การปฏิวัติที่ไม่เสียเลือดเนื้อในปี 2475 ทำให้ประเทศสยามสามารถล้มเลิกระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่มี อายุนับร้อยปีแล้วแทนที่ด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีรัฐธรรมนูญได้สำเร็จ ในฐานะที่เป็นประเทศเดียวในภูมิภาคนี้ที่ไม่เคยตกเป็นอาณานิคม (อย่างเป็นทางการ) ของมหาอำนาจตะวันตก สิ่งนี้เองที่ทำให้สยามมีความภาคภูมิใจในอิสรภาพเป็นอย่างมาก นักประวัติศาสตร์ฝ่ายอนุรักษ์นิยมส่วนใหญ่เห็นว่าเกียรติยศของสยามประเทศดัง กล่าวล้วนได้มาด้วยพระปรีชาสามารถและวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของบูรพกษัตริย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (2411 - 2453) ซึ่งปกครองราชอาณาจักรในช่วงที่กระแสการล่าอาณานิคมในเอเชียตะวันออกเฉียง ใต้ขึ้นสู่จุดสูงสุด กลยุทธ์อันแยบคายในการบริหารความสัมพันธ์กับมหาอำนาจนอกราชอาณาจักรของ พระองค์นั้นได้รับการยกย่องสรรเสริญเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม พระปรีชาสามารถที่ยากจะหาผู้เปรียบได้ของพระองค์กลับก็ไม่สามารถรับประกัน ความยั่งยืนของระบอบราชาธิปไตยได้ เพียง 22 ปีหลังการสวรรคตของพระจุลจอมเกล้าฯ ประเทศไทยก็ได้พานพบกับการล่มสลายของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ในสองรัชสมัยถัดมาคือ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (2453-2468) และพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (2468-2478) ได้แสดงให้เห็นว่าไม่สามารถปรับตัวให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของสภาวการณ์ ทางการเมืองได้ จนถึงวันนี้เกือบ 80 ปีผ่านไปแล้วนับจากการล่มสลายของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แม้พระมหากษัตริย์ในรัชกาลปัจจุบันจะทรงประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงในการ ฟื้นฟูและเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับสถานภาพและพระราชอำนาจของสถาบัน กษัตริย์ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา แต่การแปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่รัฐประหารในปี 2549 นั้น ได้สร้างความสั่นคลอนให้กับสถาบันกษัตริย์ คำถามสำคัญจึงอยู่ที่ ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ สถาบันกษัตริย์จะสามารถพิสูจน์ให้เห็นถึงความยืดหยุ่น และที่สำคัญกว่าคือความยึดโยงกับสังคมไทยสมัยใหม่อยู่ต่อไปได้หรือไม่ ทั้งนี้ หากมองไปรอบๆ ตัวเราจะพบว่า ระบบราชาธิปไตยของหลายๆ ประเทศในโลกต่างประสบชะตากรรมในทำนองเดียวกันเพียงเพราะว่าไม่สามารถอยู่ ร่วมกับระบอบประชาธิปไตยได้
บทความนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่ออธิบายถึงบทบาทของสถาบันกษัตริย์ไทยต่อบริบท ทางการเมือง โดยต้องการคลายปมปัญหาสำคัญข้อหนึ่งที่ว่า : อะไรคือมรดกตกทอดของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และสิ่งนี้ได้หล่อหลอมวัฒนธรรมทางการเมืองไทยในหลายปีที่ผ่านมาอย่างไร เราอาจพูดได้ว่า ถึงแม้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จะได้ล่มสลายไปหลายทศวรรษ แล้ว