นักปรัชญาชายขอบ
25 มกราคม 2555
เป็นความจริงว่า คนไทยส่วนใหญ่รักเจ้า แต่ก็อาจมีคนบางส่วนไม่รักเจ้า ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาที่เราสามารถเข้าใจได้ และควรยอมรับความรู้สึกที่แตกต่างกันของผู้คนในสังคมได้
ในสถานการณ์ปัจจุบันความเห็นต่างในเรื่อง “การปกป้องสถาบัน” มีสองฟาก คือ
ฝ่ายที่เห็นว่า ควรแก้ไข ม.112 และปฏิรูปกติกา โครงสร้าง อุดมการณ์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ให้สอดคล้องกับอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่มี พระมหากษัตริย์เป็นประมุขอยู่ใต้รัฐธรรมนูญตามเจตนารมณ์ 2475 ทั้งนี้เพื่อให้สถาบันกษัตริย์อยู่เหนือการเมือง หรือพ้นไปจากการเมือง ปิดประตูการใช้สถาบันเป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมือง และ/หรือเป็นเครื่องมือทำรัฐประหารโดยสิ้นเชิง
อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่า ม.112 ไม่มีปัญหา ไม่ควรแก้ และไม่ควรปฏิรูปกติกา โครงสร้างใดๆ เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ และเห็นว่าเป็น “ภารกิจ” ที่พวกตนต้องออกมาคัดค้านข้อเสนอของฝ่ายแรก ภารกิจนี้ คือ “ภารกิจปกป้องสถาบัน”
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อมองอย่างตรงไปตรงมาแล้ว ฝ่ายแรกก็ไม่ได้คิดจะล้มเจ้า ก็ยังยืนยันว่าสถาบันกษัตริย์ยังมีคุณค่าต่อสังคมไทย สถาบันกษัตริย์ต้องดำรงอยู่ต่อไป แต่ต้องอยู่เหนือการเมืองจริงๆ แบบอารยประเทศ เช่น อังกฤษ ญี่ปุ่น เป็นต้น และฝ่ายหลังก็ยืนยันว่าต้องมีสถาบันเช่นกัน
แล้วทำไมจึงขัดแย้งกันเรื่องปกป้องสถาบัน?
เพื่อแก้ปัญหานี้ ผมจึงขอเสนอ “คู่มือการปกป้องสถาบัน” ซึ่งมีหลักปฏิบัติ ดังต่อไปนี้
ก. มาตรการเชิงลบ (negative) ต้องไม่ทำต่อไปนี้
1. ต้องไม่ใช้สถาบันเป็นเครื่องมือทางการเมือง เช่น ไม่อ้างสถาบันทำลายศัตรูทางการเมือง ไม่เรียกร้องให้ทหารทำรัฐประหารเพื่อปกป้องสถาบัน
2. ต้องไม่ใช้ข้อหา “ล้มเจ้า” กับฝ่ายที่เห็นต่างทางการเมือง และ/หรือใช้ ม.112 ไล่ล่าแม่มด
3. ต้องไม่กล่าวหากันในเรื่องเนรคุณ ไม่จงรักภักดี ไม่เข้าใจความเป็นไทย ไม่ใช่คนไทย หรือไล่คนเห็นต่างออกนอกประเทศ และ/หรือหยิบยกเรื่องส่วนตัวใดๆ ของฝ่ายคิดต่างเห็นต่างมาโจมตี
4. ทหารต้องหยุดอ้างสถาบันทำรัฐประหารตลอดไป ต้องเข้าใจว่าสถาบันกษัตริย์ในโลกสมัยใหม่จะมั่นคงอยู่ได้ภายใต้ระบอบ ประชาธิปไตยที่ “ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย” อย่างแท้จริงเท่านั้น การอ้างสถาบันเพื่อสร้างระบอบเผด็จการเป็นการทำลายสถาบันและประชาธิปไตย อย่างอำมหิตที่สุด!
ข. มาตรการเชิงบวก (positive) ต้องทำต่อไปนี้
1. ต้องมีขันติธรรม (tolerance) ในการเผชิญกับความเห็นต่างทางการเมือง พยายามฟังความคิดต่าง เห็นต่าง ฟังให้ได้ศัพท์ จับประเด็น ข้อเสนอ หลักการ เหตุผล ของอีกฝ่ายให้ชัด แล้วโต้แย้งกันด้วยเหตุผลเท่านั้น ไม่หาช่องทางเอาผิดทางกฎหมายกับฝ่ายตรงข้ามโดยเด็ดขาด
2. ต้องเปิดเวทีสาธารณะถกเถียงกันด้วยเหตุผลอย่างถึงที่สุดว่า สังคมไทยควรอยู่กันด้วยอุดมการณ์แบบไหน ระหว่าง “อุดมการณ์กษัตริย์นิยมสมบูรณาญาสิทธิราชย์กำกับประชาธิปไตย” (หมายถึง อุดมการณ์ของการปกครองที่สถาบันกษัตริย์แตะต้องไม่ได้แบบกษัตริย์ยุค สมบูรณาญาสิทธิราชย์ มีอำนาจเหนือประชาธิปไตย และถูกใช้เป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมือง และการทำรัฐประหารอย่างที่เป็นมาตลอด) กับ “อุดมการณ์ประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ” (หมายถึงอุดมการณ์ของการปกครองที่สถาบันกษัตริย์อยู่เหนือการเมืองอย่างแท้ จริง ไม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองและการทำรัฐประหารอีกต่อไป ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริง ตามเจตนารมณ์ 2475)
3. ต้องนำข้อสรุปที่ได้จากการถกเถียงตามข้อ 2 เข้าสู่กระบวนการทำประชาพิจารณ์ ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับข้อเสนอของฝ่ายใด กระบวนการของรัฐสภาต้องรับไปดำเนินการต่อตามเจตจำนงทั่วไปของประชาชน
ถ้าทุกฝ่ายยึดถือปฏิบัติตาม “คู่มือปกป้องสถาบัน” ฉบับนี้อย่างเคร่งครัด สถาบันกษัตริย์จะดำรงอยู่อย่างมั่นคงคู่กับความมั่นคงของระบอบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ และประชาชนเป็น “เจ้าของอำนาจอธิปไตย” อย่างแท้จริง ตลอดไป