ขอความสันติสุข ประสบแด่ทุกท่าน,
ก่อน อื่นต้องขอขอบคุณ Konrad Adenauer Foundation (มูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์) , The Delegation of the European Union to Thailand (คณะผู้แทนของสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย) , Cross Cultural Foundation (มูลนิธิผสานวัฒนธรรม) , The British Embassy Bangkokที่เอื้ออำนวยให้เกิดบรรยากาศของการถกเถียงแลกเปลี่ยนเรื่องชายขอบ ในเดือนรุ่งปีใหม่ ช่วงแห่งการเริ่มต้น แต่ก็เป็นเรื่องที่ดีไม่น้อยที่เรากำลังจะมาช่วยกันมองปัญหาความรุนแรงในภาค ใต้แบบ Road Map ที่ไม่สามารถทำให้ลุล่วงไปได้ด้วยปฏิบัติการใด ชั่วข้ามคืน หากแต่อาจต้องเริ่มก้าวแรกถึงสามปี นอกจากนี้ ยังทำให้เห็นว่าสิ่งที่เคยทำไปแล้ว สิ่งที่กำลังจะทำในปีนี้ ยังจะมีผลสะเทือนไปสู่ปี ค.ศ.2014 อีกด้วย
สำหรับ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นวันนี้ ผมเป็นตัวแทนของภาคประชาสังคมที่ทำงานเกี่ยวข้องกับปัญหาความรุนแรงและ กระบวนการสันติภาพในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในนาม ปาตานี ฟอรั่ม
ปาตานี ฟอรั่ม เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนน้องใหม่ที่ก่อตั้งโดยกลุ่มคนที่มีอัตลักษณ์หลากหลาย ทั้งคนมลายูและคนที่ไม่ใช่มลายูแต่เติบโต และอาศัยอยู่ในปัตตานีอย่างผม (และคุณดอน ปาทาน) ปาตานี ฟอรั่ม ไม่ใช่แค่สื่อมวลชนที่ทำหน้าที่เสนอข่าวสารในพื้นที่ล้วนๆ แต่เราเป็น พื้นที่ ของการนำเสนอบทความวิเคราะห์และกิจกรรมเสวนากึ่งวิชาการเพื่อ high light สาระเนื้อหาการถกเถียงที่ซ่อนอยู่ในสถานการณ์ที่มีความอ่อนไหวสูงเช่นใน จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อฝ่าข้ามเพียงการตอบโต้สถานการณ์รายวัน แนวคิดหลักของเราก็คือการโน้มน้าวให้สังคมไทยและรัฐเลือกใช้แนวทางสันติวิธี ในการแสวงหาหนทางในการยอมรับ และอยู่ร่วมกับผู้ที่มีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมแตกต่างจากคน ส่วนมากของสังคมไทย เช่น สังคมมลายูในภาคใต้ของไทยอย่างสันติสุข ในความหมายขั้นต่ำที่สุดว่าเราจะหาหนทางขัดแย้งกันอย่างสร้างสรรค์ได้อย่าง ไร ดังนั้นจึงไม่แปลกหากท่านพบบทความเชิงเฝ้าติดตามพลวัตรความขัดแย้ง การดำเนินนโยบายรัฐ และการฟอร์มตัวของกระบวนการสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะการวิเคราะห์การเคลื่อนไหวของกลุ่ม องค์กรต่างๆ ที่อ้างว่าเคลื่อนไหวอยู่ในสามจังหวัดชายแดนใต้ในหน้า website ปาตานี ฟอรั่ม (www.pataniforum.com)
