ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Tuesday, 10 January 2012

ส่งท้ายซีรีส์ เมืองไทย 2555 อะไรรอเราอยู่ กับ พันธ์อาจ ชัยรัตน์ มองเมืองไทยจากปี 2600

ที่มา ประชาไท

อนาคตศาสตร์ อาจจะชวนให้คิดไปถึงหมอดู หรือการพยากรณ์ระยะใกล้ แต่อนาคตศาสตร์ต่างจากทั้งสองสิ่งที่กล่าวมา มันต่างกันโดยกระบวนการทำงาน ที่เรียกว่า Action Research โดยดึงการมีส่วนร่วมจากสังคมให้มากที่สุด เพื่อจินตนาการร่วมกันถึงอนาคต ขณะที่ใช้ปัจจัยแวดล้อมในปัจจุบันเป็นตัวกำกับไม่ให้จินตนาการถึงอนาคตนั้น เตลิดไปไกล

ที่ผ่านมาเมืองไทยมีนักวิชาการที่ทำ Foresight มากที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ที่ทำออกมาเป็นรูปธรรมมากที่สุด เห็นจะเป็นสิงคโปร์

ประชาไทชวนคุยกับ ดร. พันธ์อาจ ชัยรัตน์ นักอนาคตศาสตร์ ผู้บริหารบริษัท โนวิสเคป คอนซัลติ้ง จำกัด ที่เน้นหนักด้านการศึกษาอนาคตศาสตร์ (Scenario Planning) และการพัฒนากระบวนการสร้างสรรค์นวัตกรรม (Innovation Methodology) เขาชวนละวางบริบทที่แวดล้อมสังคมการเมืองไทยในระยะอันใกล้นี้ แล้วมองไปไกลๆ ก่อนจะหันกลับมาที่ปี 2555 ก่อนจะบอกกับเราว่า คำถามที่จะถูกถามมากที่สุดในปีนี้ สำหรับคนไทยคือ “พวกเรากำลังทำอะไรอยู่”

ส่งท้ายซีรีส์ เมืองไทย 2555 อะไรรอเราอยู่ กับ พันธ์อาจ ชัยรัตน์ มองเมืองไทยจากปี 2600

เมืองไทยปี 2600

เราเริ่มทำวิจัยไปบ้างแล้ว โดยศึกษาจาก 5 ทิศทาง คือ 1) Mobility เป็นเรื่องสำคัญเพราะว่าถ้าเรามองคนเรา 24 ชั่วโมง มีการเคลื่อนไหวตลอด ถ้าไม่ใช่คนก็สิ่งของ อนาคตของ Mobility จะเป็นอย่างไร Transportation จะเป็นอย่างไร

2) อัตลักษณ์ และ lifestyle อย่าลืมว่าตอนนี้เรามีไลฟ์สไตล์จำกัด แต่ต่อไปมันจะสำคัญมาก ทำไมอังกฤษและเกาหลีถึงทำเรื่องนี้ เกาหลีทำตามญี่ปุ่นมาหมด คือสร้างอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มีแต่โปรดักส์ไม่มีคอนเทนท์ ใส่อะไรลงก็ไปใส่ความป็นตัวเองลงไป

ชนชั้นกลางใหม่จะขยายที่ข้างล่าง ซึ่งพวกเขาจะไม่ได้เลียนแบบข้างบน คือเขามีโทรศัพท์มือถือ มีรถ แต่ก็ยังฟังหมอลำซิ่ง พอเก็บเงินสักพักก็เบื่อกรุงเทพฯ ก็กลับบ้าน ไปใช้ชีวิตอีกแบบ

3) Consumption เพราะว่าถ้ามองสองตัวข้างหน้าไปแล้ว อัตลักษณ์ของคนจะหลากหลายขึ้นตั้งแต่ใต้ฐานปิรามิดจนถึงข้างบน เรื่องอัตลักษณ์จะหลากหลายขึ้น และในฐานะที่เป็นรัฐ หน่วยงานการศึกษา หรือคนที่บริหารกฎหมายต่างๆ สิทธิต่างๆ จะเปลี่ยนไหม ตัวอย่างแรก ถ้าเรามองว่าความหลากหลายทางเพศ ยอมรับได้แค่ไหน ความมีตัวตนของประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เช่น เชียงใหม่ขอให้บรรจุอักขระล้านนามาเป็นภาษาราชการในท้องถิ่นในกลุ่มจังหวัด ล้านนาใช้ ถือเป็นเรื่องใหม่ การหาคำจำกัดความของครอบครัวให้พ่อแม่ลูก ถ้าอนาคต เป็น พ่อ-พ่อ, แม่-แม่ คุณต้องหาขอบเขตของกฎหมาย สิทธิของคนสูงวัย สิทธิของคนที่อยากจะตาย เป็นเรื่องที่คนไม่รู้ว่าในระดับกลุ่มคน ในระดับปัจเจกเป็นอย่างไรมันสำคัญต่อประเด็นกฎหมายและสิทธิของประชาชน

สิ่งเหล่านี้เชื่อมโยงมายังการบริโภค กินอาหาร ทิ้งขยะ หนีไม่พ้น คาร์บอนฟุตปรินท์ (ปริมาณการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ และแก๊สเรือนกระจกอื่นๆ ตลอดวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์และบริการ) การที่รัฐต้องจัดการเพื่อลดความขัดแย้ง เอกชนอยากได้มาตรฐานใหม่ คนไทยจะกินน้อยลง จะบริโภคอย่างไร จะขายของอย่างไร

