ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Saturday, 18 February 2012

ALRC: การคุกคามที่เพิ่มขึ้นต่อเสรีภาพทางการเมืองในประเทศไทย

ที่มา Thai E-News

18 กุมภาพันธ์ 2555
ที่มา Political Prisoners in Thailand


คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ
สมัยประชุมที่ 19 วาระที่ 4 การอภิปรายทั่วไป


แถลงการณ์ อย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากศูนย์ข้อมูลกฎหมายเอเชีย (Asian Legal Resource Centre: ALRC) องค์กรพัฒนาเอกชนที่มีสถานะที่ปรึกษา (general consultative status)


ประเทศไทย: การคุกคามที่เพิ่มขึ้นต่อเสรีภาพทางการเมืองในประเทศไทย

1. ศูนย์ข้อมูลกฎหมายเอเชีย (Asian Legal Resource Centre: ALRC) ต้องการรายงานให้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้รับทราบถึงการคุกคามที่เพิ่มขึ้นและเข้มงวดของรัฐในหลายด้านต่อเสรีภาพ ทางการเมืองในประเทศไทย การคุกคามดังกล่าวเกิดขึ้นโดยเฉพาะต่อผู้แสดงความเห็นในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมทั้งผู้ที่แสดงความกังวลต่อการคุกคามเหล่านี้ ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา นักวิชาการและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนได้เรียกร้องให้มีการปฏิรูป มาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญาไทย ที่เอาผิดทางอาญาต่อการพูดเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ พวกเขาได้ตกเป็นเป้าการคุกคามในทางอ้อมของเจ้าหน้าที่รัฐและเจ้าหน้าที่ทหาร ระดับสูงในประเทศไทย และยังมีการข่มขู่เอาชีวิตจากกลุ่มที่ใช้อำนาจแบบศาลเตี้ยนอกเหนือจากรัฐ แม้ว่าหน่วยงานของรัฐและทหารจะไม่คุกคามชีวิตของนักวิชาการและนักปกป้อง สิทธิมนุษยชนที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูปกฎหมายโดยตรง แต่การที่รัฐไม่เข้ามาแทรกแซงลงโทษผู้ที่ทำการข่มขู่เช่นนั้น ประกอบกับบรรยากาศการเมืองที่อ่อนไหวในประเทศไทย เป็นสาเหตุให้เกิดข้อกังวลที่จริงจัง

2. แทนที่จะใช้กฎหมายหมิ่นประมาททั่วไป กฎหมายไทยมีบทบัญญัติพิเศษที่กำหนดความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพื่อปกป้องสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ มาตรา 8 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ระบุว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้” มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญากำหนดโทษสำหรับการละเมิดดังกล่าวไว้ว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี” พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ซึ่งมักมีการนำมาใช้ควบคู่กับ มาตรา 112 กำหนดโทษจำคุกไม่เกินห้าปี ต่อความผิดหนึ่งกระทง กรณีที่ศาลตัดสินว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการเผยแพร่ข้อมูลทางอิเลคทรอนิกส์ หรือการครอบครองข้อมูลสนเทศที่ถือว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งชาติ โดยตามกฎหมายแล้ว สถาบันพระมหากษัตริย์ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของความมั่นคงแห่งชาติ

