ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Thursday, 5 January 2012

เมืองไทย 2555 อะไรรอเราอยู่ ตอน 5: คุยกับวาสนา ลำดี ขบวนการแรงงานหลังวิกฤตน้ำท่วม

ที่มา ประชาไท

คุยกับ “วาสนา ลำดี” อดีตคนงานที่ผันตัวมาทำงานด้านสื่อของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ร่มใหญ่ของแรงงานหลากหลายกลุ่ม ในฐานะผู้มองเห็นปัญหาของคนงานกลุ่มต่างๆ ผ่านการบรรณาธิการข่าวนำเสนอในเว็บวอยซ์เลเบอร์ voicelabour.org ที่ถือเป็นเว็บที่มีชิ้นงานจากผู้ใช้แรงงานเองมานำเสนออย่างต่อเนื่องตลอดปีที่ผ่านมา


ปี 55 มีอะไรที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ

เรื่องของการพิพาทแรงงาน ปัญหาการเลิกจ้าง ซึ่งเป็นผลกระทบจากน้ำท่วม การถูกกระทำ-ถูกละเมิดสิทธิของคนงาน การพลิกแพลงการใช้กฎหมายของภาครัฐกับนายจ้าง ข้อกล่าวหานี้อาจดูรุนแรง แต่จากพฤติกรรมการช่วยเหลือคนงานในช่วงน้ำท่วม จะเห็นว่ามีแต่นโยบายที่ไม่เอื้อประโยชน์ให้คนงาน มีการพยายามชี้ว่าการกระทำของนายจ้างถูกแล้ว ทำให้คนงานต้องยอมรับสภาพ

ต้องดูว่าการเลิกจ้างครั้งใหญ่จะมีวาระซ่อนเร้นในการเลิกจ้างหรือไม่ ที่ผ่านมา กลุ่มแรกที่ถูกเลิกจ้างในย่านอ้อมน้อยอ้อมใหญ่ สมุทรสาคร นครปฐม คือแรงงานข้ามชาติ ขณะที่ในอยุธยา ปทุมธานี กลุ่มแรกที่ถูกเลิกจ้างคือ แรงงานเหมาค่าแรง ตามมาด้วยสหภาพแรงงานและคนแก่ รวมถึงต้องจับตานโยบายขึ้นค่าจ้าง 300 บาทด้วย

นอกจากนี้ยังมีเรื่องแนวคิดการนำเข้าแรงงานข้ามชาติของกระทรวง แรงงาน ด้วยเหตุผลว่าภาคอุตสาหกรรมกำลังขาดแคลนแรงงาน โดยที่ไม่ได้พูดถึงการคุ้มครองเลย คือต้องดูว่าการนำเข้าเป็นแบบผิดกฎหมายหรือถูกกฎหมายกันแน่ และมีความปลอดภัยแค่ไหน ที่จดทะเบียนแรงงานข้ามชาติกันมาก็ไม่เคยได้ตัวเลขทั้งหมดว่ามีแรงงานข้าม ชาติอยู่ในไทยเท่าไหร่

ในช่วงน้ำท่วม ก็จะเห็นว่าแรงงานเหล่านี้ไม่กล้าออกมาจากที่พัก เพราะเขาเข้ามาแบบผิดกฎหมาย บ้างก็กลัวว่าออกมาแล้วจะถูกยึดบัตรไหม บางคนมาร้องเรียนว่านายจ้างไม่ได้เลิกจ้าง แต่ไม่จ่ายค่าจ้าง ไม่ให้บัตร แต่บอกว่าจะหางานที่อื่นก็ไป ให้เวลาคิดอีกสามวัน แล้วกลับมาคุยใหม่ พวกเขาเลยเป็นคนผิดกฎหมาย หางานทำก็ไม่ได้ จะย้ายก็ไม่ได้ เพราะตามกฎหมาย นายจ้างต้องทำใบเลิกจ้างก่อน