สำหรับ ประเด็นที่ผมตั้งใจนำเสนอแลกเปลี่ยนกับท่านทั้งหลายในวันนี้ ผมได้พิจารณาจากองค์ประกอบของเวทีทั้งหัวข้อที่ว่าด้วย Road Map, ท่านวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ และตัวผมเองในฐานะตัวแทนของปาตานี ฟอรั่ม ดังที่กล่าวแล้ว รวมทั้งที่ตัวผมและปาตานี ฟอรั่ม มีโอกาสลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องในฐานะนักวิจัยด้านสันติภาพร่วมกับองค์กร อื่นๆ ทั้งในพื้นที่และระหว่างประเทศ ผมจึงเห็นว่า โดยทั่วไปและรวมถึงวันนี้ เวลาเราพูดถึง ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือเวลาพูดถึง “แผน” ไม่ว่าจะในรูปแบบ Road Map หรือ ยุทธศาสตร์ ก็มักจะถกเถียงกันอยู่ระหว่างปัญหาเรื่องความมั่นคง และปัญหาเรื่องความยุติธรรม ซึ่งในเวทีนี้มีท่านผู้ทรงคุณวุฒิเพียงพอแล้ว
อย่างไรก็ตาม วันนี้ผมอยากจะชี้ชวน เพิ่มเติมประเด็นเรื่อง “การพัฒนาในพื้นที่ความรุนแรงเช่นในพื้นที่ จชต.” ให้มีที่มีทางอยู่ใน Road Map ของเราด้วย เนื่องจากผมเห็นว่าหลายปีที่ผ่านมา การพัฒนา ถูกพูดถึงในฐานะ “ความหวัง” ของทางออก แต่ขณะเดียวกันก็อยู่อย่างแยกส่วนจากยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง ความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน แต่ในวันนี้ ในสามปีข้างหน้านี้ ผมอยากเสนอว่า Road Map ของเราควรอภิปรายหัวข้อการพัฒนาให้เข้มข้น หนักหน่วงยิ่งกว่าเดิม ไม่ใช่เฉพาะนโยบาย soft soft ที่ทำหน้าที่เพียง แย่งชิงมวลชน อีกต่อไป เพราะในความเป็นจริงของพื้นที่ ผมพบว่า ตัวนโยบายและโครงการพัฒนา มีความข้องเกี่ยวกับปฏิบัติการด้านความมั่นคง, ข้องเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของความรุนแรง และเรื่องนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาเรื่องความเป็นธรรมในพื้นที่ซึ่งสมควร ได้รับการยืดขยายความเข้าใจให้มากกว่าแค่ความยุติธรรมตามกระบวนการยุติธรรม ด้วย อย่างหนึ่งที่ผมต้องกล่าวก่อนเสนอความเห็นของผมก็คือ input สำหรับการคิดเรื่อง Road Map และเป็น Road Map ส่วนตัวของผมในฐานะนักวิจัยในพื้นที่เท่านั้น คงไม่อาจอ้างได้ว่าคนในพื้นที่จะเห็นตามทั้งหมด ผมจะพูดเพียง 2 ประเด็นหลักเท่านั้น คือจุดตั้งต้นสำหรับ Road Map ของเราและการยกสถานะงานพัฒนาให้มีความหมายใน Road Map ของเรา
1. จุดตั้งต้น Road Map
ผม คิดว่าจุดตั้งต้นของ Road Map ก็คือตัวสาเหตุที่ทำให้เราต้องมาคิดเรื่องการแก้ปัญหาระยะยาวในรูปแบบ RoadMap กันอย่างวันนี้ ซึ่งในความเห็นผมคือ ลักษณะความขัดแย้งรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยเป็นความขัดแย้งยัง ไม่ “settle” หรือยังไม่อยู่ตัว ผมกำลังจะบอกว่า ณ ขณะนี้ ความขมุกขมัว ลื่นไหล ช่วงชิงความชอบธรรม คือส่วนที่ชัดที่สุดและต้องยอมรับไปพลางๆ เพราะสิ่งที่ปาตานี ฟอรั่มพบขณะนี้ก็คือกระบวนการเจรจาสันติภาพในกรณีจังหวัดชายแดนภคใต้ยังไม่ สามารถฟอร์มตัวได้อย่างเป็นทางการ ไม่ใช่เพราะไม่มีสัญญาณจากรัฐบาลไทยเสียเลย แต่ประเด็นอยู่ที่สภาวะการนำของคู่เจรจาที่ชอบธรรมยังคงอยู่ในภาวะสูญญากาศ เพราะแม้จะมีการอ้างภาวะความเป็นผู้นำชอบธรรมสำหรับการนั่งโต๊ะเจรจาจาก หลายกลุ่มทั้งที่อยู่ในประเทศและต่างประเทศ
