ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Thursday, 19 January 2012

ธเนศวร์ เจริญเมือง: ข้อเสนอเรื่องการรับปริญญา

ที่มา ประชาไท

ช่วงเดือนมกราคมทุกๆปี อากาศกำลังเย็นสบาย สถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งจัดพิธีรับปริญญาผมได้เห็นนักศึกษาถ่ายรูปในชุด บัณฑิต-มหาบัณฑิต ก็ชื่นใจครับ ยินดีกับพวกเขาและครอบครัวเป็นอย่างยิ่ง

ผมคิดว่าคนสอนหนังสือระดับอุดมศึกษา มีความสุขกับ 2-3 เรื่อง 1. ได้เห็นคนหนุ่มสาวที่เข้าเรียนจบการศึกษา ได้รับปริญญาสมความตั้งใจ 2. จบออกไปเป็นสมาชิกที่มีคุณค่าทั้งต่อตนเอง-ครอบครัวและสังคมโดยรวม และ 3. เป็นสุขมากขึ้น เมื่อรู้ว่าพวกเขาทำอะไรเพื่อให้ตัวเขา-ครอบครัว-สังคม ยกระดับความนึกคิด-การทำงาน-คุณธรรม-และปฏิบัติการบางอย่าง ที่สังคมนั้นขาดหาย แต่พวกเขานำมันกลับคืนมา หรือพยายามที่จะยกระดับตนเอง-ครอบครัว ชุมชน และประเทศชาติให้สูงขึ้น มุ่งมั่นที่จะทำสิ่งเหล่านั้น แม้ว่าจะยังไม่สำเร็จก็ตาม

ถ้าผมออกแบบมหาวิทยาลัยได้สำหรับประเทศนี้ โดยเฉพาะถ้ามหาวิทยาลัยนั้นมีบัณฑิต-มหาบัณฑิตนับหมื่นคน ผมจะเสนอจัดรายการรับปริญญา 2 วัน เสาร์และอาทิตย์เพื่อไม่ให้มีคนร่วมงานมากเกินไป เป็นรายการที่ไม่ต้องมีซ้อมอะไร เริ่มตอนสายๆ สัก 9.30 น. ผู้ปกครอง-ญาติมิตรไปนั่งที่ด้านข้างทั้งสองของด้านหน้าเวที ที่นั่งตรงกลางหน้าเวทีทั้งหมดให้ผู้จบการศึกษาทั้งหมดนั่ง

เริ่มพิธีด้วยการเชิญธงมหาวิทยาลัยและธงของคณะต่างๆ ตามด้วยคณาจารย์ในชุดครุยเต็มยศ เดินนำหน้าขบวนดุษฎีบัณฑิต-มหาบัณฑิต-บัณฑิตเข้ามา พร้อมเพลงมหาวิทยาลัยที่ดังกึกก้องตลอดเวลาที่ขบวนแถวอันทรงเกียรติเดินเข้า มาในงาน ครอบครัว-ญาติมิตรทั้งสองด้านลุกขึ้นยืนให้เกียรติต้อนรับ คณาจารย์ขึ้นไปนั่งบนเวที ส่วนเหล่าบัณฑิตนั่งตรงกลางทั้งหมด

พิธีการเริ่มต้นอย่างเรียบง่าย ด้วยคำกล่าวของคณาจารย์จำนวนหนึ่ง ตามสูจิบัตรที่แจกให้ผู้เข้าร่วมงานทุกคน จากนั้น ก็ จะเป็นปาฐกถาเกียรติยศของบุคคลสำคัญที่คณะผู้บริหารและบัณฑิตร่วมกันคัดสรร ตลอดหลายเดือนก่อนหน้า มากล่าวให้ความรู้และทัศนะบางประการ ตลอดจนแง่คิดบางอย่างแก่บัณฑิตใหม่

ต่อจากนั้น อธิการบดีก็จะขึ้นกล่าววาระสำคัญ คือการมอบปริญญา เช่น มอบปริญญาดุษฎีบัณฑิต (ซึ่ง มักจะมีไม่กี่คน) และรางวัลยอดเยี่ยมด้านต่างๆ แก่บัณฑิต-มหาบัณฑิตหรือบางคน (ที่ควรจะเป็นรางวัลที่ทรงคุณค่าจริงๆ ไม่ใช่มอบรางวัลที่มากจนเกินไป)

จากนั้น ก็จะประกาศให้มหาบัณฑิตยืนขึ้น อธิการบดีก็จะกล่าวประกาศว่าพวกเขาที่ยืนเบื้องหน้าบัดนี้คือผู้จบการศึกษา เป็นมหาบัณฑิตเต็มภาคภูมิแล้ว หรืออาจจะให้บัณฑิตยืนขึ้นพร้อมๆกัน หรือแยกกันคนละกลุ่ม หรือแยกกันจัดคนละงาน สิ้นเสียงประกาศ ผู้จบการศึกษาทั้งหลายก็จะไชโยโห่ร้อง ขานรับด้วยเสียงปรบมือแสดงความยินดีของครอบครัว-ญาติมิตรรอบๆ อาจมีการโยนหมวกและช่อดอกไม้ขึ้นท้องฟ้า เป็นช่วงเวลาที่สุขสันต์และเป็นกันเองอย่างที่สุด งานดังกล่าวก็เสร็จสิ้นลง

จากนั้น ก็จะถ่ายรูปร่วมกันภายในงาน หรือบนเวที (บางส่วนก็ถ่ายไป มากแล้วในตอนเช้าก่อนที่จะเริ่มงานอย่างเป็นทางการ) 11.45 น. งานน่าจะจบ คนจบก็เดินไปรับใบปริญญาบัตรที่สำนักทะเบียน หรือสำนักทะเบียนอาจมาตั้งโต๊ะ รอมอบใบปริญญา ณ จุดนั้น ทั้งนี้ล้วนขึ้นอยู่กับแต่ละสถาบัน

หมายความว่าพิธีศักดิ์สิทธิ์ มีความหมาย มีสาระ และมีความสุขถ้วนหน้านี้ ไม่ต้องมีใครซ้อมอะไรสักอย่าง ไม่ต้องลางาน ทุกคนมาร่วมงาน แต่งตัวสวยกันหมดครึ่งเช้าหรือครึ่งบ่ายของวันหนึ่งในวันสุดสัปดาห์ ใช้เวลา 2 ชั่วโมง ทุกอย่างก็จบหมด ไปฉลองอาหารมื้อเที่ยงกันอย่างยิ่งใหญ่ แล้วต่างก็แยกย้ายกันกลับบ้าน แทบไม่ต้องมีใครที่ลางานหลายวัน

ป.ล. คนมีการศึกษาสูงสุดของประเทศทั้งคณาจารย์และเหล่าบัณฑิตย่อมต้องใช้เวลา อย่างคุ้มค่าในการทำงานสร้างสรรค์สังคม และแก้ไขปัญหาสังคมอย่างเต็มที่

สำหรับงานอันยิ่งใหญ่และมีความหมาย นี้ ครึ่งวันก็พอแล้วนี่ครับ ทำไมต้องซ้อมอะไรมากมาย ถึง 3-4 วัน นี่เอาคนระดับ ดร. รศ.ดร. ศ.ดร. คณบดี มาซ้อมอ่านชื่อคน อ่านอยู่นั่นแล้ว 3-4 วัน แล้วเอาบัณฑิตลางานมา 5-6-7 วัน เสียเงินหลายหมื่นบาท เสียเวลาก็ประเมินไมได้เลยว่าเสียหายเท่าใด

ทุกวันนี้ ที่สถาบันอุดมศึกษาในสังคมไทยจัดงาน รับปริญญาวันทำงาน ก็เพราะมีจุดหมายแอบแฝง เช่น ให้รุ่นน้องมาโรงเรียน ได้พบพี่บัณฑิต ได้คุยกัน ขอเงินบริจาค หรือรับเลี้ยง ได้ขายของหาเงินเข้าชมรม แต่เราคิดบ้างไหมว่าตลอดวันรับปริญญานั้น มีนับพันครอบครัวที่ขนกันมาเต็มมหาลัย นั่งๆนอนๆใต้ต้นไม้ บ้างก็หลับ บ้างก็เดินไปมาทั้งวัน

จริงๆ ก่อนจะไปถึงงานรับปริญญาแบบครึ่งวันเสร็จทุกอย่างที่ผมเสนอไปตอนต้นนั้น สำหรับแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ เราก็สามารถปรับบางอย่างได้ เช่น ทำไมไม่ให้นักศึกษาแต่ละคณะหยุดเรียน จัดกลุ่มออกมาต้อนรับพาครอบครัวของบัณฑิตและผู้สนใจเข้าไปชมกิจการต่างๆ ของคณะ ไปดูห้องเรียน ห้องสมุด ห้องแล็บ ห้องวิจัย ห้องน้ำ โรงอาหาร ฯลฯ เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ของมหาวิทยาลัย (ที่หลายแห่งมี แต่แทบไม่เคยเปิดเลย)

ตกลงที่ผ่านมา และจนถึงเวลานี้ เราเอาคนมีการศึกษาสูงเป็นกะทิของทุกๆ หมู่บ้านตำบล-อำเภอมาซ้อมๆๆ เพื่อรับปริญญากันถึง 3-4 วัน ทั้งวัน ลางานกันเป็นอาทิตย์มาเพียงเพื่อทำงานพิธีบางอย่าง คือการนั่งนานๆ แล้วก็ซ้อมเดินๆๆๆ แล้วก็ยังไม่พอ เอาญาติมิตรพี่น้องมานั่งๆ นอนๆ ทั้งวันใต้ร่มไม้ โดยไม่ได้ทำอะไรเลย

ทำอย่างไร เราจึงจะไม่ต้องซ้อมมากมาย เสียเวลาทุกฝ่ายขนาดนี้ และทำอย่างไร เราจะทำให้ครอบครัวญาติมิตรได้สาระอะไรกลับบ้านบ้าง ไม่ใช่มานั่งๆนอนๆรอภายในรั้วมหาลัย แล้วได้ถ่ายรูปกับคนที่เขาภาคภูมิใจไม่กี่สิบรูป แล้วจากนั้น ก็นั่งรถกลับบ้าน มีแต่ความอิ่มเอมกลับไป แต่เสียเวลาทั้งวัน แล้วไม่ได้เรียนรู้อะไรเลยว่าสถาบันที่ลูกหลานของตนเองมาเรียนนั้น เขาสอนอะไรบ้าง

สำหรับมันสมองของประเทศทั้งหมดนี้ ได้เวลาหรือยังครับที่คนมีการศึกษาอย่างเราๆ จะคิดใหม่ และกล้าเปลี่ยนแปลงด้วยการทำอะไรดีๆ มีสาระกว่านี้ให้แก่ประเทศของเรา.