แต่ยังคงมีผลกระทบครอบงำองคาพยพทางการเมืองไทยอย่างยิ่งยวด อาจถึงขนาดที่เป็นอุปสรรคต่อกระบวนการประชาธิปไตย และตอกย้ำให้ความแตกแยกทางการเมืองที่กำลังขยายตัวแตกร้าวหนักยิ่งขึ้น นี่คือหนึ่งในมูลเหตุเบื้องหลังความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงไม่ กี่ปีที่ผ่านมานี้ การก้าวขึ้นสู่อำนาจของ พตท ทักษิณ ชินวัตร ในปี 2544 ถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามต่ออมาตยชน วิธีหนึ่งที่ใช้จัดการกับภัยคุกคามนี้ได้คือการกล่าวหาว่าทักษิณกำเริบ เสิบสาน และไม่จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ในกระบวนการนี้ กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อจัดการกับฝ่าย ตรงข้ามและผู้มีความเห็นต่างทางการเมือง แต่การใช้สถาบันกษัตริย์เป็นเครื่องมือทางการเมืองนั้นกลับส่งผลในทางตรงกัน ข้าม กล่าวคือ ได้ส่งผลให้สถาบันกษัตริย์อ่อนแอลงอย่างมาก บทความนี้เสนอแนะว่า การจะรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ยืนยงสืบไปได้นั้น ฝ่ายราชานิยมต้องยินยอมพร้อมใจให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อย่างแท้จริง รวมถึงกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่มีความล้าหลัง กลุ่มราชานิยมจะต้องเลิกสมมติอย่างทึกทักไปเองฝ่ายเดียวว่า สถาบันกษัตริย์ยังได้รับความจงรักภักดี (โดยปราศจากคำถาม) จากคน ไทยทุกคน—ซึ่งนี่อาจจะไม่เป็นความจริงอีกต่อไปแล้ว
วิญญาณหลอนของสมบูรณาญาสิทธิราชย์
แม้ว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จะจบสิ้นไปนานแล้ว แต่อิทธิพลของระบอบนี้ยังคงมีอยู่อย่างท่วมท้นและทรงพลานุภาพยิ่ง หากมองย้อนกลับไป จุดประสงค์ดั้งเดิมของการเลิกล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นก็เพื่อยกเลิก รูปแบบการปกครองที่ถือว่าไม่มีอารยะ และเพื่อให้สยามรับแนวคิดการปกครองแบบประชาธิปไตย แต่ฝ่ายราชานิยมกลับตระหนักถึงความจำเป็นที่จะรักษาไว้ซึ่งลักษณะบางประการ ของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เพื่อช่วยปกป้องสถานะทางอำนาจที่พวกเขาเคยมี ปัจจุบัน มีมุมมอง 2 ด้านของสถาบันกษัตริย์ที่ขัดแย้งกันอยู่ –ซึ่งมุมมองเหล่านี้เป็นตัวกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์กับพสกนิกร ในด้านหนึ่งเป็นมุมมองแบบมาตรฐานทั่วไปต่อสถาบันกษัตริย์ ในด้านนี้จะเน้นให้เห็นถึงคุโณปการของสถาบันกษัตริย์ที่มีต่อประเทศ โดยหลักก็คือ การเป็นศูนย์รวมใจชาวไทยทั้งชาติและเป็นผู้ปกป้องบูรณภาพของแผ่นดิน จากงานวิจัยที่ชื่อ Saying the Unsayable: Monarchy and Democracy in Thailand (2010) ของ Soren Ivarsson และ Lotte Isager อธิบายว่า ในมุมมองแบบปกติทั่วไปนั้นกษัตริย์คือผู้ปกปักษ์รักษาทั้งจารีตประเพณี ชาติ และ ประชาธิปไตย; คือนักพัฒนาของคนไทยทุกหมู่เหล่าที่ทรงมีความเป็นสมัยใหม่ คอยให้คำแนะนำแก่รัฐบาล ให้ความดูแลทุกข์สุขแก่พสกนิกรของพระองค์ และเป็นสถาบันที่หล่อหลอมวัฒนธรรมการเมืองและสังคมไทยเฉกเช่นเดียวกับที่ “ข้าว”เป็นอาหารหลักของคนไทยมาช้านาน แต่ในขณะเดียวกันพระราชอำนาจอันทรงพลานุภาพที่ถูกปกป้องไว้ด้วยเกราะกำบัง ของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้น