4) Urbanization ความเป็นเมือง เมืองกับชนบทไทยน่าจะเป็นอย่างไร เทศบาลตำบล เทศบาลเมือง เทศบาลนคร อัตลักษณ์เขาแรงกว่าคนในเมืองใหญ่ในปัจจุบัน เพราะคนพวกนี้อยู่ในเมืองใหญ่แต่กลับบ้านไปก็ได้มาตรฐานชีวิตแบบเมือง แต่ไปอยู่ในวัฒนธรรมที่แข็งแกร่งกว่า คือวัฒนธรรมชุมชนของเขา ถามว่าเขาจะใช้วัฒนธรรมแบบอเมริกา ยุโรปหรือ ก็คงไม่

เมืองใหม่ในอีสาน ในหุบเขาภาคเหนือตอนบนมันคงแปลกๆ อย่างบางหมู่บ้านในอีสานมีชาวสวิสมาอยู่ 40-50 คน ที่สุดเขาก็ต้องมีชีวิตอีกรูปแบบหนึ่ง การออกแบบเมืองใหญ่ตอนนี้คือทำยังไงไม่ให้น้ำท่วมเมือง แต่ไม่บอกว่าทำอย่างไรไม่ให้น้ำท่วมนา ในที่สุดต่างก็ต้องป้องกันเมืองตัวเองไม่ให้ท่วม

จริงๆ แผนผังเมืองปี 2600 มีการทำแล้ว ซึ่งหลายคนก็น่าจะอยากรู้ Urbanization น่าจะมีแนวโน้มชัดเจนที่สุดเพราะมีการทำแล้ว

นอกจากนี้ เมืองไม่ใช่แค่มีนวัตกรรม แต่ต้องมีนวัตกรด้วย เมืองไหนเป็นแม่เหล็กดึงดูดทั้งคนในและคนนอก ให้คนที่อยู่ในเมืองอยู่แล้ว ไม่ไปที่อื่น ตัวอย่างเช่น เชียงใหม่มีมหาวิทยาลัย 8 แห่ง คุณดึงคนที่เป็นครีมได้ไหม ก็ไม่ได้ ในที่สุดก็ไหลมากรุงเทพฯ ไหลไปที่อื่น สุดท้ายเชียงใหม่มีอะไร อาจจะมีมหาวิทยาลัยอยู่ แต่ดึงคนที่จบตรี-โท-เอกแล้วใช้ชีวิตในเมืองไม่ได้ ล้มเหลว มหาวิทยาลัยมีตั้ง 8 แห่งแต่สร้างอะไรไม่ได้

5) Democratization -ความเป็นประชาธิปไตย (หัวเราะ) ที่ผมพูดนี่ไม่มีอะไรแอบแฝง Democratization จะมีการขยายตัวแนวนอนเยอะมาก เพราะเมื่อสองสามปีก่อนเรามีการพูดถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงสัญลักษณ์ในแนวตั้ง พูดเรื่องชนชั้น เรื่อง Double Standard แต่ขณะเดียวกัน ไม่ใช่แค่เรื่องการเมืองอย่างเดียว เช่นเราบอกว่าเรามีสิทธิในแม่น้ำสายนี้ แล้วคุณก็มีสิทธิเช่นกัน ถ้าเช่นนั้น ก็ต้องอยู่แบบ win-win เป็น Horizontal

แต่อีกหลายๆ คำถามเช่นระบบการเมืองการปกครองในอนาคต มีคนพูดเรื่อง Decentralization แต่อีกเรื่อง คือในที่สุดคนเมืองบอกว่าคนชนบททำไม่ได้หรือทำได้ไม่ดีเพราะว่าโกง ต้องคอนโทรลธรรมาภิบาล คุณไม่มองว่า Democratization วิวัฒนาการจากการเรียนรู้ ต้องได้มาตรฐานคุณ ทั้งที่ Democratization เป็นเรื่องกระบวนการเรียนรู้โดยตรง

จริงๆ คือคุณสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันมากกว่า เป็นรูปแบบที่ต้องออกแบบ นี่เป็นเรื่องที่พ้นจากทักษิณ พวกรอยัลลิสต์ ซึ่งให้ตายเถอะ พวกนี้ก็ยังอยู่ เป็นเหมือนรุ้งเพราะถ้าเป็นสีเดียวก็เป็นคิมจองอุน (หัวเราะ)

ทั้งหมดห้าประการนี้จะสร้างภาพเมืองไทยในอนาคต ตอนนี้เราต้องการขยายฐานผู้เข้าร่วมไอเดียให้มากที่สุดจริงๆ คือเราต้องการให้คนที่ suffer กับปัจจุบันเบื่อ ได้มองพ้นระยะเวลา 5-10 ปีไป ภาพที่ออกมาจะเห็นเลยว่า แทนที่จะตั้งคำถามว่าเราจะเดินไปทางไหน แต่เราตั้งคำถามว่าอีก 50 ปีคืออะไร

กระบวนการนี้จะทำให้เราย้อนกลับมามองว่าปัจจุบันเราจะเดินอย่างไร แม้ว่าบางคนจะบอกว่า ปี 2600 เราตายไปแล้ว บางคนอาจจะอยู่ในหลุม บางคนถูกเผาเป็นเถ้าธุลี แต่ถึงตอนนั้นทุกคนมุ่งไปสู่อนาคต

