ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Thursday, 26 January 2012

วาด รวี: ซ้าย–ขวา กับตำแหน่งของจุดยืนทางการเมือง

ที่มา ประชาไท

คำว่า “ซ้าย” และ “ขวา” เป็นคำเรียกทั่วไปเพื่อระบุตำแหน่งของแนวคิดทางการเมือง หรือกลุ่มการเมือง ว่ามีความโน้มเอียง หรือเข้าใกล้ขั้วความคิดใดระหว่างการผูกขาดอำนาจอย่างเด็ดขาด (ขวาสุด) และไม่มีการผูกขาดอำนาจเลย (ซ้ายสุด)

ในประวัติศาสตร์การเมืองของโลก เมื่อเอ่ยถึง “ขวาสุด” ก็มักจะนึกถึง เผด็จการฟาสซิสม์ เช่น นาซี เป็นต้น ซึ่งนอกจากมีลักษณะผูกขาดอำนาจอย่างเด็ดขาด และมีอุดมการณ์ชาตินิยมอย่างเข้มข้นแล้ว ยังเชื่อว่าหนทางดังกล่าวคือวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการขยายสิทธิในการ ถือครองกรรมสิทธิ์ของเอกชน ส่วนฝ่าย “ซ้ายสุด” นั้น ก็มักจะนึกถึง คอมมูนิสต์ ซึ่งต้องการสร้างสังคมที่มีความเท่าเทียมกันในมิติทางเศรษฐกิจ โดยไม่ต้องการให้มีระบบการถือครองกรรมสิทธิ์หลงเหลืออยู่เลย ซึ่งก็ถูกมองว่าสุดขั้วไปอีกทางหนึ่ง

“ซ้าย” และ “ขวา” จึงเป็นคำกว้าง ๆ ที่ใช้เป็นกรอบในการกล่าวถึงกลุ่มการเมือง และแนวคิดทางการเมือง เพื่อไล่ระดับให้เห็นตำแหน่งของสิ่งเหล่านั้นในท่ามกลางบริบทที่ขัดแย้งกัน อยู่ในสังคมนั้น ๆ ว่าแต่ละกลุ่มอยู่ตรงจุดใดของเส้นซึ่งปลายข้างหนึ่งอาจจะคือ ฟาสซิสม์ และ ปลายอีกข้างอาจจะคือ คอมมูนิสต์ การเรียกกลุ่มการเมืองหรือแนวคิดทางการเมืองใด ๆ ว่า ซ้าย หรือ ขวา จึงขึ้นอยู่กับบริบทของกลุ่มการเมืองนั้น ๆ หรือบริบทของแนวคิดนั้น ๆ เป็นหลัก และไม่มีความหมายตายตัว เช่น ในสังคมที่มีเพียงแนวความคิดคอมมูนิสต์กับสังคมนิยมอยู่เพียงแค่สองแนวคิด ก็ต้องนับว่า คอมมูนิสต์คือปีกซ้าย ขณะที่สังคมนิยมคือปีกขวา

คำว่า ซ้าย และ ขวา ในยุโรปปัจจุบันมีชนชั้นเป็นปัจจัยสำคัญในการแบ่งแยก ฝ่ายซ้ายมักหมายถึงแนวคิดที่ใฝ่หาความเป็นธรรมในสังคม ขณะที่ฝ่ายขวามักหมายถึงแนวคิดที่ต้องการปกป้องทรัพย์สินเอกชนและระบบทุน นิยม

นิยามดังกล่าวข้างต้นของยุโรปนี้ มีความแตกต่างจากสถานการณ์ดั้งเดิม อันเป็นจุดกำเนิดของคำว่า ซ้าย และ ขวา ที่แท้จริงเมื่อสองร้อยกว่าปีก่อน

รากเหง้าของคำว่า ซ้าย และ ขวา นั้น กำเนิดขึ้นระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศส โดยคำนี้ปรากฏขึ้นครั้งแรกในปี 1789 ซึ่งเป็นปีแรกของการปฏิวัติฝรั่งเศส เมื่อมีการประชุมสภาฐานันดรทั่วไป