ก่อให้เกิดมุมมองอีกด้านหนึ่งต่อสถาบันกษัตริย์ ด้านนี้สะท้อนถึงความเชื่อที่ว่า พระราชอำนาจที่ยิ่งใหญ่อาจเป็นอุปสรรคต่อพัฒนาการทางประชาธิปไตย การยกย่องสรรเสริญพระราชอำนาจของฝ่ายราชานิยมอย่างล้นเกินนั้นถูกมองว่าอาจ เป็นการลดความสำคัญของสถาบันการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง กลุ่มราชานิยมได้ร่วมมือจากนักประวัติศาสตร์อนุรักษ์นิยมและสื่อที่ทรง อิทธิพลในการสร้างภาพด้านลบต่อสภาพการเมืองของไทย ซึ่งแปดเปื้อนไปด้วยนักการเมืองเลวร้ายและไร้ศีลธรรม สำหรับพวกเขาแล้ว ข้อบกพร่องของระบบการเมืองไทยไม่ได้เกิดจากการเข้ามาแทรงแซงของสถาบันอำนาจ นอกระบบรัฐสภา แต่เกิดจากการบรรดานักการเมืองที่ไร้ความรับผิดชอบและไร้จริยธรรมต่างหาก จากทัศนคติที่เชิดชูสถาบันกษัตริย์นี้ จุดจบของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จึงไม่ได้หมายถึงการจบสิ้นของ พระราชอำนาจของสถาบันกษัตริย์ ในทางตรงข้ามกลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมการเมืองแบบใหม่ซึ่งฝ่าย ราชานิยมได้อ้างสิทธิโดยธรรมในการเข้าแทรกแซงทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง เมื่อใดก็ตามที่พวกเขาเห็นว่ามีความจำเป็น แม้ว่าสิ่งที่พวกทำ (อาทิ การปกป้องผลประโยชน์ทางการเมืองของตน) นั้นอาจจะมีความเลวร้ายไม่น้อยไปกว่าสิ่งที่ฝ่ายตรงข้ามของพวกเขาทำก็ตาม วิญญาณของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จึงยังคงตามหลอกหลอนการเมือง ไทยตราบจนทุกวันนี้
ก่อนอื่น มีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องอธิบายให้กระจ่าง ณ จุดนี้ว่า เมื่อพูดถึง “สถาบันกษัตริย์” คำนี้ไม่ได้หมายความถึงพระมหากษัตริย์ พระราชินี หรือพระบรมวงศานุวงศ์ ในเชิงบุคคลแต่อย่างเดียว แต่คำนี้มีหมายความถึงองคาพยพทั้งหมดที่เกาะเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งหมายรวมถึง ราชนิกุล องคมนตรี (ที่ปรึกษาและผู้ปฏิบัติงานรับใช้เบื้องพระยุคลบาท) รวมถึงฝ่ายราชานิยมซึ่งได้ปวารณาตัวที่จะปกป้องสถาบันกษัตริย์ในทุกภาคส่วน ของสังคม เช่น กองทัพ หน่วยงานราชการ พรรคการฝ่ายเมืองฝ่ายราชานิยม และกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ด้วย กลุ่มราชานิยมนี้แม้ว่าจะมีจุดยืนร่วมกันในการรักษาไว้ซึ่งพลานุภาพของพระ ราชอำนาจ แต่ก็ไม่ได้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน พวกเขามีผลประโยชน์ มีแนวคิด มีมุมมองทางการเมืองที่แตกต่างกันออกไป ในงานวิจัยที่ชื่อ “Network Monarchy and Legitimacy Crisis in Thailand” ซึ่งจัดพิมพ์โดย Pacific Review ในปี 2548 ศ. Duncan McCargo นักวิชาการชาวอังกฤษได้เรียกองคาพยพทั้งหมดนี้ว่า “Network Monarchy” หรือ “เครือข่ายสถาบันกษัตริย์” McCargo เสนอว่าวิธีที่ดีที่สุดที่จะเข้าใจการเมืองไทยก็คือการมองผ่านมุมมองของ เครือข่ายอำนาจหลากหลายที่มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน มีการต่อรองอำนาจกัน หรือแม้แต่มีการขัดแย้งกันต่อกัน ซึ่งสำหรับเขาแล้ว ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมานี้ เครือข่ายอำนาจที่ทรงอิทธิพลที่สุดในประเทศไทยคือเครือข่ายสถาบันกษัตริย์ ซึ่งมีพระมหากษัตริย์อยู่บนส่วนยอดของเครือข่าย มีฝ่ายบริหารที่นำโดยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ อดีตผู้บัญชาการกองทัพและอดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งในปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานองคมนตรี อย่างไรก็ดี แม้แต่ก่อนที่จะมีการก่อตั้งเครือข่ายสถาบันกษัตริย์นี้ กลุ่มกษัตริย์นิยมในรุ่นก่อนได้มีความพยายามรักษาไว้ซึ่งมรดกของระบอบ สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ควบคู่ไปกับความต้องการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยรูปแบบใหม่ หรือที่เรียกว่าเป็นประชาธิปไตยแบบไทย (Thai-style democracy) ที่ยังวนเวียนอยู่รอบพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ หรือพูดให้ง่ายก็คือ แม้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จะสิ้นชีพไปแล้ว แต่คุณลักษณะหลายด้านของระบอบนี้ยังคงอยู่รอดปลอดภัย และได้รับการปกป้องรักษาไว้เป็นอย่างดี จากบทความเรื่อง “มรดกของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์” ของ ศ. ดร. ธงชัย วินิจจะกูล ที่ปรากฏในวารสารฟ้าเดียวกัน ได้กล่าวไว้ว่า จนถึงปัจจุบัน คตินิยมทางสังคมและทางการเมือง ความรู้ทางประวัติศาสตร์ ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ชุดความคิด และสถาบันพระมหากษัตริย์เองนั้น ต่างก็ฝังรากยึดโยงอยู่กับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม การสนับสนุนให้สถาบันกษัตริย์มีบทบาทเป็นแบบอย่างของวิถีชีวิตคนไทยนั้น เปรียบเสมือนดาบสองคมที่ส่งผลทางลบต่อพัฒนาการการเมืองของประเทศไทย
เนื่องจากการสรรเสริญเยินยอพระเกียรติและกระบวนการยกสถาบันให้มีความ ศักดิ์สิทธิ์เยี่ยงเทวราชอย่างไม่หยุดหย่อน ตลอดรัชสมัยของรัชกาลปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดสายใยที่แนบแน่นระหว่างสถาบันกษัตริย์กับสังคมและการเมือง ทำหน้าที่เสมือนราวกับว่าเป็น “เรือนจำ” ที่กักขังไม่ให้คนไทยสามารถแสดงความคิดเห็นที่ต่างไปจากกรอบคิดกระแสหลัก “การคิดนอกกรอบ” กลายเป็นสิ่งต้องห้ามเนื่องจากมันอาจคุกคามต่อสถานะของเครือข่ายสถาบัน กษัตริย์ คนที่ละเมิดข้อห้ามดังกล่าวมากมายถูกลงทัณฑ์ที่มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปีตามกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพซึ่งมีบทลงโทษรุนแรงที่สุดในโลก ซึ่งเป็นเรื่องน่าขันที่คุณจะพบการลงโทษแบบนี้เฉพาะในประเทศที่อ้างตัวเอง ว่าเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพ (“ประเทศไทย”มีความหมายตามตัวอักษรว่า “ดินแดนแห่งเสรีภาพ”) เท่านั้น กรอบดังกล่าวครอบคลุมตั้งแต่เรื่องสัพเพเหระไปจนถึงกฎเกณฑ์สำคัญ จากต้องยืนตรงในโรงภาพยนตร์เมื่อเพลงสรรเสริญพระบารมีบรรเลงขึ้น จนถึงการยืนตรงเคารพธงชาติทุกๆ 8 โมงเช้า และ 6 โมงเย็นเมื่อเพลงชาติถูกบรรเลงออกอากาศ ที่สำคัญที่สุดก็คือ ประชาชนจักต้องไม่แสดงการขัดขืนหรือต่อต้านเมื่อต้องเผชิญกับการแทรกแซงทาง การเมืองอย่างโจ่งแจ้งของฝ่ายราชานิยมที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพ ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ล่มสลายลงแล้วแต่กลุ่มราชานิยมและกลุ่มชนชั้นสูง สามารถเอาตัวรอดได้อย่างปลอดภัย ซึ่งหนึ่งในกลยุทธ์การเอาตัวรอดของคนกลุ่มนี้คือการสร้างความเชื่อที่ว่า ประเทศชาติจำเป็นต้องเลือกรับเฉพาะแนวคิดที่เหมาะสมกับประเทศเท่านั้น โดยเฉพาะแนวคิดที่มีต้นกำเนิดจากต่างชาติ แนวคิดจากชาติตะวันตก เช่นว่า ประชาธิปไตยนั้นจะต้องถูกนำมาปรับเปลี่ยนให้เข้ากับความเชื่อ วัฒนธรรม ชุดความคิด และขนบธรรมเนียมประเพณีของท้องถิ่นดั้งเดิม ไม่อย่างนั้นแล้วประเทศไทยจะสูญเสียเอกลักษณ์ที่เรียกว่า “ความเป็นไทย” แต่เราต้องตั้งข้อสังเกตว่า หลักการเรื่องความเป็นไทยนี้ที่เป็นส่วนหนึ่งขององค์ประกอบหลักของประเทศไทย ได้แก่ ชาติ ศาสนาพุทธ และพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นวาทกรรมที่ได้รับการสร้างขึ้นครั้งแรกในรัชกาลพระมงกุฎเกล้าฯ นั้น ก็ถูกใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมืองมาตลอด โดยเฉพาะในการอนุรักษ์ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ให้ยืนนานต่อไป
เหล้าเก่าในขวดใหม่
หลังจากยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์มานั้น ไทยประกาศใช้การปกครองแบบประชาธิปไตย แต่ก็เป็นประชาธิปไตยแค่เปลือกนอกเท่านั้น แก่นแท้ในนั้นยังคงมีอุดมการณ์แบบกษัตริย์นิยมฝังไว้ต่างจากภาพที่เห็นจาก ภายนอก นี่คือสิ่งที่คนไทยส่วนมากเรียกว่า “ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” กล่าวคือ แม้จะมีรูปแบบที่เป็นประชาธิปไตยแต่ฝ่ายราชานิยมก็ยังคงมีบทบาทสำคัญในทาง การเมือง ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้นได้ถูกนฤมิตขึ้นให้สอดรับ กับทัศนะของคนกรุงเทพฯ เป็นหลัก รวมถึงการสร้างประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยม และความเชื่อที่ว่าพุทธศาสนาคือศาสนาประจำชาติ โดยความเชื่อเหล่านี้ ล้วนมีสถาบันกษัตริย์เป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ ทำหน้าที่ผูกโยงชุด ความคิดที่ต้องการให้ประชาชนยอมรับอย่างไม่มีเงื่อนไข ผลที่ตามมาก็คือ ฝ่ายราชานิยมประสบความสำเร็จเบื้องต้นในการสร้างรัฐไทยที่เป็นหนึ่งเดียว (unitary state)ซึ่งให้ความสำคัญกับสถาบันกษัตริย์อย่างท่วมท้น ยกตัวอย่างเช่น บทบาทของกษัตริย์ในการปกป้องอิสรภาพและอธิปไตยของชาติ ที่ได้ถูกปลูกฝังในจิตสำนึกของประชาชน มีการสรรเสริญบูรพกษัตริย์ในอดีตอย่างไม่หยุดหย่อนในเรื่องพระปรีชาสามารถใน การปกป้องผืนแผ่นดิน ไทย (และมักใช้เป็นข้ออ้างในการขับไล่ผู้ไม่เห็นด้วยทางการเมืองออกจากประเทศ ด้วยเหตุของการ “เนรคุณ” บูรพกษัตริย์) ดังนั้น บ่อยครั้งที่กลุ่มราชนิยมได้กระตุ้นให้เกิดกระแสชาตินิยม โดยการเน้นย้ำถึงการสูญเสียในดินแดนบางส่วนที่เชื่อว่าเคยเป็นผืนแผ่นดินไทย ทั้งๆ ที่ในความจริงนั้น วาทกรรมเรื่องการเสียดินแดนจะเป็นเพียงมายาคติ ชุดความคิดนี้ไม่เพียงแต่กระตุ้นให้เกิดกระแสชาตินิยมอย่างรุนแรง แต่ยังรวมถึงกระแสราชานิยมด้วย ถึงระดับที่ว่า ประชาชนต้องพร้อมที่จะยอมสละชีพเพื่อปกป้องชาติและสถาบันพระมหากษัตริย์ ด้วยปรัชญาเหล่านี้เอง จึงทำให้ไม่เหลือพื้นที่ให้กับประชาชนที่มีความคิดต่าง โดยเฉพาะกลุ่มที่ตั้งคำถามถึงบทบาทที่แท้จริงของสถาบันกษัตริย์ในการเมือง ไทย
