ครั้งแรกที่สมาคมไทยมุสลิม พุทธ จีน จังหวัดปัตตานี ลงพื้นที่หลังการรวมตัวของกลุ่มคนทั้ง 3 เชื้อชาติ ศาสนาและวัฒนธรรม กับกิจกรรมจิบน้ำชายามเช้า ของชมรมโคกโพธิ์ ที่ศูนย์เด็กเล็กพรุจงเปลือย ตำบลนาประดู่ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี
ภาพบรรยากาศกิจกรรมจิบน้ำชายาม เช้า ของชมรมโคกโพธิ์ ที่ศูนย์เด็กเล็กพรุจงเปลือย ตำบลนาประดู่ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี เมื่อเช้าวันอังคาร 10 มกราคม 2555
น้ำชายามเช้า กลายเป็นวิถีวัฒนธรรมปกติของคนชายแดนใต้มาช้านาน แต่ในช่วงที่ความไม่สงบปะทุขึ้น บรรยากาศความรื่นเริงและเรียบง่ายยามเช้าก็ถูกความหวาดระแวงสงสัยคืบคลาน ก้าวเข้ามาแทนที่ แต่เชื่อว่าไม่นาน ทุกอย่างจะกลับมาปกติ ด้วยความพยายามของคนกลุ่มหนึ่งที่มีฐานที่มาแตกต่างกัน
ทุกวันนี้ ก่อนเวลาราชการ 7.30 ถึง 9.00 น. ทุกวันอังคาร บรรดาข้าราชการและพ่อค้าประชาชนกลุ่มหนึ่ง ต่างมานั่งจิบน้ำชา พูดคุยแลกเปลี่ยนในวงล้อมอย่างเป็นกิจจะลักษณะ สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพ ในนามของชมรมโคกโพธิ์กันเอง
10 มกราคม 2555 เป็นคิวขององค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) นาประดู่ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี เป็นเจ้าภาพ โดยมีนายคอซีย์ มามุ นายกอบต.คนปัจจุบันเป็นแม่งาน
งานจิบน้ำชาเช้านี้ มีความพิเศษแตกต่างไปจากปกติ เพราะมีแขกสำคัญกลุ่มหนึ่งประมาณ 10 คน ในนามสมาคมไทยมุสลิม พุทธ จีน จังหวัดปัตตานี เข้ามาร่วมวงด้วย งานที่จัดขึ้นในศูนย์เด็กเล็กพรุจงเปลือย ใกล้ที่ทำการ อบต.นาประดู่ จึงคึกคักขึ้นมาทันที
นี่เป็นครั้งแรกที่สมาคมไทยมุสลิม พุทธ จีน จังหวัดปัตตานี ลงพื้นที่หลังการรวมตัวของกลุ่มคนทั้ง 3 เชื้อชาติ ศาสนาและวัฒนธรรม ได้ร่วมก่อตั้งขึ้นได้ไม่นาน
หลังนายก อบต.หนุ่ม อย่างนายคอซีย์ กล่าวต้อนรับแล้ว ก็ถึงคราวที่ นายเศรษฐ์ อัลยุฟรี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี ในฐานะนายกสมาคมไทยมุสลิม พุทธ จีน จังหวัดปัตตานีคนแรก กล่าวแนะนำสมาคม
“น้ำชายามเช้าผมถือเป็นกิจกรรมหนึ่งที่สำคัญของจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะการรักษากิจกรรมนี้ไว้ ก็เหมือนกับการรักษาความสัมพันธ์ของเราทั้งสามพี่น้องไว้ด้วย ท่ามกลางสถานการณ์แบบนี้ การพบปะแลกเปลี่ยนทุกข์สุขกอย่างนี้ได้ เป็นสิ่งที่ต้องรักษาไว้” นั่นคือคำทักทายแรกของ นายกฯ เศรษฐ์ อัลยุฟรี
จากนั้นนายกฯ เศรษฐ์ อัลยุฟรี ต่อด้วยการอธิบายถึงที่มาของสมาคมไทยมุสลิม พุทธ จีนจังหวัดปัตตานีว่า ถ้าไม่มีลุงเคลื่อน (นายเคลื่อน พุ่มพวง) และบอบอเซ็ง (นายเซ็ง ใบหมัด) ที่เป็นคนคิดริเริ่มที่จะให้ความสัมพันธ์ระหว่างชาวไทยพุทธ มุสลิมและจีน ฟื้นกลับคืนมาอย่างเช่นในอดีต สมาคมนี้ก็ไม่เกิด
“ลุงเคลื่อนเสนอให้ผู้นำทั้งสามเชื้อสายมานั่งคุยกัน จนกระทั่งได้ตัวแทนจากสามเชื้อสาย ฝ่ายละ 7 คน มาเป็นกรรมการ และได้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นสมาคมแล้ว รวมทั้งได้เชิญผู้หลักผู้ใหญ่ในจังหวัดและเป็นที่เคารพนับถือมาเป็นที่ ปรึกษา”
จุดประสงค์การตั้งสมาคมนี้ขึ้นมา ก็เพื่อสร้างพื้นที่พูดคุยเสวนาระหว่างกลุ่มคนที่แตกต่างกัน อันจะช่วยกันหาหนทางสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในพื้นที่ให้ได้
