สงครามกลางเมือง ภูเขา คนหนุ่ม: สงครามเกิดเพราะมันมีโอกาส[1] [2]
แบ๊งค์ งามอรุณโชติ
นักเศรษฐศาสตร์, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า (ธนบุรี)
การก่อกบฏ (rebellion) และสงครามกลางเมือง (civil war) เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งทั่วโลก แต่มักได้รับความสนใจศึกษาอย่างจำกัด คือเป็นงานที่มีลักษณะเชิงคุณภาพ, งานระดับจุลภาค และผู้ที่ศึกษามักอยู่ในสาขารัฐศาสตร์เป็นส่วนใหญ่ กระทั่งเกือบสองทศวรรษที่ผ่านมาจึงเริ่มมีการบุกเบิกศึกษาด้วยวิธีการเชิง ปริมาณโดยนักรัฐศาสตร์ปริมาณและนักเศรษฐศาสตร์ นักคิดที่มีส่วนร่วมอย่างสำคัญในการพัฒนาแนวคิดทฤษฎีเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับ สงครามกลางเมือง (economic theory of civil war) ได้แก่ Paul Collier และ Anke Hoeffler ซึ่งเขียนงานเกี่ยวกับสงครามกลางเมืองอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 1998
พัฒนาการทางทฤษฎีในระยะเริ่มต้นนั้นมักมองว่า การเกิดสงครามกลางเมืองเป็นเรื่องของความคับข้องใจทางประวัติศาสตร์ (historical grievance) อาทิ การถูกกดขี่ทางชาติพันธุ์วรรณนา เป็นต้น ทว่าเมื่อนักเศรษฐศาสตร์ได้เข้ามาร่วมพิจารณาและพัฒนาทฤษฎีที่จะอธิบายถึง การก่อตัวของสงครามกลางเมือง ก็ได้เกิดแนวคิดในระยะที่สองได้แก่ แนวคิดเรื่องแรงจูงใจ (motivation) แนวคิดนี้เชื่อว่า การจะเกิดสงครามกลางเมืองได้นั้น จะต้องก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ก่อการมากกว่าโทษ แนวคิดนี้แท้ที่จริงแล้วไม่ได้ขัดแย้งกับแนวคิดแรก (เรื่องความคับข้อใจ) แต่กว้างขวางครอบคลุมไปถึงเรื่องอื่นๆ ด้วย เช่น เพื่อการปล้นสะดมและซาดิสม์ (predation and sadism) หรือ ผลประโยชน์ทางการเงิน
ดังนั้น ภายใต้แนวคิดเรื่อง “แรงจูงใจ” การก่อสงครามกลางเมืองอาจเป็นการจัดตั้งแบบแสวงหาผลกำไรหรือไม่แสวงหาผลกำไร ก็ได้ ทว่า, ปัญหาสำคัญของการตีความสงครามกลางเมืองว่าเป็นเรื่องของแรงจูงใจนั้นยังมี ข้อจำกัดสำคัญบางอย่างอยู่ อาทิ เราอธิบายไม่ได้ว่าทำไม การก่อกบฏ (rebellion) จนเกิดเป็นสงครามกลางเมืองจึงยังเกิดขึ้น ทั้งๆที่จริงแล้วหลังการต่อสู้อันยาวนานฝ่ายกบฏมีต้นทุนที่สูงมากและมักเป็น ฝ่ายพ่ายแพ้โดยส่วนใหญ่ [3] เว้นเสียแต่ว่าฝ่ายกบฏจะได้รับประโยชน์ระหว่างการต่อสู้อันยาวนานเหล่านั้น
ตัวอย่างเช่น กรณีการต่อสู้ของกลุ่มพยัคทมิฬ (Tamil Tigers) ในศรีลังกา ซึ่งใช้งบประมาณในการจัดตั้งต่อสู้กับรัฐราว 200-350 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี นับเป็นมูลค่ากว่าร้อยละ 20-34 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศทางอีสานของศรีลังกา เทียบกับรายจ่ายของพรรคฝ่ายค้านในอังกฤษแล้วยังมากกว่าหลายเท่าตัว (พรรคฝ่ายค้านอังกฤษใช้จ่ายราว 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี) ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า การต่อสู้ทางการเมืองในระบบ ใช้ต้นทุนถูกกว่าการต่อสู้ด้วยการจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธ ทว่าฝ่ายกบฏก็ไม่สนใจที่จะใช้ทางเลือกดังกล่าว
การศึกษาเพื่อยืนยันถึงทฤษฎีแรงจูงใจทางเศรษฐศาสตร์กับสงครามมกลางเมือง นำมาสู่การพิสูจน์ความสัมพันธ์ของตัวแปรสำคัญๆ อาทิ มูลค่ารายได้ประชาชาติต่อหัว (Per capita income), อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (economic growth) และโครงสร้างรายได้ (income structure)
เฉพาะสองปัจจัยแรก, งานศึกษาจำนวนมากยืนยันว่า ประเทศที่มีรายได้ต่อหัวต่ำ มีความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามกลางเมืองมากกว่าประเทศที่มีรายได้ต่อหัวสูง ผลการศึกษายังชี้อีกว่า หลังสงครามกลางเมืองสงบลงรายได้ต่อหัวมักลดลงมากด้วย ซึ่งจะทำให้โอกาสในการเกิดสงครามกลางเมืองซ้ำซ้อนเกิดขึ้นได้อีก (conflict trap)
ในส่วนของโครงสร้างรายได้ ประเด็นหลักถูกเน้นไปที่เรื่องของทรัพยากรธรรมชาติ กล่าวคือ ประเทศใดมีทรัพยากรธรรมชาติมากโอกาสที่จะเกิดสงครามกลางเมืองเพื่อแย่งชิง ทรัพยากรเหล่านั้นก็มีมาก และเมื่อเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นแล้วทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์เหล่า นั้นก็จะเป็นแหล่งการเงินที่จะทำให้ฝ่ายกบฏ (ในความหมายของกำลังติดอาวุธที่อยู่ตรงข้ามรัฐ) สามารถต่อสู้ได้ยืดเยื้อยาวนานยิ่งขึ้น เช่น ปล้นน้ำมันจากท่อส่งน้ำมัน ขนเพชรไปขาย เป็นต้น ซึ่งหมายความว่า การกระจายตัวของทรัพยากรธรรมชาติก็ยังมีผลต่อความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นด้วย โดยหากรัฐบาลเป็นผู้ครอบครองทรัพยากร/แหล่งรายได้ทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว ความขัดแย้งจะรุนแรงน้อยกว่าการที่กลุ่มกบฏมีแหล่งทรัพยากรเป็นของตนเอง
ทั้งนี้ประเด็นทรัพยากร “อาจ” มีความสัมพันธ์กับจำนวนประชากรอย่างมาก เพราะยิ่งประชากรมีน้อยเท่าไหร่การแบ่งสรรทรัพยากรให้เกิดความพึงพอใจต่อทุก ฝ่ายยิ่งทำได้ง่าย และจะทำให้สามารถหลีกเลี่ยงปัญหาสงครามกลางเมืองจากปัจจัยความขัดแย้งทาง ทรัพยากรไปได้มาก จึงเป็นเหตุให้งานศึกษาจำนวนหนึ่งพบว่า ประเทศใหญ่ๆ อย่างอาฟริกามีโอกาสเกิดสงครามกลางเมืองได้ง่ายกว่าประเทศเล็กๆ อย่างบรูไน แม้ว่าจะมีมูลค่าของทรัพยากรธรรมชาติใกล้เคียงกันก็ตาม (โดยให้ตัวแปรอื่นคงที่ – status quo)
การค้นพบข้างต้นที่ได้กล่าวมานี้ทั้งหมด เป็นสิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง (อย่างน้อยก็สำหรับนักเศรษฐศาสตร์ที่ไม่ค่อยได้ประสีประสาทางการเมืองอย่าง ผู้เขียน) ทว่า ล่าสุด Collier Hoeffler and Rohner (2006) ได้เสนอแนวคิดล่าสุดเกี่ยวกับการเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นมา คือแนวคิดที่เรียกว่า “feasibility hypothesis” ซึ่งไม่แน่ใจนักว่าจะแปลแนวคิดนี้ออกมาเป็นคำสวยๆ อย่างไรดี จึงขอเรียกง่ายๆ ว่าทฤษฎี “สงครามเกิดเพราะมันมีโอกาส” หมายความว่า ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ต้องพิจารณานอกเหนือไปจากเรื่องแรงจูงใจตามทฤษฎี ระยะที่สองแล้ว Collier Hoeffler and Rohner ยังชี้ชวนให้เราพิจารณาด้วยว่า “เงื่อนไข” ของการก่อกบฏและสงครามกลางเมืองมีความพร้อมไหม... ถ้ามี มันจะเกิดขึ้น!
ในการพัฒนาทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยสงครามกลางเมืองระยะที่สามนี้ นักวิจัย ได้นำข้อมูลสงครามกลางเมืองนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1965 – 2004 มากกว่า 1,000 ครั้งทั่วโลกโดยใช้ข้อมูลของ Correlates of War (COW) project ของ Kristian Gleditsch (2004) มาทำการทดสอบตัวแปรสำคัญ 3 ตัวอันได้แก่ การคุ้มครองทางทหารของฝรั่งเศส (French security umbrella), สัดส่วนของคนหนุ่มในประชากรทั้งหมด และ สัดส่วนทางภูมิศาสตร์ที่เป็นภูเขา
ทั้งสามปัจจัยนี้ถูกมองว่าเป็นเงื่อนไขสำคัญที่การก่อกบฏจะเกิดขึ้นได้ เพราะการที่มีกองกำลังทหารของประเทศมหาอำนาจ (ในกรณีนี้คือฝรั่งเศส) ช่วยค้ำประกันความมั่นคงของรัฐบาลอยู่ ทำให้โอกาสเกิดสงครามกลางเมืองมีน้อยลง ในขณะที่สิ่งสำคัญของการต่อสู้ยืดเยื้อแบบสงครามกลางเมืองนั้นก็คือ กำลังทหาร (สัดส่วนประชากรที่เป็นคนหนุ่ม ระหว่าง 15-29 ปี) เพราะหากคนหนุ่มมีน้อย การหากำลังรบที่จะต่อสู้กับรัฐบาลก็จะมีไม่เพียงพอ-ไม่มีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้, ที่หลบภัย (ในที่นี้คือภูเขา) มีส่วนสำคัญอย่างมาก เพราะกลุ่มกบฏมักไม่ได้ถูกฝึกฝนมาให้รบเต็มรูปแบบ ดังนั้นจึงต้องการที่กำบังตนเองจากการโจมตีทางทหาร และภูเขาก็เป็นที่กำบังธรรมชาติที่ดี ซึ่งยืนยันโดยผลการศึกษาที่ชี้ว่า พื้นที่ซึ่งมีภูเขามากมีความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามกลางเมืองมากกว่าพื้นที่ ราบโล่ง
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ยังคงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการศึกษาทางด้าน เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยสงครามกลางเมือง / ความขัดแย้งเท่านั้น หัวข้อนี้เป็นหัวข้อที่น่าสนใจอย่างยิ่งไม่ใช่เพราะว่ามันมีความสดใหม่ หรือน่าท้าทายทางวิชาการ หากเพราะความเข้าใจประเด็นเรื่องความรุนแรงจากแง่มุมต่างๆ (ไม่จำกัดเฉพาะด้านเศรษฐศาสตร์เท่านั้น) จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้เราสามารถหลีกเลี่ยงความรุนแรงทาง สังคม-สงครามกลางเมืองกับคนในชาติเดียวกันได้, ขอบพระคุณอาจารย์ ธานี ชัยวัฒน์ ที่จุดประกายให้ผู้เขียนได้รู้จักกับ Economics of civil war อีกครั้งครับ
[1] บท ความนี้เขียนขึ้นเนื่องในโอกาสวันครู เพื่อคารวะแด่อาจารย์ธานี ชัยวัฒน์ ผู้ทำให้ผู้เขียนได้สัมผัสเศรษฐศาสตร์การเมืองเป็นครั้งแรก และเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ผู้เขียนเสมอมา สาเหตุที่เลือกบทความเกี่ยวข้องกับสงครามกลางเมืองก็เพราะ สงครามกลางเมืองในอาฟริกาเป็นหัวข้อ วิจัยระดับปริญญาเอกของอาจารย์ ธานี ผู้เขียนเชื่อว่า ไม่มีการคารวะครูใดใดจะดีไปกว่าการเจริญรอยตามครูและแบ่งปันความรู้ที่ครู สอนมาให้แก่บุคคลอื่นต่อไป