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา กระบวนการยกย่องสรรเสริญสถาบันพระมหากษัตริย์ได้เพิ่มความเข้มข้นขึ้นจนถึง ระดับที่น่าเป็นกังวลใจ พระมหากษัตริย์ได้กลายเป็นมากกว่าประมุขของประเทศ โดยถูกยกให้กลายเป็นเสมือนเทพเจ้าที่ใครจะล่วงละเมิดมิได้ ในขณะเดียวกันก็มีภาพลักษณ์อีกด้านหนึ่งของของการเป็น “พ่อของแผ่นดิน” ภาพลักษณ์ในด้านนี้ได้ปรากฏอย่างชัดเจนในช่วงต้นของรัชสมัยปัจจุบัน เมื่อพระมหากษัตริย์เสด็จฯ เยือนเกือบทุกแห่งหนตำบลในประเทศนับครั้งไม่ถ้วน โดยทรงมุ่งหวังจะสร้างความผูกพันกับพสกนิกรของพระองค์ อาจเรียกได้ว่า ไม่มีรัฐบาลไหนที่จะสามารถเทียบทันสถาบันกษัตริย์ได้ในการเอาชนะใจปวงชน พิสูจน์ได้จากการที่ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อมั่นเสมอว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นคำตอบสุดท้ายในทุกวิกฤติการณ์ของชาติ แต่ความขัดแย้งระหว่างภาพลักษณ์สองด้านข้างต้นทำให้เกิดความสับสนยิ่ง แม้ว่าพระมหากษัตริย์จะมีพระราชประสงค์ในการสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ พสกนิกรมากเท่าใด แต่ภาพลักษณ์ด้านที่เป็นเสมือนเทวราชากลายมาเป็นกำแพงกั้นกลางระหว่าง กษัตริย์กับพสกนิกรอยู่เสมอ ธรรมเนียมปฏิบัติเก่าแก่ไร้อารยะมากมายได้ถูกรื้อฟื้นขึ้น อาทิ การหมอบคลาน เป็นต้น เป็นเรื่องน่าคิดที่ว่า การหมอบคลานนี้ได้ถูกยกเลิกมาตั้งแต่ปี 2416 ในสมัยพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ พระอัยกาของรัชกาลปัจจุบัน ซึ่งทรงเห็นว่าการปฏิบัติดังกล่าวเป็นเรื่องป่าเถื่อนและล้าสมัย การฟื้นฟูธรรมเนียมเหล่านี้นับว่าเป็นความประสงค์ให้มีการยกสถานะของพระมหา กษัติรย์ในลักษณะของการเป็นเทวาธิราช มากกว่าการเป็นธรรมราชาธิราช สถานะที่แตกต่างนี้มีความซับซ้อนยิ่งเมื่อมีการพิจารณาถึงบทบาทของกษัตริย์ ในบริบททางการเมือง เกี่ยวกับเรื่องนี้ นาย Paul Handley ผู้เขียนหนังสือเรื่อง The King Never Smiles ได้ตั้งข้อสังเกตว่า การที่ฝ่ายราชานิยมมีบทบาทเด่นในประวัติศาสตร์การเมืองไทยอย่างต่อเนื่องมา โดยตลอด ทำให้ดูเสมือนราวกับว่า พระมหากษัตริย์ลงมาเป็นผู้เล่นในเกมการเมืองเสียเอง และก่อให้เกิดคำถามต่อความเข้าใจที่ว่า สถาบันกษัตริย์อยู่เหนือการเมืองจริงหรือไม่ เมื่อใดก็ตามที่สถาบันกษัตริย์ถูกดึงเข้ามาสู่พื้นที่สาธารณะในบทบาทของการ เป็นตัวแสดงทางการเมือง ก็ย่อมนำไปสู่ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางอำนาจ (conflict of interest) หากมองเช่นนี้ เมื่อใดก็ตามที่ไทยมีรับบาลที่เข้มแข็ง ก็มักถูกมองว่าเป็นภัยต่อสถาบันกษัตริย์ นับตั้งแต่ทักษิณ สมัคร สมชาย และอาจรวมถึงยิ่งลักษณ์ ดังที่กล่าวข้างต้น หนทางหนึ่งของการกำจัดภัยเหล่านี้คือการใช้มาตรา 112 ในการห้ำหั่นคู่ต่อสู้ ตามสถิตินั้น ในปี 2548 มีคดีที่เกี่ยวกับกฏหมายหมิ่นฯ ขึ้นสู่ศาลชั้นต้นทั้งสิ้น 33 คดี ซึ่งได้รับการยกฟ้องในเวลาต่อมา 18 คดี ในปี 2550 จำนวนคดีเพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่าเป็น 126 คดี และยังเพิ่มขึ้นเป็น 164 คดีในปี 2552 ก่อนจะเพิ่มขึ้นอีกสามเท่าตัวเป็น 478 คดีในปี 2553 ช่วงเวลาที่จำนวนคดีดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจอยู่ภายใต้รัฐบาลของพรรค ประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ(2551-2554) จากการศึกษาของ ดร. David Streckfuss นักวิชาการชาวอเมริกันพบว่าอาจมีผู้ถูกจำคุกเนื่องจากคดีหมิ่นฯ เหล่านี้รวมแล้วนับหลายราย