อย่างไร ก็ตาม จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีกลุ่มใดที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าตนเป็นผู้กุมอำนาจในการ ควบคุมการใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้จริงๆ เพราะการใช้ความรุนแรงเข้าประหัตประหารผู้บริสุทธิ์ทั้งไทยพุทธและส่วนใหญ่ ที่เป็นมลายูมุสลิมยังเกิดขึ้นต่อเนื่องและถี่ขึ้นในช่วงหลัง ขนาดที่นักเจรจาสันติภาพชื่อดังของเมืองไทย ซึ่งคลุกคลีอยู่กับสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ผู้ซึ่งริเริ่มการสานเสวนาทางลับกับกลุ่มต่างๆ ที่แสดงความจำนงเข้าเจรจา ถึงกับยอมรับเลยว่า เจรจายาก และบางครั้งก็ยอมรับด้วยว่าคุย "ผิดตัว"
สถานการณ์ ที่ยังไม่อยู่ตัวเช่นนี้ ยากกว่ามาก (ไม่ใช่ง่ายกว่านะครับ) เพราะในช่วง “คลำหาคู่เจรจา” อยู่นั้นจะรักษาสิ่งมีค่าอย่าง ชีวิต สายสัมพันธ์ และความเชื่อมั่นของผู้คนในพื้นที่ได้อย่างไร ในเมื่อโดยทั่วไปแล้วหากความรุนแรงแบบนี้เกิดเรื่อยไปของพวกนี้หมดลงแน่ พูดอีกอย่างได้ว่า ความขัดแย้งที่ไม่มีคู่เจรจา “ควบคุมยากกว่า” และ “จ่ายมากกว่า” ในแง่นี้ผมคิดว่าการสลายเงื่อนไขความรุนแรง [เช่น ปัญหาการว่างงานและด้อยคุณภาพเชิงสังคม อาจเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายกว่าสูตรสำเร็จ อย่างการปกครองพิเศษ ที่เป็นยุทธศาสตร์ระยะยาวกว่า และไม่แน่ว่าจะมีสถานะข้อเสนอหรือยัง เพราะตอนนี้ก็ถือว่ายังไม่มีใครรับเป็นเจ้าภาพให้แก่ข้อเสนอนี้] ผมคิดว่าแนวโน้มความไม่ปลอดภัยในพื้นที่มีมากขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะหลังจากเหตุการณ์ยิงนายมุคตาร์ กีละ หัวหน้าพรรคประชาธรรมซึ่งเป็นนักการเมืองชาวมลายูมุสลิมเมื่อกลางเดือนที่ แล้ว โดยชายสองคนซึ่งมาทราบกันในภายหลังว่าผู้ยิงเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีทำร้ายครู จูหลิง ปงกันมูล เมื่อปี 49 ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ญาตินายมุคการ์เตรียมแห่ศพทั่วเมืองเพราะสงสัยว่าเจ้าหน้าที่ ของรัฐจะเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของนายมุกตาร์ เหตุการณ์นี้สร้างความมึนงง และความหวาดกลัวมากยิ่งขึ้น เพราะเป้าหมายคือชาวมลายูมุสลิมที่เสนอตัวเป็นปากเสียงประชาชนในพื้นที่สาม จังหวัด นอกจากนี้ เหตุการณ์ข้างต้นยังชี้ด้วยว่าคู่ขัดแย้งในพื้นที่ไม่ได้มีแค่คู่เดียว คือรัฐไทยกับกลุ่มผู้ก่อการอีกต่อไป แนวโน้มความขัดแย้งระหว่างผู้มีบทบาท [อิทธิพล] ชาวมลายูด้วยกันเองดูจะเข้มข้นขึ้น และอาจส่งผลต่อความรู้สึกไม่ไว้วางใจทั่วทั้งสังคมในพื้นที่