นายกฯ เศรษฐ์ อัลยุฟรี ย้ำว่า กิจกรรมที่จะจัดภายใต้สมาคมไทยมุสลิม พุทธ จีนจังหวัดปัตตานี ต้องเป็นกิจกรรมที่ทั้ง 3 ฝ่ายยอมรับ
“ภารกิจสำคัญของสมาคมฯ นอกจากการสานสัมพันธ์ระหว่างสามพี่น้องแล้ว ยังมีภารกิจช่วยเหลือสังคม เช่น มีแผนการเยี่ยมเยือนและดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุไม่สงบ ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐหรือประชาชน หญิงหม้าย เด็กกำพร้าเป็นการสานต่องานจากภาครัฐ สมาคมไทยมุสลิม พุทธ จีน จังหวัดปัตตานี จะเริ่มสร้างสันติภาพภาคประชาชนให้เกิดขึ้นให้ได้” นายกฯ เศรษฐ์ อัลยุฟรีทิ้งท้าย
ขณะที่ตัวแทนจากภาครัฐ อย่างนายเสรี ศรีหะไตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ที่ร่วมวงน้ำชาด้วย แสดงความเห็นว่า น่าจะเปลี่ยนชื่อจากสมาคมไทยมุสลิม พุทธ จีน จังหวัดปัตตานี เป็นสมาคมพี่น้องคนไทยปัตตานี ซึ่งเป็นที่ที่คน 3 เชื้อชาติศาสนาที่อาศัยอยู่ร่วมกันเป็นพี่น้องอยู่แล้ว
รวมทั้งเสนอให้มีตัวแทนจากทุกตำบลและให้รับเยาวชนเข้ามาเป็นสมาชิกด้วย เพื่อสร้างคนที่จะมาสานงานต่อ เนื่องจากเห็นว่า อนาคตของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขึ้นอยู่กับเยาวชนรุ่นปัจจุบัน
“ขอให้สมาคมไทยมุสลิม พุทธ จีน จังหวัดปัตตานี เป็นต้นแบบในการสร้างความเป็นปึกแผ่นของคนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านแนวคิดครอบครัวเดียวกัน สร้างความรู้สึกกลมเกลียวของคนปัตตานีและขยายไปสู่พื้นที่อื่นในสังคมต่อไป”
บรรยากาศริมคลองในพรุจงเปลือยยังเย็นสบาย เพราะโอบล้อมด้วยต้นไม้น้อยใหญ่กับร่องรอยสายฝนที่ตกกระหน่ำเมื่อกลางดึก เมื่อใกล้ถึงเวลาทำงาน แต่ละคนก็แยกย้ายกันไป โดยหวังว่า ความสัมพันธ์ต่างศาสนาและเชื้อสาย จะแนบแน่นกลมเกลียวดังเดิม
จิบน้ำชายามเช้า ทลายช่องว่างรัฐกับชาวบ้าน
นายนิพนธ์ อินทรสกุล นายอำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ในฐานะเจ้าภาพเลี้ยงน้ำชาเมื่อปลายปีที่ผ่านมา เปรียบเทียบงานเลี้ยงน้ำชานี้ เป็นเสมือนการลดช่องว่างระหว่างประชาชนกับราชการ
“สิ่งที่ยังแก้ไม่ตก คือ ความห่างเหินระหว่างข้าราชการกับประชาชน ซึ่งมันเกิดขึ้นโดยตัวมันเองโดยตัวระบบราชการที่ทำให้ประชาชนเข้าไม่ถึง ประชาชนยังรู้สึกว่าการเดินไปหาข้าราชการเป็นเรื่องยุ่งยาก”
นายนิพนธ์ พูดถึงข้อดีของวงน้ำชาว่า การให้ข้าราชการมานั่งจิบน้ำชากับชาวบ้าน จะทำให้รับรู้ปัญหามากขึ้น เพราะจะมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงปัญหาที่เกิดขึ้น นำมาสู่การถกแถลงถึงทางแก้ไปด้วย ข้อมูลที่ได้ก็จะมีผู้นำไปสานต่อและปัญหาได้ถูกจุดเร็วขึ้น
“บางครั้งบางปัญหาที่ดูเหมือนเล็กมาก กลับกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โต ถ้าไม่คุยกัน เช่น ความขัดแย้งระหว่างพี่น้องพุทธกับมุสลิม ที่อาจเริ่มต้นมาจากปัญหาส่วนตัว แต่กลายเป็นความขัดแย้งระหว่างสองศาสนาไป ถ้าไม่คุยทำความเข้าใจกันก่อน”
อำเภอโคกโพธิ์ โชคดีที่ยังรักษาความสัมพันธ์ระหว่างกันได้ เพราะมีพื้นที่ที่ให้ทั้งสองฝ่ายมานั่งคุยกัน และผู้ใหญ่ของทั้งสองศาสนาก็ร่วมมือกัน ปัญหาจึงไม่มีโอกาสขยายกว้างออกไป
กิจกรรม “จิบน้ำชายามเช้า” ทุกวันอังคารแล้ว ไม่ได้จบไปเพียงแค่แต่ละคนแยกย้ายกันไป หากแต่ยังมีกิจกรรมครื้นเครงยามเย็นเดือนละครั้งด้วย เป็นกิจกรรมกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกันอีกกิจกรรมหนึ่งด้วย