ความ พยายามที่จะสร้างความมั่นคงเข้มแข็งให้กับสถาบันกษัตริย์ส่วนมากนับเป็นผล งาน ของฝ่ายราชานิยม แต่จำนวนไม่น้อยก็เป็นผลอันเนื่องมาจากพระราชกรณียกิจของพระองค์เอง โดยเฉพาะในฐานะของกษัตริย์นักพัฒนาผู้มีบทบาทอย่างสูงกับสังคมไทย ในงานวิจัยล่าสุดเกี่ยวกับราชานิยมล้นเกิน (hyper-royalists) ที่ชื่อ “The Monarchy and Anti-Monarchy: Two Elephants in the Room of Thai Politics” ดร. ธงชัยได้กล่าวถึงการกลับมาของลัทธิราชานิยมในฐานะวัฒนธรรมสาธารณะว่า การเพิ่มขึ้นของความนิยมต่อพระมหากษัตริย์จะเห็นได้ชัดในช่วงหลังการจราจลใน ปี 2516 โดยความนิยมนี้ตั้งอยู่บนความเชื่อที่ว่า สถาบันกษัตริย์ได้มีส่วนเข้ามายุติวิกฤตการณ์ทางการเมืองในครั้งนั้น รวมถึงครั้งต่อมาในปี 2535 ด้วย นอกจากนี้ สถานการณ์การเมืองในภูมิภาคก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้สถาบันกษัตริย์เข้ามา มีบทบาทสำคัญทางการเมือง โดยในช่วงที่แนวคิดระบอบคอมมิวนิสต์กำลังแพร่กระจายทั้งในและนอกเขตแดนไทย สถาบันกษัตริย์ได้เข้ามามีส่วนสำคัญในการกำหนดยุทธศาสตร์การต่อสู้กับขบวน การคอมมิวนิสต์ แม้กระทั่งหลังจากที่สงครามเย็นจบสิ้นลงแล้ว ขณะที่รัฐบาลหลายชุดถูกโค่นล้มจากกระดานการเมือง แต่ตำแหน่งและสถานะของสถาบันกษัตริย์กลับมีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้นมาโดยตลอด การเข้ายุติจลาจลในปี 2535 เปรียบเสมือน “trophy” อีกชิ้นหนึ่งของสถาบันกษัตริย์ในฐานะของผู้รักษาเสถียรภาพให้กับระบบการ เมืองไทย จึงเห็นได้ชัดว่าเป้าหมายของฝ่ายราชานิยมนั้นยากที่แยกออกจากการเมือง แต่คำถามสำคัญก็คือ ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนี้เหมาะสมกับประเทศไทย มากน้อยเพียงใด (Does it really work?) จากที่ได้ย้ำไปข้างต้นว่า มีลักษณะหลายด้านของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ได้รับการปลูกฝังให้เข้ากับ ระเบียบการเมืองแบบใหม่ในปัจจุบัน แต่ในความเป็นจริง ลักษณะเหล่านั้รไม่สามารถอยู่ร่วมกับคุณค่าสมัยใหม่ของระบอบประชาธิปไตย นำไปสุ่ความขัดแย้งทางด้านกรอบความคิด อาทิ ความขัดแย้งระหว่างอำนาจของพระมหากษัตริย์และอำนาจที่มาจากเสียงข้างมากของ ประชาชน (Royal power VS Popular mandate) ดร. ธงชัยเห็นว่าที่จริงแล้ว คำว่าประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนี้มันเป็นคำปฏิพจน์ที่มี ความหมายขัดแย้งในตัวเอง (oxymoron) เหมือนกับหลุมดำขนาดใหญ่ที่จะดูดกลืนระบบการเมืองทั้งหมดเข้าไปในตัวมัน
ปรากฏการณ์ “ตาสว่าง”