3. แม้ว่า มาตรา 112 จะได้รับการกำหนดเป็นตัวบทกฎหมาย ตั้งแต่การชำระประมวลกฎหมายอาญาไทยครั้งใหญ่ เมื่อปี 2500 แต่ในช่วงหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มีการเพิ่มขึ้นอย่างมากของคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จากสถิติของสำนักงานศาลยุติธรรม มีการเพิ่มขึ้นอย่างมากของการฟ้องร้องคดีดังกล่าวในช่วงห้าปีที่ผ่านมา โดยในปี 2548 มีการแจ้งข้อหาดังกล่าวจำนวน 30 ครั้ง ปี 2549 จำนวน 30 ครั้ง ปี 2550 จำนวน 126 ครั้ง ปี 2551 จำนวน 77 ครั้ง ปี 2552 จำนวน 164 ครั้ง และในปี 2553 จำนวน 478 ครั้ง การขาดการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ เป็นเหตุให้ไม่สามารถตรวจทราบความคืบหน้าของการฟ้องร้องคดีดังกล่าว บุคคลทั่วไปสามารถแจ้งความต่อบุคคลอื่นในข้อหาละเมิด มาตรา 112 ได้ และตำรวจมีหน้าที่ต้องสืบสวนสอบสวน และใช้ดุลพินิจว่าควรมีการเสนอฟ้องคดีต่อพนักงานอัยการหรือไม่ จากนั้นพนักงานอัยการจะใช้ดุลพินิจว่าจะฟ้องคดีต่อศาลอาญาหรือไม่ ความคลุมเครือของมาตรา 112 เป็นเหตุให้มีการใช้ขั้นตอนปฏิบัติดังกล่าวไปในทางมิชอบได้ง่าย นาย Frank La Rue ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิที่มีเสรีภาพในการแสดงความเห็นและการแสดงออก (UN Special Rapporteur on the Right to Freedom of Opinion and Expression) รวมทั้งรัฐบาลประเทศสเปน สวิตเซอร์แลนด์ สโลวีเนีย แคนาดา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส นอร์เวย์ และนิวซีแลนด์ ได้แสดงความกังวลหลายครั้งเกี่ยวกับมาตรา 112 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ในระหว่างการประชุมเพื่อทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (Universal Periodic Review) ของประเทศไทยเมื่อปี 2554

4. คำตัดสินลงโทษในหลายคดีเมื่อเร็ว ๆ นี้ สะท้อนถึงความรุนแรงของบทลงโทษที่กระทำได้ตาม มาตรา 112 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ก. วันที่ 15 มีนาคม 2554 นายธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล ได้ถูกลงโทษจำคุก 13 ปี ตามมาตรา 112 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 สำหรับความผิดฐานเผยแพร่ข้อความต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ทางอินเตอร์เน็ต และฐานที่ไม่ลบข้อความต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์จากเว็บไซต์ที่เขาดูแลโดย เร็วเพียงพอ เขาให้ข้อมูลว่า ได้ถูกตำรวจบังคับให้สารภาพ

ข. วันที่ 23 พฤศจิกายน 2554 นายอําพล ตั้งนพกุล ได้ถูกลงโทษจำคุก 20 ปี ตามมาตรา 112 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าส่งข้อความสั้นทางโทรศัพท์มือถือ ที่มีเนื้อหาต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ 4 ครั้ง

ค. วันที่ 8 ธันวาคม 2554 นาย Joe Gordon ได้ถูกลงโทษจำคุก 2.5 ปี ตามมาตรา 112 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ในข้อหาใส่ลิ้งค์ไปที่เว็บไซต์ซึ่งมีบทแปลของหนังสือที่จัดพิมพ์โดยสำนัก พิมพ์มหาวิทยาลัยเยล (Yale University Press) เมื่อปี 2550 โดยเป็นเว็บไซต์ซึ่งเขาเป็นผู้ดูแลระหว่างพำนักอยู่ที่รัฐโคโลราโด ซึ่งอยู่นอกเขตอำนาจศาลไทย

ง. วันที่ 15 ธันวาคม 2554 คำพิพากษาคดี น.ส.ดารณี ชาญเชิงศิลปะกุล ที่ถูกเพิกถอน เมื่อปี 2552 ได้ถูกพิพากษาใหม่ หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งว่า การไต่สวนคดีแบบลับในกรณีนี้ ไม่เป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานจำเลย โดยในคำพิพากษาใหม่ได้มีการลดโทษจำคุกจาก 18 ปี เหลือ 15 ปี สำหรับความผิดสามกระทงที่มีตามมาตรา 112 โดยเป็นผลมาจากการพูดรณรงค์ในที่สาธารณะเป็นเวลา 55 นาที เมื่อเดือนกรกฎาคม 2552

