าเราแสดงความเห็นออกไปแล้วไปเข้าอีกข้างหนึ่ง กังวลว่าการแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องสถาบันฯ การแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 จะถูกกล่าวหาว่าล้มเจ้าแล้ว ผมจะแสดงความเห็นอะไรไม่ได้ทั้งสิ้น สังคมนี้ก็จะถูกปิดตายทางความคิดความเห็นทันทีเหมือนกับถูกขังอยู่ในถ้ำ ถ้าไม่มีใครสักคนหรือใครหลายคนกล้าที่จะพูดถึงใจกลางของปัญหาหลายปัญหาในทาง การเมือง ดังนั้น เราควรจะทำให้สังคมออกมาจากถ้ำเสียที

อยากถามอาจารย์ในเชิงความเห็นว่า นิติราษฎร์จะจัดการปมที่ถูกมัดจากสังคมกระแสหลักว่า เป็นกลุ่มคนล้มเจ้า นี้อย่างไร

ก็จะพยายามอดทนอธิบาย ชี้ให้เห็นว่าเราไม่ได้เปลี่ยนรูปของรัฐเลย รัฐไทยยังเป็นราชอาณาจักร ซึ่งหมายความว่ามีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ส่วนประเด็นเกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา112 นั้น ก็เสนอแก้ไขปรับปรุงในกรอบของรัฐธรรมนูญ เพื่อป้องกันไม่ให้มีใครนำสถาบันพระมหากษัตริย์ไปใช้เป็นเครื่องมือทำลายกัน ทางการเมือง ทำตัวบทกฎหมายในเรื่องนี้ให้ได้มาตรฐานสากล ไม่ใช่ปล่อยให้มาตรานี้ซึ่งถูกแก้ไขโดยการเพิ่มอัตราโทษสมัยหลังรัฐประหาร เมื่อเดือนตุลาคม 2519 ใช้บังคับต่อไปโดยไม่คิดจะปรับปรุงให้เหมาะแก่กาลสมัย โดยวิธีนี้จะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ได้อย่างสง่างามคู่กับระบอบ ประชาธิปไตยและการประกันสิทธิเสรีภาพของบุคคล ซึ่งในท้ายที่สุดก็จะส่งผลในทางบวกต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้สถาบันมั่นคงปลอดภัย

ที่ อาจารย์ทำตรงส่วนนี้เพราะอาจารย์กำลังจะทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคมมากขึ้น หรือมันเป็นเรื่องที่ขัดแย้งอยู่แล้วเพียงแต่อาจารย์จุดประเด็นนี้ขึ้นมา

สังคมไทยมีความขัดแย้งมานานแล้วแต่ความขัดแย้งนั้นมันครุกกรุ่นอยู่ใน อารมณ์ความรู้สึกของคน สิ่งที่ผมทำมาตลอดในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาก็คือ นำความขัดแย้งดังกล่าวขึ้นมาพูดบนเวทีสาธารณะด้วยเหตุและผล ถ้าเราสามารถนำความขัดแย้งที่เกิดจากอารมณ์ของคนที่เป็นฝ่ายถูกกระทำขึ้นมา สู่เวทีสาธารณะได้ สังคมก็จะผ่านความขัดแย้งนี้ไปโดยไม่มีความสูญเสียเกิดขึ้นอีก


หลายกระแสบอกว่าถ้าแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 จะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์อ่อนแอลง อาจารย์จะสะท้อนแนวคิดดังกล่าวอย่างไร

