ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า “การศึกษา” เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญ ที่ยังไม่ได้รับการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง นับว่าเป็นปัญหาที่ใหญ่ การปรับปรุงระบบการศึกษาเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงและความต้องการ ของคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ที่ผ่านมาถือได้ว่าล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง
ที่ผ่านมารัฐบาลมองสภาพสังคม วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เหมือนกับส่วนกลาง และมองพื้นที่ตรงนี้จำเป็นต้องใช้กฎระเบียบ กฎเกณฑ์ ข้อบังคับอันเดียวกัน
ถ้าเรามองปัญหาด้านคุณภาพทางการศึกษา พบว่านักเรียนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ระดับชั้นประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ออกมาต่ำกว่ามาตรฐานและอยู่อันดับท้ายของประเทศ เมื่อเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นก็ต้องตกใจไปตามๆกัน ทำไมการศึกษาของเด็กในพื้นที่ต่ำกว่ามาตรฐานที่ควรจะเป็น
ปัญหาที่ตัวครูและบุคคลากรทางการศึกษา ช่วงที่รัฐบาลมีนโยบายอนุญาตให้ครูขอย้ายออกจากพื้นที่ มีผู้แสดงความจำนงขอย้ายออกประมาณ 5,000 กว่าคน แต่สามารถย้ายได้เพียงประมาณ 1,500 คน จากจำนวนครูซึ่งสอน 4 วิชาหลัก ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนครู แม้รัฐเปิดให้มีการจ้างครูอัตราจ้าง แต่ความรู้และประสบการณ์ไม่มากพอ จึงส่งผลต่อคุณภาพการศึกษา และส่งผลไปถึงโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามด้วย เนื่องจากครูส่วนหนึ่งลาออกไปสมัครทำงานในโรงเรียนของรัฐ
รวมไปถึงปัญหาระบบการอุดหนุนและสนับสนุนงบประมาณมีหลายปัญหา ประกอบด้วย การอุดหนุนรายหัวนักเรียนสามัญ ซึ่งจะเป็นการก่อปัญหาให้กับสถานศึกษาเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ได้แก่ ความไม่เท่าเทียมในการอุดหนุน โดยเฉพาะโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามที่เป็นมูลนิธิได้รับการอุดหนุน 100% ขณะที่โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามอื่นๆ ได้รับการอุดหนุนเพียง 70% และปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างครูสอนสามัญกับครูสอนศาสนาอย่างเดียวใน โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม
อีกทั้งปัญหาการอุดหนุนทางกายภาพ ไม่สอดคล้องกับความต้องการของปอเนาะต่างๆในพื้นที่ เช่น ให้งบประมาณจัดทำเสาธงและป้าย ทั้งที่ต้องการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานมากกว่า เช่น ห้องน้ำ ระบบสาธารณูปโภคและสุขอนามัยรวมไปถึงสิ่งต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา เป็นต้น
ตลอดจนปัญหาการอุดหนุนงบประมาณพัฒนาบุคคลากร โดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจะจัดสรรงบให้บุคลากรในสังกัดโดยตรงก่อน ทำให้งบไม่ค่อยเหลือไปถึงข้าราชการในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน ที่ช่วยสอนในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ส่งผลให้บุคลากรเหล่านั้นขาดโอกาสในการพัฒนาตนเอง
ส่วนการอุดหนุนงบประมาณให้สถานศึกษาเอกชน ของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) โดยฝ่ายการศึกษาเห็นว่า การอุดหนุนงบประมาณเพื่อการศึกษาให้กับสถานศึกษาเอกชนไม่เพียงพอ และตั้งข้อสังเกตว่า บางโรงเรียนได้รับเงินอุดหนุนมากตามจำนวนรายหัวนักเรียน แต่ในทางปฏิบัติก็ยังไม่เพียงพอ เพราะโรงเรียนต้องนำไปจัดสรรให้กับครูสอนศาสนาด้วย ซึ่งครูสอนศาสนาจะไม่ได้รับการอุดหนุน ขณะที่เงินอุดหนุนที่ได้ก็น้อยกว่าเมื่อเทียบกับสถานศึกษาของรัฐ ที่ได้รับทั้งเงินเดือนคณะครู บุคคลากร โครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคอื่นๆในสถานศึกษา
วิชาสามัญ,อาชีพ ไม่เข้าใจวิถีมลายูมุสลิม
สำหรับปัญหาการส่งเสริมความรู้วิชาสามัญ ไม่สอดคล้องกับความเชื่อและวิถีชีวิต ของคนในพื้นที่ ทำให้ไม่ได้รับการยอมรับ เนื่องจากพ่อแม่เป็นคนมลายูมุสลิมและเด็กมลายูมุสลิมในพื้นที่มีความเชื่อ และศรัทธาในการเรียนศาสนาแบบดั้งเดิมที่เรียนมาตั้งแต่บรรพบุรุษมากกว่า จึงขัดแย้งกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น หรือแม้แต่การส่งเสริมอาชีพ รัฐสนับสนุนให้ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เข้าไปสอนและฝึกอาชีพให้กับนักเรียนในสถาบันศึกษาปอเนาะ แต่บางอาชีพก็ไม่ตรงตามความต้องการและไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและสภาพ ปัจจุบันของท้องถิ่น ไม่สามารถตอบโจทย์ได้
ทั้งหลายทั้งปวงรัฐมองการศึกษาของคนในพื้นที่ อย่างมีอคติ แปลกแยกออกไปจากสังคมส่วนใหญ่เป็นอันตรายต่อความมั่นคงต่อชาติ ทั้งที่จริงสถาบันศึกษาปอเนาะ โรงเรียนตาดีกา โรงเรียนเอกชนสอนศาสนา ยังเป็นสถาบันที่ให้การอบรมบ่มเพาะมุสลิมให้คนเป็นคนดี มีคุณธรรม จริยธรรม แต่รัฐยังมีความพยายามในการควบคุมบทบาทของสถาบันการศึกษาปอเนาะ โรงเรียนตาดีกา โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม เพื่อมิให้เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ เช่นเดียวกับการแก้ไขปัญหาด้านสังคมหรือการเมืองที่เป็นการกดทับความเป็น มุสลิมลงจนเป็นสาเหตุให้เกิดความขัดแย้งแม้ว่าในปัจจุบัน
เหตุผลที่เด็กมลายูมุสลิมต้องเรียนต่อในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามเพราะ ในโรงเรียนรัฐไม่ได้ส่งเสริมการเรียนการสอนศาสนาอิสลามและภาษามลายู ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้ปกครองจะต้องส่งบุตรเรียนในโรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม เพราะไม่ต้องการปะปนกันระหว่างหญิงและชาย เหมือนกับโรงเรียนสามัญของรัฐ อันเป็นการขัดต่อหลักการศาสนาอิสลามเป็นสิ่งที่จะต้องหลีกเลี่ยงอย่างชัดเจน
จากกระแสความขัดแย้งทั้งในต่างประเทศและเหตุการณ์ความขัดแย้งในจังหวัดชาย แดนภาคใต้ที่คนไทยมุสลิมเต็มไปด้วยความรู้สึกหวาดระแวงและชิงชังในอำนาจรัฐ โดยสรุป ปัญหาการจัดการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่อดีตและแม้จะมีการปรับปรุง บ้างในปัจจุบัน แต่ปรากฏว่ายังขาดความเข้าใจวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนมลายูมุสลิม โดยอยู่ภายใต้การตัดสินจากส่วนกลางที่กำหนดนโยบายบนพื้นฐานของกรอบความมั่น คงของชาติเป็นหลัก จึงทำให้การจัดการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร และยังกลายเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งในพื้นที่ได้อีกด้วย
แนวทาง ข้อเสนอแนะ
การพัฒนาคุณภาพการศึกษา เช่น จัดการเรียนรู้ในระดับปฐมวัยด้วยระบบสองภาษา คือ ไทย – มลายูถิ่น พัฒนาหลักสูตรอิสลามศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงอุดมศึกษา พัฒนาบุคลากรอิสลามศึกษาของรัฐ โรงเรียนตาดีกา ศูนย์การศึกษาประจำมัสยิดและโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามให้ได้ใบประกอบ วิชาชีพ สนับสนุนงบประมาณและค่าตอบแทนอย่างเพียงพอ
การส่งเสริมศาสนศึกษา เช่น ปรับปรุงระเบียบ หลักเกณฑ์ในการจัดและอุดหนุนงบประมาณสำหรับสถานศึกษาด้านศาสนา ส่งเสริมการใช้นวัตกรรมการสอนอัลกุรอาน เช่น กีรออาตี อิกเราะ เป็นต้น
การเสริมสร้างโอกาสทางการศึกษา เช่น เร่งแก้ปัญหาเด็กออกกลางคัน เนื่องจากปัญหาความไม่สงบ ขยายการจัดการศึกษาระดับปฐมวัย เช่น ศูนย์อบรมเด็กก่อนวัยในวัด มัสยิดและชุมชน พัฒนาสถาบันอุดมศึกษา ทั้งวิทยาลัยชุมชนให้เข้มแข็งและสอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น
การพัฒนาการบริหารจัดการ โดยพัฒนาโครงสร้างการบริหารจัดการในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีอิสระ สนับสนุนให้นักศึกษามุสลิมได้เรียนต่อในประเทศ ทบทวนการอุดหนุน ศูนย์การศึกษาอิสลาม โรงเรียนตาดีกา สถาบันศึกษาปอเนาะและโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม เพื่อความเป็นธรรม
นี่เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทางรัฐบาลควรเอาใจใส่ ดูแล ดีกว่ามาประหัตประหารกัน เนื่องจาก การศึกษาพัฒนาคน คนพัฒนาชาติ ประชาชนมั่นคงประเทศชาติมั่งคั่ง