ช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา หากผู้ใดสนใจข่าววงการบันเทิงก็คงไม่มีใครที่จะไม่ติดตามข่าวของ นักร้องหนุ่มชื่อดังที่มีข่าวเกี่ยวกับปัญหาครอบครัวและเรื่องราวของยาเสพย์ ติด แน่นอนว่าบางคนอาจมองว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะในความรู้สึกนึกคิดของคนเป็นจำนวนมากมองว่า ยาเสพย์ติดกับนักดนตรี เป็นของคู่กันราวกับน้ำเต้าหู้ที่เกิดมาคู่กับปาท่องโก๋
หากมองถึง ความอยากรู้ คำชม คำว่ากล่าว กำลังใจ ที่มีนักร้องหนุ่มผู้นั้น ทำให้ผู้เขียนนึกถึงเพลง “ได้อย่างเสียอย่าง” ของอัสนีและวสันต์มาทันที เพราะมันก็ใช้ได้กับทุกเรื่องจริงๆ หากเป็นธรรมดาทั่วไปมีเรื่องแบบนี้ก็คงไม่แปลกและไม่มีประเด็นอะไรที่น่า สนใจ แต่หากคุณเป็นคนที่สังคมจับตามอง (หรือกล่าวว่าเป็นคนของสังคมอย่างที่เขาเรียก) คุณก็ต้องยอมแลกกับเสรีภาพบางส่วนในชีวิตคุณก็เท่านั้น
หลายคนอาจมองว่าเขาผู้นั้น เพี้ยน เสียสติ คนไม่ดี และจนสุดท้ายหลายคนก็อาจมองว่า “เขาบ้า” ไปแล้ว จากเหตุนี้ทำให้ผู้เขียนอยากที่จะสนใจมองถึงทรรศนะที่มีต่อคำว่า “บ้า” ขึ้นมาทันที ว่าสิ่งใดที่เป็นตัวแบ่งว่าใครบ้า หรือ ไม่บ้า ใช้อะไรเป็นตัวแบ่งและแนวคิดนี้ได้รับอิทธิพลจากสิ่งใด
หากศึกษาถึง แนวคิดทางการเมืองและสังคมของตะวันตก ของ ธเนศ วงศ์ยานนาวา ได้อธิบายความถึง “คนบ้า” ผ่านแนวคิดของ Logos ที่นำไปสู่ Reason หรือ Rationality กล่าวโดยรวบรัดคือ เมื่อ Reason ทำให้เกิดแนวความคิดแบบความเป็นศูนย์กลางและกระบวนการรวมศูนย์ (Centralization) ทำให้ทุกคนมีมาตรฐานเดียวกันในชีวิต เมื่ออยู่รวมกันในสังคมทุกคนก็มีเป้าหมายเดียวกัน มีเพียงมาตรฐานเดียวเท่านั้นในสังคม เมื่อเป็นเช่นนั้นหากผู้ใดมีแนวความคิดที่ต่างไปจากผู้ที่มี Reason ปกติในสังคมก็มักจะถูกทำลายล้างออกไปจากสังคม
แนวคิดของ Reason ในลักษณะความเป็นศูนย์กลางถูกอธิบายผ่านการก่อเกิดของสถานกักกันคนบ้าของชาว ยุโรปตะวันตก โดยหากกล่าวอย่างสรุปโดยอ้างงานเขียนของ Michel Foucault กล่าวคือ คนปกติที่อยู่ในสังคมนั้นถูกจัดกลุ่มให้อยู่ในผู้ที่มี Reason ส่วนคนบ้าก็ถูกจัดอยู่ในกลุ่มของผู้ที่ไม่มี Reason ดังนั้นวิธีการในการจัดการเขาเหล่านั้นก็คือการกันให้เขาออกจากสังคมปกติไป อยู่ในสถานที่ที่เขาควรจะอยู่ เป็นการแบ่งแยกบุคคลออกจากกันอย่างชัดเจน ไม่เพียงแต่เรื่อของคนบ้าเท่านั้นที่ถูกแบ่งแยก แต่หลักคิดของ Reason นี้ยังดำเนินต่อมาในส่วนของ อาชญากร คนจรจัด หรือแม้แต่การจัดการกับผู้ที่เป็นโรคเรื้อน เป็นต้น