ผมคิดว่ากลุ่มคนหลายกลุ่มเป็นกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง กลุ่มผลประโยชน์เหล่านั้นอาศัยสถาบันฯ เป็นเครื่องมือในการฟาดฟันปรปักษ์ทางการเมือง การยอมให้ใช้สถาบันฯเป็นเครื่องมือในลักษณะดังกล่าวต่างหากที่จะทำให้ สถาบันฯอ่อนแอลง กลุ่มคนเหล่านี้จะได้รับผลกระทบหากรัฐสภาผ่านร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประมวล กฎหมายอาญา มาตรา 112 อย่างน้อยที่สุด จากที่ใครก็ได้สามารถเข้าแจ้งความดำเนินคดีได้ ก็จะมีหน่วยงานที่กฎหมายกำหนดไว้โดยเฉพาะ ซึ่งตามร่างของนิติราษฎร์ คือ สำนักราชเลขาธิการ เป็นผู้ดำเนินการ คราวนี้คนที่เคยใช้เรื่องนี้ฟาดฟันกันทางการเมือง ก็จะใช้เครื่องมือนี้ไม่ได้อีกต่อไป ประเด็นสำคัญของครก.112 จึงอยู่ที่ “แก้ไขมาตรา112 ฟื้นฟูประชาธิปไตย หยุดใช้สถาบันกษัตริย์ เป็นเครื่องมือ” ประเด็นของ ครก.112 ชัดมาก กลุ่มคนที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านจำนวนหนึ่งก็คือกลุ่มคนที่เสียผลประโยชน์ จากที่เคยใช้กฎหมายมาตรานี้ในการทำร้ายคู่แข่งทางการเมือง


บางกระแสบอกว่าถ้าแก้ไขกฎหมายมาตรานี้จะทำให้ประชาชนบางส่วนสามารถใช้ถ้อยคำหยาบคายหรือหมิ่นประมาทสถาบันฯ ได้ง่ายขึ้น

เป็นไปไม่ได้ครับ เราเสนอให้แก้มาตรานี้ก็จริง แต่ยังไว้ซึ่งความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพียงแต่แยกความผิดฐานหมิ่นประมาท กับดูหมิ่นและแสดงความอาฆาตมาดร้ายออกจากกัน และกำหนดโทษไว้แตกต่างกัน ตลอดจนแบ่งแยกความผิดดังกล่าวที่กระทำต่อมหากษัตริย์ ออกจากพระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ออกจากกัน ให้รับกับความผิดอื่นๆที่กระทำต่อบุคคลทั้งสี่ตำแหน่งดังกล่าว และให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งคุ้มครองพระมหากษัตริย์ไว้เป็นพิเศษกว่าตำแหน่งอื่น อีกอย่างการด่าทอกันในสังคมนอกจากจะมีความผิดตามกฎหมายแล้ว ในหลายกรณียังถูกตำหนิ ประณามจากสังคมด้วย สิ่งที่เราเสนอไปเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา112 ก็คือ การให้ศาลตีความโดยแยกให้ออกระหว่างการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันฯ ตามกรอบของสังคมประชาธิปไตยกับการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย การวิพากษ์วิจารณ์ทำได้ตามกรอบของกฎหมาย แต่การด่าทอหยาบคายหรือใส่ความให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียงยังเป็นสิ่งที่ผิด กฎหมายอยู่


สังคมไทยกำลังเผชิญความขัดแย้งระหว่างอะไรกับอะไร

สิ่งที่สังคมเผชิญอยู่นั้นคือความขัดแย้งเชิงอุดมการณ์ระหว่างกลุ่มคนที่ อยากให้มีการเมืองเลือกตั้งให้อำนาจจากประชาชนเลือกนักการเมืองเข้ามาทำงาน โดยตรวจสอบได้กับกลุ่มคนที่ปฏิเสธการเมืองแบบเลือกตั้งและให้อำนาจองค์กรของ รัฐที่ขาดความชอบธรรมทางประชาธิปไตยเข้าควบคุมนักการเมือง เป็นความขัดแย้งระหว่างฝ่ายที่นิยมเลื่อมใสระบอบประชาธิปไตยในรัฐที่เป็น นิติรัฐกับฝ่ายที่ปฏิเสธประชาธิปไตยเพราะคิดว่าประชาชนไม่พร้อมและเน้นอำนาจ ทางจารีตตลอดจนอำนาจที่ขาดความเชื่อมโยงกับประชาชนเจ้าของอำนาจ ทั้งๆที่ความจริงแล้วในแง่อุดมการณ์ประชาธิปไตย ต้องเคารพในการตัดสินใจของประชาชนเป็นเบื้องแรกและต้องถือว่าสิ่งนี้เป็นคุณ ค่าสำคัญ แล้วต้องสามารถตรวจสอบสถาบันในทางรัฐธรรมนูญ ตลอดจนสถาบันในทางการเมืองได้ทั้งหมด

แต่ชัดเจนว่า รธน.ปี 2550 ไม่ตรงกับอุดมการณ์ประชาธิปไตยตรงจุดนี้เลย หลายคนออกมาเห็นแย้งกับนิติราษฎร์ที่เสนอว่า ให้สถาบันศาลเชื่อมโยงกับประชาชน แต่ไม่ได้กังวลเลยว่าศาลตลอดจนองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญสามารถเสนอคำขอแปร ญัตติงบประมาณรายจ่ายต่อคณะกรรมาธิการของรัฐสภาได้โดยตรงซึ่งผิดหลัก ประชาธิปไตย

นี่คือสาเหตุสำคัญว่าทำไมข้อเสนอของนิติราษฎร์จึงมีปฏิกิริยาจากกลุ่มคน อีกฝ่ายอย่างรุนแรง นั่นก็เพราะข้อเสนอของนิติราษฎร์ไปแตะองค์กรหรือสถาบันต่าง ๆ ที่อยู่ในรธน. โดยเฉพาะศาลและองค์กรอิสระ ซึ่งมีปัญหาในแง่ของความชอบธรรมทางประชาธิปไตย ถ้าสู้กันด้วยเหตุผลอย่างตรงไปตรงมา กลุ่มคนดังกล่าวที่ได้ประโยชน์จาก รธน. ปี2550 จะไม่ใช้การโต้แย้งในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของพวกเขาโดยตรง เพราะเหตุผลของพวกเขาอาจมีน้ำหนักไม่มากพอที่จะโต้แย้งข้อเสนอของนิติราษฎร์ เว้นแต่ใช้คาถานักการเมืองเลว ทุนสามานย์ หรือประชาชนยังไม่พร้อม ด้วยเหตุนี้เองกลุ่มคนอีกฝ่ายจึงต้องใช้สถาบันกษัตริย์ ใช้ข้อหาล้มเจ้ามาฟาดฟันเพื่อให้น้ำหนักข้อเสนอของนิติราษฎร์อ่อนลง

หลังจากนี้นิติราษฎร์จะทำอย่างไรต่อไป จะจุดไฟความคิดให้กับสังคมในประเด็นไหนต่อไป

ประเด็นเรื่องการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นเรื่องของ ครก.112 ที่จะตัดสินใจ แต่ผมคิดว่าเขาคงดำเนินการต่อไป ส่วนประเด็นเรื่องรัฐธรรมนูญนั้น หลังจากนิติราษฎร์ได้นำเสนอประเด็นหลักๆออกสู่สาธารณะแล้ว หลังจากนี้ไปก็จะพักสักระยะ ใช้เวลาพูดคุยกันเกี่ยวกับรายละเอียดของรัฐธรรมนูญแต่ละเรื่อง ซึ่งคงเริ่มด้วยเรื่องการลบล้างผลพวงรัฐประหาร และการปฏิรูปสถาบันการเมือง การเสนอประเด็นเกี่ยวกับระบบเลือกตั้ง และการสร้างความเป็นประชาธิปไตยในพรรคการเมืองก่อน ถ้าโอกาสอำนวยก็อาจจะนำเสนอประเด็นเหล่านี้ในเวทีเสวนา แล้วคงจะดูสถานการณ์ของสังคมว่าควรจะพูดประเด็นไหนต่อไป แต่แผนในระยะสั้นยังไม่มีอะไร