ช่วงก่อนและหลังรัฐประหารในปี 2549 ได้เกิดปรากฏการณ์บางอย่างที่ส่งผลกระทบต่อมรดกของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ทางการเมือง และได้เริ่มส่งสัญญาณของ “การเสื่อมความนิยมของแนวคิดราชนิยม” ออกมา ความเสื่อมนี้เกิดมาจากน้ำมือของกลุ่มราชานิยมเอง ตัวอย่างเช่น กรณีที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) หรือกลุ่มเสื้อเหลืองนิยมเจ้า ออกมาเคลื่อนไหวบนท้องถนนและใช้สัญลักษณ์ที่เชื่อมโยงกับสถาบันกษัตริย์มา เป็นเครื่องมือในการโค่นระบอบทักษิณ คำขวัญอย่างเช่น “สู้เพื่อในหลวง” ได้ถูกนำมาใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับเป้าหมายทางการเมืองของกลุ่ม พันธมิตรฯ เหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นว่า ความท้าทายที่แท้จริงต่อมรดกตกทอดของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่ใช่การ เคลื่อนไหวของทักษิณ หรือจากฝ่ายที่ถูกเรียกว่าเป็นพวกต่อต้านสถาบันแต่อย่างไร แต่กลับกลายเป็นกลุ่มพวกราชาชาตินิยมล้นเกิน (Hyper-Royalists) เสียเองต่างหาก พวกเขาได้ยังคงปฏิเสธที่จะเผชิญหน้ากับความจริงใหม่ๆ ทางการเมือง ฤาประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยอีกครั้ง? ความไม่สามารถของสถาบันพระมหากษัตริย์ (และเครือข่ายพระมหากษัตริย์) ที่จะปรับตัวให้ทันกับกับความ เปลี่ยนแปลงของสภาวการณ์ทางการเมืองเป็นสาเหตุเดียวกันของการล่มสลายของ ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในปี 2475 จะต่างกันบ้างก็ที่การเสื่อมถอยในวันนี้ถูกเร่งเครื่องด้วยปรากฏการณ์ล่าสุด ทางการเมืองไทยที่เรียกว่า ปรากฏการณ์ “ตาสว่าง” สรุปโดยสั้น “ตาสว่าง” เป็นปรากฏการณ์ที่คนไทยจำนวนมากตระหนักและเข้าใจว่าประเทศไทยไม่เคยก้าวข้าม ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างแท้จริง ในขณะเดียวกันระบอบประชาธิปไตยของเราก็ได้ถูกตีรวนมาโดยตลอด หากสถาบันกษัตริย์ต้องการแสดงบทบาททางกาเมือง ประชาชนก็ควรจะมีสิทธิ์ในการวิพากษ์วิจารณ์และตรวจสอบบทบาทเหล่านั้น การขยายตัวของกระแส “ตาสว่าง” ดังกล่าวไม่ว่าจะในที่ลับหรือที่แจ้ง จะชักนำให้มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์มากขึ้น เสียงของผู้วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ดังกึกก้องขึ้น ชัดเจนขึ้น ยิ่งกว่าช่วงเวลาใดในประวัติศาสตร์ไทยในอดีต
ในการวิเคราะห์เรื่องบทบาทของสถาบันกษัตริย์นั้น การสืบสันตติวงศ์ย่อมเป็นประเด็นสำคัญที่ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ บทความนี้ขอกล่าวส่งท้ายว่า กระบวนการยกย่องสรรเสริญพระเกียรติที่ขาดความพอเพียงในขณะนี้นั้น ไม่เพียงแต่จะเผยให้เห็นถึงความกังวลใจ (anxiety) ของกลุ่มราชานิยมที่พยายามจะยึดติดกับอดีตอันรุ่งโรจน์แล้ว ยังมีผลข้างเคียงต่อรัชกาลถัดไปที่จะต้องแบกรับความกดดันอันยิ่งใหญ่ ทางออกของวิกฤตการณ์นี้จึงขึ้นอยู่กับความเข้าใจของบุคคลในเครือข่ายสถาบัน กษัตริย์ต่อสถานการณ์การเมืองที่เป็นจริง และความยินยอมพร้อมใจที่จะปฏิรูปตัวเองโดยการยอมสละซึ่งมรดกตกยุคที่ตกทอดมา จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปให้ได้ในที่สุด
หมายเหตุ: บทความนี้แปลจากบทความภาษาอังกฤษของผู้เขียน: Pavin Chachavalpongpun, “Thailand: The Die-Hard Absolute Monarchy?”, Harvard International Review, Vol. 23, Issue 3 (24 December 2011)