“หากผู้วิจารณ์คนใดยังศึกษาภูมิหลังทาง ประวัติศาสตร์ไม่ลึกซึ้งถึงแก่นแท้หรือมีข้อเท็จจริงไม่ครบถ้วน เพียงพอ ไม่เข้าใจในขนบธรรมเนียม ประเพณี สังคมประเทศใดแล้ว การแสดงความเห็นว่าศาลหรือ กระบวนการยุติธรรมของประเทศอื่นในทำนองห่วงใยว่า จะไม่มีมาตรฐานสากลนั้น เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ลึกซึ้ง และหมิ่นเหม่ต่อการกล่าวหากันอย่างไม่เป็นธรรม อาจทำให้คิดไปว่าผู้วิพากษ์ เจือปนด้วยอคติที่ผิด หลงมีวาระซ่อนเร้น ประเทศไทยมีเอกราชทางการปกครองและการศาลมาช้านาน และประชาชนมีเสรีภาพใน การแสดงความคิดเห็นภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”
สิทธิศักดิ์ วนะชกิจ – โฆษกศาลยุติธรรม
(http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/analysis/20111214/424435/news.html)
ปัจจุบันประเด็นประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กับคดีอากง หรือ นายอำพล ตั้งนพคุณ กลายมาเป็นประเด็นร้อนที่ได้รับความสนใจจากทุกภาคส่วน กระทั่งนำมาสู่การเคลื่อนไหวจากผู้คนหลากหลายกลุ่มและสถานภาพให้มีการปฏิรูป กฎหมายมาตรานี้ เนื่องด้วยมองเห็นปัญหานานัปการ โดยเฉพาะการที่ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กลายมาเป็นอาวุธทางการเมืองที่ใช้ห้ำหั่นกัน จนส่งผลกระทบต่อผู้คนและสถาบันต่าง ๆ ในสังคมไทย อาทิ ศาล และสถาบันกษัตริย์
แม้จะมีความเคลื่อนไหวต่าง ๆ นานาอย่างไรก็ตาม เช่น การเสนอให้ตั้ง “คณะกรรมการ” เพื่อกลั่นกรองกฎหมายดังกล่าว ทว่ามาตรการเหล่านั้นล้วนเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้นเฉพาะหน้า เนื่องด้วยหากสังคมไทยยังไม่เปลี่ยนแปลงวิธีคิดเกี่ยวกับ “สิทธิมนุษยชน” “ความเป็นไทย” และ “ประวัติศาสตร์” แล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้นเช่นเดียวกับกรณีองกงก็ยังจะดำเนินอยู่ต่อไป
ผมขออาศัย “วาทะ” ของท่านโฆษกศาลยุติธรรม ซึ่งผมเชื่อว่าเป็นภาพสะท้อนความคิดของคนในสังคมไทยจำนวนไม่น้อย ในการวิพากษ์ความคิด ความเชื่อที่ดำรงอยู่ในสังคมไทย เพื่อนำไปสู่การพินิจพิจารณา ปัญหาตรรกะวิธีคิดและความเชื่อที่ดำรงอยู่ในสังคมไทย 2 ประเด็นใหญ่
1.ความเป็นไทยกับการแก้ปัญหาแบบไทย ๆ
นักวิชาการจำนวนมาก ได้พูดถึงความคิดความเชื่อของคนไทยว่า คนไทยมองตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล “ความเป็นไทย” มีความเฉพาะแตกต่าง ที่พวกฝรั่งไม่มีทางเข้าใจ อะไรที่มันเกิดในประเทศนี้เป็นเรื่องของไทย ฉะนั้นท่านทั้งหลาย “กรุณาอย่างยุ่ง”
ในแถลงการณ์ของท่านโฆษกศาลได้กล่าวถึงกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิ พลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีเมื่อปี พ.ศ. 2539 ท่านได้กล่าวว่ากติกาดังกล่าวสอดคล้องกับ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 45 ซึ่งต่อมาท่านได้พัฒนาตรรกะวิธีคิด เพื่อเชื่อมโยงสู่ความคิดที่ว่า “ประเทศไทยให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชน มีกฎหมาย ที่ความก้าวหน้าทันสมัยทัดเทียมอารยประเทศ เพียงแต่ภายใต้ระบอบการปกครองบ้านเมืองที่แตกต่างกัน ทุกประเทศจึงควรที่จะต้องให้เกียรติเคารพในความต่างที่เป็นจุดแข็งทาง วัฒนธรรมและสังคมของแต่ละประเทศ”
ผมไม่ปฏิเสธเรื่องความต่างระหว่างไทยกับประเทศอื่น ๆ เพราะยอมเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่จริงแน่ ๆ ปัญหาคือวิธีคิดในเรื่องความแตกต่างดังนี้ ทำให้คนไทยจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะกลบเกลื่อน “ความเหมือน” กับมนุษย์คนอื่น ๆ ในโลก ซึ่งนำไปสู่การปฏิเสธ “คุณค่าในเรื่องสิทธิมนุษยชน” สากล โดยอ้างว่า “ต้องบริหารจัดการกันเองบนความต่างแบบไทย ๆ”
ในการแก้ปัญหาในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ ประเทศจีนมักอ้าง “วาทกรรมความเป็นจีนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว” นี้ ทำให้ผมอดสงสัยไม่ได้ว่า ไทยเราจะดำเนินรอยตามจีนกระนั้นหรือ?
คุณค่าบางอย่างมีความเป็นสากลที่มนุษย์ทั่วโลกรับรู้ได้เหมือนกัน ความรู้สึก เจ็บปวด ทรมานทางกายภาพและจิตใจ จากการถูกลิดรอนอิสรภาพด้วยการคุมขัง ล้วนเป็นสิ่งที่มนุษย์ทั่วโลกมีร่วมกัน การอ้างความเฉพาะแบบไทย ๆ โดยไม่ฟังเสียงวิจารณ์จากมนุษย์คนอื่นที่ไม่ใช่คนไทยไม่สามารถกลบเกลื่อนลบ เลือนความเหมือนนี้ได้ ในทางกลับกันการดันทุรังแก้ตัวน้ำขุ่น ๆ รังแต่ทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยตกต่ำลงไป
นอกจากนี้วิธีคิดที่ปฏิเสธคุณค่า ความคิด ความรู้บางอย่าง เพราะไม่ใช่ของไทย เมื่อเอามาใช้แล้วจึงไม่เหมาะสมกับไทย เพราะประเทศไทยมีสังคมวัฒนธรรมเฉพาะของตัวก็เป็นวิธีคิดที่มีปัญหา หากคิดเช่นนั้นอะไรที่เป็นฝรั่งก็ต้องปฏิเสธให้หมด ไม่เว้นแม้แต่การแพทย์แผนตะวันตก แล้วหันกลับไปกินยาหม้อกันแทน
2. ความรู้ประวัติศาสตร์แบบมักง่าย และขี้ลืม
คนไทยจำนวนไม่น้อยเชื่อว่า ความรู้ประวัติศาสตร์คือการกล่าวถึงสิ่งที่เป็นจริง “จริง ๆ” แน่นอนว่าความเข้าใจดังกล่าวย่อมไม่ผิด แต่แท้จริงหัวใจของการศึกษาประวัติศาสตร์ในโลกสมัยใหม่คือการ “ตั้งคำถาม” และคิดอย่างวิพากษ์โดยมองเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา ปัจจุบันวงการประวัติศาสตร์เกิดการตั้งคำถามถึงความจริงว่ามีได้หลายมุมมอง เช่น ประวัติศาสตร์ไทยกระแสหลักที่ไม่มี “สามัญชน” อยู่ในประวัติศาสตร์ก็เริ่มถูกตั้งคำถามจากนักประวัติศาสตร์ จนนำไปสู่การศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์ที่เป็น “ประวัติศาสตร์สังคม” ซึ่งเป็นการมองความจริงจากจุดยืนของคนสามัญ
การศึกษาประวัติศาสตร์ไทยจึงไม่ใช่เรื่องของการท่องจำว่าใครทำอะไรที่ ไหนเท่านั้น หากแต่ต้องมีทัศนะวิพากษ์ที่ทำให้มองเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นใน ประวัติศาสตร์อย่างสลับซับซ้อน เพราะการท่องจำโดยปราศจากความเข้าใจย่อมนำมาสู่การจำถูกจำผิดได้ เช่น “ประเทศไทยมีเอกราชทางการปกครองและการศาลมาช้านาน” ผม อยากจะเตือนความทรงจำว่าเราเสีย “สิทธิสภาพนอกอาณาเขต” ไปในสมัยรัชกาลที่ 4 ภายใต้สนธิสัญญาเบาว์ริ่ง ประเทศไทยเพิ่งได้รับเอกราชทางการศาลกลับคืนมาอย่างสมบูรณ์ในปี พ.ศ.2481 ด้วยความพยายามของคณะราษฎรภายหลังการปฏิวัติ โดยคณะราษฎรได้ทำการต่อสู้เพื่อให้ไทยได้รับเอกราชทางการศาลอย่างสมบูรณ์ ประจักษ์พยานหรือหลักฐานที่สะท้อนถึง “ความจริง จริง ๆ” ดังกล่าวคือ “อาคารศาลฎีกา” ที่ตั้งตระหง่านแถวสนามหลวง โดยเจ้า พระยาศรีธรรมาธิเบศร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในปีพ.ศ.2481 ได้บันทึกถึงเหตุผลในการก่อสร้างอาคารศาลนี้ไว้เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2481 มีความตอนหนึ่งว่า
".....บัด นี้ประเทศสยามได้เอกราชในทางศาลคืนมาโดยสมบูรณ์แล้ว จึ่งเป็นการสมควรที่จะมีศาลยุติธรรมให้เป็นสง่าผ่าเผยเยี่ยงประเทศที่เจริญ แล้วทั้งหลาย เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งการที่ได้อำนาจศาลคืนมา....."
(รายละเอียดใน บทความของชาตรี ประกิตนนทการ http://prachatai.com/journal/2008/05/16793)