5. สืบเนื่องจากสถานการณ์ดังกล่าว เมื่อเดือนมกราคม 2555 คณะนิติราษฎร์ (ซึ่งหมายถึงกฎหมายสำหรับประชาชน ตามภาษาไทย) ซึ่งเป็นกลุ่มอาจารย์นิติศาสตร์เจ็ดคนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ผศ.ดร.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา ดร.ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล ดร.ธีระ สุธีวรางกูร ดร.สาวิตรี สุขศรี ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล และอาจารย์ปูนเทพ ศิรินุพงศ์) และคณะกรรมการรณรงค์แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 (ครก.) ซึ่งเป็นกลุ่มปัญญาชน นักกิจกรรมสื่อสารมวลชน นักกิจกรรมสิทธิมนุษยชน และอื่น ๆ ได้จัดรณรงค์อย่างเปิดเผยเพื่อเรียกร้องให้แก้ไข มาตรา 112 คณะนิติราษฎร์ได้จัดทำร่างแก้ไข มาตรา 112 โดยยังคงรักษาสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบบรัฐไทยแบบปัจจุบัน แต่มีเนื้อหาที่มุ่งลดโอกาสที่จะนำกฎหมายไปใช้อย่างมิชอบในลักษณะที่รุนแรง ข้อเสนอเพื่อแก้ไขกฎหมายจะทำให้บทลงโทษต่อความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เป็นสัดส่วนเหมาะสม มีการเสนอให้เฉพาะสำนักราชเลขาธิการเป็นผู้แจ้งความร้องทุกข์ แทนที่จะปล่อยให้คนใดก็ได้สามารถแจ้งความ มีการแยกแยะระหว่างคำวิจารณ์อย่างสุจริตและเป็นจริงออกจากการกล่าวอาฆาตมาด ร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และมีการจำแนกความผิดตาม มาตรา 112 โดยให้ถือเป็นการหมิ่นพระเกียรติแทนที่จะเป็นความผิดต่อความมั่นคงแห่งชาติ ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ในกรณีที่มีผู้เข้าชื่อเสนอแก้ไขกฎหมายครบ 10,000 ชื่อ จะมีผลให้รัฐสภาต้องนำร่างกฎหมายนั้นไปพิจารณา ซึ่งตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2555 คณะนิติราษฎร์ และ ครก.ได้เริ่มรณรงค์รวบรวมรายชื่อทั่วประเทศ

6. ผลจากการรณรงค์ครั้งนี้ เป็นเหตุให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์จากหลายภาคส่วนของรัฐบาลและกองทัพ รัฐบาลพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นเสียงส่วนใหญ่จากการเลือกตั้ง ได้ประกาศหลายครั้งว่า จะไม่สนับสนุนการแก้ไขมาตรา 112 นายเฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี และ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทยหลายคนแสดงจุดยืนว่า จะไม่รับพิจารณาร่างแก้ไขกฎหมาย หากถูกเสนอเข้าสภา พลเอกยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้ผู้นำการรณรงค์ยุติการดำเนินงานเพื่อไม่ให้เกิดความแตกแยกของ ชาติ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก กล่าวหาว่า สมาชิกคณะนิติราษฎร์ไม่ใช่คนไทย และเสนอว่าคนที่ต้องการให้แก้ไข มาตรา 112 ควรไปอยู่ต่างประเทศ และยังเตือนอย่างจริงจังว่า “เมื่อท่านรุนแรง ผมก็รุนแรงกับท่าน” พลเรือเอกสุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ เสนอว่า การรณรงค์ครั้งนี้เป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งชาติ พลตำรวจเอก เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ประกาศต่อสาธารณะว่า จะมีการตรวจสอบอย่างใกล้ชิดต่อการทำงานของคณะนิติราษฎร์ และผู้สนับสนุน และจะมีการฟ้องร้องดำเนินคดีหากทำสิ่งผิดกฎหมาย สิ่งที่น่ากังวลอย่างยิ่ง คือ การปฏิบัติต่อข้อเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายราวกับเป็นภัยต่อความมั่นคงแห่ง ชาติ ทั้งยังกล่าวหาว่าผู้จัดทำร่างแก้ไขกฎหมายไม่ใช่คนไทย และไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทย ถือได้ว่า คำพูดของผู้นำในหลายภาคส่วนของกองทัพเป็นภัยคุกคามต่อเสรีภาพทางการเมืองของ สมาชิกคณะนิติราษฎร์และผู้สนับสนุน