ดังนั้น จะต้องจับตารายละเอียดการนำเข้าแรงงานข้ามชาติ ว่าจะดูแลเขาแบบไหน

นโยบายการลดเงินสมทบประกันสังคม ที่เหมารวมผู้ได้รับผลกระทบจากประมาณล้านคนกลายเป็นเก้าล้าน สถานประกอบจากเพียงพันกว่าแห่งกลายเป็นสามแสนกว่า มันมากเกินไป ไม่จำเป็นต้องทำขนาดนั้น มีคำถามว่าต้องการช่วยคนงานจริงหรือไม่ จะเห็นว่า แรงงานนอกระบบที่ประกันตนเองตามมาตรา 40 ก็ไม่มีความชัดเจนว่าจะได้รับความช่วยเหลืออย่างไร ผู้ประกันตนเองโดยสมัครใจตามมาตรา 39 ก็ยังต้องจ่ายเงินสมทบของตัวเองตั้ง 400 กว่าบาท ดูเหมือนรัฐจะเน้นที่สถานประกอบการมากกว่า

คือมันมีผลกระทบทั้งทางอ้อมและทางตรงก็จริง แต่ควรไปดูแลว่ากระทบจริงไม่จริง ควรมีระบบตรวจสอบและประเมินด้วย แต่อันนี้ใช้วิธีการสุ่ม โยนไปหมดเลย ซึ่งจะกระทบแน่นอนต่อกองทุนประกันสังคมในอนาคต ซึ่งจะต้องเริ่มจ่ายชราภาพในปี 57 และตอนนี้ยังมีผลพวงจากการเลิกจ้าง ที่ไม่แน่ใจว่าคนงานที่อายุมากจะมีความสามารถจ่ายสมทบในมาตรา 39 ได้หรือไม่ และจะมีคนงานเข้าสู่มาตรา 39 หรือ33 อีกได้แค่ไหน เพราะฉะนั้น การลดเงินสมทบจะมีผลกระทบแน่นอน

นอกจากนี้ การมีมาตรการเพิ่มสวัสดิการต่างๆ เช่น จ่ายค่าคลอดบุตร ฯลฯ ก็ไม่สอดคล้องกับความต้องการของคนงานที่ไม่มีงานทำ ความต้องการของคนงานในปี 55 คือต้องการดำรงชีวิต มีคำถามว่าจะอยู่ยังไง หกเดือนจะหางานได้ไหม มองว่า ประกันสังคมควรเอาเงินไปช่วยประกันการว่างงาน 2-3 เดือนที่ผ่านมามากกว่าการลด แลก แจก แถม

แรงงานกลุ่มอื่นๆ ที่ต้องจับตา
ระบบการเหมาช่วงการทำงาน หรือเกษตรพันธสัญญา ที่เหมือนการรับงานมาผลิตเอง มีที่ดิน สร้างสถานประกอบการของตัวเอง เล้าไก่เล้าหมูเอง การเป็นหนี้เป็นสินจะมากขึ้น เพราะหลังจากน้ำท่วม มีความเสียหายจำนวนมาก และรัฐเองก็ไม่ได้ดูแล แม้แต่เจ้าของสถานประกอบการก็ลอยตัว การแค่เอาข้าวสารไป 1 กระสอบ หรืออาหารสัตว์เท่าจำนวนสัตว์ที่เหลืออยู่ คิดว่าไม่ใช่ความช่วยเหลือที่ควรจะช่วยเหลือกัน บริษัทควรจะช่วยเหลือเขาด้วย ควรจะให้ฟรีด้วยซ้ำไป เพราะเหมือนกับเขาลงทุนที่ดินแล้ว คุณก็ควรจะลงทุนอย่างอื่นๆ ให้เขาด้วยไม่ใช่ขายให้ทุกอย่าง ตั้งแต่ยา ไก่ พันธุ์ อาหาร แล้วก็มานัดเวลาวันจับ เหมือนแค่เขามีคนซื้อประจำ ไม่ต้องไปเร่ขายเอง ซึ่งก็ไม่แน่นอนจริง เพราะถ้าหมูไม่ได้น้ำหนักตามที่กำหนดก็ไม่เอา น้ำหนักเกินก็ไม่ได้ ราคาตก ถามว่าทำไมต้องให้เขาแบกรับทุกอย่าง ภาครัฐก็ต้องดูเรื่องสัญญาที่เป็นธรรมให้เขาด้วย ซึ่งตรงนี้ไม่มี

หากบอกว่าจะไทยเป็นครัวของโลก อาหารต้องมีคุณภาพ คนที่สร้างอาหารก็ต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ใช่อยู่บนภาระรุงรังของหนี้สิน ข้าว-เมล็ดพันธุ์ที่หายไปจะมีแนวทางอย่างไร รัฐต้องเข้าไปช่วยเขา ไม่ใช่ให้เขาช่วยตัวเอง หรือไปซื้อจากบริษัทอื่นๆ ที่จะเอาของใหม่มาลงให้เขาพร้อมกับหนี้ที่จะเกิดขึ้น เป็นพันธะที่ทำให้ชีวิตของเขาไม่มีโอกาสหลุดพ้นจากหนี้ได้

ก่อนหน้านี้ เคยมีการประมวลข้อเสนอระยะยาวของขบวนการแรงงานว่าต้องยกเลิกการจ้างงานแบบ เหมาค่าแรงไปเลย การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ปีนี้จะเป็นอย่างไร (ข่าวที่เกี่ยวข้อง)
การขับเคลื่อนให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ฉบับที่ 87 (เสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว) และฉบับที่ 98 (การรวมตัวและร่วมเจรจาต่อรอง) การปฏิรูประบบประกันสังคม และการแก้ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ อาจดูเฉื่อยชา เนื่องจากที่ผ่านมาเจอกับวิกฤตน้ำท่วม จริงๆ ในขบวนยังมีการพูดคุยอยู่ว่าต่อไปจะต้องทำอะไร แต่อาจจะไม่ได้สื่อสารออกไปให้สื่อมวลชนได้รับรู้มากนัก

ในส่วนอนุสัญญาฉบับที่ 87 และ 98 กับการแก้ไข พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ อาจต้องขับเคลื่อนคู่กันไป เพื่อให้เกิดการคุ้มครองแรงงาน เรื่องการจัดตั้งสหภาพแรงงาน การรวมกลุ่มของคนงานจะต้องเกิดขึ้น และโดยเกิดกับแรงงานทุกกลุ่ม ไม่ใช่แค่แรงงานในระบบ

สิทธิการรวมตัวของแรงงานจะทำให้เขาได้รับสวัสดิการ ความเท่าเทียม ความเป็นธรรม และอำนาจในการต่อรอง อย่างกรณีขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ถ้าเป็นคนงานที่มีสหภาพฯ เขาสามารถรวมกลุ่มดูแลตัวเองได้ มีความเท่าเทียมกันในการเจรจาต่อรองแบบมีศักดิ์ศรีระหว่างลูกจ้างกับนายจ้าง ไม่ใช่ว่ารัฐจะต้องเข้ามาดูแลตลอด คุณอาจจะปล่อยมือบ้างได้ ถ้ามีการรวมตัวกันแบบเข้มแข็งของแรงงาน บางพื้นที่บางสถานประกอบการอาจจะได้ค่าจ้างมากกว่า300บาทก็ได้

ที่ผ่านมา สถานประกอบการจ้างงานแบบเหมาค่าแรง หรือแรงงานข้ามชาติ เพื่อเป็นเครื่องมือในการต่อรองกับแรงงานที่มีการรวมกลุ่มกันอยู่แล้ว เช่น ปิดงานสหภาพแรงงาน แล้วเอาคนงานเหมาค่าแรงมาทำงานแทน ซึ่งสภาพการทำงานของแรงงานเหมาค่าแรงตอนนี้เลื่อนลอยมาก ไม่มีหลักแหล่ง ไม่มีความเป็นกลุ่มก้อน ถ้ามีบางสหภาพแรงงานไปจัดตั้งคนงานเหมาค่าแรง นายจ้างก็จะคืนสภาพการจ้างบริษัทนั้นซะ ก็ต้องยกออกมา การจัดตั้งก็หมดไป ตอนนี้มีความพยายามต่อรองของสหภาพแรงงานยานยนต์หรือเครื่องใช้ไฟฟ้า ให้ลดจำนวนคนงานจ้างเหมาค่าแรง หรือปรับคนงานเหมาค่าแรงเป็นพนักงานประจำหลังจากพัฒนาฝีมือแล้ว อันนี้ก็พอแก้ปัญหาได้

ถ้าเป็นรัฐมนตรี ก่อนอื่น ต้องตรวจสอบสภาพการจดทะเบียนของบริษัทเหมาค่าแรง ความเป็นหลักแหล่ง การส่งคนเข้าไปทำงานในโรงงานต่างๆ ต้องเข้าไปตรวจสอบว่าเขาเป็นใคร เขาจัดสวัสดิการอย่างไร ค่าหัวที่ได้รับเป็นอย่างไร สิทธิต่างๆ ก็ต้องเข้าไปดูแล ไม่ใช่ปล่อยไปตามเวรตามกรรม

ปี 2558 จะเกิดประชาคมอาเซียน มีการเปิดเสรีด้านต่างๆ แรงงานมีการเตรียมการอย่างไรบ้าง
ส่วนของขบวนการแรงงานคุยกันเองน้อย ขณะที่ผลกระทบจากการเปิดเสรีแรงงานจะทำให้ประเด็นปัญหาแรงงานรุนแรงมากขึ้น ทั้งแรงงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศ และแรงงานต่างประเทศที่เข้ามาทำงานในไทย เพราะนโยบายของรัฐมนตรีแรงงานคือการพัฒนาฝีมือแรงงาน พัฒนาทักษะภาษาเพื่อส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ และมีแนวคิดคุ้มครองให้สามารถย้ายงานได้หากไปแล้วไม่ประสบผล มีคำถามว่าคุ้มครองทั้งระบบจริงหรือเปล่า แรงงานไทยไปต่างประเทศ ทุกวันก็ยังมีที่ลักลอบไปต่างประเทศ เสียค่าหัวค่อนข้างแพง จะได้รับการคุ้มครองไหม แรงงานต่างประเทศที่มาทำงานในประเทศไทยจะดูแลเขาแบบเดียวกันไหม ฉะนั้น การคุ้มครองแรงงานต้องมีกลไกที่เข้มแข็งมากกว่านี้ และดูกฎหมายระหว่างประเทศให้ดูแลทั้งหมด ระบบประกันสังคมก็ต้องครอบคลุมทั้งหมด ทั้งแรงงานไทย แรงงานต่างชาติที่มาทำงานในไทยและแรงงานไทยไปทำงานที่อื่น ถ้ากลไกยังไม่พัฒนาได้ขนาดนั้น การเปิดเสรีอาเซียนจะทำให้การกดขี่แรงงานหรือละเมิดสิทธิแรงงานแรงขึ้น


จะผลักดันให้เกิดการคุยกันได้อย่างไร

ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานก็ไม่ได้มีแนวคิดที่จะเอาขบวนการแรงงานทั้งหมดมานั่งคิดนั่ง คุยกันว่าเปิดประเทศแล้วระบบจะเป็นแบบนี้ๆ นะ มันต้องมีวิสัยทัศน์ทั้งหมด ไม่ใช่ให้แรงงานไปค้นคว้าหาเอาเอง ว่าอาเซียนมีกลไกคุ้มครองแรงงานอย่างไรบ้าง มีอะไรที่บอกว่าจะดูแลกันบ้าง คือแรงงานเขาทำงานในโรงงานมากกว่าแปดชั่วโมงอยู่แล้วต้องไปนั่งดูหรือ ฉะนั้นต้องมีกลไกคุยในส่วนของแกนนำหลักของขบวนการแรงงานทั้งหมด ให้รู้ว่าต่อไปจะคุณต้องเจออะไรบ้าง และเขาคิดยังไง ต้องมีการทำประชาพิจารณ์กันบ้าง พูดคุยกันบ้าง ไม่ใช่กระทรวงแรงงานก็บอกว่าจะทำของฉันอย่างนี้ ต้องพัฒนาฝีมือแรงงาน ฝึกภาษาอังกฤษ มองแค่นี้ไม่ได้

มองกลับไปปีที่แล้ว (54) ปรากฏการณ์อะไรที่ส่งผลกระทบต่อขบวนการแรงงาน
ช่วงการเลือกตั้งใหญ่ ขบวนการแรงงานกระตือรือล้นมากในการใช้สิทธิเลือกตั้ง ด้วย นโยบายประชานิยมต่างๆ ซึ่งไม่เคยเห็นปรากฏการณ์แบบนี้นานแล้ว การที่เขาตั้งใจไปเลือกตั้งโดยนโยบายที่พรรคการเมืองให้ เช่น นโยบาย 300 บาท ซึ่งอาจไม่ต่างจากการขึ้นค่าแรงเป็นเปอร์เซ็นต์ของประชาธิปัตย์มากนัก แต่เห็นตัวเลขชัดเจนกว่า และเรื่องของนโยบายคุณภาพชีวิต เช่นเรื่องประกันสังคม การคุ้มครองสิทธิจัดตั้งสหภาพแรงงาน มีความชัดในตัวของมันอยู่ ก็ทำให้การทุ่มเทคะแนนเสียงลงไปเยอะ มีการยื่นข้อเสนอของแรงงานครบทุกกลุ่ม ทั้งในระบบ นอกระบบ ข้ามชาติ เกษตรพันธสัญญา มีการทำงานขับเคลื่อนให้ทำตามนโยบาย ล่าลายมือชื่อเสนอกฎหมาย ล่าลายมือชื่อ เพื่อให้ทำตามนโยบายค่าจ้าง 300 บาท เหมือนเตือนว่าภาคประชาชนเริ่มโต เริ่มคิดว่าจะต้องเสนอนโยบายของตัวเองต่อรัฐบาล แต่การตอบรับอาจจะดูน้อย

การตื่นตัวนี้จะส่งผลอย่างไรต่อขบวนการแรงงาน
ทำให้ขบวนการประชาธิปไตยเติบโตมากขึ้น จากคนงานที่ไม่เคยใช้สิทธิเลือกตั้งเลย ก็ลุกขึ้นมากา เพราะมีนโยบายแรงงาน ก่อนหน้านี้ พรรคการเมืองไหนก็ไม่เคยมีนโยบายด้านแรงงานเลย อาจมีเรื่องสวัสดิการแบบกว้างๆ แต่ไม่มีอะไรที่เฉพาะเจาะจง อย่างไรก็ตาม หลังจากเป็นรัฐบาลแล้ว หากพรรคเพื่อไทย ไม่สามารถดำเนินนโยบายค่าจ้าง 300 บาทได้ อันนี้จะมีจุดเปลี่ยนแน่นอน ไม่ว่าจะอ้างน้ำท่วม เศรษฐกิจไม่ดีอะไรก็ตาม เพราะเหมือนแรงงานโตแล้ว อาจพลิกผันได้ คิดว่าต่อไปนโยบายจะมีผลต่อการเมือง และเลือกตั้งครั้งหน้านโยบายต่างๆ จะแรงขึ้นในทุกด้าน ยิ่งในอนาคต ที่คนถูกผลักให้เป็นแรงงานจำนวนมาก นโยบายด้านนี้จะสร้างความมั่นคงให้พรรคการเมือง

อีกปรากฏการณ์คือ น้ำท่วม ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่กระทบ แรงงานจำนวนมาก เริ่มแรก คสรท.ออกมาเสนอข้อเสนอให้ดูแลแรงงาน ตามด้วยการตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนเรื่องการเลิกจ้าง การถูกละเมิดสิทธิ มีการตั้งศูนย์และระดมสิ่งของไปช่วยแรงงานเอง ซึ่งทำให้ขบวนการแรงงานแน่นแฟ้นมากขึ้น เพราะมีแรงงานหลายๆ ที่เข้ามามีส่วนร่วม เช่น แรงงานข้ามชาติเข้ามาเป็นอาสาสมัคร มีการส่งต่อความช่วยเหลือให้เกษตรพันธสัญญา แรงงานนอกระบบ หรือแม้กระทั่งแรงงานในระบบซึ่งเป็นประชากรแฝงไม่มีทะเบียนบ้าน ทำให้ไม่ได้รับถุงยังชีพ หรือคนในพื้นที่แต่อยู่ในที่น้ำลึก ความช่วยเหลือเข้าไปไม่ถึง อาสาสมัครของเราก็ยังลุยเข้าไป นอกจากนี้ ก็มีการดูแลไปถึงผู้หญิง เด็ก รวมถึงสัตว์ ซึ่งก็ไม่เคยมีในประวัติศาสตร์ขบวนการแรงงานที่จะออกมาดูครบขนาดนี้

ปรากฏการณ์นี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีต่อขบวนการแรงงาน
ใช่ คิดว่ามันทำให้สังคมส่วนใหญ่รับรู้ว่าการทำงานของแรงงาน ไม่ได้ทำงานเชิงเรียกร้องอย่างเดียว แรงงานพร้อมจะเป็นผู้ให้ถ้ามีโอกาสในการทำบทบาทนั้น แล้วเขาไม่ได้ทำเพื่อสมาชิกกลุ่มของเขา แต่ทำเพื่อคนทุกคน ไม่ได้เลือกปฏิบัติเหมือนคนอื่นๆ หรือภาคการเมืองที่ไม่ควรมองเรื่องการเมืองแต่กลับมอง

บุคคลแห่งปีในวงการแรงงาน
แนวคิดของประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยอย่างพี่ชาลี ลอยสูง ซึ่งมองเห็นคนงานครบทุกกลุ่ม คลุกคลีกับคนงานตลอด ไม่เคยทิ้งตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งเมื่อปลายปี 53 ก็เจอเรื่องการเลิกจ้างคนงานแม็กซิส พอเลือกตั้ง ก็ลุยเรื่องการรณรงค์นโยบายแรงงาน พอน้ำท่วมก็ระดมข้าวของบริจาค ประสานงานได้ครบ ทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง และพร้อมขัดแย้งเพื่อปกป้องคนงาน อีกกลุ่มที่ภูมิใจคือ แนวคิดของกลุ่มผู้ใช้แรงงานอยุธยา ซึ่งเป็นที่แรกๆ ที่โดนน้ำท่วม พวกเขาลุกขึ้นมาตั้งศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์และลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบ ภัยโดยไม่ปฏิเสธ

บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดที่ส่งผลต่อขบวนการแรงงาน
นโยบายการเมืองก็ส่งผล ตั้งแต่ได้รัฐบาลชุดใหม่มา ดูเหมือนยังไม่ได้วัดฝีมือการทำงานด้านแรงงานเลย แต่นโยบายต่างๆ กระทบแรงงาน ถูกละเมิดสิทธิถ้วนหน้า ทั้งเรื่องน้ำท่วม และเรื่องขึ้นค่าจ้าง 300 บาท

นอกจากนี้ ก็คือกระทรวงแรงงาน ที่ควรเป็นกระทรวงของคนงานจริงๆ ไม่ใช่กระทรวงของนายจ้าง แต่บทบาทตอนนี้กลับทับซ้อนกับกระทรวงอุตสาหกรรมหรือกระทรวงการคลัง เช่น เรื่องน้ำท่วม กระทรวงแรงงานกลับบอกว่าต้องดูแลสถานประกอบการก่อน ทำหนังสือขอความร่วมมือให้สถานประกอบการจ่ายค่าจ้าง 75% โดยรัฐจะจ่ายให้อีก 2,000 บาท มาตรการเหล่านี้ไม่ใช่มาตรการดูแลลูกจ้างเลย บทบาทของกระทรวงแรงงานกระเทือนต่อการคุ้มครองสิทธิแรงงานในอนาคต

บทบาทของกระทรวงอุตสาหกรรมต้องดูแลโรงงานต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบ กระทรวงการคลังสนับสนุนเรื่องงบประมาณในการฟื้นฟู กระทรวงแรงงานควรจะคุ้มครองลูกจ้าง ว่าที่ว่างงานช่วงน้ำท่วมเป็นอย่างไร ต้องการอะไรบ้าง คนงานออกจากโรงงานหมดหรือยัง ยังอยู่ในห้องเช่าไหม แต่เรากลับไม่เห็นภาพเหล่านั้นเลย มีแต่ไปล้างโรงงาน ทำความสะอาด ลดเงินสมทบ