พระพุทธเจ้าเคยเตือนว่า การเรียนรู้ธรรมนั้นต้องระมัดระวังเหมือนการถอนหญ้าคา คนที่ใช้มือกำรวบถอนหญ้าคาขึ้นอย่างไม่ถูกวิธีอาจถูกใบหญ้าคาที่คมกริบบาด มือเลือดสาดได้ง่ายๆ เช่นเดียวกันการเรียนรู้และใช้ธรรมอย่างไม่เข้าใจถ่องแท้ อาจก่ออันตรายอย่างร้ายแรง (แก่ตนเอง และ/หรือแก่สังคม) ได้
คำเตือนนี้พึงสังวรแค่ไหน โปรดนึกถึงวาทกรรม “ธรรมนำหน้า” การอ้างประชาธิปไตยต้องอยู่ภายใต้ “ธรรมาธิปไตย” (ผมก็เคยอ้าง “ธรรมาธิปไตย” อย่างไม่เข้าใจชัดเจนพอ ขอโทษคนที่บังเอิญได้อ่านด้วย) การอ้าง “เผด็จการโดยธรรม” เป็นต้น นี่เป็นวิธีคิดอย่างหนึ่ง (ในหลายๆ อย่าง) ที่เป็นเงื่อนไขนำไปสู่การสนับสนุนรัฐประหารล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แล้วก็เลยมาสู่การเชียร์ให้ล้อมปราบคนเสื้อแดงในปี 2553
เมื่อไม่นานมานี้ก็มีเรื่องของสุภาพสตรีคนหนึ่งเป็นที่วิจารณ์ในเฟซบุ๊ก ที่บอกว่าตนอยู่ในครอบครัวอบอุ่น มีบุญได้ปฏิบัติธรรมจนละความโกรธได้ แต่ทนไม่ได้แทบจะฆ่าให้ตายเมื่อเห็นคนอื่นไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี ในโรงภาพยนตร์
และเร็วๆ นี้เช่นกัน ผมได้อ่านบทความชื่อ “ทำไมคนทั้งประเทศรักผู้นำเผด็จการ” ของพระพยอม กัลยาโณ ใน “โลกวันนี้วันสุข” (ฉบับ 24-30 ธันวาคม 2554) ตอนหนึ่งท่านเขียนว่า
“การเสียชีวิตของ คิม จอง-อิล ผู้นำเกาหลีเหนือทำให้มีเรื่องน่าศึกษาประวัติการทำงานปกครองของบุคคลท่าน นี้ว่า ปกครองประชาชนอย่างไรประชาชนถึงได้รักนักรักหนา แสดงว่า 17 ปีที่เป็นผู้นำท่านทำหน้าที่ให้ประชาชนรู้สึกพึงพอใจ แม้จะถูกปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ หรือจะเข้าหลักอย่างที่หลวงพ่อพุทธทาสเคยกล่าวว่า การปกครองแม้จะเป็นเผด็จการ แต่ถ้าเป็นเผด็จการโดยธรรมประชาชนก็อยู่ได้...”
นี่เพียงแค่ “ตัวอย่างบางตอน” ของการอ้าง “ธรรม” ที่อันตราย แม้ผู้อ้างจะอ้างด้วย “เจตนาดี” ก็ตาม หรือแม้จะอ้างด้วยความศรัทธาซาบซึ้งว่า “ธรรม” เป็นที่สูงส่งดีงามก็ตาม จึงน่าสนใจว่าคำว่า “ธรรม” มีที่มา มีความหมาย และมีการใช้กันอย่างไร
จริงๆ แล้วคำว่า “ธรรม” คือคำที่นิยมใช้กันมานานากว่าห้าพันปีในอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธู หรือในดินแดนที่เรียกกันว่า “ชมพูทวีป” ที่มีศาสนาพราหมณ์ ฮินดู พุทธ เชน และอื่นๆ เป็นภูมิปัญญาหลัก ซึ่งอาจสรุปความหมายของ “ธรรม” ตามที่ใช้กันมาเป็นสองความหมายหลักๆ คือ
ความหมายแรก “ธรรม” หมายถึง “ของศักดิ์สิทธิ์” ที่ละเมิดมิได้ เนื่องจากธรรมหมายถึง “หน้าที่” ของคนในชนชั้นต่างๆ ที่พระเจ้าหรือพระพรหมเป็นผู้กำหนด เช่น ธรรมหรือหน้าที่ของวรรณะกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร เป็นหน้าที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ก้าวก่ายกันไม่ได้ การก้าวก่ายหรือละเมิดหน้าที่กันถือว่ามีความผิดอย่างร้ายแรง เพราะเป็นการละเมิดความศักดิ์สิทธิ์ของธรรม เช่น ถ้าศูทรไปสาธยายพระเวท (ซึ่งเป็นหน้าที่ของพราหมณ์) จะต้องถูกตัดลิ้น หรือถูกเอาน้ำทองแดงร้อนๆ กรอกปาก เป็นต้น
