แทน ที่“มีชัย” จะออกมาบอกกันตรงๆเลยว่าหมั่นไส้และไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข แต่กลับเบี่ยงประเด็นเพื่อทำให้ผู้อ่านเข้าใจไขว้เขวไปว่าผู้ที่ต้องการ แก้ไขมาตรา 112 นั้น ต้องการที่จะยกเลิกการคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์
โดย ชำนาญ จันทร์เรือง
อนุสนธิบทความของ “มีชัย ฤชุพันธุ์” ในไทยโพสต์วันที่ 20 มกราคม 2555 ในเรื่อง “ปัญหาการแก้ไขมาตรา 112 ของกฎหมายอาญา”
ซึ่งกองเชียร์ของฝ่ายตรงข้ามกับนิติราษฎร์ออกมาแสดงความยินดีกันเสียยกใหญ่ ว่า ขนาดกูรูทางด้านกฎหมายยังไม่เห็นด้วยจนต้องออกมาโต้ตอบสั่งสอนพวกนิติราษฎร์
แต่สำหรับผมที่ถึงแม้ว่าจะเห็นด้วยกับนิติราษฎร์ แต่ก็มิใช่เห็นด้วยไปเสียทั้งหมดในทุกประเด็น เมื่ออ่านบทความชิ้นนี้ของ“มีชัย ฤชุพันธุ์” แล้ว ผมเห็นว่าถ้าเป็นการตรวจข้อสอบคัดเลือกหรือการสอบแข่งขันที่ตัดหัวกระดาษออก โดยไม่ให้รู้ว่าเป็นของใครแล้ว ผมให้สอบตก เพราะไม่ได้ตอบโจทย์ในปัญหากฎหมายที่นิติราษฎร์ยกขึ้นมาเลย แต่กลับไปยกเรื่องอื่นอ้อมไปอ้อมมา
แต่หากเป็นข้อสอบเก็บคะแนนในห้องเรียนที่เห็นชื่อชั้นของผู้ตอบแล้ว แม้จะไม่สามารถตอบถูกตามธงคำตอบ แต่ก็ให้ผ่านในฐานะที่ยังพยายามเขียนให้เต็มหน้ากระดาษเข้าไว้โดยไม่ส่ง กระดาษเปล่า ที่สำคัญคือสามารถโน้มน้าวชักจูงผู้ที่อ่านไม่ละเอียดพอ เพียงแต่เห็นชื่อผู้เขียนบทความก็เคลิ้มได้
ที่ผมกล่าวเช่นนี้ก็เพราะว่าเมื่ออ่านบทความของ “มีชัย ฤชุพันธุ์” ชิ้นนี้เผินๆแล้วก็ดูน่าเชื่อถือ เพราะเกริ่นเสียดูดีว่า
“ เพราะขึ้นชื่อว่า "กฎหมาย" เมื่อล้าสมัย หรือไม่เหมาะสมกับสังคม หรือขัดต่อความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ ก็สมควรยกเลิกหรือปรับปรุงแก้ไขได้เสมอ”ต่อด้วย “คนที่มีความจงรัก ภักดีอย่างเหลือล้น ก็อาจกล่าวหาคนที่จงรักภักดีอย่างธรรมดาได้ สุดแต่ใครจะหยิบยกขึ้นมาใช้เป็นข้อกล่าวหาเชือดเฉือนใคร และในที่สุดก็เลยกลายเป็นอาวุธทางการเมือง”
และยังเสริมอีกว่า
“
การที่มนุษย์มีสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการพูดหรือการแสดงความคิดเห็นนั้น มิได้หมายความว่าจะพูดหรือแสดงความคิดเห็นอย่างไรก็ได้ เพราะสิทธินั้นมาควบคู่กับหน้าที่ คือในการใช้สิทธิ ก็ต้องคำนึงถึงหน้าที่ที่จะต้องเคารพถึงสิทธิของคนอื่นด้วย อยู่ๆ ใครจะลุกขึ้นใส่ร้ายใคร หรือดูหมิ่นใคร หรืออาฆาตมาดร้ายใคร แล้วอ้างว่าเป็นการใช้เสรีภาพในการพูดหรือการแสดงความคิดเห็นได้เสียเมื่อ ไหร่กัน”
