นักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ เสนอกรอบเนื้อหารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ระบุหวังการปฏิรูปกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย ใช้รัฐธรามนูญ 3 ฉบับแรกของไทยเป็นรากฐานการวางร่างเนื้อหา
22 ม.ค.55 ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ นักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ เสนอกรอบเนื้อหารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดย วรเจตน์ ภาคีรัตน์ เป็นตัวแทนในการนำเสนอ โดยกล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญนี้เป็นการปฏิรูปกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย และรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะไม่ยาวมากนัก แต่เปิดโอกาสให้มีกฎหมายกำหนดรายละเอียดในแต่ละเรื่องเพื่อให้รัฐธรนรมนูญ ที่ทำขึ้นมีมีคุณค่าสูงสุด และสถาพรตลอดไป
รากฐานจากรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับแรก + รัฐธรรมนูญ 2540
จันจิรา เอี่ยมมยุรา กล่าวว่า กรอบเนื้อหาการร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวนั้น ใช้รัฐธรรมนูญ 3 ฉบับแรกเป็นกรอบในการยกร่างฯ และพิจารณานำรัฐธรรมนูญปี 2540 ในส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ สถาบันทางการเมืองและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐมาประกอบ
เหตุผลที่นำรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับแรกมาเป็นกรอบนั้น เพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่วางรากฐานประชาธิปไตยของไทย คือธรรมนูญชั่วคราวปี 2475 ที่เป็นฉบับแรกนั้นบัญญัติว่า อำนาจสูงสุดเป็นของราฎรทั้งหลาย เป็นการปักหมุดลงไปวางรากฐานว่าอำนาจสูงสุดซึ่งเดิมนั้นเป็นของกษัตริย์ บัดนี้ได้ถูกถ่ายโอนมาสู่ประชาชน
ก่อนหน้า 2475 เราไม่เคยมีแนวคิดที่จะถ่ายโอนอำนาจมาเป็นของประชาชน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ไม่ได้มีแนวคิดที่จะถ่ายโอนอำนาจให้แก่ประชาชนด้วยพระองค์เอง หลักฐานนี้ปรากฏอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่พระบาทสมเด็จพระปกเกหล้าฯ ได้โปรดฯ ให้พระยากัลยาณไมตรี ร่างรัฐธรรมนูญฯ ซึ่งเขียนเอาไว้ว่าอำนาจสูงสุดตลอดทั่วราชอาณาจักรเป็นของกษัตริย์ นี่คือหลักฐานว่ากษัตริย์ในรัชกาลนั้นยังคงสงวนอำนาจสูงสุดไว้เป็นของสถาบัน กษัตริย์ แต่รัฐธรรมนูญปี 2475 เป็นการถ่ายโอนอำนาจดังกล่าวมาสู่ประชาชน
สำหรับรัฐธรรมนูญฉบับ 2 คือรัฐธรรมนูญปี 2475 เป็นฉบับที่ระบุว่าสถาบันกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ได้กล่าวว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้สถาปนารัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย สยามเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวที่แบ่งแยกไม่ได้ เป็นการยอมรับหลักราชารัฐ คือรัฐนั้นมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
นี่เองที่เป็นการประกาศระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เพราะหลังจากนั้นพระมหากษัตริย์จะไม่มีอำนาจในการตรากฎหมายลำพังโดยพระองค์ เอง แต่ต้องทำโดยการแนะนำและยินยอมขององค์กรที่ใช้อำนาจแทนราษฎร
ในรัฐรรมนูญฉบับที่ 3 คือ รัฐธรรมนูญปี 2489 เป็นการสถาปนาระบบสองสภา ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เป็นการแสดงรูปธรรมของหลักการที่รัฐธรรมนูญฉบับแรกและฉบับที่สองประกาศเอา ไว้ โดยกำหนดให้สภาผู้แทนและพฤฒิสภามาจากการเลือกตั้ง
สำหรับรัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นการสถาปนาโดยระบอบสภาผู้แทนและผสมผสานประชาธิปไตยโดยตรงด้วย คือให้ประชาชนสามารถเสนอแก้ไขกฎหมายได้ และเป็นผู้ตัดสินใจชี้ขาดบางประเด็น เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นต้น
สำหรับรัฐธรรมนูญฉบับนิติราษฎร์เลือกประกาศคณะราษฎร์เป็นจิตวิญญาณของรัฐ ธรรมนูญ เพราะว่า เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2475 คณะราษฎร์ได้อ่านประกาศ 6 ประการ ซึ่งข้อ 4 คือ ให้ประชาชนมีสิทธิเสมอภาคกัน ไม่ใช่เจ้ามีสิทธิเหนือกว่า เป็นการลงหลักปักฐานหลักความเสมอภาคเบื้องหน้ากฎหมาย และหลักความเสมอภาคนี้เองเป็นรากฐานของรัฐธรรมนูญทุกฉบับ
สำหรับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนนั้นเป็นการรับรองสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นหลักรัฐธรรมนูญทั่วไป เพราะไทยได้ลงนามรับรองแล้ว
ในส่วนของประเด็นเนื้อหาของรัฐธรรมนูญนั้น จันทจิรา กล่าวว่า การร่างรัฐธรรมนูญฉบับนิติราษฎร์จะเป็นการนำกลับมาซึ่งเจตจำนงของคณะราษฎร์ ซึ่งจะเริ่มต้นในโอกาสครบรอบ 80 ปีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475
ประเด็นสถาบันกษัตริย์ ถึงเวลาพูด ควรจะต้องพูด
วรเจตน์กล่าวว่า หลังจากฟังข้อเสนอแล้ว เหมือนนิติราษฎร์เปิดแนวรบ 10 ทิศจะไปไหวหรือ ซึ่งเขากล่าวว่า จะเป็นการดีหากเปิดให้กลุ่มทางสังคมได้แสดงจุดยืน และหากเห็นด้วยกับนิติราษฎร์ก็จะห็นว่าข้อเสนอนั้นเป็นการแก้ปัญหาเหมือนผ่า ตัดใหญ่ ซึ่งถ้าไม่ทำแบบนี้ก็แก้ปัญหาไม่ได้
เขากล่าวถึงข้อกล่าวหาเรื่องล้มเจ้า หรือล้มสถาบันที่หลายคนพยายามโยนข้อกล่าวหาเพื่อทำลายการเคลื่อนไหวทางความ คิดของนิติราษฎร์ ซึ่งเขาระบุว่าขอให้ฟังให้เข้าใจ โดยเฉพาะสื่อมวลชนที่มองนิติราษฎร์เป็นศัตรูว่า รัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็นรัฐธรรมนูญในราชอาณาจักร ไม่ใช่การเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐ ดังนั้นเลิกการกล่าวหาดังกล่าวได้แล้ว แต่แม้จะเป็นราชอาณาจักร ก็ต้องมีการปฏิรูปให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ตามระบอบประชาธิปไตย ทั้งนี้ แม้จะมีความเข้าใจ หรือการบัญญัติว่ารัฐธรรมนูญหมวดพระมหากษัตริย์นั้นห้ามแตะต้อง แต่หมวดดังกล่าวกลับถูกแตะต้องมาโดยตลอด เช่น ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ก็มีการแก้ไขในหมวดดังกล่าว
“บางเรื่องควรพูดกัน เมื่อถึงเวลาก็ควรจะพูด แล้วเปิดใจฟังกันว่าแต่ละฝ่ายมีเหตุผลอย่างไร เพื่อให้สถาบันกษัตริย์ดำรงอยู่และสอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยต่อไป” วรเจตน์กล่าว
อีกประการคือ ความชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตยขององค์กรตุลาการ วรเจตน์กล่าวว่า มีการให้ผู้พิพากษาศาลสูงเสนอโดย ครม. โดยรายละเอียดในทางกฎหมายจะมีกระบวนการเพื่อสร้างความชอบธรรมมาเป็นตัวกำหนด และตัวพิพากษาในศาลสูงควรเป็นแบบสากลคือไม่ควรจะมีจำนวนมากเกินไป
การรัฐประหารและการต่อต้านการรัฐประหาร
ปิยบุตร แสงกนกกุล อธิบายถึงเนื้อหาร่างฯ ดังกล่าวว่า มีการกำหนดให้ประมุขของรัฐต้องสาบานตนว่าจะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและพิทักษ์ ไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญก่อนเข้ารับตำแหน่ง ประการที่หนึ่งเพื่อเป็นสัญลักษณ์ แสดงให้เห็นว่าสถาบันกษัตริย์ในฐานะเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ ถือเป็นองค์กรภายใต้รัฐธรรมนูญ จึงต้องแสดงความเคารพในรัฐธรรมนูญ อีกประการหนึ่งคือ กษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐที่เป็นศูนย์รวมจิตใจคนในชาติ จึงมีหน้าที่ที่ต้องพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญ
“ในประเทศที่เป็นราชอาณาจักร และเป็นประชาธิปไตยทั่วโลกมีบทบัญญัติเช่นนี้ทั้งสิ้น” เขากล่าวและว่าสังคมไทยเคยพูดเรื่องนี้มาแล้วใน พ.ศ. 2475 แต่สังคมไทยถูกทำให้ลืม จึงต้องรื้อฟื้น
สำหรับหลักรัฐบาลพลเรือนเหนือทหารนั้น รัฐสภาต้องมีกรรมาธิการชุดหนึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบกองทัพทั้งในแง่งบประมาณและ รักษาสิทธิและหน้าที่ให้ทหารชั้นผู้น้อย
อีกประเด็นหนึ่งคือเรื่องสิทธิหน้าที่ของทหารชั้นผู้น้อยในการปฏิเสธคำ สั่งที่ละเมิดรัฐธรรมนูญ ซึ่งสามารถนำสิทธิที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนุญยกขึ้นต่อสู้กับคำสั่ง ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ส่วนประเด็นสุดท้ายคือ การต่อต้านการแย่งชิงอำนาจสูงสุดของประชาชน ซึ่งคณะนิติราษฎร์ได้เสนอมาตลอด และแม้รัฐรรมนูญที่ผ่านมาจะมีการเขียนถึงสิทธิในการต่อต้านรัฐประหาร แต่ต้องทำโดยสันติวิธี เขากล่าวว่าประเทศกรีซมีการรัฐประหารบ่อยมาก ล่าสุดมีการเขียนในรัฐธรรมนูญว่าประชาชนมีสิทธิและหน้าที่ในการต่อต้านการ แย่งชิงอำนาจสูงสุดของประชาชน ซึ่งการต่อต้านนี้คือ “ทุกวิธีการ” หลังการบัญญัติเช่นนี้ กรีซไม่มีการรัฐประหารอีกเลย เขากล่าวว่าแนวคิดเช่นนี้ หากนำมาปรับใช้กับไทยก็น่าจะได้ผลเช่นกัน
วรเจตน์กล่าวเสริมว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันให้ประชาชนต่อต้านได้โดยสันติวิธี แต่เขาเห็นว่าในบรรยากาศของการแย่งชิงอำนาจนั้น การเรียกร้องให้ประชาชนใช้สันติวิธีเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็น
“คือการต่อต้านรัฐประหารทุกวันนี้ ท่านต้องไปกราบคนทำรัฐประหาร หรือไปทำสมาธิหน้ารถถังเพราะถ้าท่านใช้วิธีอื่นมันไม่สันติวิธี ผมแปลกใจมากเลยว่าทำไมเวลาจะต่อต้านอะไรแบบนี้คุณเรียกร้องสันติวิธี ถึงตอนนั้นมันเป็นการแย่งชิงอำนาจ ถึงเวลานั้นประชาชนทุกคนมีหน้าที่และสิทธิในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญเอาไว้ ไม่จำเป็นต้องสันติวิธี” วรเจตน์กล่าว
ท้ายสุด วรเจตน์กล่าวถึงการโจมตี การกล่าวร้ายนคณะนิติราษฎร์ว่ามีมาอย่างต่อเนื่อง เรื่องแรกคือ เรื่องการรับเงิน หรือการได้ผลประโยชน์จากอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
“หลายคนที่โจมตีนั้นใช้จิตใจของเขาประเมินจิตใจของเรา เราทุกคนที่เป็นนิติราษฎร์นั้นมีศักดิ์ศรี เรามุ่งหวังอย่างเดียวอยากให้ประเทศเป็นนิติรัฐและเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้ จริง”
เขากล่าวว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวปัจจุบันแทบไม่มีแล้ว เพราะไม่มีมูลความจริง แต่ถูกยกระดับไปอีกชั้นหนึ่งคือ เรื่องทางความคิด
“สังคมนี้กำลังมีผู้วิเศษเข้าไปในสมองของเรา แล้วบอกว่ารู้นะ คิดอะไรอยู่ บางคนอ้างว่ารู้จักนิติราษฎร์ดี การที่เขาพูดแบบนั้นคือการที่เขาไม่รู้ว่าเราเป็นอย่างไร นี่คือความพยายามที่จะดิสเครดิต ใช้วิธีการแบบนี้มาทำลาย และมีการพูดจาไปต่างๆ นานา ซึ่งเป็นเท็จ เป็นการพูดมุสา แต่สังคมไทยเราก็อยู่กับความเท็จมานานหลายปีแล้ว ผมไม่มีปัญหากับใครเลย กับสื่อมวลชน หรือเพื่อนร่วมวิชาชีพ ใครจะตั้งกลุ่มอะไรตามไม่มีปัญหา แต่ขอให้สู้กันแบบแฟร์ๆ ทางความคิด อย่าทำร้ายกันด้วยวิธีการอันสกปรกต่างๆ ที่พยายามทำกันมาโดยตลอด”
วรเจตน์กล่าวว่า อีกประเด็นคือ นี่เป็นครั้งแรกที่เป็นการจัดงานที่หอประชุมเล็ก จากเดิมที่จัดที่คณะนิติศาสตร์ซึ่งไม่มีค่าใช้จ่าย แต่วันนี้ย้ายมาจัดที่หอประชุมเล็ก เพราะทางคณะแจ้งว่าไม่สะดวกให้ใช้สถานที่เนื่องจากเกรงจะเสียงดังรบกวนการ เรียนการสอน การย้ายสถานที่มีค่าใช่จ่าย แต่นิติราษฎร์จะยังไม่รับเงินบริจาคจากใครทั้งสิ้น ไม่ใช่เพราะร่ำรวย แต่อยากให้งานที่ทำเป็นกิจกรรมที่บริสุทธิ์ในทางวิชาการ จนถึงวันนี้ยังมีกำลังพอที่จะทำกันได้ และจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง
กรอบเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับนิติราษฎร์
กรอบเนื้อหาโดยสังเขปของรัฐธรรมนูญตามความคิดของคณะนิติราษฎร์ มีดังต่อไปนี้
รัฐธรรมนูญและเอกสารทางการเมืองที่ใช้เป็นพื้นฐานของการจัดทำรัฐธรรมนูญ
- พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 และอาจนำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 254๐ ในส่วนของการประกันสิทธิและเสรีภาพ ตลอดจนโครงสร้างสถาบันการเมืองและองค์กรทางรัฐธรรมนูญเท่าที่สอดคล้องกับ พัฒนาการในยุคร่วมสมัย
- ประกาศคณะราษฎร
- ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declarati0n 0f Human Rights) ลงวันที่ 1๐ ธันวาคม 1948 ของสหประชาชาติ
คำปรารภของรัฐธรรมนูญ
- การอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน 2475
- ความเลวร้ายของรัฐประหารอันก่อให้เกิดวงจรอุบาทว์ในการเมืองไทย
- การหวนกลับไปหาเจตนารมณ์ของคณะราษฎร และอุดมการณ์ประชาธิปไตยแบบคณะราษฎร
- ประกาศหลักการพื้นฐานของราชอาณาจักรไทย
ประเด็นเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญฉบับนิติราษฎร์ มีวัตถุประสงค์เพื่อปฏิรูป “สถาบันกษัตริย์ – ศาล – กองทัพ –สถาบันการเมือง” ให้สอดคล้องกับประชาธิปไตยและนิติรัฐ ดังนี้
1. หลักราชอาณาจักร
- ประมุขของรัฐ คือ พระมหากษัตริย์
- ปฏิรูปกฎเกณฑ์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์
- จัดวางโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประมุขของรัฐกับองค์กรผู้ใช้อำนาจอื่นๆ
2. หลักประชาธิปไตย
- อำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของประชาชน
- อำนาจสูงสุดของประชาชนเป็นฐานแห่งอำนาจของระบบการปกครองประเทศและองค์กรผู้ใช้อำนาจทั้งหลาย
- เจตจำนงของประชาชนแสดงออกโดยการเลือกตั้งอย่างแท้จริงที่กำหนดให้มีขึ้น ตามระยะเวลาที่แน่นอน โดยทั่วไป โดยเสมอภาค โดยเสรี และโดยลับ
- เคารพเสียงข้างน้อย และเปิดโอกาสให้เสียงข้างน้อยสามารถกลับมาเป็นเสียงข้างมาก
3. หลักนิติรัฐ
- การปกครองโดยกฎหมายที่ยุติธรรม
- กฎหมายที่ใช้ปกครองประเทศต้องมาจากความเห็นชอบของผู้แทนประชาชนหรือประชาชนโดยตรง
- หลักการแบ่งแยกอำนาจ การประกันสิทธิเสรีภาพ
4. ความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ
- รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้
- กำหนดให้มีองค์กรควบคุมกฎหมายมิให้ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ
- หน้าที่ในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญของกษัตริย์
- กำหนดให้ประมุขของรัฐต้องสาบานตนว่าจะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและพิทักษ์ไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ ก่อนเข้ารับตำแหน่ง
5. ความเป็นรัฐเดี่ยวแบบกระจายอำนาจ
- ราชอาณาจักรไทยเป็นรัฐเดี่ยว แบ่งแยกมิได้
- รัฐต้องเคารพหลักการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น
6. หลักประกันสิทธิและเสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
- กำหนดให้สิทธิและเสรีภาพที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญนั้นมีผลโดยตรง และผูกพันองค์กรผู้ใช้อำนาจรัฐทั้งปวง
- รับรองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเสมอภาค และสิทธิและเสรีภาพ ตลอดจนสิทธิมนุษยชนที่รับรองไว้ในกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นรัฐ ภาคี
7. การแบ่งแยกอำนาจให้ได้ดุลยภาพระหว่างสถาบันการเมือง
- แบ่งแยกองค์กรผู้ใช้อำนาจสูงสุดของประชาชนเป็น 3 องค์กร ได้แก่ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ
- กำหนดให้วิธีการใช้อำนาจเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
- ความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารเป็นระบบรัฐสภา
8. โครงสร้างของสถาบันทางการเมืองและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ
- กำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้งโดยตรง โดยใช้ระบบเลือกตั้งที่มีความยุติธรรมและเสมอภาคแก่ประชาชนผู้ออกเสียงเลือก ตั้งทั้งในแง่จำนวนคะแนนเสียงและค่าของคะแนนเสียง
- กำหนดให้มีการปฏิรูปกฎหมายรัฐสภา
- กำหนดให้มีพระราชบัญญัติรัฐมนตรี และข้อบังคับการประชุมคณะรัฐมนตรี
- ยุบเลิกองค์กรตามรัฐธรรมนูญในปัจจุบันที่ไม่มีสถานะเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญในทางเนื้อหา
- ประกันความเป็นสถาบันขององค์กรอิสระในทางปกครอง
- กำหนดให้ใช้ระบบสภาเดี่ยว แต่หากต้องการให้ใช้ระบบสองสภา ที่มาของสภาทั้งสองต้องมาจากการเลือกตั้ง
9. ความชอบธรรมทางประชาธิปไตยขององค์กรตุลาการ
- ผู้พิพากษาศาลสูงและตุลาการศาลสูง ต้องได้รับการเสนอชื่อโดยคณะรัฐมนตรี และได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา
- กำหนดให้มีผู้พิพากษาสมทบที่ได้รับการเลือกจากประชาชนหรือองค์ที่มีความชอบธรรมในทางประชาธิปไตยในศาลระดับล่าง
- การแจ้งบัญชีทรัพย์สินของผู้พิพากษาศาลสูงและตุลาการศาลสูง และเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินต่อสาธารณะ
- คณะกรรมการที่ทำหน้าที่บริหารงานบุคคลของผู้พิพากษาและตุลาการต้องมีความเชื่อมโยงกับประชาชน
- ปฏิรูปกฎหมายว่าด้วยกระบวนการได้มาซึ่งผู้พิพากษาตุลาการและว่าด้วยหน่วยธุรการของศาล
10. การยอมรับความเป็นสังคมพหุนิยม
- รับรองความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ศาสนา ภาษา วัฒนธรรม ประเพณี ความคิด ความเชื่อ
11. การตรวจสอบใช้อำนาจรัฐของทุกองค์กรให้ได้ประสิทธิภาพและดุลยภาพ
- ปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับการตรวจสอบอำนาจรัฐ
12. หลักประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ
- เคารพหลักเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมโดยกลไกตลาด
- ส่งเสริมให้มีการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม และจัดให้มีระบบสวัสดิการอย่างทั่วถึง
13. หลักความสูงสุดของรัฐบาลพลเรือนเหนือทหาร
- กำหนดให้มีผู้ตรวจการกองทัพที่แต่งตั้งโดยสภาผู้แทนราษฎร
- รับรองสิทธิและหน้าที่ของทหารในการปฏิเสธไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ บังคับบัญชาที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและละเมิดกฎหมายอย่างชัดแจ้งและร้ายแรง
- การแต่งตั้งโยกย้ายตำแหน่งระดับสูงในกองทัพเป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรี
14. ความชอบธรรมทางประชาธิปไตยในกระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่าย
- การเสนองบประมาณรายจ่ายประจำปีเป็นอำนาจหน้าที่ของฝ่ายบริหารเท่านั้น
- การพิจารณาและให้ความเห็นชอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา
- องค์กรอื่นใดไม่อาจเสนอหรือแปรญัตติงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้
15. การต่อต้านการแย่งชิงอำนาจสูงสุดของประชาชน
- กำหนดให้มีบทบัญญัติในหมวดว่าด้วย “การลบล้างผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยายน 2549” โดยมีเนื้อหาสาระตามข้อเสนอคณะนิติราษฎร์เรื่องการลบล้างผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยายน 2549
- กำหนดให้ปวงชนชาวไทยมีสิทธิและหน้าที่ในการต่อต้านโดยวิธีการใดๆต่อการแย่งชิง (usurpation) อำนาจสูงสุดของประชาชน
- กำหนดให้การแย่งชิงอำนาจสูงสุดของประชาชนเป็นความผิดอาญา ภายหลังการรื้อฟื้นอำนาจที่ชอบธรรมกลับมาได้แล้ว ก็ให้ดำเนินคดีต่อบุคคลที่แย่งชิงอำนาจสูงสุดของประชาชนดังกล่าว โดยให้อายุความเริ่มนับตั้งแต่มีการรื้อฟื้นอำนาจอันชอบธรรมนั้น
คณะนิติราษฎร์ : นิติศาสตร์เพื่อราษฎร
ท่าพระจันทร์, 22 มกราคม 2555