ผมและอาจารย์คณะนิติราษฎร์ก็มีชีวิตเหมือนอาจารย์ทั่วไป ต้องสอนหนังสือ ต้องตรวจข้อสอบด้วยเช่นเดียวกัน ที่ออกมาจุดไฟความคิดให้แก่สังคมก็ทำด้วยใจ ใช้เวลาว่างจากการสอนหนังสือมาเสนอความคิดเห็นเรื่องกฎหมายมหาชนออกสู่ สาธารณะ นี่เป็นสิ่งที่เราอยากทำให้กับสังคมในวงกว้างขึ้น ไม่อยากให้เรื่องกฎหมายมหาชนซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประชาชนโดยตรง จำกัดอยู่แค่วงการศึกษา มีแต่อาจารย์กับนักศึกษาเพียงสองฝ่ายเท่านั้น

นิติราษฎร์อยากทำให้เรื่องกฎหมายที่เกี่ยวกับการเมืองการปกครองเป็น เรื่องที่สามารถเข้าถึงได้ทุกกลุ่ม เราพยายามสืบสานปณิธานเมื่อแรกตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองของ ผู้ประศาสน์การปรีดี พนมยงค์ ที่จะให้มหาวิทยาลัยเป็นเหมือนบ่อน้ำบำบัดความกระหายของราษฎร เมื่อเราไม่สามารถเคลื่อนไหวทางความคิดตามกรอบของระบบราชการปกติได้ เราจึงก่อตั้งคณะนิติราษฎร์ขึ้น เราจึงทำเว็บไซต์ ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ต้องลงทุนอะไรมาก เราก็ช่วยกันออกสตางค์คนละนิดละหน่อย เพื่อเคลื่อนไหวทางความคิดในเรื่องของนิติรัฐและประชาธิปไตย ให้ประชาชนในวงกว้างได้มีโอกาสรับรู้ ได้ศึกษา ได้คิดคล้อย และคิดค้าน นี่เป็นสิ่งเล็กๆน้อยๆที่เราทำเพื่อสนองคุณภาษีอากรของราษฎร

หลายคนคาดหวังจะให้ผมนำมวลชน ผมขอยืนยันชัดเจนว่าไม่นำ แต่ขอทำหน้าที่ในการนำเสนอข้อคิดเห็นและเนื้อหาในทางวิชาการเท่านั้น ถ้าสิ่งที่นำเสนอนำเสนอมันไปตรงกับใจของคนไม่น้อย ก็เป็นเรื่องผลพลอยได้ ผมว่าตอนนี้นิติราษฎร์เป็นปรากฏการณ์นะที่สามารถนำเสนอประเด็นทางวิชาการ แล้วประชนให้ความสนใจนำไปคิดต่อยอดได้ นักวิชาการหลายคนไม่เชื่อว่า การนำเสนอแนวคิดวิชาการบริสุทธิ์ออกสู่สาธารณะจะมีประชาชนสนใจและพยายามทำ ความเข้าใจกับสิ่งที่เราเสนอได้ถึงขนาดนี้

สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่า แท้จริงแล้วมวลชนนั้นก็มีฐานความคิดอยู่แล้ว พวกเขารู้ว่าการกระทำใดถูกต้องตามหลักการ การกระทำใดผิดหลักประชาธิปไตย นิติราษฎร์อาจจะทำหน้าที่แค่นำสิ่งที่พวกเขาคิดแต่ไม่สามารถอธิบายเป็นเหตุ เป็นผลมาอธิบายเป็นข้อเสนอหรือแนวคิดเชิงวิชาการ ให้สามารถถกเถียงแลกเปลี่ยนกันได้ง่ายขึ้นเท่านั้น


อาจารย์ได้ประโยชน์อะไรจากการออกมาเสนอแนวคิดสู่สังคม

สมมติว่าผมอยากเป็นนักการเมืองผมจะทำเรื่องนี้ทำไม ถ้าผมอยากเป็น สสร. 3 ผมจะเห็นค้านการใช้ สสร.3 ทำไม ความอยากเป็นอยากดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นสิ่งที่ผมคิดไว้ท้ายสุดของชีวิต ตอนนี้ก็ชัดแล้วว่า ไม่มีใครให้ผมเป็น สสร. หรอก แต่ผมก็ไม่ได้อยากเป็นอยู่แล้ว ถ้าเป็นแล้วไม่สามารถนำเสนอความคิดในการปฏิรูปปรับโครงสร้างทั้งหมดของ สถาบันทางการเมืองและองค์กรต่างๆในรัฐธรรมนูญได้ เพราะสิ่งที่ผมเสนอ เชื่อว่าทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านก็ไม่รับลูกต่อ แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาเลยเพราะผมไม่ได้สนใจตรงจุดนั้น ผมเพียงแต่ทำหน้าที่ในการนำเสนอหลักกฎหมายออกสู่สังคมในสถานการณ์ที่การตี ความทางกฎหมายดูจะบิดเบี้ยวมากขึ้นทุกที ก็เท่านั้น


ทั้งหลายทั้งปวงที่นิติราษฎร์เสนอ ความเห็น จุดไฟความคิดทางสังคมจนเกิดปฏิกิริยาทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยมากมาย นิติราษฎร์ทำไปเพื่ออะไร

ผมอยากเห็นสังคมนี้เป็นสังคมประชาธิปไตยที่แท้จริง เป็นสังคมที่พูดกันได้อย่างตรงไปตรงมาบนพื้นฐานของความปรารถนาดีต่อกันเท่า นั้น นิติราษฎร์เห็นว่าการใช้กฎหมายมันบิดเบี้ยวตั้งแต่หลังรัฐประหาร จริงๆ ผมพูดมาหลายเรื่องก่อนการรัฐประหารรัฐบาลคุณทักษิณแล้ว นี่รวมทั้งการวิพากษ์วิจารณ์การตัดสินใจบางเรื่องของรัฐบาลคุณทักษิณ หรือการตัดสินคดีบางคดีของศาลด้วย แต่การใช้กฎหมายอย่างบิดเบี้ยวอย่างสำคัญ ผิดไปจากหลักการที่ได้เรียนมา เกิดขึ้นอย่างชัดเจนตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา

ทุกอย่างที่นิติราษฎร์ทำ เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ ทั้ง 7 คนผมยืนยันและรับรองได้ว่าไม่มีใครเป็นอย่างที่สื่อกระแสหลักกล่าวหาเพราะ รู้จักกันหมด บริสุทธิ์ใจและไม่มีนอกไม่มีใน แล้วผมก็มีอาชีพสอนหนังสือ ถ้าทำอะไรผิดก็สอบสวนไปตามวินัยว่าผมผิดตรงไหน ซึ่งแน่ใจว่าไม่มี ทุกอย่างอยู่ในกรอบของกฎหมายและความเหมาะสม นิติราษฎร์ทำในแง่ของงานวิชาการและไม่มีผลประโยชน์ทางการเมืองมาเกี่ยวข้อง ผมบอกตามตรงเลยว่า ทำไมถึงเสนอแบบนี้ เพราะมันดีต่อประชาชนเจ้าของอำนาจ ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ต่อสถาบันกองทัพ ต่อศาล ต่อสถาบันการเมือง และผมพร้อมที่จะอธิบายในทุกๆที่ ตอนนี้ เราเพียงแต่ปรารถนาว่า สังคมโดยเฉพาะสื่อกระแสหลักคงไม่โหมกระแสความเกลียดชัง คงจะฉุกคิด ใช้สติ และโต้เถียงกับเราอย่างมีเหตุผล และเป็นอารยะ อย่าได้ถอยหลังพ้นไปจากความเป็นมนุษย์เลย