ในด้านสิ่งแวดล้อม สภาพแวดล้อมจะเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงมากขึ้นกว่านี้เยอะมาก เพราะว่าสภาพแวดล้อม Climate Change จะมาถึงอย่างรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ความเป็อยู่ต้องเปลี่ยนหมด ไม่ใช่เปลี่ยนตอนนี้แต่เราต้องเปลี่ยนดักไว้ เราจะเจอสภาพร้อนจัด แล้งจัด โรคจะกลับมาอุบัติซ้ำ

คนที่เปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ไม่ได้จะยิ่ง suffer ภาพปี 2600 จะไม่ต่างกับเมืองใหญ่ๆ อย่างนิวยอร์ก คือง่ายๆ เอานิวยอร์กกับมุมไบมาผสมกัน การบริโภคจะแย่งกันกินแย่งกันใช้ นี่เป็นซีนาริโอ

ขณะเดียวกัน ต่างจังหวัดจะเป็นเมืองใหญ่ขึ้นมากด้วย ไม่มีทางเลือก เพราะคนจะหาที่ปลอดภัยอยู่ เศรษฐกิจภายในประเทศจะสำคัญมาก นี่เป็นสิ่งที่แปลกเพราะว่าไทย 40 ปีที่ผ่านมาพึ่งพาการส่งออก ตอนนี้ต้องหันพึ่งพาตลาดภายใน เพราะคนที่อยู่ไม่ใช่แค่ไทย มีสิงคโปร์ มีจีน มียุโรป ไม่ได้อยู่โดดเดี่ยว คนเมืองใหญ่จะ suffer แต่คนต่างจังหวัดจะมีศักยภาพสูงมาก ในที่สุดแล้วจะโตกันเอง อีกไม่กี่ปีอาเซียนเกิดราชการจะทำอะไร หลายคนบอกว่าไม่มีอะไรใหม่ แล้วถ้าไม่มีอะไรใหม่ เอกชนก็จะทำเอง อนาคตไม่ได้อยู่ที่รัฐ แต่อยู่ที่ปัจเจก และปัจเจกจะไม่ใช่คนไทย แต่จะมีความเป็นนานาชาติ

อัตลักษณ์จะหลากหลาย คนชั้นกลางขยายตัว คนจนจะกลายเป็นชนชั้นกลางมากขึ้น อัตลักษณ์ข้างล่างจะหลากหลายขึ้น คนสูงวัยเยอะ คนหนุ่มสาวมาจากที่อื่น แล้วจะไปสู่สังคมเปิดมากขึ้น 20 ปีก่อน 2600 จะมีการ Clash ทางวัฒนธรรมรุนแรง เพราะหลังจากนี้ 5-10 ปี จะมีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างจากนั้นจะมีการ Rebound ทางวัฒนธรรม ตีซะว่า 20 ปีคนอีกรุ่นหนึ่งจะถูกล้างความคิดแบบเดิมออกไป ตีซะว่าปี 2575 อีก Generation จะขึ้นมา แต่เจเนอเรชั่นเราจะเป็นเจเนอเรชั่นที่ suffer

เจเนอเรชั่นเราจะโตมาเป็นพ่อแม่ของเด็กกลุ่มนั้นที่ไม่เหมือนกับเราตอนนี้

เรามองได้นะครับว่าภัยพิบัติธรรมชาติมีการทำForesight ไว้แล้ว เรื่องโรคอุบัติใหม่ก็มีการทำศึกษาวิจัยในระดับสากลหมดเลย

ถ้าเราเสิร์ชคำว่า 2050 ขึ้นมา ก็คือ พ.ศ. 2593 อีก 7 ปี จะ พ.ศ.2600 คุณจะเห็นภาพโลกปี 2593 แล้ว แอฟริกาเป็นยังไง ยุโรปเป็นยังไง ซึ่งภาพไม่ค่อยดีเท่าไหร่ในเชิงสภาพแวดล้อมของโลก คุณไม่ต้องรอรัฐ ถามว่าอีก 20 ปี แอฟริกาจะเป็นแหล่งความเจริญใหม่หรือเปล่า แน่นอน ทรัพยากรธรรมชาติ คนพูดภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส ความเปลี่ยนแปลงมุ่งไปที่แอฟริกา เพราะจีนมุ่งไปแล้ว ยุโรปอเมริกาเข้าไปก่อนแล้ว ถ้าเรามีเวลา เราต้องเชื่อมดูว่า ณ เวลานี้มีการมองอนาคตปี 2050 ปี 2600 อยู่ไม่ไกลเลย

ส่งท้ายซีรีส์ เมืองไทย 2555 อะไรรอเราอยู่ กับ พันธ์อาจ ชัยรัตน์ มองเมืองไทยจากปี 2600

ส่งท้ายซีรีส์ เมืองไทย 2555 อะไรรอเราอยู่ กับ พันธ์อาจ ชัยรัตน์ มองเมืองไทยจากปี 2600

อาเซียน 2600

อาเซียนสำคัญอยู่แล้ว เส้นทางเดินเรือที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลกคือมะละกา โจรสลัดก็เยอะแถวนี้ แล้วไปเยอะอีกทีที่โซมาเลีย ในเชิงโลจิสติกส์โลก เราสำคัญมาก ในเชิงการทำอาหารป้อนโลก ในอนาคตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังจะเพิ่มความสำคัญอีกเยอะ