ที่ผ่าน มา ภายหลังปี 2547 ผมได้ยินความคิดเรื่องการเมืองนำการทหารอยู่บ่อยครั้ง แต่ไม่เคยทราบความหมายที่แท้จริงของคำพูดเหล่านั้น แต่จากประสบการณ์การทำงานด้านรณรงค์และศึกษาวิจัยในพื้นที่ผมคิดว่า “การพัฒนา” มีศักยภาพที่จะเพิ่มความเป็นการเมืองได้มากที่สุด เพราะสามารถรวบรวมผู้คนที่ต้องการเข้ามาร่วมเดิมพัน แข่งขันได้มากที่สุด และมีลักษณะข้ามชนชั้น ข้ามศาสนา ชาติพันธุ์หรือสถานะทางสังคมได้มากที่สุด โดยเฉพาะในระดับชาวบ้านทั่วไป แต่ที่ผ่านมา การพัฒนา ในพื้นที่นี้ไม่เคยเป็นดังนั้น โดยเฉพาะในระดับนโยบายซึ่งยังคงใช้รูปแบบ เครือข่ายทางนโยบายระหว่างรัฐ เอกชนซึ่งเป็นคนชั้นนำในพื้นที่ และที่ดูจะโดดเด่นอย่างมากในพื้นที่จชต. ก็คือการที่ฝ่ายความมั่นคงเข้ามาเป็นเครือข่ายการกำหนดนโยบายด้านการพัฒนา กับเค้าด้วย และเครือข่ายแน่นหนาแบบนี้นี่เองที่ผมคิดว่าทำให้ที่ผ่านมา การพัฒนา ซึ่งอันที่จริงจะมีบทบาทสำคัญในการเปิดพื้นที่เชื่อมความสัมพันธ์กลับกลาย เป็น ยุทธศาสตร์รอง ที่มีขึ้นเพื่อรองรับยุทธการด้านความมั่นคงเท่านั้น ซึ่งจะอภิปรายในประเด็นต่อไป
2. สถานะ การพัฒนา ที่ผ่านมา และสถานะใน Road Map
ตั้งแต่ ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน ผมคิดว่าปัญหาเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนในจชต. เป็นประเด็นที่ทุกฝ่ายให้ความสำคัญ แน่นอนรัฐบาลให้ความสำคัญมาตลอดในช่วงเวลาที่ผ่านมา โดยเฉพาะโครงการอุตสาหกรรมครัวฮาลาล ฝ่ายนักพัฒนาเอกชน (บางส่วน) ในพื้นที่ก็ทำการคัดง้างกับรัฐบาลบ้างเป็นบางคราว บรรยากาศการทำโครงการพัฒนาก็มีแนวโน้มว่าจะคึกคักมากยิ่งขึ้นเมื่อดูเหมือน ว่าความรุนแรงชักจะยืดเยื้อและยังไม่ลงตัว ไม่เพียงแต่ตัวแสดงภายในประเทศแต่ในปีสองปีที่ผ่านมานี้ดูเหมือนรายงานการ ศึกษาความขัดแย้งเชิงชาติพันธุ์ทั่วโลกทั้งของ UNDP ธนาคารโลก หรือแหล่งการศึกษาสำคัญของโลกอย่าง Harvard ต่างพากันออกมาตอกย้ำว่าความขัดแย้งประเภทนี้กำลังเป็นแนวโน้มที่น่ากลัว อย่างยิ่ง เพราะดูเหมือนจะยุติลงได้ยาก อย่างไรก็ตามรายงานฉบับต่างๆ ก็บอกเราว่า ความขัดแย้งที่นำไปสู่ความรุนแรงอย่างที่เห็นๆ กันนั้นอาจไม่ได้มีสาเหตุว่าเราผิวสีอะไร หรือพูดภาษาอะไร แต่มีสาเหตุจากปัญหาความไม่เป็นธรรมด้านโอกาสทางสังคมในด้านต่างๆ และที่น่าสนใจคือ เพียงแค่ปัญหาการว่างงานก็ดูจะเป็นสาเหตุเบื้องหลังให้แก่การลุกขึ้นต่อต้าน รัฐได้ด้วย ถ้าทึกทักเอาว่าสิ่งที่รายงานเหล่านี้พูดเป็นจริง สิ่งที่น่าสนใจก็คือ อันที่จริงความขัดแย้งรุนแรงแบบนี้ “เราควบคุมได้” สิ่งที่ผมเห็นในปัจจุบันก็คือ องค์กรระหว่างประเทศที่ผมได้กล่าวไปแล้วบ้างนั้น รวมทั้งรัฐบาลหลายประเทศจากสหภาพยุโรปจึงมีทีท่าจะสนับสนุนงบประมาณเพื่อ ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาเพิ่มมากขึ้นด้วยทั้งในภูมิภาคเอเชีย และจชต.ของไทย ไม่เพียงเท่านั้น ผมคิดว่าอย่างน้อยในปี 2008 ฝ่ายความมั่นคงก็ให้ความสนใจและให้ความสำคัญกับ การทำงานด้านการพัฒนา อย่างมากด้วยมิใช่เพียงด้านการรักษาความมั่นคงของดินแดนอย่างเดียวแต่คำถาม ก็คือ เราก็พัฒนากันจบไปหลายโครงการแล้วทั้งของศอบต. องค์กรเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ทำไมผลการประเมินโครงการพัฒนาหลายโครงการที่ลงสู่ในพื้นที่ยังพบว่า