การประชุมสภาฐานันดรทั่วไปเกิดขึ้นจากการกดดันของ “ฐานันดรที่สาม” ซึ่งเป็น “คนกลุ่มใหม่” ที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิทางการเมือง คนกลุ่มนี้ประกอบไปด้วย พ่อค้า นายธนาคาร นักอุตสาหกรรม เกษตรกร ลูกจ้าง

ฝรั่งเศสขณะนั้นปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ โดยฐานันดรที่มีสิทธิทางการเมือง และมีสิทธิ์ออกเสียงในสภามีเพียง ขุนนาง และ พระ เท่านั้น เมื่อกลุ่มคนที่เรียกว่าฐานันดรที่สามลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิทางการเมือง ในที่สุดพระเจ้าหลุยส์ก็ยินยอมให้มีการเลือกตั้งซึ่งก็มีผู้แทนฐานันดรที่ สามได้รับเลือกตั้งถึง 579 คน (จากสมาชิกสภา 1,154 คน)

ในการประชุมสภาฐานันดรทั่วไป (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นสภาแห่งชาติ) นั้นเองที่ ผู้ที่เลือกที่นั่งทางฝั่งขวาส่วนใหญ่เป็นตัวแทนของขุนนาง พระ และข้าราชการ ซึ่งมีจุดยืนอยู่ที่การปกป้องระบบทรัพย์สินของตน และมีความเห็นว่าขุนนางและพระจะต้องมีสิทธิทางการเมือง “มากกว่า” คนอื่น ส่วนผู้ที่นั่งทางฝั่งซ้ายส่วนใหญ่คือผู้แทนฐานันดรที่สามที่สนับสนุนนโยบาย เสรีนิยมของพระเจ้าหลุยส์ ต้องการเปลี่ยนแปลงระบบทรัพย์สิน ขจัดอภิสิทธิ์ของขุนนางและพระ และต้องการจำกัดอำนาจทางการเมืองของกษัตริย์

“เราเริ่มที่จะจำกันได้ สำหรับผู้ที่ภักดีกับศาสนาและกษัตริย์ไปนั่งทางฝั่งขวา เพื่อจะได้หลีกเลี่ยงเสียงตะโกน, สบถสาบาน และความสัปดนซึ่งครื้นเครงกันอยู่ที่ฝั่งตรงข้าม”

ข้างต้นคือคำพูดที่มีชื่อเสียงของ Baron de Gauville ซึ่งกล่าวในสภาแห่งชาติ

คำว่า ซ้าย ในสังคมไทยมักใช้กันอย่างสับสน โดยส่วนใหญ่มักจะหมายถึงมาร์กซิสม์ หรือไม่ก็ปัญญาชนที่เคยเคลื่อนไหวและหนีเข้าป่าในช่วงเหตุการณ์เดือนตุลาคม ระห่าง ปี 2516 – 2519 และพรรคคอมมูนิสต์แห่งประเทศไทย

จริง ๆ แล้วปัญญาชนในช่วงเหตุการณ์เดือนตุลาคมที่เป็นมาร์กซิสม์ขณะนั้นอาจจะแทบไม่ มีเลย ขณะเดียวกันคนที่เป็นเสรีนิยมก็มีเป็นจำนวนน้อยเท่านั้น