โดยไม่เพียงแต่อ้างรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 8 แล้วบอกว่าไม่ควรแก้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แล้วยังยกเอากฎหมายอื่นมาอ้างอีก เช่น ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 133,134 ซึ่งเกี่ยวข้องกับประมุขต่างประเทศหรือผู้แทนรัฐต่างประเทศ /มาตรา 135 ความผิดเกี่ยวกับธงหรือเครื่องหมายของรัฐต่างประเทศ/มาตรา 136 การดูหมิ่นเจ้าพนักงาน/มาตรา 206 เกี่ยวกับวัตถุหรือสถานที่อันเป็นที่เคารพของศาสนา ฯลฯ
แล้วสรุปปิดท้ายว่า
“ ในเมื่อกฎหมายปัจจุบันให้ความคุ้มครองสถาบันหลักทั้ง 3 สถาบัน คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ทั้งยังให้ความคุ้มครองแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ อื่นๆ ที่กระทำการตามหน้าที่ ทำไมจึงสมควรยกเลิกการคุ้มครองแต่เฉพาะพระมหากษัตริย์ โดยไม่พูดถึงหรือแตะต้องการคุ้มครองสถาบันผู้นำสูงสุดของต่างประเทศ เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ชาติ และศาสนา ที่กฎหมายไทยให้ความคุ้มครองอยู่
ทำไมสถาบันอื่นๆยังสมควรได้รับการคุ้มครองเป็นพิเศษ
ทำไมจึงจะยกเลิกแต่เฉพาะการคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งรัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองว่าเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดละเมิดมิได้ เหตุผลคืออะไร
หรือตั้งใจจะยกเลิกการคุ้มครองเสียทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ หรือเจ้าพนักงาน ก็ไม่ต้องมีกฎหมายคุ้มครองกันเป็นพิเศษ ก็พูดมาเสียให้ชัด
เพื่อประชาชนจะได้เข้าใจได้ถูก และแสดงความเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยได้อย่างถูกต้อง ”
ซึ่งเมื่ออ่านอย่างพินิจพิเคราะห์แล้วจะพบว่านอกจาก“มีชัย ฤชุพันธุ์” จะอ้างรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 8 แล้วบอกว่าไม่ควรแก้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งผมเห็นว่าการแก้ไขให้ติชมโดยสุจริต ไม่ใช่การล่วงละเมิดแต่อย่างใด
และ“มีชัย ฤชุพันธุ์” ยังตีขลุมรวมๆไปกับความผิดบุคคลหรือเจ้าพนักงานอื่นๆ โดยไม่ได้ตอบปัญหาของความไม่สมเหตุสมผลหรือหลักของความได้สัดส่วนของโทษกับ การกระทำความผิดในลักษณะใกล้เคียงกันว่า เหตุใดถึงมีความแตกต่างในความหนักเบากว่ากันอย่างมากมายมหาศาล
และไม่ได้ตอบปัญหากรณีการใช้กฎหมายอย่างฉ้อฉล เช่น ใครก็ได้ที่สามารถเป็นผู้เสียหายนำไปใช้กลั่นแกล้งกันแต่อย่างใด ฯลฯ แต่ไปยกเอาเหตุผลด้านประเพณีวัฒนธรรม ซึ่งไม่ใช่ประเด็นปัญหาข้อกฎหมาย โดยเฉพาะประโยคที่ว่า
“ ที่สำคัญต้องไม่นำเอาความรู้สึกของประเทศอื่นมาเป็นมาตรฐาน เพราะแต่ละประเทศย่อมมีประเพณี วัฒนธรรม
ที่สำคัญต้องไม่นำเอาความรู้สึกของประเทศอื่นมาเป็นมาตรฐาน เพราะแต่ละประเทศย่อมมีประเพณี วัฒนธรรม หรือความอ่อนไหว แตกต่างกันไป ”
ซึ่งอันที่จริงแล้วไม่ว่าจะเป็นคนชาติไหน ไทย จีน ฝรั่ง สูง ต่ำ ดำ ขาว ไพร่ ผู้ดี ก็ล้วนแล้วแต่มีสิทธิพื้นฐานในความเป็นมนุษย์เหมือนกันตามปฎิญญาสากลว่าด้วย สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ที่บัญญัติว่า
" มนุษย์ทั้งหลายเกิดมามีอิสระ เสรีและเท่าเทียมกันทั้งศักดิ์ศรีและสิทธิ ทุกคนได้รับการประสิทธิ์ประสาทเหตุผลและมโนธรรม และควรปฏิบัติต่อกันฉันพี่น้อง ( All human beings are born free and equal in dignity and rights.They are endowed with reason and conscience and should act towards one another in a spirit of brotherhood)”
ไม่ใช่เลือกเอาเฉพาะที่เข้าข้างความเห็นของตนเองเท่านั้นจึงจะถือว่าถูกต้อง พอไม่ตรงกับที่ตนเองต้องการก็อ้างเอาลักษณะเฉพาะตัวของประเทศไทยตามความเห็น ของหมู่หรือของพวกตนเองกำหนดขึ้นไปเป็นข้อยกเว้น
ผมไม่ได้แปลกใจอะไรมากนักที่ “มีชัย ฤชุพันธุ์”ซึ่งเป็น “เนติบริกรต้นแบบ”ตัวจริง จะเขียนบทความออกมาในทำนองนี้ เพราะมีภูมิหลังเกี่ยวข้องกับอำนาจนิยมและเป็นมือเป็นไม้ของคณะรัฐประหารมาโดยตลอด
ล่าสุดก็ออกมายุให้เชิญจอมเผด็จการโรเบิร์ต มูกาเบ แห่งซิมบับเวมาเยือนไทยเสียอีกแน่ะ โดยอ้างว่าคนไทย(???)ยินดีต้อนรับอยู่แล้ว ไม่รู้ว่าเป็นความหวังดีแต่ประสงค์ร้ายเพื่อให้รัฐบาลพังเร็วขึ้นหรือเปล่า
และในกรณีปัญหาการแก้ไขมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญานี้อีกก็เช่นกัน แทนที่“มีชัย ฤชุพันธุ์” จะออกมาบอกกันตรงๆเลยว่าหมั่นไส้และไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข แต่กลับเบี่ยงประเด็นเพื่อทำให้ผู้อ่านเข้าใจไขว้เขวไปว่าผู้ที่ต้องการ แก้ไขมาตรา 112 นั้น ต้องการที่จะยกเลิกการคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือตั้งใจจะยกเลิกการคุ้มครองเสียทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ หรือเจ้าพนักงาน ซึ่งไม่เป็นความจริงในทั้งสองประเด็น
อันว่านักกฎหมายที่เชี่ยวชาญในด้านการตีความเข้าข้างเจ้านายหรือนายจ้างของ ตนเอง หรือเชี่ยวชาญในการหาช่องว่างของกฎหมายเพื่อหลีกเลี่ยงนั้น ผู้คนเขาให้การยกย่องว่าเป็นคนที่ฉลาดหลักแหลม อยากได้เอาไว้ใช้งานเพื่อเป็นมือเป็นไม้
ในขณะเดียวกันผู้คนเขาก็มักจะดูถูกเหยียดหยามว่าเป็นคนเจ้าเล่ห์เพทุบาย ไว้ใจมากนักไม่ได้ และกรณีนี้ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่พิสูจน์ให้เห็นสัจธรรมดังกล่าว
ไม่ว่านักกฎหมายผู้นั้นจะมีผู้คนยกย่องว่าเป็นถึง “กูรู”ก็ตาม
--------------------
หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 25 มกราคม 2555