แล้วอัตราการเกิดของประเทศในภูมิภาคจะลดลงๆ โดยปริยาย เพราะมีความเป็นเมืองมากขึ้น Food surplus จะลด เราผลิตอาหารเกินกินอยู่แล้วขนาดตอนนี้เสียไป 12 เปอร์เซ็นต์ก็ยังอยู่ได้

เรามีความสำคัญในโลกอยู่ 2 ข้อคือ แหล่งผลิตอาหาร และฮับของการกระจายสินค้า

การเมืองระดับโลกคงไม่แรง แต่ที่จะสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ คือความขัดแย้งภายในที่เป็นระเบิดเวลาวางไว้ทั้งไทยและมาเลเซีย ขณะที่ฟิลิปปินส์ต้องมองเรื่องของภัยธรรมขาติ ส่วนอินโดนีเซียน่าจะไม่มีอะไรรุนแรงมาก อนาคตน่าจะนิ่งขึ้น ที่เหลือก็มีเวสท์ปาปัว แต่ยังเป็นเรื่องที่จับตาในระยะสั้น

ที่จะแย่คือสิงคโปร์ อีก 10 ปีอยู่ลำบาก จะเอาคนเกษียณไปไหน หาคนรุ่นใหม่มาทำงานก็ยาก ไทยก็จะเป็นพื้นที่รองรับปัญหาของสิงคโปร์

ประชาชนจะนำอาเซียนเอง

รัฐบาลไทยคงไม่มีบทบาทมากเท่าไหร่ เพราะทัศนคติราชการ อาเซียนจะเป็นเป็ดง่อย แต่คนในกลุ่มประเทศเองจะแอคทีฟเยอะขึ้นจะเป็นตัวแปรทำให้อาเซียนเปลี่ยน คือทุกวันนี้มีเอเปกซึ่งระบบดีกว่า ถ้าอาเซียนไม่สามารถสร้างอัตลักษณ์ได้ดีพอๆ กับเอเปก มันจะถูกซ้อนทับไป เพราะประเทศสมาชิกก็ซ้อนกันอยู่แล้ว คุณจะฟังจาการ์ตา (อาเซียน) หรือฟังสิงคโปร์ (เอเปก) ในเชิงผลประโยชน์ เอเปกมีรัสเซีย อเมริกา ละติน ขณะที่อาเซียนเป็นเรื่องการสร้างคลับให้ผู้นำมาเจรจากัน แต่เอเปกมีบทบาทอื่น ถ้าอาเซียนบอกว่ามี AEC (ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน) แล้ว ในที่สุดแล้ว ประชาชนอาจจะนำอาเซียนเอง แต่องค์กรอย่างอาเซียนก็อยู่ไม่ได้ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพราะแรงกดดันมันอยู่ที่ว่าการบริหารงานเป็นแบบราชการมาก มีการประชุมรายกระทรวง มีรัฐมนตรีไปนั่งประชุมกัน เวียนกันเป็นเลขา ประชุมประจำปีแล้วก็จบ คณะทำงานไม่มีแรงทำ ไม่เหมือนอียู ที่บอกว่าจะเอาสไตล์ของอียูมาใช้ แต่อียูเขามีผู้แทนนะ อาเซียนไม่มี ในที่สุดก็เป็นงานรูทีนประจำปี

กองทัพเปลี่ยนแปลงจากภายใน การยอมรับจากประชาชนไม่ใช่ปัจจัยสำคัญ

กองทัพจะมีแรงกดันให้ต้องเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เป็นทหารมืออาชีพ role model ไม่ต้องไกล ทำอย่างทหารเรือ แรงกดดันต่อกองทัพจะมีอีกประมาณ 5-10 ปี แต่ตอนนี้ไม่มีนะ แรงกดดันให้กองทัพไม่ได้มีมาก ไม่เยอะถึง tipping point ตราบเท่าที่อเมริกายังไม่กดดันขนาดนั้น ก็ต้องดูที่เปลี่ยนแปลงจากสากล เช่น มีคนบอกว่าหลังน้ำลดกองทัพแข็งขึ้นเยอะ ผมว่าไม่เชิงนะ กองทัพหลังน้ำท่วมเป็นกองทัพเดิมไม่ได้แข็งขึ้น เพราะปฏิบัติหน้าที่ตามหน้าที่เขาเลย คนไทยต่างหากที่ emotional มากๆ กองทัพจะเปลี่ยนก็เปลี่ยนจากภายใน แต่ไม่ใช่ตอนนี้ การยอมรับหรือไม่ยอมรับจากประชาชนไม่สำคัญ ถ้าอย่างนั้นมันเปลี่ยนไปนานแล้วสิ คือการเมืองในที่สุดแล้วต้องดึงสมการกองทัพบกมา มันไม่ได้เปลี่ยนมาก เปลี่ยนมากมันต้องเปลี่ยนได้

การเมืองไทยน่าจะเปลี่ยนในปี 2570

การเมืองไทยคงเปลี่ยนช่วงปี 2570 เพราะนักการเมืองสามร้อยกว่าคนยังมีชีวิตอยู่และยังส่งทายาททางการเมืองมา เรื่อยๆ และถ้าจะเปลี่ยนกระบวนทัศน์มีพรรคการเมืองใหม่เกิดขึ้น แสดงว่า ณ ปีนั้น ปชป. และเพื่อไทยล้มแล้ว คนพร้อมใจกันไม่เลือก ถึงจะเกิดความเปลี่ยนแปลง แต่ ณ เวลานี้ คนเสื้อแดงยังเลือกพรรคเพื่อไทย คนที่เลือก ปชป. ก็ยังเลือก ปชป. สองขั้วไม่เปลี่ยน ถ้าพรรคการเมืองใหม่ๆ จะเกิดขึ้น เราก็ต้องลองวาดเรื่องราวดู ว่าอะไรคือ Tipping point ซึ่งเวลานี้ไม่มี ถ้าตัวละครซึ่งยังเป็นชุดเดิมจะขยับ ข้างบนยอมหรือยัง

คนเสื้อแดงจะลุกขึ้นมาปฏิเสธพรรคเพื่อไทยในเวลาอันใกล้?!