ฝ่ายซ้ายของไทยโดยภาพรวม นับจากอดีตถึงปัจจุบัน ก็คือทั้งฝ่ายที่มีแนวคิดแบบเสรีนิยม มาร์กซิสม์ และคอมมูนิสต์ ขณะที่ฝ่ายขวาคือคนที่มีแนวคิดแบบจารีตนิยม กษัตริย์นิยม ส่วนฝ่ายที่อยู่กลาง ๆ หน่อยอาจจะเรียกได้ว่าเป็นคนที่มีแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยม ซึ่งคนที่เป็นฝ่ายซ้ายในช่วงเหตุการณ์เดือนตุลา ในปัจจุบันก็มีเป็นจำนวนไม่น้อยที่กล่าวได้ว่ามีแนวคิดทางการเมืองที่ตั้ง อยู่ตรงพิกัดเดียวกับอนุรักษ์นิยม คืออยู่ระหว่าง ผู้ที่มีแนวคิดเสรีนิยมและสังคมนิยมซึ่งเรียกร้องการเปลี่ยนแปลง กับ ผู้ที่มีแนวคิดแบบจารีตนิยม กษัตริย์นิยม ซึ่งต้องการรักษาอำนาจและระบบเดิมเอาไว้

ปัญหาสำคัญที่สร้างความสับสนในการทำความเข้าใจกับตำแหน่งของแนวคิดทางการ เมือง ซึ่งนำไปสู่ความสับสนเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมือง และทำให้เกิดวิธีคิดวิธีนิยามที่สะเปะสะปะ ก็คือ คนส่วนใหญ่มักใช้คำว่า ซ้าย ให้เป็นความหมายเดียวกับ มาร์กซิสม์ ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ใช่ และเป็นคนละเรื่องกัน

ดังที่กล่าวไปแล้ว คำว่า ซ้าย นั้นเกิดตั้งแต่ปฏิวัติฝรั่งเศส ซึ่งเป็นเหตุการณ์ก่อนที่มาร์กซจะเกิดหลายสิบปี ซึ่งรากเหง้าของคำว่าฝ่ายซ้ายในทางการเมือง ก็คือ ฝ่ายที่เรียกร้องให้มีสิทธิทางการเมืองเท่ากัน ในสถานการณ์ที่ กษัตริย์ ขุนนาง พระ ข้าราชการ มีสิทธิทางการเมืองแต่เพียงฝ่ายเดียว พร้อมกันนั้นฝ่ายซ้ายก็ต้องการที่จะจำกัดอำนาจของกษัตริย์จากระบอบสมบูรณาญา สิทธิราชย์ (Absolute Monarchy) ซึ่งนิยามต้นกำเนิดนี้ นับว่าแตกต่างจากคำว่า “ซ้าย” และ “ขวา” ในสังคมการเมืองยุโรปปัจจุบันดังที่กล่าวมาข้างต้น

เหตุที่นิยามของคำในยุโรปปัจจุบันไม่ได้มีความหมายเดิมเหมือนตอนปฏิวัติ ฝรั่งเศสอีกต่อไป ก็เพราะประเทศเหล่านี้ได้ข้ามผ่านปัญหาเรื่องสถานะและบทบาทของสถาบัน กษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย บางประเทศผ่านไปโดยที่ไม่มีสถาบันกษัตริย์อีกต่อไป ขณะที่บางประเทศก็ผ่านไปโดยที่สถาบันกษัตริย์สามารถปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกับ ระบอบประชาธิปไตยได้อย่างราบรื่น ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างแท้จริง และปล่อยให้หลักการของระบอบประชาธิปไตยทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อม ๆ กับยอมรับและยอมอยู่ใต้อาณัติของสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ซึ่งเป็นหลักการที่สถาปนาความเป็นสมัยใหม่

ส่วนเหตุที่คำว่า “ซ้าย” ในสังคมไทยมักจะใช้กันอย่างสับสนก็เพราะหลงคิดว่าสังคมของเราได้ก้าวสู่ความ เป็นสมัยใหม่เช่นเดียวกับยุโรปแล้ว ซึ่งไม่จริง และเป็นไปไม่ได้ ตราบใดที่สำนึกในเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ไม่ได้เป็นสำนึกที่แท้จริงของสังคม และยังไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งในเรื่องบทบาทและสถานะของสถาบันกษัตริย์ กับระบอบประชาธิปไตยได้ ความเป็นสมัยใหม่นั้นเป็นไปไม่ได้พอ ๆ กับความเป็นมาร์กซิสม์