ที่มา
ประชาไท แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล
แถลงการณ์
3 มกราคม 2555
การปล่อยตัวนักโทษการเมืองอย่างน้อย 130 คนในพม่าในวันนี้ รวมทั้งฝ่ายค้านที่มีชื่อเสียง อย่างเช่น เตเกว (Htay Kywe) ขุนตุนอู (U Khun Htun Oo) มินโกนาย (Min Ko Naing) และพระคัมภีระ (U Gambira) นับเป็นก้าวย่างสำคัญ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว
ถือเป็นการอภัยโทษครั้งที่สองในรอบปีนี้ และเป็นครั้งที่สี่สำหรับรัฐบาลพม่าภายหลังการเลือกตั้ง ทำให้มีการปล่อยตัวนักโทษการเมืองแล้วอย่างน้อย 477 คน
แต่ยังคงมีนักโทษการเมืองอีกกว่าพันคนที่ยังถูกจองจำ หลายคนเป็นนักโทษทางความคิด รัฐบาลจึงต้องดำเนินการให้อภัยโทษต่อไปเพื่อให้นักโทษการเมืองทุกคนได้รับการปล่อยตัว ทั้งนี้ตามความเห็นของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล
“การปล่อยนักโทษการเมืองเป็นก้าวย่างสำคัญ แต่ประตูต้องเปิดกว้างกว่านั้นเพื่อให้มีการปล่อยตัวนักโทษทางความคิดที่เหลืออยู่ทุกคน” เบนจามิน ซาวัคกี้ (Benjamin Zawacki) นักวิจัยด้านพม่า แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล กล่าว “ทางการต้องทำงานนี้ให้ลุล่วงไปทันที และไม่ให้เกิดปัญหาเช่นนี้อีก”
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล แสดงข้อกังวลต่อรายงานว่า ทางการกำหนดเงื่อนไขในการปล่อยตัวนักโทษบางคน ทั้งยังเรียกร้องให้ทางการอนุญาตให้นักโทษที่ได้รับการปล่อยตัวสามารถเข้าสู่การเมืองได้อีกครั้ง และสามารถใช้สิทธิของตนอย่างเต็มที่ รวมทั้งเสรีภาพในการแสดงออก การสมาคมและการชุมนุมโดยสงบ
“การเคลื่อนไหวทางการเมืองซึ่งเป็นเหตุให้ฝ่ายค้านเหล่านี้ต้องติดคุก ก็เป็นส่วนหนึ่งที่นำไปสู่จังหวะการเปลี่ยนแปลง และเป็นผลให้มีการปล่อยตัวพวกเขาในวันนี้” เบนจามิน ซาวัคกี้ (Benjamin Zawacki) กล่าว “ทางการจะต้องไม่หวนกลับไปใช้วิธีปราบปรามอีก แต่ต้องเดินหน้าต่อไป”
มีข้อถกเถียงกันว่าในพม่ามีจำนวนนักโทษการเมืองอยู่เท่าไรกันแน่ ตัวเลขของรัฐบาลกับตัวเลขของฝ่ายค้านบางกลุ่มแตกต่างกันค่อนข้างมาก
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้กระตุ้นให้ทางการพม่าขอความช่วยเหลือจากองค์การสหประชาชาติเพื่อจัดการอภิปรายโดยให้มีตัวแทนของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy - NLD) เข้าร่วม ทั้งนี้เพื่อสังคายนาตัวเลขและนิยามที่เกี่ยวข้องให้ตรงกัน
ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2554 มีรายงานข่าวว่าประธานาธิบดีเต็งเส่งระบุว่า “เขา “ไม่เห็นด้วย” กับนิยามบางประการเกี่ยวกับการเป็นนักโทษการเมือง”
“ในขณะที่มีรายงานข่าวว่า โกโกเล็ง (Ko Ko Hlaing) ที่ปรึกษาอาวุโสด้านการเมืองของเขาได้กล่าวเมื่อเดือนตุลาคม 2554 ว่า ยังคงมีนักโทษทางความคิดเหลืออยู่ในพม่า “ประมาณ 600 คน” ซึ่งอาจจะตรงกับจำนวนนักโทษ 651 คนที่ทางการประกาศว่าได้รับการปล่อยตัวในวันนี้ เขายังกล่าวด้วยว่าความแตกต่างของตัวเลขอาจ “ขึ้นอยู่กับวิธีนิยามความหมายนักโทษทางความคิดกับนักโทษทั่วไป”
“รัฐบาลพม่าในระดับสูงสุดควรยอมรับว่ามีการคุมขังด้วยเหตุผลทางการเมือง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญเพื่อประกันว่าจะไม่มีการคุมขังบุคคลด้วยข้อหาที่ไม่เป็นธรรมอีกในอนาคต และมีสาเหตุมาจากการตกลงกันไม่ได้เกี่ยวกับนิยามความหมาย” เบนจามิน ซาวัคกี้ (Benjamin Zawacki) กล่าว
“’คุณภาพ’ ของการปล่อยตัวครั้งนี้ถือว่าสูงมาก แต่สุดท้ายแล้วสิ่งที่สำคัญกว่าคือปริมาณ แม้เรายินดีกับการปล่อยตัวนักเคลื่อนไหวทางการเมืองคนสำคัญ แต่เรากระตุ้นให้ทางการปล่อยตัวนักโทษทางความคิดที่เหลือโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข”
ความเป็นมา
เตเกวและพระคัมภีระเป็นผู้นำ “การปฏิวัติชายจีวร” ซึ่งเป็นการประท้วงเมื่อเดือนกันยายน 2550 ขุนตุนอูเป็นประธานพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยในรัฐฉาน (Shan National League for Democracy) ส่วนมินโกนายเป็นผู้นำกลุ่มนักศึกษาปี 88 (88 Generation Student group)
ในวันที่ 16 พฤษภาคม 2554 รัฐบาลพม่าได้ลดโทษหนึ่งปีสำหรับนักโทษทุกคนในประเทศ และมีการเปลี่ยนโทษประหารให้เป็นจำคุกตลอดชีวิต ส่งผลให้มีการปล่อยตัวนักโทษการเมืองอย่างน้อย 72 คนซึ่งได้รับโทษจนเกือบจะครบกำหนด
ในวันที่ 12 ตุลาคม 2554 รัฐบาลปล่อยตัวนักโทษการเมือง 241 คนเป็นการอภัยโทษร่วมกับนักโทษทั้งหมด 6,359 คน ในวันที่ 2 มกราคม 2555 มีการลดโทษจำคุกเป็นเวลาแตกต่างกันขึ้นอยู่กับระยะเวลาของโทษคุมขัง และยกเว้นไม่รวมกรณีจำคุกตลอดชีวิต ทั้งยังมีการเปลี่ยนโทษประหารให้เป็นจำคุกตลอดชีวิตทั้งหมด ในครั้งนี้มีการปล่อยตัวนักโทษการเมืองอย่างน้อย 34 คน
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล จัดให้มีการรณรงค์โดยจดหมายระหว่างวันที่ 17 ตุลาคม – พฤศจิกายน 2554 เรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษทางความคิดทุกคนในพม่า มีผู้ลงนามในจดหมายกว่า 30,750 จาก 77 ประเทศทั่วโลก