7. พร้อม ๆ กับการแสดงความเห็นและการคุกคามอย่างเปิดเผยของเจ้าหน้าที่รัฐต่อคณะนิติ ราษฎร์ ยังมีกลุ่มพลเมืองที่หลากหลาย ที่ได้คุกคามและข่มขู่แบบศาลเตี้ยต่อผู้รณรงค์เช่นกัน ในวันที่ 27 มกราคม 2555 กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “เครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติ” ได้จัดประท้วงต่อต้านคณะนิติราษฎร์ ที่บริเวณหน้าคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการเผาหุ่นของ รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ แกนนำของคณะนิติราษฎร์ และมีการถือป้ายเรียกร้องให้นำสมาชิกกลุ่มมาประหารชีวิต นับแต่เริ่มต้นการรณรงค์ คณะนิติราษฎร์ได้รับคำขู่คุกคามจากบุคคลที่ไม่เปิดเผยชื่อมากมาย รวมทั้งความเห็นที่ผู้เขียนในเว็บไซต์ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ มีทั้งเสียงเรียกร้องให้ตัดหัวและเอาหัวไปเสียบประจานนอกประตูมหาวิทยาลัย และเสียงเรียกร้องให้นำพวกเขาและครอบครัวไปเผาทั้งเป็นที่นอกบ้าน แม้ว่า การถกเถียงอย่างเผ็ดร้อนที่หลากหลาย จะช่วยส่งเสริมประชาธิปไตยและการปฏิบัติตามสิทธิมนุษยชน แต่การขู่ฆ่าเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือการถกเถียงในลักษณะเช่นนั้น

8. การคุกคามทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม ทั้งที่มาจากภายในและภายนอกของรัฐไทย ถือเป็นการคุกคามต่อสิทธิที่มีการรับรองตามกติการะหว่างประเทศ ว่าด้วย สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) ซึ่งประเทศไทยเป็นรัฐภาคี โดยเฉพาะข้อ 19 ที่ระบุว่า

“1. บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะมีความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง
2. บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพแห่งการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงเสรีภาพที่จะแสวงหา รับ และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและความคิดทุกประเภท โดยไม่คำนึงถึงพรมแดน ทั้งนี้ ไม่ว่าด้วยวาจาเป็นลายลักษณ์อักษรหรือการตีพิมพ์ ในรูปของศิลปะ หรือโดยอาศัยสื่อประการอื่นตามที่ตนเลือก
3. การใช้สิทธิตามที่บัญญัติในวรรค ๒ ของข้อนี้ ต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบพิเศษควบคู่ไปด้วย การใช้สิทธิดังกล่าวอาจมีข้อจำกัดในบางเรื่อง แต่ทั้งนี้ข้อจำกัดนั้นต้องบัญญัติไว้ในกฎหมายและจำเป็นต่อ

(ก) การเคารพในสิทธิหรือชื่อเสียงของบุคคลอื่น
(ข) การรักษาความมั่นคงของชาติ หรือความสงบเรียบร้อย หรือการสาธารณสุข หรือศีลธรรมของประชาชน”

การ กล่าวหาของเจ้าหน้าที่ความมั่นคงว่า การกระทำของคณะนิติราษฎร์เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติ เป็นสิ่งที่ไม่ชอบธรรมและไม่มีเหตุผลสนับสนุน การอภิปรายข้อเสนอให้แก้ไขกฎหมาย เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการปฏิบัติตามสิทธิทางพลเรือนและการเมืองเท่านั้น คำให้สัมภาษณ์ของเจ้าหน้าที่ความมั่นคง การไม่คำนึงถึงการคุกคามต่อคณะนิติราษฎร์ และการแสดงความเห็นในเชิงไม่สนับสนุนพวกเขา จึงถือเป็นความล้มเหลวในการคุ้มครองสิทธิที่บัญญัติไว้ใน ข้อ 19

9. ศูนย์ข้อมูลกฎหมายเอเชียจึงต้องการแจ้งให้คณะมนตรีทราบถึง ภัยคุกคามที่ชัดเจนที่มีต่อ คณะนิติราษฎร์ ในปัจจุบัน และยังส่งผลกระทบกลายเป็นวิกฤตของเสรีภาพทางการเมืองและเสรีภาพแห่งการ แสดงออก ศูนย์ข้อมูลกฎหมายเอเชียเรียกร้องให้คณะมนตรี:

ก. กระตุ้นรัฐบาลไทย โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ความมั่นคง ให้ยุติการคุกคามคณะนิติราษฎร์และพลเมืองคนอื่น ๆ ซึ่งใช้สิทธิทางพลเรือนและการเมืองของตน

ข. กระตุ้นรัฐบาลไทยให้แสดงความเห็นแย้งอย่างชัดเจนต่อการคุกคามทางกายและการ ขู่ฆ่าที่กระทำต่อคณะนิติราษฎร์และพลเมืองคนอื่น ๆ ซึ่งใช้สิทธิทางพลเรือนและการเมืองของตน

ค. เรียกร้องให้รัฐบาลไทยอนุญาตและสนับสนุนการใช้เสรีภาพทางการเมืองและเสรีภาพ แห่งการแสดงออกอย่างเต็มที่ในช่วงเวลาวิกฤตเช่นนี้ รวมทั้งกำหนดมาตรการที่เฉพาะเจาะจงเพื่อคุ้มครองสมาชิกคณะนิติราษฎร์และคน อื่น ๆ ที่ตกเป็นเป้าโจมตีเช่นกัน

10. โดยย้ำเตือนถึงข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทยที่มาจากผู้แทนประเทศ บราซิล แคนาดา ฝรั่งเศส ฮังการี อินโดนีเซีย นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ สโลวีเนีย สเปน สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร ในระหว่างการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (Universal Periodic Review: UPR) ในส่วนที่เกี่ยวกับเสรีภาพแห่งการแสดงออก กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และ/หรือพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ศูนย์ข้อมูลกฎหมายเอเชียกระตุ้นรัฐบาลให้ยอมรับข้อเสนอแนะเหล่านี้ และให้แจ้งข้อมูลว่า มีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างไร โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของการรับรองรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของรัฐบาลไทย โดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในสมัยประชุมที่ 19 และให้ส่งจดหมายเชิญผู้รายงานพิเศษว่าด้วยเสรีภาพแห่งการแสดงออกและการแสดง ความเห็นให้มาเยือนประเทศ

11. การที่รัฐบาลไทยยอมรับข้อเสนอแนะของนิวซีแลนด์ที่จะประกันให้มี “ผลในเชิงบวกด้านสิทธิมนุษยชนเกี่ยวกับเสรีภาพส่วนบุคคล รวมทั้งเสรีภาพแห่งการแสดงออกและเสรีภาพที่จะไม่ถูกลงโทษแบบแก้แค้นและนอก กระบวนการกฎหมาย” นับเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เมื่อพิจารณาถึงความถดถอยดังที่กล่าวถึงข้างต้น รัฐต่าง ๆ ที่ได้กล่าวถึงยังได้แสดงข้อเสนอแนะเกี่ยวกับกระบวนการ UPR ก็ควรถูกกระตุ้นให้กดดันรัฐบาลไทยให้ยอมรับข้อเสนอแนะเหล่านี้ และประกันว่าจะมีการปฏิบัติตามโดยไม่ชักช้า