ใกล้...ถ้า ถ้าคุณเฉลิม (อยู่บำรุง) ยังไม่หยุดพูด หรือคุณอนุดิษฐ์ (นาครทรรพ) ยังตอบโจทย์ไม่ได้ อีกสักหกเดือนก็ลำบากแล้วล่ะ คนก็ยังรอบ้านเลขที่ 111 แต่คนบ้านเลขที่ 111 ก็ไม่ใช่ซุปเปอร์แมน

ส่งท้ายซีรีส์ เมืองไทย 2555 อะไรรอเราอยู่ กับ พันธ์อาจ ชัยรัตน์ มองเมืองไทยจากปี 2600

ก่อนปี 2600 มีภาพ Riot ไหม

มีครับ ผมคิดว่าความตายเท่าที่ผ่านมายังไม่มากพอด้วยซ้ำ ความวุ่นวายทางการเมืองอย่างรุนแรงน่าจะเกิดขึ้นประมาณ พ.ศ.2560 และช่วงวุ่นวายน่าจะประมาณ 10 ปี แต่เราผ่านได้อยู่แล้ว แต่ผ่านแบบไหนก็อีกเรื่องหนึ่ง

Rural Cosmopolitan (คนชั้นกลางในชนบท) โดยเฉพาะในอีสาน คนเหล่านั้นป็นใคร....เป็นอดีตสาวโรงงาน คนขับแท็กซี่ หรือเมียฝรั่ง เรามีร้านสะดวกซื้อทุกจังหวัด ถามว่าคนเหล่านี้หลายๆ คนจะอยู่กรุงเทพฯไหม ก็ไม่อยู่ เขาสามารถใช้ชีวิตในหมู่บ้านได้ คนเหนือไม่อายที่จะพูดคำเหนือในกรุงเทพฯ เมื่อก่อนคนอีสานอาจจะอายแต่เดี๋ยวนี้ไม่อายแล้ว แสดงว่าเขามีความภูมิใจในอัตลักษณ์ของเขา สภาพแวดล้อมในตัวเมือง ที่อำเภอเมือง คนไม่ต่างกับในกรุงเทพฯ แต่คนกรุงเสียอีกที่ความสามารถในการใช้ชีวิต (Survival Rate)ต่ำ

อัตลักษณ์นี้ มันเอามามัดกันแบบข้าวหลามไม่ได้ แต่ต้องยอมให้มีความหลากหลาย นั่นแสดงว่าคุณเชื่อว่าความหลากหลายทางประชาธิปไตยเกิดขึ้น มันเชื่อมโยงกับความหลากหลายทางประชาธิปไตย คำพูดแบบพลเอกประยุทธ์ (จันทร์โอชา) ที่ไล่คนออกจากประเทศนั้น ใช้ไม่ได้ เพราะว่าประชาธิปไตยมันเป็นการเคลื่อนตัวของการปฏิสัมพันธ์กับคนที่อยู่รอบๆ สังคม บางครั้งมันเลยเถิด แต่ถ้า Very Conservative ก็จะถูกตบๆ เข้ามา มันไม่ได้มีจุดสมดุล แต่มีจุดที่อยู่กันได้ เป็นจุดกระเพื่อม มันจะไม่มีลิมิต มันมีจุดตกต่ำได้ มี Riot (ความวุ่นวาย) ได้

ทำไมมันต้องมี Riot ผมคิดว่ามีคนอยากให้มี และมีคนไม่อยากให้มี มันอาจจะเหมือนปฏิวัติฝรั่งเศส รัสเซีย อังกฤษสมัยพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 เราเคยหยุดความเปลี่ยนแปลงแบบรุนแรงได้ในตอนเลิกทาส ตอนนั้นป็นการปกครองอีกแบบ แต่ตอนนี้ไม่ใช่ แล้วไม่ต้องไปโทษคนชื่อทักษิณ โทษตัวเราเองทุกคน เพราะเราทุกคนเป็นหุ้นส่วน เพียงแต่ทักษิณเขาเสียงดังกว่าเรา ถ้าไม่อยากให้รุนแรง ก็ต้องคุยกัน แต่คุยกันก็ค้องไม่ตัดคนส่วนใหญ่ออกไป ตอนนี้เขากำลังตัดคนส่วนใหญ่ของประเทศออกไปจากโต๊ะเจรจา

อย่างไรก็ตาม ถ้าเราเอาการเมืองตั้งก็อาจจะเห็นภาพแบบนี้ แต่ถ้าเราเอาสภาพแวดล้อมอื่นมาผนวกอาจจะไม่เกิดความรุนแรงก็ได้ เช่นสภาพแวดล้อมธรรมชาติอย่างมโหฬาร การเมืองอาจจะต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อให้อยู่รอดได้ หรือการเกิดโรคระบาดอย่างรุนแรง ฉะนั้นปัจจัยภายในอย่างเดียวบอกไม่ได้ว่าจะเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงหรือไม่ นี่คือข้อดีของ foresight เพราะไม่ได้มองด้านเดียว ปัจจัยอื่นๆ เราก็จะไม่ตัดออกไป แต่มองว่า ภัยธรรมชาติจะช่วยได้เยอะ แต่ภัยธรรมชาติแบบน้ำท่วมคราวนี้ไม่ใช่ ต้องเจอแบบพายุ หรือสึนามิ มาเร็วไปเร็ว เสียหายเยอะ แต่คราวนี้กลายเป็นว่านักการเมืองก็ไปพิสูจน์ความอึดของกองเชียร์แทน

