ข้อโต้แย้ง (argument) หลักประการหนึ่ง ของฝ่ายคัดค้านการแก้ไขหรือยกเลิก ม.112 คือ การอ้าง “ความเป็นไทย” ซึ่งมี “ลักษณะพิเศษ” ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่ไม่เหมือนใครในโลก
หากถามว่า “ลักษณะพิเศษ” ที่ว่านี้คืออะไร คำอธิบายที่เรามักพบเสมอ คือความเป็นสังคมที่มีความทรงจำหรือ “สำนึก” ทางประวัติศาสตร์ว่า พระมหากษัตริย์เป็นวีรบุรุษเสียสละกู้ชาติ สร้างชาติ รักษาชาติบ้านเมืองมาให้พวกเราได้มีแผ่นดินอยู่อาศัยในปัจจุบัน ฉะนั้น สถาบันกษัตริย์จึงเป็นสถาบันที่มีบุญคุณต่อสังคมไทย ที่ต้องปกป้องไว้ด้วยเลือดเนื้อและชีวิต
แต่เมื่อเราไปดูประวัติศาสตร์ของประเทศต่างๆ ในโลกนี้ ทุกประเทศที่ปกครองด้วยระบอบกษัตริย์มาก่อน ต่างก็พูดถึง “ยุคกษัตริย์” ของตนเองในทำนองเดียวกันนี้ทั้งนั้น คือกษัตริย์เป็นนักรบ นักปกครอง สร้างชาติชาติบ้านเมืองมาก่อน
ทว่าก็มีข้อเท็จจริงอีกด้านหนึ่งว่า ทุกประเทศก็มีทั้งกษัตริย์ที่ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ภายใต้ระบบกษัตริย์นั้นก็มีการชิงอำนาจกันระหว่างพ่อ แม่ ลูก พี่น้องกันเองบ้าง ขุนพลต่างๆ ล้มบัลลังก์สถาปนาตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์บ้าง ไม่ว่าจะเป็นในยุโรป เอเชีย แม้แต่ในสยามประเทศเองก็เป็นแบบนี้เช่นกัน ฉะนั้น ข้อโต้แย้งข้างต้น จึงไม่ได้บ่งบอก “ลักษณะพิเศษ” ของสังคมไทยที่ไม่เหมือนสังคมไหนในโลกแต่อย่างใด
เมื่อถูกโต้แย้งกลับเช่นนี้ ก็มักจะมีคำอธิบายต่อมาอีกว่า กษัตริย์ของไทยไม่เหมือนกษัตริย์ที่ไหนในโลก เพราะกษัตริย์ไทยทรงทศพิธราชธรรม ปกครองแผ่นดินโดยธรรมมาตลอดทุกพระองค์ คนไทยจึงศรัทธาเคารพรักกษัตริย์ของตนเองยิ่งกว่าคนชาติไหนในโลก เพราะคนไทยถือว่ากษัตริย์คือ “ศูนย์รวมจิตใจ” ของคนในชาติ
แต่อันที่จริงชาวอังกฤษ ญี่ปุ่นเป็นต้น เขาก็คงศรัทธา เคารพรักกษัตริย์ของพวกเขาไม่น้อยไปกว่า (หรือาจจะมากกว่า?) คนไทย แต่เมื่อสังคมเปลี่ยนเป็นระบอบประชาธิปไตยแล้ว เขาก็มีการทำข้อตกลงที่ถือเป็น “สัญญาประชาคม” ชัดเจนว่า สถานะ อำนาจ บทบาท หรือตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันกษัตริย์ของเขาต้อง “อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ” ตามอุดมการณ์ประชาธิปไตย ซึ่งหมายความว่าสถาบันกษัตริย์ไม่ได้อยู่สถานะที่เป็น “เจ้าของอำนาจอธิปไตย” และมี “ความศักดิ์สิทธิ์” ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบไม่ได้เหมือนในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อีกต่อ ไป
หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า ในประเทศอารยะสถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้อุดมการณ์ประชาธิปไตย ไม่ใช่ลดทอนอุดมการณ์ประชาธิปไตยให้อยู่ภายใต้อุดมการณ์กษัตริย์นิยม สมบูรณาญาสิทธิราชย์
ฉะนั้น หากจะระบุ “ลักษณะพิเศษ” ของสังคมไทยที่ไม่เหมือนสังคมใดๆ ในโลกอย่างตรงไปตรงมา ก็คือ “ความเป็นสังคมที่ลดทอนอุดมการณ์ประชาธิปไตย (และ/หรืออุดมการณ์อื่นใด) ให้อยู่ใต้อุดมการณ์กษัตริย์นิยมสมบูรณาญาสิทธิราชย์” นั่นเอง
รูปธรรมที่เห็นชัดก็เช่น รัฐธรรมนูญมาตรา 8 ป.วิอาญา มาตรา112 การจัดวางระบบอำนาจ เครือข่ายของสถาบันกษัตริย์ เช่น ระบบองคมนตรี กองทัพ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ การประชาสัมพันธ์ “คุณวิเศษ” ด้านเดียว เป็นต้น
ลักษณะพิเศษดังกล่าวนี้เองที่เรียกได้ว่า คือ “ความเป็นไทย” อย่างแท้จริง และไม่ว่าอะไรก็ตามที่เรารับเอามาจากต่างชาติจะต้องถูกปรับให้สอดคล้อง สนับสนุน และ/หรือไม่ขัดแย้ง ไม่เป็นปฏิปักษ์หรือเป็นอันตรายต่อ “ความเป็นไทย” อันถือเป็น “แกนหลัก” ดังกล่าวนี้
จะว่าไป ไม่ว่าพุทธศาสนาที่เรารับมาจาอินเดีย ประชาธิปไตย หรือกระทั่งวิทยาศาสตร์ที่เรานำเข้าจากฝรั่งก็ล้วนแต่ถูกปรับ ถูกลดทอดความหมาย หลักการบางอย่างให้สอดคล้อง และ/หรือสนับสนุน “ความเป็นไทย” อันเป็นลักษณะพิเศษที่ไม่เหมือนใครในโลกดังกล่าวนี้ทั้งสิ้น
ว่าเฉพาะพุทธศาสนาเถรวาทไทยปัจจุบันนั้น ต้องนับว่าเป็น “พุทธศาสนาภายใต้ความเป็นไทย” ในความหมายดังกล่าว เคยมีนักวิชาการหลายคนบอกว่า “ความเป็นไทยคือความเป็นพุทธ” หากนิยามนี้หมายถึง “ความเป็นไทยอยู่ภายใต้ความเป็นพุทธ” ผมว่าน่าจะเป็นนิยามที่ผิดจากความเป็นจริงอยู่มาก
เพราะไม่มี “ความเป็นไทยภายใต้ความเป็นพุทธ” อยู่จริง มีแต่ “ความเป็นพุทธภายใต้ความเป็นไทย” เหมือนประชาธิปไตยภายใต้ความเป็นไทย อย่างที่เราเรียกกันว่าพุทธแบบไทยๆ ประชาธิปไตยแบบไทยๆ (หรือวิทยาศาสตร์แบบไทยๆ เป็นต้น)
พุทธภายใต้ความเป็นไทย หรือพุทธแบบไทยๆ ย่อมมีเนื้อหาและรูปแบบที่ตรงข้ามกับพุทธแบบดั้งเดิมอย่างมีนัยสำคัญ
เพราะพุทธแบบดังเดิม (early Buddhism) คือ พุทธที่เกิดขึ้นในบริบททางสังคมวัฒนธรรมที่เชื่อว่า ระบบชนชั้นศักดิ์สิทธิ์ ธรรมะเป็นของศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นฐานรองรับความศักดิ์สิทธิ์ของระบบชนชั้น ความดี ความชั่ว หรือบุญ กรรม เป็นของศักดิ์สิทธิ์ที่มี “อำนาจลึกลับ” กำหนดชะตามกรรมของคน มีปาฏิหาริย์ดลบันดาลสุข ทุกข์ โชคลาภ เจริญ เสื่อม ฯลฯ ในชีวิตของผู้คน และ/หรือในความเป็นไปของโลก
แต่พุทธแบบดั้งเดิมปฏิเสธความเชื่อเหล่านั้นทั้งหมด แล้วนิยามความหมายของ “ธรรม” ใหม่ว่า “ธรรมคือของธรรมดา” ไม่ใช่ของศักดิ์สิทธิ์ที่มีอำนาจลึกลับดลบันดาลใดๆ ดังพุทธทาสภิกขุสรุปความหมายของธรรมะที่เป็นของธรรมดานั้นว่า ธรรมะคือ ธรรมชาติ กฎธรรมชาติ การปฏิบัติตามกฎธรรมชาติ และผลที่เกิดจากการปฏิบัติตามกฎธรรมชาติ
จะเห็นว่า พุทธแบบดั้งเดิมได้เปลี่ยนความหมายของ “ธรรม” จากความเป็น “ของศักดิ์สิทธิ์” ที่อยู่เหนือเหตุผล ให้กลายเป็นของธรรมดาที่มีความเป็นเหตุเป็นผล ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าธรรมเป็น “เอหิปสฺสิโก” คือ “ทนต่อการพิสูจน์” หมายความว่า ธรรมเป็นของที่สามารถพิสูจน์ซักไซ้ไล่เรียงให้เห็นความสมเหตุสมผลได้ (ในทางตรงข้าม อะไรก็ตามที่คนเชื่อว่า “ศักดิ์สิทธิ” หรือมี “ฤทธิ์ดลบันดาล” ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่อาจซักไซ้ไล่เรียงให้เห็นความเป็นเหตุเป็นผลได้)
ขณะเดียวกันพุทธแบบดั้งเดิม ก็ปฏิเสธความศักดิ์สิทธิ์ของระบบชนชั้น ถือว่าคุณค่า หรือศักดิ์ศรีของมนุษย์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสถานะสูง-ต่ำทางชนชั้น แต่ขึ้นอยู่กับ “การกระทำทางศีลธรรม” (กรรม) หรือ การกระทำดี หรือชั่วของแต่ละคน
การกระทำทางศีลธรรม (moral action) หรือ “กรรม” ตามความคิดของพุทธแบบดั้งเดิม มีความหมายกว้างๆ ว่า “การกระทำใดก็ตามที่เป็นการเบียดเบียนก่อโทษทุกข์แก่ตนเองและผู้อื่น และหรือส่วนรวม ย่อมถือเป็นการกระทำที่ไม่ดี หรือผิดศีลธรรม” ส่วน “การกระทำใดก็ตามที่ไม่เป็นการเบียดเบียน และ/หรือเป็นการกระทำที่ส่งเสริมประโยชน์สุขแก่ตนและคนอื่น หรือส่วนรวม ย่อมเป็นการกระทำที่ดี หรือถูกในทางศีลธรรม”
กรรมในความหมายดังกล่าวนี้สอดรับกับความหมายของ “หัวใจ” พุทธศาสนาคือหลัก “อริยสัจสี่” ซึ่งเป็นหลักการเรื่องทุกข์กับความดับทุกข์ กรรมชั่วหรือการกระทำที่ไม่ดีทางศีลธรรม ก็หมายถึงการกระทำที่สร้างทุกข์ก่อปัญหา ส่วนกรรมดี หรือการกระทำที่ถูกทางศีลธรรม ก็คือการกระทำที่เป็นไปเพื่อลดทุกข์ หรือเพื่อความสิ้นทุกข์
ฉะนั้น กรรมในความหมายของพุทธแบบดังเดิม จึงไม่ใช่สิ่งลึกลับที่มีอำนาจดลบันดาลใดๆ แต่เป็นเรื่องความเป็นเหตุเป็นผลระหว่างการกระทำกับผลที่ตามมา และยังรวมเอาความหมายของเสรีภาพในการเลือกการกระทำ ความรับผิดชอบต่อการกระทำ และความเสมอภาคทางศีลธรรมเข้าไว้ในความคิดเรื่องกรรมนี้ด้วย
แต่ “พุทธศาสนาภายใต้ความเป็นไทย” หรือพุทธศาสนาแบบไทยๆ กลับไปรับเอาความคิด ความเชื่อทั้งปวงที่พุทธศาสนาแบบดังเดิมเคยปฏิเสธมาไว้ทั้งหมด คือเป็นพุทธศาสนาที่เชื่อว่าธรรมเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ความดี บุญ กรรม มีอำนาจลึกลับดลบันดาลความเป็นไปในชีวิต และมีอำนาจพิเศษกำหนดสถานะสูง-ต่ำทางชนชั้นของผู้คน
ถามว่า ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น คำตอบ อาจเป็นเพราะพุทธศาสนายุคหลังพุทธกาลมีการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดด้วยการ “แปรรูป” ตนเอง โดยการผสมผสานกับความเชื่อในบริบทสังคมวัฒนธรรมในยุคเดียวกันมากขึ้น และพุทธศาสนาที่ “แปรรูป” แล้วนี้ก็ตกทอดมาสู่สังคมสยามยุคราชาธิปไตย
แน่นอนว่า ในยุคราชาธิปไตยอำนาจในการนิยามความหมาย การตีความ การใช้พุทธศาสนาก็อยู่ในมือของ “วัง” กับ “วัด” ที่เป็นเพื่อนสนิทกัน แต่ว่าอำนาจที่เหนือกว่าย่อมเป็น “อำนาจวัง”
ฉะนั้น “โฉมหน้า” ของพุทธศาสนาภายใต้อำนาจของวัดกับวัง จึงเป็นโฉมหน้าของพุทธที่เน้นการสถาปนาสถานะของพระพุทธเจ้าให้เป็นบุคคล ศักดิ์สิทธิ์เหนือมนุษย์ธรรมดา สถาปนาให้ธรรมะเป็นของศักดิ์สิทธิรองรับความศักดิ์สิทธิ์ของสถานะแห่งพระ พุทธเจ้า พระสงฆ์สาวก ตลอดถึงพระเกจิอาจารย์รุ่นหลังๆ
ซึ่งธรรมอันศักดิ์สิทธิ์นั้น ย่อมรองรับสถานะอันศักดิ์สิทธิของกษัตริย์ในฐานะ “ธรรมราชา” อย่างมีนัยสำคัญด้วย ดังบางยุคกษัตริย์สถาปนาตนเองให้เป็นพระโพธิสัตว์ หรือกระทั้งเป็นพระพุทธเจ้าเลยก็มี ดังนามของกษัตริย์หลายองค์ที่ใช้ฉายานามของพระพุทธเจ้าเป็นชื่อของตนเอง หรือดังคำราชาศัพท์ที่ว่า “ข้าพระพุทธเจ้า” ก็แปลว่า “ข้าฯของพระพุทธเจ้า” นั่นเอง
สรุปว่า “พุทธศาสนาภายใต้ความเป็นไทย” ก็คือพุทธศาสนาที่ถูก “แปรรูป” ในยุคหลังพุทธกาลโดยการไปรับเอาหลักความเชื่อสำคัญที่พุทธแบบดั้งเดิมเคย ปฏิเสธ และสังคมไทยยุคราชาธิปไตยก็นำเข้ามาสนับสนุนความเข้มแข็งของระบบศักดินา จนตกทอดมาถึงปัจจุบันที่เราเรียกกันว่า “พุทธเถรวาทไทยมรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์” นั่นเอง
ปัจจุบันพุทธศาสนาภายใต้ความเป็นไทย นอกจาจะเป็นเครื่องมือสนับสนุน “ความศักดิ์สิทธิ์” ของอุดมการณ์กษัตริย์นิยมสมบูรณาญาสิทธิราชย์แล้ว นิยามของธรรมะ ความดี บุญ กรรม ที่มีความหมายเป็น “ของศักดิ์สิทธิ์” มีอิทธิฤทธิ์ดลบันดาลยังถูกใช้เป็นเครื่องมือส่งเสริมสถานะอันศักดิ์สิทธิ์ ของพระสงฆ์ สร้างความศักดิ์สิทธิ์ของพิธีกรรม วัตถุมงคลพาณิชย์ ธุรกิจบุญขายตรง ธรรมโฆษณาที่เน้นการใช้ธรรมะ ใช้รูปแบบการปฏิบัติธรรมสร้างภาพลักษณ์ความเป็นคนดี คนอิ่มบุญ คนสงบ สะอาด สูงส่ง เหนือคนธรรมดาทั่วไป
แต่เป็นคนดี คนอิ่มบุญ คนสงบ สะอาด สูงส่ง ที่ไม่ใส่ใจใดๆ กับทุกขสัจจะที่เป็นความอยุติธรรมทางสังคม และ/หรือระบบมอมเมาเชิงความเชื่อ อุดมการณ์ที่ขัดต่อหลักการของพุทธศาสนาแบบดั้งเดิม!