การจัดการกับผู้ที่มี Reason ต่างจากคนอื่นสมัยแรก อาจจะทำด้วยวิธีการที่รุนแรงก็ได้ เช่น การลอยทะเลเพื่อให้ผู้คนเหล่านั้นหา Reason ของตนเอง จนในศตวรรษที่ 17 ก็อาศัยการสร้างสถานกักกันให้คนเหล่านี้อยู่รวมกัน เพราะผู้คนมีความกลัวคนบ้าหากใช้วิธีการแบบสมัยแรก (กลัวว่าจะพบกันอีกและเกิดอันตราย) แต่มาสู่ศตวรรษที่ 18 ความบ้าก็สามารถจัดการได้โดยการเปลี่ยน Reason ของคนเหล่านั้นให้เป็นดั่งเช่นคนปกติด้วยการพูดคุย
หากว่ากรอบคิดแบบ Reason นี้ได้รวมกับแนวความคิดแบบ รัฐชาติ ด้วยแล้วยิ่งทำให้การแบ่งแยกทรงพลังมากยิ่งขึ้นไปกันใหญ่ ตามแนวคิดแบบเสรีนิยม รัฐชาติ พยายามสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสังคมแม้ในความเป็นจริงแล้วจะ ทราบเป็นอย่างดีว่าสังคมนั้นเต็มไปด้วยความขัดแย้งก็ตาม แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติ (Normal) ที่จะคิดในลักษณะนี้เพราะความปกตินั้นขึ้นกับสถานการณ์เฉพาะหน้าและความคาด หวังในอนาคต โดยในที่นี้ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ถือว่าเป็นเรื่องปกติ (Normal) ตามความคาดหวังในอนาคต
หากนำเอาแนวคิดสองแนวทางดังกล่าวผนวกกันแล้ว ก็จะยิ่งเป็นพลังอันน่าสะพรึงกลัวในการจัดการกับคนที่มีแนวความคิดผิดแปลกไป จากแนวทางของสังคมที่ถูกกำหนดโดยกรอบของ รัฐชาติ โดยผู้ที่มีแนวคิดต่างจากชาติพันธุ์หนึ่งที่เป็นตัวแทนชาติพันธุ์ของรัฐก็ มักจะถูกกล่าวหาเสมอว่า คุณเป็นคนของรัฐนั้นหรือเปล่า
หากอยากให้เห็นภาพก็คงเปรียบได้กับว่า เมื่อคุณได้ยินเพลงชาติแล้วคุณไม่ยืนตรง (อาจจะด้วยเหตุผลใดก็สุดแล้วแต่) ก็จะมีเสียงแว่วๆดังลอยตามหลังมาว่า “คนไทยหรือเปล่า” แต่ในความคิดของผู้เขียนแล้วการจะทำอะไรควรจะเกิดจากความตั้งใจจริงมากกว่า การยืนเพราะเขายืนกันทั้งนั้น ในสังคมไทยหลายครั้งที่ใครคิดต่างจากประเพณี ขนบธรรมเนียม ความเชื่อหรือสิ่งที่ยึดมั่นถือมั่น ก็จะถูกกล่าวหาไปต่างๆนานา หรือบางครั้งก็ถูกขับให้ออกจากสังคมไปเลยก็ได้
กลับมาถึงเรื่องของ “คนบ้า” อีกครั้ง หากคิดกันเล่นๆ วันหนึ่งหากเราหลับใหลอยู่ในค่ำคืนอันแสนวิเศษ เมื่อตื่นมาสู่โลกความเป็นจริงแล้วพบว่าตนเองอยู่ในที่ใดก็ไม่ทราบ ก็ไม่ต้องแปลกใจเพราะคนที่เรากล่าวว่าเขาคือ “คนบ้า” เขาอาจจะวางแผนทำอะไรบางอย่างเสมือนหนึ่งเป็น Pinky and the Brain ที่วางแผนยึดครองโลก จับคุณสู่สถานที่กักกันบ้าง ในข้อหามี Reason ไม่ปกติดั่งพวกเขา หรือหมายความสั้นๆว่า “เราบ้า” ก็ได้ใครจะไปรู้