เมืองไทยปี 2555...คำถามสำหรับปีนี้คือ “เรากำลังทำอะไรกันอยู่”

สังคมไทยในปี 2555 ยังเป็นสังคมที่มีความแตกแยกและเยอะขึ้นด้วย น้ำท่วมไม่ได้ช่วยให้ลดลง ความขัดแย้งเยอะขึ้นเพราะตัวเลือกในการสมานฉันท์ก็ยิ่งลดลง ด่าพ่อล่อแม่กันเยอะขึ้น แต่ความรุนแรงใหญ่ๆ คงไม่มี ความขัดแย้งคงไม่พ้นตามหน้าสื่อ ตามโซเชียลมีเดีย แต่ความขัดแย้งรุนแรงขนาดที่เกิดขึ้นใน พ.ศ. 2553-2554 คงไม่มี แต่จะเป็นความขัดแย้งประปราย การรณรงค์ทางการเมืองก็สร้างสรรค์นวัตกรรมมากขึ้น

จะเกิดกลุ่มใหม่ คือกลุ่มที่อยู่ตรงกลางๆ ของปิรามิด จะเริ่มตีเฉดออกมา เหลือง-แดงบางกลุ่มคุยกันได้ นั่นเป็นตัวชะลอความขัดแย้งทางอ้อม เพราะกลุ่มนี้ต้องสร้างความเชื่อถือเชื่อมั่น แต่สังคมไทยจะเป็นสังคมที่จะมีปัญหาเรื่องการนิยามตัวเองเพิ่มขึ้นมาอีกว่า “ตกลงเรากำลังทำอะไรกันอยู่” สองปีที่ผ่านมา ผมพูดเรื่องอนาคตเยอะนะครับ ปีหน้าคนคงพูดเรื่องเรากำลังทำอะไรกันอยู่มากขึ้น และเราทำไปเพื่ออะไร

ในเรื่องของเทคโนโลยี ที่น่าสนใจคือเรื่องของไอซีที ว่ากสทช. จะเอาอย่างไร แต่เรื่องการวิจัยก็ไปเรื่อยๆ ไม่เปลี่ยนแปลง น่าเสียดาย

เศรษฐกิจไม่ตกต่ำมาก เพราะว่า หนึ่ง มีการบูรณะ สองคือ อุตสาหกรรมบ้านเรามีความหลากหลาย ไม่เหมือนบางประเทศที่มีอุตสาหกรรมไม่กี่แบบ การย้ายฐานอุตสหากรรมจะเกิดจากปัญหาค่าแรงมากกว่า เศรษฐกิจปีหน้าน่าจะเคลื่อนมาที่ภายในประเทศมากกว่าระหว่างประเทศ และกลุ่มทุนต่างชาติเข้ามามากขึ้น เป็นโอกาสที่จะมาควบรวมกิจการ หรือธุรกิจที่ไม่มีความเสี่ยง เช่นอาหาร การท่องเที่ยว การบริการ

ด้านสิ่งแวดล้อม ผมว่าปีนี้เป็น Warning Alarm ปีหน้าน่าจะมีทั้งร้อนหนาวและฝนตกมาก หนึ่งจะเกิดโรคระบาด ปีหน้าไม่ต่างจากปีนี้ เหตุผลที่บอกว่า ปีหน้าไม่ต่างจากปีนี้เพราะว่าจากสถิติมันทับซ้อนกัน เพราะว่า ตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา มีกระบวนการคล้ายๆ กันมาก คือสถิติมันเพี้ยนไปหมด ทั้งปริมาณน้ำ หรือสภาพอากาศ มันจะไม่เปลี่ยนเยอะ แต่ถ้ามันมีการเปลี่ยนแปลงเชิงกายภาพของโลกอีกสัก 2-3 ปี อาจจะมีรูปแบบของการเปลี่ยนแปลง โครงสร้างใหม่ มันก็จะเป็นเหมือนเดิม ปัญหาคือคนจะเริ่มตั้งคำถามว่า ปชป. ทำไม่ได้ เพื่อไทยก็ทำไม่ได้ แล้วเราจะทำอย่างไร ฉะนั้นปีหน้าคนทุกราศีก็จะตั้งคำถามกับตัวเองว่า แล้วเราจะทำอย่างไรดี เราจะอยู่อย่างไร (หัวเราะ)

สื่อต้องปรับตัวมหาศาล สื่อเล็กไม่มี มีแต่สื่อใหญ่กับสื่อพลเมือง

สื่อหลักคงต้องมี แต่การสื่อสารด้วยตัวเองมันเรียลไทม์ มันจะเร็วมากจนสื่อกระแสหลักต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองหน้ามือเป็นหลังมือเลย เพราะตัวคนแต่ละคนเป็นสื่อได้เอง สื่อในอนาคตไม่ต้องรอ พ.ศ. 2600 ใน 10 หรือ 20 ปีข้างหน้านี้ สื่อหลักต้องปฏิวัติมหาศาลอีกรอบ