- ช่องว่างทางสังคมไม่ได้ลดลงจริง คนคนจริงยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ
- ทำไมยังพบว่า ชาวบ้านยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญของการออม การทำบัญชีครัวเรือน
- ทำไม ยังพบว่า บางคนเข้าถึง บางคนเข้าไม่ถึง ซึ่งปัญหานี้น่าสนใจว่าเกิดจากโครงการพัฒนาขององค์กรพัฒนาเอกชน และอันที่จริงโครงการของรัฐ (ศอบต) ยังมีผู้เข้าถึงกว้างขวางมากกว่า
- ทำไม เป้าหมายสร้างอาชีพจึงมุ่งไปที่ผู้หญิง คนชรา ทั้งที่คนเหล่านี้รัฐไม่ใช่ต้องสร้างงาน แต่ต้องดูแลสวัสดิการ แต่ขณะเดียวกัน กลุ่มเยาชนชายซึ่งควรจะเป็นเป้าหมายยังคงมีอัตราว่างงานสูง และทำไมโครงการอบรมค่ายสันติสุขต่างๆ ที่นำผู้ชายไปฝึกอาชีพในค่ายทหารยังไม่เคยได้รับการประเมินผลสำเร็จด้านการ สร้างอาชีพ
- ทำไมระดับการพัฒนาของพื้นที่ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยประเทศ
- (ทำไมจึงพบว่า) หลายครัวเรือนไม่ให้ความร่วมมือ/ ไม่กระตือรือร้น/ ไม่สมัครใจที่จะได้รับการพัฒนา ทำไมไม่อยากเอาโครงการพัฒนา?
- (ทำไม) โครงการพัฒนายังไม่ตรงกับความต้องการของชุมชนอยู่อีก ความรู้ของชาวบ้านไม่พอ และทำไมยังมีการส่งไก่มาให้ชาวบ้านเลี้ยงหน้าฝน ทำไมยังส่งไก่ขี้โรคมาให้เลี้ยง
- ทำไม บางชุมชนดีกัน ทำไมบางชุมชนขัดแย้งกันกว่าเดิม โดยเฉพาะระหว่างชาติพันธุ์ และยังไม่สามารถสร้างผลด้านดีให้แก่ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนต่างชาติพันธุ์ ในพื้นที่ได้มากกว่าแค่รักษา status quo ระหว่างกัน
- ทำไมยังมีข้อสงสัยเรื่องการทุจริตงบประมานการพัฒนาชุมชน ทั้งจากรัฐ เอกชน และกระทั่งชาวบ้านกันเองในหมู่บ้าน
- หรือ ไม่ได้ก่อให้เกิดความไว้วางใจหรือปรับความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่กับชาว บ้านได้จริงๆ เช่น ชาวบ้านตากใบบางส่วนบอกว่าเข้าร่วมกับโครงการทุกโครงการ มีความรู้สึกที่ดีขึ้นกับนายทหารในพื้นที่มากขึ้น แต่ยังไม่สามารถสร้างความไว้วางใจสถาบันความมั่นคงได้ มีเพียงความสัมพันธ์เป็นรายคนๆ ไปเท่านั้น ฯลฯ
ผมเฝ้า ครุ่นคิด และอยากลองเสนอว่าสาเหตุของปัญหาข้างต้น น่าจะเกิดจากการที่เรามอง “สถานะของงานพัฒนา” ในยุทธศาสตร์แก้ไขความขัดแย้งต่างกันและผิดไปมาก และผมคิดว่าเรื่องนี้สำคัญ เพราะในบรรดา “ช่องว่าง” ความเข้าใจระหว่างชาวบ้านกับรัฐ ชาวบ้านกับองค์กรเอกชนคือ ในขณะที่ชาวบ้านให้ความสำคัญกับการพัฒนาเป็น priority แต่ภายใต้นโยบายและโครงการพัฒนานั้นรัฐให้ priority กับเป้าหมายด้านความมั่นคง พูดให้ตรงคือยุทธศาสตร์การพัฒนามีขึ้นเพื่อรองรับเป้าหมายด้านความมั่นคง เชิงอธิปไตยเท่านั้น หมายความว่ายุทธศาสตร์การพัฒนาเกิดขึ้น และเป็นไปเพื่อเป้าประสงค์การเอาชนะจิตใจชาวบ้านในสงครามแย่งชิงมวลชนซึ่ง เป็นเพียงส่วนหนึ่งของปฏิบัติการเอาชนะฝ่ายตรงข้ามอยู่ร่ำไป
ปรากฏการณ์ ที่ชี้ให้เห็นปัญหาดังกล่าวมีอยู่อย่างน้อยสามอย่างคือ ประการแรก ในรอบหลายปีที่ผ่านมา งานวิจัยของมหาวิทยาลัยระดับประเทศอย่างจุฬา มธ.และมหิดลที่ทำร่วมกับ WB รวมทั้งในรายงานด้านสิทธิมนุษยชนของมูลนิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ และ FIDH ระบุว่าการเลือกพื้นที่เป้าหมายการพัฒนาของรัฐยังผูกโยงกับว่าพื้นที่นั้นมี สีอะไรจากฝ่ายความมั่นคง งานวิจัยหลายชิ้นพบว่าพื้นที่ต้องสงสัยว่าเป็นชุมชนที่ขบวนการ active อยู่มักถูกตัดงบประมานการพัฒนา สิ่งที่เกิดขึ้นทันทีก็คือ ความระแวงสงสัย ความน้อยเนื้อต่ำใจระหว่างชุมชนแดง เหลือง เขียว .. หลีกเลี่ยงไม่ได้
ประการ ที่สอง ก็คือแม้จะมีการประกาศแผนปฏิบัติการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2555-2557 โดยศอบต.ซึ่งเป็นผลหน่วยงานพลเรือน ซึ่งสำหรับในปี 2554 มีโครงการที่ได้รับการจัดสรรงบ ประมาณ ในเบื้องต้นรวมเป็นจำนวนถึง 7 พันกว่าล้านบาท แต่ในแผนที่ผมคิดว่าดีมากๆ ฉบับนี้กลับระบุข้อความสำคัญกำกับวิธีใช้ไว้ว่า “แผนนี้ มีขอบเขตการดำเนินงานเฉพาะงานด้านการพัฒนา ที่มีการบูรณาการให้สอดคล้อง กับแผนปฏิบัติการด้านความมั่นคง ตามกฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคง ภายในราชอาณาจักร โดยโครงการต่าง ๆ ในยุทธศาสตร์การพัฒนาจะมุ่งเน้นตอบสนองยุทธศาสตร์ความมั่นคงเป็น ลำดับแรก” ผมอาจตีความผิด ดังนั้นผมหวังว่าจะมีการอธิบายว่าผมเข้าใจผิดไปว่าอะไรเป็นหลัก อะไรรอ
ประการ ที่สาม คือการอ้างใช้หลักการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างตื่นเขิน และไร้ทิศทาง ซึ่งในความเห็นของผมซึ่งได้ศึกษาพระราชดำรัสแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาพอสมควร ผมคิดว่าเราเอามาใช้กันแบบไม่ลึกซึ้งเพียงพอ และผิดฝาผิดตัวในบางกรณี ตัวอย่างที่ผมคิด เช่นว่า การส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรมโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงกับการพัฒนาอุตสาหกรรม อาหารฮาลาลให้เป็นอุตสาหกรรมเด่นในพื้นที่ไปพร้อมกัน ผมเห็นว่าโครงการทั้งสองนั้นดี แต่ดูขัดกันในทางปฏิบัติ เนื่องมาจากข้อเท็จจริงในพื้นที่ก็คือ โครงการสร้างอาชีพเกษตรกรรมมีการทำกันในชุมชนอยู่ในระดับครัวเรือนเท่านั้น ไม่มีการพัฒนาศักยภาพ เทคโนโลยีให้สามารถ ขาย หรือเป็นล่ำเป็นสันเพียงพอจะป้อนอุตสาหกรรมได้เลย แถมยังคาดหวังให้ชาวบ้านรู้จักออม (ซึ่งอันที่จริงตรรกะการสะสมทรัพย์ไม่ใช่ตรรกะระบบเศรษฐกิจอิสลาม) ในขณะที่ แนวโน้มของมูลค่าผลผลิตอาหารฮาลาลมีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ ดังนั้นปัญหาของผมคือข้อเท็จจริงที่ว่า อุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดให้สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นศูนย์กลางในการผลิตและส่ง ออกผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาล นั้นจำนวนผู้ผลิตที่ได้รับเครื่องหมายฮาลาลจากคณะกรรมการอิสลามประจำ จังหวัดกระจุกตัวอยู่ในจังหวัดปัตตานี โดยมีกลุ่มผู้ประกอบการดังเดิมราว 4-5 ราย ในกรณีจังหวัดยะลาผลผลิตส่วนใหญ่มาจากกลุ่มผลิตภัณฑ์รายย่อย และในกรณีของนราธิวาสผลผลิตส่วนใหญ่มาจากผู้ผลิตรายใหญ่รายเดียวของจังหวัด ทำไมเป็นเช่นนั้น พูดให้ตรงก็คือในทางปฏิบัติโครงการพัฒนาเกษตรกรรมและโครงการอาหารฮาลาลไม่ ได้ไปด้วยกัน เพราะเท่าที่มีงานวิจัยกันมา เราพบว่าชาวบ้านมีอาชีพเพียงรับจ้างขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างเข้านิคม อุตสาหกรรมเท่านั้น โดยพิจารณาจากพื้นที่ตัวอย่างของนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดอื่นของประเทศ ซึ่งผมคาดหวังว่าอันที่จริงแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงคือสร้างความสามารถ พึ่งตนเอง สร้างความสามารถในการแข่งขันเพื่อความเท่าเทียม และสร้างความยั่งยืนของอาชีพ
สิ่ง ที่ผมเสนอนั้นอาจทำให้พอมองเห็นได้ว่าสถานะของการพัฒนาในพื้นที่ที่ผ่านมามี สถานะอย่างไรใน Road Map เพื่อหยุดยั้งความรุนแรง มีค่าใช้จ่ายอย่างไรหากไม่ให้ความใจใส่กับการพัฒนาในพื้นที่อ่อนไหว ใครอยู่ตรงไหนของการพัฒนา ดังนั้นแม้ว่าผมจะไม่มีข้อเสนอรูปธรรมสำหรับการพัฒนาใน Road Map การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ แต่ในเมื่อดูเหมือนเราทุกคนในสังคมต่างเป็นผู้มองเห็นคุณค่าของงานพัฒนาคน เศรษฐกิจ สังคม และเราต่างเป็นตัวแสดงที่สำคัญในงานพัฒนา การให้ความสำคัญกับประชาชนที่อยู่ในภาวะเสี่ยงและด้านที่มีความเปราะบาง เกี่ยวกับความรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม ผมจึงใคร่ขอเสนอว่าเราน่าจะมาทบทวนและ take into account ได้ว่า งานพัฒนาควรถูกยกสถานะให้คลองคล้องในลักษณะเท่าๆกับหรือนำการปฏิบัติการเชิง ความมั่นคงและการปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมใน Road Map ของเราด้วย เนื่องจากที่ได้พูดไปแล้วว่านี่คือสิ่งสะท้อนความเป็นการเมืองที่จะดึงเอา ความร่วมไม้ร่วมมือมาได้มากที่สุดทางหนึ่งจากผู้คนในสังคม
เก็บความจาก เสวนา ยุทธศาสตร์ของภาครัฐ ปี 2554-2557 เพื่อการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้
11 มกราคม 2555 ณ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย