เมื่อวันที่ 22 ม.ค.55 ที่หอประชุมศรีบูรพา (หอประชุมเล็ก) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ จัดการเสวนาในหัวข้อ ‘ลบล้างผลพวงรัฐประหาร – นิรโทษกรรม- ปรองดอง’ มีนักวิชาการเข้าร่วมเสวนาทั้งหมด 7 คน ได้แก่ จันทจิรา เอี่ยมมยุรา, วรเจตน์ ภาคีรัตน์, สาวตรี สุขศรี, ปิยบุตร แสงกนกกุล, ปูนเทพ ศิรินุพงศ์, ฐาปนันนท์ นิพิฎฐกุล และกฤษณ์ ภูญียามะ
โดยในช่วงแรกเป็นการ “ถาม-ตอบ” โดยเป็นการตอบคำถาม ที่เกิดขึ้นหลังคณะนิติราษฎร์มีข้อเสนอ “ลบล้างผลพวงของการรัฐประหาร” ที่นำเสนอในช่วงครบรอบ 5 ปีรัฐประหาร 19 ก.ย. 49 (ข่าวที่เกี่ยวข้อง) เช่น ได้เสนอให้การกระทำใดๆ ของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เสียเปล่า ไม่มีผลทางกฎหมาย และเสนอให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2549 ตกเป็นโมฆะ บรรดาบุคคลที่ทำรัฐประหาร บรรดาผู้สนับสนุน ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 ฯลฯ
12 คำถาม ถาม-ตอบโดยคณะนิติราษฎร์เรื่องข้อเสนอลบล้างผลพวงของการรัฐประหาร
โดยคณะนิติราษฎร์จะช่วยกันตอบคำถามคาใจเหล่านั้น โดยมีกฤษณ์ ภูญียามา เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยคำถามทั้งหมด 12 ข้อ ได้แก่
หนึ่ง ในทางหลักวิชานิติศาสตร์ การลบล้างผลพวงของการรัฐประหารสามารถทำได้หรือไม่
สอง คณะนิติราษฎร์เสนอให้ลบล้างผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยายน มีหลายคนของใจว่าทำไมเจาะจงเฉพาะ 19 กันยายน 2549 ทำไมไม่รวมการรัฐประหารครั้งอื่น
สาม ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ในประเด็นการลบล้างผลพวงของคณะรัฐประหาร ถ้านำไปปฏิบัติจริง ก็ไม่ต่างกับคณะรัฐประหาร เพราะในฐานะรัฎฐาธิปัตย์ก็ย่อมให้อำนาจไปทางใดก็ได้ ใช่หรือไม่
สี่ การที่คณะนิติราษฎร์เสนอให้ลบล้างผลพวงของการรัฐประหาร คณะนิติราษฎร์รู้หรือไม่ว่า เหตุผลที่คณะรัฐประหารต้องก่อการรัฐประหารในขณะนั้นเพราะมีการทุจริต คอร์รัปชั่น เหตุใดคณะนิติราษฎร์จึงไม่คิดกำจัดเหตุของการรัฐประหารด้วย
ห้า การที่นิติราษฎร์เสนอให้การนิรโทษกรรมแก่คณะรัฐประหารเป็นโมฆะนั้น เป็นแนวทางที่สุดโต่งเกินไปหรือเปล่า ไม่ถือเป็นการออกกฎหมายย้อนหลังเพื่อลงโทษอาญาแก่บุคคลหรือ
หก การลบล้างคำพิพากษาของศาลเป็นการทำลายหลักการแบ่งแยกอำนาจในระบอบประชาธิปไตยหรือไม่
เจ็ด นิติราษฎร์เอาศาลไทยไปเปรียบเทียบกับศาลนาซีของเยอรมัน เป็นการเปรียบเทียบที่ผิดฝาผิดตัวหรือไม่
แปด ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือกฎหมายที่ศาลดังกล่าวหยิบมาใช้ มีมาก่อนการรัฐประหารอยู่แล้ว จะบอกว่าเป็นผลพวงจากการรัฐประหารได้อย่างไร
เก้า แม้ข้อเสนอของนิติราษฎร์จะเอาไปให้ประชาชนลงประชามติ แต่ประชามติของประชาชนไม่ได้เด็ดขาดเสมอไป ตุลาการยังมีอำนาจชี้ขาดประชามตินั้นได้ ตัวอย่างเช่น คดี Perry V.Schwarzenegger (2010) ศาลสูงสหรัฐอเมริกาพิพากษาให้ผลการออกเสียง ประชามติในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อปี 2008 ที่ประชาชนเสียงขางมากในมลรัฐลงมติให้บัญญัติในรัฐธรรมนูญของมลรัฐว่าการ สมรสจะทำได้เฉพาะหญิงกับชายเท่านั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
สิบ รัฐธรรมนูญ 2549 ได้ถูกยกเลิกแล้ว จะถูกยกเลิกซ้ำได้หรือไม่
สิบเอ็ด ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เหตุใดนิติราษฎร์เสนอให้หยิบรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับแรกมาเป็นต้นแบบ
และสิบสอง ที่เสนอให้ลบล้างผลพวงรัฐประหาร 2549 ทำเพื่อทักษิณหรือเปล่า
โดยรายละเอียดของคำถาม-คำตอบทั้ง 12 ข้อมีรายละเอียดในวิดีโอคลิป