คนจะแสวงหาสื่อเฉพาะด้านซึ่งจะเป็นปัญหามาก ถ้าไม่แก้ตรงนี้ ถ้ายังปล่อยให้เป็นอย่างนี้ คนจะไม่อยากเสพสื่อที่แตกต่าง ข่าวหนึ่งมี 100 เวอร์ชั่น แล้วคนยินดีจะตามเฉพาะเวอร์ชั่นที่ตัวเองชอบ

ผมมองว่าเทคโนโลยีมันอนุญาตให้ห้องไม่กี่ตารางเมตรเป็นสถานีได้ สื่อกระแสรองจะไม่มีแล้ว จะมีแค่สองพวกคือ สื่อ กับประชาชน ไม่มีเล็กๆ แบบปลาซิวปลาสร้อย เพราะเนื้อหาทุกวันนี้ก็แทบสำลักตายอยู่แล้ว เทคโนโลยีบีบให้สื่อต้องปฏิวัติ แต่จะปฏิวัติอย่างไร

ถ้าสื่อหลัก เริ่มตันด้วยข่าวการเมือง บิกินี และอาชญากรรม แต่ไปดูสื่ออื่น การเมือง แต่ก็มีเรื่องอื่น วิทยากรความรู้ แล้วย่อยให้เป็นภาษาชาวบ้าน ภาษามนุษย์ นี่สำคัญมาก แต่สื่อไม่ทำ อาจจะโต้ว่าคุณเป็นนักวิชาการคุณก็พูดแบบนี้ แต่มันไม่ใช่ เพราะความรู้นั่นแหละที่ในที่สุดแล้วเอาไปวิเคราะห์การเมือง เศรษฐกิจ สังคมได้ ตัวอย่างข่าวจันทรุปราคาที่ผ่านมา ผมว่าแค่ภาพถ่ายก็สอบตกแล้วทั้งประเทศ ภาพถ่ายดวงจันทร์คุณเอากล้องอะไรไม่รู้มาถ่าย ได้ภาพมัวๆ แล้วคุณไม่โยงกับเรื่องอื่น คุณโยงแต่เรื่องโหราศาสตร์

ด้านเนื้อหาในสื่อ ผมว่าปี 2600 ไม่เหมือนเดิมแล้ว มันเปลี่ยนเพราะรูปแบบการเมืองคงมีเสถียรภาพมากกว่าเยอะ เพราะว่า Global Governance คงไม่ยอมให้เกิดความวุ่นวายขึ้น ถ้าเราสามารถสร้างสื่อพวกนี้ สื่อต่างๆ เล่นกับข้อมูลได้เยอะ สื่อไทยก็เปลี่ยนไปอีกเยอะ

ทำความรู้จักกับ Foresight Research

1) Foresight คืออะไร

เป็น Action Research เมื่อก่อนใช้คำว่า Future Study (อนาคตศาสตร์) แต่ตอนนี้เราใช้คำว่า Foresight

2) Forecast (พยากรณ์) Vs Foresight ต่างกันอย่างไร

มองคนละช่วงเวลา Forecast มองจากปัจจัยในปัจจุบัน แต่ Foresight มองว่าวันนี้เป็นวันที่ 21 ธ.ค. 2600 คนส่วนใหญ่มองจากภาพอนาคตมองกลับมา แต่ Forecast มีหน้าที่มองอนาคตระยะสั้น เก่งเรื่องมอนิเตอร์กับพรีวิว พูดง่ายๆ ว่าใช้สมองคนละด้าน

Foresight ต้องนอกกรอบมากๆ เพราะความไม่แน่นอนสูง เพราะพ้นระยะคาดการณ์จากห้าปีไปแล้ว

3) ใครบ้างทำ Foresight

บรรษัทเอกชน และอีกหลายประเทศทำ Foresight เพื่อหาแนวทางสำหรับอนาคต เช่น บริษัทเอกชน อุตสาหกรรมพลังงานกับการขนส่ง เขาพยายามเจาะหาแนวโน้มในตลาดจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีเทคโนโลยีโรดแมป นี่ก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง เป็น Corporate Foresight ซึ่งจะมีเยอะขึ้น เป็นอีกระดับหนึ่ง คือมีระดับชาติและระดับบรรษัท คอร์เปอร์เรท สมมติว่าวิจัยตอนนี้อาจจะใช้เวลา 7 ปีจากนี้

ในระดับรัฐบาล มีหลายประเทศ เช่น สิงคโปร์ แอฟริกาใต้ ฯลฯ ตอนนี้รัฐบาลอังกฤษพยายามค้นหาอัตลักษณ์ของคนอังกฤษในอนาคต คือ เขามองว่าแนวโน้มคนอังกฤษมีสไตล์อย่างไร การใช้พลังงาน อนาคตของประตูหน้าต่างพื้นบ้านคนอังกฤษเป็นยังไง

เป็นกระบวนการระดมความคิดเห็น แต่กระนั้น ก็มีสองพวก ถ้าเราปล่อยให้คนบางกลุ่มทำ เขาก็ทำประชาพิจารณ์แบบเดิม คือเอาร่างไปเสนอแบบนี้เอาไหม แต่ Foresight เราไม่มีกรอบมาก่อน คือให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมคิดตั้งแต่ต้น ไม่ใช่ทำวิจัยแล้วไปขอความเห็น

4) Foresight หาคำตอบอย่างไร

การทำ Foresight คือเราไม่ปฏิเสธใครเลย แต่เราต้องการดึงประเด็นออกมาให้มีความหมาย make sense ไม่ใช่บอกว่าเราทำวิจัยหมดแล้ว ไม่ต้องทำอะไรเพิ่ม คือต้องให้คนอื่นมีส่วนร่วมในไอเดีย

ตัวอย่างหนึ่งคือ ลำพูน ตอนแรกที่เราไปคุย กับนายกเทศมนตรี อ.เมืองลำพูน โชคดีมากที่เทศบาลเมืองลำพูนรับทุนสหภาพยุโรปในการทำประชาพิจารณ์มาแล้ว ประมาณ 3-4 ครั้ง เทศบาลฯ คุ้นกับการทำกระบวนการการมีส่วนร่วม รัฐท้องถิ่นกับชุมชนคุ้นเคยกัน เมื่อเราชวนมาทำเขาก็เต็มที่ เราก็เทรนคนที่จะเข้าร่วมกระบวนการกับเรา ก่อนทำเราก็หาแบกกราวด์ หาคีย์เวิร์ดของชุมชนลำพูน มีสิบกว่าคำ มีคำว่านิคมอุตสาหกรรม ซึ่งถามใครเขาก็พูดถึง แปลว่ามันสำคัญกับเขา เราก็ทำแบบสอบถามให้เขาไปอ่านก่อน แล้วเข้ากลุ่มคุยกัน หาประเด็นร่วมกัน ทำอยู่สามรอบ การกลับมาร่วมแสดงความเห็นสูงมาก เก้าสิบกว่าเปอร์เซ็น

แต่ถามว่าหลังจากนั้นเกิดอะไรขึ้น ก็เป็นไอเดียของนักการเมืองท้องถิ่น แต่ผมไม่ได้มองว่าทุกเมืองจะเวิร์ก บางแห่งที่เป็นเมืองใหญ่อาจจะมีเจ้าของพื้นที่อยู่แล้ว เขาก็จะบอกว่าเขามีแผนสำหรับอนาคตแล้ว แต่จริงๆ แล้วไม่มี

5) มองไกลแต่ไม่ทิ้งปัจจัยระยะสั้น

ถ้าเราติดอยู่กับบริบทปัจจุบันอย่างเดียว เราก็จะไม่เห็นทางออก แต่ไม่ได้แปลว่าจะไม่เอาบริบทปัจจุบันมาเป็นปัจจัยในการวิเคราะห์คาดการณ์ แต่สิ่งเหล่านี้จะถูกดึงเข้ามาในกระบวนการ เพราะถ้าฝันเฟื่องไปไกลมาก มันจะถูกตบ ขณะที่คนที่ Expert มาก มองภาพความเป็นจริงมา ก็จะถูกดึงมาว่าอย่ามองแบบนี้ ถ้ามองแบบนี้ไปไม่ได้

6) Foresight เป็น Positive Thinking หรือเปล่า

เรามองเชิงบวก และเราก็มองเชิงลบด้วย ภาพอนาคตบวกมากๆ เราก็ต้องทำ ลบมาก เราก็ต้องทำ เฉยๆ ไม่เปลี่ยนแปลงเลยก็ต้องทำ ถามว่าพลังบวกไหม เป็นพลังบวกส่วนหนึ่ง บวกลบคูณหารแล้วก็ยังบวก แต่เป็นพลังบวกเพียวๆ คงไม่ใช่เพราะไม่ได้มองโลกดีขนาดนั้น

7) ปัญหาของ Foresight

บางคนก็ยังไม่ซื้อไอเดีย บางคนก็เริ่มทำบ้างแล้ว ที่ผ่านมาก็พยายามใส่ข้อมูลต่างๆ จากทั่วโลก ลงไปในเฟซบุ๊ก ที่น่าสนใจคือแอฟริกาในปี 2050 ถามว่าเมืองไทยทำไมไม่ทำ เราจะมัวรอเสนอให้นายกยิ่งลักษณ์ทำไหม คุณพันธ์ศักดิ์ (วิญญรัตน์) ทำไหม เราทำแล้วเขาเอาไปอ่าน เขาเอาไปใช้นั่นก็เติมเต็มสิ่งที่เราทำแล้ว

มองในแง่นี้ แต่การเมืองภาพใหญ่ไม่ใช่ปัญหา แต่ถึงเวลาที่เราจะเอามาใช้ล่ะ

มีแนวทางอยู่สามอย่าง หนึ่งคือ ถ้าเราพยายามเจาะในแนวของนโยบาย จะใช้เวลามาก เพราะหน่วยงานไหนจะเป็นคนดำเนินการก็ไม่รู้ สอง ถ้าเราไม่ทำอย่างนั้น รัฐมีหน้าที่เป็นผู้มีส่วนร่วม ประชาสังคมต้องยกประเด็นแล้วทำงานร่วมกับหน่วยงานราชการ

สามคือ ไม่ต้องไปสนแล้ว เพราะในที่สุดแล้วรัฐจะมีกระบวนการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เป็นสุดโต่งอีกทาง แต่ตอนนี้เรามองแต่ภาพแรก คือให้คนที่มีหน้าที่ทำ ไปหาคุณอภิสิทธิ์ทำไหม คุณยิ่งลักษณ์ทำไหม ถีงเวลาก็มีเรื่องฉุกเฉินอื่นๆ ขึ้นมา คือเมื่อก่อนเราทำแบบแรกเยอะแต่มีปัญหามาก

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม