ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Monday, 23 January 2012

เปิดโมเดลรัฐธรรมนูญฉบับนิติราษฎร์ ร่างใหม่คาดใช้เวลา 9 เดือน

ที่มา ประชาไท

22 ม.ค.55 ที่หอประชุมศรีบูรพา (หอประชุมเล็ก) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ตัวแทนนักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ เสนอโมเดลการจัดำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยวิจารณ์ว่า รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 นั้นมีคนได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ในช่วงร่างรัฐธรรมนูญก็มีการบอกให้รับไปก่อนแก้ทีหลัง พอจะแก้ก็บอกไม่ให้แก้

“บ้านเราจะแก้อะไรก็ยากเหลือเกิน อาจจะถูกขู่ว่า อย่าแก้นะ เดี๋ยวปฏิวัติ ผมว่าเราเป็นอารยะมากพอ เราไม่ได้อยู่กันแบบอันธพาล ไม่ใช่ว่าไม่ได้ดั่งใจแล้วก็ใช้กำลังห้ำหั่นกัน”

วรเจตน์อธิบายต่อไปว่า ข้อเสนอของนิติราษฎร์เพื่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มี 2 ประเด็น คือ หนึ่ง วิธีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และสอง คือ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรจะมีหน้าตาอย่างไร จะตอบคำถามแก้ปัญหาการเมืองการปกครองของไทยอย่างไรเพื่อให้เราพ้นไปจากวงจร ที่เกิดขึ้นมาหลายสิบปีเสียที

วิธีการจัดทำรัฐธรรมนูญ

วรเจตน์ กล่าวถึงวิธีการจัดทำว่า ให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 และจัดทำขึ้นมาใหม่ ซึ่งการใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเข้าสู่ปีที่ 5 แล้ว และสร้างปัญหาหลายประการ การเนิ่นช้าต่อไปเท่าไรยิ่งส่งผลเสียต่อสาธารณะมากขึ้นเท่านั้น

อีกประการคือ ต้องการให้รัฐธรรมนูญใหม่นั้นมีความชอบธรรมสูงสุด คือ ให้ประชาชนออกเสียงประชามติ แต่การออกเสียงประชามติที่จะทำ จะไม่เป็นการออกเสียงแบบกำมะลออย่างทาผ่านมา ที่ว่าเป็นกำมะลอนั้นเพราะประชาชนที่ไปออกเสียงประชามตินั้นเขาไม่มีทาง เลือก เพราะมีการเขียนไว้ว่า ถ้าไม่เอา คมช. กับครม. จะไปปรึกษากันว่าจะเอาอะไรมาใช้

“เราเป็นสุภสาพบุรุษพอ เราไม่ทำแบบนั้น” วรเจตน์กล่าวพร้อมระบุว่า การออกเสียงประชามติจะเป็นการเอาร่างฯ ไปให้ประชาชนเลือกระหว่าง รัฐธรรมนูญ 2550 กับรัฐธรรมนูญที่ทำขึ้นใหม่ว่าจะเอาอันไหน แล้ววัดกันโดยประชามติ

กระบวนการจัดทำ

ในส่วนของกระบวนการจัดทำ เขาเสนอในเบื้องต้นให้แก้ไขรัฐธรรมนูญปัจจุบันเพื่อเปิดทางให้มีการตั้ง องค์กรที่จัดทำรัฐธรรมนูญ เรียกว่าคณะจัดทำรัฐธรรมนูญนิติรัฐและประชาธิปไตย ประกอบด้วยกรรมการ 25 คนให้สภาผู้แทนเลือก 20 คน วุฒิสภาเลือก 5 คน

ในส่วนของสภาผู้แทนฯ ให้แบ่งโควต้ากันไปตามสัดส่วนผู้แทน พรรคที่มีส.ส. มากได้โควต้ามาก พรรค ส.ส. น้องก็โควต้าน้อย ในส่วนขอวุฒิสมาชิก ก็อยากให้วุฒิสมาชิกที่มาจาการเลือกตั้งเท่านั้นที่มีสิทธิเลือก แต่ก็เพื่อให้วุฒิสมาชิกจากการสรรหามีส่วนร่วมด้วยและมองในแง่ควาเมป็นไปได้ จึงแบ่งเป็นสองส่วน คือ ส.ว.จากการเลือกตั้งให้ตั้งได้ 3 คน ส่วน ส.ว.จากการแต่งตั้งที่ไม่มีความชอบธรรมตามระบอบประชาธปิไตยก็ให้เลือกได้ 2คน

คุณสมบัติคือ ต้องไม่เป็น ส.ส. หรือ ส.ว. หรือข้าราชการการเมือง การกำหนดแบบนี้เกิดจากการศึกษาเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญที่โดดเด่นของโลก หลายฉบับ

ในส่วนของการมีส่วนร่วมของประชาชนก็กำหนดว่า เมื่อได้ตัวกรรมการแล้วก็มีการกำหนดกรอบการทำรัฐธรรมนูญ 30 วัน เมื่อกำหนดกรอบแล้ว กรรมการฯ มีหน้าที่ไปรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เสร็จแล้วก็ยกร่างฯ

หลังจากนั้นนำร่างฯ นั้นเข้าสู่รัฐสภาเพื่อรับฟังความคิดเห็น และนำร่างฯ ไปพิจารณาแก้ไข ซึ่งป็นอำนาจของคณะกรรมการ สุดท้ายก็ได้เป็นตัวร่างฯ ฉบับใหม่ แล้วให้ประชาชนลงประชามติ และให้ประกาศเป็นรัฐธรรมนูญ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 9 เดือน

ทั้งนี้วรเจตน์กล่าวว่า แน่นอนว่าจะมีบางฝ่ายจะเริ่มสกัด คือให้ยุบสภาไปเสีย แต่การยุบสภาจะไม่เป็นอุปสรรคต่อคณะกรรมการชุดนี้

วรเจตน์กล่าวว่า โดยกระบวนการนี้ ประชาชนมีส่วนร่วมได้สองส่วน คือขั้นตอนประชาพิจารณ์ รับฟังความคิดเห็นและขั้นตอนลงประชามติ

ปิยบุตร แสงกนกกุล กล่าวเสริมว่า รูปแบบที่นิติราษฎร์เสนออาจจะไม่ถูกใจคนที่คาดหวังเรื่องการมีส่วนร่วมขนาด ใหญ่ หรือรูปแบบสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ปี 2540 แต่รูปแบบที่นิติราษฎร์เสนอนั้น เป็นการศึกษาจากการร่างฯ ทั่วโลกซึ่งยอมรับว่า คณะกรรมการขนาดใหญ่ไม่สามารถดำเนินการร่างฯ รัฐธรรมนูญได้สัมฤทธิ์ผล ถึงที่สุดก็ต้องมีการจัดทำโดยคณะทำงานที่เป็นกลุ่มย่อยลงไปอีก

“ไอเดียสภาร่างฯ แบบไทยเกิดขึ้นเพราะรังเกียจนักการเมือง เป็นมายาคติที่เกลียดนักการเมือง บอกว่าเดี๋ยวเขียนเองก็เข้าข้างนักการเมือง และอีกประการหนึ่งคือ ต้องการถ่วงเวลา” ปิยบุตรกล่าวและว่าเขาเห็นว่าโมเดลแบบสภาร่างรัฐธรรมนูญนั้นมีจุดอ่อนคือ ความล่าช้า ถูกเตะถ่วงเวลาไปเรื่อยๆ

เขาย้ำว่าข้อเสนอการตั้งกรรมการชุดนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานสองข้อ คือความชอบธรรมทางประชาธิปไตยและประสิทธิภาพของการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ

00000000


ข้อเสนอคณะนิติราษฎร์

เรื่อง รูปแบบองค์กรยกร่างและจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่

และกระบวนการยกร่างและจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่

ให้คณะรัฐมนตรีเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม “หมวด 16 การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่” โดยมีสาระสำคัญ ดังต่อไปนี้

ชื่อองค์กรผู้มีหน้าที่ยกร่างและจัดทำรัฐธรรมนูญ

คณะจัดทำรัฐธรรมนูญนิติรัฐและประชาธิปไตย

สถานะ

เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ

องค์ประกอบ

ประกอบไปด้วยกรรมการ 25 คน

ที่มา

  • สภาผู้แทนราษฎร เลือกกรรมการ 20 คน โดยแบ่งตามอัตราส่วนของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของแต่ละพรรคการเมืองและ กลุ่มพรรคการเมืองที่มีอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร
  • วุฒิสภา เลือกกรรมการ 5 คน โดย 3 คนมาจากการเลือกของสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง และ 2 คนมาจากสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการสรรหา
  • การแบ่งให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเลือกกรรมการตามสัดส่วนจำนวนดัง กล่าว คำนวณจากฐานจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 500 คน และสมาชิกวุฒิสภา 150 คน โดยให้ความสำคัญกับสภาผู้แทนราษฎรมากกว่าวุฒิสภา และให้ความสำคัญสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งมากกว่าสมาชิกวุฒิสภาที่ มาจากการสรรหา

ลักษณะต้องห้าม

  • กรรมการต้องไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาหรือข้าราชการการเมือง

ระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง

  • หลังจากออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ ให้คณะจัดทำรัฐธรรมนูญนิติรัฐและประชาธิปไตยพ้นจากตำแหน่ง
  • ในกรณีที่มีการยุบสภาผู้แทนราษฎร ไม่กระทบกระเทือนถึงการดำรงอยู่และการปฏิบัติหน้าที่ของคณะจัดทำรัฐธรรมนูญ นิติรัฐและประชาธิปไตย

กระบวนการยกร่างและจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

การยกร่างและจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้คณะจัดทำรัฐธรรมนูญนิติรัฐและประชาธิปไตยดำเนินการตามกระบวนการและขั้น ตอนภายในระยะเวลา ดังต่อไปนี้

  • กำหนดกรอบการยกร่างรัฐธรรมนูญ - 30 วัน
  • รับฟังความคิดเห็น - 60 วัน
  • ยกร่างรัฐธรรมนูญรายมาตรา - 60 วัน
  • นำร่างรัฐธรรมนูญเข้าสู่รัฐสภาเพื่อรับฟังความเห็นและอภิปรายรายมาตรา แต่ไม่อาจแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญได้ ในกรณีที่มีการยุบสภาผู้แทนราษฎร ให้วุฒิสภาทำหน้าที่เป็นรัฐสภา - 60 วัน
  • นำความเห็นของรัฐสภากลับไปพิจารณาแก้ไข - 30 วัน
  • นำร่างรัฐธรรมนูญให้ประชาชนศึกษาและรณรงค์ก่อนออกเสียงประชามติ - 30 วัน
  • ประชาชนออกเสียงประชามติ ในฐานะประชาชนเป็นผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ผลการออกเสียงประชามติให้ถือเป็นเด็ดขาด
  • พระมหากษัตริย์ทรงประกาศใช้รัฐธรรมนูญ โดยมีประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
  • รวมระยะเวลาทั้งสิ้นประมาณ 9-10 เดือน