จะเห็นว่า ธรรมในความหมายที่เป็น “ของศักดิ์สิทธิ์” คือธรรมในความหมายของวัฒนธรรมพราหมณ์ ฮินดู ที่ใช้เป็นเครื่องมือในการแบ่งชนชั้นทางสังคม ซึ่งแน่นอนว่า ผู้มีอำนาจ “นิยาม” ความหมายของธรรมดังกล่าวนี้ก็คือชนชั้นสูง หรือชนชั้นที่ได้เปรียบในสังคม
ความหมายที่สอง “ธรรม” หมายถึง “ความจริง” เกี่ยวกับความทุกข์ของชีวิต (ทุกขสัจจะ) เกี่ยวกับสาเหตุของทุกข์ในชีวิต (สมุทัยสัจจะ) เกี่ยวกับความดับทุกข์ (นิโรธสัจจะ) และเกี่ยวกับทางดับทุกข์ (มรรคสัจจะ)
ธรรมในความหมายที่สองนี้ต่างจากธรรมในความหมายแรกตรงที่ว่า ธรรมที่เป็นของศักดิ์สิทธิ์นั้นไม่เรียกร้องการใช้เหตุผลตรวจสอบ หรือใช้เหตุผลตรวจสอบไม่ได้ เนื่องจากอธิบายด้วยเหตุผลให้เห็น “ความศักดิ์สิทธิ์” ไม่ได้ ความศักดิ์สิทธิ์เรียกร้องศรัทธาหรือความเชื่อที่ปราศจากข้อสงสัย
แต่ธรรมในความหมายที่สองเรียกร้องการตรวจสอบด้วยเหตุผล เนื่องจาก “ความจริง” เป็นสิ่งที่ต้องพิสูจน์ให้ “เห็น” ไม่ใช่ต้อง “เชื่อ” ดังที่พุทธศาสนาถือว่าคุณสมบัติธรรมธรรมคือ เป็น “สิ่งที่มีเหตุผลสามารถตรองตามให้เห็นจริงได้”
ดูเหมือนว่า “ธรรม” ในวาทกรรม “ธรรมนำหน้า” และธรรมในความหมายของผู้ที่ทนไม่ได้เมื่อเห็นใครไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญฯ นั้น น่าจะเป็นธรรมในความหมายที่เป็น “ของศักดิ์สิทธิ์” แบบวัฒนธรรมพราหมณ์ไม่ใช่พุทธ เพราะเป็นธรรมที่ผูกโยงอยู่กับความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันกษัตริย์ หรือเป็นธรรมที่ใช้สนับสนุนความศักดิ์สิทธิ์ที่วิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบไม่ได้ ของสถาบันกษัตริย์ ซึ่งได้แก่ธรรมศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้แบ่งชนชั้นทางสังคมนั่นเอง
ส่วนธรรมในวาทกรรม “เผด็จการโดยธรรม” นั้น หมายถึง “ธรรมคืออำนาจ” แต่เผด็จการโดยธรรมหรือธรรมคืออำนาจนี้ ไม่มีศัพท์บัญญัติในพุทธศาสนาแบบดั้งเดิม มีแต่คำว่า “ธมฺมาธิปเตยฺย” ที่แปลทับศัพท์ว่า “ธรรมาธิปไตย” ความหมายก็คือ การถือความจริง ถือความถูกต้องเป็นหลักในการตัดสินใจ ซึ่งไม่ใช่ “ระบบการปกครอง” ที่อ้างธรรมหรือความถูกต้องใดๆ โดยเฉพาะที่ต่างจากระบบอื่นๆ เพื่อปกครองด้วยวิธี และ/หรือ “ระบบเผด็จการ”
เมื่อท่านพุทธทาสใช้คำว่า “เผด็จการโดยธรรม” ท่านอธิบายทำนองว่า กฎธรรมชาติมีความเด็ดขาดในตัวมันเอง การกำจัดกิเลสก็ต้องใช้วิธีเฉียบขาด ฉะนั้น ถ้าใช้วิธีเฉียบขาดรวดเร็วเพื่อทำให้บ้านเมืองสงบสุข มีความเจริญได้โดยธรรม ก็เป็นสิ่งที่ควรทำ (แต่ท่านคงไม่คิดว่าการปกครองของ คิม จอง-อิล เป็น “เผด็จการโดยธรรม” ?)
แต่อย่างไรก็ตาม วิธีเด็ดขาด เฉียบขาด ไม่ใช่เผด็จการในตัวมันเอง เพราะในระบอบประชาธิปไตยก็ต้องใช้วิธีเฉียบขาดเช่นกัน เช่นการบังคับใช้กฎหมายอย่างเฉียบขาด เด็ดขาด เป็นต้น แต่ “เผด็จการ” ตามที่เข้าใจกันโดยทั่วไป หมายถึงการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดโดยบุคคลคนเดียว หรือคณะบุคคลที่ไม่ฟังเสียประชาชน หรือไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทางการเมืองการปกครอง
ในสมัยพุทธกาลพระเทวทัตเคยอ้าง “ธรรม” หรือ “ความถูกต้อง” (ตามความเชื่อของตน) เพื่อให้พระพุทธเจ้าบังคับให้พระสงฆ์ต้องปฏิบัติ เช่น ห้ามพระภิกษุฉันเนื้อสัตว์ตลอดชีวิต เป็นต้น แต่พระพุทธเจ้าไม่ทำตามข้อเสนอนั้น เพราะเห็นว่าการบังคับเช่นนั้นเป็นวิธีเผด็จการ
ส่วนเรื่องบัญญัติวินัยต่างๆ เป็นกติกาในการอยู่ร่วมกันของคณะสงฆ์นั้น เมื่อทราบว่ามีพระทำผิด พระพุทธเจ้าก็เรียกมาสอบถามข้อเท็จจริงท่ามกลางที่ประชุมสงฆ์ และพระองค์ก็บัญญัติกติกาต่างๆ ขึ้นโดยความเห็นชอบของที่ประชุมสงฆ์ ไม่ใช่กำหนด “ธรรม” หรือความถูกต้องล่วงหน้าโดยอัตโนมัติของตนเอง แล้วบังคับให้พระสงฆ์ต้องทำตามด้วยวิธีเผด็จการ
แม้แต่โทษทางวินัยที่แรงที่สุดก็เพียงแค่การให้สละสมณเพศ หรือสละสถานะความเป็นสมาชิกของสังคมสงฆ์เท่านั้นเอง ไม่มีการลงโทษด้วยวิธีรุนแรงอื่นๆ เช่น การประจานต่อสาธารณะ การปาหินให้ตาย หรือการลงโทษความผิดทางศาสนาโดยการเอาน้ำทองแดงกรอกปาก เป็นต้น อย่างที่บางศาสนาในยุคเดียวกันกระทำ
จะว่าไปแล้วความคิดเรื่อง “ธรรมคืออำนาจ” ก็คือความคิดที่ถือว่า “ธรรมเป็นของศักดิ์สิทธิ์” นั่นเอง ดังที่อ้างธรรมศักดิ์สิทธิ์กำหนดสถานะสูง-ต่ำทางชนชั้น เป็นต้น
แต่ความคิดที่ถือว่าธรรมคือความ จริงเกี่ยวกับทุกข์และความดับทุกข์ ธรรมไม่ใช่อำนาจ แต่ธรรมเป็นเรื่องของ “เหตุผล” และ “เสรีภาพ” เพราะว่าความสัมพันธ์ระหว่างความจริงตามหลักอริยสัจสี่ คือความสัมพันธ์ที่เป็นเหตุเป็นผล และผลลัพธ์ของการเข้าถึงอริยสัจสี่ก็คือ “เสรีภาพ” จากความทุกข์
พูดอีกอย่างว่า การเรียนรู้ หรือการจะเชื่อถือความจริงนี้หรือไม่ก็ไม่เรียกร้องศรัทธาหรือบังคับศรัทธา หากแต่เป็นเสรีภาพของแต่ละบุคคล และเมื่อใครเข้าถึงความจริงนี้ด้วยปัญญา จิตใจของเขาก็จะมีเสรีภาพจากทุกข์
ฉะนั้น ธรรมในความหมายของพุทธศาสนาที่เป็นเรื่อง “เหตุผล” และ “เสรีภาพ” จึงไปด้วยกันได้กับความเป็นประชาธิปไตยมากกว่าที่จะสนับสนุนเผด็จการ
การอ้างธรรมในนามพุทธศาสนาในการต่อสู้ทางการเมือง หรือแสดงทัศนะทางการเมือง แต่ยึดถือธรรมเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ยึดถือธรรมเป็นอำนาจ น่าจะไม่สอดคล้องกับความหมายของ “ธรรม” ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้และสอนจริงๆ
และน่าจะเป็นการอ้างที่อันตราย อย่างที่เห็นกันมาในประวัติศาสตร์ และเห็นกันอยู่ดาษดื่น!